วันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2556

ธรรมบรรยายของพระอาจารย์ เชมเย สยาดอ



ธรรมบรรยายของพระอาจารย์ เชมเย สยาดอ

ความสันโดษพอเพียง
ที่ปรับเปลี่ยนไปได้ตามสถานการณ์

แม้ว่าความพอใจในสิ่งที่ตนมีจะเป็นสิ่งพึงปรารถนา แต่ระดับขั้นของความพอใจในสันโดษนี้ ก็ขึ้นอยู่กับสถานที่ กาลเวลา และสถานการณ์แวดล้อมในแต่ละขณะนั้นด้วย
ตัวอย่างนี้มีปรากฏในชาดกเรื่องหนึ่ง (ชาดกคือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในพุทธกาลเป็นส่วนใหญ่) ชาดกเรื่องนี้กล่าวถึงกษัตริย์สองพระองค์ที่ได้สละราชบัลลังก์ ออกผนวชเป็นฤาษี เพื่อแสวงหาโมกษธรรมในป่า




กษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า วิเทหะ ผู้เคยครองนครวิเทหราช อีกพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าคันธาระ ผู้เคยครองนครคันธารราช ฤาษีทั้งสองได้ละทิ้งนครของตน ไปเจริญสมณธรรมในป่าแห่งเดียวกัน ทั้งคู่ต่างเจริญสมาธิภาวนาและแบ่งปันอาหารที่ต่างหามาได้ในแต่ละวัน โดยต่างก็พึงพอใจในสันโดษและเป็นสุขกับวิถีชีวิตที่ตนมีในขณะนั้น

วันหนึ่ง หลังอาหารเช้าผ่านพ้นไปแล้ว มีเกลือเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง ฤาษีวิเทหะได้ตัดสินใจที่จะเก็บเกลือนั้นไว้ใช้บริโภคในวันต่อๆไป ครั้นถึงวันรุ่งขึ้น ในขณะที่ทั้งคู่กำลังรับประทานอาหารเช้าอยู่ อาหารนั้นขาดรสเค็มฤาษีวิเทหะจึงเข้าไปหยิบเกลือที่เก็บไว้ออกมา และยื่นให้แก่ฤาษีคันธาระ

เมื่อฤาษีคันธาระเห็นดังนั้น จึงถามฤาษีวิเทหะว่าได้เกลือมาจากที่ใด เมื่อทราบว่าเป็นเกลือที่ฤาษีวิเทหะเก็บไว้จากที่เหลือวันก่อน ฤาษีคันธาระก็กล่าวบริภาษสหายของตนอย่างโกรธเคืองว่า “ท่านทำเช่นนี้ได้อย่างไรท่านได้สละแล้วซึ่งนครวิเทหราชที่กว้างใหญ่ไพศาลถึง๓๐๐ โยชน์ (หนึ่งโยชน์มี ๗ ไมล์) ท่านสละราชบัลลังก์อันหรูหราและอุดมสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ เพื่อออกบวชเป็นฤาษี แม้ขณะนี้ท่านก็ยังถือเพศพรหมจรรย์อยู่ ไยท่านจึงยึดติดอยู่เพียงแค่เกลือหยิบมือเดียวเพื่อจะสนองตัณหาของท่าน การไม่ยินดีในสิ่งที่ตนมีหาใช่หนทางอันฤาษีเช่นท่านควรประพฤติเลย”

เรามาลองพิจารณาสถานการณ์ที่ต่างแง่ต่างมุมในชาดกเรื่องนี้ ระหว่างความเป็นฤาษี และความเป็นกษัตริย์ผู้ครองนคร ว่าแตกต่างกันอย่างไร.

ความสันโดษพอเพียงในฐานะของฤาษี




หากมองในแง่ของความเป็นฤาษี มุมมองของท่านคันธาระอาจจะถูกต้อง ท่านได้ชี้ให้ฤาษีวิเทหะเห็นว่าเมื่อได้สละเสียซึ่งราชบัลลังก์และความร่ำรวยพรั่งพร้อมของตน เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ ก็ควรจะยินดีพอใจกับอาหารที่บิณฑบาตมาได้ในแต่ละวัน และมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องมีเกลือ จึงจะได้พบกับความสุขของการออกบวชเป็นฤาษี หรือ อิสิสุขะ แต่เมื่อท่านกลับเก็บสะสมเกลือไว้ใช้ในคราวจำเป็น ซึ่งใช้ทั้งความพยายามทางกายที่จะเก็บรักษาและความกังวลทางใจ ก็แสดงว่าท่านยังคงยึดติดแม้ในสิ่งเล็กน้อยและขาดความสันโดษลงเช่นนี้ ย่อมไม่เป็นการควรต่อเพศฤาษีของตนเลย ที่ท่านคันธาระหมายถึงก็คือ เมื่อท่านวิเทหะออกบวชเป็นฤาษีแล้ว ก็ควรยินดีพอใจในสิ่งที่ตนมี รวมไปถึงอาหารที่แม้จะขาดรสเค็มนั้นด้วย

ความสันโดษพอเพียงในฐานะของกษัตริย์

อย่างไรก็ตาม หากเรามองท่านวิเทหะในฐานะของกษัตริย์ มิใช่ในฐานะของฤาษี เราก็จะมีมุมมองของความสันโดษที่ต่างออกไป กล่าวคือ พระองค์ย่อมควรจะมีความยินดีพอใจแต่เฉพาะแว่นแคว้นในอาณาจักรของพระองค์เอง โดยไม่หวังจะครอบครองแว่นแคว้นในดินแดนของกษัตริย์พระองค์อื่น พระองค์ควรจะยินดีพอใจในวิถีชีวิต เครื่องเสวย ตลอดจนความหรูหราตามสถานะแห่ง กษัตริย์ของพระองค์ โดยไม่หวังจะครอบครองมากไปกว่านั้น พระองค์ควรจะพึงพอใจหรือมีความสันโดษในราชสมบัติแห่งตน และควบคุมความทะยานอยากตลอดจนการกระทำของพระองค์ไว้ ให้อยู่ในขอบเขตอันควร



แต่ในฐานะกษัตริย์ มุมมองต่อสิ่งต่างๆ แม้แต่อาหาร ก็ย่อมต่างไปจากมุมมองของฤาษี กษัตริย์ต้องดูแลรับผิดชอบต่อความสงบสุขของอาณาประชาราษฏร์พระองค์ย่อมคำนึงว่าการใช้วัสดุไปอย่างสิ้นเปลืองเป็นความเสียหายที่ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้น ทั้งโดยพระองค์เองและในแว่นแคว้น พระองค์อาจถึงกับตรากฏขึ้นเพื่อป้องกันความฟุ่มเฟือยแบบนั้น การเก็บออมเกลือที่เหลือใช้เพื่อ ป้องกันการขาดแคลน อาจมาจากความเคยชินที่พระองค์ต้องทรงประพฤติตนเป็นเยี่ยงอย่างแก่ประชาชนก็เป็นได้ตัวอย่างในชาดกนี้แสดงให้เห็นความสันโดษพอเพียงที่แตกต่างกันไปตามสถานที่ เวลา สถานการณ์และสถานะทางสังคม สิ่งสำคัญก็คือความสามารถปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์จริง และพึงพอใจในสิ่งที่ตนพึงมีพึงได้ หากผู้ใดนำธรรมนี้ไปใช้ในชีวิต ก็จะเป็นสุขกับความพอเพียงได้ในทุกสถานการณ์ของชีวิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น