วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
สายตระกูล แซ่อื้อ จากเมืองแต้จิ๋ว สู่สยามประเทศ 3
แซ่อื้อ รุ่นที่ 23 คือก๋งโหงว แซ่อื้อ และ ก๋งไซ แซ่อื้อ ไม่มีข้อมูล
บรรพบุรุษรุ่นที่ 24 ในความทรงจำ
ชวดอิ่ม อื้อเฮียบหมง
พอมีเรื่องราวให้พอเล่าสู่ได้จากนายแพทย์วิจิตร พัวพันธุ์ ว่า
ชวดอิ่มเป็นคนรูปร่างเล็ก ผิวขาว หน้าตาค่อนไปทางคนจีนมองปุ๊บก็รู้ว่าเป็นคนจีน แต่ชวดอิ่มพูดภาษาไทยใช้ชีวิตตามวิถีไทย ช่วยเลี้ยงหลายยายหลานย่าของชวดจู เอ็นดูดุณน้าเอนกบุตรสาวก๋งชาญ เจริญวงษ์มาก ในช่วงนั้นยังมีญาติอื่นๆ เช่น ก๋งจ้อยบิดาป้าถนอม ตรีเจริญ มีก๋งหลีอยู่ร่วมบ้านต่อมาภายหลังจึงแยกบ้านออกไปมีครอบครัวที่อื่น ชวดอิ่มสิ้นชีวิตที่บ้านอื้อเฮียบหมง ตำบลบางกรูดสมัยนายแพทย์วิจิตรยังเด็กอยู่แต่ยังพอจำความได้จนต่อมานายแพทย์วิจิตรสอบเข้าเรียนเตรียมแพทย์ได้
ขณะ้เรียนใกล้จบแพทย์ นายแพทย์วิจิตร (กางเกงสีอ่อน) กับพี่ชายพี่สาวสองคน พลอยโพยมกำลังอยู่ในท้องแม่ละม่อม
เมื่อสอบคัดเลือกผ่านแล้ว นักเรียนเตรียมแพทย์จะต้องจับสลากว่านักศึกษาคนไหนได้เรียนเป็นแพทย์จุฬา คนไหนเรียนเป็นแพทย์ศิริราช และจะเข้าเรียนวิชาเบื้องต้นที่คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ก่อนเป็นเวลา 2 ปี แต่แยกเรียนกับนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ เป็นคนละกลุ่มกัน เมื่อจบหลักสูตรเตรียมแพทย์ 2 ปี แล้ว นักเรียนเตรียมแพทย์ที่จับสลากว่าจะต้องเป็นแพทย์ศิริราชจึงจะข้ามฟากไปเรียนแพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราช (คำศัพท์ว่าข้ามฟาก อันหมายถึงข้ามฟากจากฝั่งกรุงเทพมหานคร ไปฟากฝั่งธนบุรี ) อีก 4 ปี กลุ่มนักศึกษา นิสิต วิทยาศาสตร์เตรียมแพทย์นี้ประกอบด้วย นักเรียนเตรียมแพทย์ เตรียมทันตแพทย์ เตรียมสัตว์แพทย์ เตรียมเภสัชกร
นิสิตและนักศึกษาที่เรียนไม่จบในเวลา 4 ปี ต้องเรียน summer หากเรียน summer แล้วก็สอบไม่ผ่านอีก คราวนี้ก็เป็นการเรียนซ้ำทั้งปี การเรียน summer ในสมัยก่อนสำหรับเรียนแก้ตัวให้สอบผ่านจบการศึกษา
มีบางวิชาที่นายแพทย์วิจิตร พัวพันธุ์ต้องเรียนร่วมกับนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ครั้งหนึ่งมีการแนะนำตัวกันว่านิสิตนักศึกษามาจากถิ่นฐานบ้านเกิดจังหวัดใดกัน
ครอบครัวพ่อแม่ลูกสี่คนของก๋งบุญ ยายขา พัวพันธุ์
คุณน้าแนะนำชื่อเสียงเรียงนามแล้วก็บอกว่าตนเองมาจากจังหวัดฉะเชิงเทรา เมืองแปดริ้ว หลังจากนั้นก็มี นิสิตคณะวิศวกรรมชายคนหนึ่งชื่อคุณ ชาญ มาแสดงตนกับคุณน้าว่า คุณชาญเป็นลูกศิษย์ของพระญวน ของวัดญวนที่บางโพ ( คือวัดอนัมนิกายาราม ตั้งอยู่ที่ใกล้สี่แยกบางโพ ) ในสมัยเด็ก ๆ เคยติดตามพระอาจารย์มาสวดในพิธีกงเต๊กที่เมืองแปดริ้วบ้านทรงเรือนไทยริมแม่น้ำหลังใหญ่ ทั้งพระญวนและลูกศิษย์วัดต้องมาค้างคืนที่บ้านที่จัดงานศพจนเสร็จพิธีตามกำหนดการสวดกงเต๊ก บ้านที่มาพักอยู่ริมน้ำอยู่หน้าวัดซึ่งเขาจำไม่ได้ว่าชื่อว่าวัดอะไร แต่ลักษณะการบรรยายลักษณะของบ้านเป็นลักษณะบ้านอื้อเฮียบหมง และเป็นการมาสวดกงเต๊กงานศพของชวดอิ่ม
ลักษณะบ้านเรือนไทยคือประกอบด้วยเรือนสามหลังคือ มีเรือนใหญ่เป็นเรือนกลาง มีเรือนขวางซ้ายขวา มีจั่วแหลม ในสมัยก่อนเป็นเรือนหลังคามุงจากในแถบย่านบางกรูดมีด้วยกัน 4 หลัง คือ
1. บ้านอื้อเฮียบหมง ของตระกูลอื้อ
2. บ้านนางว้วย รักษาทรัพย์ (เดิมคุณยายว้วย เป็นบุตรหญิงจากสกุลหวั่งหลี ท่านมีของใช้ประจำบ้านเช่นมีถาดทองเหลืองซึ่งประทับตราหวั่งหลี ) บ้านหลังนี้มีลักษณะเป็นจีนมากที่สุด โครงสร้างเป็นเรือนไทยแต่ส่วนประกอบเช่นลูกกรงบานประตูหน้าต่างและของใช้ในบ้านเป็นจีน บ้านหลังนี้ใหญ่ที่สุดอยู่ใกล้กับบ้านอื้อเฮียบหมงติดริมแม่น้ำบางปะกง
3. บ้านของนายโต แซ่พัว (ต่อมาเป็นขุนบำรุงจีนรักษ์) ภายหลังนายโต แซ่พัวได้ขอตั้งนามสกุล สูยะวณิช ในขณะที่นายบุญ แซ่พัว บุตรชายคนสุดท้องของนายพุก แซ่พัว (นายพุก แซ่พัวเป็นน้องชายนายโต แซ่พัว) รอนามสกุลที่ยื่นขอไม่ไหวรู้สึกว่านานเกินไป จึงไปขอตั้งนามสกุล จากแซ่พัว เป็นพัวพันธุ์ บรรดาบุตรของนายพุก แซ่พัว ซึ่งเป็นพี่นายบุญ แซ่พัวก็เลยใช้นามสกุลพัวพันธุ์ เพราะรอนามสกุลจากก๋งโตไม่ไหว
แซ่พัวที่บางกรูดจึงแยกเป็นสองนามสกุล คือ สูยะวณิช และพัวพันธุ์
หากแต่ว่าบ้านก๋งโต แซ่พัว นั้นอยู่ในคลองศาลเจ้าไม่ติดแม่น้ำบางปะกง
4. บ้านนางทองสุข แซ่พัว บุตรสาวของนายพุก แซ่พัว ซึ่งสมรสกับนายฮวด แซ่ตั้น ต่อมานายฮวด แซ่ตั้น เป็นขุนบำรุงจีนภักดี และเปลี่ยนแซ่ตั๊นเป็นนามสกุล บำรุงวงศ์ บ้านเรือนไทยหลังนี้ที่ปลูกหลังล่าสุด นางทองสุข เป็นพี่สาวคนที่สองของนายบุญ พัวพันธุ์
บ้านที่มีงานกงเต๊กในช่วงเวลาที่นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์และนักเรียนเตรียมแพทย์คุยกันนั้นเป็นบ้านอื้อเฮียบหมง ทำพิธีกงเต๊กให้ชวดอิ่่ม อื้อเฮียบหมง ภรรยา ก๋งโหงว แซ่อื้อ นั่นเอง คุณชาญเล่าว่าเป็นการติดตามพระอาจารย์มาสวดกงเต็กที่สนุกสนาน ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี
นับว่าโลกกลมจริง ๆ ที่เด็กชาย 2 คนที่ไม่เคยรู้จักกันเคยอยู่ร่วมในเคหะสถานบ้านเดียวกันในช่วงเวลาหนึ่ง แล้วจู่ ๆ เด็กชายทั้ง 2 คน ก็มาพบกันตอนโตมาเล่าเรื่องความหลังครั้งวัยเด็ก สู่กันฟัง
ชวดจู แซ่อื้อ (เจริญวงษ์ )
หลาน ๆ ของชวดจู เจริญวงษ์ ในรุ่นคุณน้า หรือแม่ละม่อมของพลอยโพยมจะพูดตรงกันว่า ชวดจูเป็นคนที่ใจดีที่สุด ชวดจูมีบุตรคนที่สามเป็นหญิง ชื่อคุณยายอุไร ได้แต่งงานกับนายร้อยทหารและมีหลานชายหญิงให้ชวดจู 10 คน หลานคนที่ 2 เป็นชายเป็นนักเรียนนายเรือหากแต่งชุดนายเรือมาเยี่ยมชวดจู ชวดจูจะรู้สึกเกรงชุดเครื่องแบบนายเรือให้ความสนิทสนมกับหลานชายคนนี้น้อยที่สุด จนคุณยายอุไร พูดกับชวดจูว่า แม่อย่าเกรงใจเขาเป็นหลานของแม่นะไม่ใช่คนอื่น
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง คุณยายอุไรพาครอบครัวหลบสงครามจากกรุงเทพมาพักที่บ้านอื้อเฮียบหมง คุณน้าไพจิตร จันทรวงศ์ (สัตยมานะ) เล่าให้ฟังว่าเป็นช่วงชีวิตที่สนุกสนานมากไม่รู้ลืม เด็ก ๆ ในบ้านมากมายทั้งหลานชวดจูจากกรุงเทพ หลานชวดจูที่บางกรูด เวลานอน จะกางมุ้งชิดติดกันเรียงเต็มตามพื้นที่ของบ้านเวลาจะเข้ามุ้งต้องจำให้ดีว่าตัวเองนอนมุ้งไหน ตอนกลางวันก็ออกไปสนุกสนานกันกับกิจกรรมในสวน หลังสวนเป็นทุ่งนา ไปไหนมาไหนก็เดินเท้าเปล่า หลาน ๆ ที่กรุงเทพ ฯ มาใช้ขีวิตที่บ้านบางกรูดถึง 2 ปี ชวดจูดูแลเลี้ยงดูลูกหลานอย่างดีไม่เคยดุใคร ใจดีเป็นที่สุด
เมื่อถึงกาลเวลาที่ชวดจูจะจากไป ชวดจูป่วยรักษาตัวที่บ้าน แม่ละม่อมเล่าว่า ได้เห็นชวดจูสิ้นลมหายใจกับตาตนเอง ชวดจูตัดผมสั้นแต่ยามหมดลมหายใจเส้นผมของชวดจูชี้ตั้งขึ้น
ก๋งบุญ พัวพันธุ์ ( นายบุญ แซ่พัว )
ก๋งบุญเป็นเขยของสกุลเจริญวงษ์ แต่งงานกับยายขา หรือคุณยายสมใจ พัวพันธุ์ (เจริญวงษฺ์) ต่อมาได้ปลูกบ้านริมแม่น้ำอยู่ชิดติดบ้านอื้อเฮียบหมง คั่นกลางบ้านอื้อเฮียบหมงและบ้านคุณยายว้วย และภายหลังบ้านก๋งบุญเป็นบ้านเลขที่ 2 หมู่ 1 ตำบลบางกรูด เป็นเรือนปั้นหยาทรงยาวชั้นเดียวมุงกระเบื้องเป็นแผ่นเล็ก ๆ สีแดง นายแพทย์วิจิตรเล่าว่า คุณยายใหญ่ แซ่พัว พี่สาวคนโตของก๋งบุญ ซึ่งแต่งงานกับก๋งเสือ วงศ์พยัคฆ์ไปอยู่บ้านก๋งเสือที่คลองสวน มาเยี่ยมน้องชายเห็นก๋งบุญปลูกเรือนปั้นหยา คุณยายใหญ่ ร้องว่า ชะ ชะ ไอ้บุญปลูกเรือนปั้นหยา แต่แล้วไม่นานคุณยายใหญ่เอง ก็ปลูกเรือนปั้นหยาหลังใหญ่แถมเป็นสองชั้นด้วยที่บ้านคลองสวน (คลองสวน ตำบลเดียวกับตลาดคลองสวน 100 ปี) คุณยายใหญ่ เป็นพี่สาวคุณยายทองสุข แซ่พัวด้วย
ก๋งบุญตำน้ำพริกมะขามอร่อยมาก ปัจจุบันนายแพทย์วิจิตร อายุ 83 ปีแล้ว ยังจำรสมือก๋งบุญได้ บอกว่าไม่มีใครตำน้ำพริกมะขามได้อร่อยเท่าก๋งบุญและก๋งบุญยังมีฝีมือในการหมักเกลือปลาที่จะตากแห้ง เมื่อคุณป้าละออ หรือแม่ละม่อมทำปลาเสร็จต้องให้ก๋งบุญเป็นคนใส่เกลือและคลุกเคล้าเกลือ เสร็จแล้วแม่ละม่อมจึงเอาไปตากแดด
ก๋งบุญเป็นคนสนใจฟังข่าวสารและเป็นคนทันสมัยจากการรับฟังข่าวสาร ขณะที่บุตรชายคนเล็กเรียนแพทย์อยู่ ก๋งบุญเคยบอกว่า อีกไม่นานเมืองไทยจะมีถนนหนทางมากมายโยงใยเป็นใยแมงมุม เส้นถนนยาวและวกวนแบบเส้นขนมจีน บุตรชายฟังแล้วก็หัวเราะเตี่ยตัวเอง
ในช่วงสงครามโลก ก๋งบุญฟังข่าวสารแล้วจะบอกเล่าคนในบ้าน เช่นอเมริกาทิ้งอาวุธลับร้ายแรงที่เมืองญี่ปุ่น แรงระเบิดปรณูไปไกลหลายไมล์ ยายขาและคนอื่นๆ ก็งง งง ว่า ไมล์หมายถึงอะไรกัน
ก๋งบุญจะข้ามฝั่งไปที่วัดบางกรูดทุกเย็นเพื่อไปฟังข่าวสารจากวิทยุที่กูฎิพระครูโสภณญาณวิจิตร (พระใบฎีกาซุ่นฮวด) เจ้าอาวาสวัด วิทยุในสมัยที่มีสงครามโลกครั้งที่สองนั้นเป็นวิทยุที่ไม่มีลำโพง คนฟังจะต้องสวมหูฟังจึงจะได้ยิน ต่อมาได้พัฒนาการมีลำโพงให้เสียงออกจากเครื่องรับวิทยุได้ ก๋งบุญซื้อมาที่บ้านเป็นวิทยุแบบหลอด ต้องมีสายอากาศรับสัญญาณ ก๋งบุญต้องใช้ไม้ไผ่ลำยาว ๆ ปักโยงสายอากาศทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านสองเสา พอเปิดวิทยุ น้า ๆ ในบ้านก็ลุ้นกันใหญ่ว่าจะมีเสียงออกมาอย่างไร ปรากฎว่าไม่มีเสียงออกจากเครื่องรับวิทยุ มะรุมมะตุ้มมุงดูวิทยุแล้วก็ร้องอ๋อ ว่า ต้องมีสายเสียบจากเครื่องรับวิทยุลงพื้นดินอีกสายหนึ่งด้วย พอมีเสียงจากวิทยุก็เฮดีใจกันใหญ่ทีเดียว
ภาพเรือสำเภาที่โลงจำลอง สื่อว่าบรรพบุรุษ แซ่อื้อ เดินทางมาจากเมืองจีนด้วยเรือสำเภา และลูกหลานขอน้อมส่งท่านบรรพบุรูษทั้งหลายลงเรือสำเภาทองล่องลอยสู่สรวงสวรรค์ชั้นวิมานเมืองแมนแดนสงบ
ก๋งบุญเป็นคนขยันมากเข้าสวนแต่เช้าตรู่ทำงานในสวนก่อนที่จะขึ้นบ้านมารับประทานอาหารเช้า
ก๋งบุญถักสวิง แห เก่งมาก ถักอย่างใจเย็นค่อย ๆ สอดเส้นด้าย ถักเสร็จ ก็จะตั้งไฟย้อมแหสวิงด้วยลูกตะโกดิบเพื่อรักษาให้เส้นด้ายมีความคงทน
อีกทั้งในช่วงที่ก๋งบุญมีชีวิตอยู่ ก๋งเป็นคนทำลูกพลับจีนแห้งชงกับน้ำตาลกรวดเอาไปรองรับน้ำค้างตอนกลางคืน ให้ลูกหลานและคนในบ้านกินน้ำค้างกลางหาว เมื่อสื้นบุญก๋งบุญแล้ว ยายขาจึงเป็นคนทำต่อ
นอกจากนี้ก๋งบุญยังมีความรู้ในด้านช่างไม้ มีหีบเก็บอุปกรณ์ช่างไม้ครบถ้วนที่ช่างไม้ต้องมี ก๋งบุญสอนวิชาคิดหน้าไม้ให้คุณน้ามิ่งขวัญ พัวพันธู์ คำนวณการปลูกบ้านว่าใช้ไม้ฝาบ้านเท่าใด พื้นบ้านใช้ไม้เท่าใด พี่อรรถโกวิทชอบไปป้วนเปี้ยนเวลาก๋งบุญใช้กบไสไม้ ใช้เลื่ิอยเลื่อยไม้ เมื่อก๋งบุญใช้เครื่องมือเสร็จ เด็กชายอรรถโกวิท สงวนสัตย์จะช่วยก๋งบุญเช็ดถูเครื่องมือช่างด้วยน้ำมันมะพร้าวแล้วลำเลียงเก็บลงในหีบเครื่องมือซึ่งเป็นหีบไม้
และในงานทำบุญลอยอัฐิบรรพบุรุษ พี่อรรถโกวิท ขอแสดงฝีมือการเป็นหลานก๋งบุญ สร้างเมรุจำลองรวมทั้งโลงใส่อัฐิในการตั้งสวดพระอภิธรรม มาติกาบังสุกุล วางดอกไม้จันทน์ และนำโลงบรรจุอัฐิไปประชุมเพลิง ทำงานไประลึกถึงก๋งบุญไปเล่าให้น้อง ๆ ที่มาช่วยประกอบฟัง ก่อนลงมือใบไผ่ลูกชายของพลอยโพยมบอกว่า ลุงเปี๊ยกครับจ้างเขาทำเถอะครับ ลุงเปี๊ยกตอบว่าลุงจะทำเอง งานนี้มีหลานชายอีกคนชื่อขนมปังหรือ นายวัชรปรัสถ์ อยู่เย็น ออกแบบให้ตามรูปแบบที่พี่อรรถโกวิทเลือกไว้
ก๋งบุญเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งต้องผ่าตัด เวลาเจ็บก๋งบุญจะบ่นว่าหมอลูกชายทั้งที่ไม่ใช่คนรักษาก๋ง แม้ว่าลูกชายเป็นศัลยแพทย์ แต่ก็ไม่ได้เป็นหมอผ่าตัดให้ก๋ง แต่เวลาเจอหมอลูกชายความเจ็บแผลทำให้ก๋งบ่นหมอลูกชายว่า เป็นหมอหรือเป็นหมอหมา ๆ กันแน่
ก๋งบุญเสียชีวิตในปี พ.ศ 2500 หลังจากบุตรชายเรียนจบแพทย์เพียง 2 ปี คูณน้า นายแพทย์วิจิตร เล่าว่า ท่านได้รับเงินเดือนหมอเดือนละ 80 บาท ทำงานทั้งปี ยังได้รับเงินเดือนไม่ถึงหนึ่งพันบาทเลย
ผลงานของหลานชายก๋งบุญ พัวพันธุ์
นอกจากนี้ก๋งบุญยังเป็นคนชอบท่องเที่ยวไปตามสถานที่จังหวัดต่าง ๆ ที่มีญาติ ๆ ไปรับราชการต่างแดน ท่านขึ้นไปเที่ยวไกลถึงเมืองเหนือโดยทางเรือ
ก๋งบุญ เป็นบุตรชายคนสุดท้อง (คนที่เก้า) ของก๋งพุก ชวดอ่วม แซ่พัว ทั้ง ๆ ที่ก๋งพุกมีบุตรชายหญิง 9 คนแล้วท่านก็ยังมีบุตรบุญธรรมเลี้ยงดูอีกคนเป็นชายเรียกกันว่า ก๋งจั๊บที่แปลว่าสิบอีก 1 คน อายุของก๋งบุญห่างกับบรรดาพี่สาวมาก เมื่อบรรดาพี่สาวแต่งงานและมีบุตร ก๋งบุญก็มีวัยไล่เลี่ยกับบุตรทั้งหลายของพี่สาว ทำให้หากเมื่อนับญาติกับหลาน ๆ สาย แซ่พัว ซึ่งต่อมาเป็นสกุล สูยะวณิช (จากก๋งโต พี่ชายก๋งพุก) และพัวพันธุ์ หลาน ๆ สายตรงก๋งบุญ จะมีลำดับศักดิ์เป็น น้า หรือเป็นอาของญาติวัยหรือรุ่นเดียวกัน
ยายขา หรือคุณยายสมใจ พัวพันธุ์ ( กุ่ยเอ็ง แซ่อื้อ - เจริญวงษ์)
พี่อรรถโกวิทยิ้มน้อยยิ้มใหญ่บอกว่านึกภาพยายขาแล้วขอตั้งยายขาให้เป็นปรมาจารย์อั้งชิดกงหญิงเมืองไทย อั้งชิดกงนั้นเป็นหัวหน้าพรรคกระยาจกอาจารย์ของก๊วยเจ๋งในอมตะนิยายจีนสนั่นโลกเรื่องมังกรหยก ทั้งนี้เพราะยายขาจะใส่เสื้อทุกตัวจนหมดอายุของเนื้อผ้า เสื้อทำงานของยายขามักเป็นเสื้อแขนยาว ปะชุนไปทั่วทั้งตัว ด้วยฝีมือแม่่ละม่อมบุตรสาวคนที่สองที่ยายขาอุตส่าห์ส่งเสียให้ไปเรียนตัดเสื้อที่ร้านวีปิง ในนครหลวง จะเห็นยายขาใส่เสื้อสวยงามเวลารับแขกลูกหลานจากกรุงเทพ ฯ ไปวัด หรือไปทำธุระที่อื่น นอกบ้าน หรือเข้ากรุงเทพ ฯ แม่ละม่อมปะชุนผ้าได้สวยงามเป็นระเบียบเวลาเย็บจักรกลับไปกลับมาบนเศษผ้าที่นำมาปะ ถี่ยิบแน่นปึ๊ก ฝีมือแม่ละม่อมนั้นตัดชุดแต่งงานให้ญาติผู้น้องหญิงหลายคนได้สวยงาม ไม่ว่าเป็นผ้าลูกไม้หรือผ้าแพร คราวงานศพก๋งบุญแม่ละม่อมตัดเย็บเสื้อผ้าให้คนในบ้านนานหลายอาทิตย์ อย่างพิถีพิถัน ของผู้หญิง เด็กหญิงแม่ละม่อมจะประดับลูกไม้ ต่าง ๆ กันกับแต่ละชุด
ส่วนกางเกงเด็กผู้ชายที่ใส่่ประจำวันหากขาดตรงก้นแม่ละม่อมนิยมปะเป็นรูปใบโพธิ์ ด้วยเศษผ้าเท่าที่มีบางครั้งก็ฉูดฉาดบาดตา เด็กผู้ชายออกจะเขิน ๆ ที่นุ่งกางเกงไม่เหมือนเด็กชายอื่นๆ ต่อมาพอวัยรุ่นสมัยใหม่นิยมนุ่งกางเกงมีรอยขาด หรือเล่นลวดลาย ทุกคนคิดถึงฝีมือแม่ละม่อมอยากให้แม่ละม่อมปะชุนกางเกงเป็นรูปแปลก ๆ อีก แต่แม่ละม่อมหมดแรงถีบจักรด้วยกำลังขาของแม่ละม่อมเสียแล้ว แม่ละม่อมได้แต่หัวเราะ หึ หึ เวลาลูกชายบอกว่าอยากใส่กางเกงก้นใบโพธิ์อีก
เวลายายขาเข้ากรุงเทพก็จะนุ่งผ้าถุงไหมสำเร็จ ใส่เสื้อคอปก สุภาพเรียบร้อยสวยงามทันสมัยในยุคนั้น
นิยายเรื่องมังกรหยกไม่ว่าเป็นภาพยนตร์หรือละครซีรี่ย์ ตัวแสดงเป็นอั้งชิดกงต้องใส่เสื้อผ้าเก่า ๆ ขาดกะรุ่งกะริ่ง เสื้อผ้ามีรอยปะชุน
ยายขาเป็นคนขยันมากไม่เคยเห็นยายขานั่งเฉย ๆ เลย มีงานทำทั้งวันภาพที่ชินตาคืองานจักสานที่ยายขานั่งเหลาไม้ไผ่เป็นเส้นบาง ๆ ด้วยมีดตอก สานขึ้นลายสองและอื่นๆ สานกระด้งตะแกรง ของใช้มากมายไม่ต้องซื้อหา ทอเสื่อ ขัดถูพื้นบ้านด้วยลูกเตยทะเล ทำกะปิ น้ำปลา กุ้งแห้ง หัวไชโป้ ฯลฯ
ยายขามีฝีมือกวนกระยาสารทน้ำตาลปี๊บและส่งไปช่วยงานทอดกฐินของวัดบางกรูดเป็นปี๊บ ๆ เวลาเปิดฝาปี๊บ กลิ่นหอมของกระยาสารทหอมยวนยั่วใจฟุ้งไปทั่วศาลาการเปรียญวัด ลูกหลานบ้านพี่ีอุทัยวรรณเจ้าของกระยาสารทน้ำอ้อยต้องใจ คอยรอกินกระยาสารทน้ำตาลปี๊บของยายขากัน
คุณน้าแดง สุภาภรณ์ สัตยมานะ เล่าว่ายายขาเป็นดอกไม้งามสะดุดตาก๋งบุญ จนก๋งบุญต้องล่มเรือที่ยายขานั่งมาแล้วอุ้มยายขาขึ้นเรือของก๋งบุญ ตำนานสาวงามบางกรูดนอกจากพี่อุทัยวรรณ คุณยายอุไรแล้วยังมียายขาอีกท่านหนึ่งด้วย
ตัวยายขานั้นว่ายน้ำไม่เป็น จึงมิรู้คิดจะทำอย่างไร และเนื่องจากก๋งบุญ แซ่พัว และ กุ่ยเอ๋ง แซ่อื้อ (ยายขา) มีสายสัมพันธ์เป็นเครือญาติกัน ก๋งบุญมีลำดับศักดิ์เป็นอาของยายขาทำให้กรณีล่มเรืออุ้มสาวไม่เป็นกรณีพิพาทของสองตระกูล กลายเป็นเรื่องเล่าขานตำนานหนึ่งของวงศ์ตระกูล
ป้ายกำกับ:
[บทความ]
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
สวัสดีครับ.คือผมอยากตามหาที่อยู่ เลขที่บ้าน, หรือเบอร์โทร,id วีแชต,ของเด็กจีนคนหนึ่ง ซึ่งผมเลี้ยงดูแลเขาขณะอยู่เมืองไทย ตั้งแต่เขาอายุ 4 ขวบกว่าๆจนอายุ 12 ขวบ(เรียนใน กทม. ตั้งแต่อนุบาล-ป.5)อยู่กับผม7ปี ผมจะเรียกชื่อเขาว่าอาตี๋ ครอบครัวผมรักเขาเหมือนลูก เมื่อวันที่ 24 ก.ย.62 นี้ เขาเดินทางกลับจีน และไม่ติดต่อกลับมาอีกเลย ผมทุกข์ใจมากอยากติดต่อเขา เพื่อได้ทราบว่าเขากินอยู่อย่างไร สบายดีไหม(เขาพูดจีนไม่ได้ด้วย)ถ้าผมติดต่ออาตี๋ได้จะได้ส่งเงินให้เขาบ้าง แม่ของอาตี๋เป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรงป่วยติดเตียง เขาอยู่ เฉาโจว(แต้จิ๋ว) เหราผิง(เหยี่ยวเพ้ง) ตามใบเกิดอาตี๋เกิดที่นี่ รพ.ประชาชน เหราผิงคันทรี่ "แซ่อื้อ" แม่อาตี๋ชื่อ YU DONGRUI อาตี๋ชื่อ YU GUIFU จึงขอความเมตตากรุณาจากท่านผู้ใจบุญ ใจดีในตระกูล"แซ่อื้อ"หรือใครก็ได้ที่พอจะมีหนทางในการสืบเสาะหา แม่-ลูกคู่นี้หรือพอหาญาติพี่น้องของเขาได้ผมขอความกรุณาครับ ผมขอกราบขอบพระคุณครับ ติดต่อผมมือถือ 085-074-6911 ครับ
ตอบลบ