วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

[บทความ] ศรีสุนทราณุประวัติ (พระยาศรีสุนทรโวหาร น้อย อาจารยางกูร )





ประวัติพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
ศรีสุนทราณุประวัติ เรียบเรียงโดย หลวงมหาสิทธิโวหาร ในการศพพระยาศรีสุนทรโวหาร ฯลฯ ผู้เป็นบิดา


พลอยโพยมขออนุญาตพิมพ์ ย่อความตามต้นฉบับเดิมโดยไม่แก้ไขตัวสะกดการันต์
พระยาศรีสุนทรโวหาร ญาณปรีชามาตย์ บรมนาถนิตยภักดี พิริพาหะ ท จ ,น .,ภ., ม., ร.,ด.,ม., เจ้่ากรมพระอาลักษณ์ แลองคมนตรี ในรัชกาลปัตยุบันนี้ เดิมท่านชื่อน้อย, อุปบัติเกิดที่บ้านในคลองโสธร แขวงเมืองฉเชิงเทรา เมื่อ ณ วัน ๖ เดือน ๘ แรม ๒ ค่ำ ปีมะเมีย จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๘๔ ตรงกับวันที่ ๕ กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๔๑ (พ.ศ. ๒๓๖๕) บิดาท่าชื่อ (ทองดี) มารดาท่านชื่อ (บัว) ท่านเป็นบุตรคนที่ ๖ ของบรรพบุรุศ

เมื่อท่านมีอายุได้ ๖ ปี ๗ ปีนั้น ท่านได้เล่าเรียนหนังสือไทยกับหลวงบันเทาทุกขราษฎร์ (ไทย) กรมการเมืองฉเชิงเทรา ซึ่งเป็นพี่ชายใหญ่ของท่าน แต่เมื่อหลวงบันเทาทุกขราฏร์ยังบวชเปนภิกษุอยู่ที่วัดโสธรนั้น
เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี พี่ชายใหญ่ของท่านจึงได้พากันเข้ามาพักอยู่กับท่านสามเณร (ทัด) ซึ่งเป็นน้าชายของท่านที่ได้เข้ามาบวชอยู่วัดสเกษ นั้น ท่านสามเณรทัดได้ชักนำท่านเล่าเรียนวิชาหนังสือไทยกับท่านกรรมวาจาจัน เรียนหนังสือขอมกับท่านพระครูวิหารกิจานุการ (กรรมวาจาจีน) แล้วได้เรียนสารสงเคราะ ในสำนักนิ์สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) เรียนมงคลทิปนีในสำนักนิ์พระอุปทยาจาริยศุข เรียนมูลกัจจายน ในสำนักนิ์สมเด็จพระพุทธาจาริย (สน) เรียนกังขาวิตะระณี ในสำนักนิ์พระอาจาริย (เกิด วัดแหลม) เรียนมหาวงศ์ในสำนักนิ์พระครูด้วง แลได้เล่าเรียนพระคำภีร์อื่น ๆ ในสำนักนิ์พระครูปาน พระใบฏิกาแก้ว พระอาจาริยคง พระอาจาริยด้วง

ฝ่ายอาจาริยคฤหัสนั้นท่านได้ร่ำเรียน วิภัตติกะถาคัณฐาภรณ์สัตถสาร วะชิระสาร ในสำนักนิ์ท่านอาจาริยแสง เรียนวุตโตไทย ในสำนักนิ์หม่อมเจ้าอ้น บ้านถนนโรงครก เสาะหาอาจาริยศึกษาวิชาหนังสือขอมหนังสือไทย ในสำนักนิ์พระอาจาริยต่าง ๆ ดังนี้มา ตั้งแต่อายุศม์ท่าน ๑๔ ปี แล้วท่านจึงได้เข้าบวชเปนสามเณรอีก ๘ ปี รวมเวลาที่ท่านได้เล่าเรียนอยู่ถึง ๑๑ ปี

ครั้นเมื่อปีขาลจัตวาศก จุลศักราช ๑๒๐๔ อายุศม์ท่านได้ ๒๑ ปี ครบอุปสมบทแล้ว ได้อุปสมบทเปนภิกษุอยู่ในวัดสเกษ ได้ศึกษาปริญัติธรรมเรียนคำภีร์วิสุทธิมัค กับพระวิเชียรปรีชา (กลิ่น) เจ้ากรมราชบัณฑิตย์ ที่พระที่นั่งดุสิทธิมหาปราสาทต่อมาได้ ๓ พรรษา จึงได้เข้าแปลปริญัติธรรมในที่ประชุมพระราชาคณะ ที่วัดราชบูรณ ได้ เปรียญเอก ๕ ประโยค มีนิตยภัตรเดือนละ ๘ บาท


ในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเปนที่ทรงโสมนัศยินดีเปนที่ยิ่งด้วยวัดสเกษขาดเปรียญมาหลายสิบปีแล้ว ท่านมาเป็นเปรียญขึ้นในวัดสเกษ แลมีอาจารยะมารยาตรอันสุภาพเรียบร้อย เปนที่เฉลิมพระราชศรัทธาทรงให้ถาปนาวัดสเกษรื้อกุฏีเก่าอันรุงรังด้วยฝาจากฝาไม้ไผ่นั้นเสีย แล้วก่อสร้างกุฎีตึกใหม่ให้เปนที่เสนาศนอันงดงามและก่อภูเขาทองในปีนั้นด้วย

ท่านได้ถวายพระพรขอโยมผู้ชายของท่านซึ่งยังรับราชการอยู่ที่เมืองฉเชิงเทรา ให้พ้นจากราชการหัวเมืองโดยความกระตัญญูกัตะเวที ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตถวายตามประสงค์ ต่อมาท่านได้มีความอุสาหไปเที่ยวเล่าเรียนปริญัติธรรม ในสำนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงผนวชอยู่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ รับไว้เปนสานุศิศย ฝ่าย อันเตวาสิก แล้วจึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระธรรมการบดี ( ศุก) เมื่อยังบวชเรียน เป็นธุระสั่งสอน.

ท่านยังได้เล่าเรียนในสำนักนิ์พระอาจาริย อื่น ๆ อีก ๓ พรรษา รวมเป็น ๖ พรรษา ได้เข้าแปลพระปริญัติธรรมในที่ประชุมพระราชาคณะ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงผนวชได้ทรงกำกับแปล ร่วมกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโณรส ศรีสุคตขัติยวงษ์ ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคละราม อีกครั้ง ได้ขึ้นอีก ๒ ประโยค รวมเปน ๗ ประโยค ท่านดำรงสมณะเพศอยู่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ๙ พรรษา

พอสิ้นรัชกาล ท่านได้รับราชการในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในสะมะณะศักดิ์ มีอาจาระสุภาพเรียบร้อยถวายพระธรรมเทศนาเปนที่ถูกพระอัทยาไศรยโดยมาก ได้ทรงถาปนาท่านขึ้นเปนพระประสิทธิสุตคุณ ที่ราชาคณะอยู่ในวัดสเกษ พระราชทานตาลิปัตร์แฉกหักทองขวางเป็นเครื่องยศ มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๔ ตำลึง มีถานา ๓ องค์ คือ พระปลัด ๑ สมุหะ ๑ ใบฏีกา ๑ เปนเกียรติยศ

ท่านได้เทศนาวาการมีโวหารอันไพเราะ กิริยาอัชฌาไศรยอันสุภาพเรียบร้อย เป็นที่ปิติยิ่งแก่ผู้สดับตรับฟังรศพระธรรมเทศนา กิติสัปท์กิติคุณของท่าน เฟื่องฟุ้งไปในหมู่เสรฐีคฤหบดี ลูกค้าวานิชที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งหลาย พากันนำบุตรหลานมาฝากให้เปนสานุศิศยเปนอันมาก

ท่านดำรงค์สะมะณะเพศ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒ พรรษา รวมเป็น ๑๑ พรรษา
ท่านได้ถวายพระพรลาสิกขาบท หลายครั้ง ทรงทัดทานห้ามปรามไว้ จนได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ลาสิกขาบทได้

ต่อมาได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ต่อมาได้เปน ขุนประสิทธิอักษรสาตร ผูู้ช่วยกรมอาลักษณ์ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เข้าไปรักษาอุโบสถ เมื่อเวลาทรงศีลที่หอพระสิหิงค์ เปนที่ทรงไว้วางพระราชหฤไทย ได้ตามเสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หว้ากอ รับราชการต่าง ๆ จนสิ้นรัชกาล

ได้เลื่อนเป็นขุนสารประเสริฐปลัดทูลฉลองกรมพระอาลักษณ์ ถือศักดิดา ๑๖๐๐ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับราชการกำกับพนักงานกองตรวจคัดสอบทานหนังสือข้างที่เปนเรื่องต่าง ๆ อยู่ในพระเจ้าวรวงษ์เธอ กรมขุนบดินทรไพศาลโสภณ ที่พระที่นั่งราชฤดี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเงินเดือน ๆ ละ ๑๐ บาท

ต่อมาพระเจ้านครเชียงใหม่ได้นำช้างเผือกผู้ผ่านสำคัญมาถวายในคราวแรก เปนช้างสำคัญที่ ๑ ในแผ่นดินประจุบันนี้ ให้ขนานนามว่า พระเสวตรวรวรรณ แลให้แต่งฉันท์สำหรับพราหมณ์กล่อมเมื่อเวลาสมโภช ท่านได้รีบเร่งแต่งขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายได้ทันพระราชประสงค์โดยสำเร็จบริบูรณ์ เปนความชอบในครั้งนั้น พระราชทานรางวัลเป็นเงินตราชั่ง ๕ ตำลึง แล้วภายหลังมีช้างสำคัญเข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภารอีกหลายช้าง คือพระมหาระพีพรรณคชพงษ์ พระเสวตรสุวภาพรรณ แลช้างเผือกสำคัญอื่น ๆ อีกหลายช้าง ท่านก็ได้รับการฉลองพระเดชพระคุณ ในการขนานนามช้างแลแต่งฉันท์กล่อมช้างเสมอทุกครั้ง แลทุก ๆ ช้างมา




ในปีมะแม ตรีศกจุลศักราช ๑๒๓๓ ท่านได้คิดแบบสอนหนังสือ คือ มูลบทบรรพกิจ เล่ม ๑ วาหะนิติ์นิกร เล่ม ๑ อักษรประโยค เล่ม ๑ สังโยคพิธาน เล่ม ๑ พิศาลการันต์ เล่ม ๑ ขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย ให้เอาต้นแบบหนังสือไทยทั้ง ๕ ลงพิมพ์ที่โรงพิมพ์หลวง สำหรับจะได้จำหน่ายพระราชทานให้แก่ผู้เล่าเรียนต่อไป ความชอบที่เปนผู้คิดต้นแบบเรียนแบบสอนนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนตำแหน่งยศ เป็นหลวงสารประเสริฐ ปลัดทูลฉลองกรมพระอาลักษณ์

ในปีวอก จัตวาศก ๑๒๓๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มาเปนครูสอนหนังสือไทยในกรมทหารมหาดเล็ก คือสอนพวกนายทหารและมหาดเล็กชั้นเล็ก ๆ ซึ่งพระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง) เปนต้นคิดจัดการตั้งโรงเรียนขึ้นในออฟฟิศทหารมหาดเล็ก ในพระบรมมหาราชวังเปนครั้งแรก


เมื่อปีระกาเบญจศก จุลศักราช ๑๒๓๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเปนโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง โปรดเกล้า ฯ ให้ท่าน เป็นอาจาริยใหญ่ สั่งสอนพระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าน้องนางเธอ ที่ยังทรงพระเยาว์ แล หม่อมเจ้า หม่อมราชวงษ์ แลบุตรหลานข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงทั่วไป โดยแบบหนังสือไทย ๕ ฉบับ พระราชทานเงินเดือน ๆ ละ ๖๐ บาท ท่านได้คิดแบบหนังสือ อีกหลายฉบับคือ ไวพจน์พิจารณ์ เล่ม ๑ อนันตะวิภาคย เล่ม ๑ เขมรากษรมาลา เปนแบบหนังสือขอมเล่ม ๑ นิติสารสาธก เล่ม ๑ ปกิระณำพจนาตถ์ เล่ม ๑ แลแบบโคลงฉันท์อีกหลายเรื่อง ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขั้นที่ ๔ ชื่อ ภัทราภรณ์ เปนเกียรติยศ

ครั้นภายหลัง พระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก) เจ้ากรมอาลักษณ์ถึงแก่กรรมลง จึงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ จะทรงตั้งเปนที่พระศรีภูริปรีชาเสนาบดีศรีสารลักษณ์ เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ถือศักดินา ๕๐๐๐ ท่านกราบบังคมทูลขอรับพระราชทานถือศักดินา ๓๐๐๐ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้เปนที่พระศรีสุนทรโวหาร เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ถือศักดินาแค่ ๓๐๐๐ ตามที่กราบบังคมทูลนั้น พระราชทานโต๊ะถมกาถมเปนเครื่องยศแลเบี้ยหวัด ปีละ ๓ ชั่ง


ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ท่านเปน องคมนตรีที่ปฤกษาราชการ และต่อมา ได้รับราชการตำแหน่งเลขานุการในที่ประชุมที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน

ต่อมามีการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ท่านเปนแม่กองตรวจโคลงรามเกียรติ์ที่ข้าราชการ แต่งมาทูลเกล้า ฯ ถวายโดยรอบพระอาราม และท่านก็รับแต่งทูลเกล้า ฯ ถวายในส่วนหลายห้อง

เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าตั้งโรงเรียนขึ้นที่พระราชวังเดิมสวนนันทอุทยานนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ท่านเปนกรรมสัมปาทิกช่วยจัดการโรงเรียน ท่านได้แต่งหนังสือคำกลอน ปกิรณำพจนาตถ์ ทูลเกล้า ฯ ถวายเปนที่ถูกพระราชอัทยาไศรย พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ช้างเผือกขั้นที่ ๓ ชื่อ นภาภรณ์ อีก ๑ ดวง เปนเกียรติในความชอบ




เมื่อการปฎิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สำเร็จบริบูรณ์ เสร็จการสมโภชวัดแล้ว จึงโปรดเกล้า ฯ พระราชทานบำเหน็จรางวัลความชอบต่างๆ แก่พระบรมวงษานุวงษ์ และข้าราชการ ท่านได้เลื่อนตำแหน่งยศขึ้นเปน พระยาศรีสุนทรโวหาร ญาณปรีชามาตย์ บรมนารถนิตยภักดี พิริพาหะ คงถือศักดินา ๓๐๐๐ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานโต๊ะทองกาทองเปนเครื่องยศ รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ ๕ ชั่ง
ท่านได้แต่งแบบเรียนหนังสือไทยเป็นคำโคลง ฉันท์ต่าง ๆ เปนการอธิบายชี้แจงถ้อยคำแลตัวสะกดในแบบไวพจนพิจารณเล่ม ๑ ให้ชื่อว่า ไวพจนประพันธ์ ขึ้นทูลเกล้าถวาย และได้รับพระราชทานเหรียญดุษดีมาลา เขมศิลปวิทยา ว่าเปนผู้มีความรู้พิเศษในหนังสือไทยเปนเกียรติยศ


ต่อมาทรงโปรดเกล้า ฯ ให้เลิกจากการสอนหนังสือไทยที่โรงเรียนหลวง แล้วให้มาเปน อาจาริยถวายพระอักษร สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ แลสมเด็จบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า แลพระเจ้าลูกเธอเปนอันมาก และโปรดเกล้า ฯ ให้เปนกรรมสัมปาทิกสำหรับสอบไล่วิชาหนังสือไทยชั้นสูงในที่ประชุมเสมอทุก ๆ ปี ไป พระราชทานเงินเดือน ๆละ ๑๒๐ บาท

โปรดเกล้าฯ ให้เปนกรรมสัมปาทิก ในหอพระสมุดวิชรญาณ เปนกรรมสัมปาทิกการตีพิมพ์พระไตรปิฏก แลรับราชการจรต่าง ๆ เปนอันมาก

ต่อมาทรงพระราชดำริห์เห็นว่า มีความชอบในราชการและมีอายุศม์สูงแล้ว แลเปนพระอาจาริยในสมเด็จพระบรมโอริสาธิราชสยามมกุฏราชกุมาร แลพระบรมวงษานุวงศ์ และข้าราชการเปนอันมาก สมควรรับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ สำหรับสืบตะกูล ชื่อ ทุติยะจุลจอมเกล้า ฯ แลพานหมาก คนโททอง กระโถนทอง เปนเครื่องยศ ให้สมกับความชอบในราชการ

การกุศลที่ท่านบำเพ็ญเปนถาวรทานคือท่านได้แต่งหนังสือว่าด้วยคะติโลกย์คะติธรรม ชื่อ มหาสุปัสสีชาฎก เรื่อง ๑ ธรรมุเทศเรื่อง ๑ บริจาคทรัพย์สร้างตะพาน แลสร้วมที่วัดชุมพลนิกายาราม ที่เกาะบางปอินแห่ง๑ สร้างถนนแลตะพานตั้ังแต่ประตูพฤฒิบาศ ตลอดไปถึงวัดโสมนัสวิหารแห่ง ๑

ต่อมาท่านป่วยเปนไข้เส้นให้สะบัดร้อนสะบัดหนาว ทรงพระราชทานหมอหลวงมารักษา แลให้หาหมอชเลยศักดิ์มารักษาด้วย แต่อาการของท่านหาคลายไม่ จึงโปรดเกล้าให้พระยาอมรสาสตรประสิทธิศิลปมารักษา มีอาการเหนื่อยหอบเปนกำลัง รับประทานอาหารไม่ใคร่ได้

ในวันที่ ๑๖ เดือนตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔) ท่านได้สั่งให้ข้าพเจ้า นำดอกไม้ธูปเทียนมาทูลเกล้า ฯ ถวายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กราบถวายบังคมลาเวลาบ่าย ๕ โมงเศษก็ถึงแก่ อนิตยกรรม์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปนที่ทรงเมตตาอาไลย ในท่านว่า เปนผู้ทรงคุณวุฒิในวิชาหนังสือไทยหนังสือขอม แลเป็นผู้นิพนธ์คิดพระนามแลชื่อต่างๆ โดยพิศดาร แลรอบรู้วิชาการอื่น ๆ อีกเปนอันมาก แลเปนผู้มีสัตย์ธรรม์ มั่นคงจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท มีความอุสาหตั้งใจทำราชการฉลองพระเดชพระคุณโดยความกระตัญญูกะตะเวทีโดยแท้ มิได้มีความผิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้เปนที่ขุ่นเคืองใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทเลย แลได้รับราชการในตำแหน่งพระอาจาริย แห่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารด้วย จึงทรงโปรดเกล้า ฯ พระราชทานโกฐโถมีเครื่องพร้อมให้เปนเกียรติยศ

อนึ่ง เมื่อเวลาที่ท่านป่วยอยู่นั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงผนวชเปนสามเณรอยู่ ณ วัดบวรนิเวศน์วิหาร ได้มาทรงรับบิณฑบาต ถึงบ้านท่าน ๒ ครั้ง และโปรดเกล้า ฯ รับสั่งว่าจะทรงเปนธุระเปนเจ้าภาพจัดการปลงศพเอง
หลังทรงลาผนวชแล้ว ต่อมาเผอิญเสด็จสวรรคตล่วงลับไปเสีย การศพท่านจึงค้างมาหลายปี

ครั้งนี้มารดาของข้าพเจ้ามีความวิตกเกรงจะค้างเข้าต่อไปอีก จึงนำเงิน ๒๐ ชั่ง ในส่วนจะทำการปลงศพท่านไปถวาย พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธ์ เพื่อจะได้ทรงเปนธุระจัดการปลงศพต่อไป เพราะเหตุว่าเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านได้รับความนับถือจากพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นี้เปนอันมาก เมื่อท่านป่วยหนัก ได้เรียกข้าพเจ้าผู้เปนบุตรใหญ่เข้าไปสั่งว่า ให้มีความเคารพนับถือฝากตัวในพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์์นี้ให้มาก ๆ สั่งให้ข้าพเจ้าร่างหนังสือถวาย มีใจความว่า " ในเวลานี้เกล้า มีอาการป่วยได้รับทุกขเวทนาเปนอันมาก เห็นว่าสังขารจะทนทานไปไม่ตลอดถึงไหน จะต้องถึงความดับแตกเสียเปนแน่แล้ว เกล้า ฯ ขอฝากบุตรภรรยาไว้ในใต้ฝ่าพระบาทด้วย ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ (เซ็น) ศรีสุนทรโวหาร " แล้วจึงให้ข้าพเจ้านำไปทูลเกล้า ฯ ถวาย พอถวายหนังสือนี้ได้วันหนึ่ง รุ่งขึ้นท่านก็ถึง อนิตยกรรม

เพราะฉนั้น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธ์ ได้ทรงออกประกาศให้ตามบันดาสานุศิสยฤาท่านผู้มีความนับถือในท่านทราบทั่วกัน ในหนังสือพิมพ์สยามออบเซอเวอร์ แล้วภายหลังมีผู้ช่วยเปนเงินแลสิ่งของเปนอันมาก และได้ทรงแจ้งต่อเจ้าพนักงานกระทรวงวัง ให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณากำหนดการปลงศพ คือชักศพไปเข้าเมรุในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ เวลาค่ำวันที่ ๑๖ เปนวันทำบุญ วันที่ ๑๗ เปนวันพระราชทานเพลิง วันที่ ๑๘ เก็บอัฐิ เปนเสร็จการใน ๓ วัน

ผลของการที่ท่านทั้งปวง ได้จัดการบำเพ็ญกุศลในการปลงศพพระยาศรีสุนทร (น้อย) ครั้งนี้จงเปนเหตุให้สำเร็จศุภประโยชน์แก่ท่านผู้ไปประโลกยแล้วนั้น ตามควรแก่คติของท่าน อนึ่ง ขอให้กิติคุณของท่านปรากฏสืบไปสิ้นกาลนานเทอญ.

น.ห.หลวงมหาสิทธิโวหาร
ปลัดนั่งศาลกรมพระอาลักษณ์
แลผู้ช่วยราชการในกรมไปรสนีย์เปนผู้แต่ง
หนังสือนี้จัดพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๔๓๘ น.ห.หลวงมหามิทธิโวหาร ได้เขียนคำนำไว้ว่า
ข้าพเจ้าผู้เรียบเรียงเปนผู้เกิดมาทีหลัง ไม่อาจสามารถทราบการก่อนเกิดได้ การเรียบเรียงนี้อาไศรยการที่ หลาย ๆ ท่าน เล่าให้ฟังบ้าง ไต่ถามผู้ใหญ่ที่ควรเชื่อฟังได้บ้าง คือมีสมเด็จพระวันรัตน์วัดสุทัศนเทพวราราม แลท่านปลัดโพซึ่งเปนที่คุ้นเคยของท่าน( พระยาศรีสุนทรโวหาร)มาแต่เดิม
เนื้อความในเรื่องประวัติของท่าน แลถ้อยคำที่ได้นำมาใช้ในหนังสือนี้ แม้จะวิปลาศคลาดเคลื่อนเหลือเกินไปประการใด ข้าพเจ้าขออภัยแลขอให้ท่านผู้ได้ทราบการตลอดโดยละเอียดชัดเจนช่วยดัดแปลงแก้ไขด้วย




หมายเหตุนอกจากหนังสือข้างต้นแล้ว ต่อมาภายหลัง ได้ มีการค้นพบหนังสือ " สยามสาธก วรรณสาทิศ " ซึ่งสำนักราชเลขาธิการได้เขียนคำนำไว้ว่า

หนังสือ "สยามสาธก วรรณสาทิศ" เป็นตำรารวมศัพท์ภาษามคธบรรดาที่ใช้อยู่ในภาษาไทย ทั้งภาษาง่ายและภาษายาก มีบานแพนกบอกว่า พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) แต่งสำหรับทูลเกล้า ฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่มิได้บอกวันเดือนปีที่แต่งไว้ สันนิษฐานว่าแต่งเมื่อปลายอายุขัยของท่านแล้ว


ต้นฉบับหนังสือนี้เป็นสมุดฝรั่งเขียนด้วยตัวหมึก เก็บอยู่ที่สำนักราชเลขาธิการช้านานหลายรัชกาล ไม่มีใครสังเกตเห็นและทราบว่าเป็นผลงานของพระยาศรีสุนทรที่หลงเหลือซ่อนเร้นอยู่อีกชิ้นหนึ่ง เมื่อค้นพบต้นฉบับได้ใน ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เจ้าหน้าที่สำนักราชเลขาธิการจึงนำมาคัดสำเนาขึ้นใหม่ พร้อมทั้งได้แปลงอักษรขอมที่ใช้เขียนคำศัพท์ ออกเป็นอักษรไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าหนังสือ " สยามสาธก วรรณสาทิศ" เป็นหนังสือเก่าที่มีค่าควรแก่การศึกษาและรักษาไว้ให้ถาวรสืบไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พิมพ์ขึ้นพระราชทานในงานเฉลิมพระชนมพรรษา พุทธศักราช ๒๕๑๔ นี้.

พลอยโพยมช่างโชคดี ที่พบหนังสือนี้ในร้านขายหนังสือเก่า งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เมื่อหลายปีมาแล้ว ได้ซื้อเก็บไว้ ซึ่งในเล่มมีทั้งภาพถ่ายขาวดำของพระยาศรีสุนทรโวหาร รูปถ่ายต้นฉบับหนังสือฉบับนี้ มีภาพถ่ายลายมือภาษาไทย เป็นตัวเอนหลังเล่นหางยาวและภาษามคธ ของท่าน

ส่วนคำนำที่ได้แปลงมาแล้ว สรุปความว่า ภาษามคธที่ใช้ในภาษาไทย จัดเป็น ๓ สถานะคือ

๑.เป็นคำใช้มาแต่โบราณนานมาแล้ว ใช้พูดจากันจนสนิทเป็นภาษาของตัว รู้กันทั่วทั้งหญิง ชาย ตลอดจนเด็ก ๆ ก็รู้ได้ ดุจคำว่า บาป บุญ เคราะห์ กรรรม เป็นต้น เรียกว่า มคธแปลง
๒. คำมคธ ที่จำเพาะรู้แต่ท่านผู้มีบรรดาศักดิ์ และผู้ที่ขวนขวายศึกษาในคำสูงคำต่ำ คือราชภาษาราชาศัพท์
๓. คำมคธที่จำเพาะรู้แต่จำพวกจินตกวี ที่รู้คิดชื่อเสียงและกาพย์กลอนพากย์ฉันท์ต่าง ๆ ถึงไม่เรียนพระคัมภีร์ไตรปิฏกแต่ก็มักศึกษาเล่าเรียนศัพท์มคธ ต่าง ๆ ไว้สำหรับใช้ในคำกลอนไม่ให้ขัดขวางนั้น
ตัวอย่างอกาเร ปวตฺตา วาจา

อกฺขร พูดกันว่าเขียนอักษร
อลํกร พูดกันว่าอลงกร
อมจฺจ พูดกันว่าอำมาตย์
อาวุธ พูดกันว่าสาตราอาวุธ
อุตุตร พูดกันว่าทิศอุดร เป็นต้น

และ ขออธิบาย คำว่า พระยาโต๊ะทอง และพระยาพานทอง
พระยาโต๊ะทอง น. ข้าราชการที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยา และได้รับพระราชทานโต๊ะทอง (พานก้นตื้น) เป็นเครื่องยศ , ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้าขั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษมีบรรดาศักดิ์เสมอตำแหน่งที่ได้รับโต๊ะทอง

พระยาพานทอง น. ข้าราชการที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยา และได้รับพระราชทานพานทอง เป็นเครื่่องยศ , ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้าขั้นทุติยะจุลจอมเกล้าขึ้นไป มีบรรดาศักดิ์เสมอตำแหน่งที่ได้รับพานทอง

พานทองคำหมายถึงพานหมากทองคำเป็นเครื่องยศได้รับการเรียกขานว่า พระยาพานทอง มีเกียรติยศสูง แต่ถ้าได้รับแต่โต๊ะทองคำ กาน้ำทองคำ ได้รับการเรียกขานว่า พระยาโต๊ะทอง มีเกียรติยศน้อยกว่า

เช่น พระยาอนิรุทเทวาซึ่งเป็นพระยาที่ได้รับการเรียกขานว่า พระยาโต๊ะทอง
ระบบบรรดาศักดิ์ของไทย รวมทั้งราชทินนาม ได้มีการยกเลิกไปใน พ.ศ. ๒๔๘๕ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น