วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

วารวันอันแสนสุขที่บ้านบางกรูด ตอนที่ 3


ขอกลับมาที่นอกชานของบ้านอื้อเฮียบหมง นอกชานบ้านนี้เป็นนอกชานบ้านที่กว้างขวาง รับแดดรับฝน พื้นนอกชานเป็นกระดานแผ่นใหญ่ ๆ ตามเคย แต่แผ่นกระดานจะไม่ค่อยเรียบนักและปูไม่สนิท (เพราะกาลเวลา) ใช้เป็นที่ตาก กุ้งแห้ง ปลาแห้ง ทำกะปิ น้ำปลา ตากงาดำขัดขาว สำหรับทำกระยาสารท ใบยาสูบหั่นฝอยตากแห้ง หมากหั่นแห้ง ใช้เป็นตากที่นอนหมอนมุ้ง เสื่อ ใบจากมวนยาสูบ กกสำหรับทอเสื่อ และอื่น ๆ จิปาถะเ ป็นที่วิ่งเล่นของเด็ก ๆ ได้สบายมากเวลาที่ไม่มีของตากแดด นอกชานนี้กว้างตามความยาวของเรือนขวางซ้ายขวายาวตามความยาวของหน้าเรือนกลาง

เรือนกลางยกระดับอีกเช่นกันโดยยกระดับขึ้นจากนอกชานเป็นโถงยาว กว้างขวางและลึก เรือนกลางเป็นเรือนหลังใหญ่ที่สุดของบ้าน ศัพท์สมัยใหม่ต้องใช้คำว่าเล่นระดับพื้นเรือน มีผนังแผ่นกระดานกั้นริมซ้ายของเรือนกลาง กลางเรือนมีตะเกียงชักรอกด้วยโซ่ห้อยยาว เป็นตะเกียงโลหะโบราณสวยงามเปรียบเหมือนไฟช่อของระบบไฟฟ้าเลยทีเดียว เพราะเป็นโลหะฉลุลายตัวฐานวางตะเกียงมีกรอบล้อมตัวตะเกียงมีฝาครอบตัวตะเกียง เมื่อจะจุดตะเกียงก็ดึงโซ่ชักลงมา พอจุดตะเกียงเสร็จก็ชักกลับชึ้นไป ต่อมาทราบว่าโช่ชำรุดตัวตะเกียงตกลงมาแตก ตัวโครงโลหะถูกนำลงไปเก็บไว้และสูญหายช่วงรื้อบ้าน ส่วนเรือนอื่นหรือตามห้องต่าง ๆ ก็ใช้ตะเกียงลานธรรมดา หากต้องถือตะเกียงนำทางไปไหนมาไหนก็จะใช้ตะเกียงรั้ว


ตะเกียงลาน

ตะเกียงรั้ว

ด้านขวามือมีกระจกเงาบานใหญ่ ติดผนังเอียงมุมประมาณ 45 องศาอยู่สูงระดับที่เราไปส่องดูตัวเองไ้ด้ทั้งตัว แต่ไม่สามารถยื่นหน้าหรือส่วนใดของคนอยากดูตัวเองในกระจกเข้าไปใกล้กระจกได้ จะมองเห็นเป็นภาพรวมทั้งตัว กระจกบานใหญ่ทีเดียว ด้านซ้ายมือที่มีฝากระดานกั้น มีลูกกรงเสริมช่วงกลาง ลักษณะกึ่ง ๆ เป็นห้อง 1 ห้อง เพียงแต่มีผนังเพียง 2 ด้าน และมีเตียงไม้กว้างประมาณ เมตรเศษยาวใกล้เคียงเกือบสามเมตรสองตัวตั้งชิดกัน มีโต๊ะรูปทรงของชาวจีนวางคู่กันสองตัวและด้านนี้เองที่มีช่องทางเดิน ระหว่างหลังเรือนขวางซ้ายมือ เรือนกลาง ไปสู่ เรือนหลังที่ 4 ที่กล่าวถึงว่าเป็นที่ตั้งของโม่หิน ถัดจากมุมซ้ายที่มีลักษณะกึ่งห้องนี้โล่งกว้างตลอดไปจนถึงที่ติดกระจกเงาบานใหญ่




ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.sinkaonline.com




ขอขอบคุณภาพจากhttp://allmyantique.tarad.com

ตะเกียงชักรอกที่บ้านอื้อเฺีฮีบหมง จะต้องนำภาพทั้งชุดนี้มาประกอบรวมกันใหม่ แต่ละภาพมีบางส่วนเพียงคล้ายคลึงเท่านั้น ประเด็นคือเป็นตะเกียงน้ำมันมีปล่องแก้ว มีฝาครอบเเหนือปล่องตะเกียงอีกที ฐานที่วางตะเกียงเป็นวงกลมฉลุลาย รวมทั้งฐานวงกลมที่มีโซ่คล้องยึดก็มีฐานโช่และฉลุลายด้วย มีสายโซ่สามสายโยงขึ้น ไปรวมกันเป็นรูปสาม้หลี่ยมและปลายโซ่ด้านหนึ่งดึงขึ้นลงเพื่อจุดตะเกียงหรือเติมน้ำมันได้










เมื่อเปิดประตูตู้ทั้งสองบานออกข้างในเป็นช่องลิ้นชัก


เปิดประตูบานเดียว ส่วนชั้นล่างเป็นช่องโล่ง ๆ

จากโถงของเรือนกลางที่ยกระดับจากนอกชาน ยังยกระดับอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นระดับที่ยกค่อนข้างสูงทีเดียว เด็ก ๆ สามารถนั่งในลักษณะห้อยเท้าลงมาที่พื้นโถงชั้นล่างได้สบาย ๆ ด้านซ้ายมือซีกที่มีโต๊ะและมีเตียงสองตัว ที่ยาวมาก 2 ตัวตั้งอยู่ เป็นที่วางของตู้ไม้มะเกลือสีดำสวยงามตั้งอยู่ เปิดบานประตูตู้จะพบว่าภายในเป็นช่องลิ้นชักหลายช่อง แต่ละช่องมีโลหะใช้ดึงลิ้นชักออกมาได้แต่ชั้นล่างสุดเปิดโล่ง ตู้ไม้ใบนี้คุณน้าเฮียงก็ถวายไว้ที่วัดบางกรูดเช่นกัน ส่วนอื่นของพื้นที่ยกระดับจากโถงชั้นที่สองซึ่งยกระดับมาจากนอกชานบ้านนี้เป็นโถงยาวโล่ง ๆ อีกเช่นเคย ก่อนที่จะมีประตูเปิดเข้าไปชั้นในของเรือนกลาง ข้างประตูเข้าไปชั้นใน ติดภาพคุณยายจูที่ฝาเรือนชั้นใน ต่ำลงมาเป็นหัวกวางที่มีเขาแตกกิ่งก้านสวยงามมาก เห็นลูกตากลวง ๆ ของกวาง (เป็นหัวกวางจริง ๆ )

พื้นที่ยกระดับจากโถงล่างก็ยังคงมีลักษณะเป็นโถงโล่งอีกเช่นเคย โถงยกระดับนี้กว้างและยาวกางมุ้งนอนได้หลายหลัง ไม้กระดานแผ่นหนาขัดถูเป็นเงามัน คงเป็นที่นอนของบรรพบุรุษผู้ชายของบ้านมาก่อนหลายรุ่น พื้นที่ยกระดับนี้มีประตูเปิดไปสู่เรือนกลางชั้นใน ซึ่งมีห้อง 3 ห้อง

ห้องซ้ายมือเป็นห้องเก็บกระชุ กระบุง ถ้วยชามที่ไม่ค่อยได้ใช้งานจะใช้เมื่อเวลามีงานบุญ ห้องนี้ปกติปิดประตูห้องไว้ เป็นห้องมืด ๆ ทึม ๆ เป็นที่เรียกของเด็กรุ่นหลัง ๆ ไพจิตรว่าห้องมืดนั่นเอง

ห้องกลางเป็นที่ตั้งโต๊ะบูชาบรรพบุรุษ มีกระถางธูป ป้ายไม้ภาษาจีนบอกชื่อแซ่ของตระกูล ตระกูลอื้อ เมื่อถึงเวลาตรุษจีน สารทจีนคุณลุงชุนจะเป็นผู้อัญเชิญออกมาทำพิธีกราบไหว้ จำได้ว่าเป็นโต๊ะสูงมี่เครื่องบูชา กระถางธูป อัฐิบางส่วนของบรรพบุรุษ ห้องขวามือเป็นห้องนอนที่กว้างขวางมีเตียงขนาดใหญ่ โต๊ะเครื่องแป้งเป็นโต๊ะสีดำฝังมุก มีกระจกเงาเป็นกรอบฝังมุก ตั้งอยู่บนโต๊ะ การใช้โต๊ะเครื่องแป้งตัวนี้ต้องนั่งกับพื้นห้องส่องกระจกผัดหน้าผัดตา หวีผม มีช่องบันไดขึ้นไปข้างบนซึ่งเรียกกันว่าเล่าเต้ง กึ่ง ๆ เป็นห้องใต้หลังแต่ไม่มีใครขึ้นมาพักอาศัยอยู่เพราะเป็นที่โล่งกว้าง แหงนมองก็จะเป็นหลังคาบ้านตามรูปทรงหลังคาบ้านเรือนไทยส่วนกลางสูงแล้วลาดลงมาลักษณะแบบหน้าจั่วเรือนไทย
สำหรับห้องนอนห้องนี้เจ้นัน (บุตรี คุณลุงชุน ) เป็นเจ้าของห้องช่วงที่ไพจิตรมาอยู่ บางที่ไพจิตรก็เข้าไปนอนกับเจ้นัน เจ้นันนั้นถึงจะดูว่าดุแต่ก็ใจดีกับไพจิตรและน้อง ๆ คนอื่น ยังมีเจ้เอนกบุตรีอีกคนของคุณลุงชุนอยู่ร่วมบ้านด้วย

ด้านหลังของเรือนซ้ายมือ มีเรือนที่สี่ ที่ใช้ผนังเรือนด้านหนึ่งคือฝา่บ้านของเรือนกลางนั้นเอง เรือนหลังนี้เป็นเรือนที่เก็บตุ่มน้ำกินคือน้ำฝนเรียงรายมากมาย มีรางน้ำเชื่อมรอยต่อของเรือนที่สี่กับเรือนกลาง ต่อรางลงมายังตุ่มน้ำแปดเหลี่ยมใหญ่และมีรางส่งน้ำฝนต่อไปยังตุ่มต่าง ๆ ที่ตั้งเป็นแถว ๆ ไว้ บริเวณที่ใช้วางโม่หินเป็นอีกซีกด้านหนึ่งของเรือนใกล้กับกระถางแปดเหลี่ยมใบใหญ่มาก อยู่ทางหัวเรือน ที่ต่อกับเรือนขวางซ้ายมือ
และโม่หินอันนี้นอกจากใช้โม่แป้งหรืออื่น ๆ แล้วยังมีการใช้งานในการทำไชโป๊อีกด้วย


กระถางแปดเหลี่ยมบ้านอื้อเฮียบหมงใบใหญ่กว่าในภาพนี้มาก


ตุ่มมังกรใบเล็กนี้เคยเป็นที่กดตัวลอดช่องของคุณน้าเฮียง

การทำไซโป๊ก็คือ ไปซื้อหัวไช้เท้าจากสวนผักซึ่งมีหลายสวนแม้แต่ตรงแถว ๆ โรงสีกลางเก่า และมีโรงสีใหม่ (นายหม้อ) มาสร้างใกล้ ๆ กับโรงสีกลาง ก็มีคนงานที่เป็นคนจีนปลูกผักหลายแปลง
ได้ไช้เท้ามาแล้วก็ล้างให้สะอาด ตัดใบที่ส่วนหัวออกรวมถึงตัดรากฝอย ๆ รอบ ๆ หัวออกด้วยหากรุงรังมาก ๆ ล้างสะอาดดีแล้วก็นำไปวางเรียงในอ่างดินเคลือบใบโตแล้วใสเกลือลงไป ในแต่ละชั้นที่วางเรียงหัวไช้เท้า ให้เกลือท่วมหัวไช้เท้า หลังจากนั้นก็ยกโม่หินแยกส่วนมาวางทับบนหัวไช้เท้า หัวไช้เท้าก็จะมีน้ำไหลออกมารวมทั้งหัวไช้เท้าเองก็ดูดซับน้ำเกลือกลับเข้าไป ทิ้งหัวไช้เท้าค้างคืนไว้ รุ่งเช้าก็ยกโม่หินออก เอาหัวไช้เท้ามาเรียงตากแดด พอตกเย็นก็เก็บหัวไช้เท้าลงเรียงในอ่างเอาโม่หินทับหัวไช้เท้าไว้อีก จนในที่สุดหัวไช้เท้าสีขาวก็เปลี่ยนเป็นหัวไช้โป้สีน้ำตาล หัวกลมยาวเปลี่ยนเป็นแบนยาว ได้เนื้อไช้เท้าที่แห้งดีแล้วก็หัวไช้โป้มาเรียงใส่ไห ปิดฝาไหเก็บไว้กินได้นาน
หัวไช้โป้ที่บ้านบางกรูดจะมีแต่ชนิดรสเค็มอย่างเดียวเพราะไม่ได้ปรุงแต่งรสหวานนั่นเอง


อ่างเคลือบ ใช้ในการหมักหัวไช้เท้า อ่างตากน้ำปลา

ไหสารพัดประโยชน์เก็บของได้หลายชนิด

ต่อมาภายหลังที่บรรดาโรงสีเลิกกิจการไปหมดก็ไม่มีแปลงผักคนจีนหลาน ๆ รุ่นหลัง เช่นหลานอรรถโกวิท เคยลงเรือแจวไปกับพวกผู้ใหญ่ไปซื้อหัวไช้เท้าที่ตลาดบ้านใหม่ในตัวเมืองแปดริ้ว ซื้อหัวไช้เท้ามาเต็มลำเรือมาดแจวเอากลับมาทำหัวไช้โป้ ยังนึกภาพว่าขนาดนั่งเรือเมล์ตอนที่พี่อาภรณีพาไปเจรจาเข้าเรียนที่โรงเรียนดััดดรุณี ยังรู้สึกว่าเรื่อแล่นนานมากเหลือเกินกว่าจะถึงตัวเมือง แล้วถ้าเป็นการแจวเรือจะนานสักแค่ไหนกันละนี่

น่าเสียดายที่ไม่มีรูปของบ้านอื้อเฮียบหมงเลยทั้ง ๆ ที่มีการถ่ายรูปกันบ้างเหมือนกัน ทั้งนี้เพราะบ้านอยู่ติดริมแม่น้ำ จะถ่ายภาพบ้านได้ก็ต้องลงเรือไปถ่าย และคุณภาพของกล้องที่มีนั้นก็ไม่สามารถถ่ายภาพบ้านทั้งสามหลังได้หมด ( สำหรับเรือนที่สี่ ก็ถูกเรือนขาวงซ้ายมือบดบังไว้) แม้แต่เรือนปั้นหยาของคุณลุงบุญ คุณป้าสมใจ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่ามาก ก็ยังไม่สามารถถ่ายได้เต็มหลัง


ขอเล่าเรื่องของเจ้นัน คนเก่ง คนกล้า คนขยัน คนที่อดทน ของบ้านอื้อเฮียบหมง

เจ้นัน เป็นคนอายุสั้นมากจนน่าใจหาย เรื่องราวของเจ้นันอยู่ในความทรงจำของญาติ ๆ ตลอดมา
เจ้นันเป็นคนทำอะไร ๆ เสร็จเรียบร้อยได้เร็วมาก เช่น ออกไปช่วยคุณลุงบุญ ป้าสมใจดำนา การดำนาก็ต้องมีคนดำนาหลาย ๆ คน ตั้งเป็นแถวหน้ากระดาน เจ้นันก็จะดำนารุดหน้านำหน้าไปกว่าใคร ๆ
เพิ่มเติม
การดำนาเมื่อตั้งแถวหน้ากระดาน ต้องดำนาแบบถอยหลังเพื่อไม่ไปเหยียบย่ำต้นข้าวเสียหาย คำว่ารุดหน้าหมายถึงรุดหน้าแบบถอยหลัง
บางที่เจ้นันก็เอาเรือมาดแจวของคุณลุงบุญ คุณป้าสมใจ แจวเข้าคลองสวนเอาสินค้า เช่นผลไม้ไปขายที่คลองสวน
ต่อมาเจ้นันก็ขยับขยายไปค้าขาย ผลไม้มาจากจันทบุรี ระยอง และนี่เองทำให้เจ้นันมีเพื่อนฝูงคนรู้จักมากมาย
ต่อมาภายหลังเจ้นันได้แต่งงานกับคุณสงัด ซึ่งทำงานที่เหมืองปีล๊อก จังหวัดกาญจนบุรี เป็นงานแต่งงานที่จัดที่บ้านอื้อเฮียบหมง นับเป็นงานมีแขกมากมายที่มิใช่ญาติ เช่นคุณวรรณี ตยางคนนท์ ซึ่งมีร้านเสริมสวย ตัดเย็บเสื้อผ้าอยู่ที่ปากน้ำประแสร์จังหวัดระยอง ซึ่งเจ้นันได้ไปรู้จักชอบพอกันเป็นอย่างมาก มีอยู่ปีหนึ่งคุณลุงบุญคุณป้าสมใจ เป็นเจ้าภาพทอดกฐินวัดที่คลองสวน (แต่จำชื่อวัดไม่ได้) คุณววรณีก็มาค้างคืนที่บ้านไปร่วมงานและมีเพื่อน ๆ คนรู้จักของคุณวรรณีติดตามมาด้วย
งานแต่งงานเจ้นันมีเพื่อนเจ้าสาวถึง 4 คน เป็นคณะของคุณวรรณี เจ้าสาวใส่ชุดยาวแมกซี่แบบชุดทันสมัยดูเก๋และงดงามแปลกตาตัดโดยคุณวรรณี รวมทั้งการทำผมแต่งหน้าเจ้าสาว
เพื่อนเจ้าสาวก็งดงามทุกคน มีแขก ทั้งผู้ใหญ่ หนุ่มสาวจากฝ่ายเจ้าบ่าวและเพื่อน ๆ เจ้าสาวจากจังหวัดระยอง ญาติพี่น้องของเจ้าสาวคือเจ้นัน ทั้งผู้ใหญ่ หนุ่มสาว และเด็ก ๆ งานแต่งงานที่จัดดูครึกครื้น
ส่วนงานแต่งงานของเจ้เอนก จัดกันแต่ในวงญาติของเจ้าบ่าวเจ้าสาว จัดเรียบง่าย เจ้เอนกใส่ชุดมิดี้สีฟ้าประดับดอกไม้ผ้าสีขาวตกแต่งตัดโดยเจ้ม่อม
แม้ว่าขั้นตอนของงานจะเหมือนกัน คือมีขบวนขันหมาก มีพิธีรดน้ำสังข์ พิธีรับไหว้ญาติผู้ใหญ่ แต่งานของเจ้นันดูสนุกสนานสำหรับเด็ก ๆ มาก และเจ้นันซึ่งเดิมฃื่ออนันท์ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นนันทนา ในการ์ดเชิญแต่งงาน
มีการถ่ายรูปหมู่ต่าง ๆ กับญาติและเพื่อน ๆ ของบ่าวสาวหลายรูป แต่น่าเสียดายที่เจ้นันเอาติดตัวไปด้วยทั้งหมด

เมื่อแต่งงานแล้วเจ้นันก็ไปอยู่กับคุณสงัดที่จังหวัดกาญจนบุรี เคยกลับมาบ้านอื้อเฮียบหมงหลังไปอยู่กาญจนบุรีครั้งหนึ่ง แล้วเจ้นันก็ตั้งท้องคลอดบุตรชายที่กาญจนบุรี ซึ่งเหมืองนี้อยู่ในป่า หลังคลอดบุตรไม่กี่วันเจ้นันก็เสียชีวิต คุณสงัดฝังศพเจ้นันที่กาญจบุรี ต่อมาภายหลังจึงขุดกระดูกเจ้นันกลับมาทำพิธีเผาที่แปดริ้ว อีกราว ๆ 7-8 เดือนต่อมา บุตรชายของเจ้นันก็เสียชีวิตไปด้วย นานไป นานไป คุณสงัดก็ขาดการติดต่อกับญาติ ๆ ที่แปดริ้ว

เจ้เอนกนั้น แต่งงานกับ พ.ต.ต. นิมิตร รัตนางกูรต่อมา เปลี่ยนชื่อเป็นศิริลักษณ์
เจ้นันนั้นเป็นหลานรักของคุณยายจู คุณลุงบุญ คุณป้าสมใจ
ส่วนเจ้เอนกนั้นว่ากันว่าเป็นหลานรัก ของคุณยายอิ่ม ภรรยาก๋งโหงวมาก

มีข้อมูลของเหมืองปิล๊อกดังนี้

ย้อนอดีต ปิล๊อกไปเมื่อหลาย 10 ปีก่อน มีผู้พบเห็นชาวพม่าเข้ามาลักลอบขุดแร่ในพื้นที่ตำบลปิล๊อกไปขายให้ ทหารอังกฤษ คำเล่าลือนี้ทำให้ กรมทรัพยากรธรณีสมัยนั้นนำคณะนายช่างมาสำรวจก็ถึงกับตะลึง เมื่อพบว่าพื้นที่แถบนี้ี่มีแร่ดีบุกและวุลแฟรมอยู่มากมายรองลงมาและมักอยู่ปะปนกัน คือ แร่ทังสะเตน และยังมีสายแร่ทองคำ ปะปนอยู่กับ สายแร่ดีบุกต่อมา ปี พ.ศ. 2483 องค์การเหมืองแร่ กรมโลหะกิจ ได้เปิด“เหมืองปิล๊อก”ขึ้นเป็น แห่งแรกที่บ้านอีต่อง ต.ปิล๊อก จากการเปิดเหมืองในครั้งนั้นได้เกิดการปะทะกันระหว่างตำรวจกับกรรมกรพม่า เพราะฝ่ายไทยห้ามกรรมกรพม่านำแร่ ไปขายให้อังกฤษ แต่กรรมกรพม่าฝ่าฝืน จึงเกิดการปะทะกันทำให้มีผู้บาด เจ็บและล้มตายจำนวนมาก ในอดีตชาวบ้านเรียกว่า "เหมืองผีหลอก" ต่อมาเพี้ยนเป็น "ปิล๊อก" ซึ่งกลายเป็นชื่อ เหมืองแร่และตำบลในเวลาต่อมา หลังจากนั้นก็ได้มีเหมืองแร่อื่นๆทยอยเปิดตามกันมาอีกมากมายทั้ง เหมืองเล็ก เหมืองใหญ่ ราว 50-60 เหมือง โดยผู้คนพากันเรียกบรรดาเหมืองทั้งหลายในพื้นที่แถบนี้แบบเหมารวมว่า “เหมืองปิล๊อก” ดินแดนแห่งนี้ เปรียบเสมือนขุมทรัพย์ของ บรรดานายเมืองทั้งหลายที่ต่างหลั่งไหลเข้ามาผู้แสวง โชคมีทั้งคนไทย พม่า และที่มาจากแถบอินเดีย เหมืองแร่จึง สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ชุมชนโดยรอบเป็นอย่างมากเนื่อง

นิยายเหมืองแร่แห่งปิล๊อกดำเนินเรื่องราวอยู่หลายสิบปี ก่อนประสบภาวะราคาแร่โลกตกต่ำในปี พ.ศ. 2528 บรรดาเหมืองแร่ทยอยปิดตัวลง ไม่เว้น แม้แต่เหมืองปิล๊อก ทิ้งไว้เพียงตำนานเมืองเหมืองอันรุ่งโรจน์และ มนต์เสน่ห์ แห่งปัจจุบันอันเรียบง่ายสงบงามให้ผู้สนใจ ออกดั้นด้นเดินทางไปค้นหา ปิล๊อกกลายเป็นแหล่งท่อง เที่ยวที่แวดล้อม ด้วยทะเลแห่งภูเขาอันสลับซับซ้อนและสวยงามของเทือกเขาตะนาวศรี เส้นแบ่งเขตแดนไทย-พม่า ทุกๆปี
ปีล๊อกอยู่ในอำเภอ ทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://paiduaykan.com/76_province/central/kanjanaburi/pilock.html

ที่เหมืองนี้เองได้ทำให้ลูกหลานตระกูลอื้อสองคนนำชีวิตไปทิ้งไว้ที่นั่น





ขอขอบคุณภาพจาก http://paiduaykan.com/
http://www.thaitravels.net
http://travel.sanook.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น