วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554
...พระบรมสารีริกธาตุ...
...พระบรมสารีริกธาตุ...
พระธาตุ คือกระดูก หรือส่วนของร่างกายต่าง ๆ เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โลหิต ฯลฯ ของบุคคลที่บรรลุธรรมขั้นสูง มีจิตใจบริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลศ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
"พระบรมสารีริกธาตุ" หมายถึงพระธาตุส่วนย่อยที่บังเกิดแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และ "พระอรหันตธาตู" หมายถึงพระธาตุของพระอรหันตสาวก
ตามตำราโบราณกล่าวไว้ว่า...พระธาตุที่พบโดยทั่วไป มี 4 สัณฐานหลัก ได้แก่ คล้ายเมล็ดข้าวสาร ถั่ว งา และเมล็ดพันธุ์ผักกาด มีลักษณะผิวเรียบมันคล้าย กรวด หิน แก้วเพชร ส่วนมากมีน้ำหนักค่อนข้างเบาเมื่อเทียบกับขนาด มีหลายสี บางชนิดสามารถลอยน้ำได้ โดยเมื่อลอยด้วยกันจะดึงดูดเข้าหากันและลอยติดกันเป็นแพ นอกจากนี้ยังสามารถเสด็จมาเพิ่มจำนวนมากขึ้นหรือลดลงหรือเปลี่ยนขนาดและสีสันเองได้ด้วย
ตามตำนานกล่าวไว้ว่า...พระบรมสารีริกธาตุเกิดขึ้นจากพุทธประสงค์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ต้องการให้พุทธบริษัททั้งหลายที่เกิดมาภายหลังได้อัฐิธาตุของพระองค์ไปสักการบูชา อันจะนำผลไปสู่สุคติภพ จึงทรงอธิษฐานให้พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์แตกย่อยลงเป็น 3 สัณฐาน ยกเว้นเพียงพระธาตุ 7 ประการ คือพระนลาฏ(กระดูกหน้าผาก) 1 พระเขี้ยวแก้ว 4 และพระรากขวัญ(กระดูกไหปลาร้า) 2 ที่นำไปประดิษฐานเฉพาะที่ นอกนั้นให้กระจายไปทั่วทิศานุทิศ เพื่อให้หมู่มวลสรรพสัตว์อัญเชิญไปสักการบูชา
ความเชื่อโดยทั่วไป...นิยมบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในปูชนียสถาน เช่น พระสถูปเจดีย์ และพระมหาธาตุเจดีย์ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนมาสักการบูชา โดยจะต้องศึกษาจารีตประเพณีและธรรมเนียมปฏิบัติในการบรรจุอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้น อาจเกิดความเสียหายให้แก่องค์พระธาตุ เช่น ต้องใข้ภาชนะในการบรรจุที่แน่นหนาทนทาน โดยชั้นในสุดใช้ตลับไม้จันทน์ ชั้นต่อมาเป็นตลับเงิน ทอง นาก ส่วนชั้นนอกสุดควรเป็นหินอ่อน ไม่ควรบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่ยอดของเจดีย์ เพราะเป็นส่วนที่เล็กที่สุด เสี่ยงต่ออันตราย และอาจกระทบกระเทือนต่อองค์พระธาตุได้ง่ายที่สุด ไม่ควรบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในภาชนะเดียวกันกับพระอรหันตธาตุ เป็นต้น
จาก โสธรวรารามวรวิหาร นิมิตแห่งบุญ
ป้ายกำกับ:
บทความ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น