สารทเดือนสิบ.
สารทเดือนสิบ.
พระยาอนุมานราชธน ได้เขียนเล่าในหนังสือเทศกาลและประเพณีไทยว่า คำว่า “ สารท ” เป็นคำอินเดีย หมายถึง “ ฤดู ” ตรงกับฤดูในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า “ ออตอม ” อันแปลว่า ฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งจะมีเฉพาะบางเขตของโลกอย่างยุโรป จีน และอินเดียตอนเหนือเท่านั้น ช่วงนั้นเป็นระยะที่พืชพันธุ์ธัญชาติและผลไม้เริ่มสุก และให้พืชผลครั้งแรกในฤดู ดังนั้น ประชาชนจึงรู้สึกยินดี และถือเป็นเทศกาลแห่งความรื่นเริง จึงมักทำพิธีตามความเชื่อและเลี้ยงดูกัน
วันสารทของไทยเรา ใช้วันแรมสิ้นเดือนสิบ
จากนิราศเดือน ซึ่งเป็นกวีนิพนธ์เชิงนิราศ เขียนโดย นายมี หรือหมื่นพรหมสมพัตสร (พรม-สม-พัด-สอน) เกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นศิษย์คนหนึ่งของสุนทรภู่ ที่ได้รับยกย่องว่าแต่งกลอนได้ดีเด่นใกล้เคียงกับสุนทรภู่มากที่สุด ผลงานร้อยกรองเรื่อง อื่น ๆ ของนายมี เช่น นิราศถลาง กลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นิราศพระแท่นดงรัง นิราศสุพรรณ เป็นต้น
ในนิราศเดือนได้กล่าวถึงเดือนสิบว่า
เดือนสิบ
ถึงเดือนสิบเห็นกันเมื่อวันสารท
ใส่อังคาสโภชนากระยาหาร
กระยาสารทกล้วยไข่ใส่โตกพาน
พวกชาวบ้านถ้วนหน้าสาธารณะ
เจ้างามคมห่มสีชุลีนบ
แล้วจับจบทัพพีน้อมศรีษะ
หยิบข้าวของกระยาสารทใส่บาตรพระ
ธารณะเสร็จสรรพกลับมาเรือน.......
นิราศ มีความหมายตามตัวอักษรว่า จาก พราก ไปจาก ฯลฯ แต่นิราศอาจหมายถึงงานประพันธ์ที่พรรณนาถึงเหตุการณ์ตามลำดับ พร้อมทั้งแสดงอารมณ์ความรู้สึกที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์นั้นๆ โดยมิได้มีการเดินทาง หรือการพลัดพรากก็ได้
วรรณกรรมประเภทนิราศมักจะมีความยาวไม่มาก พรรณนาถึงสิ่งสวยงาม และความรู้สึกผูกพันที่มีต่อบุคคลที่ตนรัก และเนื่องจากกวีส่วนใหญ่เป็นชาย เนื้อหาในนิราศจึงมักจะพรรณนาถึงหญิงที่ตนรัก กระทั่งกลายเป็นขนบของการแต่งนิราศมาจวบจนปัจจุบัน ที่ผู้แต่งนิราศ มักจะผูกเรื่องราวของการคร่ำครวญถึงหญิงที่รัก ขณะที่เล่าถึงสิ่งที่ได้พบเห็นระหว่างการเดินทางด้วย
นิราศเดือนเป็น การกล่าวถึงประเพณีประจำแต่ละเดือนในรอบ ปี บอกถึงความเป็นอยู่ของคนไทยในสมัยรัชกาลที่สาม เป็นการพรรณเหตุการณ์เริ่มคั้งแต่เดือน ห้า จนถึงเดือนสิบสอง โดยมีการกล่าวถึงความรักด้วย
สำหรับในพจนานุกรมไทย สารท มีความหมายว่า เทศกาลทำบุญในวันสิ้นเดือน 10 โดยนำพืชพรรณธัญญาหารแรกเก็บเกี่ยวมาปรุงเป็นข้าวทิพย์ และข้าว มธุปายาส ถวายแด่พระสงฆ์ จะตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ซึ่งมักจะตรงกับปลายเดือนก.ย.ถึงเดือนต.ค.
ในประเทศไทย การทำบุญวันสารทมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตามที่ปรากฏหลักฐานในหนังสือนางนพมาศ เนื่องจากศาสนาพราหมณ์แพร่เข้ามาในประเทศไทย คนไทยจึงรับประเพณีวันสารทมาจากศาสนาพราหมณ์ด้วย
ดังปรากฏหลักฐานในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5
สาเหตุที่ต้องมีพิธีสารทไทย เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที ต่อบรรพชนผู้มีพระคุณ เพราะเชื่อกันว่า ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว จะมีโอกาสได้กลับมารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ และญาติจะได้รับส่วนบุญเต็มที่
หรือเป็นการแสดงความกตัญญูต่อพระแม่โพสพ หรือผีไร่ ผีนาที่ช่วยรักษาข้าวกล้าในนาให้เจริญงอกงามดี เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม การทำนาเป็นอาชีพหลัก ในช่วงเดือน 10 นี้ ข้าวกล้ากำลังงอก งาม และรอเก็บเกี่ยว จึงมีเวลาว่างพอที่จะทำบุญเพื่อเลี้ยงขอบคุณตอบแทน
กิจกรรมในวันสารทไทย คือ การนำข้าวปลาอาหาร และที่ขาดไม่ได้ คือ ขนมกระยาสารท ไปทำบุญตักบาตรที่วัด
การตักบาตรมีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น ตักบาตรน้ำผึ้ง ของชาวไทยมอญ
การทำบุญตักบาตรในวันสารทไทยนั้น มีความเชื่อว่า เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ นอกจากนี้ ยังมีการฟังธรรมเทศนา ถือศีล ปล่อยนก ปล่อยปลา
ประเพณีสารทไทยในภาคต่างๆ โดยจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันคือ
ภาคกลาง เรียกว่า "สารทไทย"
ภาคเหนือ เรียก "งานทานสลากภัต" หรือ "ตานก๋วยสลาก"
ภาคอีสาน เรียก "ทำบุญข้าวสาก"
สำหรับอีสานใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ เรียกเทศกาลนี้ว่า "แซนโฎนตา" เป็นวันรวมญาติอย่างพร้อมหน้าโดยอย่างแท้จริง เพื่อร่วมกันอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ
ภาคใต้ เรียก "งานบุญเดือนสิบ" หรือ "ประเพณีชิงเปรต"
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.khaosod.co.th
สำหรับขนมที่นิยมนำมาทำบุญวันสารทไทยนั้น ประกอบด้วย
ขนมกระยาสารท
ขนมกระยาสารท
ด้วยความเชื่อที่ว่าถ้าไม่ได้ใส่บาตรขนมกระยาสารทในวันสารทไทยแล้ว ญาติผู้ล่วงลับจะไม่ได้ส่วนบุญส่วนกุศลที่กระทำในวันนั้น การทำขนมกระยาสารทประกอบด้วย ข้าวตอก ข้าวเม่า ถั่ว งา และน้ำตาล นำมากวนเข้าด้วยกันเมื่อสุกแล้วนำมาปั้นเป็นก้อนกลมหรือตัดเป็นแผ่นก็ได้
ข้าวยาคู
ทำจากเมล็ดข้าวอ่อน เป็นเมล็ดข้าวที่มีเนื้อข้าวอยู่แล้วแต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะเก็บเกี่ยว วิธีทำคือให้นำข้าวอ่อนทั้งรวงมาตำให้เปลือกแตกออก เนื้อข้าวสีขาวผสมกับสีเขียวของเปลือกข้าวและก้านรวง ทำให้ได้น้ำข้าวสีเขียวอ่อนดูน่ากิน นำน้ำข้าวนี้ไปต้มไฟ และคอยคนไม่ให้เป็นลูก ใส่น้ำตาลทรายให้ได้รสหวานอ่อนๆ ก็จะได้ข้าวยาคู
ข้าวมธุปายาส
คือ ข้าวที่หุงเจือด้วยน้ำนมและน้ำผึ้ง มีตำนานเล่าว่า นางสุชาดาลูกสาวเศรษฐีปรุงขึ้นเป็นอาหารเพื่อแก้บน ต่อมานางได้เห็นพระพุทธเจ้าเมื่อเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ประทับใต้ต้นไทร ก็เข้าใจว่าพระองค์เป็นเทพยดาจึงนำอาหารนั้นไปถวาย พระโพธิสัตว์จึงได้เสวยข้าวมธุปายาสเป็นอาหารมื้อสุดท้ายก่อนจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงเชื่อกันว่าข้าวมธุปายาสเป็นอาหารวิเศษ ผู้ใดมีวาสนาได้กินแล้วจะมีร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัย และเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
ข้าวทิพย์
ประกอบด้วยเครื่องปรุงถึง ๑๐๘ ชนิด หากทำแบบโบราณ แต่ในปัจจุบันประกอบด้วย น้ำนมข้าวเนย น้ำอ้อย น้ำผึ้ง น้ำตาล นม ถั่ว งาและข้าวเม่า (๙ ชนิด) ซึ่งการกวนแต่ละครั้งจะต้องใช้สาวพรหมจารีย์กวน ฟืนที่ใช้ต้องเป็นไม้ชัยพฤกษ์หรือไม้พุทราเท่านั้น ส่วนไฟก็ต้องเกิดจากแดดผ่านแว่นขยายที่เรียกว่า “สุริยกานต์”
นอกจากนี้ การทำบุญตักบาตรในวันสารทไทยยังเป็นประเพณีที่แตกต่างจากประเพณีอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กบแต่ละท้องถิ่น อาทิ การตักบาตรขนมกระยาสารท ซึ่งส่วนใหญ่จะมีในทุกท้องถิ่นของประเทศไทย และการตักบาตรน้ำผึ้ง ซึ่งเป็นที่นิยมในบางท้องถิ่นเท่านั้น ส่วนใหญ่มักเป็นชาวไทยมอญที่นิยมการตักบาตรน้ำผึ้ง
ขอขอบคุณข้อมูลของ
คุณสิริวิภา ขุนเอม ศูนย์ประชาสัมพันธ์วัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
การตักบาตรน้ำผึ้งของชาวไทยมอญจะทำกันในวันขึ้นสิบห้าค่ำเดือนสิบ สำหรับที่เมืองฉะเชิงเทรา มีชาวไทยมอญที่สืบทอดประเพณีมอญ ที่วัดพิมพาวาส อำเภอบางปะกง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น