วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

พรรณไม้ชายทุ่ง...ดอกขลู่...



พรรณไม้ชายทุ่ง...ขลู่บาน ตระการทุ่ง...



...ขลู่...พรรณไม้ชายทุ่ง...

ฃื่อวิทยาศาสตร์ Pluchea indica (L ) less.
ชื่อสามัญ Indian Marsh Flebane
ฃื่อท้องถิ่น หนวดงั่ว หนวดงิ้ว หนาดงัว หนาดวัว คลู ขลู


เป็นไม้พุ่มสูง ๑- ๒.๕ เมตร ชอบขึ้นในที่แฉะ ใบเดี่ยว เรียงสลับรูปไข่กลับ ขอบใบหยักซี่ฟันห่างๆ ดอกช่อ ออกที่ยอดและซอกใบ กลีบดอกสีม่วง ผล เป็นผลแห้ง ไม่แตก ต้นขลู่ที่ขึ้นอยู่รกเรื้อยากต่อการกำจัดทิ้ง มีอยู่ดาษดื่นทั่วท้องทุ่ง ชายคลอง ริมคูน้ำมีประโยขน์มากมาย เป็นสมุนไพรที่ไม่ต้องลงแรงปลูก หาได้ง่ายทั่วท้องถิ่น


สรรพคุณ : ตามตำราไทย ใช้ทั้งต้น ต้มกินเป็นยาขับปัสสาวะ แก้เบาหวาน ต้มน้ำอาบแก้ผื่นคัน น้ำคั้นใบสดรักษาริดสีดวงทวาร การทดลองในสัตว์และคนปกติ พบว่ายาชงทั้งต้นมีฤทธิ์ขับปัสสาวะมากกว่ายาขับปัสสาวะแผนปัจจุบัน (hydrochlorothiazude) และมีข้อดีคือสูญเสียเกลือแร่น้อยกว่า


ร.ศ. วีณา เชิดบุญชาติ แยกสรรพคุณ ขลู่ออกมาดังนี้

- ดอก ใช้ต้มดื่มเพื่อขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
- ทั้งต้น ใช้ต้มดื่มเพื่อแก้นิ่วในโรคไต ขับปัสสาวะ แก้ริดสีดวงทวาร
- ยอดอ่อน มีรสมันรับประทานเป็นผักสด
- เปลือกต้น มวนยาสูบแก้โรคริดสีดวงจมูก ใช้ต้มเอาไอบรรเทาการอักเสบริดสีดวงทวาร
- ใบ แก้ริดสีดวงทวาร แก้กษัย ขับนิ่ว ขับปัสสาวะ แก้ไข้ ขับเหงื่อและแก้เบาหวาน นำใบมาผึ่งให้แห้งและชงดื่มเพื่อลดน้ำหนัก บรรเทาอาการปวดเมื่อย ต้มน้ำอาบรักษาเส้นตึง ทำเป็นขี้ผึ้งรักษาแผลเรื้อรัง ใช้ลดน้ำหนักตัว ดื่มเป็นชาโดยใช้ใบสดหรือใบแห้งคั่วให้เหลือง ชงดื่มแทนชา


"พลอยโพยม" เห็นต้นขลู่นี้มาตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อย ไม่เคยสนใจใส่ใจต้นขลู่นี้เลย จนกระทั่งต้องหัดถ่ายภาพเองเพื่อประกอบหนังสือ เพิ่งมาสะดุดตากับดอกขลู่ที่พบเห็นมาเนิ่นนาน ก็เลยถ่ายภาพเป็นซีรี่ส์ดอกขลู่ไว้ เมื่อหลายเดือนก่อนพลอยโพยมขับรถไปที่วัดบางกรูด พบเห็นมีคนเช่ารถแท๊กซี่เขียวเหลืองมาเก็บต้นขลู่ เลยจอดแวะสอบถาม ผู้หญิงที่มาเก็บต้นขลู่บรรยายสรรพคุณของขลู่และตั้งใจจะเก็บต้นขลู่กลับกรุงเทพให้เต็มคันรถเพื่อให้คุ้มค่าที่มาไกล ยังแปลกใจว่าต้นขลู่มีออกดาษดื่นเหตุใดจึงมาเก็บไกลถึงวัดบางกรูด...

พลอยโพยมก็ได้ยินคนพูดถึงต้นขลู่กันมากเหมือนกัน นึกถึงสมัยเด็กๆ คุณยาย กับพ่อ นิยมยาไทยจากบรรดาต้นไม้พิ้นบ้านมาก เด็กๆ ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ ก็กิน ยาไทยๆ นี่แหละ ที่ขาดไม่ได้ คือน้ำกระสายยา( เครื่องแทรกยา ส่วนใหญ่เป็นน้ำ) มีหลายชนิด เช่นเหล้า ( ส่วนใหญ่ใช้เป็นกระสายยา ทางผิวหนัง หรือแก้พิษ) น้ำแช่ดอกไม้ตากแห้ง ( หลายชนิดส่วนใหญ่เป็นมะลิ) มีที่แปลกหน่อยคือ แก่นท่อนไม้ ฝนกับฝาละมี โดยผสมน้ำนิดหน่อย กระสายยาก็จะเป็น น้ำผสมดินเผาจากฝาละมี และแก่นท่อนไม้ มีแก่นไม้ชนิดหนึ่ง คุณยายเรียกว่าไม้อีแทน เป็นแก่นไม้ยอดฮิตใช้บ่อยมากสำหรับคุณยาย พลอยโพยม หาไม่พบว่า ไม้อีแทน คือ ต้นไม้ใด...ทำให้นึกถึงคำอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญ กรมประมง ที่บอกเสมอว่า พันธุ์สัตว์น้ำต่างๆ ต้องรู้และจำชื่อภาษาอังกฤษ ถ้าใช้คำท้องถิ่นจะสับสน บางท้องถิ่น เรียกชื่อเหมือนกัน แต่กลายเป็นคนละสายพันธุ์กัน คนละชนิดกัน เถียงกันเปล่าๆ บางทีคำท้องถิ่นเอง ก็เพี้ยนไปจากเดิมที่เคยเรียกกันมา หากตอนเด็กเข้าใจเรื่องคำท้องถิ่น ก็คงได้รู้แล้ว ว่าไม้อีแทนของคุณยาย คือ ต้นอะไร...


ที่มาของข้อมูล : สารานุกรมไทย สมุนไพรสวนสิริรุกขชาติ



...ลีลาหญ้าขลู่...จากแรกเริ่มบาน จนกระทั่งเริ่มโรย...


...Photo by Amorn Tun...











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น