[บทความ] "มูลบทบรรพกิจ" หนังสือล้ำค่าแห่งประวัติการศึกษาของประเทศไทย
มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ พิศาลการันต์ คือแบบสอนภาษาไทย ทั้งหมดนี้ ว่าด้วยวิธีใช้ตัวอักษรพยัญชนะเสียงสูงต่ำ การผัน การประสมอักษร และตัวสกดการันต์
เฉพาะมูลบทบรรพกิจ สันนิษฐานว่า จะได้เค้ามาจากหนังสือ จินดามณี อันว่าด้วยระเบียบของภาษา ซึ่งพระโหราธิบดีแต่งไว้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่คงจะนำมาดัดแปลงให้เหมาะแก่กาลสมัย และนอกจากนี้ยังได้แทรกเรื่องพระไชยสุริยา ซึ่งสุนทรภู่แต่งไว้ในรัชกาลที่ ๓ เข้าไว้ด้วย ทั้งนี้เข้าใจว่า พระยาศรีสุนทรโวหารคงจะเห็นว่า กาพย์พระไชยสุริยาเป็นบทประพันธ์ที่ไพเราะอ่านเข้าใจง่ายและเป็นคติ จึงนำมาบรรจุไว้ในมูลบทบรรพกิจเป็นตอน ๆ ไป ตั้งแต่ แม่ ก.กา จนจบแม่เกย
หนังสือชุดนี้นับว่ามีบทบาทสำคัญในประวัติการศึกษาของชาติ... ด้วยเป็นแบบฝึกหัดอ่านเบื้องต้น ของกุลบุตร กุลธิดา เวลาก่อนหน้านี้ขึ้นไปจะหาหนังสือเรียนซึ่งทางราชการเรียบเรียงจัดพิมพ์ขึ้นเป็นมาตรฐานหามีไม่ หากใครมีความรู้ตำรับตำราอย่างไรก็สอนกันไป ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูปการศึกษาของชาติ โดยจัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร ( น้อย อาจารยางกูร) ครั้งยังเป็นหลวงสารประเสริฐเรียบเรียงหนังสือชุดนี้ขึ้น เพื่อใช้เป็นแบบเรียน
เมื่อการศีกษาได้วิวัฒนาการไปตามกาลเวลา หนังสือชุดนี้เสื่อมความนิยมไป กระทรวงศึกษาธิการซึ่งมีหน้าที่จัดการศึกษาของชาติในสมัยต่อมา ได้ประกาศใช้แบบฝึกหัดอ่านเบื้องต้น แต่ทุกเล่มแต่งโดยถือหนังสือชุดนี้เป็นรากฐาน มาจนปัจจุบัน และปัจจุบันความสำคัญของหนังสือแบบเรียนชุดนี้ลบเลือนหายไปจากนักเรียนยุคปัจจุบัน มีผู้รูจักหนังสือชุดนี้น้อยมาก
พลอยโพยม ชาวฉะเชิงเทรา จึงขอนำ กิติคุณของพระยาศรีสุนทรโวหาร มาประกาศ ให้ได้ประจักษ์ในความเป็นปราชญ์ภาษาไทย ที่ควรยกย่องในความปราดเปรื่องของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร )
หลวงสารประเสริฐน้อย นามเดิม
คิดจัดจำแนกเดิม ต่อตั้ง
ใดพร่องปราชเชิญเสริม แซมใส่ เทอญต่อ
ต้นแต่นโมทั้ง หมู่ไม้เอกโท
ระบินระบอบนี้ นามสฤษดิ์
มูลบทบรรพกิจ ประกอบถ้อย
สำหรับฝึกสอนศิศย แรกเริ่ม เรียนนา
จงพ่อหนูน้อยน้อย เล่าอ้อ อ่านจำ
ก ข ฃ ค ต ฆ ง
จ ฉ ช ซ ฌ ญ
ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ
ด ต ถ ท ธ น
บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม
ย ร ล ว ศ ษ ส ห ฬ อ ฮ
ตอน ก ๗ ตอน จ ๖ ตอน ฎ ๖ ตอน ด ๖ ตอน บ ๘ ตอน ย ๑๑ รวม เป็น ๔๔ ตัวนี้ เรียกว่าพยัญชนะ รวมเข้ากับสระเรียกว่าอักษร ในอักษร ๔๔ ตัวนี้ แจกออกเป็นอักษรสูง ๑๑ อักษรกลาง ๙ อักษรต่ำ ๒๔ สามหมู่นี้เรียกว่าไตรยางษ์
แจกอักษรสูง อักษรกลาง อักษรต่ำ ว่า คืออักษรใดบ้าง
แล้วก็เรียงลำดับ ไม้เอก ไม้โท ไม้ตรี ไม้จัตวา (กากบาท ตีนกา ) สำหรับผันอักษร ๓ หมู่
ฝนทอง ฟองมัน วิสัญชี ทัณฑฆาต ไม้ไต่คู้ นิคหิต นฤคหิต โคมูตร มุสิกทันต์ ฟันหนู หางกังหัน หันอากาศ ไม้ผัด
สระ ๑๕ ตัว สระ อา คือลากข้าง า สระ อิ คือพิน ิ สระ อี คือพิน ี สระ อี คือพิน ึ สระ อื คือพิน ื สระ อุ คือ ลากตีน อุ ุ สระ อู คือ ลากตีน อู ู สระ เอ คือ ไม้น่าอันหนึ่ง เ สระ แอ คือไม้น่าสองอัน แ สระ ไอ คือไม้มลาย ไ สระใอ คือไม้ม้วน ใ สระ โอ คือไม้โอ โ สระ เอา คือ ไม้น่ากับลากข้าง เ า สระ อำ คือ นฤคหิตจุดบนลากข้าง ำ สระ อะ คือประวิสัญชะนีข้างหลัง ะ
จากนั้นก็เป็นการประสมคำพยัญชนะ กับสระ
คำกลอนสำหรับอ่านเทียบในแม่ ก กา แม่ กง แม่ กก แม่กด แม่ กม แม่ เกย
โดยใช้กาพย์พระไชยสุริยา ผลงานของพระสุนทรโวหาร (สุนทรภู่)แทรกในแต่ละแม่ที่ใช้สกดคำ
กาพย์พระไชยสุริยาเป็นแบบเรียนที่สุนทรภู่แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จุดประสงค์เพื่อถวายพระอักษรแด่พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระอัครชายา คือเจ้าฟ้าชายกลางแล้วเจ้าฟ้าปิ๋ว ในการศึกษากาพย์พระไชยสุริยา ผู้เรียนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับลักษณะการแต่งคำประพันธ์ประเภทกาพย์ ได้แก่ กาพย์ยานี11 กาพย์ฉบัง16 และ กาพย์สุรางคนางค์ 28
ตัวอย่างกาพย์พระไชยสุริยา ที่แก้ไขเป็นปัจจุบัน
แม่ ก กา
กาพย์ยานี๑๑
สาธุสะจะขอไหว้ พระศรีไตรสรณา
พ่อแม่แลครูบา เทวดาในราษี
ข้าเจ้าเอา ก ข เข้ามาต่อ ก กา มี
แก้ไขในเท่านี้ ดีมิดีอย่าตรีชา (ตรีชา แปลว่าตำหนิ)
จะร่ำคำต่อไป พอฬ่อใจกุมารา
ธรณีมีราชา เจ้าภาราสาวะถี
ชื่อพระไชยสุริยา มีสุดามะเหษี
ชื่อว่าสุมาลี อยู่บุรีไม่มีไภย
ข้าเฝ้าเหล่าเสนา มีกิริยาอะฌาสัย
พ่อค้ามาแต่ไกล ได้อาศัยในพารา
ไพร่ฟ้าประชาชี ชาวบุรีก็ปรีดา .......
กาพย์ฉบัง ๑๖
พระไชยสุริยาภูมี พาพระมเหษี
มาที่ในลำสำเภา
ข้าวปลาหาไปไม่เบา นารีที่เยาว์
ก็เอาไปในเภตรา......
ปลากะโห้โลมาราหู เหราปลาทู
มีอยู่ในน้ำคล่ำไป.......
จบแม่ ก กา ฯ
คำกลอนในแม่กน
กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘
ขึ้นใหม่ในกน ก กาว่าปน ระคนกันไป
เอ็นดูภูธร มรนอนในไพร มณฑลต้นไทร แทนไพชยนต์สถาน
ส่วนสุมาลี วันทาสามี เทวีอยู่งาน
เฝ้าอยู่ดูแล เหมือนแต่ก่อนกาล ให้พระภูบาล สำราญวิญญา ........
กาพย์ยานี ๑๑ มักใช้ในการบรรยายหรือเล่าเรื่อง
กาพย์ฉบัง ๑๖ เป็นกาพย์ที่มีลีลาสง่างาม มักใช้ในการบรรยายเหตุการณ์สำคัญหรือบรรยายเหตุการณ์ที่รวบรัดรวดเร็ว
กาพย์สุราคนางค์ ๒๘ เป็นกาพย์มีลีลาอ่อนหวาน เศร้า มักใช้ในการพรรณาอารมณ์ ความรู้สึก
ใช้กาพย์พระไชยสุริยา เป็นตัวอย่าง แม่กก กด กบ กม ไล่จนจบแม่เกย
การใช้ตัว ศอ คอ
กุศล ว่าบุญ ,ดาบศ ว่าฤาษี ,ทศ ว่าสิบ ,ปีศาจ ว่าอสุรกาย
อาศรมศิลปศิวา ศรโศรตเศรษฐี
อากาศพิศม์ศุลี ยศศักดิ์อัศวา
การใช้ ษอ บอ
กษัตริย์ ว่าเป็นใหญ่ในเขตรแดน, ภิกษุ ว่าคนบวช , ภูษา ว่าผ้า, จักษุ ว่าตา ,บุษบา ว่าดอกไม้,บุษยา ว่าขาว
บุษยาแลกฤษณแลกฤษ เขษมกษัตริย์บัตรี
โอภาษจักษุมหิษี รักษโทษภูษา
การใช้ ส ลอ
เกสร ว่าเกสรดอกไม้, ปราสาท ว่าเรือนยอด, สรรเพชญ์ ว่าทั้งปวง ,สารถี ว่านายรถ,สุรางค์ ว่านางเทวดา,สุริยะ ว่าดวงอาทิตย์
การใช้ ส
สรรเพชญ์สัทธรรม์แลสงฆ์ ประเสริฐแก่นสาร
สบสูตรสดับนิแลสังหาร แลแพทยสัตยา
โกสุมเกสรสมบัติ แลสวัสดิโสภา
เสาร์สุริยสวรรค์แลสุรา สุรสิทธิ์สมภาร
การนับศัพท์สังขยา
อันนี้ข้าขอกล่าว ให้เนื่องเรื่องราว วิธีนับศัพท์สังขยา
เด็กเอ๋ยเจ้าจงศึกษา ตำหรับนับรา จงรู้กระทู้ที่นับ
ห้าสองหนเป็นสิบสับ สิบสองหนนับ ว่ายี่สิบอย่าสงไสย
สิบสามหนเป็นต้นไป ท่านเรียกชื่อใช้ สามสิบสี่สิบตามกัน
สิบสิบหนเป็นร้อย สิบร้อยเป็นพัน สิบพันเป็นหมื่นหนึ่งนา สิบหมื่นเป็นแสนหนึ่งหนา
สิิบแสนท่านว่า เป็นล้านหนึ่งพึงจำไว้ สิบล้านนั้นเป็นโกฏไซร้
ร้อยแสนโกฎไป เป็นปฏิโกฎิ์หนึ่งตามมี................
พระยาศรีสุนทร ท่านไล่ ไปจนครบ อสงไขย ซึ่งความอีกยาวมากจึงขอตัดมาเพียงแค่นี้
โยชน์หนึ่งสี่ร้อยเส้นตามตาม เส้นหนึ่งโดยความ ยี่สิบวาอย่าสงสัย
วาหนึ่งสี่ศอกบอกไว้ ศอกหนึ่งท่านใช้ สองคืบไซร้ตามมีมา
คืบหนึ่งสิบสองนิ้วหนา นิ้วหนึ่งท่านว่า สี่กระเบียดจงจำเอา
กระเบียดหนึ่งสองเมล็ดเข้า เมล็ดเข้าหนึ่งเล่า........
ท่านไล่เล็กลงไปเรื่อยๆ จนถึง อณู สุดปลายที่ ปรมาณู
หนึ่งนานับกว้างโดยแท้ ยีสิบวาแล ยาวยี่สิบวาเป็นไร่
ถ้าโดยกว้างห้าวาไป ยาวเส้นหนึ่งไซร้ เป็นงานหนึ่งพึงจำ
สี่งานท่านประสมทำ เป็นไร่หนึ่งกำ หนดไว้ให้ดีดังว่ามา
ไม้หน้ากว้างศอกหนึ่งนา ยาวสิบหกวา เป็นยกหนึ่งพึงจำไว้
นับด้วยวัดอย่างนี้ไซร้ นับด้วยตวงไป จงนับใช้ดังนี้นา
ข้าวเกวียนหนึ่งนั้นท่านว่า ห้าตะล่อมหนา ตะล่อมหนึ่งยี่สิบสัด
สัดหนึ่งยี่สิบทะนานขัด ทะนานหนึ่งสังกัด สองจังออนจงจำไว้
จังออนหนึ่งสีกำมือได้ กำมือหนึ่งไซร้ สี่ใจมือตามมา
ใจมือหนึ่งนั้นท่านว่า ร้อยเมล็ดข้าวหนา นับด้วยตวงเพียงนี้แล
ทองภาราหนึ่งแท้ ยีี่สิบดุนแน่ ดุนหนึ่งยี่สิบชั่งนา
ชั่งหนึ่งยี่สิบตำลึงหนา ตำลึงหนึ่งรา สี่บาทถ้วนจงจำไว้
บาทหนึ่งสี่สลึงไทย สลึงหนึ่งท่านใช้ สองเฟื้อจงจำไว้นา
เฟื้องหนึ่งนั้นสี่ไพหนา ไพหนึ่งท่านว่า สองกล่ำจงกำหนดไว้
คำสอนในมูลบทบรรพกิจ มีไล่ ปีชวดชื่อเป็นหนูนา......ไล่จนถึงปีกุน
ปีหนึ่งมีสิบสองเดือน เริ่มต้นด้วยเดือนห้า ไปจนจบเดือนสี่ ครบสิบสองเดือน
ปีใดอธิกมาส เดือนเข้าอีกไซร้ ปีนั้นสิบสามเดือนนา (มีเดือนแปดสองครั้ง)
อาทิตย์หนึ่งมีเจ็ดวัน... กลางคืนควบกัน ท่านนับเป็นวัน หนึ่งควรจะใส่ใจจำ วันหนึ่งนั้นแปดยามย่ำ กลางวันสี่ยามมี กลางคืนก็นับยามสี่ วันกับราตรี จึงเป็นแปดยามตามใช้ ยามหนึ่งสามนาฬิกา นาฬิกาท่านใช้ กลางวันท่านเรียกโมงนา กลางคืนเรียกทุ่มนา
อนึ่งฤดูมีสามไซร้ คือเหมันต์ไป คิมหันต์วัสสาสะนา ( คือวสันต์ )
เดือนสิบสองแต่แรมมา เดือนสี่เพ็ญหนา สี่เดือนนี้ชื่อเหมันต์
แต่แรมเดือนสี่จนวัน เพ็ญเดือนแปดนั้น สี่เดือนนี้คิมหันต์นา
แรมหนึ่งเดือนแปดมา ถึงเพ็ญวารา กะติกะมาศจงรู้ สี่เดือนถ้วนวัสสานะฤดู แบบโหรเป็นครู ว่าตามศศิโคจร
ทิศแปดปันโดยนามกร คือทิศบูรพ์ก่อน เป็นทิศตะวันออกนา............
ยังมีการสอนไม้มลายเป็น ๒ อย่าง และไม้มลายที่มีตัวย ยอ สกด ด้วยคำนั้นมาแต่ภาษามภธ คำมีแต่ไม้มลาย ล้วนเป็นคำไทย
ตัวอย่างมี ยอ สกด เช่น กัยวิไกย ชลาไลย อายุไขย...
ไม้มลายไม่มีตัวยอ เช่น ท้าวไทแลไพร่พล ทั้งพงไพรแลไร่นา...ทั้งผลไม้แลไมตรี ไฉไลแลไพร่หนี.....
ขอแต่งเติมเสริมไว้ฝึกสอน ต่อมูลบทแบบเจ้าคุณศรีสุนทร พอเด็กอ่อนอ่านเล่าได้เข้าใจ ซึ่งขนบธรรมเนียมทำนองนับ เป็นฉบับแบบสยามตามวิสัย โลกนิยมนมนานบุราณไกล คนใหม่ ใหม่ยังไม่รู้ดูรำคาญ.........
พระยาศรีสุนทร ยังสอนสิบสองราศรีอีกความยาว
ฉันรำพรรณวันเดือนโดยลำดับ
เป็นฉบับระบอบได้สอบสวน
จงหมั่นดูอ่านหมั่นทานทวน
หมั่นใคร่ครวญหมั่นนึกหมั่นตรึกตรา
แต่ย่อย่อพอคิดไม่วิตถาน
ถ้าอยากรู้พิสดารจงศึกษา
ที่ครูเฒ่าเขาดียังมีนา
ให้อุตส่าห์เถิดคงรู้ได้ดูดี
ชื่อว่าเกียจคร้านบ่พานพบ
บ่ประสบความรู้ได้ชูศรี
วิชาทรามทรัพย์ก็สูญไม่พูนมี
มิตรที่ร่วมไมตรีก็หน่ายตน
ไม่มีมิตรชื่อว่าหมดความสุข
ไม่มีสุขชื่อว่าหมดกุศล
บุญไกษยแล้วไฉนจะได้ยล
ศิวโมกข์มรรคผลนิพพานเอย.
จบมูลบทเบื้อง บรรพกิจ
เป็นปฐมควรสถิตย์ ที่ต้น
เป็นแบบสั่งสอนศิษย์ สายสืบไว้นา
ความที่ฦกลับอ้น อัดอั้นออกขยาย...
อ่านเพลินเลยครับ
ตอบลบ