วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2556
หลงทิวทุ่งตระการ 2
ท้องทุ่งนาและสวนมักจะอยู่ใกล้เคียงกัน
จากท้องทุ่ง มุ่งสู่ หมู่เรือกสวน
ชี้ชักชวน ฝรั่ง ยังต้นหมาย
ฝูงหมาไล่ ใส่รี่ หนีกระจาย
เหนื่อยแทบตาย หลายร่อง ต้องวิ่งโกย
ดอกฝรั่ง
สวนเราหนอ พอมี นี่โรคจิต
ที่พาคิด ติดภัย นัยหิวโหย
ไปถลำ ทำตัว หัวขโมย
สนุกโดย ดื้อดึง ซึ่งบาปเอย
ผลฝรั่งมองดูน่าเย้ายวนใจ แต่ฝรังตามสวนในสมัยก่อนมักเป็นต้นสูงใหญ่
ฝรั่งขี้นก
สำหรับน้องหมาฝูงนี้หากเป็นในสมัยเด็ก ๆ คงไม่กล้าเฉียดกรายใกล้ให้ต้องวิ่งโกย
แต่น้องหมาฝูงนี้ออกจะน่ารักไม่น้อย
การใช้ต้นหมากพาดทอดข้ามคลองขนาดเล็ก จะมีไม้หลักปักกลางคลองเพื่อใช้ยึดในการเดินข้ามคลอง แต่ภาพนี้พาดข้ามร่องสวน
ข้ามคลองยาก มากครั้ง พลั้งตกน้ำ
ต้นหมากลำ เล็กมาก ลำบากเอ๋ย
หลักปักไว้ ไม่ช่วย เสียด้วยเลย
แต่มิเคย คิดถอย พลอยเสียการ
ชาวสวนก็ใช้ต้นหมากทอดข้ามระหว่างร่องสวนเช่นกัน
บางสวนก็ใช้ลำไม้ไผ่ก็มี ซึ่งลำไม้ไผ่จะมีความคดไม่เป็นลำกลมตรงแบบลำต้นหมาก
ข้ามคลองยาก มากครั้ง พลั้งตกน้ำ
ต้นหมากลำ เล็กมาก ลำบากเอ๋ย
หลักปักไว้ ไม่ช่วย เสียด้วยเลย
แต่มิเคย คิดถอย พลอยเสียการ
อ้อยขาไก่
แวะข้างหน้า ป้าเชื่อม เอื้อมหักอ้อย
เรียวลำน้อย คอยท่า ขาไก่หวาน
เดินต่อเรื่อย เหนื่อยหาย คายทิ้งชาน
บ้านใหญ่ผ่าน พี่ทัย ให้น้ำกิน
อ้อยขาไก่
ดอกนมแมว
ดอกยี่โถ
นมแมวอิง แอบไม้ ให้หอมชื่น
ยี่โถยืน หยัดคู่ เชิดชูกลิ่น
มะลิวัลย์ พันช่อ รอรวยริน
แก้วถวิล ผินดอก ระลอกโชย
ดอกมะลิวัลย์
ดอกแก้ว
พวงชมพู ดูหวาน ปานพลิ้วไหว
ผีเสื้อไล่ โลมเล้า เจ้าห่วงโหย
กลีบบอบบาง คว้างหล่น ลงร่วงโรย
กระจายโปรย ปะปน บนพื้นทาง
ดอกพวงชมพู
ในสมัยเด็ก ๆ พลอยโพยมเติบโตในครอบครัวที่มีคุณยายเป็นประธานของบ้านพวกเราเรียกคุณยายว่ายายขา ยายขามีลูกหลานอุปการะในบ้าน คือมีครอบครัวพ่อมังกรลูกเขย แม่ละม่อมลูกสาว หลานยายลูกแม่ละม่อม 5 คน มีลูกสะใภ้(น้าสะใภ้) และหลานย่าอีก 2 คน หลานยายลูกสาวพี่สาวแม่ละม่อม 7 คน แต่ลูกคุณป้าละออ เป็นเด็กรุ่นใหญ่( มีเด็กรุ่นเรียกว่ารุ่นเล็ก 2 คน ) รวมทั้งที่บ้าน คุณยายเล็กซึ่งอยู่ชิดติดกันแบบหลังคาบ้านแทบจะเกยกัน แม้จะเป็นโสดแต่ก็เป็นบ้านที่มีหลาน น้า หลานอา มาอยู่กันอีกหลายคน
จึงไม่เกินไปหากพลอยโพยมจะใช้คำว่าครอบครัวใหญ่ สำหรับสองบ้านที่มีสมาชิกเกือบสามสิบคน
ชีวิตในวัยเด็กจึงสนุกสนานมากมิรู้ลืมกับชีวิตบ้านสวนริมน้ำบางปะกง
บริเวณนี้เคยเป็นสวน 5 ไร่ในอดีต
เด็ก ๆ รุ่นใหญ่จะนั่่งเรือข้ามฝั่งไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดบางกรูด ซึ่งพ่อมังกรก็เป็นครูอยู่ที่โรงเรียนวัดบางกรูดด้วยถึง 5 ปี เคยย้ายไปสอนที่โรงเรียนที่พระตระบองได้ 3 ปีกว่า แล้วก็ย้อนกลับมาที่โรงเรียนวัดบางกรูด ได้ 6 เดือนจึงลาออก ไปเป็นเสมียนที่แผนกมหาดไทยที่ศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา แม้ต่อมาพ่อมังกรเป็นปลัดอำเภอ แต่ ผู้คนก็เรียกว่าพ่อว่าครูมังกรกันทั้งบาง
พ่อมังกรก็เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดบางกรูด ครั้งยังเป็นโรงเรียนเชลยศักดิ์ (โรงเรียนราษฎร์) และก็ชอบมาแอบดึงผมแม่ละม่อมทางด้านหลัง ( แม้จะอยู่คนละชั้นกัน) ทำให้แม่ละม่อมต้องโวยวายต่อว่าโมโหโทโส ทะเลาะกับเด็กรุ่นพี่คนนี้ มีเด็กหญิงญาติพ่อมังกรรุ่นแม่ละม่อมก็มาร่วมวงช่วยพี่ชายทะเลาะโต้ตอบ โกรธกับแม่ละม่อมตั้ังแต่เป็นนักเรียน จนแม่ละม่อมมาร่วมนามสกุลกับพ่อมังกร แม่ละม่อมกับญาติพ่อมังกรคนนี้ก็ไม่พูดจากันและตายจากกันในที่สุดทั้งสามตัวละครนักเรียนโรงเรียนวัดบางกรูด
โรงเรียนในสมัยก่อนโน้น จะเรียนรวมในห้องโล่งกว้างเดียวกัน โดยนักเรียนนั่งเรียนเป็นกลุ่ม ๆ และนั่งกับพื้นแยกขั้นเรียน ครูก็สามารถสอนได้หลายชั้น จัดหลีกเวลาสอน และปล่อยเด็ก ๆ ให้ทำแบบฝึกหัดต่าง ๆ แล้วก็ไปสอนชั้นอื่นที่นั่งเรียนไม่ห่างกัน
นักเรียนเรียนดนตรีไทยที่โรงเรียนวัดบางกรูด(เรียกตามนามโรงเรียนเดิม)
สมัยพลอยโพยมเรียนชั้นเด็กเล็กยังทันนั่งเรียนกับพื้นที่โรงเรียนวัดผาณิตารามแบบนี้ดังตัวอย่างในภาพและทันได้ใช้กระดานชนวน
โรงเรียนวัดบางกรูดในปัจจุบัน
พี่ชายคนโตของพลอยโพยมก็เรียนที่โรงเรียนวัดบางกรูดก่อนย้ายไปเรียนที่โรงเรียนในตัวเมือง เป็นเด็กรุ่นใหญ่คนสุดท้ายที่ได้เรียนโรงเรียนวัดบางกรูด เพราะต่อมาเด็ก ๆ ไปเรียนหนังสือกันที่โรงเรียนวัดผาณิตาราม โดยการเดินเท้าเปล่าไปโรงเรียน
ท่าน้ำวัดผาณิตารามในปัจจุบันยังมีคนพายเรือนำเรือมาจอดที่ท่าน้ำ
เส้นทางไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดผาณิตาราม มี 3 เส้นทางคือ ทางน้ำโดยมีเรือโดยสารชื่อเรืออำนวย ซึ่งรับผู้คนและนักเรียนมาส่งที่ท่่าน้ำซึ่งเราเรียกกันว่าโป็ะหน้าวัดผาณิตาราม บางบ้านก็พายเรือมาส่งบุตรหลานมีทั้งข่้ามฟากฝั่งแม่น้ำมาและอยู่ฝั่งเดียวกัน
ทางบกสองทาง คือ
เส้นทางที่หนึ่งเมื่อออกจากเขตสวนของบ้านเราเองแล้วก็เลือกได้ที่จะเดินผ่านสวนโดยข้ามคลองผ่านบ้านพี่อุทับวรรณ ซึงมีสะพานไม้ยกสูงมีราวเกาะข้ามคลองศาลเจ้า (มีเรือยนต์ส่วนตัวของบ้านพี่ทัย เรือพายเรือบรรทุกข้าว ต้องลอดใต้สะพานนี้ เดินสุดเขตสวนบ้านพี่ทัย บ่อเลี้ยงปลาบ้านพี่ทัย ต้องผ่านทุ่งนาช่วงหนึ่ง จึงเข้าเขตสวนที่มีหลายขนัดหลายเจ้าของ เรียงรายไปจนเข้าเขตวัดผาณิตาราม และจะผ่านสวนหนึ่งที่มีต้นฝรั่งอร่อยมาก ๆ เด็กนักเรียน (หมายถึงเด็กบ้านอื่นด้วย มักแอบไปโขมยเก็บฝรั่งสวนนี้กัน บ่อยครั้งที่น้องหมาประจำบ้านเจ้าของต้นฝรั่งออกมาเห่ากระโชก เด็ก ๆ ต้องวิ่งอ้าว กระโดดท้องร่องวิ่งหนีออกมาโดยยังไม่ทันเก็บฝรั่งก็มี
เป็นเรื่องน่าอับอายในการประพฤติตัวเป็นโจร แต่เมื่อมาย้อนนึกในวัยโต ก็ได้เหตุผลว่า เป็นเรื่องสนุกสนานของการผจญภัยในวัยเด็ก เพราะน้อยครั้งที่จะไปได้ถึงต้นฝรั่ง เจ้าของบ้านก็รู้แต่ก็ปล่อยเด็ก ๆไม่ออกมาต่อว่าต่อขาน เพราะก็ล้วนแต่เป็นลูกหลานบ้านที่รู้จักกันว้่าเป็นลูกเต้าเหล่าใคร แต่น้องหมาก็ไม่เคยได้กัดโจรเด็ก ๆ สักคนหรือสักครั้งเดียว เพราะเด็กแต่ละคนคล่องแคล่วว่องไวกระโจนโดดข้ามท้องร่องหนีรอดมาได้กันทัน หรือบางทีก็แค่ออกมาเห่าขู่ขวัญเท่านั้นไม่ให้เด็กเข้าไปใกล้ ๆ บริเวณบ้าน
เมื่อโตขึ้นเล่าสู่กันกับบ้านใกล้เรือนเคียง ก็อดขำกับชีวิตโจรวัยเด็ก เพราะบ้านของพลอยโพยมเอง ก็มีสิ่งหมายปองของเด็กอื่นเป็นบ้านญาติใกล้เคียงคือมะปรางหวานต้นสูงและลูกใหญ่ ๆ จะมีเด็กๆ แอบย่อง ๆ ย่องเงียบเข้ามาเก็บมะปรางหวานผลใหญ่บ่อย ๆ (โดยที่เราไม่รู้ มารู้ตอน ห้าสิบกว่าปีล่วงแล้วนี่เอง) เด็ก ๆ อ่านแล้วอย่าเอาเยี่ยงอย่างเช่นนี้ เพราะเป็นการประพฤติผิดศิลข้อสอง คือลักทรัพย์ เป็นบาปกรรมซึ่งจะติดตัวเราไปถึงชาติหน้าด้วย การลักทรัพย์เป็นการผิดศีลร้ายแรง ซึ่งพระพุทธองค์ทรงเรียงลำดับความร้ายแรงเป็นข้อที่สองรองจากการฆ่าสัตว์
แต่ในวัยเด็ก ๆ ทำไปโดยสนุกรู้เท่าไม่ถึงการณฺ์ ว่าบาป และน่าละอาย นั่นเอง
เรื่องนี้ถ้าผู้ใหญ่รู้เข้า ก็รับรองว่าต้องโดนไม้เรียวลงก้นเรียงแถวแบบโตเรียงเล็กแน่นอนร้อยเปอร์เซนต์
ขนาดของร่องสวนที่เด็ก ๆ กระโดดข้ามท่องร่องได้สบาย ๆ ไม่หล่นลงน้ำในท้องร่อง
แต่ก็มีบางบ้านที่สนิทสนม เช่นบ้านป้าเชื่อมซึ่งเป็นแม่ของลุงช้อยลูกนาของยายขา มีหลานชายเป็นเพื่อนรุ่นพี่ชายคนที่สอง หลายครั้งที่ป้าเชื่อมจะไปหักอ้อยขาไก่ที่ปลูกไว้เอามาแจกเด็ก ๆ ให้แบ่งกันเดินกัดแทะอ้อยขาไก่ระหว่างทางในช่วงขากลับจากโรงเรียนตอนเย็น
ส่วนบ้านพี่อุทัยวรรณก็วางขันน้ำให้เด็ก ๆ รองน้ำฝนจากถังปูนใบใหญ่ดื่มแก้กระหาย ทั้ง ๆ ที่เดินข้ามคลองศาลเจ้าที่หน้าบ้านพี่ทัยก็เป็นเขตสวนของยายขาแล้ว
ท้องทุ่งนาที่เคยเดินผ่านเมื่อวกขึ้นเส้นถนนคันดิน
ส่วนทางบกเส้นทางที่สองคือเดินผ่านบ้านน้านุ้ย ลุงช้อย เลียบฝั้งคลองศาลเจ้าสุดเขตบ้านลุงช้อย ก็เดินผ่านท้องนาหลายแปลงก่อนวกขึ้นเส้นถนนสองข้างทางเป็นป่าสะแก ก็มีเรื่องการผจญภัยไปอีกรูปแบบ
ป้ายกำกับ:
บทกวี
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น