วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

สู่แดนพระพุทธองค์ เพื่อ นมัสการพุทธสังเวชนียสถาน ๒๑ สารนาถ




ขอขอบคุณภาพจาก www.amulet.in.th
ที่อิสิปตนมฤคทายวัน หรือสารนาถนี้ นอกจากปฐมเทศนาคือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแล้ว พระพุทธองค์ยังได้ทรงแสดงพระสูตรอื่น ๆ อีกหลายสูตร ในต่างโอกาสต่างวาระกัน อาทิเช่น อนัตตลักขณสูตร ซึ่งมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าปัญจสูตร ปาสสูตร กฏุวิยสูตร รถการสูตร ซึ่งมีชื่ออย่างอื่นอีกว่า ปเจตนสูตร หรือจักกวัตติสูตร กับสมยสูตร และธัมมทินนสูตร



ขอขอบคุณภาพจาก www.dhammajak.net

ผลแห่งการที่ทรงแสดงปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตนสูตร แก่พระปัญจวัคคีย์ ณ อิสิปตนมฤคทายวันนี้ ทำให้พระโกณฑัญญะ ผู้เป็นหัวหน้าของปัญจวัคคีย์ได้ดวงตาเห็นธรรม คือได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน แล้วได้รับอุปสมบทเป็นพระภิกษุจากพระพุทธองค์ ด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นอันได้มีพระภิกษุสาวกองค์แรกขึ้นในพระพุทธศาสนา และได้ทำให้พระสังฆรัตนะอันเป็นองค์หนึ่งแห่งพระรัตนตรัยเกิดขึ้นในโอากาสนั้น ทำให้พระรัตนตรัยเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ ผลแห่งการที่ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร หรือปัญจสูตร ทำให้พระปัญจวัคคีย์ซึ่งทั้งหมดได้รับอุปสมบทแล้ว ได้บรรลุอรหัตผลเป็นพระอรหันตบุคคลในพระศาสนา




ขอขอบคุณภาพจาก th.wikipedia.org

ต่อมาพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมโปรดเศรษฐีบิดาพระยสะ และท่านเศรษฐีได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ได้แสดงตนเป็นอุบาสก ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต เป็นอุบาสกคนแรกที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ และเป็นคนแรกแห่งอุบาสกบริษัทที่ได้บรรลุธรรมเป็นอริยบุคคลมารดาและภรรยาเก่าของพระยสะ ได้สดับพระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโปรดแล้ว ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันเช่นกัน ได้ปฏิญาณตนเป็นอุบาสิกาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ทั้งสองท่านเป็น อบาสกอุบาสิกาคู่แรกที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ และเป็นคู่แรกในฝ่ายอุบาสิกาบริษัท ที่ได้บรรลุธรรมเป็นอริยบุคคล โดยนัยเดียวกันกับฝ่ายอุบาสกพระพุทธรัตนะ และพระธรรมรัตนะ เกิดที่แคว้นมคธ พระสังฆรัตนะ เกิดที่แคว้นกาสี พระรัตนตรัยเกิดขึ้นสมบูรณ์ที่แคว้นกาสีพระภิกษุสาวกองค์แรก และอุบาสกอุบาสิกาถึงไตรสรณคมน์เป็นครั้งแรกมีขึ้นที่แคว้นกาสี อุบาสกอุบาสิกาที่ถึงไตรสรณคมน์เป็นครั้งแรก เกิดที่แคว้นกาสี


ขอขอบคุณภาพจากwww.dhammajak.net

ณ ที่นี้ พระพุทธองค์ได้ทรงมีพระบัญญัติห้ามภิกษุฉันเนื้อมนุษย์ สืบเนื่องจากการที่นางสุปปิยาอุบาสิกา ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระศาสนาอย่างแรงกล้า ได้เฉือนเนื้อจากขาของตนให้ปรุงเป็นน้ำต้มเนื้อ ถวายแก่พระภิกษุรูปหนึ่งผู้มีความต้องการน้ำต้มเนื้อ ทั้งนี้โดยที่นางได้ปวารณาว่าจะจัดถวาย แต่แล้วก็ไม่สามารถจะหาเนื้อตามปกติในท้องตลาดได้

เรื่องราวความเป็นมาดังนี้
พระบรมศาสดาเสด็จกรุงพาราณสีพร้อมด้วยสงฆ์สาวก ประทับที่อิสิปตนมฤคทายวัน ขณะนั้นมีอุบาสิกา ชื่อ สุปปิยา ไปยังะระวิหารเพื่อเยี่ยมเยียนสงฆ์อาพาธ ภิกษุรูปหนึ่งกล่าวว่า อาตมาประสงค์น้ำต้มเนื้อเพื่อนำมาประกอบเภสัช นางจึงกลับไปสั่งนางทาสีให้ออกไปหาซื้อเนื้อ แต่วันนั้นเป็นวันอุโบสถจึงไม่มีเนื้อขาย นางทราบความแล้วจึงใช้มีดเฉือนเนื้อขาของตนเองให้คนนำไปต้มแล้วนำไปถวาย ตัวนางเองใช้ผ้าพันขาแล้วเข้าไปนอนในห้อง เมื่อสามีกลับมารู้ความก็รู้สึกยินดีในการถวายทานของภรรยา จึงไปเผ้าพระบรมศาสดา กราบทูลนิมนต์ให้รับภัตตาหารยังเรือนของตน

รุ่งขึ้นหลังภัตกิจ พระบรมศาสดาทรงอนุโมทนาแล้วตรัสถามถึงนางสุปปิยาทรางทราบว่านางป่วย จึงรับสั่งให้นำนางออกมาเฝ้า ขณะนางมองเห็นพระบรมศาสดานั่นเองบาดแผลที่ขาก็หายเป็นปกติ พระพุทธองค์ตรัสถามถึงสาเหตุ ทรงทราบแล้วเสด็จกลับมาจึงทรงเรียกประชุมสงฆ์สอบถามว่าภิกษุรูปใดขอน้ำต้มเนื้อจากนางสุปปิยา ภิกษุรูปนั้นกราบทูลรับว่าตนเองเป็นผู้ขอ พระบรมศาสดาทรงตำหนิการกระทำเช่นนั้นว่าเป็นการไม่สมควร

จากนั้นทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุฉันเนื้อมนุษย์ ผู้ล่วงละเมิดต้องอาบัติทุกกฏ นอกจากนั้นยังทรงบัญญัติห้ามภิกษุฉันเนื้อดังต่อไปนี้ คือ เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อสุนัข เนื้องู เนื้อราชสีห์ เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือเหลือง เนื้อเสือดาว และเนื้อหมี ผู้ล่วงละเมิดต้องอาบัติทุกกฏ จากนั้นเสด็จกลับมายังกรุงราชคฤห์




ในอรรถกถาธรรมบทมีเรื่องกล่าวไว้ว่า
เมื่อพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่นันททิยมาณพ แห่งพาราณสี ผู้ใจบุญและมีศรัทธาในพระศาสนาอย่างแรงกล้า ได้สร้างวิหารอย่างวิจิตรสวยงาม ณ อิสิปตนะมฤคทายวัน แล้วมอบถวายแด่พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ โดยสร้างศาลา ๔ หลัง ประดับด้วยห้อง ๔ ห้อง ที่อิสิปตนมฤคมหาวิหาร ถวานทานแด่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธองค์ทรงเป็นประมุขหลั่งน้ำทักษิโณทกลงในพระหัตถ์ของพระพุทธองค์ แล้วมอบถวาย

พร้อมกับการถวายน้ำทักษิโณทกได้มีปราสาททิพย์ ล้วนไปด้วยรัตนธ ๘ ประการ ทั้งกว้างและยาว ๑๒ โยชน์ โดยรอบสูงร้อยโยชน์ พรั่งพร้อมด้วยหมู่นางอัปสรหนึ่งพันได้ผุดขึ้นในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ครั้งนั้นพระโมคคัลลานะเถระได้ไปเที่ยวจาริก ถามพวกเทพบุตรที่ีมาไหว้ว่า ปราสาทนี้ของใคร เทพบุตรทั้งหลายกล่าวว่า เจ้าของปราสาทนี้ ชื่อ นันทิยะ เป็นบุตรกฎุมพี กรุงพาราณศรี ในโลกมนุษย์ได้สร้างศาลา ๔ หลังที่อิสิปตนมหาวิหารถวายพระสงฆ์ วิมานนี้เกิดขึ้นสำหรับนันทิยะ แม้เหล่าเทพอัปสรที่บังเกิดในปราสาทกก็มาไหว้พระโมคคัลลานะเถระและกล่าวว่า
 "ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญพวกดิฉันเกิดในปราสาทนี้ เพื่อเป็นบริจาริกาของอุบาสกชื่อนันทิยะ กรุงพาราณศรี ขอพระคุณเจ้าโปรดบอกแก่นันทิยะ เพื่อให้มาที่นี่"

พระโมคคัลลานะเถระรับคำแล้วลงมาจากเทวโลก กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าท่ามกลางบริษัทว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทิพยสมบัติย่อมบังเกิดคอยท่าคนที่ทำบุญแล้ว แต่ยังอยู่มนุษยโลกหรือ "

พระบรมศาสดาทรงตรัสตอบว่า

"บุญทั้งหลายที่บุคคลกระทำแล้วย่อมคอยต้อนรับประคับประคองบุคคลที่ทำบุญไว้ ผู้จากโลกนี้สู่โลกอื่นเสมือนหนึ่งญาติต้อนรับญาติที่รักผู้กลับมา ฉะนั้น..."

ในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช คือเมื่อพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานแล้วได้ ๒๐๐ ปีเศษ อิสิปตนมฤคทายวันได้เป็นวัดหรือสำนักใหญ่โต พระเจ้าอโศกได้ทรงสร้างสถูปเจดีย์และเสาศิลาจารึกไว้ บางสิ่งยังคงมีปรากฏให้เห็นในบัดนี้


ขอขอบคุณภาพจากth.wikipedia.org

อิสิปตนมฤคทายวัน ดำรงความเป็นสำนักใหญ่โตและเป็นศูนย์กลางการพระศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่งตลอดมา จวบจนกระทั่งถูกมุสลิมเตอร์กทำลาย เมื่อจวนจะสิ้นคริสต์ศตรวรรษที่ ๑๒ คือเมื่อประมาณพุทธศักราช ๑๗๓๗ หรือคริสต์ศักราช ๑๑๙๔ จากนั้นก็ถูกทอดทิ้งตลอดมาเป็นเวลากว่า ๗๐๐ ปี ไม่มีโอกาสฟื้นตัวได้อีก เช่นเดียวกับนาลันทาและสำนักทางพุทธศาสนาอื่น ๆ ซึ่งก็ได้ถูกทำลายลงในระยะไล่เลี่ยกัน การถูกทำลายในยุคนี้ ถือว่าเป็นการถูกประหัตประหารอย่างไม่มีครั้งใดรุนแรงเท่ามีผลทำให้พระพุทธศาสนาต้องถึงกับเป็นสิ่งถูกลืม และหมดไปจากอินเดียในที่สุด



ปัจจุบันซากแห่งความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ที่สารนาถหรืออิสิปตนมฤคทายวัน ได้รับการขุดค้นขึ้นมาให้ปรากฏ ผลจากการขุดค้นสำรวจทำให้ได้พบสิ่งต่าง ๆ มากมาย ที่ควรระบุชื่อโดยเฉพาะก็เช่น สถูปหมายจุดที่พระพุทธองค์เสด็จมาพบพระปัญจวัคคีย์ มูลคันธกุฏีที่ประทับของพระพุทธองค์ สถูป หมายจุดที่ทรงแสดงปฐมเทศนา เสาศิลาจารึกพระเจ้าอโศก มหาราชซากสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พระเจ้าอโศกทรง สร้าง กับซากกุฏิ วิหารและเจดีย์ใหญ่น้อยจำนวนมาก รวมทั้งพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ซึ่งได้รับยกย่องว่ามีความงามเป็นเลิศ และสิงห์หัวเสาพระเจ้าอโศก ซึ่งสลักอย่างสวยงามจากหินก้อนเดียว ให้เป็นสิงห์สี่ตัวนั่งหันหลังเข้าหากัน และทางอินเดียได้นำมาเป็นตราแผ่นดิน หรือตราของทางราชการ เช่นที่เห็นกันอยู่ในบัดนี้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดย พระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ )
http://www.indiaindream.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น