วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

[บทความ] ตำนานพระพุทธรูปสามพี่น้อง




ตำนานหลวงพ่อวัดบ้านแหลม หลวงพ่อโสธร หลวงพ่อโตวัดบางพลีในพระพุทธโสธร หรือหลวงพ่อโสธร มีประวัติความเป็นมาที่เล่าขานเป็นตำนานเฉกเช่นเดียวกับพระพุทธปฎิมาศักดิ์สิทธิ์อีกหลายองค์ ตำนานได้เก็บรวบรวมเรื่องราวในความทรงจำของผู้คน เหตุการณ์ประวัติศาสตร์จริง ความศักดิ์สิทธิ์ อภินิหารต่างๆ แสดงให้เห็นถึงความศรัทธาที่มีต่อพระพุทธโสธร
ตำนานที่เล่าขานกันสืบมาของหลวงพ่อโสธร มีความว่า ในสมัยล้านช้าง-ล้านนา มีเศรษฐีพี่น้อง สามคน ซึ่งอาศัยอยู่ทางเหนือ มีจิตเลื่อมใสศรัทธาสร้างพระพุทธรูปเพื่อเสริมสร้างบารมีและเพิ่มพูนผลานิสงส์แห่งตน ได้เชิญพราหมณ์มาทำพิธีหล่อพระพุทธรูปปางต่าง ๆตามวันเกิดของแต่ละคน อันมีปางสมาธิ ปางมารวิชัย และปางอุ้มบาตร มีการทำพิธีบวงสรวงชุมนุมเทวดาตามพิธีกรรมทางโหราศาสตร์เพื่อปลุกเสกแล้วอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัด

กาลต่อมาเกิดยุคเข็ญ โดยพม่ายกทัพมาตีไทยหลายครั้งหลายหน จนครั้งสุดท้ายเป็นครั้งที่ เจ็ด ก็ตีเมืองแตก และได้เผาบ้านเผาเมืองตลอดจนวัดวาอารามต่าง ๆ หลวงพ่อหรือพระพุทธรูปทั้งสามองค์ ได้แสดงอภินิหารเคลื่อนย้ายองค์สู่แม่น้ำปิงและล่องมาทางใต้ตลอด เจ็ดวัน จนกระทั่งมาถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แสดงอภินิหารลอยขึ้นให้ชาวบ้านได้พบเห็น ชาวบ้านนับแสน ๆ คนได้ทำการฉุดหลวงพ่อทั้ง สามองค์ถึงสามวันสามคืนก็ฉุดไม่ขึ้น ตำบลตรงบริเวณนั้นจึงได้ชื่อว่า "สามแสน " ต่อมาเพี้ยนเป็น "สามเสน"หลวงพ่อทั้งสามองค์ลอยเข้าสู่คลองพระโขนงลัดเลาะจนถึงแม่น้ำบางปะกง ได้แสดงอภินิหารลอยขึ้นให้ชาวบ้านเห็นอีกครั้ง ชาวบ้าน ประมาณสามพันคน พยายามชักพระขึ้นจากน้ำแต่ไม่สำเร็จ คลองนี้จึงได้ชื่อว่า "คลองชักพระ "


ต่อมาพระพุทธรูปทั้งสามองค์ได้ลอยทวนน้ำขึ้นไปทางหัววัด สถานที่นั้นจึงเรียกว่า "สามพระทวน" ซึ่งต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น "สัมปทวน"

หลวงพ่อทั้งสามองค์ ได้ลอยต่อไปตามลำน้ำบางปะกง เลยผ่านหน้าวัดโสธร (ชื่อปัจจุบัน)ไปจนคุ้งน้ำใต้วัดแล้วแสดงอภิหารให้ชาวบ้านเห็นอีก ชาวบ้านช่วยกันฉุดแต่ไม่สำเร็จ จึงเรียกหมู่บ้านและคลองนั้น ว่า"บางพระ" แล้วก็ลอยทวนน้ำวนอยู่หัวเลี้ยวตรงกองพันทหารช่างที่ 2 สถานที่ที่หลวงพ่อทั้งสามองค์ลอยวนอยู่ จึงเรียกว่า " แหลมหัววน" และคลองได้ชื่อว่า "คลองสองพี่น้อง" มาจนทุกวันนี้






ต่อมาพระพุทธรูปองค์ใหญ่ได้แสดงอภินิหารลอยไปถึงแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ชาวประมงได้อาราธนาท่านขึ้นประดิษฐานไว้ ณ วัดบ้านแหลม มีชื่อเรียกว่า "หลวงพ่อบ้านแหลม" อีกองค์หนึ่งได้แสดงปาฏิหารย์ล่องเข้าไปในคลองบางพลี ชาวบ้านได้อัญเชิญประดิษฐานที่วัดบางพลีใหญ่ใน จังหวัดสมุทรปราการ มีชื่อเรียกว่า "หลวงพ่อโตบางพลี"



ส่วนพระพุธรูปองค์สุดท้าย หรือหลวงพ่อโสธรนั้น ได้แสดงอภินิหารลอยขึ้นที่หน้าวัดหงส์ ชาวบ้านได้พยายามช่วยกันฉุดขึ้นฝั่งหลายครั้งหลายหน ก็ไม่สามารถอัญเชิญหลวงพ่อขึ้นจากน้ำได้ จนกระทั่งมีอาจารย์ที่มีความรู้ทางไสยาศาสตร์ผู้หนึ้งได้ตั้งศาลเพียงตาบวงสรวงเอาสายสิญจน์คล้องพระหัตถ์พระพุทธรูป และเชิญชวนประชาชนชาวไทยชาวจีนพร้อมใจกันจับสายสิญจน์ จึงสามารถอาราธนาขึ้นฝั่งได้ และนำมาประดิษฐานที่วิหารวัดหงส์เป็นผลสำเร็จเมื่อวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 5 สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ในสมัยต้นกรุงธนบุรี ราวปี พ.ศ. 2313

ตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธโสธรเดิมเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิหล่อด้วยสำริด มีพุทธลักษณะงดงาม บ้างก็ว่าเป็นพระพุทธรูปที่แกะสลักด้วยไม้โพธิ์ ขนาดหน้าตักกว้างประมาณ 2 คืบเศษ ตามคำบอกเล่าของคนพื้นเมืองฉะเชิงเทรา ที่มีอายุมาก ๆ ว่า เมื่อกิตติศัพท์ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อแพร่หลายเลื่องลือไปตามถิ่นต่างๆ พระภิกษุสงฆ์ในวัด (ที่เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นวัดโสธรฯ ) ตลอดจนทายกทายิกา ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสหลวงพ่อ พากันปริวิตกว่า ผู้มีกิเลสแรงกล้าอาจลักไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว หรือลักลอบเชิญหลวงพ่อไปเสียที่อื่น จึงพร้อมใจกันสร้างพระพุทธรูปจำลองแบบไม้ธรรมดาขึ้น แล้วนำไปสวมครอบปิดพระพุทธรูปองค์จริงไว้ชั้นหนึ่ง เพื่อเป็นการพรางตา ต่อมามีผู้เห็นว่าพระพุทธรูปจำลองด้วยไม้ที่ทำไว้นั้น ยังไม่เป็นการปลอดภัยเพียงพอจะป้องกันโจรผู้ร้าย จึงทำพระพทธรูปไม้ชนิดเดียวกับครั้งก่อนแต่ขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมสวมครอบทับลงไปอีกชั้นหนึ่ง และท้ายที่สุดจึงได้พอกปูนเสริมให้องค์พระใหญ่ขึ้น หุ้มองค์จริงไว้ภายใน จนพระพุทธโสธรมีขนาดหน้าตักกว้างถึง 3 ศอกเศษ ดังที่เห็นในปัจจุบัน

ตามความเห็นของนักโบราณคดี อันได้แก่ หลวงรณสิทธิชัย อดีตอธิบดีกรมศิลปากร นายมานิต วัลลิโภดม ภัณฑารักษ์เอก กรมศิลปากร และนายมนตรี อมาตยกุล อดีตหัวหน้ากองประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร เห็นต้องตรงกันว่า พระพุทธโสธรมีพุทธลักษณะฝีมือช่างแบบล้่านช้าง ซึ่งเรียกกันสามัญว่า "พระลาว" โดยสังเกตุจากวงพระพักตร์ ชายสังฆาฏิ ทรวดทรง สำหรับพุทธลักษณะที่เห็นในปัจจุบัน สันนิษฐานว่าน่าจะบูรณะขึ้นในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา หรือต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่มีการกวาดต้อนครัวลาวชาวเวียงจันทร์์ เมื่อครั้งกบฏเจ้าอนุวงศ์ลงมายังกรุงเทพ ฯ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งจังหวัดฉะเชิงเทราและบริเวณใกล้เคียงเป็นถิ่นฐานที่ครัวลาวเข้ามาพำนักอาศัยอยู่ และช่างฝีมือชาวลาวนี่เอง อาจเป็นผู้ปั้นปูนพอกเสริมให้องค์หลวงพ่อพุทธโสธรมีพุทธลักษณะดังที่เห็นในปัจจุบัน 

(หมายถึงรูปบนสุด)




ภายหลังในการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่  พระพุทธโสธร ได้มีการปั้นปูนหุ้มองค์ใหม่ ดังที่เห็นอยู่ขณะนี้


พระพุทธโสธร เป็นพระพุทธปฏิมากรปางสมาธิ ปูนปั้น ลงรักปิดทอง พระวรกายแบบเทวรูป พระเกตุมาลาแบบปลี (ทรงกรวย) อันหมายถึงความอยู่เย็นเป็นสุขตามคติชาวจีน ข้อพระกรข้างขวามีกำไลรัดตรึง เป็นเครื่องหมายถึงความอาทรห่วงใยที่หลวงพ่อทรงมีต่อสาธุชนที่เคารพบูชาในองค์ท่าน ทรงจีวรบางแนบพระองค์ มีความกว้างพระเพลา 3 ศอก 5 นิ้ว ( 1 เมตร 65 เซนติเมตร) สูง 1 เมตร 98 เซนติเมตร ประทับอยู่เหนือรัตนบัลลังก์ 4 ชั้น ซึ่งปูลาดด้วยผ้าทิพย์ อันมีความหมายถึงการอยู่สูงสุด เป็นพุทธเหนือพระอริยบุคคลอีก 4 ชั้น คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ปัจจุบันในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปบนแท่นฐานชุกชีทั้งหมด 18 องค์ โดยที่พระพุทธโสธรประดิษฐานอยู่ตรงกลาง

หลวงพ่อพุทธโสธร เปรียบเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทร อันยิ่งใหญ่ที่ปกปักให้สรรพสัตว์ทั้งหลายได้ร่มเย็น กางกั้นสรรพภัยอันตรายและความเดือดร้อนลำเค็ญ ดลให้เกิดความอยู่เย็นเป็นสุข เป็นแพทย์ผู้วิเศษพยาบาลรักษาผู้อาพาทให้หายจากโรคภัยที่เบียดเบียน เป็นสรณะที่พึ่งพิงของพุทธบริษัท เป็นผู้พยากรณ์ทำนายโชคชะตาวาสนา เป็นผู้ดลบันดาลสุขสมหวังให้ทุกผู้ทุกคนที่กราบนมัสการ เป็นสัพพัญญููผู้สำเร็จวิชาการทั้งทางโลกและทางธรรม และเป็นบรมครูของเหล่าเทพยดาและมนุษย์

หมายเหตุ พลอยโยมคิดเองว่า ที่มีคำเล่ามาว่าองค์หลวงพ่อโสํธร แกะสลักด้วยไม้โพธิ์ คงมาจากคำเล่าขานของคนรุ่นเก่าที่ไปกราบไหว้บูชาหลวงพ่อในช่วงที่ทางวัดสร้างองค์จำลองด้วยไม้แล้วนำไปสวมครอบ ก็เป็นได้ และการที่นำข้อความ ตำนานว่าเป็นองค์แกะสลักด้วยไม้ เพื่อให้คำเล่าขานในส่วนนี้ไม่ถูกลบเลือนไปซึ่งบทความนี้ซึ่งพลอยโพยมคัดลอกมาจากหนังสือ โสธรวรารามวรวิหาร นิมิตแห่งบุญ ซึ่งพิมพ์โดย คุณฐิระวัตร กุลละวณิขย์ ขณะดำรงตำแหน่ง อธิบกรมโยธาธิการและผังเมือง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา และ เป็นผู้อำนวยการสำนักงานอำนวยการและบริหารงานก่่อสร้างพระอุโบสถ ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา

และหลายครั้งที่พลอยโพยมสัมผัสถึงเรื่องราวคำเล่าขานที่เล่าขานถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงจากปลายเหตุที่พบเห็นอยู่ แต่ผู้เล่าขานไม่ทราบต้นเหตุของความจริงที่ตนเห็นอยู่มากมายหลายเรื่อง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น