วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ต้นกะเม็ง

ต้นกะเม็ง



กะเม็ง
ชื่อสามัญ False Daisy, White Head
ชื่อวิทยาศาสตร์ Eclipta prostrata (L.) L.
ชื่อวงศ์ COMPOSITAE ชื่ออื่น กะเม็งตัวเมีย คัดเม็ง (ภาคกลาง), หญ้าสับ ฮ่อมเกี่ยว (ภาคเหนือ), บังกีเช้า (จีน)




ต้นกะเม็งเป็นกลุ่มพรรณไม้น้ำ ประเภทไม้ล้มลุกอายุปีเดียว



ลำต้น
ลำต้นตั้งตรงสูงได้ถึง 50 ซม. ลำต้นกลม แตกแขนงมาก ลำต้นสีเขียวหรือน้ำตาลแดง มีขนละเอียดสากมือปกคลุม











ใบ
เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอก ใบค่อนข้างแคบโคนเรียวปลายใบแหลม ฐานใบมีรอยเว้าและบานออกทั้งสองด้านเล็กน้อย ขอบใบเรียบ มีรอยหยักเล็กน้อยช่วงปลายใบ ไม่มีก้านใบ ผิวใบมีขนสั้น ๆ สีขาวปกคลุมทั้งสองด้าน




ดอก
เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ออกเป็นช่อกระจุก ตามซอกใบและตามปลายยอด กลีบดอกสีขาว ดอกย่อยรอบนอกเป็นดอกตัวเมีย ลักษณะเป็นแผ่นสีขาวปลายมน เป็นรูปรางน้ำ ก้านดอกเรียวยาว.ปลายดอกหยักเป็น 2 แฉก มีดอกย่อยที่อยู่ตรงกลางเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีลักษณะคล้ายรูปถ้วย กลีบดอกจะติดกัน โคนดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ส่วนปลายจะหยักเป็น 4 แฉก มีส่วนที่คล้ายกลีบเลี้ยง 5-6 กลีบ สีเขียวรองรับช่อดอก



ผล
มีสีเหลืองปนดำ ปลายมีระยางค์เป็นเกล็ด ผลแห้ง ไม่แตก แบน สีดำ





สรรพคุณทางสมุนไพร
ใบและราก เป็นยาถ่าย ทำให้อาเจียน
ราก แก้เป็นลมหน้ามืดจากการคลอดบุตร แก้ท้องเฟ้อ บำรุงตับ ม้าม และบำรุงโลหิต
ทั้งต้น แก้มะเร็ง (อาการแผลเรื้อรัง เน่าลุกลาม รักษายาก) แก้หืด แก้หลอดลมอักเสบ แก้จุกเสียด แก้กลาก เกลื้อน เป็นยาฝาดสมาน
น้ำคั้นจากต้น รักษาอาการดีซ่าน



ประโยชน์อื่น
ทั้งต้นผสมกับลูกมะเกลือดิบโขลกใช้ย้อมผ้าให้ดำ ในอินเดียใช้น้ำคั้นจากต้นสดมาสักเพื่อให้รอยสัก เป็นสีเขียวคราม ใช้ย้อมผมให้ดำ ใบใช้โขลกพอกแผลสดห้ามเลือด ในอินโดนีเซียใช้น้ำคั้นจากลำต้น ทาแก้ขี้กลาก





ต้นกะเม็งพบทั่วไปในเขตร้อนและเขตศูนย์สูตร มีการกระจายอย่างกว้างขวางทั่วประเทศอินเดีย,จีน,ไทยและบราซิล
ในไทยพบได้ตามบริเวณไร่และดินชื้นแฉะหรือน้ำขัง ตามที่โล่งแจ้งชุ่มชื้นหรือริมคูน้ำ นาข้าว



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.pharmacy.mahidol.ac.th
http://pineapple-eyes.snru.ac.th/animal/nonghan/index.php?q=node/167
วิกิพีเดีย




หมายเหตุ
การเก็บกะเม็งมาใช้เป็นยานั้น จะเก็บมาใช้ทั้งต้นในขณะที่ต้นเจริญเต็มที่ กำลังออกดอก เมื่อเก็บมาแล้ว ควรล้างดินออกให้สะอาด หั่นเป็นท่อนหรือชิ้นเล็ก ๆ ตากหรือผึ่งให้แห้ง เก็บไว้ในที่แห้งและเย็น เพื่อใช้เป็นยา ลักษณะของยาแห้งที่ดี ควรมีสีเขียว ไม่มีเชื้อรา และสิ่งอื่นเจือปนสำหรับสรรพคุณทางยาของกะเม็งนั้น มีหลายประการด้วยกัน กะเม็งมีรสเปรี้ยว ชุ่มเย็น ใช้เป็นยาห้ามเลือด บำรุงไต แก้บิด ถ่ายเป็นมูกเลือด แก้ลำไส้อักเสบ ตับอักเสบเรื้อรัง โรคผิวหนังผื่นคันจากการทำนา และรักษาผมหงอกก่อนวัย สารสกัดจากต้นแห้งที่สกัดด้วยไดคลอโรมีเทน บิวทานอล หรือเอทิลอะซีเตตมีฤทธิ์กำจัดอนุมูลอิสระ DPPH
(ชอขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย)





ต้นกะเม็ง เป็นพรรณไม้ล้มลุกที่ขึ้นอยู่โดยทั่วไป เป็นพรรณไม้ยอดฮิตของพ่อมังกรของพลอยโพยม ที่ชอบใช้หามาทาผมด้วยสรรพคุณว่าย้อมผมให้ดำได้
แต่ในความเป็นจริงพลอยโพยมก็คิดว่าคุณสมบัติที่ระบุในวิกิพีเดียที่ว่ารักษาผมหงอกก่อนวัยน่าจะเป็นจริงกว่า การใช้คำว่าใช้ย้อมผมให้ดำ เมื่อถึงวัยที่ผมจะต้องหงอกก็ถึงคราวที่ต้องยอมให้สังขารเป็นไปตามวัย
สังขารของมนุษย์ก็ต้องเสื่อมสภาพไปเป็นธรรมดา ให้มียาวิเศษขนาดไหนทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าเป็นของมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต เมื่อ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ก็มีดับไปเป็นธรรมดา เมื่อทำใจได้ว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ เราก็คงพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่จริงของตัวเรา




พ่อมังกรของพลอยโพยม ก็เป็นผู้หนึ่งที่สนใจเรื่องสมุนไพรต่าง ๆ แม้จะมีอายุแปดสิบกว่าปีแล้วก็นั่งอ่านตำรายาสมุนไพรจนดึกดื่นทุกคืน ไปเสาะหาสมุนไพรตัวโน้นตัวนี้และจะเล่าให้ลูก ๆ ฟัง ตอนนั้นพลอยโพยมกลับรู้สึกว่า เพราะเรื่องสมุนไพรทำให้พ่อมังกรออกจากบ้านเกือบทุกวันเมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน ไม่ค่อยชอบใจกับพืชสมุนไพรนัก หากเป็นสมัยปัจจุบันหรือถอยหลังไปเล็กน้อยรับรองเลยว่าพ่อมังกรของพลอยโพยมคงนั่งเกาะหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่ออ่านข้อมูลต่าง ๆ เพลิดเพลินเจริญใจพ่อมังกร ไม่ต้องไปเดินซื้อหาหนังสือหรือตำราต่าง ๆ และการไปแสวงหาต้นมาปลูกก็รู้แหล่งว่าจะไปหาที่ไหนดี




พลอยโพยมก็เลยหาข้อมูลเกี่ยวกับพรรณไม้พื้นบ้านที่พบเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เป็นการรำลึกถึงพ่อมังกรของพลอยโพยม ถ้าพ่อยังมีชีวิตอยู่พ่อคงบอกว่าพลอยโพยมทำดีแล้วลูก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น