วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2556

วารวันอันแสนสุขที่บ้านบางกรูด ตอนที่ 4





ถัดจากบ้านอื้อเฮียบหมง ก็เป็นบ้านหลังใหญ่สวยงามของคุณป้าสมใจและคุณลุงบุญซึ่งดูงามสง่า่โอ่โถงทันสมัยที่สุดในยุคนั้นของละแวกบ้านหน้าวัดบางกรูด เป็นเรือนปั้นหยาชั้นเดียวหลังคามุงกระเบื้องสีแดงเห็นแต่ไกล บ้านเีิรือนในยุคนั้นส่วนใหญ่มุงหลังคาบ้านด้วยจากบ้าง สังกะสีบ้าง เรือนปั้นหยานี้มีนอกชานกว้างขวางไว้สำหรับตากหมากแห้ง ปลาแห้งปลาเค็ม ที่หาได้จากร่องสวนและในแม่น้ำบางปะกงหน้าบ้านนั่นเอง นอกจากนี้ยังใช้ตากกะปิ น้ำปลา มะขามเปียก แป้งเท้ายายม่อม



คุณป้าสมใจและนอกชานบ้านของคุณป้า

จากนอกชานมีสะพานท่าน้ำมีบันไดท่าน้ำทอดลงไปถึงพื้นเลนหลายขั้น ที่ขั้นบันไดสุดท้ายมีขอนไม้ยาว ๆ เป็นขอนไม้จากต้นมะพร้าว 2 ต้นวางคู่กันทอดราบอยู่กับพื้นดินเอียงลาดลงไปสู่พื้นเลนเหลวของชายฝั่งแม่น้ำ โดยที่มีขอนท่อนหนึ่งมีความไม่พอต้องมีขอนไม้ท่อนที่สามมาทอดต่อกัน ความยาวของขอนนี้ปลายสุดของขอน จะอยู่ปริ่ม ๆ พอดีกับระดับน้ำที่ลงต่ำสุด ในเวลาที่น้ำลงระดับที่เรียกว่าแห้งขอดในแม่น้ำ


สะพานท่าน้ำบ้านคุณป้าสมใจ


คุณน้าเฮียงและสะพานท่าน้ำบ้านคุณป้าสมใจ


ขอนไม้ที่ใช้ทอดบนเลน




ในเวลาที่น้ำลง เด็ก ๆ ในบ้านคุณป้าสมใจ จะต้องตักน้ำในแม่น้ำมาราดขั้นบันไดที่มีเลนเกาะพื้นและรวมทั้งขอนด้วยเพื่อให้สามารถลงไปเดินบนขอนไม้ได้ สะพานท่าน้ำด้านหนึ่งติดกับป่าจาก อีกด้านหนึ่ง(ทางด้านที่ติดกับบ้านอื้อเฮียบหมง ) มีต้นแสม ปลูกเป็นแนวหน้าชานบ้านขึ้นเป็นพุ่มใหญ่ที่ต้องมีการตัดตกแต่งกิ่งและยอดแสม เสมอ ๆ ยังมีแสมต้นใหญ่ ค้นคลัก คั่นระหว่าง สะพานท่าน้ำบ้านอื้อเฮียบหมง และนอกชานบ้านของบ้านคุณป้าสมใจ ในเวลากลางคืนจะมีหิ่งห้อยส่องแสงวอมแวมแอร่มตาน่าดูมากในคืนเดือนมืด เราไม่ต้องไปหาดูหิ่งห้อยให้ไกลบ้าน แม้ว่าหิ่งห้อยจะชอบเกาะกับต้นลำพูมากกว่าต้นไม้ชนิดอื่น ๆ ก็ตามที แต่ก็มีหิ่งห้อยจำนวนไม่น้อยที่มาเกาะกับต้นแสม ซึ่งหากลงเรือพายเลาะริมชายฝั่งแม่น้ำไปแถบที่มีต้นลำพู หิ่งห้อยจะไม่ส่องแสงวอมแวม แต่จะเป็นวาววับระยิบระยับจนน่าอัศจรรย์ใจหลงใหลในความงดงามของแสงพราวพร่างสว่างตาของหิ่งห้อย



บ้านคุณลุงบุญ คุณป้าสมใจยังมีเจ้ละม่อม พี่มิ่งขวัญ และพี่สมจิตต์ พัวพันธุ์ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นวิจิตร และเป็นนายแพทย์) สำหรับเจ้ม่อม (ละม่อม สงวนสัตย์) ในขณะนั้นยังไม่แต่งงานแต่พี่สาวของเจ้ม่อมคือเจ้ออ (ละออ อุดมพงษ์ ) ได้แต่งงานออกเรือนไปกับอานึ้งกวงหลี (สนาน อุดมพงษ์ ) คหบดีที่บ้านหัวถนนอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เจ้ม่อมจึงเป็นแม่บ้านใหญ่ของบ้านคุณป้าสมใจ เป็นที่เคารพนับถือของน้อง ๆ ทางกรุงเทพ ฯ นับตั้งแต่พี่ีภรณ์ ( อาภรณี) จนถึงพวกเราอีก 4-5 คน เจ้ม่อมใจดีกับน้อง ๆ ทำกับข้าวเก่ง ทำขนมให้พวกเราได้กินเสมอ

บ้านของคุณป้าสมใจมีหลายห้อง จากนอกชานบ้านที่ติดริมแม่น้ำ ( ติดริมแม่น้ำกว่าบ้านอื้อเฮียบหมง) ถ้ดจากนอกชานบ้านก็ยกระดับพื้นเรือน เป็นไม้กระดานแผ่นยาวใหญ่ มีโถงโล่งกลางเรือน คุณลุงบุญ คุณป้าสมใจจะนั่งกินหมากกันตรงเสากลาง มีเชี่ยนหมากทองเหลืองชุดใหญ่ คุณแม่อุไรคุณน้าเฮียงเองชอบมานั่งสนทนาตามประสาพี่น้องกันเป็นประจำ 2 ข้างของโถงกลางนี้ ด้านซ้ายมือมีห้อง 2 ห้อง ห้องใหญ่ 1 ห้อง ห้องเล็ก 1 ห้อง เป็นห้องของพี่มิ่งขวัญ พี่สมจิตต์ ด้านขวามือเป็นห้องของคุณลุงคุณป้าสมใจ และห้องของเจ้ม่อม ห้องของเจ้ม่อมเป็นที่รวบรวมผลไม้นาน ๆ ชนิดที่รวบรวมมาจากสวนหลังบ้านเช่นมะม่วงซึ่งสุกคราวละมาก ๆ (เพราะเป็นการบ่มสุก) กล้วย มะปราง ผลไม้เหล่านี้บรรจุในกระจาดและวางไว้ใต้เตียงซึ่งเจ้ม่อมจะบ่นเสมอว่าร้อน


คุณลุงบุญและบานเฟี้ยม

จากโถงกลางบ้านคุณป้าจะมีเพี้ยมกั้นเป็นฝาบ้านชั้นใน เมื่อเปิดบานเฟี้ยมก็จะเป็นพื่นที่โล่งอีกส่วนหนึ่ง ตั้งตู้พระซึ่งวางบนโต๊ะสูงอีกที มีโต๊ะวางของใช้ต่าง ๆ ส่วนมากเป็นไห และปี๊บเก็บขนมเช่นกระยาสารท ไหเก็บหมากแห้ง บานเฟี้ยมนี้เป็นเฟืี้ยมบานพับชุดละสามสี่ำัพับ เมื่อกางบานเฟี้ยมหมดทุกบานก็จะแบ่งส่วนบ้านออกเป็นสองส่วนตามความยาวของบ้านเลยทีเดียว เมื่อพับเพี้ยมทุกบานสุดบานพับในสุด จะมีเนื้อที่เหมาะสำหรับเป็นที่เก็บเสื่อกกที่ม้วน ๆ ไว้แล้วตั้งพื้นพิงฝากับบานเฟี้ยมที่พับครบทุกบาน ช่างพอเหมาะพอเจาะ

เฟี้ยม น. ฝาที่ทำเป็นบานๆ พับได้ ก.ปิด กั้น บัง



จากภาพคุณลุงบุญถ้าเปิดบานเฟี้ยมแล้วมีลักษณะดังภาพ


เฟี้ยมที่ห้องแถวในตลาดเมืองแปดริ้ว


ถัดมาจากพื้นเรือนด้่านนี้ จะมีพืื้นที่อีกส่วนหนึ่งอยู่ด้านขวามือของเรือน เป็นที่วางเรียงโอ่งมังกรใส่น้ำหลายใบเป็น แถว ๆ กระบุง ตะกร้า กระด้ง ตะแกรงไม้ไผ่สาน ขนาดต่าง ๆ มากมาย ของใช้สำหรับตากบรรดาอาหารแห้ง ถัดไปเป็นครัวขนาดใหญ่ไม่แพ้ครัวบ้านอื้อเฮียบหมง จะดูใหญ่กว่าเสียอีก เพราะมีระเบียงไม้ยาวขนานกับตัวเรือนครัว มีระเบียงฝาขัดแตะและบันไดสองสามขั้นสำหรับลงไปสู่พื้นที่สวน


ตะแกรงและกระด้ง

เจ้ม่อมจะเป็นคนดูแลเรื่องสำรับกับข้าว ขนม ถ้าเป็นหน้ามะม่วงคือช่วงฤดูร้อนนั่นเองก็จะมีข้าวเหนียวมูนประจำไม่เคยขาด พวกเราได้กินข้าวเหนียวมะม่วงกันทั้งวัน เพราะดูเหมือนจะนึ่งข้าวเหนียวมูนนี้วันละ 2-3 ครั้งเลยทีเดียว เข้าไปบ้านคุณป้าสมใจเมื่อไรเจ้ม่อมก็จะชักชวนให้กินโน่นกินนี่อยู่เสมอ พวกเราจึงรักเจ้ม่อมผู้เปรียบเสมือนพี่ใหญ่ของเรามาก ๆ


เจ้ม่อมพี่ใหญ่ในวันวาน ภาพคู่คนนั่งคือเจ้ม่อม


หวดนึ่งข้าวเหนียวและอ่างมูนข้าวเหนียว



ด้านข้างห้องเจ้ม่อมเป็นระเบียงใหญ่มีโอ่งน้ำ ตุ่มน้ำ สำหรับการซักล้าง


ตุ่มดินเผา


ตุ่มมังกร

ถัดต่อไปอีกมีบันไดและสะพานยาวไปบ้านคุณยายว้วย ซึ่งเป็นคุณยายของพี่สุรินทร์ (พลเรือโทสุรินทร์ เจริญวงษ์) บุตรชายคนโตของคุณน้าฮั้ว บ้านคุณยายว้วยก็ใหญ่โตทำนองเดียวกับบ้านอื้อเฮียบหมง ปลูกสร้างไสตล์จีนคล้าย ๆ กัน มีนอกชานกว้างใหญ่ พวกเราไปวิ่งเล่นกันสบายเพราะคุณยายว้วยแก่มากแล้ว หูตึงไม่ได้ยินเสียงอะไร แต่ไม่ชอบให้ใครไปยุ่มย่ามวิ่งเล่นที่บ้านของท่าน พวกเราเด็ก ๆ ก็รู้ข้อนี้ แต่เราเห็นว่าคุณยายว้วย หูตาไม่ค่อยดี อายุ ราว 70-80 ปี ไม่มีแรงมาดุว่าหรือไล่พวกเรา พวกเราจึงชอบแอบไปเล่นที่บ้านคุณยายว้วยกันมากและนอกชานของคุณยายว้วยก็ไม่มีของต้องตากแดดแบบบ้านอื้อเฮียบหมงรวมทั้งนอกชานบ้านของคุณป้าสมใจ สองนอกชานนี้มักจะมีของตากแดดมากกว่าไม่มี หากไปเล่นกันที่บ้านคุณยายว้วยนอกจากไม่ต้องระวังของบนนอกชานแล้วก็ไม่ต้องกลัวจะมีคนดุว่า

ตกกลางคืนพี่กลึง (พี่สุพล เจริญวงษ์) บุตรชายคนที่สองของคุณน้าฮั้ว แต่เป็นบุตรชายคนโตของคุณน้าทองม้วน ( เมื่อคุณน้าบุญช่วยที่พวกเราเรียกท่านว่าคุณน้าโอ่งคุณแม่ของพี่สุรินทร์เสียชีวิต คุณยายว้วยได้จัดหาคุณน้าทองม้วนมาเป็นภรรยาคนใหม่ให้คุณน้าฮั้ว มีบุตรใหม่อีก 3 คน ) พี่กลึง (พี่สุพล) เป็นผู้นำข้าวปลาอาหารข้ามฝั่งมาให้และนอนเป็นเพื่อนในตอนกลางคืน รุ่งเข้าก็พายเรือกลับไปบ้านคุณน้าฮั้ว ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกงฝั่งตรงกันข้ามกับบ้านคุณยายว้วย บ้านคุณลุงบุญคุณป้าสมใจ และบ้านอื้อเฮียบหมง



เกือบสองปีที่ครอบครัวเราและครอบครัวคุณแม่วงษ์จากบ้านที่กรุงเทพฯมาอยู่ที่บ้านอื้อเฮียบหมงที่บางกรูด จำได้ดีว่ามีความสุข สนุกสนานได้เที่ยวเล่นทั้งในสวน ในท้องนา หน้าน้ำหรือวันที่น้ำขึ้นเต็มฝั่งพวกเราก็ลงไปเล่นน้ำว่ายน้ำในแม่น้ำกันทั้งวัน มีขนม ผลไม้ในสวนอร่อย ๆ ไม่เคยขาดแคลน หนังสืิอก็ไม่ต้องเรียน พี่ ๆ เช่น เจ้นัน (นางสาวอนันท์ เจริญวงษ์ ) เจ้เอนก (นางสาวศิริลักษณ์ เจริญวงษ์ ) ที่อยู่บ้านอื้อเฮียบหมงด้วยกัน รวมทั้งคุณน้าเฮียงนั้น หากพวกพี่ ๆ และคุณน้าเฮียงจะไปไหน ๆ กันก็จะชวนให้พวกเราได้ไปด้วยเสมอคือได้ไปเปิดหูเปิดตานอกบ้านนั่นเอง

เช่นหากที่วัดผาณิตารามมีการจัดงาน  ในเวลากลางคืนก็จะมีการรำวงด้วย เจ้นันจะเป็นผู้นำทางพาพวกเราออกทางหลังบ้านเดินลัดเลาะผ่านสวนคุณป้าสมใจ ผ่านท้องทุ่งนา เดินลัดเลาะไปตามคันนาจนถึงสถานที่จัดงานซึ่งก็ไม่ได้อยู่ใกล้ ๆ เลย แต่พวกเราก็สนุกชนิดไปไหนไปกันเลือดสุพรรณบ้านบางกรูดด้วยกันกับพวกพี่ ๆ งานวัดก็สนุกสนานมีลิเก รำวง ร้านค้าขายของมากมาย พอดึกสักสองสามทุ่มก็พากันกลับบ้าน เดินกันไปเท้่าเปล่ารองเท้าไม่ต้องใสเพราะใคร ๆ คนอื่น เขาก็ไม่ใส่กัน เดินบนพื้นดินนุ่ม ๆ หากเป็นคันนา ก็มีหญ้าบ้างแต่ก็ไม่ได้ประทุษร้ายเท้าของพวกเราเลย เดินกลับมาถึงบ้านก็ไปล้างเท้าที่ท่าน้ำหากเป็นเวลาน้ำขึ้น ถ้าเป็นน้ำลงจะมีตุ่มน้ำใส่น้ำไว้สำหรับล้างเท้าไม่ไกลจากท่าน้ำ แล้วเดินบนแผ่นกระดานเข้าประตูบ้านผ่านนอกชานบ้านเข้านอนที่เรือนขวางซ้ายมือที่อยู่ของพวกเราซึ่งกางมุ้งไว้เรียงรายติด ๆ กัน เราเข้ามุ้งนอนโดยไม่เคยเปิดมุ้งผิดหลังเลย



ในตอนกลางวันพวกผู้ใหญ่ที่ไม่มีอะไรทำก็ตั้งวงเล่นไพ่ตองกันเพลิดเพลิน พวกเราเด็ก ๆ ยิ่งสนุกเที่ยวเล่นตามสบาย น้ำขึ้นก็ลงเล่นน้ำในแม่น้ำ ขึ้นจากน้ำก็เข้าสวนของคุณป้าสมใจ คุณลุงบุญ ผลไม้มากมายตามที่หลานพลอยโพยมบรรยายไว้ในหนังสือ "วันวานของบางกรูด"อาทิเช่น มะม่วงที่มีชื่อแปลกๆ มากมายหลายพันธุ์ และมีจำนวนต้นมะม่วงมากที่สุดในสวน ฝรั่ง มะปรางทั้งมะปรางเปรี้ยวจี๊ดจ๊าดถึงใจ มะปรางหวานเจี๊ยบ และมีอย่างละหลายต้น ส้มซ่า ส้มจี๊ด กล้วย มะเฟือง มะขวิด ทุเรียนเทศ มะพร้าวทั้งมะพร้าวอ่อน มะพร้าวแกง ขนุนหนัง ขนุนละมุด ละมุด พุทรา น้อยหน่า ตะโก กระท้อน มะกอก มะดัน แม้แต่ต้นลำไยก็ยังมี แม้จะเป็นลำไยที่มีเนื้อบางจนหุ้มเมล็ดสีดำไม่มิดก็ตามที



 ส้มซ่า



ทุเรียนเทศ

ส่วนผักสวนครัวก็มี ขิง ข่า ตะไคร้ มะกรูด มะนาว พริกขี้หนู กระเพรา โหระพา ผักชีฝรั่ง กระชาย มีต้นมะลิซ้อนขึ้นเป็นกอใหญ่ พวกเราจะตื่นแต่เช้าไปแย่งกันเก็บมะม่วงขบเผาะที่ร่วงหล่น แย่งกันเก็บจนกระทั่งเป็นผลใหญ่และสุกเลยทีเดียว รวมทั้งยังแย่งกันเก็บดอกมะลิได้กันคนละเป็นขัน ๆ เลยทีเดียว เหมือนเป็นเกมกีฬาอย่างหนึ่งแถมยังทำให้พวกเราต้องตื่นแต่เช้าทุกวันไปทำกิจกรรมนี้ ซึ่งของที่ไปแย่งกันเก็บมานี้ได้มาแล้วก็เอามากองรวมกันที่นอกชานบ้าน ดอกมะลินั้นผู้ใหญ่ก็จะเอากระด้งมาใส่เรียงกระจายตากแดดให้แห้งเก็บไว้เป็นน้ำกระสายยาโบราณ พอมาถึงวันนี้คิดย้อนความหลังไปแล้ว ก็ไม่รู้ว่า จะมีพี่ป้าน้าอาคนใดรำคาญใจหรือนึกตำหนิพวกเราบ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้ เราไม่รู้ตัวจริง ๆ ในช่วงนั้นนึกแต่เรื่องสนุกสนานอย่างเดียว ทุกคนที่บ้านบางกรูดเจอหน้าพวกเราก็ยิ้มแย้มแจ่มใสให้ ดูตามใจพวกเราที่สุดไม่ว่าจะซุกซนอย่างไร คนที่ดูจะดุที่สุดในบ้านบางกรูดคงจะเป็นคุณลุงบุญ หน้าท่านดูเฉย ๆ ไม่ค่อยยิ้มแย้ม วัน ๆ ทำแต่งาน ถ้าพวกเราไม่ซุกซนทำของของท่านเสียหาย ท่านก็จะมีใบหน้าเฉย ๆ



แต่มีอยู่วันหนึ่งไพจิตรไปเหนี่ยวถังโล่ติ้นที่ตั้งอยู่บนหลังเล้าเป็ด ( ที่เรือนยุ้งเก็บข้าวของท่าน) ไพจิตรแสนสงสัยว่านี่เป็นถังอะไรกันหนอมีอะไรบรรจุอยู่ข้างในกันนะ ไพจิตรก็เลยเหนี่ยวถังเอียงดูว่ามีอะไรบรรจุอยู่ในนั้น โล่ติ้นในถังก็เลยหกลงมา คุณลุงบุญมองไพจิตรท่าทางดุ ดุ ที่ไปทำสารฆ่าแมลงของท่านหก ท่านทำเสียง ฮื่อ ๆ ในลำคอ ไพจิตรก็วิ่งหนีอ้าวออกมาเอาตัวรอดพ้นหน้าคุึณลุงบุญ ก็เลยรอดตัวไม่ถูกคุณลุงบุญดุ ไม่ถูกคุณแม่อุไรตี (คุณแม่อุไรของไพจิตร ท่านเป็นคุณแม่ที่ดุมากเพราะมีลูกมากตั้งสิบคน ดังนั้นเรื่องถูกคุณแม่ตีก็เป็นเรื่องที่ลูก ๆ ทุกคนที่ทำอะไรผิดต้องพบเจอเป็นประจำ)


ดอกโล่ติ้น


โล่ติ้น
ขอขอบคุณภาพโล่ติ้นจากสวนสิรีรุกขชาติhttp://www.pharmacy.mahidol.ac.th

สำหรับที่บ้านอื้อเฮียบหมงมีคุณน้าเฮียงเป็นลูกสาวคนสุดท้องของคุณตาไซคุณยายจูเป็นแม่บ้าน คุณน้าเฮียงทำขนมเก่งมาก และอย่างที่เล่าไปแล้วคือบางวันทำแล้วเอาไปขายด้วย ไพจิตรชอบเข้าไปช่วยคุณน้าเฮียงในครัวจนรู้วิธีทำกับข้าวหลายอย่าง ที่ชอบมากคือการทำกุ้งหวาน เป็นกุ้งจากแม่น้ำ ทำง่าย ๆ แต่อร่อยมาก พวกเราทานข้า่วและกับข้าวฝีมือคุณน้าเฮียงทุกวันจนตัวอ้วนกลม
ทุก ๆ 7-10 วันจะมีเรือมาขายหมูในตอนเช้า ทั้งสองบ้านก็จะซื้อเนื้อหมู และบางทีก็ซิ้อมันหมู ที่เรียกว่ามันเปลวหมูไว้เจียวเป็นน้ำมันเก็บไว้ทำกับข้าวอื่น ๆ
มันเปลวหมูที่ซื้อกันนี้เป็นมันหมูล้วน ๆ ไม่มีเนื้อหมูติดอยู่เลย มีลักษณะเป็นพวง ๆ
ถ้าเปิดพจนานุกรมเปิดจากคำว่าเปลวมีคำอธิบายว่ามันเปลวหมายถึง มันของสัตว์ที่ไม่ได้ติดอยู่กับหนัง คู่กับมันแข็ง
หลังจากเจียวน้ำมันออกหมดแล้วตักกากหมูใส่ตะแกรงให้สะเด็ดน้ำมัน และนำไปผัดน้ำพริกที่เรียกกันว่าผัดพริกขิงจะกรอบที่สำคัญคืออร่อยมากเพราะความใหม่ของกากหมูนั่นเอง

ในราว 11 โมงเช้าที่บรรดาผู้ใหญ่ในบ้านเรียกกันว่าเวลาเพลนั้นบางวันก็จะมีเรือพายขายก๋วยเตี๋ยวผ่านมาที่หน้าบ้าน เราจะดีใจมากที่ได้กินก๋วยเตี๋ยวเรือพายโดยไม่ต้องออกจากบ้านไปซื้อหามากิน นั่งกินที่สะพานท่าน้ำอย่างอร่อยและสนุกสนาน เป็นก๋วยเตี๋ยวที่มีเอกลักษณ์ของก๋วยเตี๋ยวแปดริ้ว คือ ใส่กุ้งแห้งตัวเล็ก ๆ ( แต่ไม่ใช่กุ้งฝอย) โรยหน้ามากับกากหมู ก๋วยเตี๋ยวแบบนี้โด่งดังมาจนปัจจุบันนี้

มีเรื่องที่จำได้ไม่ลืมเลือนอีกเรื่องก็คือในเวลาหน้าน้ำที่น้ำขึ้นเต็มฝั่งในตอนเย็น ๆ จะมีเรือฉลอมลำใหญ่ที่ติดใบเรือแล่นด้วยลม แล่นฉิวมาจากอำเภอบางปะกงซึ่งอยู่ทางด้านขวามือของบ้านอื้อเฮียบหมงตามเวลาที่น้ำขึ้น เรือฉลอมนี้จะบรรทุกหอยแมลงภู่มาเต็มลำ เรือแล่นผ่านหน้าบ้านลำแล้วลำเล่า พวกผู้ใหญ่รวมทั้งไพจิตรด้วยจะพายเรือทวนน้ำไปทางคลองศาลเจ้าเพื่อดักเกาะเรือฉลอมซื้อหอยแมลงภู่จากเรือลำใดลำหนึ่งที่เกาะได้ทัน คนบนเรือฉลอมจะช่วยให้เรือเล็ก ๆ ของเราเกาะเรือฉลอมได้สะดวกขึ้น เราก็จะได้ซื้อหอยแมลงภู่ตัวโต ๆ การซื้อขายโดยการตวงหอยแมลงภู่เป็นถัง ๆ ซึ่งก็คือถังตวงข้าวสารทั่ว ๆไปนั่นเอง ราคาซื้อขายหอยแมลงภู่ในขณะนั้นถังละ 1 บาท


ถังตวงข้าว

เมื่อซื้อเสร็จแล้วเราก็จะปล่อยเรือของเราออกจากเรือฉลอม ประมาณขณะเรืออยู่ท่าน้ำหน้าบ้านเราพอดี ถึงบ้านแล้วก็ลงมือช่วยกันดึงหอยแมงภู่ที่เกาะกันอยู่เป็นพวง ๆ ด้วยหนวดของหอยแมลงภู่ที่เกาะยึดหลักไม้ที่ปักไว้ เวลาชาวประมงไปเก็บหอยมาจากหลักก็จะดึงหลักไม้ออกไป กลุ่มหอยที่ยึดติดกันเป็นพวง ๆ นี้ ก็จะมีดินโคลนติดมาด้วย เมื่อล้างขัดตัวหอยสะอาดจากดินโคลนดึงหอยออกเป็นตัว ๆ ได้แล้ว เจ้ม่อมจะทำหน้าหน้าที่ปรุงน้ำจิ้มแสนอร่อยไว้คอยรอ หอยสด ๆ นึ่งในกระทะใบไหญ่ ใส่ต้นตะไคร้ทุบแล้วหั่นแฉลบเป็นท่อน ๆ รูดใบมะกรูด ซึ่งเก็บจากในสวน กองใส่บนตัวหอย เมื่อหอยอ้าปากแล้วลองเอาตัวอย่างมาชิมว่าสุกกินได้แล้วก็เอาหอยขึ้นจากในกระทะ เราจะไม่นึ่งจนหอยสุกเกินไป เพราะความหวานของหอยจะน้อยลงกว่าสุกพอกินได้ น้ำของหอยที่ออกมาจากหอยนึ่งนี้จะออกสีขาวขุ่น ๆ หอมกลิ่นตะไคร้ใบมะกรูด น้ำออกรสหวานด้วยความสดจากตัวหอยเอง กินกันจนอิ่มทั้งสองบ้าน หอย 1 ถังก็ยังเหลือ


เรือฉลอม

เราก็จะช่วยกันแกะหอยเอาแต่เนื้อ คนที่ไม่ชำนาญก็จะต้องใช้มีดผ่าง้างฝาหอยให้แบะออก แล้วใช้เปลือกฝาของหอยแมลภู่ฝาอื่น ๆ งัดแงะเนื้อของหอยออกมาใส่ลงในภาชนะ แต่ผู้ใหญ่ที่ชำนาญการก็จะใช้มือซ้ายที่ถือตัวหอยไว้บีบให้มีร่องเล็ก ๆ ที่รอยปิดประกบของฝาหอย แล้วมือขวาที่ถือฝาหอยซีกหนึ่งก็ใช้ฝาหอยนี้แงะจนฝาตัวหอยในมือซ้ายเปิดออกได้ แล้วก็ใช้ฝาหอยแงะงัดเนื้อหอยออกมา บางทีก็มีเสียงเสียดสีของการแงะ งัด ขูด เนื้อหอย ฟังแล้วบางที่ก็รู้สึกเสียด ๆ หูคนฟัง บางทีก็รู้สึกเหมือนจะเสียวฟันไปด้วย (แปลกจริง ๆ )  ไพจิตรชอบดูผู้ใหญ่ชำนาญการแกะหอยนี้มากมองแล้วก็เพลิดเพลินดี ในเวลาไม่นานก็แกะเนื้อหอยออกจากเปลือกหอยได้หมด เทหอยใส่ตะแกรงสานไม้ไผ่ มีกะละมังรองก้นตะแกรง เราจะไม่นำหอยที่แกะนี้ไปล้างน้ำอีก ในขณะที่แกะหอย หอยตัวใดไม่สะอาดเราก็จัดการหอยตัวนั้นให้สะอาดก่อนนำมารวมกัน มีเศษผงอะไร ๆ ที่แปลกปลอมมาก็จัดการกำจัดขณะแกะเนื้อหอยไปหมดแล้ว ดังนั้นหอยในตะแกรงจึงเป็นหอยที่สะอาดแล้วนั่นเอง


เรือฉลอม

นำหอยที่แกะนี้มาต้มข้าวต้มหอยรอบดึกกินกันได้อีกรอบ ต้มข้าวหม้อใหญ่เมื่อข้าวสุกบานพอได้ที่ก็เทหอยที่แกะลงไปในหม้อที่กำลังเดือดพล่าน ห้ามใช้ทัพพีคนหม้อข้าวเด็ดขาด รอจนหอยสุกก่อนมิฉะนั้นจะเหม็นคาว หอยสุกแล้วก็ใส่ตังฉ่ายและปรุงรสเค็ม ส่วนรสหวานจะได้จากความหวานโดยธรรมชาติของหอยสด ๆ นั่นเองได้รสชาติดีแล้วก็โรยต้นหอมหั่นซอยแบบไม่หยาบไม่ละเอียดนัก และผักชีฝรั่งหั่นซอยละเอียด (จากในสวนคุณป้าสมใจตามเคย) โรยกระเทียมเจียวหอมฟุ้งเป็นอันดับสุดท้ายแล้วก็ยกหม้อลงมาตักกินกันได้ เป็นข้าวต้มหอยแมลงภู่ที่อร่อยที่สุด ทุกคนต้องมีชามที่สองและบางคนมีชามที่สามตามมากันเป็นส่วนใหญ่



ผักชีฝรั่ง

หอยแมลงภู่เหล่านี้นี้ชาวประมงจะไปเก็บหอยที่ปักหลักเลี้ยงไว้ที่ชายทะเลปากอ่าวแม่น้ำบางปะกงในช่วงน้ำลงเอาใส่ในเรือฉลอม พอน้ำขึ้นก็ล่องเรือแล่นใบนอกจากน้ำขึ้นแล้วทิศทางลมก็เป็นใจพัดโชยทิศทางตามการไหลขึ้นของกระแสน้ำพอดีด้วย พวกเขาจึงเอาหอยแมลงภู่นี้มาขายตามลำน้ำขึ้นไปทางตัวเมืองแปดริ้ว ก็จะมีขาวบ้านริมน้ำมาดักรอซื้อรายทางอย่างพวกเรากันเป็นระยะ ๆ

ไพจิตรไม่รู้ว่าปลายทางของเรือฉลอมเหล่านี้คือที่ใด แต่เดาเอาว่าเรือฉลอมลำใดขายหอยได้หมดก็คงกลับบ้านของเขา ลำใดยังขายไม่หมดก็คงแล่นใบต่อไปจนถึงตัวเมืองแปดริ้วละกระมังจะแล่นเลยตัวเมืองหรือเปล่าไม่ทราบเหมือนกัน


ลักษณะของน้ำขึ้นเกือบเต็มฝั่่ง ยังมีระดับที่น้ำขึ้นมากกว่าในภาพนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น