วันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2556
ชมพู่มะเหมี่ยว.. เหลียวแลชมและชิม
ชมพู่มะเหมี่ยว
ชื่อสามัญ: Pomerac, Malay Apple
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Syzygium malaccense (L.) Merrill & Perry
ชื่อวงศ์: MYRTACEAE
ชื่ออื่น ชมพู่สาแหรก ม่าเหมี่ยว ชมพู่แดง ชมพู่ม่าเหมี่ยว
ชมพู่มะเหมี่ยว เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 6-15 เมตร แผ่กิ่งก้านสาขามาก
ลำต้น
มีเปลือกสีน้ำตาลอ่อนผิวเรียบเป็นไม้ผล เรือนยอดทรงกลมหนาทึบ
เป็นไม้ผลที่ปลูกไว้ที่บ้าน ชมพู่มะเหมี่ยวเป็นไม้ผลที่มีระบบรากไม่เป็นอันตรายต่อตัวบ้าน อีกทั้งโตช้า จึงเหมาะสมจะปลูกไว้ประจำบ้านที่สุด
ใบ
เป็นใบเดี่ยวเรียงตัวแบบตรงข้างสลับกันเป็นคู่ ๆ (decussate) ใบอ่อนสีชมพูใบแก่ขนาดใหญ่รูปร่างมน ใบ รูปรีปลายใบแหลมฐานใบมนขอบใบเรียบ ขนาดกว้าง 8-12ซม. ยาว 15-25 ซม. เนื้อใบหนาผิวใบเป็นมันใบแก่สีเขียวเข้ม ท้องใบจะเห็นเส้นกลางใบ 20-26 คู่ ปลายเส้นแขนงใบจะจดกันก่อนถึงขอบใบ
ดอก
ดอกช่อแบบ cyme ประกอบด้วยดอก 3-5 ดอก ออกตามกิ่งที่มีขนาดใหญ่ (cauliferous) ดอกมี ขนาดใหญ่สีชมพูเข้มหรือสีแดง มีเกสรตัวผู้และก้านชูเกสรเป็น สีชมพูเด่นชัด ติดอยู่โดยรอบที่ขอบของฐานรองดอกจะอยู่ แยกกัน ขนาดยาว 4-5 ซม. มีกลีบรองดอก 4 กลีบ และมีกลีบดอก 4 กลีบ
เกสรตัวเมียมีรังไข่ฝังอยู่ใน ฐานรองดอกตรงกลาง (inferior overy) มี 2-3 locules
ออกดอกระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน
ผลชมพู่มะเหมี่่ยว
ผลกลมหรือยาวรี
ผลอ่อนนุ่มแบบ berry ส่วนของผลมีชั้นของกลีบเลี้ยงติดอยู่ที่ด้านขั่วของผล (calyx persistant และ stigma persistant) มีเมล็ดใหญ่ 1 เมล็ด สุกสีแดง หรือขาวลายแดงและสีขาว
ชมพู่มะเหมี่ยวสามารถทานได้ทั้งผลสุก และเกสร ซึ่งมีรสเปรี้ยว
การขยายพันธุ์ เมล็ด กิ่งตอน
ถิ่นกำเนิด ประเทศมาเลเซีย
ในประเทศไทย ปลูกได้ทุกภาค สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมคือ บริเวณสวนที่มีความชุ่มชื้นตามสวนริมน้ำ
ส่วนที่ใช้บริโภค ยอด ผลสุก (เนื้อหุ้มเมล็ด) เกสรตัวผู้
คุณค่าทางอาหาร คุณค่าทางอาหารของผลชมพู่มะเหมี่ยวในส่วนที่กินได้ 100 กรัม และสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายประกอบด้วย
Cal 28 Unit
Moist ure 91.7 %
Protein 0.3 Gm.
Fat 0.1 Gm.
CHO 6.5 Gm.
Fibre 1 Gm.
Ash . 0.4 Gm
Ca 2 mg.
P 8 mg.
Fe 0.6 mg.
A.I.U 108
B1 0.01 mg.
B2 0.04 mg.
Niacin 0.3 mg.
C 20 mg.
การปรุงอาหาร เกสรตัวผู้นำมายำ ยอดใช้รับประทานเป็นผักสด ผลสุก รับประทานได้เป็นผลไม้ รสหวานอมเปรี้ยว
สรรพคุณ
รากแก้คัน แก้ไข้ ขับปัสสาวะ เปลือกราก ขับประจำเดือน ใบ แก้บิด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://scratchpad.wikia.com
หนังสือพรรณไม้ในสวนหลวง ร 9 เล่มที่ 1
ชมพู่มะเหมี่ยวมีประโยชน์มาก โดยมีทั้งวิตามินเอและวิตามินซีสูง ป้องกันโรคหวัด เลือดออกตามไรฟัน มีแคลเซียมและฟอสฟอรัสบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง และนอกจากนั้น ผลไม้สีแดงอย่างชมพู่ม่ะเหมี่ยวก็ยังมีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งเป็นสารที่นี้ช่วยลบล้างสารก่อมะเร็ง แถมสารแอนโทไซยานินยังออกฤทธิ์ในการขยายเส้นเลือด ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ และอัมพาตได้อีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=11108
นอกจากชมพู่มะเหมี่ยวแล้ว ยังมีชมพู่พันธุุ์ดั้งเดิมที่พลอยรู้จักตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ อีกคือชมพู่แก้มแหม่ ชมพู่น้ำดอกไม้ เด็ก ๆ ที่มีหน้าตาน่าเอ็นดู แก้ม ใส ๆ มักถูกเปรียบเทียบว่า แก้มยังกับชมพู่แก้มแหม่ม เชียวละ ในครั้งก่อน ชมพู่สาแหรก หรือชมพู่มะเหมี่ยวถือว่ามีราคาแพง เจ้าของต้นชมพู่มะเหมี่ยวจะทะนุถนอมผลชมพู่บนต้นมากบางบ้านเอากระดาษห่อผลไว้ก็มี
ที่บ้านบางกรูดไม่มีต้นชมพู่มะเหมี่ยว สวนส่วนใหญ่ที่ตำบลบางกรูดมักมีแต่ชมพู่แก้มแหม่ม และชมพู่น้ำดอกไม้ ต่อมา เมื่อพลอยโพยมเข้าไปเรียนต่อชั้นมหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2515 ไปพักอาศัยที่บ้านคุณน้าซึ่งเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลนนทบุรี (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ตำบลบางกระสอ จังหวัดนนทบุรี) ซึ่งมีบ้านพักอยู่ด้านหลังโรงพยาบาลและติดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาโดยมีแนวดงไม้รกทึบกั้นขวางระหว่างบ้านพักและริมแม่น้ำ
หลังบ้านพักจึงมีที่ว่างกว้างพอยกร่องสวนเล็ก ๆ ได้ ก็ใช้เป็นพื้นที่ปลูกผักสวนครัว พริก มะนาว กระเพรา มะกรูด ข่า ตะไคร้ ส้มโอ ชมพู่มะเหมี่ยว ได้ ที่หลังบ้านมีต้นชมพู่มะเหมี่ยวสองต้น ออกออกสีชมพูอะร้าอร่ามงามตา เวลาดอกร่วงหล่นโคนต้นงดงามเกลื่อนกลาดดาษดาเรี่ยรายกระจายทั่วรอบโคนต้น เมื่อเวลาติดผลมีพี่สาวลูกคุณน้าอีกคนที่อยู่ร่วมบ้าน ชื่อพี่ทรงลักษณ์เธอค่อนข้างจะหวงห่วงชมพู่มะเหมี่ยวมาก เธอเรียนตัดเสื้อที่ร้านสอนตัดเสื้อพรศรี บางวันเธอก็ไม่ไปเรียนเพราะจะอยู่เฝ้าชมพู่มะเหมี่ยว เนื่องจากมีเด็ก ๆ ลูก ๆ คนงานของโรงพยาบาลมาแอบปีนต้นโขมยผลชมพู่มะเหมี่ยวกันบ่อย ๆ จนเป็นที่ล้อเลียนขำขันพี่สาวคนนี้กันต่อมา แต่ก็เป็นไปไม่ได้ที่เธอจะอยู่เฝ้าต้นชมพู่มะเหมี่ยวได้ทุกวัน
ดังนั้นคนในบ้านจึงไม่มีโอกาสได้กินชมพู่มะหมี่ยวต้นที่บ้านเลย เพราะบ้านพักแพทย์แต่ละหลังไม่มีรั้วรอบขอบขิดเปิดโล่งทุกหลัง แต่คุณน้าหมอเป็นหมอที่คนไข้รักนับถือมาก ดังนั้นคนไข้ที่เป็นเจ้าของสวนจึงมักมีผลไม้ในสวนของตนมาฝาก ไม่ว่าจะเป็นทุเรียนก้านยาวและพันธุ์อื่น ๆ มังคุด มะยงชิด ชมพู่มะเหมี่ยว กระท้อนหวาน ส้มโอ มะม่วง มีประจำบ้านตามฤดูกาลไม่ขาด โดยเฉพาะทุเรียนนั้น วางเรียงรายหลาย ๆ ผลให้ค่อย ๆ ทะยอยผ่า ( ต้องใช้ศัพท์ว่าผ่าทุเรียนจริง ๆ ) สมัยก่อนไม่รู้วิธีใช้ปลายมีดปลายแหลม ๆ กรีดตามรอยสีน้ำตาลที่พาดกลางพูของผิวเปลือกทุเรียนอย่างที่พ่อค้าแม่ขายทำกันง่าย ๆ ตามตลาดหรือตามท้ายรถปิ๊กอัพอย่างปัจจุบัน
ในสมัยนั้นทุเรียนหมอนทองไม่เด่นดังพลอยโพยมไม้รู้จัก แต่สำหรับทุเรียนก้านยาวสวนนนทบุรี จะหาว่าคุย แต่ไม่ได้คุยนะ แค่เล่าให้อ่านเฉย ๆ ประเภทไม่คุยก็ไม่รู้เรื่องน่ะซีนะ ทุเรียนก้านยาวนั้นพลอยโพยมกินมามากมายโดยไม่ต้องซื้อหามาตั้งห้าปี เขียนแล้วคิดถึงจริง ๆ เดี๋ยวนี้ราคาแพงจนหัวหด ลิ้นหดเวลาอ่านเจอราคาของทุเรียนก้านยาวเมืองนนท์ แต่คิดถึงว่ากินมามากมายแล้วเมื่อก่อนก็แค่นึกถึงรสชาติเดิม ๆ เอาแล้วกัน ก็อร่อยหวานลิ้นชุ่มคอได้เหมือนกัน
พลอยโพยมไม่ติดใจในรสชาติชมพู่มะเหมี่ยวเพราะออกรสหวานอมเปรี้ยว แม้จะทิ้งไว้จนผิวชมพู่เหี่ยว ก็ไม่ทิ้งรสเปรี้ยวอยู่ดี เปรียบเทียบกับชมพูสมัยใหม่อย่างชมพู่เพชร จังหวัดเพชรบุรีแล้ว รสชาติห่างไกลกันราวระยะทางถนนหลวงจังหวัดนนทบุรีถึงจังหวัดเพชรบุรี จริง ๆ
ปัจจุบันชมพู่เพชร มีพันธุ์ เพชร ๆ อีกหลายเพชร เช่นชมพู่เพชรสายรุ้ง ชมพู่เพชรสุวรรณ นอกจากพันธุ์เรียกกันว่าชมพู่เพชร ชมพู่เพชรบุรี
ป้ายกำกับ:
[บทความ]
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น