วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

พระพุทธปฏิมากรรม





ในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชยังไม่มีการสร้างพระพุทธรูป เป็นสิ่งสักการะบูชาแทนพระพุทธองค์ แต่ต่อมาก็เริ่มมีการสร้างพุทธรูปที่ประเทศอินเดีย  โดยมีความเชื่อมโยงกับกษัตริย์อินเดียในวงศ์โมริยะ
โดยขอคัดลอกบทความจาก www.oknation.net มาดังนี้


๓๓๔ ก่อนคริสตกาล จากมหาสงครามแห่งโลกโบราณ นานกว่า ๗ ปี ที่ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชา (Alexzander The Great) นำกองทัพกรีกมาซีโดเนีย เข้าทำลายจักรวรรดิเปอร์เซีย ของมหาราชาดาริอุสที่ ๓ และเข้ายึดครองแคว้น คันธาราฐ (Gandhara) และแคว้นปัญจาป ของลุ่มแม่น้ำสินธุ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ได้บูรณะ นครเบคเตรีย (Bactria) "อเล็กซานเดียที่ขอบโลก" เป็นฐานที่มั่นของกองทัพ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของแคว้นคันธาราฐ (Gandhara) ใกล้กับลุ่มแม่น้ำโอซุส หรือเมืองบัลค์ (Balkh) ในปัจจุบัน เมื่อพระองค์สวรรคตในปี ๓๒๓ ก่อนคริสตศักราช เหล่าขุนศึกของพระองค์ต่างได้แบ่งแยกแผ่นดินที่ยึดครองมา อันได้แก่ประเทศซีเรีย เลบานอน อิรัก อิหร่าน อัฟกานิสถานและบางส่วนของปากีสถานในปัจจุบัน ซีเลอูคัส นิคาเตอร์ (Seleucus) ได้ครอบครองแผ่นดินตะวันออกไกลที่แคว้นคันธาราฐ (Gandhara) สถาปนาขึ้นเป็น อาณาจักรกรีก - ไอโอเนียน - โยนก นาม "เบคเตรีย"




ชุมชนในเขตปกครองกรีกในเอเชียตะวันตกล้วนให้ความนิยมในศิลปวัฒนธรรมแบบ เฮเลนิสติค หรือ กรีโอ-โรมัน ทั้ง คติความเชื่อ ประเพณี ธรรมเนียม ภาษา ปรัชญา เงินตรา และการแต่งกาย ชาวเอเชียพื้นเมืองจำนวนมากได้แต่งงาน เกี่ยวดองทางสายเลือดกับ ชาว กรีก โรมันและเปอร์เซีย เกิด "ลูกครึ่ง ลูกผสม" ผิวขาว จมูกโด่ง ผมทอง

จนเมื่อ พระเจ้าจันทรคุปต์ จากราชวงศ์โมริยะของอินเดียกลับเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนกรีกเดิม ศิลปวัฒนธรรมกรีโอ – บุดดิสซึ่ง จึงเริ่มต้นขึ้นเป็นปฐมบท พระเจ้าจันทรคุปต์ นำนักปกครอง นักปรัชญาและช่างศิลปะแขนงต่าง ๆ มาจัดระเบียบสังคมและบ้านเมืองในแคว้นของพระองค์ และทรงแต่งงานกับลูกสาวผู้ปกครองชาวกรีกเพื่อการสันติภาพถาวรในภูมิภาค



ในพุทธศตวรรษที่ ๒ พระเจ้าพินธุสารผู้เป็นพระราชโอรส "ลูกครึ่ง" ขึ้นครองอาณาจักร ทรงให้ บียทัสสีหรืออโศกกุมาร นำกองทัพเข้ายึดครองนครตักศิลา และแคว้นคันธาราฐในอิทธิพลของอาณาจักรกรีกเบคเตรียที่อ่อนแอลง อโศกกุมารได้เรียนรู้วิทยาการ การศึกษาและภูมิปัญญา ความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ของกรีกไอโอเนียนที่นครตักศิลา ถือเป็นการสานต่อครั้งสำคัญของวัฒนธรรมกรีโอ – บุดดิสซึ่ม เมื่อทรงขึ้นครองราชย์สมบัติ ในปี ๒๖๕ ก่อนคริสตกาล พระเจ้าอโศก ได้ทำสงคราม ครอบครองอินเดียเหนือและกลาง เข้ายึดครองคันธาราฐ ประชิดนครเบคเตรียของชาวกรีกผสม แม่ทัพกรีก อันติโอคัส เทโอส (Amtiochus Theos) ได้เจรจาขอทำสัญญาสันติภาพกับพระเจ้าอโศกมหาราช กรีกเบคเตรียยอมยกดินแดนแคว้นคันธาราฐในลุ่มน้ำคาบูล รวมไปถึงเมืองเฮรัตทางตะวันตกให้กับจักรวรรดิมคธราฐของพระองค์




ก่อนหน้าความรุ่งเรืองของพุทธวัฒนธรรม นครตักศิลา คือนครในอาณาจักรกรีกไอโอเนี่ยน "เบคเตรีย" ที่มี มหาวิทยาลัย โรงเรียนและสถาบันประติมากรรม ที่เน้นรูปแบบสรีระตามสัดส่วนจริงของมนุษย์ เมื่อพระเจ้าอโศกกลับมายึดครอง จึงได้รับศิลปวัฒนธรรมกรีก ทั้ง ความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ ระบบเงินตรา เหรียญกษาปณ์แบบกรีก – เปอร์เซีย ระบบการสื่อสาร การใช้ตราประทับดินเผา และระบบไปรษณีย์ รวมไปถึง การเมือง การค้าขาย การศาสนา ระบบปกครองแบบเปอร์เซีย เครื่องมือเครื่องใช้อันทันสมัย เครื่องประดับ อาวุธและอุปกรณ์กีฬา



คติความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม จากคันธาระได้เริ่มมาผสมผสานกับพุทธศาสนา ชาวกรีกลูกผสมในแคว้นดังกล่าวเริ่มที่จะเรียนรู้และสร้างสรรค์รูปเคารพทางความเชื่อในศาสนาที่ผสมผสานกันขึ้น มีการนำเทคนิคการใช้อิฐ หินมาใช้ในการก่อสร้างศาสนสถาน และแกะสลักรูปเคารพทางศาสนา ตามแบบอย่างของชาวกรีกในจักรวรรดิเบคเตรีย หลังพระเจ้าอโศกมหาราชสวรรคต ประมาณปีพุทธศักราช 316 พระเจ้าเดเมตริอุส( Demetrius) “พระเจ้าหัวช้าง” แห่งจักรวรรดิเบคเตรีย ได้กลับเข้ามายึดครองนครตักศิลาในแค้วนคันธาราฐ (Gandhara) และดินแดนที่ถูกราชวงศ์โมริยะยึดไป คืนมาอีกครั้ง ราวพุทธศตวรรษที่ ๔ พระเจ้าเมนันเดอร์ (Menander) หรือพระเจ้ามิลินท์ ใน "มิลินท์ปัญหา" กรีกไอโอเนียนกลับเข้ามายึดครองอินเดียเหนือที่เป็นแผ่นดินหลักในวัฒนธรรมทางพุทธศาสนา ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก อิทธิพลของวัฒนธรรมกรีก ในสมัยกษัตริย์เมนันเดอร์ ทำให้เกิดการนับถือรูปเคารพแบบบุคคลมากขึ้น ซึ่งเข้ากันได้ดีกับลัทธิพราหมณ์-ฮินดู ที่มีรูปเคารพเทพเจ้าทั้ง พระศิวะ พระวิษณุ ฯลฯ และวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาลัทธิมหายานที่มีความเชื่อในเรื่องมนุษย์กึ่งเทวะ "พระโพธิสัตว์ พระมนุษิพุทธะ" อิทธิปาฏิหาริย์ของพระพุทธประวัติ



ลัทธิมหายานจึงกลายมาเป็นทางเลือกหนึ่งของเหล่าชาวกรีกลูกผสม ที่มีความเชื่อดั่งเดิมแบบเทวนิยม ศรัทธาในเหล่าเทพเจ้า "ผู้ครอบครองฟ้า" เช่น มหาเทพซีอุส (Zeus) โพไซดอน (Poseidon) อพอลโล (Apollo) เทวีฮีรา (Hera) เทวีอาเธน่า (Athena) และเหล่าทวยเทพอีกมากมาย

หลังจากปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ราว ๔๐๐ ปี ยังไม่มีการสร้างรูปเคารพเหมือนพระองค์หรือที่เรียกว่า "พระพุทธปฏิมา" เพราะเชื่อกันว่าเป็นการดูหมิ่นไม่ให้ความเคารพอย่างรุนแรง แต่เมื่อศิลปวัฒนธรรมกรีโอ – บุดดิสซึ่ม เริ่มได้รับความนิยม จึงเริ่มมีการสร้างรูปเคารพ แต่พุทธศาสนิกชน "ลูกผสม" ส่วนใหญ่ ก็ยังคงใช้ "รูปสมมุติ" ขึ้นแทนรูปเคารพบุคคล เช่นรูปดอกบัว แทนสัญลักษณ์ของการประสูติ รูปม้าที่ไม่มีคนขี่และรอยพระพุทธบาท แทนการเสด็จออกมหาภิเณษกรมณ์ รูปพระแท่น และรูปต้นโพธิ์ แสดงตอนตรัสรู้ รูปกงจักร หมายความถึงวงล้อของการเวียนว่ายตายเกิด รูปกวางหมอบคู่หนึ่งหน้าธรรมจักร หมายถึงสวนกวางของป่ามฤคทายวัน รวมทั้งรูปพระสถูปเป็นสัญลักษณ์แสดงตอนปรินิพาน ในช่วงแรก



จนราวปี ๔๕๐ ช่างปฏิมากรลูกผสมกรีก ผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงได้สร้างพระพุทธรูปองค์แรกขึ้น ในรูปของ "นักปรัชญา" ผู้ยิ่งใหญ่ในคตินักคิดของกรีก เจ้าชายเจ้าชายสิทธัตถะของลัทธิหินยาน พระโพธิสัตว์ของลัทธิมหายาน ตามคติมหาบุรุษในคัมภีร์มหาปุริสลักขณะของพราหมณ์ ผสมผสานกับรูปแบบของสรีระมนุษย์ผู้หล่อเหลา สมบูรณ์แบบ สง่างาม ในศิลปกรรมเทพเจ้าผู้ครองฟ้า เพื่อประดับสถูปเจดีย์จึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในแคว้นคันธาราฐราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๔ นี้เอง



พระพุทธปฏิมาของช่างคันธาระในครั้งแรก พระเศียรทรงอุณหิสมงกุฎหรือเครื่องทรงที่พระเศียร มีพระเกศายาว ขมวดมุ่นเป็นเมาฬีไว้บนพระเศียรอย่างเกศาของกษัตริย์ แต่ไม่มีเครื่องประดับ ด้วยความแตกต่างของรูปที่มีพระเกศานี้ เชื่อว่า ในคราวที่ช่างกรีกได้สร้างพระอัครสาวก ถ้าหากมีพระเกศาด้วยจะทำให้แยกพระพุทธองค์กับพระสาวกออกจากกันได้ยาก จึงจำต้องใช้คติความเชื่อแบบมหายานผสมพราหมณ์ โดยให้ถือเหตุที่พระพุทธองค์เป็นกษัตริย์ หรือพระโพธิสัตว์ จึงมีพระเกศามาลาให้แตกต่างไปจากรูปพุทธสาวก ในช่วงแรก ๆ นั้น ปฏิมากรจะแกะสลักพระพุทธเจ้า หรือพระโพธิสัตว์ ให้มี "หนวด" ตามความนิยมของผู้คนในยุคนั้นที่ไว้หนวดกัน ครองผ้าตามความเป็นจริงเช่นเดียวกับเทพเจ้าของชาวกรีก และนักปราชญ์ นักปรัชญา รวมทั้งทำดวงพระพักตร์ให้งดงามเช่นเดียวกับเทพเจ้า พระรัศมีทำอย่างประภามณฑล กริยาท่าทาง และองค์ประกอบตามพุทธประวัติแบบมหายาน เช่น ในตอนตรัสรู้ ก็จะทำรูปนั่งซ้อนพระหัตถ์เป็นกริยาสมาธิ ในตอนชนะมาร ทำพระหัตถ์ขวาห้อยลงมาที่พระเพลาแสดงองค์ว่าทรงชี้อ้างพระแม่ธรณีเป็นพยาน ในคราวปฐมเทศนา รูปพระโพธิสัตว์จะจีบนิ้วพระหัตถ์เป็นรูปวงกลมหมายความถึงพระธรรมจักร ในปางยมกปฏิหาริย์ สร้างเป็นรูปประทับนั่งอยู่บนดอกบัว ส่วนเมื่อคราวปรินิพานก็ทำเป็นรูปประทับนอน



จนถึงพุทธศตวรรษที่ 6 ชาวกุษาณะ , คูซาน (Kushan) หรือยุชชิ (Yuch – chi) ชนเผ่าเร่ร่อนในเอเชียกลาง โดยพระเจ้ากนิษกะ(Kanishka) กษัตริย์ชาวกุษาณะ ได้เข้ามาครอบครองแคว้นคันธาราฐและอินเดียเหนือ สถาปนาจักรวรรณกุษาณะที่ยิ่งใหญ่ มีนครบุรุษบุรี หรือเปษวาร์ (Peshawar) เป็นศูนย์กลางของจักรวรรดิ และนครมถุรา(mathura) ริมฝั่งแม่น้ำยมุนาเป็นเมืองสำคัญทางตะวันออก

ด้วยเพราะพระเจ้ากนิษกะทรงศึกษาและเรียนรู้เรื่องราวของพระเจ้าอโศกมหาราชจากจารึกตามพุทธสถานที่สำคัญ แล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ถึงกับประกาศตนเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกของนิกายมหายาน และนิกายเถรวาทที่นครมถุรา อีกทั้งโปรดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้นที่นครเบคเตรีย เป็นครั้งที่สองของโลก

พระเจ้ากนิษกะ ทรงทำนุบำรุงพุทธศาสนา รวมทั้งสร้างศาสนสถาน สถูปเจดีย์ และเผยแพร่คำสั่งสอนบนศิลาจารึก ไปทั่วจักรวรรดิของพระองค์เช่นเดียวกันกับที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงกระทำ พระพุทธปฏิมาศิลปกรรมแบบกรีโอ – บุดดิสซึ่ม ถูกสร้างขึ้นมากมาย หลากหลายรูปแบบ ทั้งในแคว้นคันธาราฐ นครมทุรา และยังกระจายตัวไปทั่วจักรวรรดิของชาวกุษาณะ นอกจักรวรรดิในอินเดียใต้เอง ก็เริ่มมีการสร้างพระพุทธปฏิมาในรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากต้นแบบกรีโอ – บุดดิสซึ่ม ในอินเดียเหนือมากขึ้น มีศูนย์กลางการผลิตอยู่ที่เมืองอมราวดี และนาคารชุนโกณฑะ ในพุทธศตวรรษที่ 6 เริ่มมีการสร้างพระพุทธปฏิมาที่มีเครื่องประดับเป็นครั้งแรก และในพุทธศตวรรษที่ 7 – 8 พระพุทธรูปจำนวนมาก มีเครื่องทรงสร้อยคอ มงกุฎ ต่างหู กำไลต้นแขนและกำไลมือ ในศิลปะ "พระทรงเครื่องกษัตริย์" แบบมหายาน กว่า 800 ปี นับแต่ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ในพุทธศตวรรษที่ 2 พระเจ้าจันทรคุปต์ พระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าเดเมตริอุส พระเจ้าเมนันเดอร์ จนมาถึงพระเจ้ากนิษกะมหาราช ในพุทธศตวรรษที่ 6 "ปรากฏการณ์" ทางประวัติศาสตร์ของผู้คนที่หลากหลายในแต่ละยุคสมัย ได้ก่อให้เกิดศิลปวัฒนธรรมกรีโอ – บุคดิสซึ่มขึ้นในโลก



และกรีโอ – บุดดิสซึ่ม แห่งแผ่นดินคันธาราฐ ก็ได้มอบมรดกอันทรงคุณค่าที่สำคัญให้กับพุทธศาสนิกชน นั่นคือการกำเนิดพระพุทธปฏิมาที่เตือนใจแห่งองค์พระศากยมุนีเจ้าเป็นครั้งแรก พระพุทธปฏิมา พัฒนา สืบทอดและรังสรรค์ประติมากรรม อีกทั้งคติความเชื่อ ปรัชญา วัฒนธรรมทางศาสนาที่มีกลิ่นอายของกรีก – คันธาระ – อินเดีย – กุษาณะ เริ่มเดินทางเข้ามาสู่แผ่นดินสุวรรณภูมิ ในพุทธศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา ซึ่งนั้นก็คือ ที่มาของ"พระพุทธปฏิมา-พระพุทธรูป" (Buddha Images) ศิลปกรรมแห่งความงดงามที่หลากหลาย บนแผ่นดินไทยของเรานั่นเอง



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก

http://www.oknation.net/blog/voranai/2007/08/27/entry-1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น