วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2556

วารวันอันแสนสุขที่บ้านบางกรูด ตอนที่ 6


อรุณรุ่งแรกวันบริเวณหน้าบ้านอื้อเฮียบหมง


อาทิตย์อัสดงฝั่งบ้านอื้อเฺฮียบหมง

ชีวิตที่บ้านบางกรูดแปดริ้วช่างสนุกสนานและสบายไม่มีเรื่องต้องวุ่นวาย ทุกคนทำหน้าที่ของตนเองไป วัน ๆ แทบไม่ต้องใช้เงินเลยแต่ก็อยู่ดีมีสุขมีอาหารอุดมสมบูรณ์ วันเสาร์และวันอาทิตย์ พี่เกษมและพี่อุระมิลาจะมาเยี่ยมคุณพ่อคุณแม่และคุณแม่วงษ์ (คุณแม่พี่อุระมิลา) ทุก ๆ เสาร์ อาทิตย์เราจะัดีใจมากที่พี่ ๆ มาเยี่ยม กลางคืนวันอาทิตย์พี่ ๆ ก็นั่งเรือกลับกรุงเทพฯ กัน

พวกพี่ ๆ ผู้ชายที่บางกรูดเขาไปทำนา ( คุณลุงบุญมีลูกจ้างช่วยทำนา 4 คน) เมื่อถึงเวลาก็เกี่ยวข้าว นวดข้าวและเก็บข้าวเข้ายุ้งข้าวเปลือกเต็มยุ้ง เมื่อได้ราคาดีพอจึงจะขายข้าวออกไป คุณลุงบุญคุณป้าสมใจขายข้าวหมดคงจะได้เงินเยอะ แต่ไพจิตรไม่รู้และไม่ได้สนใจ เห็นแต่ว่าคุณลุงบุญคุณป้าสมใจก็จะเอาเงินไปซื้อที่นาต่อ ๆ ไป เก็บไว้แจกลูก ๆ ของท่าน เพราะเงินใช้สอยประจำวันก็ใช้เพียงเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องเก็บเงินไว้มาก


จะเลือนแล้วรังสิมันตุ์อันส่องจ้า


พวกเราเด็ก ๆ รอให้พี่ ๆ เขาเกี่ยวข้าวกันเสร็จในนาเราก็ไปเก็บข้าวตกกันตามเคย ข้าวตกที่เกี่ยวไม่หมดกอหรือตก ๆ หล่น ๆ ในท้องนา ในขณะนั้นแม้จะร้อนแดดและหิวน้ำก็ไม่เป็นไร ตั้งหน้าตั้งตาเก็บข้าวตกเพื่อให้ได้ 1 กระบุง จะเต็มกระบุงหรือไม่เต็มกระบุงก็ตามทีเมื่อเอาข้ามฝั่งไปขายให้คุณน้าฮั้ว ก็ได้เงิน ค่าขายข้าวตก 1 บาท ได้เป็นเงินส่วนตัวที่จะเอาไปทำอะไรก็ได้



สุริยาลาลับกับคงคา

จำได้ว่ามีคราวหนึ่งมีคนชวนให้นอนค้างคืนที่บ้านคุณน้าฮั้ว ไพจิตรก็รู้สึกสนุกเพราะที่บ้านคุณน้าฮั้วก็มีพี่ ๆ น้อง ๆ ลูกชายหญิงของคุณน้าฮั้วเป็นเพื่อนเล่นได้ ไพจิตรก็ตอบตกลงใจจะนอนค้างคืนบ้านคุณน้าฮั้ว ได้เล่นสนุกสนานตามเคยกับพี่ ๆ น้อง ๆ ฝั่งบ้านนี้ พอตกเย็นกินข้าวเย็นเรียบร้อยแล้ว จู่ ๆ ไพจิตรก็รู้สึกคิดถึงคุณพ่อคุณแม่ที่อยู่บ้านคนละฝั่ง ยิ่งมองข้ามฝั่งแม่น้ำมาทางบ้านอื้อเฮียบหมงไพจิตรก็รู้สึกว้าเหว่ว่าห่างคุณพ่อคุณแม่ก็เลยร้องไห้ใหญ่โต พี่ ๆ ปลอบก็ไม่หยุดร้องจนคุณน้าฮั้วสงสารสั่งให้พี่กลึงพายเรือเอาไพจิตรกลับมาส่ง พอวันนี้ก็รู้สึกซาบซึ้งใจเพราะมีแต่คำปลอบโยนเอาใจ ไม่มีใครดุไพจิตรเลยที่มากลับลำร้องไห้งอแงคิดถึงคุณพ่อคุณแม่ขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่ มองข้ามฝั่งแม่น้ำก็เห็นบ้านอื้อเฮียบหมงแล้ว



สงครามโลกครั้งที่สองสงบราวปี พ.ศ .2488 พวกเราก็ได้กลับบ้านกรุงเทพฯ กันเสียที จ้างเรือแจวลำใหญ่ขนข้าวของสัมภาระซึ่งไพจิตรก็จำไม่ได้ว่ามีอะไรกันบ้าง พวกเราก็กินนอนรอนแรมมาในเรือแล้วก็ถึงบ้านกันเสียที เด็ก ๆ ที่ไม่ได้เรียนหนังสือมาสองปีก็มาเริ่มต้นเรียนหนังสือกันใหม่


ภาพคลองโอ่งอ่างในอดีต

คลองโอ่งอ่าง เห็นสะพานดำรงสถิตย์ สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นสะพานเหล็กเลื่อนเปิด-ปิดได้ (ภาพจาก มรว. นริศรา จักรพงษ์ และไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์. สมุดภาพรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ : ริเวอร์ บุ๊คส์, 2535)
ขอขอบคุณภาพจาก
http://www.sujitwongthes.com

มาบัดนี้พี่น้องลูกคุณพ่อฉัตรคุณแม่อุไร 10 คนนั้น พี่ ๆ ผู้ชายเสียชีวิตกันไปแล้วทั้ง 5 คน นับจากพี่เกษม พี่อารี พี่ธนุ พี่เฉลียว พี่อาชว์ ผู้หญิงยังอยู่ครบทั้ง 5 คน แต่พี่ ภรณ์-อาภรณี ก็นอนไม่รับรู้เรื่องราวใด ๆ มา 10 ปีแล้ว พี่แดง-สุภาภรณ์ก็เริ่มเดินไำม่ไหวต้องใช้ไม้เท้าช่วยพยุงการเดิน น้องน้อย-ผุสสดี ก็อ่อนแอลงไปมากไปไหนเองคนเดียวไม่ได้ต้องไปพบแพทย์เป็นประจำและต้องมีพี่เลี้ยงคอยดูแล และน้องเล็ก-ปรียา เริ่มอ่อนแอ ประสาทตาเสื่อมไปไหนเองไม่ได้ไปอีกคน ไพจิตรซึ่งนับเป็นลูกสาวคนกลางระหว่างพี่น้องผู้หญิงทั้ง 5 คน ของคุณพ่อคุณแม่ ยังพอมีเรียวแรงกว่าเพื่อน ยังไปไหนมาไหนเองได้อยู่กับลูกเอก (อิศร จันทรวงศ์) สองคนแม่ลูกเกาะกันเหนียวแน่นและไม่ขัดใจกันเลย


แสงจันทร์อันสาดส่องสู่ท้องน้ำบางปะกง
ขอขอบคุณภาพจากเรือนลำพูรีสอร์ท

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ปีนี้เอง (พ.ศ. 2556) แม่ลูกสองคนนี้ได้ไปทำบุญลอยอัฐิบรรพบุรุษต้นตระกูลของพวกเรา ทำบุญเจดีย์ที่ก๋งโหงว แซ่อื้อ ได้สร้างถวายวัดบางกรูดไว้ ( วัดประศาสน์โสภณ) ทำบุญฉลองพระพุทธรูปซึ่งพี่เกษมได้สร้างถวายวัดไว้นานแล้ว 3 องค์ เจ้ม่อมสร้างไว้ 1 องค์ ทั้ง 4 องค์ อยู่บนแท่นหน้าพระประธานในพระอุโบสถ และคุณป้าสมใจท่านได้ร่วมกันบูรณะพระประธานองค์นี้ร่วมกับท่านอื่น ๆ อีก 2 ท่าน รวมเป็น 3 ท่าน เมื่อปี พ.ศ. 2500 งานทั้งหมดได้จัดขึ้นจากการริเริ่มของพี่ ๆ น้อง ๆ ที่เป็นลูกหลานของคุณลุงบุญคุณป้าสมใจในการรวมญาติที่สืบสายมาจากตระกูลแซ่อื้อ หลานอมร ตันสุตะพานิช ลูกสาวคนเดียวของเจ้ม่อมได้จัดทำประวัติตระกูลแซ่อื้อจากรุ่นที่ 20 ที่มาจากเมืองแต้จิ๋ว เป็นรูปเล่มมีรายละเอียดบอกเล่าความเป็นมา ซึ่งได้ข้อมูลจากแผ่นป้ายวิญญาณบนแผ่นไม้ฉาบทาด้วยทองคำเปลวเหลืองอร่าม เขียนเป็นอักษรจีนเป็นหมึกสีดำำลายอักษรงดงาม เล่าที่มาที่ไปของท่านบรรพบุรุษอย่างละเอียด มีการจัดทำรายละเอียดของลูกหลานที่สืบทอดกันต่อ ๆ มาอย่างมีระเบียบ ทำให้ญาติทุกคนที่มางานกันร้อยกว่าคนได้มารวมกัน รู้จักกันว่าใครเป็นใครลูกใครหลานใคร นับเป็นหนังสือที่มีคุณค่าอย่างที่สุด ทำให้เราได้ภูมิใจในชาติกำเนิดของเราว่าเป็นใครมาจากไหนมีบรรพบุรุษมานานเท่าใด จากลำดับที่ 20 สายตระกูลอื้อจากเมืองแต้จิ๋ว สู่สยามประเทศ มารวมตัวกันตระกูลใหญ่มากตระกูลหนึ่งทีเดียว





จากวันที่ได้ไปรวมญาติ ทำให้ไพจิตรหวนระลึกถึงวัยเด็กที่ได้มาอยู่อาศัยหลบภัยสงครามโลกครั้งที่สองเกือบสองปี จากช่วงเวลานั้นมาจนถึงเวลานี้ร่วม 70 ปีแล้ว เมื่อได้มาเยี่ยมเยียนและร่วมทำบุญใหญ่อีกครั้ง ( ก่อนหน้านี้เมื่อคุณป้าสมใจยังมีชีวิตอยู่ พี่เกษมจะชวนน้อง ๆ ทุกคนลาพักร้อนช่วงสั้น ๆ มาพักร้อนกันที่บ้านคุณป้าสมใจเป็นประจำ ส่วนบ้านอื้อเฮียบหมงนั้นภายหลังเหลือคุณน้าเฮียงพำนักเพียงท่านเดียวในบ้าน พวกเราจึงไม่กล้าให้ท่านต้องวุ่นวาย บ้านคุณป้าสมใจนั้นมีหลาน ๆ ลูกของ เจ้ออ เจ้ม่อม พี่มิ่งขวัญอยู่รวมกันหลายคน มีบ้านสร้างเพิ่มเติมจากเรือนปั้นหยาอีกสองหลังโดยทะลุถึงกันได้หมด มีเรือนครัวหลังใหม่จึงสะดวกที่จะรองรับหลานๆ สกุลสัตยมานะที่แตกสมาชิกมีทั้งหลานเขยหลานสะใภ้ และลูก ๆ ของบรรดาหลาน ๆ อีกหลายคนทีเดียว แต่การมาพักร้อนอย่างนั้นก็มีแต่เรื่องสนุก ๆ แบบผู้ใหญ่และยังวุ่นวายดูแลลูก ๆ ของตัวเองที่ยังเป็นเด็กมาก ๆ ทำให้วันเวลาที่พักร้อนหมดลงอย่างรวดเร็ว)



หากแต่การกลับมาในครั้งนี้ปลดวางภาระทุกอย่างลงทั้งเรื่องงานเรื่องครอบครัว ฟังเรื่องเล่าของบรรพบุรุษที่ไพจิตรเคยเกี่ยวข้องทุก ๆ ท่านแม้แต่คุณพ่อคุณแม่ของไพจิตรเอง ทำให้ไพจิตรระลึกถึงวันคืนในวัยเด็กที่ผ่านมาที่เกี่ยวข้องกับบ้านที่บางกรูด อยากบอกเล่าถึงเรื่องราวและความรู้สึกที่ยังคงจำได้ในวัยเด็ก ระลึกถึงความรักความอบอุ่นจากญาติ ๆ ทุกคนที่ให้กับพวกเรา ตลอดระยะเวลาที่พวกเรามาอาศัยอยู่ที่บ้านอื้อเฮียบหมง อยู่กับคุณยายจู คุณลุงบุญ คุณป้าสมใจ คุณลุงชุน คุณน้าเฮียง เราได้รับแต่ความรักความเมตตา บางวันที่ซุกซนมาก ๆ จนถูกคุณแม่อุไรตี คุณน้าเฮียงจะเป็นคนปกป้องเอาตัวเข้ารับไม้เรียวของคุณแม่แทน เรารักคุณน้าเฮียงที่สุด เจ้ม่อม (ละม่อม สงวนสัตย์) ซึ่งเป็นพี่สาวใหญ่ที่สุดของทั้งสองบ้านก็ใจดีที่สุด ไม่เคยดุหรือรำคาญพวกเราเลย ยุ่งแต่เรื่องข้าวปลาอาหารและขนม ให้น้อง ๆ และหลาน ๆได้กินกันอย่างทั่วถึง




สิ่งสุดท้ายที่ฝังใจไพจิตรที่สุดและชื่นชมที่สุดในชีวิตร่วม 2 ปีที่บางกรูดคือได้เห็นความขยัน มัธยัสถ์ ประหยัด มองการณ์ไกลและมีวินัยของญาติผู้ใหญ่ เช่นคุณลุง คุณป้า คุณน้า และพี่ ๆ ทั้งหลาย ท่านเหล่านี้มีการวางแผนชีวิตของท่านอย่างชาญฉลาด





จากการที่หน้าบ้านหันหน้าออกสู่แม่น้ำบางปะกงที่อุดมด้วยสัตว์น้ำ กุ้ง ปลา ปู ทั้งช่วงเวลาน้ำจืดและน้ำกร่อย หลังบ้านเป็นลานทำกิจกรรมเช่นสีข้าว ตำข้าว กวนกระยาสารท ทำขนมจีน ทำขนมเทศกาลต่าง ๆ มีเล้าเป็ดเลี้ยงเป็ดไว้กินไข่ มียุ้งข้าวใหญ่โต ถัดไปเป็นสวนมีทุกสิ่งทุกอย่างทั้งหมาก มะพร้าว ผลไม้นานาเช่น มะม่วง มะปราง ขนุน ทุเรียนเทศ ฝรั่ง มะยม มะขาม มะกรูดมะนาวและผักสวนครัวอื่น ๆ ที่ใช้ในครัวประจำวัน ในท้องร่องสวน มีกุ้งปลา สายบัว  มีผักหวาน บวบ มะละกอ ผักบุ้งริมร่องสวน ทั้งสองบ้านลงไปเก็บพืชผักผลไม้ในสวนนำมาทำอาหารตามสบาย ๆ กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กินได้ เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ไม่ต้องมีเครื่องทำความเย็น ของที่จะเข้าครัวปรุงอาหาร ขนมใหม่สดทุกวันทุกมื้อ ท้ายสวนมีบ่อน้ำและโรงควาย มีลานกว้างสำหรับนวดข้าว มีกองฟางเก็บไว้เป็นอาหารของควายในยามไม่มีหญ้าสดกิน (ลูกจ้างทำนาจะอยู่ในส่วนบริเวณนี้) ถัดจากลานกว้างเป็นผืนนาผืนใหญ่ 70 ไร่เศษ ถัดจากผืนนาของคุณลุงบุญก็จะเป็นไร่อ้อยที่พวก พี่ ๆมักจะพาเราไปซื้อกิน แต่ดูเหมือนเมือเราไปถึงก็หักอ้อยกินกันตามใจชอบ แป๊ะเจ้าของไร่อ้อยไม่ว่ากินเข้าไปเท่าที่จะกินได้สนุกอะไรอย่างนั้น ใกล้เที่ยงก็พากันกลับมากินข้าวกลางวัน ริมแม่น้ำสองข้างบ้านทั้งสองหลังมีป่าจากซึ่งเราก็จะได้กินลูกจากด้วย ทั้งกินสดและเอามาเชื่อมเอร็ดอร่อย หน้าบ้านอื้อเฮียบหมงเองมีต้นมะเฟืองต้นใหญ่มาก แผ่กิ่งก้านสาขาสูงเลยหลังคาบ้านแต่กิ่งก้านที่มีมากทำให้ปีนขึ้นไปเก็บได้สบาย ๆ มีผลเกือบทั้งปีเก็บกินไ้ด้ตลอดเวลา
อยู่แปดริ้วไม่ต้องกลัวเนื้อตัวดำแดดดำลมเราไม่ได้สนใจเรื่องหน้าตาเนื้อตัวกันเลย จำได้ว่าไพจิตรเองอ้วนและตัวดำมากเพราะไม่เคยกลัวแดดเลย เด็ก จะถูกเรียกให้มากินข้าวกินขนมตลอดเวลาเลยทีเดียว


บริเวณที่้เคยเป็นสวนอันอุดมสมบูรณ์ของคุณลุงคุณป้า

ความฉลาดในการดำเนินชีวิตของ คุณยาย คุณลุง คุณป้า คุณน้า ทำให้ชีวิตชาวบ้านชาวนาชาวสวนของพวกท่านไม่เคยต้องมีหนี้สินเพราะไม่มีความฟุ้งเฟ้อ จะเห็นพวกท่านแต่งตัวสวยงามเฉพาะเวลาไปทำบุญ พวกท่านนุ่งโจงกระเบนหรือผ้าถุงลายไทยใหม่เอี่ยม ใส่เสื้อสีขาวเนื้อบางมองเห็นเข็มขัดนาค เข็มขัดทองคาดที่เอว สวมสายสร้อยทองคำเส้นยาวสวยงามกันทุกคนหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ไม่เคยเห็นใครมีความทุกข์ร้อนเลย ไม่มีหนี้สินเพราะทุกท่านทำแต่งานหาเงินสะสมทรัพย์สิน พวกท่านไม่ค่อยมีการใช้เงิน การใช้เงินจำนวนมากก็เพื่อซื้อทรัพย์สินที่ดินเข้ามา สนับสนุนลูกหลานเรียนหนังสือ พาลูกหลานเข้าวัด ช่างเป็นชีวิตที่แสนสุขในความรู้สึกของไพจิตร

ผิดกับชาวนาในสมัยนี้อย่างเทียบกันไม่ได้ ถึงแม้นว่าในสมัยนั้นยังไม่มีพระราชดำรัสของในหลวงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง แต่บรรพบุรุษและญาติ ๆ ของไพจิตรได้ดำเนินชีวิตเช่นนั้นมาโดยตลอด




ไพจิตรมีความสุขที่ได้คิดถึงวันคืนเก่า ๆ แม้ว่าเราจะหนีภัยสงครามโลกครั้งที่สองมา ไม่ได้เรียนหนังสือไป 2 ปี แต่การใช้ชีวิตในช่วงนั้นทำให้ไพจิตรได้รับสิ่งดี ดี มากมาย และยังคงคิดถึงช่วงเวลานั้นอย่างมีความสุขทุกครั้ง



ไพจิตรขอกราบขอบคุณท่านบรรพบุรุษตามที่หลานพลอยโพยมได้ค้นคว้ารวบรวมเรื่องราวไว้ในหนังสือ " แซ่อื้อ" ขอบคุณคุณยายจู คุณลุง คุณป้า คุณน้า ทุก ๆ ท่านที่อยู่ในรวมเล่มสกุล "แซ่อื้อ" ไพจิตรภูมิใจและดีใจเหลือเกินที่ได้เกิดมาเป็นส่วนหนึ่งของสกุล "แซ่อื้อ " ถ้าพี่ ๆ น้อง ของไพจิตร ได้มีโอกาสบันทึกความทรงจำอย่างไพจิตร ก็คงไม่แตกต่างจากนี้ บังเอิญว่าเขาเหล่านั้นไม่มีโอกาสดีอย่างไพจิตร ไพจิตรขอบันทึกแทนเขาทุกคนจากใจ

ไพจิตร จันทรวงศ์ (สัตยมานะ)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น