วันอังคารที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สู่แดนพระพุทธองค์ เพื่อ นมัสการพุทธสังเวชนียสถาน ๖



พุทธคยา ๖




สิ่งสำคัญในบริเวณใกล้เคียงสถานที่ตรัสรู้

๑. แม่น้ำเนรัญชรา ...
สถานที่ลอยถาดทองคำอธิษฐาน

แม่น้ำเนรัญชรา ปัจจุบันเรียกกันว่า "นีลาชนา" หรือ "ลีลาชนา"
มีผู้ให้ความเห็นเป็นสองนัยจากคำศัพท์ที่ว่า เนลํ ชลํ อสฺสา แปลว่า น้ำเป็นที่ชื่นใจ
กับ
นีลชลายาติ วคฺตพฺเพ เนรญฺชรายาติ วตฺตํ แปลว่าน้ำซึ่งมีสีเขียว




ต้นน้ำแห่งนี้มาจากอาซารีบัฆ อยู่ทางใต้ของเมืองคยา ห่างจากเมืองนี้ประมาณ ๑๔๐ กิโลเมตร แม่น้ำที่ไหลจาก อาซารีบัฆ มี ๒ สาย อีกสายหหนึ่งคือแม่น้ำโมหะนี มาบรรจบกันใกล้กับพุทธคยา เมื่อบรรจบกันแล้วเรียกชื่อใหม่ว่าแม่น้ำ ผัลคุ



แม่น้ำเนรัญชราจะเห็นน้ำใสไหลสะอาดก็เฉพาะแต่ฤดูฝน คือระหว่างพรรษากาลจนถึงประมาณทอดกฐินเสร็จ นอกนั้นน้ำจะแห้งขอด มีแต่ทราย ในอดีตนักแสวงบุญต้องเดินลุยทรายกันเป็นกิโลเมตร จึงข้ามฟากไปที่อธิษฐานลอยถาดได้ แต่ปัจจุบันนี้มีสะพาน รถบัสสามารถข้ามไปได้ ไม่ต้องเดินลุยแม่น้ำเนรัญชรา



แม่น้ำเนรัญชรา อยู่ในแคว้นมคธมีตำบลใหญ่ที่ตั้งอยู่ ณ ลุ่มน้ำสายนี้ มีชื่อว่า ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เป็นภูมิสถานที่น่ารื่นรมย์ ปัจจุบันเรียกอุรุเวล
อุรุเวลา แปลว่า กองทราย
เสนานิคม แปลว่า ตำบล หมู่บ้าน




คัมภีร์อรรถกถาชื่อ 'สมันตปสาทิกา' เล่ม ๓ ซึ่งพระพุทธโฆษาจารย์ชาวอินเดีย สมัยหลังพระพุทธเจ้านิพพานแล้วเป็นผู้แต่ง






ได้เล่าประวัติของกองทรายที่ตำบลนี้ไว้ว่า
ในอดีตสมัย ที่นี่เคยเป็นที่บำเพ็ญเพียรของพวกนักพรตจำนวนมาก นักพรตที่มาตั้งอยู่ที่นี่ตั้งระเบียบข้อบังคับปกครองกันเองไว้ว่า ความผิดของคนที่แสดงออกทางกายและวาจานั้นพอมองเห็นได้ ส่วนทางใจไม่มีใครมองเห็นเลย ใครจะ คิดผิดคิดชั่วอย่างไรก็มองไม่เห็น ลงโทษว่ากล่าวกันก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าใครเกิดคิดชั่ว เช่น เกิดอารมณ์ความใคร่ขึ้นมาเมื่อใดละก็ ขอให้ผู้นั้นลงโทษตัวเอง โดยวิธีนำบาตรไปตักเอาทรายมาเทกองไว้ หนึ่งคนหนึ่งครั้ง ครั้งละหนึ่งบาตร เป็นการประจานตัวเองให้คนอื่นรู้
ด้วยเหตุนี้ ภูเขากองทราย หรืออุรุเวลา ซึ่งเสมือนหนึ่งอนุสรณ์แห่งกองกิเลสของพระฤาษีเก่าก่อนจึงเกิดขึ้น


 ผืนทรายกว้างใหญ่ของแม่น้ำเนรัญชรา



ขุดทรายที่มองดูว่าแห้งไม่ต้องลึกนักก็จะพบน้ำใต้ผืนทราย



พระมหาบุรุษเมื่อทรงอำลาท่านคณาจารย์ทั้งสองแล้วออกจากที่นั่น แล้วเสด็จจาริกแสวงหาที่สำหรับทรงบำเพ็ญเพียร เพื่อทดลองทุกกรกิริยาที่คนสมัยนั้นนิยมทำกันดังกล่าว



ราชกุมาร ! เรานั้นเมื่อหลีกไปจากสำนักอุทกผู้รามบุตรแล้ว แสวงหาอยู่ว่าอะไรเป็นกุศล ค้นหาแต่สิ่งที่ประเสริฐฝ่านสันติอันไม่มีอื่นยิ่งกว่า, เที่ยวจาริกไปตามลำดับหลายตำบลในมคธรัฐ จนบรรลุ ถึงตำบล อุรุเวลาเสนานิคม พักแรมอยู่ ณ ตำบลนั้น.

 ณ ที่นั้น เราได้พบภาคพื้นรมณียสถาน มีชัฎป่าเยือกเย็นแม่น้ำไหลใสเย็นจืดสนิท มีท่าน้ำราบเรียบเป็นอันดีน่าเพลินใจ มีบ้านสำหรับโคจรตั้งอยู่โดยรอบ.

 ราชกุมาร ! เราได้เห็นแล้ว เกิดความรู้สึกว่าภูมิภาคนี้น่ารื่นรมย์จริง ชัฏป่าเย็นเยือก แม่น้ำไหลใสเย็นจืดสนิท มีท่าน้ำราบเรียบเป็นอันดีน่าเพลินใจ ทั้งที่โคจรก็ตั้งอยู่โดยรอบ, ที่นี้สมควรเพื่อจะตั้งความเพียรของกุลบุตรผู้ต้องการด้วยความเพียร” ดังนี้.

ราชกุมาร ! เรานั่งพักอยู่ ณ ตำบลนั้นเองด้วยคิดว่าที่นี้สมควรแล้วเพื่อการตั้งความเพียร ดังนี้.






พระมหาบุรุษทรงเลือกเป็นที่บำเพ็ญเพียร ได้ประทับอยู่ ณ ที่นี้นานถึง ๖ ปี ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา และเปลี่ยนมาทรงดำเนินในมัชฌิมาปทา จนได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ภายใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราในตำบลนี้ และก่อนหน้านั้นในวันตรัสรู้เมื่อเสวยข้าวมธุปายาสในนถาดทองคำของนางสุชาดาแล้วทรงอธิษฐานลอยถาดทองคำนั้นในแม่น้ำสายนี้






ในพระพุืทธประวัติกล่าวว่า
มีนักบวชชฎิลสามพี่น้อง บำเพ็ญพรตบูชาไฟตั้งอาศรมอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำ เนรัญชรา
พี่ชายคนโตเพราะเหตุที่เป็นชาวกัสสปโคตร และอยู่ ณ ตำบลอุรุเวลา จึงได้ชิ่อว่า อุรุเวลกัสสปะ ท่านผู้นี้เป็นคณาจารย์ใหญ่ที่ชาวราชคฤห์นับถือมาก มีบริวาร ๕๐๐ คน ถือตัวว่าเป็นอรหันต์ สร้างอาศรมสั่งสอนลัทธิของตนอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา 

น้องชายคนกลาง ตั้งอาศรมอยู่ที่คุ้งน้ำถัดไป ณ ตำบลนที จึงได้ชื่อว่า “นทีกัสสปะ มีบริวาร ๓๐๐ คน
ส่วนน้องชายคนเล็ก ตั้งอาศรมอยู่ที่คุ้งน้ำ ณ ตำบลคยา จึงได้ชื่อว่า “คยากัสสปะ” มีบริวาร ๒๐๐ คน




ต่อมาพระพุทธองค์ได้เสด็จมาหลังประกาศศาสนาแล้ว
ทรงแสดงอิทธิปาฏิหารย์ต่าง ๆ กับอุรุเวลกัสสปะ จนชฎิลคนโตคลายพยศ ยอมมอบตัวเป็นสาวกขอบรรพชา ทำให้ชฏิลผู้น้องทั้งสองพร้อมด้วยบริวารออกบวชตามด้วยทั้งหมด ครั้นบวชแล้วได้ฟังพระธรรมเทศนา อาทิตตปริยายสูตร จากพระพุทธองค์ ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งสามพี่น้องพร้อมด้วยบริวารอีก ๑,๐๐๐ คน พระอุรุเวลกัสสปะได้รับยกย่องเป็นเอตทัตคะในทางบริษัทใหญ่ คือมีบริวารมาก

มีเรื่องราวพอเป็นสังเขปดังนี้

เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงส่งพระอรหันต์ ๖๐ รูป ไปประกาศพระศาสนายังแคว้นต่าง ๆ แล้ว พระองค์ได้เสด็จดำเนินไปลำพังพระองค์เดียวมุ่งสู่แคว้นมคธ ทรงทราบดีว่า อุรุเวลกัสสปะ เป็นผู้มีอายุมาก เป็นที่เคารพนับถือของชาวมคธ จึงทรงมุ่งหมายไปที่อุรุเวลกัสสปะ เพราะถ้าสามารถโปรดอุรุเวลกัสสปะได้แล้ว จะได้ชาวมคธอีกเป็นจำนวนมาก ในระหว่างทางได้ทรงเทศนาโปรดภัททวัคคีย์กุมาร ๓๐ คน ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้แล้ว ส่งไปประกาศพระศาสนา แล้วจึงเสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ตรัสขอที่พักกับอุรุเวลกัสสปะ



อุรุเวลกัสสปะไม่เต็มใจต้อนรับ จึงบอกให้ไปพักในโรงไฟ ชึ่งมีนาคราชดุร้าย มีฤทธิ์มีพิษร้ายแรง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จเข้าไปยังโรงไฟ ทรงปูลาดสันถัดหญ้า ประทับนั่งคู้บัลลังก์ตั้งพระกายตรงดำรงพระสติไว้เฉพาะหน้าอย่างมั่นคง พญานาคเห็นพระผู้มีพระภาคผู้แสวงคุณความดี เสด็จเข้าไปแล้ว ไม่พอใจ จึงบังหวนควันขึ้น. ส่วนพระพุทธเจ้าผู้เป็นมนุษย์ประเสริฐ มีพระทัยดี มีพระทัยไม่ขัดเคือง ทรงบังหวนควันขึ้นในที่นั้น.พญานาค จึงพ่นไฟสู้. ส่วนพระพุทธเจ้าผู้เป็นมนุษย์ประเสริฐ ทรงฉลาดในกสิณสมาบัติมีเตโชธาตุเป็นอารมณ์ ได้ทรงบันดาลไฟต้านทานไว้ในที่นั้น. เมื่อทั้งสองฝ่ายโพลงไฟขึ้นแล้ว โรงบูชาเพลิงรุ่งโรจน์เป็นเปลวเพลิง.

พวกชฎิลกล่าวกันว่า ชาวเรา พระสมณะรูปงามคงถูกพญานาคเบียดเบียนแน่. ครั้นราตรีผ่านไป เปลวไฟของพญานาคไม่ปรากฏ. แต่เปลวไฟสีต่าง ๆ ของพระผู้มีพระภาคผู้ทรงฤทธิ์ยังสถิตอยู่. พระรัศมีสีต่างๆ คือสีเขียว สีแดง สีหงสบาท สีเหลือง สีแก้วผลึก ปรากฏที่พระกายพระอังคีรส. พระพุทธองค์ทรงขดพญานาคไว้ในบาตรแล้ว ทรงแสดงชฎิลว่า

ดูกรกัสสปะนี่พญานาคของท่าน เราครอบงำเดชของมันด้วยเดชของเราแล้ว.

ครั้งนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะ เลื่อมใสยิ่งนัก เพราะอิทธิปาฏิหารย์นี้ของพระผู้มีพระภาค ดำริว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ จึงครอบงำเดชของพญานาคที่ดุร้าย มีฤทธิ์ เป็นอสรพิษ มีพิษร้ายแรง ด้วยเดชของตนได้ แต่ถึงอย่างไรพระมหาสมณะนี้ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่.

ได้ทูลคำนี้ต่อพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่มหาสมณะ นิมนต์อยู่ในที่นี้แหละ ข้าพเจ้าจักบำรุงท่าน ด้วยภัตตาหารประจำ”




พระบรมศาสดา ทรงพักอยู่ในสำนักของอุรุเวลกัสสปะ เป็นเวลา ๒ เดือน ทรงแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ อีกหลายครั้ง แต่อุรุเวลกัสสปะ ผู้มีทิฏฐิแรงกล้าแม้จะเลื่อมใสในอานุภาพของพระพุทธองค์ แต่ยังถือตนเองว่าเป็นพระอรหันต์อยู่เช่นเดิม พระพุทธองค์ทรงดำริว่า “ตถาคต จะยังโมฆบุรุษชฏิลนี้ ให้เกิดความสลดสังเวช” ดังนี้แล้วจึงตรัสว่า

“ดูก่อนกัสสปะ ตัวท่านมิได้เป็นพระอรหันต์ ทางปฏิบัติของท่านยังห่างไกลต่อการสำเร็จเป็นพระอรหันต์ มิใช่ทางมรรคผลอันใดเลย ไฉนท่านจึงถือตนว่าเป็นพระอรหันต์ ท่านลวงตนเองแล้วยังลวงคนอื่น ถ้าท่านรู้สึกสำนึกตัว และปฏิบัติตามคำสอนของเรา ท่านจะได้เป็นพระอรหันต์ที่แท้จริงในไม่ช้า”

อุรุเวลกัสสปะ ได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้วก็รู้สึกสลดใจ ก้มศีรษะลงแทบพระบาทกราบทูลขออุปสมบท พระบรมศาสดา จึงตรัสแก่เธอว่า “กัสสปะ ท่านเป็นอาจารย์เจ้าสำนักที่ยิ่งใหญ่ มีบริวารมากกว่า ๕๐๐ คน ท่านจงบอกให้บริวารของท่านทราบทั่วกันก่อน ตถาคตจึงจะอุปสมบท ให้ท่าน”
อุรุเวลกัสสปะ จึงประกาศชักชวนชฎิลบริวารของตนทั้งหมด พากันลอยบริขารดาบส มีเครื่องแต่งผมเป็นชฎา และเครื่องบูชาเพลิง เป็นต้น ลงในแม่น้ำแล้วทูลขออุปสมบท พระบรมศาสดา ประทานการอุปสมบทด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทาพร้อมกันทั้งหมด






ฝ่าย นทีกัสสปะ และ คยากัสสปะ น้องชายทั้งสองคน ซึ่งตั้งอาศรมอยู่ที่คุ้งน้ำตอนใต้ลงไปตามลำดับ เห็นบริขารของพี่ชายลอยมาตามน้ำ ทำให้คิดว่า “อันตรายคงจะเกิดมีแก่พี่ชายของตน” จึงพร้อมด้วยบริวารรีบมาที่สำนักของพี่ชาย เห็นพี่ชายอยู่ในเพศพระภิกษุ จึงสอบถามได้ความว่า “พรหมจรรย์นี้ประเสริฐยิ่งนัก” จึงพากันลอยบริขารลงในแม่น้ำแล้วขออุปสมบทด้วยกันทั้งหมด ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้

พระพุทธองค์ ประทับอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม พอสมควรแก่พระอัธยาศัยแล้ว จึงเสด็จพร้อมด้วยหมู่ภิกษุชฎิลเหล่านั้น จำนวน ๑,๐๐๓ รูป ไปยัง ตำบลคยาสีสะ และประทับอยู่ ณ ที่นั้น ทรงพิจารณาเห็นอินทรีย์ของภิกษุใหม่แก่กล้าแล้ว จึงตรัสเรียกท่านเหล่านั้นมาประชุมพร้อมกันแล้วตรัสพระธรรมเทศนา “อาทิตตปริยายสูตร”


คยาสีสะ (หรือเขาพรหมโยนีตามตำนานของฮินดู) สถานที่พระพุทธองค์ทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตรแก่หมู่ภิกษุชฏิล ๑,๐๐๓ รูปจนสำเร็จพระอรหันต์ทั้งหมด

ทรงเปรียบเทียบสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อนดุจเดียวกับไฟ เพื่อให้เหมาะสมกับอัธยาศัยของพวกเธอ ที่เคยบูชาไฟมาก่อน
ทรงแสดงถึงอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เป็นของร้อน และความรู้สึกว่าเป็นสุขเป็นทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ เพราะตาเห็นรูป หรือหูได้ยิน เป็นต้น ก็เป็นของร้อนใจความโดยสรุปก็คือ เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายได้สัมผัส และใจกระทบอารมณ์ แล้วทำให้เกิดความเร่าร้อน ร้อนเพราะราคะ โทสะ และโมหะ เป็นต้น ผู้ได้สดับและรู้เท่าทันกิเลสเหล่านี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งทั้งปวง เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดแล้ว จิตก็ไม่ยึดมั่นไม่ถือมั่นสิ่งเหล่านั้น

ขณะที่พระบรมศาสดา ทรงแสดงพระธรรมเทศนาอยู่นั้น ภิกษุชฎิล ทั้ง ๑,๐๐๓ รูป ส่งกระแสจิตไปตามวาระแห่งพระธรรมเทศนา จิตของพวกเธอ ก็หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวง สำเร็จป็นพระอรหันต์ขีณาสพด้วยกันทั้งหมด



พระอุรุเวลกัสสปะ ได้รับยกย่องจากพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้มีบริวารมาก เพราะท่านสามารถอบรมสั่งสอนเขาด้วยคุณต่าง ๆ ได้ และเพราะท่านได้ทำบุญเอาไว้ใน พระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อน

พระอุรุเวลกัสสปะ ได้เป็นกำลังสำคัญช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนาในแคว้นมคธ สุดท้ายได้ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ดุจดวงประทีปที่โชติช่วงชัชวาลแล้วมอดดับไป





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
วิกิพีเดีย
http://www.dhammajak.net
http://dhammaweekly.wordpress.com
http://pobbuddha.com
http://www.84000.org/tipitaka/picture/f20.html
ภาพของพระมหานรินทร์
สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุททฺโธ)
ภาพเก่าเล่าเรื่องพระพุทธองค์ โดยพระมหาสุวิทย์ ธัมมสิริ (นาลาด)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น