วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สายตระกูล แซ่อื้อ จากเมืองแต้จิ๋ว สู่สยามประเทศ 4

คุณตาชาญ เจริญวงษ์ (กุ่ยชุน แซ่อื้อ)




หลาน ๆ เรียกท่านว่าก๋งหนวด ก๋งหนวดเรียนหนังสือเป็นภาษาจีนทั้งการบวกลบเลข เรียนวิชาภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ของเมืองจีน ก๋งหนวดเป็นคนพูดน้อยหากไม่ถามก๋งก็จะไม่พูดเล่าอะไรให้ฟัง แต่ถ้าซักถาม ก๋งก็จะบอกเล่าคลายข้อสงสัยได้ ถ้าถามเรื่องเมืองจีนก๋งก็จะอธิบายให้ฟัง โดยก๋งไม่เคยไปเมืองจีนเลย ก็เล่าตามที่อ่านและเรียนมานั่นเอง ถามเรื่องสามก๊กก๋งก็จะเล่าให้ฟังยืดยาว ก๋งบอกกับน้าสีนวล บุตรสาวของก๋งว่าก๋งเป็นคนขี้หนาวเพราะสืบทอดสายเลือดมาจากการที่มีบรรพบุรูษ เป็นคนภูเขา

ก๋งเป็นคนทำอะไรช้า ๆ พูดช้า ๆ เนิบ ๆ เวลาทำเสียงดุก็ดุเนิบ ๆ ว่า ทำไมต้องวิ่งเดินก็ได้นี่นา หยิบค่อย ๆ เดี๋ยวของแตก ก๋งมีภรรยา 2 คน คนแรกชื่อคุณยายลั้งเป็นบุตรสาวคุณยายปริก คุณยายปริกเป็นพี่สาวอีกคนของก๋งบุญ พัวพันธุ์ ภรรยาคนที่สองชื่อคุณยายเกลี้ยง มาลาทอง เป็นญาติกับยายขา วนไปวนมาในวงญาติกันตรงนี้เอง พอก๋งอยู่กับคุณยายเกลี้ยงจึงย้ายออกจากบ้านอื้อเฮียบหมง ไปอยู่บ้านล่างใกล้วัดเกาะชันกลายเป็นคนตำบลท่าพลับ แต่ก๋ง ก็จะพายเรือขึ้นมาที่บ้านอื้อเฮียบหมงบ่อย ๆ มาทีละหลาย ๆ วัน เป็นคนทำการเซ่นไหว้บรรพบุรุษแซ่อื้อทั้งตรุษจีน สารทจีน ไหว้พระจันทร์ สารทขนมอี๋ ขนมจ้าง และอื่น ๆ

พอก๋งขี้นมาบ้านบนนี้ใครอยากกินน้ำชาก็ไปหาก๋ง เพราะก๋งต้องดื่มน้ำชา(ก๋งไม่ดื่มน้ำเปล่า) จึงมีปั้นชาที่มีน้ำชาอยู่ในปั้นชาตลอดทั้งกลางวันกลางคืน ปั้นชาสมัยคุณน้าวิจิตรเป็นเด็ก เป็นปั้นชาคล้ายเครื่องปั้นดินเผาไทยแต่ไม่ใช่ ปั้นเล็กๆ สีแดงคล้ำออกสีเลืดหมูจาง ๆ หูปั้นชาเป็นทองเหลือง ปั้นชาใบนี้มีความพิเศษที่มีคราบใบชาจับรวมตัวเป็นก้อนอยู่ในปั้นชา ที่ก๋งปล่อยทิ้งไว้ เวลาชงชาคราบชาที่จับตัวเป็นก้อนนี้จะเสริมรสชาติน้ำชา ใคร ๆ มากินน้ำชาปั้นนี้ (เรียกปั้นชา หรือป้านชา ก็ได้) ก็จะบอกว่าน้ำชาอร่อยกว่ากินจากปั้นชาใบอื่น ๆ ปั้นชาใบนี้ทิ้งให้แห้งหลายวันไม่ได้ต้องมีน้ำอยู่เกือบตลอดเวลา เว้นระยะไม่มีน้ำใส่ในปั้นชาได้แค่วันสองวัน

แต่พอมารุ่นพลอยโพยม ไม่เคยเห็นปั้นชาใบนั้ เห็นแต่ก๋งดื่มน้ำชาจากกาน้ำชาเป็นรูปตัวเป็ดที่มีปีกเป็ดนูนออกมาจากลำตัว เวลารินน้ำชา น้ำชาจะออกมาจากปากเป็ด แม้ก๋งจะเป็นคนที่ดื่มน้ำชาประจำเพียงคนเดียว แต่ในถาดกาจะมีถ้วยดื่มชาหลายใบไว้คอยรับแขกที่มาหาก๋ง รวมทั้งเด็ก ๆ ที่เห็นก๋งดื่มชา แล้วอยากดื่มบ้าง พอเอื้อมมือหยิบถ้วยชาปั๊บก๋งก็จะบอกค่อย ๆ เนิบ ๆ ว่า หยิบดี ๆ หยิบค่อย ๆ เดี๋ยวตกแตก เวลาดื่มชาก๋งจะกรีดนิ้ว จับถ้วยชาแค่ 2 นิ้ว ค่อย ๆ ยกถ้วยชาขึ้นมาดื่มช้าๆ แบบสำราญอารมณ์ประมาณนั้นเลยทีเดียว ท่าทางก๋งสวยงามติดตาพลอยโพยมมาจนทุกวันนี้ สงสัยในใจว่าตอนก๋งหนุ่ม ๆ ก๋งคงมีอิริยาบทต่างๆ แบบคุณชายเมืองจีนแน่เลยทีเดียว
ก๋งจะเล่าเรื่องถ้วยชามกังไส ว่าเนื้อบางเฉียบ เนื้อละเอียดมากเป็นของราคาแพง
ถ้าก๋งไม่ลงมือทำอาหาร (สำหรับไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุุรุษ) ก็จะเห็นก๋งเอาแต่อ่านหนังสือจีน ขยันอ่านจริง ๆ อ่านทุกวันทุกครั้งที่พลอยโพยมไปบ้านอื้อเฮียบหมง ช่วงเวลาที่ก๋งขึ้นมาที่บ้านนี้

ก๋งมีฝีมือทำกับข้าวหลายอย่างโดยเฉพาะเผือกผัดน้ำตาลทราย ก๋งจะหั่นเผือกเป็นชิ้นเหลี่ยมลูกเต๋าก้อนค่อนข้างโต จำไม่ได้ว่าต้องต้มก่อนหรือไม่ จำแต่ว่าต้องทอดในน้ำมันก่อน แล้วจึงเคี่ยวน้ำตาลทรายจนเข้มข้นแล้วเอาเผือกที่ทอดทิ้งให้สเด็ดน้ำมันเอาลงไปผัด เกร็ดน้ำตาลเกาะรอบผิวของก้อนเผือก ปัจจุบันเป็นที่เรียกหาเผือกผัดนี้ว่าเผือกหิมะกันก็มี ก๋งทำได้อร่อยมากถึงมากที่สุด พลอยโพยมไปชะเง้อคอยแล้วคอยอีก ก็ทำไม่เสร็จสักทีเพราะใช้เวลามาก เสร็จแล้วก็ต้องรอให้ก๋งใส่จานเอาไปไหว้ก่อนจึงจะได้กิน

ในสมัยที่พลอยโพยมเป็นผู้จัดการสาขาธนาคาร เจ้านายมักพาผู้จัดการสาขาไปกินอาหารจีนบ่อย ๆ โดยเฉพาะมีเจ้านายระดับรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ (คุณจิตราพร แตงสุวรรณ ที่คุณติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดี เข้ามาเป็นเขย ) เมื่อยามที่ท่านเกษียณงานไปแล้ว พวกผู้จัดการสาขาและผู้บริหารอีกสองสามท่านกลุ่มของพลอยโพยมยังไปกราบอวยพรปีใหม่ท่านทุกปี ท่านจะพาไปกินอาหารหลากหลายประเภท แพง ๆ ดี ๆ ทั้งนั้น มีทั้งอาหาร จีน ฝรั่ง อิตาเลียน มีปีหนึ่งท่านเลี้ยงโต๊ะจีนมูลค่าตัวละสี่หมื่นบาทแพงจนพวกลูกน้องตกใจ เพราะของที่นำมาปรุงอาหารทั้งกุ้งหอย ปู ปลา ล้วนเป็นของสั่งมาจากนอก ไกลแสนไกลจากเกาะต่าง ๆ รวมทั้งมีเจ้านายระดับผ.อ. อีกท่านก็ชอบพาไปทานอาหารจีน
มีคราวหนึ่งเคยมีรายการเผือกทอด พลอยโพยมดีใจมาก แต่พอกินแล้วอยากบอกก๋งเหลือเกินว่า ฝีมือก๋งยอดเยี่ยมไร้เทียมทานจริง ๆ

คุณยายลั้ง เจริญวงษ์


พลอยโพยมจำเรื่องราวของท่านไม่ได้เลย

คุณยายเกลี้ยง เจริญวงษ์ (มาลาทอง)




ภรรยาคนที่สองของก๋งชาญ เจริญวงษ์ท่านเป็นญาติกับยายขา ท่านเป็นคนอารมณ์ดีมองโลกในแง่ดีตลอดเวลา ท่านมียิ้มสยามประดับบนใบหน้า แต่ว่ายิ้มนี้จะเห็นน้ำหมากในปากท่านด้วยท่านจะเรียกลูกหลานว่า หนูมาตลอด ท่านเรียกแม่ละม่อมว่าหนูม่อมมาตั้งแต่หนูม่อมเป็นเด็กจนหนูม่อมอายุ แปดสิบกว่าแล้ว ท่านก็ยังเรียกหนูม่อมอยู่นั่นเอง คุณยายเกลี้ยงตำน้ำพริกมะขามและปูเค็มคลุกมะขามอ่อน (ปูแสม ) ได้อร่อยมาก ท่านทำโดยไม่มีการชิมรสชาติเวลาปรุง ส่วนประกอบนั้นท่านจะหยิบด้วยลักษณะชินมือ หยิบเครื่องปรุงทุกอย่างแบบใส่ผลั็วะ ใส่ผลั็วะ ๆ ลงในครกเลย ท่านไม่ต้องเอาเครื่องปรุงมากองให้กะคะเนด้วยสายตาแบบแม่ละม่อมด้วย ท่านหยิบแบบขยุ้ม ๆ ส่วนประกอบทุกอย่างของเครื่องปรุง แปลกมากที่เมื่อตำน้ำพริกเสร็จก็ได้รสชาติที่คล้ายคลึงกันเทุกครั้ง แต่สูตรเฉพาะตัวท่านคือท่านจะเหยาะน้ำปลาลงข้างถ้วยน้ำพริกมะขาม ด้วยการเทกระฉอก ๆ น้ำปลาจากขวดอีกเหมือนกันแล้วแต่คนกินว่าจะเอาน้ำปลาคลุกน้ำพริกทั้งถ้วย หรือตักแบบทีละช้อน ๆโดยตักแบบติดน้ำปลามานิด ๆ หรือไม่ สุดแต่ใจใครจะชอบนั่นเอง เด็กรุ่นหลัง ๆ อย่างพลอยโพยมไม่ทันได้กินน้ำพริกมะขามฝีมือก๋งบุญที่นายแพทย์วิจิตรบอกว่าอร่อยที่สุด แต่พวกเรารุ่นหลังก็รู้สึกว่าน้ำพริกมะขามของคุณยายเกลี้ยงอร่อยที่สุดเหมือนกันสำหรับรุ่นเรา ๆ

มีตำพูดที่ติดปากคุณยายเกลี้ยงคือคำว่าสงกรานต์ เวลาพูดถึงช่วงเวลาจะทำอะไร ๆ คุณยายจะใช้เกณฑ์ว่า ก่อนสงกรานต์หรือหลังสงกรานต์เป็นตัวกำกับต่อท้ายช่วงเวลานั้น ๆ มิหนำซ้ำคุณยายเกลี้ยงออกเสียงสงกรานต์เป็นสังกรานต์ด้วยอีกต่างหากเป็นเอกลักษณ์ที่คุณยายจะเรียกแบบนี้ใครจะทำไมไม่ใช่ว่าออกเสียงไม่ถูก น้ำเสียงของคุณยายก็เป็นเอกลักษณ์คือลากเสียงคำสุดท้ายยาว ๆ

คุณยายเกลี้ยงมีกิจกรรมนอกบ้านที่ไม่มีใครทราบเหตุผลคือคุณยายชอบไปดูการเกณฑ์ทหาร ซึ่งมักเรียกกันว่า ไล่ทหาร คุณยายจะชวนน้องสาวคือคุณยายก้าน เจริญวงษ์ ( มาลาทอง )ไปเป็นเพื่อนไปดูเขาไล่ทหารกันที่อำเภอ เป็นประจำ คุณยายรู้สึกสนุกสนานมาก ทั้งที่คุณยายก็มีบุตรชายเพียงคนเดียว แถมไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหารเพราะเรียนหนังสือจบแล้วก็รับราชการเป็นคุณครู

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น