วันพุธที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2554

อาณาจักรนี้... มีราชา..กุ้งก้ามกราม

มัศยา...เยื้องกรายสายนที 5



อาณาจักรรัก (ฮาเร็ม) ของกุ้งก้ามกราม
กุ้งก้ามกราม (ชื่อสามัญ)

Macrobrahim roesenbergii (ชื่อวิทยาศาสตร์)
GIANT FRESHWATER PRAWN (ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ)

กุ้งก้ามกราม มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นแตกต่างกันไป เช่น กุ้งน้ำจืด กุ้งหลวง กุ้งก้ามเกลี้ยง กุ้งนาง กุ้งแห

กุ้งก้ามกรามเป็นสัตว์สองน้ำ มีการอพยพย้ายถิ่นระหว่างน้ำจืดและน้ำกร่อย โดยในช่วงวัยอ่อนจะอาศัยอยู่ในน้ำกร่อยที่มีความเค็มระหว่าง 8-17 ppt. โดยหงายท้องว่ายน้ำล่องลอยไปตามกระแสน้ำเช่นเดียวกับแพลงค์ตอน และลูกปูต่างๆที่กล่าวไปแล้ว เมื่อพัฒนาจนคว่ำตัวได้ มีลักษณะเหมือนพ่อแม่ทุกประการ จึงจะย้ายถิ่นที่อยู่เข้ามาอยู่ในแหล่งน้ำจืด เราจึงมักพบแม่กุ้งก้ามกราม ที่มีไข่แก่ติดหน้าท้อง บริเวณแม่น้ำลำคลองที่เป็นน้ำกร่อย หรือพื้นที่ที่ติดต่อกับทะเลได้ เช่น ในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน ทะเลสาบสงขลา และแม่น้ำบางปะกง

ลักษณะของกุ้งก้ามกราม
มีส่วนหัวและอกติดกันมีเปลือกคลุมอยู่รวมกันเรียกว่า หัวกุ้ง บนเปลือกบริเวณหัวใกล้กับนัยน์ตา มีหนามเล็กๆ 2 อัน กรีแบนด้านข้างค่อนข้างยาว โดนกรีหนาและนูน ตรงกลางโค้งแอ่นลง ส่วนปลายงอนขึ้นมีหนามคล้ายฟันเลื่อยทั้งด้านบนและล่าง
สำหรับกุ้งก้ามกรามเพศผู้ ที่มีอายุมากขึ้น ส่วนหัวจะมีขนาดใหญ่กว่าลำตัวมาก
อีกทั้งขาเดินคู่ที่ 2 จะมีขนาดใหญ่และยาวกว่าคู่อื่นๆ ซึ่งเราเรียกว่าก้าม
มันกุ้ง คือตับและตับอ่อน ส่วนแก้วกุ้งคือรังไข่ ซึ่งมีไข่อ่อนอยู่เต็ม




กุ้งกินอาหารในลักษณะ จับกัดแทะ กินทั้งอาหารธรรมชาติและอาหารสำเร็จรูป สำหรับอาหารธรรมชาตินั้น เช่น ไรน้ำ แมลง ลูกปลารวมทั้งพรรคพวกเดียวกันเอง

อุปกรณ์การจับกุ้งก้ามกรามในแหล่งน้ำธรรมชาติ มีหลายชนิดเข่น โพงพาง การล้อมซั้ง (กร่ำ) แห ไซนอน ยกยอ เบ็ดตกกุ้ง รวมทั้งการตกกุ้งโดย ใช้เนื้อมะพร้าว (ถ้าเผาไฟก็เป็นการเพิ่มกลิ่นหอมล่อกุ้งยิ่งขึ้น) ผูกเชือก (อาจเป็นเชือกที่กรีดจากทางมะพร้าวก็ได้) เอาไปปักใช้ไม้เป็นคันเบ็ด ตามริมชายฝั่ง ริมป่าจาก เมื่อกุ้งมากินเนื้อมะพร้าวสายผูกก็จะตึงมีการสั่นสะเทือนก็ใช้สวิง ช้อนตัวกุ้งขึ้นมา
ถ้าเป็นทุ่นลอยใช้สุ่มในการจับ กะระยะเชือกว่า เนื้อมะพร้าวที่ผูกเชือกนั้นลอยเหนือหน้าดิน มีทุ่นลอยที่ผิวน้ำ เมื่อทุ่นกระเพื่อมก็ใช้สุ่มคลุมลงไปเอามือล้วงจับตัวกุ้งขึ้นมา
สำหรับเรือผีหลอก นานๆครั้งก็จะมีกุ้งก้ามกรามดีดตัวลอยมาตกในลำเรือบ้างเหมือนกัน

ตามปกติ กุ้งจะเจริญพันธ์ในระยะเวลา 3-4 เดือน
เรียกว่าเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ มักจะอยู่ตามแอ่งหรือซอก แต่ละแอ่งจะมีกุ้งเพศผู้ 1 ตัว เพศเมีย 3-8 ตัว
จึงมักมีการเรียกกุ้งก้ามกรามให้ดูตลกขบขันกันว่า กุ้งบ้ากาม
และเรียก การอยู่รวมกันของกุ้งในแอ่งเหล่านี้ว่า กุ้งมีการตั้ง “ฮาเร็ม “
โดยมีกุ้งเพศผู้ เป็นจ่าฝูงเป็นเจ้าของฮาเร็ม
(หากเป็นการเลี้ยงในบ่อดินกุ้งก้ามกรามจะขุดหลุมเป็นบ้านหรือรังหรือฮาเร็มของตนเอง )
(ฮาเร็ม เป็นศัพท์ที่ชาวมีนกร บางรุ่นใช้กันเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ขณะศึกษา เรื่องกุ้งก้ามกรามในคณะประมง เกษตรศาสตร์ และได้พบสังคมความเป็นอยู่ของกุ้งก้ามกรามเหล่านี้)


กุ้งหลังลอกคราบ

กุ้งจะมีการลอกคราบเมื่อถึงเวลา
กุ้งในระยะลอกคราบ เป็นระยะที่อ่อนแอที่สุดมักถูกกุ้งด้วยกันตัวอื่นๆ จับกินเป็นอาหาร เสมอ

เมื่อใกล้วันเจริญพันธุ์ และบรรดากุ้งตัวเมียทั้งหลายเข้ามาอยู่ในฮาเร็ม หากมีกุ้งตัวเมีย ตัวใดลอกคราบ ก็จะถูก นางกุ้งตัวเมียอื่นๆ รุมทำร้าย และจับกินเป็นอาหาร พระเอกกุ้งเจ้าของฮาเร็ม จะต้องคอยระมัดระวังป้องกันภัยให้กับกุ้งตัวเมีย ที่กำลังลอกคราบนั้นปลอดภัย เพื่อการผสมพันธุ์และจะผสมพันธุ์ในระยะที่คราบใหม่ยังไม่แข็ง

สำหรับแอ่งหรือซอกหรือหลุม ที่เป็นที่อยู่อาศัยนั้น จะมีผลในช่วงวางไข่ คือทำให้ไข่ไม่กระจายไปตามกระแสน้ำและสะดวกที่แม่กุ้งจะรวบรวมไข่มาติดกับขาว่ายน้ำซึ่งอยู่ที่บริเวณหน้าท้อง
ไข่กุ้งมีประมาณ 6 พัน-2 แสน ฟอง ต่อตัว ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของแม่พันธุ์

( และเป็นเรื่องปกติ ที่หากกุ้งเพศผู้ลอกคราบบ้าง ก็จะถูกกุ้งเพศเมีย รุมกินเป็นอาหารเช่นกัน ถือว่าเป็นวงจรชีวิตของกุ้ง)




หลังจากกุ้งเพศเมียวางไข่ สีของไข่ที่ติดอยู่บริเวณหน้าท้องไข่กุ้งจะพัฒนาจากสีส้มเป็นสีน้ำตาล สีน้ำตาลเทา หรือสีน้ำตาลไหม้ ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์(รวมระยะเวลาผสมพันธุ์ด้วย) ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วก็จะฟักออกมาเป็นตัวอ่อน
ลูกกุ้งวัยอ่อนจะหงายท้องว่ายน้ำ ล่องลอยไปตามกระแสน้ำ เหมือนแพงค์ตอน ในวันที่ 3 ถุงอาหารธรรมชาติที่ติดมากับไข่ก็จะเริ่มยุบ ลูกกุ้งจึงคว่ำและเริ่มกินอาหาร ใช้วงจรชีวิตตามพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ สืบสายตระกูลกุ้งก้ามกรามให้ดำรงอยู่ในโลกใบนี้ต่อไป

กุ้งเพศผู้ มีวิวาท กันเองบ้าง เพราะการล่วงล้ำและรักษาเขตแดนของตนเอง หรืออาจเป็นการแสดงความแข็งแกร่งให้กุ้งตัวเมียชื่นชม ยินยอมสมัครใจเข้ามาอยู่ในฮาเร็มของกุ้ง พระเอก กระมัง แต่การต่อสู้ไม่ได้รุนแรงมากมาย

กรมประมงเริ่มมีการทดลองเพาะและขยายพันธุ์ กุ้งก้ามกราม และประสบผลสำเร็จในปี 2515-2516 และได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี นี้ให้กับประชาชนทั่วไปสำหรับการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม

และในเวลาต่อมาก็สามารถเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำได้อีกด้วย
ที่มา เรื่องเล่าจากชาวมีนกร


โดยเฉพาะที่ ฉะเชิงเทรา ชาวบ้านที่อำเภอบางปะกง ที่เคยเลี้ยงเป็ดกันแทบทุกครัวเรือน เปลี่ยนมาเพาะพันธุ์กุ้งก้ามกราม ซึ่งมีการก่อสร้างถังปูนซีเมนต์เป็นพื้นที่การเพาะพันธุ์

แม้ว่ากุ้งก้ามกรามจะเป็นกุ้งที่เลี้ยงในพื้นที่น้ำจืด แต่การผลิตลูกกุ้งในโรงเพาะฟักน้ำที่ใช้อนุบาลลูกกุ้งต้องมีความเค็มในระดับที่เหมาะสม ดังนั้นต้องใช้น้ำทะเลมาเจือจางด้วยน้ำจืดให้ได้ความเค็มที่ต้องการ

ต่อมาเมื่อกรมประมงสามารถเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำได้ เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงพันธุ์กุ้งก้ามกราม ก็หันเห มาเพาะพันธุ์กุ้งกุลาดำแทน นับว่าเป็นช่วงโอกาสทองของชาวแปดริ้ว จะมีรถยนต์รถปิ๊กอัพ ป้ายแดง วิ่งอยู่มากมายในท้องถนนของเมืองแปดริ้ว แต่ละบ้านมีเงินติดบ้านกันหลายๆแสน หมุนเวียนไปมา รับมา จ่ายไป เงินหลักหมื่นบาทไม่ต้องพูดถึงกันเลยทีเดียว



ขอย้อนมา เรื่องกุ้งก้ามกราม ที่อ่านพบตามเวปไซด์ต่างๆ ก็เลยขอรวบรวมมาเล่าต่อดังนี้ เป็นบทความจากการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ในการเรียกขานกุ้งก้ามกรามที่ได้จากการเพาะเลี้ยง

โดยปกติทั่วไป กุ้งขนาดใหญ่ทุกชนิด เพศเมียจะโตกว่าเพศผู้ เช่น กุ้งกุลาดำ หรืออย่างน้อยก็มีขนาดใกล้เคียงกัน เช่น กุ้งขาว แต่กุ้งก้ามกรามมีข้อแตกต่างตรงที่ กุ้งเพศผู้มีขนาดใหญ่กว่าเพศเมียมาก โดยเฉพาะเมื่อเลี้ยงถึงระยะสมบูรณ์พันธุ์ที่ 6เดือนขึ้นไปอีกทั้งในฝูงที่ผลิตได้ยังมีลักษณะโครงร่างแยกแยะแตกต่างกันไปอีกคือ

กุ้งเพศผู้ที่เป็นกุ้งเนื้อขนาดใหญ่เรียกว่ากุ้งใหญ่(และมีชื่อแบ่งย่อยต่างๆ)
กุ้งเพศผู้ที่เป็นกุ้งเนื้อขนาดรองเรียกว่ากุ้งกลาง
กุ้งเพศผู้ที่เป็นนักเลงคุมฝูงเรียกว่ากุ้งก้ามโต
กุ้งเพศเมียสมบูรณ์พันธุ์เรียกว่ากุ้งนาง
กุ้งเพศเมียระยะฟักไข่(ไข่หน้าท้อง)เรียกว่าแม่กุ้งหรือกุ้งไข่
กุ้งแคระแกรนเรียกว่ากุ้งจิ๊กโก๋หรือหางกุ้ง

ที่มา : นิตยสารเพื่อนชาวกุ้ง ฉบับ มีนาคม 2545




และ
กุ้งเพศผู้ที่มีก้ามขนาดเล็กหรือที่เกษตรกรนิยมเรียกกันว่า “ก้ามทอง” ซึ่งในแต่ละรุ่นที่เลี้ยงจะมีปริมาณ 20-25 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น เนื่องจากจะเป็นกุ้งเพศเมียประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ และจะเป็นกุ้งเพศผู้ก้ามโตหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ก้ามลาก” 25-30 เปอร์เซ็นต์
ที่มาhttp://www.thailandshrimp.com

เป็นคำศัพท์ ที่ เกษตรกรบางถิ่นใช้เรียกหากันนั่นเอง

และขอแถมนิทานที่เกี่ยวกับกุ้ง ที่บอกกล่าวเล่าว่า เป็นเรื่องสมัยดึกดำบรรพ์
ดังนั้น กุ้ง ในสมัยโน้น ก็คงมีหน้าตาแปลกๆมาก่อนที่จะพัฒนา มาเป็น หน้าตา แบบที่เราเห็นในปัจจุบัน

เรื่องมีอยู่ว่า

"ตามตำนานว่า ในสมัยดึกดำบรรพ์ กุ้งมีแต่ก้าม ไม่มีอาวุธอะไรจะใช้สู้กับศัตรู คราวหนึ่งพระอุมาเสด็จประพาสทางน้ำ กุ้งจึงเข้าไปร้องทุกข์ว่าถูกสัตว์อื่นๆรังแก ไม่มีอาวุธจะต่อสู้ ขอให้ช่วยเหลือในด้านอาวุธ คือขอให้มีเลื่อยสองคมปลายแหลมครอบหัวของตนไว้ ที่หางก็ขอให้มีหอกแหลม

พระอุมาก็ประทานให้ตามที่ขอ

ต่อมากุ้งคิดกำเริบไปเจาะเรือสำเภาหวังจะกินคนที่จมน้ำตาย พวกนายสำเภาจึงปรับทุกข์กับเจ้าหมาจ่อ ขอให้คุ้มครองป้องกัน อย่าให้กุ้งทำอันตรายเรือสำเภาได้ เจ้าหมาจ่อก็ประชุมเจ้าทำหนังสือขึ้นไปร้องเรียนต่อพระอิศวร พระอิศวรจึงให้พระอุมาจัดการแก้ไข พระอุมาจึงให้พญาอนันตนาคราชลงไปแผลงฤทธิ์ทำให้น้ำเป็นระลอกปั่นป่วน เกิดลมพัดอึงคะนึง กุ้งมีความผิดอยู่แล้ว พอเกิดเหตุเช่นนั้นก็ยิ่งตกใจกลัวถึงกับกระเพาะอาหารขึ้นไปอยู่บนหัว"
ก็เลยมีคำพูดว่า กลัวจน "ขี้ขึ้นสมอง" ซึ่งเป็นการเอาลักษณะของกุ้งมาเปรียบเทียบนั่นเอง

ที่มาhttp://guru.google.co.th/guru/thread?tid=5bdde261d65f4cfb



กุ้งก้ามกราม ในยุคเด็กของพลอยโพยม เป็นกุ้งในแหล่งน้ำธรรมชาติ สุดแล้วแต่ว่า บ้านไหน จะใช้วิธีไหน หามาบริโภคกัน ส่วนใหญ่จะมีที่โพงพางนายอึ้งที่มีอาชีพประมงอย่างแท้จริง ที่จะนำกุ้งที่จับได้ขาย (ที่บ้านนายอึ้งเอง) รวมทั้ง นักตกเบ็ดกุ้ง ที่มาลอยเรือตามจุดต่างๆที่เขาคิดว่าจะได้กุ้งก้ามกราม ซึ่งเขาตกเบ็ดกุ้งก็เพื่อ ขายส่งให้กับเรือหางยาว ที่วิ่งมารับซื้อ ดังนั้นในตลาดของชุมชนบางกรูดจะไม่มีกุ้งก้ามกรามขาย ใครอยากกินก็เสาะแสวงหากันมาเอง

ที่บ้านพลอยโพยม มีนักชำนาญการ คือ การงมจับกุ้งก้ามกราม ตามโพรงขอนไม้ ซึ่งจะได้แค่ไม่กี่ตัว แต่ถ้า มาจากนักชำนาญการล้อมซั้ง ละก้อ ต้องใช้คำว่า เหลือเฟือ หลังจากแบ่งปัน ให้คนมาช่วยจับซั้งแล้ว (ในฤดูหนาว ) ที่บ้านบริโภคกันหลายๆเมนูของวันที่จับกุ้งได้มา ยังกินต่อได้อีกหลายวัน ทั้งที่ เป็นครอบครัวใหญ่ อยู่กัน สิบกว่าคน โดยต้องแปรรูปเป็นกุ้งต้มเกลือทั้งตัว ตัดส่วนออกนิดเดียวบริเวณตากุ้ง โคนกรีเล็กน้อย หนวดกุ้ง รวมทั้งสับขากุ้งออกหมด ยกเว้นก้ามใหญ่ ต้มจนเกลือเกาะเปลือกกุ้ง มันกุ้งและแก้วกุ้งจะแข็งตัว กุ้งต้มเกลือนี้เก็บได้หลายวัน เนื้อกุ้งต้มก็จะค่อนข้างแข็งเล็กน้อย

ในปัจจุบัน การกินกุ้งก้ามกราม ง่ายมาก แค่ไปที่ร้านอาหาร ที่แปดริ้วก็พอมีร้านที่ได้กุ้งก้ามกรามมาจากแม่น้ำบางปะกง จริง ๆ แต่บางแห่ง ก็ตบแต่งกุ้งเสียจน นักกินกุ้งแม่น้ำ แปลกประหลาดใจ เพราะกุ้งก้ามกรามเผา แล้วร้านค้าผ่าซีก กุ้งออก ส่วนหัว จะมีมันกุ้งหลามไหล ( ใช้คำนี้ถูกตรงตามลักษณะ ที่พบเห็นจริงๆ) มันกุ้งธรรมชาติของกุ้งแต่ละตัวไม่เคย มากมายอย่างในปัจจุบัน จะพบกุ้งก้ามกรามที่มีมันกุ้งหลามไหลได้อีกในเส้นทาง เดินทางไปสิงห์บุรี






เวลาไปกินกุ้งก้ามกรามกับเพื่อนฝูง พลอยโพยม มีความสุขมาก เพราะตัวเองชอบกินส่วนหัวกุ้งในขณะที่คนอื่นๆ กินเนื้อที่ตัวกุ้ง ( สงวนสิทธิ์สำหรับผู้ที่รู้ตัวว่า ตัวเองมีระดับคลอเลสโตรอน และไขมัน ระดับต่ำ เท่านั้นนะคะที่จะกินหัวกุ้งได้)
จริงๆที่ส่วนหัวกุ้ง มีส่วนที่เป็นเนื้อซ่อนอยู่ นอกจากมันกุ้งแก้วกุ้ง อย่าลืมเด็ดขี้กุ้งออกก่อนกินด้วย มีรุ่นน้องผู้ชาย 2 คนเขาสังเกตมานาน ถามว่า มันอร่อยเหรอครับ กินยังไงครับ พอพลอยโพยมสอน ทีนี้กลายเป็นมีคู่แข่งแย่งกันกินหัวกุ้งเลยทีเดียว ไม่บอกรายละเอียดแล้วกัน ว่า กินยังไง กินตรงไหน หากันเองแล้วกันนะคะ หาเจอแล้ว ทีนี้รับรองไม่สนใจเนื้อตรงตัวกุ้งกันแล้วล่ะน่ะ
แต่ถ้าไปกับพี่ๆน้องวัยเด็ก ตัวใครตัวมัน กินกุ้งตัวไหน ก็กินไปทั้งตัวนั่นแหละ เพราะทุกคนก็กินแบบพลอยโพยม ยกเว้นครอบครัวส่วนตัวเองที่พลอยโพยมไม่มีใครแย่ง ได้กินหัวกุ้งของสามีและลูกๆ

อ่านกันมาถึงบรรทัดนี้ กุ้งก้ามกรามภาพหมู่เป็นฝูง ก็ถูกนำไปต้มสุกแล้วโดยฝีมือคนอื่น
ทุกท่านคงกินกุ้งก้ามกรามอร่อยไปกับพลอยโพยมอย่างอิ่มหมีพีมันกันแล้วนะคะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น