วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

แนบสนิท ใกล้ชิดจาก..แสม ..คลัก


ไปตามช่องล่องออกไปนอกรั้ว
เห็นเมฆมัวลมแดงดังแสงเสน
สักประเดี๋ยวเหลียวดูลำพูเอน
ยอดระเนนนาบน้ำอยู่รำไร

นิราศเมืองแกลง สุนทรภู่


ทั้งสองฝั่งฟากของลำน้ำจะแลเห็นทิวป่าจากสลับแซมด้วยแสมและลำพู ตามลักษณะฝั่งคุ้งฝั่งแหลม บ้านเรือนของผู้คนซุกซ่อนอยู่ตามแนวทิวไม้เหล่านี้ บางบ้านก็จะมีสะพานท่าน้ำไม้บ้าง หรือบางบ้านของผู้มีอันจะกินหรือวัดวาอารามก็จะเป็นทุ่นปูนที่เรียกหากันว่าโป๊ะท่าน้ำทอดยื่นจากชายฝั่งที่ตั้งของบ้านเรือนมายังชายน้ำ
แสมและลำพูจะทอดกิ่งย้อยระย้า เพราะกิ่งจะมีลักษณะห้อยลง บางต้นทอดกิ่งลงเรี่ยน้ำในเวลาน้ำขึ้นดังเช่นที่ท่านสุนทรภู่ได้บรรยายไว้น่าจะเป็นช่วงเวลาของน้ำขึ้น




ป่าแสมแลเห็นอยู่ริ้วริ้ว
ให้หวิวหวิววาบวับฤทัยไหว
จะหลบหลีกเข้าฝั่งก็ยังไกล
คลื่นก็ใหญ่โยนเรือเหลือกำลัง

นิราศเมืองแกลง สุนทรภู่

บทกลอนสองภาพนี้ต่อเนื่องกัน

ป่าแสมแลเห็นอยู่ริ้วริ้ว ให้หวิวหวิววาบวับฤทัยไหว

ขอแนะนำให้รู้จักต้นแสมดังนี้







แสมเป็นพืชที่ขึ้นตามบริเวณชายฝั่งทะเล และมีน้ำทะเลท่วมถึง แสม มี 3 ชนิด คือ แสมขาว แสมดำ แสมทะเล
ลักษณะทั่วไปของต้นแสมประกอบด้วย ใบ บริเวณเซลล์ผิวในมีผนังหนาเป็นแผ่น มีปากใบ (Stoma) ที่ผิวใบด้านล่างป้องกันการระเหยของน้ำ นอกจากนี้ที่ใบยังมีต่อมขับเกลือ (Saltgland) ช่วยควบคุมระดับความเข้มข้นของเกลือในพืช โดยขับออกทางใบ ราก

แสมเป็นพืชที่ขึ้นอยู่ในบริเวณที่มีน้ำทะเลท่วมถึง จึงมีรากพิเศษเรียกว่า รากหายใจโผล่จากดินหรือโคลน
เมล็ดแสมมีรากแก้วเป็นขนแข็งและงอนขึ้น จึงสามารถยึดเหนี่ยวดินไว้ได้แน่น ทำให้ต้นอ่อนทนทานกระแสน้ำ และคลื่นเป็นอย่างดี ส่วนใหญ่เมล็ดจะงอกก่อนที่จะร่วงหล่นจากต้น เมื่อหล่นลงดินแล้วเมล็ดก็จะแตก รากหยั่งลงดินได้ทันที
การแพร่กระจายของเมล็ดอาศัยน้ำเป็นสื่อโดยต้นอ่อนหรือผลแก่สามารถลอยน้ำได้







แสม เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของสัตว์น้ำ เป็นฉากกำบังป้องกันพายุ คลื่น ลมกัดเซาะชายฝั่ง

ประโยชน์ทางสมุนไพร แก่นแสมมีรสเค็มเฝื่อนต้มกับน้ำแก้กษัย โดยมากจะต้มรวมกับแก่นแสมสาร เป็นยาขับเลือดเสียของสตรี

แสมดำ ( Avicennia offcinalis ) ผลรูปไข่ ปลายเป็นจะงอย ใบเป็นรูปไข่กลมป้อม ปลายใบมน หลังใบเป็นมันท้องใบสีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาลแก่ .

แสมทะเล ( Avicennia marina ) เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ที่พบมากในพื้นดินงอกใหม่และที่ดินเลนปนทรายมีใบสีเหลืองอ่อนห่อกลับเข้ามาเหมือนหลอดกลมๆ โชว์ให้เห็นท้องใบสีขาวนวล





แสมที่บางกรูดเป็นแสมขาว

แสมขาว ( Avicennia alba ) มักขึ้นปะปนกับแสมทะเลที่พื้นดินเลนปนทราย
ลักษณะเด่นที่สะดุดตาแต่ไกลคือใบที่ละเอียดเล็กเป็นสีขาว-บรอนซ์ ดอกสีเหลือง
ผลรูปไข่ยาวคล้ายผลพริกชี้ฟ้า







ดอกแสมขาว

แสมขาว

ชื่อวิทยาศาสตร์ :Avicennia alba
ชื่อวงศ์ :AVICENNIACEAE

ต้นแสมเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง-ใหญ่ สูง 8-20 ซม.ไม่มีพูพอน ลำต้นแตกกิ่ง ระดับต่ำ เรือนยอดค่อนข้างกลม แผ่กว้าง หนาทึบ กิ่งห้อยลง เปลือกเรียบสีเทา ถึงดำ มักจะมีสีสนิม เกิดจากพวกเชื้อราติดตามกิ่ง และผิวของลำต้น มีรากหายใจ รูปคล้ายดินสอ เหนือผิวดิน หนาแน่นบริเวณโคน

ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามกัน แผ่นใบรูปใบหอก แกม รีหรือรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลม ฐานใบแหลม ผิวใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านท้องใบมีขนยาวนุ่ม สีเทาอ่อน หรือ สีเทาเงินหรือสีออกขาว แผ่นใบเมื่อแห้ง จะเป็นสีดำ




ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง หรือง่ามใบใกล้ปลายกิ่งเป็นช่อเชิงลด มีขนยาวนุ่มสีน้ำตาลเหลืองหม่นปกคลุม
ดอกมีขนาดเล็ก ดอกย่อยไม่มีก้านดอก กลีบเลียง 5 กลีบ กลีบดอก 4 กลีบ . โคนกลีบติดกัน สีเหลืองส้ม เกสรเพศผู้ 4 อัน
ออกดอกระหว่างเดือน มกราคม-เมษายน





ผลรูปคล้ายพริก หรือรูปไข่เบี้ยว แบน ปลายผลมีจะงอย เปลือกอ่อนนุ่ม สีเหลืองอมเขียว มีขนยาวนุ่มสีเขียวอ่อน ผลจะเปลือกจะแตก ด้านข้างตามยาวผล และม้วนเป็นหลอดกลม แต่ละผลมี 1เมล็ด การเจริญเติบโต

ต้นแสม เป็นไม้เบิกนำ ขึ้นได้ดีในพื้นที่ดินเลนอ่อนที่ระบายน้ำดี ส่วนมากจะอยู่ในป่าเลนด้านนอกสุด เป็นไม้ที่ช่วยให้มีการตกตะกอน ทำให้เกิดแผ่นดินงอก

เพิ่มเติม

ประโยชน์ของแสมขาว
ก้านและใบเผาไฟรมควัน แก้พิษจากสัตว์น้ำทุกชนิดโดยเฉพาะปลาทะเลมีพิษ เปลือก เป็นยาบำรุงกำหนัด แก้ปวดฟัน ตำพอกฝีแตก กระพี้ เป็นยาแก้พิษงู แก่น มีรสเค็มเฝื่อน ต้มน้ำ แก้ลมในกระดูก แก้กระษัยโดยมากจะใช้คู่กับแก่นแสมสาร (ขี้เหล็กป่า) เป็นยาขับโลหิตเสียของสตรี หรือ ใช้ดื่มแก้ท้องร่วง ลำต้น เป็นเชื้อเพลิง ทำเป็นแผ่นหนา ปูเป็นไม้พื้น ที่พักชั่วคราว ลำต้นตรงทำสากตำข้าว เสาโป๊ะ ด้ามคิวบิลเลียด เนื้อไม้อ่อนหยาบเลื่อยไสตบแต่งง่าย

ที่มา http://kanchanapisek.or.th
http://www.talaythai.com
http://tanhakit.blogspot.com






ต้นแสมที่มีอายุมาก ลำต้นบริเวณที่แตกกิ่งก้านสาขา มักจะเป็นโพรงในลำต้นกลายเป็นที่อาศัยของนก
บ้านของพลอยโพยมจะมีนอกชานกว้างจากตัวบ้าน แล้วจึงเป็นสะพานท่าน้ำมีต้นแสมที่อยู่ชิดด้านข้างของนอกชาน ในเวลากลางคืนจะมีนกฮูกหรือที่เรียกว่านกเค้าแมวมาซ่อนตัวในเวลากลางคืน ส่งสายตาจับจ้องขู่ขวัญสรรพสิ่งที่มาเคลื่อนไหวใกล้โพรงไม้ที่อาศัย ส่วนตอนกลางวันก็ออกไปหากินที่อื่นไกลออกไปจากบ้าน จะกลับมาโพรงก็ราวพลบค่ำ เด็กๆมักจะกลัวนกฮูกกันมากเพราะจะมองเห็นแววตาวาวเรืองของนกกลิ้งกลอกไปมา เวลาผ่านโพรงต้นแสมที่มีนกฮูกอยู่ ก็จะต้องรีบพาตัวเองออกมาให้พ้นบริเวณนั้นอย่างรวดเร็วบางคนก็ถึงกับวิ่งกันเลย
โพรงไม้แสมที่มีนกฮูกมาอาศัยอยู่จนมีลูกนก แม้จะไม่สูงนักแต่ก็ไม่ค่อยมีเด็กๆไปวุ่นวายนัก เมื่อลูกนกฮูกโต แม่นกก็จะพาออกมาสอนบินบริเวณใกล้ๆ นกชนิดอื่นจะพากันร้องระเบ็งเซ็งแช่ผิดปกติ ก็รู้กันได้เลยว่า แม่นกฮูกพาลูกออกมาสอนบิน เวลาลูกนกฮูกเห็นผู้คนมายืนดู ก็จะโยกตัวส่ายหัวโคลงไปมาน่าเอ็นดู
ส่วนนกอื่นๆที่มาส่งเสียงกันให้แซด ไม่รู้ว่า มาช่วยกันส่งเสียงเชียร์ลุ้นลูกนกฮูก หรือว่า ส่งเสียงทำลายสมาธิการหัดบินของลูกนกกันแน่


ดอกแสมขาว

ยามที่แสมออกดอก ดอกแสมก็จะหล่นร่วงบนพื้นชานบ้าน บางครั้งเด็กผู้หญิงก็จะเก็บดอกแสมมาใช้เข็มและด้ายร้อยดอกแสมเป็นสายสร้อยห้อยคอ หรือสร้อยข้อมือใส่เล่นพอดอกเหี่ยวลงก็ถอดทิ้งไป บางครั้งก็จะนำขวดน้ำอบที่ใช้น้ำอบหมดแล้ว มาทำน้ำอบดอกแสมเล่นสนุกๆ

แป้งทาตัวของคนโบราณที่พลอยโพยมยังทันในวัยเด็กนั้นเป็นแป้งเม็ดบรรจุกระป๋องข้างกระป๋องแป้งมักเป็นภาพหญิงสาวครึ่งตัวเห็นใบหน้าถึงเหนืออก ยี่ห้อต่างๆกัน

ในหน้าร้อนเราจะใช้วิธีประแป้งกัน คือใส่น้ำลงกลางฝ่ามือข้างซ้าย หยิบแป้งเม็ดมาหลายๆเม็ดวางลงในน้ำที่อยู่กลางฝ่ามือซ้าย บดหรือบี้หรือขยี้ วิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ให้เม็ดแป้งแตกละเอียดละเลงให้เข้ากันกับน้ำ แล้วใช้ฝ่ามือทั้งสอง ถูแป้งที่ผสมน้ำ ได้ที่ดีคือแป้งละเอียดดีแล้วก็ยกสองมือที่มีแป้งน้ำประหน้าตัวเองหรือเนื้อตัวส่วนใดก็ได้ที่ต้องการประแป้ง หน้าตาเนื้อตัวก็จะลายพร้อยเป็นหย่อมๆ ให้นึกภาพ ไม้ใบที่ชื่อสาวน้อยประแป้งทำนองนั้น แต่การประแป้งของคนโบราณไม่ได้ประแป้งกันเฉพาะสาวน้อย เท่านั้น ประแป้งกันทุกวัย หรือกล่าวได้ว่าหนุ่มน้อยจนถึงผู้เฒ่าชาย ก็นิยมประแป้งในหน้าร้อนเช่นกัน

น้ำอบดอกแสมของเด็กๆ ก็คือ เอาแป้งเม็ดมาขยี้ หรือบี้ให้แตกละเอียด เทแป้งกรอกลงขวดน้ำอบ ปริมาณพอควรเหมือนที่น้ำอบจริงๆ จะยี่ห้อน้ำอบนางลอย หรือยี่ห้ออื่น ที่มีแป้งนอนก้นขวดน้ำอบนั่นเอง แล้วกรอกน้ำฝนลงขวด เก็บดอกแสมที่ร่วงลงมา ล้างน้ำสะอาด แล้วใส่ลอยลงในขวด ดอกแสมมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกเล็กๆสีเหลืองส้ม ก็มองดูสวยงาม ไปอีกแบบ แต่น้ำอบที่ได้กลับมีกลิ่นประหลาดๆ พิกล ใช้ได้วันเดียว พอวันรุ่งขึ้น กลิ่นน้ำอบกลับมีกลิ่นประหลาดขึ้นไปอีก เพราะดอกแสม อมน้ำนานเกินไปนั่นเอง ( เนื่องจากดอกแสมจะบานในช่วงฤดูร้อน คือ มกราคมถึงเมษายนพอดีด้วย เราก็เลยทำน้ำอบดอกแสมให้เข้าบรรยากาศ เด็กๆ ก็หาของเล่นให้เข้ากับฤดูกาลนั่นเอง)






ผลแสมขาว
ภาพจาก อินเทอร์เนต

ทุกเช้า เด็กๆ ต้องกวาดกนอกชานบ้านทุกวัน ในช่วงดอกแสมบาน หากฝนตกมีพายุดอกแสมก็ยิ่งร่วงหล่นบนพื้นนอกชานบ้าน คราวนี้ก็มีทั้งดอกทั้งใบเต็มชานบ้านกันทีเดียวส่วนลูกแสมก็เก็บเอามาแกะเล่นขายของกันสนุกๆ

กิ่งแสมเวลาที่น้ำขึ้น เด็กๆลงเล่นน้ำ ก็มักจะเหนี่ยวกิ่งแสม ยกตัวขั้นสูงแล้วทิ้งตัวกลับลงมาบนพื้นน้ำ ก็สนุกไปอีกแบบ

ที่บางกรูดไม่พบลิงแสมที่ต้นแสม จะพบเพียงปูแสมเท่านั้น




ปูแสม

ต้นพังกาหัวสุม หรือ คลัก ขลัก ประสัก
ชาวบางกรูดเรียกต้นไม้นี้ว่าต้นคลัก แม้แต่ท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร น้อย อาจารยางกูร ท่าน ก็เรียกต้นคลัก เช่นกัน แต่ถ้าอ่านตามหนังสือพรรณไม้ จะพบว่าใช้คำว่า ขลัก ประ สัก พังกาหัวสุม



ปูแสม


ต้นคลัก เป็นพรรณไม้ชั้นในป่าจากเข้ามา ปะปนกับต้นตะบูน ในบางครั้งต้นคลัก ก็เติบโตอยู่บนริมฝั่ง


ดอกและผลของคลักขาวที่นำมาเล่นเป็นตุ๊กตาได้

ที่บางกรูดจะพบเห็นแต่คลักหรือ พังกาหัวสุมดอกขาว
ดอกและผลของต้นคลักนี้ เป็นของเล่นอีกชนิดหนึ่งของที่บ้านพลอยโพยม
เนื่องจากดอกของคลัก มีรูปร่างคล้ายสุ่ม เด็กๆ ก็จะไปเก็บ ดอกคลักที่ร่วงหล่น มาล้อมบนพื้นบ้าน กั้นอาณาเขต เป็นรั้วบ้าน ตัวบ้าน ห้องต่างๆของบ้าน เป็นมุ้งเล็กครอบตุ๊กตาลูกคลักแกะตัวเล็กๆ

ลูกคลักขนาดต่างๆกัน เมื่อแกะออกมาจะได้ลักษณะคล้ายหัวคน มีตา มีปาก อยู่บนส่วนหัว เราก็จะไล่ระดับของลูกคลักแกะ เป็น ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ พี่น้อง จนเด็กอ่อนไล่ระดับลงมา จินตนาการ การเล่นไปตามเรื่องราว ที่เราจะผูกโครงเรื่องขึ้นมา จับตุ๊กตาลูกคลัก ลุกขึ้นเดินไปโน่นไปนี่ จับนอนลง หรือ การพูดคุยกันของตุ๊กตาครอบครัวลูกคลักเหล่านี้ เด็กๆจะ เล่นคนเดียวก็ได้ เล่นหลายคนก็ได้ ครอบครัวลูกคลัก ครอบครัวเดียวก็ได้ หลายครอบครัวก็ได้ จินตนาการไปตามความนึกคิดของเด็กๆ แต่ละคน

ดังนั้นเด็ก ที่บ้านพลอยโพยมในสมัยนั้น มีการเล่นตุ๊กตา ของเด็กผู้หญิงสามแบบ คือ

1ตุ๊กตาจริง ที่เราก็หัด เย็บเสื้อผ้าด้วยมือ ( แม่ละม่อมของพลอยโพยม เป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้า มีจักรเย็บผ้าและอุปกรณ์พร้อมทุกอย่างในบ้าน คุณยายส่งแม่ละม่อมไปเรียนตัดเย็บเสื้อผ้าที่โรงเรียนสอนตัดเสื้อวีปิง สะพานดำ ในกรุงเทพฯ โรงเรียนเดียวกับที่คุณพูลศรี เจริญพงษ์ เคยเรียน ในยุคนั้นโรงเรียนสอนตัดเสื้อ วีปิง นับว่ามีชื่อเสียง มีญาติที่บางกรูดไปเรียนกันรวมทั้งแม่ละม่อมแต่แม่ละม่อมก็เรียนไม่จบหลักสูตร เพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่สองพอดี แม่ละม่อมก็เลยยังไม่ได้เรียนการตัดเย็บเสื้อโค้ท ต้องกลับบ้านหนีสงคราม รวมทั้งบรรดา ญาติๆและหลานป้าของคุณยายต้องอพยพทั้งครอบครัวจากกรุงเทพฯมาหลบภัยสงครามที่บางกรูด กันคึกคักอุ่นหนาฝาคั่ง )
แต่เด็กๆที่ยังไม่ผ่านการหัดเย็บจักรจนเป็นแล้ว ไม่ได้รับอนุญาตให้เล่นจักรเย็บผ้าได้

2.ตุ๊กตาวาดจากกระดาษ ตัดเสื้อผ้าด้วยการวาดชุดลงในแผ่นกระดาษแล้วระบายสีสันด้วยสีดินสอเทียน ใช้กรรไกรตัดออกมาเป็นชุดๆ สมัยนั้นไม่มีรูปตุ๊กตาสำเร็จรูปพร้อมชุดเสื้อผ้า เราต้องวาดภาพตุ๊กตาเอง วาดชุดเอง แล้วใช้กรรไกรตัดออกมา หน้าตาน้องตุ๊กตา รูปร่าง ขนาด และเสื้อผ้าสวยงาม วิจิตรบรรจงได้แค่ฝีมือ และความนึกคิดของเด็กหญิงแต่ละคน ชุดที่ฮิต คือ ชุดราตรีกระโปรงสุ่มไก่เป็นชุดเกาะอกไม่มีสาย และชุดว่ายน้ำ

3.ตุ๊กตาลูกคลักแกะ



ต้นคลักที่มีรูปทรงของต้นและกิ่งก้านพอจะทำชิงช้าเล่นได้
ต้นคลักที่เคยทำชิงช้า ในวัยเด็กนั้นทั้งสูงและใหญ่กว่าต้นนี้




 (เพิ่มเติมภาพ)  ภาพชิงช้าที่ต้นมะขามที่คล้ายชิงช้าต้นคลักของเดิม

ลำต้นของคลักเป็นไม้เนื้อแข็งเติบโตช้า ทรงพุ่มสวยงาม ต้นที่ขึ้นมาเติบโตบนพื้นใกล้ชายฝั่งที่สูงตระหง่าน หากมีกิ่งก้านที่แผ่ขนานกับพื้นดิน เมื่อผ่านการประเมินแล้วว่าดูแข็งแรง( ไม้คลักแม้จะมีเนื้อไม้แข็งแต่ก็มีความเปราะหักง่ายในตัวเอง)ผู้ใหญ่ก็จะใช้บันไดไม้ไผ่ยาวปีนขึ้นไปคล้องเชือกทำชิงช้าให้เด็กๆเล่น สามารถนั่งได้สามสี่คน เวลาแกว่งชิงช้า ต้องมีคนมาคอยผลักแกว่งให้ ชิงช้านี้จะโยนตัวได้สูงและไกล คนนั่งกลางก็จะเสียวและตกลงมาง่ายๆ ดังนั้นท่านั่งชิงช้าใหญ่อันนี้จะแปลกกว่าชิงช้าอื่น คือแทนที่จะนั่งห้อยขาสองข้างต้องเป็นการนั่งคร่อมไม้กระดานปู และจับเอวคนหน้าให้แน่น คนที่นั่งด้านหัวกระดานทั้งด้านหัวด้านท้ายก็จะใช้สองมือจับเชือกของชิงช้าทั้งสองเส้นให้มั่นคง ยิ่งแกว่งแรงก็ยิ่งเสียว เพราะชิงช้าจะโยนตัวไปมาเร็วและแรงนั่นเอง การนั่งชิงช้าวิธีนี้ก็ไม่มีเด็กตกชิงช้า และน่าจะเป็นการนั่งชิงช้าไม่เหมือนใครๆกระมัง การนั่งชิงช้าแกว่งแรงๆแบบนี้ต้องเป็นเด็กโตและถือเป็นการผจญภัยหวาดเสียว ใกล้ๆกับต้นคลัก มีต้นหมากและต้นมะม่วงพิมเสนมันกลายแสนอร่อย( เด็ก ๆ มักใช้คำว่าอร่อยเหาะ เลยทีเดียว)

ยังมีชิงช้าอีกอันแขวนกับกิ่งใหญ่ของต้นแสมต้นใหญ่ปากคลองหน้าบ้านคุณยายเล็ก เวลาแกว่งชิงช้า ชิงช้าจะลอยพุ่งออกทางริมแม่น้ำเลียบแนวคลอง รัศมีการถอยกลับของชิงช้าถ้าแกว่งแรง ๆ จะกระแทกกับต้นหมากข้างต้นมะม่วงพิมเสนมันกลายดังกล่าว
การแกว่งชิงช้า ของพี่ๆผู้ชายที่มีเรียวแรงมากๆ จะผลักชิงช้าตั้งใจให้กระแทกต้นหมาก (คนนั่ง นั่งคร่อมไม้ หัวไม้ที่นั่ง พุ่งออกด้านแม่น้ำ ท้ายไม้ที่นั่ง พุ่งกระแทกต้นหมาก การแกว่ง จึงเป็นการแกว่ง ผลักปลายไม้ที่นั่งออกไปสุดแรงเกิด)
ตอนที่ไม้นั่งกระแทกต้นหมาก ก็จะเกิดแรงสะท้อนเสียงดัง ปึก ปึก คนบนไม้นั่งก็ กระเทือนไปทั้งตัว เรียกได้ว่า กระเทือนซาง นั่นแหละ ขั้นตอนนี้เด็กผู้หญิงไม่ค่อยมีใครกล้านั่งนัก ส่วนใหญ่มีแต่เด็กผู้ชาย เล่นกัน ( แต่พลอยโพยม ใจกล้า ก็เคยนั่งหลายๆครั้ง เหมือนกัน) ต้นหมากต้นนี้เป็นของคุณยายเล็ก น้องสาวคุณยาย เพราะบริเวณที่เราเล่นกัน เป็นบริเวณหน้าบ้านของคุณยายเล็ก คุณยายเล็กก็ปล่อยให้พวกเรากระแทกต้นหมากได้ไม่ดุว่า จะดุก็เพียงเกรงเกิดอันตรายเท่านั้น ต้นหมากต้นนี้ก็เลยอยู่ในลักษณะมีร่องรอยกระแทกลำต้น เป็นขุยขาว ๆ ที่ผิว เหวอะหวะ ต้องเรียกว่า หมากต้นนี้ โปยเซี่ย ทีเดียว


ตันคลักมีทรงพุ่มสวยงามเช่นนี้

การทำฟืน หากเป็นฟืนของต้นคลัก ก็จะเป็นไม้ที่เลื่อยยาก เพราะเนื้อไม้แข็ง แต่ต้นแสม จะเนื้ออ่อนเปราะยุ่ยว่าคลัก การเลื่อยฟืนฝ่าฟืนของบ้านบางกรูดหากเห็นว่าเป็นตันคลัก สะแก หรือต้นตะบูน เด็ก ๆ ก็มักเหนื่อยใจไว้ก่อน ว่า เจองานลำบากเสียแล้ว เพราะเป็นไม้เนื้อแข็ง เลื่อยเป็นท่อนๆลำบาก แต่เวลาใช้ขวานใหญ่ จามผ่าซีก กลับผ่าได้ง่าย จามขวานทีเดียวเนื้อไม้จะแตกโพล๊ะออกมา ไม้คลักแม้จะแข็ง แต่ก็นับเป็นไม้เนื้อเปราะ คือ แข็งเปราะนั่นเอง
แต่ไม้แสม ที่เนื้ออ่อนยุ่ยกว่า กลับเป็นไม้ที่ผ่าซีกได้ลำบากเพราะเนื้อไม้ของลำต้นแสมจะเป็นชั้นๆ เสี้ยนเนื้อไม้แสม ไม่หันทิศทางไปทางเดียวกันแบบคลัก ตะบูน



ต้นคลักปลูกเรียงรายเป็นทิวตามแนวถนนเข้าบ้านเรือนลำพูรีสอร์ทที่บางกรูด

ต้นคลักหรือพังกาหัวสุม มี 2 ชนิด คือ พังกาหัวสุมดอกขาว และพังกาหัวสุมดอกแดง
ที่บางกรูดจะพบเห็น พังกาหัวสุมดอกขาว


พังกาหัวสุมดอกขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์ Bruguiera sexangula Poir.
วงศ์ RHIZOPHORACEAE
ชื่ออื่นขลัก (ชุมพร) , พังกาหัวสุม (กระบี่, ตรัง) ประสักขาว , ประสักหนู
เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง 20-30 เมตร โคนต้นมีพูพอนสูง รากหายใจรูปคล้าย
เข่า มีรากค้ำจุนขนาดเล็ก กิ่งอ่อนสีเขียว บางครั้งเหมือนถูกย้อมด้วยสี แดง เปลือกสีเทาเข้มถึงสีน้ำตาลอมเทา ผิวเปลือกหยาบ เป็นสะเก็ด แตกเป็นร่องตามยาว ช่องอากาศขนาดใหญ่มีน้อย มีเฉพาะที่พูพอน

ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับทิศทาง แผ่นใบรูปรีถึงรูปขอบขนาน แกมรูปรี ปลายใบและฐานใบแหลม
ดอก ออกดอกเดี่ยวๆ ตามง่ามใบ สีเขียว กลีบเลี้ยง สีเหลืองอ่อน หรือเขียวอมเหลือง หรือเขียวอมชมพู หลอดกลีบเลี้ยงยาว มีสัน กลีบดอก ขอบกลีบมีขน
ผล รูปคล้ายลูกข่าง ผิวเรียบ เป็นผลแบบงอก ตั้งแต่ยังติดอยู่บนต้น ลำต้นใต้ใบเลี้ยง หรือ ฝัก รูปซิการ์ สีเขียว มีเหลี่ยมเล็กน้อย โคนสอบทู่ ออกดอกและผลเกือบตลอดทั้งปี
ลักษณะเด่น ดอกสีขาว ผล เป็นเหลี่ยมยาว ผิวไม่เรียบ สัมผัสด้วยมือจะรู้สึกสากมือ และทรงพุ่มของเรือนยอดเป็นรูปสามเหลี่ยม และมีสีเข้มมองเห็นได้ชัดเจน
การเจริญเติบโต ขึ้นกระจายถัดเข้าไปจากแนวโกงกางใบเล็ก บนพื้นดินที่ค่อนข้างแข็ง และน้ำท่วมถึงอย่างสม่ำเสมอหรือ เขตป่าชายเลนที่มีความเค็มของน้ำค่อนข้างต่ำ ออกดอก - ผลเกือบตลอดปี

ประโยชน์ ลำต้นใช้ทำฟืน เผาถ่าน ทำที่อยู่อาศัย เครื่องมือประมง เสาโป๊ะ หลักเลี้ยงหอยแมลงภู่

หมายเหตุ พังกาหัวสุมดอกขาว กลีบเลี้ยงสีเขียวอมเหลือง กลีบดอกสีขาว ฝักคล้ายรูปซิการ์ แตกต่างจากพังกาหัวสุมดอกแดงที่มีกลีบเลี้ยงสีแดงปนเขียว กลีบดอกสีแดงอมชมพู ฝักคล้ายรูปกระสวย.

พังกาหัวสุมดอกแดง ไม่มีที่บางกรูด
พรรณไม้เหล่านี้ เกิดและแพร่พันธุ์ เองตามธรรมชาติ ไม่ต้องเสียแรงไปลงแรงปลูก นอกจากต้องการให้เกิดเป็นแถวแนวที่คนต้องการ
หรือการตัดแต่งกิ่ง ของต้นแสมให้เป็นทรงพุ่มที่ต้องการ หรือคงระดับความสูงของต้นแสม ที่จัดแถวหรือแนวไว้แล้วให้แตกได้เฉพาะยอด ก็สามารถ ตัดแต่งได้ตามอัธยาศัย ก็จะได้แถวต้นแสมแช่น้ำริมฝั่งหน้าบ้าน งดงามแปลกตาไปจากบ้านอื่นๆ
หรือจากภาพข้างบน ที่มีการปลูกต้นคลักเป็นริมแนวถนนเข้าบ้าน เป็นต้น


ที่มา
http://kanchanapisek.or.th
http://www.talaythai.com
http://tanhakit.blogspot.com/



พังกาหัวสุมดอกแดง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น