วันพุธที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
สายตระกูล แซ่อื้อ จากเมืองแต้จิ๋ว สู่สยามประเทศ 2
ในปี พ.ศ. 2443 (อยู่ในสมัยรัชกาลที่ห้า) นายโหงว แซ่อื้อ ได้รับเงินรางวัลจากหวย ก.ข. เล่ากันว่าเป็นเงินถึง สี่หมื่นบาท (ที่ได้รับรางวัลมากเช่นนี้เพราะ เมื่อถูกได้เงินรางวัลในรอบแรกแล้ว ผู้ถูกรางวัลยังไม่ไปรับเงินรางวัล แต่แจ้งความประสงค์นำเงินถูกรางวัลซื้อหวย รอบสอง และเผอิญในรอบที่สองก็ถูกได้รับรางวัลอีก เงินรางวัลในรอบที่สองจะได้รับเป็นทวีคูณ-คำบอกเล่าของนายแพทย์วิจิตร พัวพันธุ์)
นายโหงว แซ่อื้อ ได้สร้างเจดีย์ฐานกลมสูง 5 วาเศษ ห่างกำแพงอุโบสถด้านหลังซึ่งหันหน้า ( ประตูด้านหลังพระอุโบสถ ) สู่แม่น้ำบางปะกงประมาณ 10 วาเศษ ถวายให้วัดบางกรูดวิสุทธาราม (วัดประศาสน์โสภณในปัจจุบัน) ในสมัยเจ้าอธิการหลำ ( เป็นคำเรียกเจ้าอาวาสโดยพระใบฏิกาซุ่นฮวดนักธรรมเอก)
ค่าก่อสร้างเป็นเงิน แปดร้อยบาท ( ในขณะ ที่คุณครูทองดี วงศ์ศิริ ครูใหญ่โรงเรียนวัดบางกรูดได้ซื้อสวนที่วนบางเสา หมู่ 1 ตำบลบางกรูด เนื้อที่ 6 ไร่เศษด้วยเงิน สามร้อยหกสิบบาท ในระหว่าปี พ.ศ. 2465 - พ.ศ. 2474 และมีผู้ซื้อที่ดินบริเวณ หมู่ที่ 4 บ้านบางเฟื้อ ตำบลบางกรูด เนื้อที่ 5 - 6 ไร่ เป็นเงิน สองร้อยสี่สิบบาท ในราวปลายปี พ.ศ. 2446 เพื่อสร้างวัดผาณิตาราม ) มูลค่าก่อสร้างเจดีย์ แปดร้อยบาทนับว่าเป็นเงินสูงมาก
นายแพทย์วิจิตร พัวพันธุ์ คุณน้าสีนวล เจริญวงษ์ เล่าว่า สมัยเด็ก ๆ เห็นเจดีย์องค์นี้เป็นทรงระฆังคว่ำเรียบ แต่เมื่อมีการซ่อมแซมเจดีย์ ในปี พ.ศ. 2527 พระครูประสาทสรคุณเจ้าอาวาสวัดบางกรูดในขณะนั้นได้เพิ่มวงรอบเจดีย์ และเสริมยอดเจดีย์ให้สูงขึ้นจนมีรูปทรงดังปัจจุบัน
ที่มาของข้อมูล
จากหนังสือประวัติวัดบางกรูดวิสุทธาราม พ.ศ. 2480
หนังสืออนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ อาจารย์ทองดี วงศ์ศิริ
หนังสือ 100 ปีวัดผาณิตาราม
ป้ายชื่อบ้าน อื้อเฮียบหมง
ต่อมาคุณยายประไพ เจริญวงษ์ บุตรนายไซ แซ่อื้อ นางจู แซ่อื้อ (ภายหลังใช้สกุลเจริญวงษ์) และเป็นหนึ่งในสองของการเป็นบุตรบุญธรรมของนายโหงว แซ่อื้อ นางอิ่ม อื้อเฮียบหมง เป็นบรรพบุรุษท่านสุดท้ายที่พำนักในบ้าน อื้อเฮียบหมง เลขที่ 1 หมู่ 1 ตำบลบางกรูด ได้รื้อบ้านถวายวัดบางกรูด ทำให้อัฐิบรรพบุรุษมากมายประมาณ 20 ท่าน ไม่มีที่ตั้งอัฐิให้ลูกหลานได้กราบไหว้ หลาน ๆ จึงขออนุญาตวัดนำอัฐิบรรพบุรุษมาขอบรรจุในเจดีย์ที่นายโหงว ฯ ได้สร้างไว้
ประตูหน้าบ้านอื้อเฮียบหมงที่ถูกรื้อ และหลานชายคนโปรดของคุณยายประไพเก็บรักษา ป้ายชื่อบ้า่นและช่องประตูหน้าบ้านไว้
ในอดีตบ้านอื้อเฮียบหมงนี้รับจ้างทำทองรูปพรรณ เมื่อมีการรื้อบ้านถวายวัด ช่างของวัด (ยุคพระครูประสาทสรคูณ) ที่มารื้อถอนบ้านพบทองรูปพรรณเป็นสายสร้อยรวมเนื้อทอง ห้าบาท บรรจุตามหัวเสาภายในบ้าน และนำไปแบ่งกัน
และภารโรงโรงเรียนวัดบางกรูด (เรียกตามนามเดิม)เล่าให้ฟังวันเชิญอัฐิบรรพบุรุษออกจากเจดีย์ว่าได้ใช้เสาและกระดานบางส่วนจากบ้านหลังนี้ไปซ่อมแซมโรงเรียน
เจดีย์องค์นี้ถูกพวกมิจฉาชีพมาขุดเจาะเพิ่อค้นหาของมีค่าในเจดีย์ 2 ครั้ง ครั้งแรก ก่อนมีการนำอัฐิบรรพบุรุษเข้ามาบรรจุ เล่ากันว่าพบไข่มุกและพระทองคำบรรจุภายในองค์เจดีย์ ครั้งที่สองพวกมิจฉาชีพเจาะเจดีย์เข้าไป รื้อค้น โกฐ(ทองเหลือง) โหลแก้วใสขาวใบใหญ่มีฝาปิด (บรรจุอัฐิรวมหลาย ๆ ท่าน) โหลสี โหลขาวใบเล็ก ชุดขามแก้วมีฝาปิด ชามกระเบื้องเคลือบมีฝาปิด โถกระเบื้องเคลือบ และในราวปี พ.ศ. 2549 ตระกูล สัตยมานะ ได้นำอัฐิ หลวงสมรรถยุทธการ (ฉัตร สัตยมานะ ) นางอุไร สัตยมานะ หลวงจรูญอักษรศักดิ์ และนางวงศ์ อุรัสยะนันท์ เข้ามาบรรจุร่วม จึงมีโถเบญจรงค์และโกฐกระเบื้องเคลือบ โกฐทองเหลืองฉลุและแกะลายสวยงาม บรรจุอยู่ สิ่งที่บรรจุอัฐิเหล่านี้ล้มระเนระนาด และอาจมีการสูญหาย ซึ่งทางวัดเป็นผู้ดำเนินการปิดรอยเจาะนี้ และได้นำพระเครื่องเข้าไปบรรจุรอบฐานตั้งอัฐิ และตามรอบวงเจดีย์ภายใน ประมาณ 200 องค์ ซึ่งลูกหลานไม่ทราบเรื่องการบรรจุพระเครื่อง
ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2555 ได้เกิดฟ้าผ่ายอดเจดีย์หักลงมา (ได้พยายามค้นหาพระทองคำหนัก 2 บาท ซึ่งบรรจุใหม่บริเวณรอยต่อยอดเจดีย์เก่าและเสริมใหม่ในปี พ.ศ. 2527 ที่มีการซ่อมเจดีย์และเสริมยอดใหม่ ไม่พบ ผู้รู้บอกว่าทองคำถ้าถูกฟ้าผ่าจะสลายตัว การบรรจุพระทองคำหนัก 2 บาทนี้ พระครูประสาทสรคุณ เจ้าอาวาสวัดได้เชิญ นางทวี วิไลพันธุ์ บุตรสาวนายมานิตย์ เจริญวงษ์ และนางทรงลักษณ์ อยู่เย็น หลานสาว นางสมใจ พัวพันธุ์ มาเป็นพยาน ) ฟ้าผ่าทำให้มีเศษอิฐ ปูน ร่วงลงสู่ภายในใจกลางเจดีย์ส่งผลให้สิ่งที่ใช้บรรจุอัฐิตามที่เจาะเจดีย์เข้าไปภายหลังพบว่าแตกหักเป็นส่วนใหญ่
ลูกหลานสกุลเจริญวงษ์ พัวพันธุ์ สัตยมานะ และที่แตกสกุลเป็นอุดมพงษ์ สงวนสัตย์และเครือรัตน์ ได้ร่วมกันบูรณะจนแล้วเสร็จดังภาพที่เห็นเป็นปัจจุบัน ช่างที่รับเหมาซ่อมแซมแจ้งว่าเจดีย์นี้ก่อสร้างมาร้อยกว่าปีแล้ว พบภาวะน้ำท่วมใหญ (2 ครั้ง) อาจมีการพังทรุดลงมาในวันข้างหน้าซึ่งประมาณไม่ได้ว่าจะเป็นช่วงเวลาใด ได้มีการปรึกษาหารือกันว่า หากเกิดเหตุเจดีย์พังทรุดในรุ่นลูกหลานถัดไปอีกหลายรุ่น จะมีการจัดการอย่างไรกับอัฐิบรรพบุรุษที่บรรจุอยู่ภายในเจดีย์ ดังนั้นทายาทในรุ่นปัจจุบันควรดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนมีปัญหา จึงตกลงให้มีการทำบุญและประชุมเพลิงอัฐิใหม่อย่างถูกต้องตามขนบประเพณี แล้วเชิญอัฐิบรรพบุรุษทั้งหมดลอยลงสู่แม่น้ำบางปะกง
และเมื่อปลายปี พ.ศ. 2555 ทางวัดมีการซ่อมแซมปิดทองพระพุทธรูปในพระอุโบสถทั้งหมด เป็นพระประธาน 1 องค์ พระพุทธรูปบนแท่นชุกชี 6 องค์ นายอรรถโกวิท สงวนสัตย์และนายอภินันท์ พัวพันธุ์ได้ไปขอเป็นเจ้าภาพร่วมกับบุตร ธิดาของนายสนั่น ใจเอื้อ โดยเป็นขอเจ้าภาพครึ่งหนึ่งในส่วนของการการปิดทองพระ ทั้งนี้เนื่องจาก
คุณยายสมใจ พัวพันธุ์ เป็น หนึ่งในสามของผู้บูรณะซ่อมแซมหุ้มปูนองค์พระประธานองค์เดิมจากปางสมาธิเป็นปางมารวิชัย ใน ปี พ.ศ. 2500
นายมังกร นางละม่อม สงวนสัตย์สร้างพระปางมารวิชัยหน้าตัก 28 นิ้วเศษ 1 องค์
นายเกษม นางอุระมิลา สัตยมานะ สร้างพระพุทธรูป 1 องค์ พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร รวม 3 องค์ถวาย บนแท่นชุกชี
นายอรรถโกวิท สงวนสัตย์ ซ่อมแซมบานประตูพระอุโบสถด้านหลัง 2 ช่องประตู รวม 4 บานประตู
และลูกหลานแซ่อื้อร่วมกันบูรณะเจดีย์
จึงได้มีการทำบุญกันเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 เป็นการชุมนุมสายตระกูลแซ่อื้อ เพื่อ
ทำบุญฉลองเจดีย์ , การปิดทองพระในพระอุโบสถและลอยอัฐิบรรพบุรุษตระกูล แซ่อื้อ
ณ วัดประศาสน์โสภณ (บางกรูด)
หมายเหตุเมื่อซ่อมและเรียกคืนข้อมูลใน Hard DisK ได้ จะแทรกภาพประกอบตามที่นำเสนอใน power point ภายหลัง
ป้ายกำกับ:
[บทความ]
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น