วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554
...พระอุโบสถ "วัดโสธร"...
...พระอุโบสถ "วัดโสธร"...
สิ่งก่อสร้างที่สำคัญมากที่สุดของวัดโสธรวรารามวรวิหาร คือ " พระอุโบสถ" นอกจากใช้เป็นอาคารสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว ยังเป็นที่ประดิษฐาน " พระพุทธโสธร" และพระประธานของวัดด้วย พระอุโบสถยังเป็นวัตถุพยานที่สามารถบ่งบอกชื่อเสียงและความเจริญรุ่งเรืองของวัดโสธร ฯ และหลวงพ่อโสธร ศรัทธาของประชาชน ตลอดจนสะท้อนสภาพบ้านเมืองในแต่ละยุคสมัยอย่างมีนัยสำคัญ
จากหลักฐานที่ปรากฎจากอดีตจนปัจจุบัน...พบว่าวัดโสธร ฯ มีการสร้างพระอุโบสถมาแล้วรวมทั้งสิ้น 5 หลัง
หลังแรกนั้น... ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบต่อกันมา มีลักษณะเป็นศาลาเรือนไม้ ต่อมามีผู้มาแก้บนโดยสร้างพระอุโบสถใหม่ถวาย
ซึ่งหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับพระอุโบสถหลังที่สองนี้ ปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในแผ่นเงินจารึกเจดีย์ใหญ่พบที่วัดพยัคฆ์อินทาราม (วัดเจดีย์) ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา สามารถสันนิษฐานได้ว่าพระอุโบสถหลังนี้น่าจะสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ใน พ.ศ. 2416 โดยพระยาวิเศษฤาไชย (ช้าง) เจ้าเมืองฉะเชิงเทรา เป็นผู้สร้าง ทางจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้คัดลอกข้อความบางตอนจากจารึกมาพิมพ์เผยแพร่ มีใจความว่า
"ครั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทร์มหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้าพเจ้านายช้างได้เป็นได้เป็นพระวิเศษฤาไชย เจ้าเมือง นายเสือได้เป็นพระเกรียงไกรขบวนยุทธ ปลัดเมืองฉะเชิงเทรา เต็มวาสนาสมบัติบริบูรณ์ ณ ปีระกา เบญจศกพุทธศัการาชล่วงได้ 2416 พรรษา จุลศักราชล่วงได้ 1235 ปี ข้าพเจ้าพระยาวิเศษฤาไชย ได้สร้างพระอุโบสถที่วัดโสธร พูนดินเป็นถนนตั้งแต่เมืองฉะเชิงเทรา 26 เส้น ถึงอุโบสถวัดโสธร มีภรรยาปลูกศาลา ขุดสระ กึ่งกลางถนน พระเกรียงไกรขบวนยุทธปลัด กับ อินทร ภรรยา สร้างเจดีย์ที่เนินสะแก บ้านสัมประทวน ครั้น ณ เดือน 7 ปีกุน สัปตศก การที่สร้างพระอุโบสถ ทำถนน ขุดสระ ทำศาลา และการสร้างเจดีย์ฐานสำเร็จแล้วพร้อมกัน ติดธุระทรัพย์ที่สร้างอุโบสถและทำถนน ทำศาลา เป็นเงินตรา 35 ชั่ง เหมือนกัน"
จากหลักฐานที่ปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษรสามารถสืบค้นประวัติศาสตร์การสร้างพระอุโบสถได้ตามลำดับดังนี้
พ.ศ. 2416 หลังที่ 2 พระยาวิเศษฤาไชย (ช้าง) เป็นผู้ออกทุนทรัพย์และดำเนินการก่อสร้าง
พ.ศ. 2469 หลังที่ 3 พลตรี พระยาสุรนารถเสนีย์ ผู้บัญชาการทหาร ( ผ.บ.พล 9 ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่ค่ายศรีโสธร ปัจจุบัน) เป็นผู้หาทุนดำเนินการก่อสร้าง เพื่อขยายอุโบสถให้กว้างและยาวกว่าหลังเดิม พระอุโบสถหลังนี้รื้อไปเมื่อ พ.ศ. 2497
พ.ศ. 2497 หลังที่ 4 บ้านเมืองขยายมากตัวขึ้น การคมนาคมมีการพัฒนารวดเร็วกว่าก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชาชนเดินทางมานมัสการหลวงพ่อมีจำนวนมากขึ้น อุโบสถหลังเดิมไม่สะดวกเมื่อมีงานเทศกาล คณะกรรมการทั้งฝ่ายวัดและราชการดำเนินการจัดสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่จนแล้วเสร็จในปี 2499
14 มกราคม พ.ศ. 2531 หลังที่ 5 สร้างขึ้นสนองตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาทรงวางศิลาฤกษ์งานก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ และก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2549
ขอขอบคุณภาพจากอินเทอร์เนท
ป้ายกำกับ:
บทความ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น