วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2556

พรรณไม้..โล่ติ้น ชื่อชินหู

โล่ติ้น

สำหรับคนบ้านนอกแล้วชื่อโล่ติ้นเป็นชื่อของพรรณไม้ที่คุ้นหูกันมาตั้งแต่เด็ก ซึ่่งส่วนใหญ่จะนิยมเรียกว่าต้นหางไหลมากกว่า  แม้ว่าจะมีชื่อเต็มว่าหางไหลแดงก็ตามที แต่ชาวบางกรูดมักเรียกสั้น ๆ ว่า ต้นหางไหล ทั้งนี้ก็เป็นที่เข้าใจกันดีว่าต้นหางไหลนั้นมีชื่อว่าต้นโล่ติ้นด้วย

ชาวสวนโดยทั่ว ๆ ไปจะมีต้นโล่ติ้นนี้เป็นพรรณไม้ประจำสวน
สำหรับเกษตรทำบ่อเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลา ก็จะต้องใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติของต้นโล่ติ้นเสมอมา



โล่ติ้น

ชื่อท้องถิ่น : ไหลแดง
ชื่ออื่น : กะลำเพาะ เครือไหลน้ำ หางไหลแดง ไหลน้ำ อวดน้ำ และโพตะโกซ่า
ชื่อสามัญ : Tuba root
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Derris sp.
ชื่อวงศ์ : LEGUMINOSAE


ความเป็นมา มีรายงานว่าชาวจีนเป็นผู้นำโล่ติ๊นมาปลูกเมื่อปี พ.ศ.2470 โดยใช้ส่วนของรากทุบแช่น้ำค้างคืน สังเกตว่าน้ำที่แช่โลติ๊นขุ่นขาวคล้ายน้ำซาวข้าว ก็จะนำไปรดสวนผักเพื่อฆ่าหนอน หรือแมลงที่มากัดกินผัก ซึ่งนับว่าได้ผลดี
ในสมัยต่อมาได้มีผู้วิเคราะห์รากโลติ๊นพบว่ามีสารที่มีลักษณะเป็นเกล็ดสีขาวมีพิษ เรียกชื่อสารพิษนี้ในเวลาต่อมาว่า โรตีโนน (Rotinone)



สารพิษนี้นอกจากจะมีคุณสมบัติในการเบื่อปลาแล้ว ยังพบว่ามีประสิทธิภาพในการฆ่าแมลงอีกด้วย โดยแมลงจะดูดซึมเข้าไปในกระเพาะ หรือใช้ในรูปของสารไล่แมลง เป็นสารอินทรีย์สลายเร็ว ไม่ตกค้างในพืชอาหารและสิงแวดล้อม

ในเมืองไทยพบว่า มีพืชวงศ์เดียวกับโลติ๊นประมาณ 21 ชนิด แต่มีเพียง 2 ชนิดเท่านั้นที่พบว่า มีสารพิษมากและนิยมปลูกเป็นการค้า คือ ชนิดแดง และชนิดขาว ซึ่งพบว่ามีสารพิษอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย 4-5 เปอร์เซนต์ ในไทยพบชนิดแดงมากกว่าขาว โดยพบมากตามบริเวณแม่น้ำปิง ตั้งแต่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ จนถึงอำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก ส่วนภาคกลางพบมากแถวปราจีนบุรี ชลบุรี จันทบุรี และท้องที่ใกล้เคียง ในภาคกลางนอกจากจะเรียกว่า หางไหล อาจเรียกชื่อตามท้องถิ่นที่มีพืชนี้ขึ้นว่า อวดน้ำ ไหลน้ำ กะลำเพาะ และโพตะโกซ่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบบริเวณต้นน้ำและเชิงเทือกเขาภูพาน



ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้นโดยทั่วไปมีลักษณะกลม
ใบใบอ่อนและยอดมีขนอ่อนสีน้ำตาลปนแดง เถาหรือลำต้นส่วนที่แก่มีสีน้ำตาลปนแดงเช่นกัน แต่จะเริ่มมีสีเขียวเห็นชัดตรงปล้องที่อยู่ก่อนถึงยอดประมาณ 2-3 ปล้อง ใบแก่มีสีเขียว ในก้านใบหนึ่งๆ จะมีใบตั้งแต่ 5 ถึง13 ใบ โดยใบจะขึ้นเป็นคู่ๆตรงข้ามกัน 2-4 คู่ ใบคู่แรก (นับจากโคนก้านใบ) จะมีขนาดเล็กที่สุด และเริ่มใหญ่ขึ้นเป็นลำดับ ใบสุดท้ายที่อยู่ตรงยอดจะเป็นใบเดี่ยว ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดก้านใบแต่ละก้านจะขึ้นบนลำต้นสลับด้านกัน ใบมีลักษณะคล้ายรูปไข่ กว้างประมาณ 3.0 - 9.5 ซ.ม. และยาวตั้งแต่ 6.5 - 27.0 ซ.ม. โคนใบเล็กเรียวขึ้นไปและปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ พื้นใบด้านบนสีเขียวลักษณะมัน เส้นแขนงลักษณะคล้ายก้างปลาได้ชัด แต่ไม่ยาวจนชิดขอบใบ ด้านท้องใบมีสีเขียวและเห็นเส้นใบชัดกว่าด้านบน เส้นใบมีลักษณะเขียวปนน้ำตาล




ดอกออกเป็นช่อ มีลักษณะคล้ายดอกแคฝรั่ง ดอกตูมมีสีชมพูอมม่วง เมื่อบานเต็มที่จะเป็นสีชมพูอ่อน และค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีขาว ช่อดอกออกตามลำต้น แต่ละช่อยาวประมาณ 20-25 ซ.ม.
ผลเกิดจากการผสมเกสร มีลักษณะเป็นฝักแบน ฝักอ่อนมีสีเขียวและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนแดงเมื่อฝักแก่ ภายในฝักมีเมล็ด ซึ่งมีลักษณะกลม และแบนเล็กน้อย สีน้ำตาลปนแดงเมื่อฝักแก่จะแยกออกจากกัน ทำให้เมล็ดร่วงลงพื้นดิน
เมื่อมีความชื้นพอเหมาะ เมล็ดก็จะงอกและเจริญเติบโตเป็นลำต้นต่อไปพืชชนิดนี้มีทรงพุ่มหนาทึบ อาจใหญ่หรือเล็กกว่าขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม สามารถปลูกเป็นไม้ร่มหรือไม้ดอกก็ได้




การใช้ประโยชน์ทางการเกษตร
สารพิษในโล่ติ้น นอกจากจะมีคุณสมบัติในการเบื่อปลาแล้ว ยังพบว่าเมื่อพ่นบนตัวแมลง สารพิษจะถูกดูดซึมเข้าไปในกระเพาะ ทำให้แมลงตายได้ หรือใช้ในรูปของสารไล่แมลง การใช้สารพิษอาจใช้ในรูปของสารละลายหรือในรูปผง ถ้าใช้ในรูปผงจะมีประสิทธิภาพใน การฆ่าหมัด เห็บ ไรไก่ ปลวก แมลงวัน เรือด เพลี้ยอ่อนบางชนิด หนอนเจาะผัก มวนปีก แก้ว ด้วงเต่าแตง ด้วงหมัดผัก เพลี้ยจั๊กจั่นมะม่วงหนอนเจาะกะหล่ำปลี และศัตรูพืชผักต่าง ๆ เป็นต้น



สารพิษในโล่ติ้นสามารถใช้พ่นโดยตรงบนต้นอ่อนและใบอ่อนของพืช โดยไม่เกิดอันตรายกับพืชเพราะสารนี้เป็นสารอินทรีย์ที่ได้จากพืช สลายตัวเร็ว ไม่มีผลตกค้างในพืชอาหารและสิ่งแวดล้อม
เนื่องจากโล่ติ๊นเป็นพืชตระกูลถั่ว สามารถปลูกเพื่อไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดินแล้วยังใช้ ปลูกเป็นพืชคลุมดิน เพื่อป้องกันการสูญเสียความชื้นจากดิน และป้องกันการชะล้างของดินได้อีกด้วย




วิธีใช้ทางการเกษตร
ใช้รากที่ทุบแล้ว 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 1 ปีบ แช่ไว้ 2 วัน สังเกตว่าน้ำที่แช่โล่ติ๊นขุ่นขาว คล้ายน้ำซาวข้าว กรองเอาแต่น้ำ นำไปฉีดแปลงพืชผลในช่วงที่มีแดดอ่อน เพื่อฆ่าหนอนและแมลงชนิดต่าง ๆ นอกจากนั้นยังใช้ฆ่าเหา เรือด และเบื่อปลา กุ้ง หอย ปู เพื่อเตรียมสระเลี้ยงสัตว์น้ำ วัยอ่อนเป็นอย่างดี



ประโยชน์ทางยา
ในสมัยโบราณแพทย์ตามชนบทได้ใช้เถาโล่ติ๊นผสมกับยาอื่นๆเพื่อปรุงเป็นยาขับระดูสตรี แก้ระดูเป็นลิ่มหรือก้อน นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า แพทย์โบราณทางจังหวัดสุโขทัยใช้เถาโล่ติ๊นตากแห้ง และหั่นเป็นชิ้นเล็กๆสำหรับดองสุรารับประทาน เพื่อใช้เป็นยาขับลมและบำรุงโลหิตยาถ่ายเส้นเอ็น ถ่ายลมและถ่ายเสมหะอีกด้วย แต่การใช้พืชสมุนไพรทุกชนิดอาจมีผลข้างเคียง ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยก่อนใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง


ขอขอบคุณข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตร
http://it.doa.go.th/vichakan/news.php?newsid=24
ขอขอบคุณภาพจาก
http://www.pharmacy.mahidol.ac.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น