วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2554
[บทความ] "วัดโสธรวรารามวรวิหาร"...วัดคู่เมืองแปดริ้ว...
ขอขอบคุณภาพจากwww.pattayadailynews.com
[บทความ] "วัดโสธรวรารามวรวิหาร"...วัดคู่เมืองแปดริ้ว...
อันดินแดนสุวรรณภูมิที่ตั้งของประเทศไทย... เป็นถิ่นฐานที่มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติหลากหลายศาสนาโยกย้ายถิ่นฐานเดิมของตนเองเข้ามาอยู่อาศัยตั้งหลักแหล่ง สืบทอดเชื้อสาย ประเพณีและวัฒนธรรม ดั้งเดิมของตนเองกันมากมายและกระจายอยู่ทั่วไปทุกส่วนภาคของไทย
ชาวมอญ เป็นชนชาติหนึ่งซึ่งอพยพมาจากตอนใต้ของประเทศพม่าที่ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา สถานที่เป็นที่นิยมเข้ามาตั้งถิ่นฐานก็คล้ายกับชาวจีน คือแถมลุ่มน้ำต่างๆ ซึ่งชาวมอญเองมักมีหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกถึงการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชนชาติมอญ คือ วัด ในลักษณะที่คล้ายกับคนจีนคือโรงเจ ชาวจีนไปถิ่นตั้งถิ่นฐานที่ใดก็จะสร้างโรงเจ ที่นั่น ชาวมอญก็เช่นกัน ชาวมอญเป็นชนชาติหนึ่งที่เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง เมื่อมีการสร้างชุมชนชาวมอญที่ใด ก็จะมีการสร้างวัดควบคู่ไปด้วย สัญลักษณ์ที่บ่งบอกความศรัทธาชองชาวมอญก็คือมีเสาหงส์ตั้งอยู่ในวัด ซึ่งที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร นั้นตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง ในอดีตกาลมีชื่อว่า วัดหงส์ มาก่อนและเคยมีเสาหงส์อยู่ในวัด เป็นที่สันนิษฐานว่า วัดหงส์นี้ เป็นวัดของชาวมอญมาก่อน ซึ่งสาเหตุการสร้างเสาหงส์ของชาวมอญนั้นยังหาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้ แต่ได้มีผู้สันนิษฐานว่าอาจมีที่มาดังนี้คือ
แต่เดิมชาวมอญมีคติการสร้าง "เสาธง" เพื่อเป็นเครื่องบูชาพระพุทธเจ้า เพราะเชื่อว่าได้อานิสงส์สูงยิ่งนัก มีตำนานกล่าวไว้ในพุทธประวัติว่า ในครั้งพุทธกาล มีชาวบ้านป่าที่ยากจนเช็ญใจ แต่มีความศรัทธาแรงกล้าในพระพุทธศาสนาและต้องการบูชาพระพุทธคุณได้นำผ้าห่มนอนเก่า ๆ ของตนผูกและชักขึ้นเหนือยอดเสา จนเกิดอานิสงส์ผลบุญ เมื่อสิ้นชีวิตไปได้เกิดเป็นพระราชา ที่เพียบพร้อมทั้งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติในภพชาติต่อมา จากตำนานดังกล่าวจึงเกิดประเพณีการสร้างเสาธงสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน เสาธงและธงที่ปรากฎอยู่ตามวัดต่าง ๆ ของชาวมอญ ยังมีความหมายแทนธงชัยของพระอรหันต์ที่ประกาศให้สังคมโลกได้รับรู้ถึงสัจธรรมและความมีชัยต่อสรรพทุกข์ทั้งปวงในทางพระพุทธศาสนา
ส่วนประเพณีการสร้าง "เสาหงส์ " สันนิษฐานว่ามีเรื่องราว เกิดขึ้นเมื่อราวร้อยกว่าปีมานี้ โดยชาวมอญที่จากบ้านเกิดเมืองนอนเมืองมอญมาอยู่ เมืองไทยสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเมืองหงสาวดี เนื่องจาก "หงส์" เป็นสัตว์มงคลที่ชาวมอญเมืองหงสาวดีใช้เป็นสัญลักษณ์ของดินแดน นอกจากนี้อาจมีที่มาจากการที่ หงส์ เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ โดยเป็นพาหนะของพระพรหมตามคติของชาวฮินดู เมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามามีอิทธิพลแทนที่ศาสนาฮินดู ผู้ที่เคยนับถือศาสนาฮินดูแล้วเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ ได้นำคติความเชื่อเรื่องหงส์ มาผนวกเข้ากับความเชื่อทางพระพุทธศาสนาด้วย
วัดโสธร ฯ ในสมัยแรก ๆ ก็เหมือนกับวัดต่างจังหวัดทั่ว ๆ ไปไม่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอยู่ห่างไกลความเจริญ พื้นที่ใกล้เคียงมีเพียงหมู่บ้านเล้ก ๆ และเป็นป่า จะสร้างขึ้นเมื่อใดนั้นไม่ปรากฎหลักฐานที่แน่ชัด อิงตามพงศาวดารทำให้เชืื่อได้ว่าน่าจะสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โดยใช้ชื่อว่า "วัดหงส์" มีที่ตั้งเดิมอยู่ชิดริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงทางด้านตะวันตก ต่อมาแม่น้ำกัดเซาะจนตลิ่งพังลงมา วัดเดิมจึงหายไป มีการสร้างวัดขึ้นใหม่แทนที่และถอยร่นจากริมฝั่งแม่น้ำเข้ามา
ที่มาของชื่อ "วัดหงส์" เนื่องจากวัดมีลักษณะเด่นที่มีเสาสูงใหญ่มีหงส์เป็นเครื่องหมายอยู่บนยอดเสา ต่อมาเกิดพายุใหญ่พัดตัวหงส์บนยอดเสาหักลงมาเหลือแต่ตัวเสาชาวบ้านจึงเอาธงขึ้นไปแขวนแทน และเปลี่ยนชื่อวัดว่า "วัดเสาธง" แทน ครั้นเมื่อเกิดพายุพัดเสาธงหักลงอีกครั้งชาวบ้านจึงพากันเรียก "วัดเสาธงทอน" บ้าง "วัดเสาทอน" บ้าง แต่เนื่องจากคำเรียกขานไม่ไพเราะ กอปรกับต่อมาได้มีการออัญเชิญพระพุทธรูปที่ลอยน้ำมาขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดนี้ได้ ชาวบ้านได้พร้อมใจเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "วัดศรีโสทร" ซึ่งสันนิษฐานว่ามาจากชื่อเดิมขององค์พระที่อยู่วัดศรีเมือง ทางภาคเหนือ แต่บางตำราก็กล่าวว่าชื่อ "วัดโสทร" อันหมายถึงพระพุทธรูป สามองค์ ซึ่งพี่น้องร่วมอุทร สามคน ร่วมกันสร้างขึ้นและลอยน้ำมาตามตำนาน (ความหมายของคำว่า"โสทร" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน แปลว่า พี่น้องร่วมท้องกัน)
สำหรับคำว่า "โสธร" ที่ปรากฎในปัจจุบันนั้น มีความหมายว่า "บริสุทธิ์" หรือ "ศักดิ์สิทธิ์" สันนิษฐานว่ามาจากการที่หลวงพ่่อโสธรเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์และมีรูปทรงสวยงาม
จุดเปลี่ยนที่สำคัญของวัดโสธร ฯ... เกิดขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี ราว พ.ศ. 2313 หลังจากว้ดได้อัญเชิญ "หลวงพ่อโสธร" ขึ้นจากลำน้ำบางปะกงมาประดิษฐานอยู่ที่วัด
"วัดโสธรวรารามวรวิหาร"... ถือว่าเป็นวัดที่มีลักษณะดี ด้วยมีทำเลที่ตั้งเป็นสถานที่ศักดิิ์สิทธิ์และเป็นที่ธรณีสงฆ์ในการรักษาศาสนาสืบไป ตั้งอยู่ริมฝั่ง มีแม่น้ำบางปะกงโอบล้อมทางทิศใต้ จากความเชื่อเรื่อง "ฮวงจุ๊ย" ในธรรมเนียมจีน ทำเลลักษณะนี้เรียกว่า "ที่มังกร" โดยเฉพาะที่หลวงพ่อประดิษฐานอยู่ทุกวันนี้ ถือเป็นส่วน หัวมังกร ซึ่งมีคำทำนายทายทักว่า หากพระพุทธรูปใดประทับ ณ สถานที่ลักษณะนี้ จะเกิดรัศมีบารมีและความศักดิ์สิทธิ์ในอันที่จะรักษาบ้านเมืองและสืบทอดพระพุทธศาสนาสืบต่อไป จนนำมาสู่ความเชื่อว่าห้ามเคลื่อนย้ายองค์หลวงพ่อจากที่เดิมเด็ดขาด ที่ผ่านมาเจ้าอาวาสองค์ก่อน ๆ มีความคิดที่จะย้ายที่ประทับขององค์หลวงพ่อเพื่อจะสร้างพระอุโบสถใหม่ถวาย แต่ปรากฏว่าไม่สำเร็จเลยแม้แต่ครั้งเดียวเพราะมีเหตุให้เป็นไปต่าง ๆ นานา
วัดโสธรฯ ได้รับพระมหากรุณธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ยกฐานะจากวัดราษฏร์ เป็นพระอารามหลวงขั้นตรีชนิด วรวิหาร และพราราชทานนามว่า "วัดโสธรวรารามวรวิหาร" เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2501 และทรงให้การอุปถัมป์อย่างสม่ำเสมอจวบจนทุกวันนี้
ป้ายกำกับ:
บทความ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น