วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

พรรณไม้ชายทุ่ง...กกสามเหลี่ยม...



...กกสามเหลี่ยม กกตะกรับ หญ้าตะกรับ...

'ตะกรับ' ในพจนานุกรม ตะกรับ มี ๓ ความหมายคือ

๑. หมายถึง ดินเผาหรือเหล็กเป็นแผ่นเจาะเป็นรูสำหรับรองถ่านเพื่อให้ลมเดินผ่านได้และขี้เถ้าตกลงข้างล่าง ,รังผึ้งก็ว่า
๒. ปลาทะเลหรือน้ำกร่อยชนิดหนึ่ง
๓. ชื่อกกชนิด Cyperus Procerus Rottb ในวงศ์ Cyperaceae ลำต้นเป็นสามเหลี่ยม ใบยาวและแคบ ดอกสีน้ำตาล

ในเอกสารหลายฉบับใช้เรียก "กกตะกรับ" ชื่อสามัญว่าActinoscirpus grossus (L.f.) Goetgh. & D.A. Simpson อยู่ในวงศ์ CYPERACEAE และมีชื่ออื่นคือกก กกปรือ กกสานเสื่อ กกตะกรับ กกตาแดง กกคมบาง แห้วหิน แต่จากพรรณไม้น้ำเมืองไทยของกรมประมง "ตะกรับ" หมายถึง "หญ้าตะกรับ" ซึ่งทั้งชื่อและวงศ์ตรงกับ พจนานุกรม และถือเป็นกกชนิดหนึ่ง มีรูปร่างเป็นสามเหลี่ยม มีใบประดับรองรับช่อดอกจำนวน ๒-๔ ใบ

ส่วนกกสามเหลี่ยม มีชื่อสามัญว่า "Bulrus" ชื่อวิทยาศาตร์ Scirpus grossus L.f อยู่ในวงศ์ CYPERACEAE เป็นพืชล้มลุกอายุหลายฤดู ขึ้นได้ทั้งในน้ำนิ่งและน้ำไหล เช่นในนาข้าวและคันคูน้ำทั่วไป แตกเป็นกอสูง ๑-๒ เมตร ใบยาว ๕๐-๑๐๐ ซ.ม. ลักษณะใบค่อนข้างกว้างเป็นร่อง ปลายใบแหลม ดอกออกเป็นช่อรวม มีก้านช่อดอกเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ มีใบประดับ ๓ ใบรองรับช่อดอก ช่อดอกย่อยมีดอกขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก สีน้ำตาล ก้านช่อดอกยาว นิยมนำมาตากแห้งใช้ทอเสื่อ

กกสามเหลี่ยมนี้พบเห็นได้ทั่วไปไม่ต้องลงแรงปลูก บ้านในชนบททั่วไปแทบทุกภาค จะรู้จักการนำกกมาทอเสื่อ อุปกรณ์การทอเสื่อที่เรียกกันว่า ฟืม ซึ่งเป็นเครื่องมือในการทอเสื่อ ( อุปกรณ์ทอผ้า ก็เรียกฟืม เช่นเดียวกัน )เมื่อตัดต้นกกแล้ว จะต้องเอาไส้กกออก ลักษณะของกกสามเหลี่ยมนั้นลำต้นเป็นสามเหลี่ยม การเอาไส้กกออก ก็คือ ใช้มีดปลายแหลมกรีดเอาผิว กก ออกมา รอบต้นทั้งสามด้าน (หากคนไม่ชำนาญ ก็อาจได้ไม่ครบสามเส้น ) จะเหลือไส้กก สีขาว เนื่องจากต้นกกอยู่ใกล้น้ำ ดังนั้นลำต้นจึงอุ้มน้ำ (ลักษณะคล้ายผักตบชวา แต่เนื้อของไส้ ละเอียดแน่นกว่าผักตบชวา ) ทำให้ ไส้กกมีความเย็น จนต้องใช้คำว่าเย็นฉ่ำ เด็กๆมักชอบนอนบนไส้กกเวลาที่ผู้ใหญ่ เอาผิวกกออกไปแล้ว

ที่บ้านของพลอยโพยม จะกรีดผิว กก ในตอนกลางคืน โดยตัดต้นกกและล้างน้ำเอาดินโคลนออกไปตั้งแต่ ในเวลากลางวัน พอหัวค่ำ ก็เริ่มทำกก กัน เด็กๆก็คอยเล่นไส้กกเอามากองที่นอกชาน แล้วนอนชมดาวเดือนเป็นเพื่อนพวกผู้ใหญ่ เย็นสบายใจเด็กกัน พอรุ่งเช้า ก็เอาผิวกก คลี่ตากแดดให้แห้ง ผิวกกโดนความร้อนก็จะห่อตัวกลายเป็น กก เส้นกลมๆสีน้ำตาล เมื่อแห้งดี ก็รวบกก มัดเป็นกำๆ แล้วแขวนห้อยลงตามความยาวไว้ รอนำไปใช้งานต่างๆ นอกจากทอเสื่อแล้ว กกนี้ก็ใช้ มัดข้าวต้มมัดผัด หรือใช้ต่างเชือก สำหรับ มัดของเล็กๆน้อยๆ ของพ่อค้าแม่ค้าขายผัก ขายของชำ

ส่วนการทอเสื่อกก นั้น แทบทุกบ้านก็ทอเสื่อกก กันเองในครัวเรือนไม่ต้องไปซื้อหาเสื่อให้เสียเงิน ขนาดความกว้างยาวของเสื่อ ก็ทำตามใจชอบของผู้ใช้งาน โดยใช้สายปอสอดลอดตามช่องของฟืม เป็นการกำหนดลายของเสื่อและขนาดความกว้างของเสื่อ ส่วนความยาวไม่จำกัด จะยาวเท่าไรก็ได้ ปัจจุบัน เสื่อกกที่ทอใช้กันในบ้านเรือน เปลี่ยนจากสายปอ เป็น เส้นเชือกพลาสติกกันหมดแล้ว มีโรงเรียนบางแห่งฝึกหัดนักเรียนให้ทอเสื่อกก นอกจากนี้ในบางท้องถิ่นการทอเสื่อกกยังถูกจัดรวมเป็นกิจกรรมในงานจุลกฐิน เพื่อเป็นการจำลองวิถีไทยนอกจากประเพณีทำผ้าจีวรพระ ทั้งการปั่นด้าย กรอด้ายทอผ้า ย้อมผ้า ตัด เย็บ ต้องให้สำเร็จเสร็จเป็นจีวร ภายในวันเดียว และต้องทันหมายกำหนดการทอดกฐินด้วย บางครั้ง ก็ต้องทอดกฐินกันเวลา สองทุ่ม เพราะต่องรอการทำไตรจีวรให้แล้วเสร็จนั่นเอง...


...หญ้ากก ริมน้ำบางปะกง...Photo by Amorn Tun...






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น