วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

กุ้งตะกาด..ดาษดื่นผืนน้ำ..กุ้งฝอย

มัศยา เยื้องกรายสายนที 7
กุ้งตะกาด




กุ้งตะกาด (ฃื่อสามัญ)
Jinga shrimp (ชื่อภาษาอังกฤษ)
Metapenaeus affinis ( ชื่อวิทยาศาสตร์)
ลักษณะทั่วไป
เป็นกุ้งขนาดกลาง กรียาวตรง มีฟันด้านบน 8-9 อัน ด้านล่างไม่มีฟัน สันท้ายกรียาวประมาณร้อยละ 75 ของเปลือกหัว สันที่ปล้องท้องตั้งแต่ปล้องที่ 4-6 ส่วนกลางของอวัยวะเพศเมียรูปวงรี ด้านข้างโค้งและยกตัวสูงขึ้นสี น้ำตาลอ่อน กรีและระยางค์ต่าง ๆ สีน้ำตาลแดง บางตัวมีสีแดงบริเวณด้านล่างของส่วนหัว ระยางค์และแพนหางสีแดงคล้ำ
ถิ่นอาศัย
พบชุกชุมในแม่น้ำ-ลำคลองแทบทุกจังหวัดในเขตอ่าวไทย ทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อย
อาหาร
กินจุลินทรีย์ ตัวอ่อนของแมลงน้ำ ลูกหนอน ไรน้ำ และซากสัตว์น้ำ
ขนาด
ความยาวประมาณ 7-20 ซ.ม.
ประโยชน์
ใช้ปรุงเป็นอาหารได้หลากหลาย เช่น ต้มยำ ย่าง หรือ ทอด เป็นต้น

กุ้งตะกาดมีหลายชนิด

กุ้งตะกาดหิน
ชื่อสามัญ Greasy back shrimp
ชื่อวิทยาศาสตร์ Metapenaeus ensis
ลักษณะทั่วไป ลำตัวยาวมีสีเทาอ่อน มีจุดสีน้ำเงินกระจายอยู่ข้างตัว กรีและเปลือก หัวมีสีจางโคนกรีมีสัณฐานเป็นสามเหลี่ยม ด้านบนของกรีมีฟัน 8-10 ซี่ ด้านล่างเรียบ หางสีฟ้าเขียวปนแดง ส่วนลักษณะที่นับว่าแตกต่างจากกุ้งตะกาดในสกุลเดียวกัน คือ กรีของกุ้งตะกาดหินจะมีลักษณะเรียวยาวเชิดขึ้นเล็กน้อย หางไม่มีหนาม และสันที่อยู่จากโคนกรีจะเป็นสีขาวจรดขอบหลัง
พบชุกขุมในอ่าวไทย
ในเอกสารบางฉบับ เรียกกุ้งตะกาดนี้ว่า กุ้งตะกาดกรีจุด

กุ้งตะกาดหางแดง
ชื่อสามัญ Pink shrimp
ชื่อวิทยาศาสตร์ Metapenaeus monoceros
ลักษณะทั่วไป เป็นกุ้งขนาดกลาง กรียาวตรง มีฟันหางด้านบน 9 อัน ด้านล่างไม่มีฟัน สันท้ายกรียาวจรดขอบหลังของเปลือกหัว สันบนปล้องท้องเริ่มจากปล้องที่หนึ่งเป็นสันตื้นและปรากฏเป็นสันชัดเจนตั้งแต่ปล้องที่ 3-6 ส่วนกลาง อวัยวะเพศเมียเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมปลายมนด้านข้างยกสูงขึ้นสีน้ำตาลแดงอ่อน ระยางค์สีขาวสลับแดงชมพู กรีสันบนปล้องท้องและแพนหางสีน้ำตาลแดง

กุ้งตะกาดกรีดำ, กุ้งตะกาดหางม่วง
ชื่อสามัญ Middle shrimp
ชื่อวิทยาศาสตร์ Metapenaeus intermedius

ลักษณะทั่วไป ลำตัวค่อนข้างแบนข้าง กรีตรง ฟันหยัก 10 อันทางด้านบน ด้านล่างไม่มีฟันหยัก สันท้ายกรีขยายถึงส่วนท้ายของเปลือกหัว หนามปลายปล้องที่สี่บนขาเดินคู่ที่หนึ่งยาวเท่ากับหนามปลายปล้องที่สาม บนขาเดินคู่ที่สี่ปรากฏส่วนของเหงือกติดกับลำตัว แขนงแยกจากปล้องที่สองของขาเดิน คู่ที่ห้าไม่มีสันบนหลังของปล้องท้องเริ่มจากปล้องที่สี่จรดปล้องที่หก ปลายหางประกอบด้วยหนามเล็ก ๆ แบบไม่ตรึงแน่นจำนวนสามคู่สีขาวครีมหรือสีน้ำตาลอ่อน กรีสีแดงคล้ำ ระยางค์สีน้ำตาลอ่อน แพนหางสีฟ้า ปลายหางสีแดงเข้ม สันบนหลังของปล้องท้องที่ห้าและที่หกสีแดงคล้ำ

กุ้งตะกาดขาว
ชื่อสามัญ Moyebi shrimp
ชื่อวิทยาศาสตร์ Metapenaeus moyebi
ลักษณะทั่วไป รูปเรียว กรียาว ปลายกรียาวเลยฐานของหนวดร่องเฉียงบริเวณเปลือกหัวส่วนหน้าสั้น ไม่มีสันตามแนวยาวของเปลือกหัว หนามที่ขาเดินคู่ที่หนึ่งไม่มี ปลายหางเป็นขอบหยัก มีหนามขนาดเล็กจำนวนมาก ส่วนปลายของอวัยวะเพศผู้ขยายออกคล้ายกระเปาะสีขาวขุ่น ระยางค์ว่ายน้ำและส่วนหางสีเขียวคล้ำ ขาสีขาว

จากวิกิพีเดีย
ภาพปลาและสัตว์น้ำของไทย


(ที่ทะเลสาบสงขลา เรียกกุ้งตะกาดขาวว่ากุ้งหัวแข็ง
ในขณะที่ชาวบางกรูด ใช้คำเรียกกุ้งหัวแข็งสำหรับกุ้งกะต่อม )

กุ้งตะกาด ที่บางกรูด ถือเป็นกุ้ง คู่ชุมชน ทั้งในแม่น้ำลำคลองหนองบึงที่มีทางเชื่อมต่อแหล่งน้ำอื่นๆ และร่องสวน
อีกทั้งยังอยู่ได้ในน้ำกร่อยและน้ำจืด



ยอยกตามลำคลองที่ประยุกต์ใช้ท่อ พีวีซี

กุ้งตะกาดที่บางกรูดพบหาได้เป็นประจำ ในทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย จากการ ยกยอที่หัวสะพานบ้าน การนำสวิงลงไปช้อนที่ชายฝั่งแม่น้ำ โดยเฉพาะบริเวณ ที่เป็นกอหญ้า ใต้กอเตย กอเถาวัลย์ หรือพันธุ์ไม้น้ำอื่น ที่ขึ้นตามชายฝั่งแม่น้ำ ในช่วงที่น้ำยังขึ้นไม่มากสามารถลงไปเดินไล่ช้อนตามชายฝั่งได้ แม้แต่ในช่วงที่น้ำแห้ง เดินลุยขอนที่วางทอดพื้นเลนลงไปชายน้ำ พาตัวเองลงแช่น้ำเอามือหนึ่งตั้งสวิงไว้ อีกมือหนึ่ง วักน้ำ พุ้ยน้ำให้เข้ามาในสวิง ก็ได้กุ้ง และปลาตัวเล็กตัวน้อยเข้ามาในสวิง แต่ ไม่มากนัก และ คนทำก็ทำได้ไม่นานนัก เพราะเมื่อย ทั้ง มือที่ถือสวิง และมือที่พุ้ยน้ำ
นอกจากนี้ ในหน้าน้ำกร่อย การรออวน ดักเคยกะปิ การพายเคยกะปิ ที่ชาวบางกรูด เรียกว่ากุ้งกะปิ ก็ จะมี ทั้งกุ้งตะเข็บ กุ้งตะกาด ปลาซิว ลูกปลาเล็กๆ หลายชนิด เป็นต้น เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันตายกับเคยกะปิ



ที่บ้านพลอยโพยม มีสวน เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่เศษ ที่ปลายสวนมีท่อระบายน้ำเชื่อมกับคลองศาลเจ้า หากไม่มีการปิดท่อระบายน้ำนี้ น้ำก็จะขึ้นลง ตามน้ำในลำคลอง โดยปกติ เราก็เปิดท่อไว้ จะปิดก็เมื่อต้องการนำน้ำเข้าร่องสวน แล้วก็เก็บกักน้ำไว้ เช่น น้ำกร่อยกำลังจะมา เป็นต้น การวางท่อเชื่อม ร่องสวนกับคลองนี้ ต้องอาศัยภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ต้องจัดระดับให้ น้ำในร่องสวนไม่ไหลออกมากไปเวลาน้ำในคลองไหลลง และ น้ำไม่เข้ามาท่วมร่องสวน เวลาที่น้ำขึ้น คราวน้ำใหญ่ เช่น เดือน ๑๑ เดือน ๑๒ เป็นต้น

ทั้งปลา ลูกปลา ลูกกุ้งต่างๆ รวมทั้งกุ้งตะกาด ก็เข้ามาสร้างครอบครัวไว้ในร่องสวนมากมาย โดยจะมาขุดรู อยู่ตามชายท้องร่อง เมื่อยามที่ฝนตกหนัก น้ำฝนบนพื้นของร่องสวนก็ไหลลงสู่ท้องร่อง น้ำฝนนี้จะชะเอาผิวดินของพื้นร่องสวนไหลเทราดร่องสวนลงไปด้วย ลักษณะของน้ำก็จะเป็นน้ำผสมโคลน กุ้งตะกาดที่อยู่ชายตลิ่งฝั่งร่องสวน ก็ จะเกิดอาการ ทั้งมึนทั้งเมากลิ่น โคลน ( แต่ไม่มีสาบควายแน่นอน) รวมทั้งขาดออกซิเจนอีกต่างหาก กุ้งตะกาด จึงต้องออกจากรูอาศัย ( ถ้าเป็นลำแม่น้ำลำคลอง ใหญ่ๆ ไม่แน่ใจว่า กุ้งตะกาด มีบ้านอยู่แบบไหนนะคะ จะล่องไปล่องมาฝ่าวันวารหรือไร) กุ้งตะกาดจำเป็นต้องเงยหัวขึ้นมาสูดอากาศเหนือผิวน้ำกันเป็นทิวแถว ก็เวลานี้แหละที่ชาวสวนเขาลงไปช้อนกุ้งในท้องร่องกันละ

อีกเวลา ก็คือ ช่วงน้ำขึ้น กุ้งก็จะต้องออกจากบ้าน เพื่อ ออกมาหากิน ( หากินอย่างเดียว ไม่ต้องทำมาหากิน เหมือนพวกเรา) นั่นเป็นอีกเวลาหนึ่ง ที่ มีการลงไปช้อนกุ้งกัน



ลักษณะของร่องสวนที่น้ำแห้ง( ในช่วงแล้งจัด น้ำจะแห้ง อย่างนี้)
ร่องสวนและท้องร่องของภาพนี้ทั้งเล็กและตื้นกว่าสวนในยุคก่อนๆ

การช้อนกุ้งในท้องร่อง ไม่ทำติดๆกันบ่อยนัก นานๆ ครั้ง ตาม สภาพดินฟ้าอากาศ และสภาพน้ำ นั่นเอง และกุ้งที่ช้อนได้มา ต้องทำกับข้าวเลย หรือแกะปอกเปลือกต้มสุกไว้ ซึ่ง ต้มค้างหลายวัน ก็ทำให้กุ้งหมดคุณค่าและรสชาติไปเสียแล้ว

กุ้งฝอย พลอยตามมา..


กุ้งฝอย

กุ้งฝอย (ชื่อสามัญ)
Macrobrachium lanchesteri (ชื่อวิทยาศาสตร์)
LANCHESTER'S FRESHWATER PRAWN (ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ)
ลักษณะทั่วไป

เป็นกุ้งน้ำจืดขนาดเล็ก มีเปลือกแข็งห่อหุ้มตัว มีขา 10 คู่ แบ่งแยกหน้าที่กันออกไปเป็นขาสำหรับจับอาหาร ขาเดินและขาว่ายน้ำ ขาเดินคู่ที่สองมีขนาดไล่เลี่ยกับขาเดินคู่ที่ 4 และ 5 ข้อปลายมีลักษณะเป็นก้ามหนีบ อยู่รวมกันเป็นฝูง ลักษณะสำคัญประจำตัวคือ มีกรีตรง ขาเดิน 3 คู่ยาวเท่ากันแตกต่างจากลูกกุ้งก้ามกรามที่มีขนาดเท่ากัน ซึ่งจะมีกรียาวปลายโค้งสูงขึ้น

ถิ่นอาศัย

ชอบอยู่บริเวณผิวน้ำตามชายริมตลิ่งซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่มีรากหญ้าและรากพันธุ์ไม้น้ำ จะรวมกลุ่มอยู่กันชุกชุมในหนอง บ่อ บึง หรือตามบริเวณแหล่งน้ำซึ่งมีกระแสน้ำขึ้น ลงไหลเอื่อย ๆ

อาหาร

กินจุลินทรีย์และตัวอ่อนของสัตว์น้ำขนาดเล็ก

ขนาด

ความยาวประมาณ 2-7 ซ.ม.

ประโยชน์

เป็นอาหารที่มีรสอร่อย นักบริโภคบางจำพวกนิยมหยิบกุ้งฝอยที่ยังมีชีวิตอยู่เข้าปากเคี้ยวกิน นัยว่าได้รสชาติเอร็ดอร่อยสมอยากยิ่งนัก

ที่มา ภาพปลาและสัตว์น้ำของไทย



แหล่งที่พบกุ้งฝอยตามชายฝั่งคลอง หนองบึง มีลักษณะอย่างนี้

กุ้งฝอย จะพบได้ตามหนองบึงต่างๆที่มีพันธ์ไม้น้ำ เช่น หญ้า ผักตบชวา เวลาที่ช้อนจะต้องใช้สวิงช้อนใต้กอหญ้า หรือพันธุ์ไม้น้ำ กุ้งฝอยจะอยู่กันเป็นฝูงใหญ่

สำหรับในท้องร่องสวน เนื่องจาก ในร่องสวน จะมี ผักบุ้ง ที่ทอดยอดอยู่ในท้องร่อง ไต่ขึ้นมาทอดกายชายท้องร่องขึ้นมาบนพื้นดินของร่องสวน บางท้องร่อง ก็มี บัวสาย บางท้องร่องก็ผักกระเฉด ซึ่งผักกระเฉดนี้เมื่อทอดยอดมาถึงชายตลิ่งของท้องร่อง ผักกระเฉดก็จะไต่ขึ้นบก เป็นผักกระเฉดบกที่ไม่มีนมขาวๆอยู่ตามลำต้น บางท้องร่อง ก็ไม่มีพันธุ์ ไม้น้ำอะไรเลย
จะพบกุ้งฝอยที่แถวท้องร่องที่ปลูกผักบุ้งและผักกระเฉด แต่ที่บ้านจะไม่ได้ใช้กุ้งฝอยมาทำอาหารอะไร เพราะ มีกุ้งอื่นๆอยู่แล้ว
เมื่อโตขึ้น และเริ่มมีแป้งโกกิ จำหน่าย จึงได้พบเห็น กุ้งฝอยนำมาชุบแป้งโกกิทอด
สวิงที่ใช้กันในสมัยพลอยโพยมเด็กๆ เป็นสวิงถักจากด้าย ตาค่อนข้างห่าง สัตว์น้ำตัวเล็กๆ ก็จะสามารถหลุดลอดออกจากตาสวิงได้

ในปัจจุบัน หากไปเดินตลาดพื้นบ้านที่วัดโสธร ตอนช่วงเย็น บางครั้งจะพบมีคน นำกุ้งฝอยมาต้มเค็ม
กุ้งที่นำไปต้มกับเกลือและน้ำตาลปีบ เราเรียกกันว่ากุ้งต้มเค็ม ทั้งที่บางทีกุ้งออกรสหวานนำหน้ารสเค็ม เราก็ยังเรียกว่ากุ้งต้มเค็มกันอยู่ดีนั่นเอง แม่ค้าที่นำกุ้งฝอยมาต้มเค็มขาย ก็จะต้มทั้งตัว ทั้งหนวด ฉะนั้นถ้าซื้อมา ก็กินค่อนข้างลำบากเพราะหนวดกุ้งยุ่งเหยิง แถม หัวกุ้งและกรีกุ้ง จะประทุษร้ายกระพุ้งแก้มของคนกิน แต่เขาก็ต้มมาขายบ่อยมาก และก็ขายหมดทุกวัน
สำหรับที่เอาไปชุบแป้งโกกินั้น อย่างไรเสียตัวกุ้งก็จะกรอบเพราะการทอด
กุ้งฝอยตัวเล็กสำหรับกุ้งโดยทั้วไป มีเนื้อน้อย แต่ถ้าเทียบกับกุ้งหรือเคยกะปิ กุ้งฝอยก็ถือว่าตัวใหญ่กว่ามาก และเปลือกกุ้งจะแข็งกว่า เคยกะปิมากทีเดียว

ชาวบ้านที่หาช้อนกุ้งฝอยได้มาบางครั้งก็นำไปขายตามตลาดนัดของชุมชนต่างๆ โดย นำมาทันทีหลังจากที่ช้อนได้มา กุ้งฝอยยังดีดตัวไปมาได้ ซึ่งจะมีปริมาณ ไม่มากนัก หากกุ้งฝอยตาย ก็จะไม่ค่อยมีคนซื้อ
การขาย ก็จะตวงเป็น แก้ว หรือ กระป๋องเล็ก มีนักตกปลาบางคนก็ซื้อหากุ้งฝอยนี้ไปทำเหยื่อตกปลาโดยจะต้องคัดเลือกกุ้งฝอยตัวค่อนข้างโต มิฉะนันก็จะเกี่ยวเบ็ดไม่ได้ บางคนก็ซื้อเอาไปเป็นอาหารปลาสวยงามที่เลี้ยงตามตู้เลี้ยงปลา และก็มีบางคนที่ซื้อกุ้งฝอยไปทำกุ้งเต้นแกล้มเหล้า เพราะความสดของกุ้งฝอย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น