วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

ลำพู...พร่างพราวพราย...


ลำพู พร่างพราวพราย


๏ ลำพูหิ่งห้อยพร่าง พราวพราย
ถวิลว่าแหวนวัชรินทรราย รอบก้อย
จรจากพี่คะนึงหมาย หมายมุ่ง มาแม่
เห็นแต่หิ่งห้อยย้อย ยาบไม้เหมือนแหวน ฯ


โคลงนิราศฉะเชิงเทรา
พระนิพนธ์: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทินกร กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์





นอกจากนี้แล้ว ยังมีบทประพันธ์เรื่อง 'นิราศเมืองแกลง' ซึ่งกล่าวถึงต้นลำพูและหิ่งห้อย... ก่อนเดินทางมาถึงบางสมัครที่อำเภอบางปะกงไว้ดังนี้ :


จนล่วงล่องมาถึงคลองที่คับแคบ
ไม่อาจแอบชิดฝั่งระวังเสือ
ด้วยครึ้มครึกพฤกษาลัดดาเครือ
ค่อยรอเรือเรียงล่องมานองเนือง
ลำพูรายพรายพร้อยหิ่งห้อยจับ
สว่างวับแวววามอร่ามเหลือง
เสมอเม็ดเพชรรัตน์จำรัสเรือง
ค่อยประเทืองทุกข์ทัศนาชม
ถึงบางสมัครเหมือนพี่รักสมัครมาด
มาแคล้วคลาดมิได้อยู่กับคู่สม
ถึงยามนอนนอนเดียวเปลี่ยวอารมณ์
จะแลชมอื่นอื่นไม่ชื่นใจ


นิราศเมืองแกลง ของสุนทรภู่




แต่น่าประหลาดใจที่ไม่เคยมีคำประพันธ์ใดใด ได้กล่าวถึงความงดงามของดอกลำพูแม้แต่น้อย ทั้งที่ดอกลำพูเป็นดอกไม้ที่มีความงามไม่น้อยไปกว่าดอกไม้ใด ทั้งยังแฝงเร้นด้วยความมหัศจรรย์ ยามเมื่อดอกคลี่กลีบด้วยการดีดตัวของเกสรกลางดอกออกมาเป็นเส้นสายเรียงรายคล้ายภู่ห้อยระย้า สร้างความงดงามประดับลำต้นตระการตาได้อย่างน่าชื่นชม...ด้วยเหตุนี้จึงใคร่ขอนำบทกวี 'วันวานของบางกรูด' ซึ่งเขียนโดย 'พลอยโพยม' เอง มาบอกเล่าสู่เรื่องราวของดอกลำพู ดังนี้


ริมคลองใหญ่ ใกล้สวน ล้วนพฤกษา
สำมะงา เหงือกปลาหมอ กอข้าวสาร
กกตะกรับ ตะขบ พบขลู่บาน
ลำพูก้าน กิ่งใบ ไหวล้อลม

พุ่มลำพู ชูดอก ออกสะพรั่ง
บานตูมตั้ง รั้งสาย พริ้งพรายสม
ชมพูขาว เย้ายวน ชวนชิดชม
น้ำค้างพรม พลันแย้ม แอร่มงาม

เส้นกระจาย ปลายฝอย ร้อยเกสร
อรชร แช่มช้อย พลอยวาบหวาม
หิ่งห้อยพราว พร่างกระพริบ วาววิบยาม
สื่อนิยาม ถามถ้อย น้องน้อยเอย

เชิญโผผิน บินสู่ เป็นคู่สอง
จะประคอง เคียงคลอ รอเคล้าเอ๋ย
มาเถิดเจ้า เหงาไย อย่าเมินเลย
ขอชื่นเชย ชมลำพู คู่ดวงมาน


วันวานของบางกรูด โดย พลอยโพยม





สำหรับท่านผู้อ่านท่านใดที่ไม่เคยเห็นการแย้มบานของดอกลำพู...ขอเชิญชมภาพลำดับการแย้มบานของดอกลำพู ซึ่งพลอยโพยมถ่ายมาด้วยความยากลำบาก เพราะไม่มีความรู้เรื่องการถ่ายภาพ ภาพแรกๆ ก็ยังไม่รู้จักการโฟกัสภาพ ครั้นพอจะเข้าใจการถ่ายภาพขึ้นบ้าง ต้นลำพู ที่เคยถ่ายภาพได้ง่ายดาย แม้แต่จะปีนกิ่งก็ปีนได้เพราะต้นใหญ่ กิ่งย้อยระย้าทอดดอกห้อยอยู่ที่สะพานปูนริมทางเดิน กว้างขวางทอดกิ่งออกสู่ท่าน้ำของศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดฉะเชิงเทรา ถูกตัดทิ้งไปเสียแล้วทั้งสองต้น... มิหนำซ้ำเป็นต้นลำพูดอกสีชมพูด้วย เหลือแต่ ลำพูดอกขาว และอยู่สูงมากอีกทั้งห่างสะพานทางเดินดังกล่าว...

แม้ที่บางกรูดเองจะมีต้นลำพูอีกมากมาย แต่ไม่มีต้นให้พลอยโพยมพอจะป่ายปีนได้ การถ่ายใกล้ชิดคงต้องลงเรือ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก พลอยโพยมมีลำพูปลูกในกระถางที่บ้านดอกสีขาว ก็เลยขอสื่อ ภาพ ด้วยต้นในกระถาง ดอกลำพูที่ผลิแย้มในตอนสายๆไปจนบ่ายค่ำ เส้นฝอยของดอกเส้นแรก จะดีดตัวออกมา ประมาณเวลา หนึ่งทุ่ม สี่สิบห้า บวกลบเวลาเล็กน้อย แล้วเส้นสายที่ สองสามสี่...ก็จะทยอย ดีดเส้นสายของมา หากเก็บดอกแย้มจากต้นมา ก็จะบานเวลาใกล้เคียงกับที่อยู่บนต้น แต่บางดอกที่เก็บจากต้นมา จนเช้าก็ยังบานไม่สุดเต็มที่ คงเป็นเพราะไม่ได้น้ำค้างช่วยกระมัง (เดาเอาเอง)



เมื่อดอกลำพูที่บานเต็มที่แล้ว หากมีเพียงสายลมพัดมาแค่ผะแผ่วดอกถูกกระทบเพียงเล็กน้อย สายดอกก็จะค่อยๆ ร่วงลงมา ทีละเส้นสองเส้นหากสายลมแรง ก็หล่นพรูลงมาทีเดียว สมัยเด็กๆ เวลาพายเรืออยู่ชายฝั่งจะพบเส้นสายดอกลำพู ปลิวโปรยปรายลงมาเสมอ ๆ ส่วนใหญ่ดอกลำพู จะตะแคงดอกห้อย ตามลักษณะของกิ่งก้าน ทั้งที่ต้นลำพูก็ดูว่าจะพยามยามชูดอกของตัวเองขึ้นมา อย่างตั้งอกตั้งใจเต็มที่ ลักษณะการที่ดอกจะชูขึ้น มีบ้างแต่เมื่อเทียบสัดส่วน จะน้อยกว่า ดอกตะแคง ดังนั้น ภาพดอกลำพู บานหลายๆภาพ ต้องมีสิ่งแปลกปลอม มาฃ่วยยึด เพื่อให้ดอกของลำพู ตั้งดอกขึ้น เพราะก้านของดอกลำพู ไม่สามารถตั้งให้ตรงเองได้ ส่วนใหญ่เป็นของใกล้ตัวที่หาได้ในขณะนั้นๆ



...ภาพลำดับขั้นการแย้มกลีบของดอกลำพู...


ดอกลำพูในกระถาง เริ่มถ่ายไว้เวลา 9.39 น




เวลา 9.41 น.




เวลา 10.30 น.




เวลา 10.35 น.




เวลา 17.19 น.




เวลา 18.15 น.




เวลาประมาณ 21.10 น.
พลอยโพยมถ่ายหลังจากกลับจากงานสวดอภิธรรมศพที่วัด




เวลา 3 ทุ่ม เศษ




เวลา 3 ทุ่ม เศษ




เวลา 6.49 น. วันรุ่งขึ้น




เวลา 6.51 น.
มีลมพัดมาระลอกหนึ่ง ดอกก็ร่วงพรู




เวลา 6.53 น.
ลมพัดอีกครั้ง เหลือ ดอกเพียงเท่าที่เห็นในภาพ




เวลา 6.55 น.


แต่ถ้าดอกอยู่บนต้น บางดอกก็จะโรยร่วงช้ากว่านี้ เพราะต้นลำพูมีใบมาก บางครั้งใบก็ช่วยบังลมให้ ดอกลำพูได้ถ้าลมไม่แรงจริงๆ พลอยโพยมอ่านพบการทำดอกลำพูเป็นของเล่น ที่ไม่เคยเล่นมาก่อนเหมือนกัน เชิญตามไปอ่านและชมภาพได้ที่ oknation


1 ความคิดเห็น: