วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554

ปัจฉิมอักษร...ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)



ในท้ายเล่มสองหน้าสุดท้ายของหนังสือ "สยามสาธก วรรณสาทิศ" ซึ่ง "พระยาศรีสุนทรโวหาร" ได้คิดคัดศัพท์ภาษามคธ ต่าง ๆ รวมเป็นพวกไว้ เพื่อฉลองพระเดชพระคุณ เฉลิมปัญญาบารมี มีความดังนี้ว่า

ศับท์ภาษามคธอย่างนี้ ในพระคัมภีร์มีมาก ข้าพระพุทธเข้าคิดรวบรวมแต่ที่จำได้ในเวลาเล่าเรียนมาจัดเปนหมวดๆ เรียบเรียงขี้นทูลเกล้า ฯ ถวายเพื่อเปนเครื่องอบรมพระญาณปรีชา ประดับพระปัญญาบารมี โดยสังเขปเท่านี้ ขอเดชะ

ต่อไปนี้ คาถาประณิธานของข้าพระพุทธเจ้า

@ ปจิจุปฺปนฺเน ยถา ทานิ ตุมฺหํ ราชาธิราชิโน
สมฺมาว ปาทมูลิโก โหมิ ธมฺเมน ปาลิโก
ตถา นานาสุ ชาจีสุ นิพฺพติสฺสํ ปุนพฺุภเว
ตุยฺเห วทาสโก โหมิ ยาว ชาติ ปริกฺขยา
อิทํ เม มนสา สจฺจํ สุทฺธํ วาจาย ภาสิตํ
เอเตน สจฺจวชฺเชน สทา ภทฺรานิ ปสฺสตูติ ฯ

ในคาถาปณิธานของข้าพระพุทธเจ้าว่า ในชาติประตยุบันนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้เปนข้าในใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมราชาธิราช ผู้ดำรงสุจริตยุติธรรม พระองค์ได้ทรงพระกรุณาชุบเกล้า ฯ เลี้ยงข้าพระพุทธเจ้าฉันใด ข้าพระพุทธเจ้าจะเกิดต่อไปในภพชาติต่าง ๆ ภายน่าถ้ายังไม่สิ้นชาติ ยังต้องเกิดอยู่ตราบใดขอให้ข้าพระพุทธเจ้าได้เป็นข้าบำเรอพระบรมบาทจงทุก ๆ ชาติ เทอญ ข้อนี้เปนความสัตยบริสุทธิ ผุดจากดวงจิตรของข้าพระพุทธเจ้าเปนความสัตยจริง ด้วยอำนาจความสัตยนี้ ขอให้ฝ่าลอองธุลีพระบาท สมเดชพระเจ้าอยู่หัว จงประสบแต่ การ,สิ่ง (ของจริงอยู่ปีกกาค่ะ) ที่เจริญทุกเมื่อ การสิ่งใดพัสดุสิ้่งใด ซึ่งไม่เปนที่เจริญพระกมลราชหฤไทยขออย่าได้มีมาเกี่ยวข้องในใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทเลย

"สิทฺธิรสฺตุ สิทฺธํ ผลํ
รตนตฺยเตชสา"

ค้นพบต้นฉบับ หนังสือ สยามสาธก วรรณสาทิศ ฉบับนี้ใน ปี พ.ศ. ๒๕๐๗
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พิมพ์ขึ้นพระราชทาน
ในงานเฉลิมพระชนมพรรษา
พุทธศักราช ๒๕๑๔






"พลอยโพยม" ขอนอบนบ ในปูชนียอาจารย์ ท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ขอกราบลง ณ ที่แห่งนี้ ด้วยความเคารพศรัทธา ในเกียรติคุณของท่าน

...พลอยโพยม...




วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554

วิชาภาษาไทยของ พระยาศรีสุนทรโวหารว่าด้วยเรื่อง "สัตวาภิธาน"


วิชาภาษาไทยของ พระยาศรีสุนทรโวหารว่าด้วยเรื่อง "สัตวาภิธาน"
ตามฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๑
ข้าพเจ้าพระยาศรีสุนทรโวหาร ญาณปรีชามาตย์ บรมนาถนิตยภักดีพิริพาห คิดคำกลอนเรื่องนี้ สำหรับให้เด็กนักเรียนอ่าน คิดเสร็จ ณ วันพฤหัสบดี ขึ้นสิบห้าค่ำ เดิอนสิบ ปีวอก ฉศก พ.ศ. ๒๔๒๗ ลงพิมพ์ที่โรงพิมพ์สกูลพระตำหนักสวนกุหลาบ ในพระบรมมหาราชวังในปีนั้นนั่นเอง

ประเภทสัตว์ในโลกมี ๔ ประเภท พหุบาท สัตว์มีเท้ามากเกิน ๔ ขึ้นไป เช่น ตะขาบ กิ้งกือ เป็นต้นอย่าง ๑ จัตุบาท สัตว์ ๔ เท้า ดุช ช้า งม้า โค กระบือ เป็นต้นอย่าง ๑ ทวิบาท สัตว์ ๒ เท้า คือ มนุษ แล เป็ด ไก่ นก เป็นต้นอย่าง ๑ อะบาทะกา สัตว์ไม่มีเท้า ดัง งูแลปลา เป็นต้นอย่าง ๑ แล้วแบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ ถะละขา สัตว์เกิดบนบกอย่าง ๑ ขะละขา สัตว์เกิดในน้ำอย่าง ๑ จัดอีก ๒ อย่าง สัตว์มีฟองมีไข่ และไม่มีฟอง ดังช้าง ม้า โต กระบือ จัดอีก ๒ อย่าง คือ มีปีกแขงแรง บินสูงบินไปไกล ๆ ได้ ๑ มีปีกบินได้เจี้ย ๆ ต่ำ ๆ อย่าง ๑ มีปีกบินไม่ได้อย่าง ๑ ฯ

ประเภทสัตว์มีเอนกอนันต์ หลายอย่างหลายพรรณมากนัก ในประเทศบ้านเมืองหนึ่ง ก็มีแปลกออกไปหลาย ๆ อย่าง ในป่าหนึ่งก็แปลกออกไปอย่างหนึ่ง ในลำแม่น้ำลำหนึ่งก็แปลกไปอย่างหนึ่ง เป็นเอนกวิจิตรมากนัก เหลือกำลังที่จะรู้จักให้ทั่วถึงทุกหมู่ทุกเหล่า ข้าพเจ้าขอชักนำมาเอาแต่ที่รู้จัก ชักมาผูกเป็นกลอนไว้สำหรับให้เด็ก ๆ อ่านเล่น ตามลำดับแม่ ก กา ไป เพื่อที่จะได้สอบอักษรที่เด็กเรียนอยู่นั้น เป็นของสำหรับเด็กแรกเล่าแรกเรียน แต่พอได้กว้างขวางในทางที่จะใช้อักษร ทั้งท่านหลายที่เป็นผู้ใหญ่รู้หนังสือแล้ว ก็จะบ่นว่าเบื่อหูเบื่อฟัง ไม่มีประโยชน์อะไร ก็ตามแต่จะคิดจะว่าเถิด ยอมให้ติให้ว่า ข้าพเจ้าเป็นคนอยากจะคิดจะอ่านอะไร ๆ เล่นต่าง ๆ ตามชอบใจ คิดอะไรก็เก็บเอามาว่าเพ้อ ๆ ไป เมื่อท่านผู้ใดไม่ชอบก็รับทานอภัยเสียเทอญ ฯ
ท่านพระยาศรีสุนทร ขั้นต้นบทด้วย
...โคลง ๑ บท แล้วตามด้วยกาพย์ฉบัง ๑๖




ฉบัง ๑๖

@ สัตว์จำพวกหนึ่งสมญา พหุบาทา
มีเท้าเอนกนับหลาย
@ เท้าเกินกว่าสี่โดยหมาย สองพวกอภิปราย
สัตว์น้ำสัตว์บกบอกตรง
@ ตะบองพลำใหญ่ยง อยู่ในป่าดง
ตัวดุจ เรไร จักจั่นตะขาบไฟแดง
@ มีพิษมีฤทธิเรี่ยวแรง พบช้างกลางแปลง
เข้าปล้ำเข้ารัดกัดกิน
@ ตะขาบพรรณหนึ่งอยู่ดิน พรรณหนึ่งอยู่ถิ่น
สถานแลบ้านเรือนคน
@ ตะขาบไต่ซอนซอนซน กิ้งกือคลานวน
แมงมุมขยุ่มหลังคา
@ แมงป่องจ้องชูหางหา สิ่งใดจะมา
ปะทะก็จะจี้แทง
@ คัวแมงกะแท้กลิ่นแรง แมงสาบอีกแมง
กระชอนก็ชอบธรณี
@ แมงทับวาววับแวมสี ดังนิลมณี
แถมทองระรองเลืองฉาย
@ แมงค่อมคือแมงทับกลาย สีเลื่อมเหลืองพราย
แต่กายนั้นย่อมกว่ากัน
@ แมงไยโยงไยพัละวัน เป็นตาข่ายขัน
ขึงเพื่อดักสัตว์บินจร
@ แมงเม่าบินเข้าไฟฟอน ร้อยพันม้วยมรณ์
เพราะหมายว่าเภลิงเริงงาม
@ แมงวันแมงหวี่วู่วาม แมงคาเรืองยาม
ราตรีแลสีเรืองเรือง ...


มีแมงป่อง แมงดาสองพรรณ คือแมงดาอรรณพ แลแมงดานา แมงภู่ ตัวผึ้ง แตน ต่อ ตาปะขาว เต่าทอง แมงปอ หมาร่า เหลือบ ยุง บุ้ง ริ้น ร่าน ด้วงมะพร้าว ด้วงโสน ผีเสื้อ ตํ้กแตน ตัวเหนียง กิ้งกือ เรไร จักจั่้น แม่ม่าย มด ปลวก ปู กุ้ง ฯ
เป็นจำพวกสัตว์มีเท้ามาก

ต่อจากนั้นเป็นบทสัตว์สี่เท้า บนบก ในน้ำ ไล่ แม่ ก กา ..
สัตว์สองเท้า ไล่ แม่ ก กา..
สัตว์ไม่มีเท้าหรือสัตว์เลื้อยคลาน ไล่แม่ ก กา.......

วิชาภาษาไทยของ พระยาศรีสุนทรโวหาร นอกจากหลักภาษาไทยแล้ว ยังมี พันธุ์ไม้ พันธุ์ มะม่วง พันธุ์ทุเรียน พันธุ์สัตว์ ดังกล่าวมาเป็นสังเขป อีกข้างต้น

วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

[นิทานเรื่องเล่า] เจ้าหญิงแห่งความฝันกับเจ้าชายแห่งความจริง...


[นิทานเรื่องเล่า] ...เจ้าหญิงแห่งความฝันกับเจ้าชายแห่งความจริง...


เมื่อนานมาแล้ว...มีอาณาจักรแห่งความฝัน...ดินแดนที่มีแต่หิมะสีขาวโพลน หิมะโปรยปรายลงมาจากท้องฟ้าเกือบทั้งปี ทุกสิ่งในอาณาจักรนี้ล้วนเป็นสีขาวสะอาด ไม่มีรอยด่างพร้อยหรือมลทินใดๆ ยามเมื่อฤดูใบไม้ผลิมาเยือน หิมะบางส่วนในทุ่งนาป่าเขาพากันละลาย หลั่งรินเป็นสายธาราที่หล่อเลี้ยงแผ่นดินให้อุดมสมบูรณ์ ต้นไม้ใบหญ้าแข่งกันผลิใบสีเงินรับแสงอาทิตย์ บรรดาดอกแดนดีไลอ้อนต่างแข่งกันชูช่อไสวด้วยความงดงามที่อยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์แห่งกาลเวลา ดินแดนแห่งนี้จึงถูกขนานนามว่า ดินแดนแห่งความงามนิรันดร์...

ดินแดนนี้เป็นที่พำนักของเจ้าหญิงแห่งความฝันและจินตนาการ...
พระองค์มีบริวารคือนางฟ้าแห่งความฝันมากมาย เหล่านางฟ้าจะ คอยนำเมล็ดพันธุ์แห่งความฝันและจินตนาการไปหว่านโปรยลงในหัวใจของมนุษย์และพสกนิกรของพระองค์ในยามหลับใหล
หิมะขาวพราวพร่าง งดงามสล่าง...

เหนือธารแห่งกาลเวลา...งามเจ้างามนักหนา งามกว่าหิมะใด...ที่สถิตภายในโลกหล้า...

นี่คือส่วนหนึ่งของบทกลอนซึ่งกวีพรรณนาถึงความงามแห่งดินแดนรวมทั้งเจ้าหญิงผู้มีใบหน้าอันอ่อนหวานงดงาม เรือนผมสีเงินยวง ผิวขาวเนียนอมชมพู...

วันหนึ่งเจ้าหญิงแห่งความฝันเดินเล่นยังทุ่งดอกไม้ในดินแดนของมนุษย์ มวลดอกไม้พากันเบ่งบานอวดความงามทั่วท้องทุ่ง ระหว่างที่เธอกำลังเพลิดเพลินกับดอกไม้อยู่นั้นพลันเหลือบสายตา ไปพบชายผู้หนึ่งยืนอย่างเคร่งขรึม ณ ริมทุ่ง เจ้าหญิงจึงก้าวไปหา...


เขาคือเจ้าชายแห่งเหตุผลและความจริง ผู้ซึ่งจริงจังกับทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต และเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นต้องมีเหตุผล ความฝันและจินตนาการเป็นสิ่งที่ไร้สาระ อาณาจักรแห่งความจริงของเจ้าชาย มีเวทมนตร์อันแก่กล้า หากแต่สรรพสิ่งต้องเป็นไปตามครรลองของกระแสธารแห่งกาลเวลา ผลิบานร่วงโรย ก่อเกิดเสื่อมสลาย...

เจ้าชายเป็นคนเงียบขรึม ...เมื่อเขาเห็นเจ้าหญิงเดินเข้ามาใกล้ จึงร่ายเวทย์ทำลายทุ่งดอกไม้ทิ้งและหันหลังเดินจากไปทันที...

"หยุดก่อน" เสียงเจ้าหญิงแห่งความฝันตะโกนไล่หลัง เธอทั้งโกรธทั้งเสียใจกับการกระทำของเจ้าชายอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าเธอจะประทับใจในตัวเขาก็ตาม

"ทำไมท่านต้องทำลายทุ่งดอกไม้ที่สวยงามนี้" เจ้าหญิงเอ่ยถาม

"เพราะมันเป็นสิ่งที่ไร้สาระยังไงล่ะ" เจ้าชายตอบกลับมาด้วยท่าทีเย็นชาก่อนจากไป...

ทุกครั้งที่พบกัน เจ้าชายยังคงทำลายสิ่งต่างๆที่เจ้าหญิงชื่นชอบด้วยเหตุผลเดิม เขาไม่เคยที่จะรับรู้ความในใจของเจ้าหญิงเลยแม้สักครั้งและอาจรวมถึงความในใจของตนเองด้วย..

"ท่านมันคนไม่มีหัวใจ" เจ้าหญิงแห่งความฝันตัดพ้อ เมื่อเจ้าชายแห่งความจริงทำลายฝูงผีเสื้อสีรุ้งของเธอ

"มันคือสิ่งไร้สาระ" เจ้าชายตอบกลับเช่นเดิม แต่คำว่า...คนไม่มีหัวใจ...ได้ติดตราอยู่ในหัวของเจ้าชายแล้ว โดยที่เขามิอาจรู้ว่านี่เป็นครั้งสุดท้ายที่จะได้พบกับเจ้าหญิงของเขา

ความรักคือสิ่งที่เพ้อฝันไร้สาระ... เจ้าชายแห่งความจริงคิด




ในอาณาจักรแห่งความงามนิรันดร์ของเจ้าหญิง...หิมะมีรอยด่างพร้อย ต้นไม้ใบหญ้าเริ่มเหี่ยวเฉา เหล่านางฟ้าแห่งความฝันลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย อาณาจักรแห่งนี้มิอาจคงความงามนิรันดร์ไว้ได้อีกแล้ว...ความเสื่อมโทรมของอาณาจักรแห่งความฝันมีต้นเหตุมาจากเหล่ามนุษย์ผู้ดูแคลนความฝันและจินตนาการ ก่อให้เกิดอสูรแห่งความไม่เชื่อ ซึ่งรังแต่จะทวีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวัน ไม่ว่าเจ้าหญิงแห่งความฝันจะพยายามลงมือแก้ไขเช่นไร เมื่อมีกำลังมากพอ เหล่าอสูรได้กรีฑาทัพเข้ารุกรานอาณาจักรของเจ้าหญิง

ทันทีที่พวกอสูรเหยียบย่างลงบนผืนดินในอาณาจักรแห่งความฝัน เวทมนตร์ซึ่งคุ้มครองอาณาจักรอยู่เสื่อมลง ดินแดนแห่งความงามนิรันดร์จึงตกอยู่ในห้วงของกระแสธารแห่งกาลเวลา...

เลือดสีแดงเปรอะเปื้อนบนพื้นหิมะสีขาว ต้นไม้ถูกโค่นทำลาย ต้นหญ้าถูกเหยียบย่ำแหลกเหลว หิมะละลายเจิ่งนองพื้น หมอกควันสีดำปกคลุมไปทั่วอาณาจักร บดบังท้องฟ้าสีครามและแสงอาทิตย์เอาไว้ บัดนี้อาณาจักรแห่งความงามนิรันดร์ได้กลายเป็นอดีตไปเสียแล้ว...

เจ้าหญิงแห่งความฝันปลอมแปลงตัว หลบหนีมายังอาณาจักรแห่งความจริงของเจ้าชาย แต่ด้วยอำนาจมนตราแห่งอาณาจักร ทำให้เจ้าหญิงไม่สามารถเข้าไปได้...เธอจึงร้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าชาย แต่เขากำลังครุ่นคิดเกี่ยวกับเรื่องสงครามที่เกิดขึ้น จนไม่ได้ยินเสียงของเจ้าหญิง...

พวกอสูรยกทัพมาถึงและต่อสู้กับเจ้าหญิง ทว่าเมื่ออาณาจักรของพระองค์ล่มสลายลง พลังเวทย์จึงเสื่อมถอย พวกอสูรได้รับชัยชนะ พวกมันร่ายเวทย์ทำลายเจ้าหญิงเสีย...

เมื่อเจ้าชายรู้สึกตัวและรุดออกมาจะช่วยเจ้าหญิง แต่ช้าไป เธอกำลังกลืนหายไปกับธาตุอากาศ เธอมองเขาเป็นครั้งสุดท้ายด้วยแววตาอันเศร้าสร้อย...กว่าที่เจ้าชายจะรู้ตัวว่ารักเจ้าหญิงเพียงใดก็สายเกินไปเสียแล้ว เขาได้สูญเสียเจ้าหญิงผู้เป็นที่รักไป...

หลังจากนั้นไม่นาน อาณาจักรแห่งความฝันถูกสร้างขึ้นมาใหม่ เมล็ดพันธุ์แห่งความฝันและจินตนาการจักโปรยปรายอีกครา เมื่อเจ้าชายแห่งความจริงทราบข่าว เขาเฝ้ารอทุกวันอย่างมีความหวังว่า เมื่อไรเจ้าหญิงของเขาจะกลับมา...แต่มันมิได้เป็นเช่นที่หวัง เจ้าหญิงที่เขาพบกลับมิใช่เจ้าหญิงองค์เก่า...หากเจ้าชายยังคงเฝ้ารออย่างมีความหวัง หวังว่าสักวันเจ้าหญิงของเขาจะกลับมา...

เจ้าชายแห่งความจริง...รังสรรค์สิ่งต่างๆที่งดงามมากมายให้แก่โลก เขายังคงยืนอย่างเดียวดาย ณ ทุ่งดอกไม้ที่ได้พบกับเจ้าหญิงแห่งความฝันครั้งแรก

"เธอไปอยู่ที่ไหนกัน ทำไมถึงไม่กลับมาหาฉัน" หยาดน้ำตาของเจ้าชายกลายเป็นหิ่งห้อยที่คอยกระพริบแสงวิบวับ เพื่อว่ามันอาจนำทางให้เจ้าชายไปพบกับเจ้าหญิงของเขา...

หิ่งห้อยนับร้อยกระพริบแสง...ใสกระจ่างพร่างแพร้วจำรัสหล้า...
มุ่งส่องสว่างด้วยรักแลศรัทธา...หวังให้เธอคืนมาเช่นดังเดิม...

วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

[นิทานเรื่องเล่า]...ผีเสื้อแสนสวย...



นิทาน...ผีเสื้อแสนสวย...
จากหนังสือเรื่อง "โนมผู้อารักษ์" แปลโดย น้าภาคย์

ตลอดฤดูหนาวอันยาวนาน... เมล็ดพันธุ์น้อยและหน่ออ่อนต่างพากันหลับใหลอยู่ในผืนดิน สิ่งห่อหุ้มสีน้ำตาลพันแน่นรอบดอกไม้แสนสวยซึ่งจะบานออกในช่วงเวลาฤดูใบไม้ ผลิ และในขณะที่พวกเขากำลังหลับใหลใต้ผืนดิน เหนือขึ้นไปยังมีรังไหมสีเทาประหลาดเล็กๆแกว่งอยู่ท่ามกลางลมหนาว มันแขวนห้อยกับกิ่งไม้แห้งเล็กๆ ในฤดูใบไม้ร่วง ดักแด้น้อยได้ปั่นทอรังไหมรอบๆตัวเองและผูกตัวติดกับกิ่งไม้ ภายในรังไหม เจ้าดักแด้น้อยหลับฝันถึงแสงตะวันที่มันรัก วันหนึ่งขณะที่มันกำลังฝันและแกว่ง มันเริ่มรู้สึกถึงความอบอุ่นอีกครั้ง มันจึงตัดสินใจที่จะออกไปสู่โลก ขณะที่มันยื่นจมูกออกไปตรงปลายรังไหม มันมองรอบๆตัวเห็นเหล่าภูตแห่งดวงตะวันส่องแสงสดใส และพวกเขาพูดกับมันอย่างนุ่มนวลว่า

“ออกมาข้างนอกเถิด เจ้าหัวขี้เซา ออกมาเถิด” มันจึงคลานออกไปอย่างเชื่องช้า สำหรับบางอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับมันในช่วงฤดูหนาว มันได้สูญเสียเสื้อคลุมขนยาวอันอบอุ่นของมันไปแล้ว และตอนนี้มันดูเหมือนตัวประหลาดเปียกๆขาวๆตัวเล็กๆตัวหนึ่ง แต่ภูตแห่งดวงตะวันช่างทำให้ตัวมันแห้งด้วยนิ้วมืออันอบอุ่นอ่อนนุ่ม และมันเริ่มคลายตัวเองออกเหมือนดั่งดอกไม้กำลังเบ่งบาน และในไม่ช้า มันมีปีกสี่ปีกที่โบกนุ่มนวลไปมา และเติบโตมีสีสันขึ้นและสวยงามขึ้นจนกระทั่งในที่สุดมันบินขึ้นไปในอากาศ พร้อมกับภูตแห่งดวงตะวัน เจ้าผีเสื้อแสนสวย

“ฉันต้องการหาเพื่อนที่จะเล่นด้วย” มันพูดกับภูตแห่งดวงตะวัน

“เธอจะพบว่าในฤดูใบไม้ผลิเต็มไปด้วยเพื่อนๆมากมาย” ภูตแห่งดวงตะวันบอกมัน ดังนั้นมันจึงบินไปดูอย่างมีความสุข มันไม่ได้ไปไกลนักเมื่อมันเห็นสิ่งที่มันคิดว่าเป็นผีเสื้อสวยสีแดงลายจุด ขาวกำลังนั่งอยู่บนพื้นดิน มันบินลงไปข้างล่างด้วยความตื่นเต้นและพูดว่า

“ฤดูใบไม้ผลิที่แสนสุข” แต่เจ้าผีเสื้อสีแดงไม่ได้พูดตอบใดๆเลย ดังนั้นมันจึงนั่งลงบนพื้นด้วย เพื่อเฝ้ารอคำตอบอย่างอดทน และมันก็คงยังนั่งที่นั่นอยู่ถ้าเจ้าโนมตัวจิ๋วโผล่ออกมากระทันหันและตะคอก ว่า

“ทำไมเจ้าไม่ไปทำงานของเจ้าแทนที่จะมานั่งเป่าลมใส่ฉันด้วยปีกใหญ่งี่ เง่าของเจ้านะ ฉันกำลังงีบหลับอย่างสงบอยู่ตรงนี้ใต้ร่มเห็ดสีแดงของฉัน จนกระทั่งเจ้ามานี่แหละ”

ผีเสื้อบินจากไปอย่างรวดเร็วโดยไม่พูดอะไรซักคำ มันกระพือปีกไปตามทางจ้องมองหาสีสดใสใหม่ โดยหวังว่าอาจจะเป็นผีเสื้อที่จะเล่นกับมันได้ ในที่สุดมันมั่นใจว่ามันเห็นฝูงผีเสื้อกลุ่มหนี่ง สีเหลืองและสีขาว สีชมพูและสีม่วง มันบินลงไปกลางฝูงและพูดว่า

“ฤดูใบไม้ผลิที่แสนสุข” และพวกมันต่างก้มหัวและแกว่งตัวไปรอบๆด้วยท่าทีที่เป็นมิตร จากนั้น ตัวหนึ่งพูดกับมันด้วยน้ำเสียงสุภาพว่า

“มาเถิด มาลองน้ำหวานของฉัน” ผีเสื้อเห็นว่าพวกมันเป็นเหล่าดอกไม้แสนสวยและไม่ได้เป็นผีเสื้อ มันรู้สึกผิดหวังเล็กน้อย แต่เมื่อพวกมันให้น้ำหวานแก่มัน มันรู้สึกมีความสุขมากและบินจากดอกหนึ่งไปอีกดอกหนึ่งเพื่อดูดน้ำหวาน พวกมันต่างพากันเต้นรำอย่างงดงามในกระแสลมอ่อน แต่เมื่อผีเสื้อพูดว่า

“มาเถิด พวกเราบินสูงขึ้นไปใกล้ๆดวงอาทิตย์กันเถิด” เหล่าดอกไม้ต่างส่ายหัวอย่างนุ่มนวลและพูดว่า

“ไม่ ไม่ พวกเราผูกติดกับพื้นดินและบินไม่ได้”

ดังนั้น ผีเสื้อกล่าวอำลาและบินจากไป มันยังคงมองหาเพื่อนผีเสื้อที่จะเล่นด้วย มันบินจนกระทั่งมันเหนื่อยล้าและจากนั้นมันนั่งลงพักผ่อนบนกิ่งไม้แห้งที่มี ก้อนสีเทาตรงปลาย

“โอ้ ที่รัก” มันส่ายหัว “ฉันจะไม่เจอผีเสื้อตัวอื่นเลยหรือนี่” และมันมองหาข้างบนและข้างล่างแต่ก็ไม่พบสิ่งใดที่เหมือนผีเสื้อเลย ต่อมาสูงขึ้นไปบนอากาศมันได้ยินภูตแห่งดวงตะวันหัวเราะและร้องว่า “เธอมองสูงไป” ดังนั้นผีเสื้อจึงมองลงพื้นดินและมันได้ยินโนมหัวเราะและพูดว่า “เจ้าสัตว์งี่เง่ามองต่ำไปด้วย” ดังนั้นผีเสื้อมองตรงไปข้างหน้า แต่ทั้งหมดที่มันเห็นคือ ตัวเศร้าๆซีดๆกำลังคลานออกมาจากก้อนสีเทาตรงปลายสุดของกิ่งไม้ และเขาได้ยินเสียงอันอ่อนล้าพูดว่า “ฉันนี่ไง ฉันจะเล่นกับเธอเอง”

“เล่นกับฉัน” ผีเสื้ออุทาน “ตัวที่น่าสงสารอย่างเธอจะเล่นกับฉันได้ยังไง ฉันผู้มีปีกสวยงามคอยพยุงตัวฉันไว้”

“แค่คอยอีกเดี๋ยวเท่านั้น” อีกตัวหนึ่งพูด

จากนั้นภูตแห่งดวงตะวันลงมาและช่วยมันคลี่ตัวเองออก และมันเริ่มที่จะเติบโตแข็งแรงขึ้นและสีสันสดใสกระจายทั่วทั้งตัว และก่อนที่ผีเสื้อจะคลายความประหลาดใจนี้ มันได้เห็นตัวประหลาดที่ครั้งหนึ่งเคยตัวซีดเซียวคลี่ปีกออก ปีกนี้ช่างสวยงดงามยิ่งกว่าปีกของมันเสียอีก ผีเสื้อตัวใหม่พูดว่า

"มาบินกับฉันท่ามกลางแสงตะวันกันเถิดจ้ะ"

ดังนั้นทั้งสองสหายใหม่ต่างพากันบินจากไปอย่างมีความสุข...








วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554

หนังสือภาษาไทยเรื่อง "พรรณพฤกษา และ สัตวาภิธาน"


ที่มาของหนังสิอ

หนังสือ พรรณพฤกษา และ สัตวาภิธานนี้ แต่งเมื่อ ปี พุทธศักราช ๒๔๒๗ ต้นฉบับสมุดดำ ได้มาแต่บรรดาหนังสือเก่า ซึ่งพระเจ้าบรมวศ์เธอ พระองค์เจ้าประภัสสร ทรงสั่งสมไว้มากเรื่อง...........
ข้าพเจ้าจึงขอให้เจ้าพนักงานหอพระสมุด ฯ ค้นหาฉบับพิมพ์เก่าล่วง ๔๓ ปีมาแล้ว พิมพ์ขึ้นรวมกันทั้ง ๒ เรื่อง เพื่อประโยขน์แก่เด็กอ่าน และทราบศัพท์นกแลศัพท์ไม้ ซึ่งเคยเป็นเพื่อนเล่นของเด็ก............

เป็นคำอธิบาย พระนิพนธ์ของ สมเด็จ ฯ กรมพระสวัสดิรัตนวิศิษฏ์

พรรณพฤกษา ตามฉบับพิมพ์ พ.ศ ๒๔๗๑

นบ พระไตรรัตน์แผ้ว ภัยพาล
นบ บุรพเทวาจารย์ ก่อเกล้า
นบ สโรปะเทศสถาน สอนสั่ง มานา
นบ พระคุณพระเจ้า ภพพื้นพงศสยาม ฯ

ข้าพเจ้าพระยาศรีสุนทรโวหาร ญาณปรีชามาต บรมนาถนิตยภักดีพิริยหาห เจ้ากรมอาลักษณ์ คิดรวบรวมชื่อต้นไม้ต่าง ๆ บรรดาที่รู้จักชื่อ คิดเป็นกลอนเรียกว่า "นามพรรณพฤกษา" คู่กันกับ "สัตวาภิธาน"

แลบรรดาต้นลำที่งอกขึ้นในแผ่นดินนั้น แบ่งเป็น ๒ ชาติ เกิดเป็นต้นขึ้น ลำต้นข้างนอกอ่อน เช่นอย่าง ไม้แดง ประดู่ ชิงขัน เต็งรังมะเกลือ เป็นต้น เรียกว่า รุกขชาติ ๑
แข็งนอกข้างในอ่อน เช่นอย่าง ต้นตาล อ้อย หมาก มะพร้าว และสรรพหญ้า ทุกอย่าง ฤาอ่อนนอกตลอดใน เช่นอย่างต้นกล้วยก็ดี เรียก ติณชาติ ๑ เป็น ๒ อย่างดังนี้ ฯ

จัดอีกอย่าง ได้ดังนี้ คือ รุกขชาติ ๑ ติณชาติ ๑ ลัดดาชาติหรือวลีชาติ ๑ เป็นเถาเลื้อย ๑ คัจฉชาติ เป็นกก เป็นกอ ๑ สถลชาติ เกิดบนบก ๑ ชลชาติ เกิดในน้ำ ๑

จัดโดยอาการแปลกกันด้วยดอกผล เป็น ๔ อย่าง นีรับผล ไม่มีดอกผล ฤามีแต่ดอกไม่มีผล ๑ บุบผผล มีทั้งดอกมีทั้งผล ๑ กาสิกผล มีดอกผลเป็นคราวเป็นฤดู ๑ อกาสิกผล มีดอกผลติดต่อกันเสมอไปไม่เป็นฤดู อาการต้นไม้เป็น ๔ อย่างดังนี้

เรื่องเบ็ดเตล็ดเหล่านี้ ไม่สู้เป็นประโยขน์อะไรนัก ถ้าผู้ใหญ่ไม่ต้องเรียน เพราะมีความสังเกตรู้ได้เอง ถ้าเด็กมีปีญญาอ่อน ต้องอาศัยมีผู้แนะนำผู้สอนจึงจะรู้ได้ ถ้ารู้ไว้ก็เป็นเครื่องประดับปัญญาได้อย่างหนึ่ง ข้าพเจ้าจึงคิดรวบรวมเป็นหมู่หมวด เพื่อจะไว้ใช้สำหรับให้เด็กอ่านพอให้หนังสือแตกแลจะได้คิดเค้าตามที่เล่าแจก ตั้งแต่ แม่ ก กา ตามลำดับดังนี้





ยานี ๑๑

@ ดูรากุาระ ข้าเจ้าจะเล่าไขคำ
กอ กา ว่าลำนำ พอให้จำคำ กอ กา
@ จะร่ำแต่หมู่ไม้ มีชื่อใช้ในภาษา
ไทยใช้ ต่อ ต่อมา แต่ กอ กา มีอะไร
@ จำปาแลจำปี มะลุลีแลยี่โถ
เพกาพะวาโพ เหล่าโสนตะโกนา
@ ชาลีสาลี่คละ จำปาดะดูสาขา
มะกล่ำสำมะงา พระยายาสารภี
@ แกแลแคมะคะ กอสละคละดีหมี
หว้าเปล้าเถาดีปลี เถาเทพีมะละกอ

..............

สุรางคณางค์ ๒๘

@ หมู้ไม้ แม่กน กอการะคน ว่าปนกันไป กุมารอ่านเล่า
แม้นเชาวน์ไว ไว ดูจะเข้าใจ ชื่อไม้แม่กน
@ ที่ในไพรวัน ต้นไม้อนันต์ ลำพันต้นสน กระถินลิ้นจี่
นนทรีปะปน มะดันประดน ระคนเถาคัน
@ ฉนวนสนุ่น ทนดียี่สุ่น ขนุนขนัน กระวานการพลู
ซ่อนชู้อัญชัญ มนฑามะลิวัล อินจันทร์กรรณิการ์
@ ต้นกระดอนดิน อยู่ใกล้อินทนิล ต้นฝิ่นกัญชา
ต้นธารตวัน ต้นจันทนา กอสันตะวา สันพร้ามอญบอน........


ฉบัง ๑๖

@ หมู่ไม้แม่กงจงจำ เล่ห์นัยลำนำ
ฉบังประดังวาที
@ ไม้ฝางมะเฟืองเรืองสี ต้นทำมังมี
ช้างเมืองนครดอนดง
@ มะม่วงมะปรางกอปรง มะทรางคันทรง
ประยงยี่เข่งเต็งรัง
@ ขานางหูกวางมะสัง หางไหลใบบัง
กะรังตังข้างก้างปลา
@ ยูงยางกร่างไกรใบหนา พิลังกาสา
กาหลงแลชงฆ์โคขิง............

ยานี ๑๑

@ หมู่ไม้ในแม่กก จะแยกยกเยี่ยงอย่างยล
ก กา ทั้ง กง กน ว่าปะปนระคนกลอน
@ ไม้สักอีกไม้โศก ไม้อุโลกสูงสลอน
นางกวักเหมือนกวักกร นางบังอรกวักเรียกใคร
@ เรียกชู้ ฤาเรียกพี่ แฝงอยูนี่ฤาอยู่ไหน
ฤากวักเรียกลองใจ ให้ชะงักพะวักวน
๑ กระบาดต้นกระบก กะทกรกเข้าระคน
ไม้หมากบุนนาคปน กระลำภักต้นรักลา..........

@ พรรณไม้ในแม่กด เรียงกำหนด ก กา กน
กง กก ยกมาปน ว่าประดนประดังกัน
@ ต้นไม้แม่กดหลาก จัดวิภาคมากมูลครัน
ไม้บ้านไม้อารัญ ว่าคละกันสำตัญไข
@ สำปะรดสำปะรัส ชีกุลัดสลัดได
ราชดัดถัดกันไป วันกรดใหญ่หญ้าขัดมอญ
@ มะขวิดชิดไม้ขวาด ต้นมะหาดผลแก่อ่อน
เสาวรสอรชร รสสุคนธ์ปนพุดลา
@ จำกัดสัตตบุด ต้นละมุดนางสีดา
มังคุดผลโอชา รสชวนกลืนลื่นเล็ดหวาน
@ ละมุดต้นไม้นอก มาบางกอกไม่สู้นาน
ยังไม่มากสาธารณ เลือก เลือกบ้านจึงจะมี..........





สุรางคณางค์ ๒๘

@ หมู่ไม้แม่กบคิดเข้าบันจบ กระทบกาพย์กลอน
กุมาอ่านเล่น เป็นสัถาวร เปลี่ยนเพี้ยนอักษร ตามบ่อนแม่กบ
@ กอหญ้ากอตะกรับ อีกต้นมะพลับ เคียงกับผะอบ
พุดจีบพุงจาบ ตะขาบตะขบ ตับเต่าผักตบ ตาตื่นพื้นเมือง
@ ต้นผักกระชับ อีกต้นระงับ กระจับไทยเมือง
หมู่กออังกาบ กุหลาบแดงเหลือง ไม้ราบฤทธิเรือง แพ้ว่านหณุมาน
@ มดยอบถอบแถบ ผลมะม่วงแฟบ สุกมีรสหวาน
ต้นกระทืบยอด ต้นครอบจักระวาฬ ครอบตลับปาน ตลับใส่ยา.......


ยานี ๑๑

@ หมู่ไม้ในแม่กม นับนิยมตามวิธี
ก กา กน กง มี กก กด กบ ครบกระบวน
@ จนถึงแม่กมนับ ตามลำดับไม่ผิดผวน
ชื่อไม้ในจำนวน แม่กมนี้มีอนันต์
@ ขามไทยไม้ลั่นทม เหล่าสุกรมนมสวรรค์
มะยมชะอมพัน ไม้เขี้ยนขั้นต้นพยอม
@ กะทุ่มมรุมรก ต้นกุ่มบกโคกกระออม
สะเดาเถากระดอม อีกกระย่อมเป็นยาลม
@ กุ่มน้ำตามลำคลอง เก็บมาดองได้ดื่นถม
ฉัตรอินทร์และฉัตรพรหม เห็นน่าชมชั้นฉัตรไชย.......


ฉบัง ๑๖

@ ขึ้นเกยเลยกล่าวพฤกษา อันมีสมญา
ติดต้องแลพ้องกับเกย
@ นับตั้งแต่ต้นอบเชย ไม้กระยาเลย
แลเตยทั้งสองพ้องนาม
@ เตยหอมอีกทั้งเตยหนาม มีในเขตคาม
แลชายแม่น้ำลำคลอง
@ นางกรายคิดคล้ายทำนอง นางรำลำพอง
กรีดกรายชะม้ายชำเลือง
@ ทองกวาวดอกแดงเจือเหลือง ดาวกระจายดาวเรือง
ช้างน้าวมะนาวเปรี้ยวหวาน...........

วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554

[บทความ] ประวัติ "พระสถูปเจดีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" ณ ปากน้ำโจ้โล้ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา







[บทความ] ประวัติ "พระสถูปเจดีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" ณ ปากน้ำโจ้โล้ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา
ในปีพุทธศักราช 2309...
หลังจากถูกพม่าข้าศึกเข้าปิดล้อมพระนคร (กรุงศรีอยุธยา) พระยาวชิรปราการ (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช) และเหล่าทหารไทย ได้เข้าต่อสู้กับอริราชศัตรูอย่างเข้มแข็ง แต่ด้วยว่างเว้นจากการศึกสงครามมานาน ทำให้ไพร่พลขาดความพร้อมในการรบ ประกอบกับภาวะปัญหาทางการเมืองเรื้อรัง อันสืบเนื่องมาจากการแย่งชิงอำนาจ และที่สำคัญพม่าได้ปรับเปลี่ยนยุทธวิธี โดยการเข้าตัดกำลังของหัวเมืองต่าง ๆ ส่งผลให้ทัพไทยเกิดความระส่ำ แก้ไขสถานการณ์ และวางแผนการรบผิดพลาดบ่อยครั้ง แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กรุงศรีอยุธยาต้องเสียแก่พม่า ก็เพราะคนไทยขาดความสามัคคี ทรยศต่อชาติแผ่นดิน เป็นไส้ศึกให้ศัตรูเหยียบย่ำ




ครั้น พระยาวชิรปราการ... มองไม่เห็นหนทางรอด จึงตัดสินใจพานักรบไทยจีน ลาว มอญ และ ญวน ตีฝ่าวงล้อมพม่าออกจาก กรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นการหนีไปตั้งหลัก เพื่อรักษาชีวิต และรวบรวมไพร่พลกลับมากอบกู้ชาติแผ่นดินอีกครั้งในวันที่ 3 มกราคม พุทธศักราช 2309 (10) ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ อัฐศก จุลศักราช 1128 เวลาพลบค่ำ พระยาวชิรปราการ ได้รวบรวมไพร่พลราว 500 คน พร้อมด้วย หลวงพิชัยอาสา และนายทหารผู้ใหญ่ ได้แก่ พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงพิชัยราชา หลวงราชเสน่หา ขุนอภัยภักดี และ หมื่นราชเสน่หา กับขุนหมื่นผู้น้อยอีกจำนวนหนึ่ง ทิ้ง ค่ายวัดพิชัย ตีฝ่าวงล้อมทหารพม่า ในขณะที่ กรุงศรีอยุธยา กำลังประสบชะตากรรมใกล้ถึงกาลล่มจม กองเพลิงไหม้เผาผลาญตั้งแต่ ท่าทราย ริมกำแพงข้างด้านเหนือ ลามมาจนถึง สะพานช้างวงคลองข้าวเปลือก แล้วข้ามมาติด ป่ามะพร้าว ป่าถ่าน ป่าโทน ป่าทอง ป่ายา วัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุ ตลอดถนนหลวงไปจนถึง วัดฉัททันต์ ติดกุฎีวิหาร และบ้านเรือนราษฎรมากกว่าหมื่นหลัง ไฟยังไม่ทันมอดพระยาวชิรปราการ ได้พาไพร่พล 500 คน ตีฝ่าวงล้อมของพม่าข้าศึกออกจากกรุงศรีอยุธยามุ่งหน้าสู่ทิศตะวันออก ยกกำลังพลผ่าน บ้านหันตรา บ้านข้าวเม่า คลองอุทัย บ้านสัมบัณฑิต บ้านหนองไม้ซุง บ้านพรานนก บ้านหนองปลิง บ้านบางกง (แขวงเมืองนครนายก) บ้านนาเริ่ง (แขวงเมืองนครนายก) บ้านบางคาง บ้านคู้ลำพัน





ในวันที่ 13 มกราคม พุทธศักราช 2309 (10) ตรงกับวันอังคาร ขึ้น 14 ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ อัฐศก จุลศักราช 1128 ครั้นกองทัพของ พระยาวชิรปราการ มาถึง บ้านคู้ลำพัน ชายทุ่งเมืองปราจีนบุรี (ตำบลคู้ลำพัน อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี) เวลาประมาณบ่ายสี่โมง (ประมาณ 16.00 น.) ทหารพม่าไล่ฟันชาวบ้าน มาตามทางตั้งทัพ พระยาวชิรปราการ เห็น จึงสั่งให้ นายบุญมี หรือ กรมขุนอนุรักษ์สงคราม (หลาน) ไปตระเวนตรวจดูข้าศึก เมื่อ นายบุญมี กลับมารายงานว่ากองทัพพม่าที่ ค่ายปากน้ำเจ้าโล้ ยกตามมาติด ๆ พระยาวชิรปราการ จึงสั่งให้ช่วยกันขุดสนามเพลาะบังตัวต่างค่าย ให้กองเสบียงลำเลียงหาบคอนล่วงหน้าไปก่อน ครั้นกองทัพพม่าเข้ามาใกล้ เดินเรียงรายมาตามดงแขม ห่างประมาณ 6 – 7 เส้น ให้ยิงปืนตับใหญ่น้อยระดมไปยังกองทหารพม่า แม้ว่ากองทหารพม่าจะดาหน้าหนุนเนื่องกันมา ก็สั่งให้ยิงปืนตับสมทบไป ทหารพม่าล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ที่เหลือก็หนีแตกกระจัดกระจายไป นับแต่นั้นมาพม่าก็ไม่ได้ติดตามกองทัพ พระยาวชิรปราการ อีกต่อไป เหล่าทหารหาญในกองทัพ พระยาวชิรปราการ ต่างพากันโห่ร้อง ตีฆ้อง ตีกลองไล่หลังทหารพม่าอย่างสาสมแก่ใจ

ครั้นรบชนะพม่าข้าศึกแล้ว พระยาวชิรปราการ ได้สั่งให้ไพร่พลพักทัพ และสั่งให้ทหารสร้างพระเจดีย์เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการสู้รบกับพม่าจนมีชัยชนะตรงบริเวณ ปากน้ำโจ้โล้ (คลองท่าลาด) แต่เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นแหลมที่มีกระแสน้ำจากคลองท่าลาดไหลบรรจบกับแม่น้ำบางปะกง ทำให้กระแสน้ำกัดเซาะจนบริเวณแหลมปากน้ำอันที่ตั้งของ พระเจดีย์พระเจ้าตากสิน (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช) พังทลายลงเมื่อประมาณปีพุทธศักราช 2491 และได้ดำเนินการก่อสร้างพระสถูปเจดีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราช อีกครั้ง เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พุทธศักราช 2539 ณ บริเวณตรงที่เดิม ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2542




ปัจจุบัน ภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบ พระสถูปเจดีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราช (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช) มีความสวยสดงดงามมาก มีต้นไม้ใหญ่น้อยปกคุ้มร่มรื่นเย็นสบาย โดยเฉพาะริมแม่น้ำ ช่วงเวลากระแสลมพัดผ่านมาในแต่ละครั้ง พาให้ชื่นอุราเสียยิ่งกระไร เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจเป็นอย่างมาก และที่สำคัญสถานที่แห่งนี้ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ เป็นผืนดินประวัติศาสตร์โดยตรง ด้วย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช และเหล่าบรรพชน ได้ทำการสู้รบกับอริราชศัตรูอย่างเข้มแข็ง เพื่อกอบกู้ และปกป้องชาติแผ่นดิน ให้ลูกหลานเหลนไทยได้อยู่อาศัยสืบต่อกันมา ณ บริเวณที่แห่งนี้ ถ้าท่านมีโอกาสใคร่ขอเรียนเชิญ อำเภอบางคล้า อยู่ใกล้ กรุงเทพมหานคร แค่นี้เอง ขับรถไม่เกินชั่วโมงก็ถึงแล้ว มาหวนรำลึกถึงนึกถึงอดีต นึกถึงพระคุณของบรรพชน ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที อีกวิธีหนึ่งที่คุณหรือใครก็สามารถทำได้...



[บทความ] มูลบทบรรพกิจของพระยาศรีสุนทรโวหาร : วิธีนับศัพท์สังขยา.



ขอขอบคุณภาพจากอินเทอร์เนท

ขอย้อนกลับไปหนังสือมูลบทพรรพกิจ เฉพาะเรื่อง วิธีนับศัพท์สังขยา
คำ พระภิรักชิดท้าย อมรา ต้นเอย
กลอน ท่านรังรจนา แนะไว้
สอน พวกดะรุณทา รกร่ำ เรียนเอย
เด็ก อย่าดูหมิ่นให้ เร่งรู้ ดูจำ
@ อันดับนี้ข้าขอกล่าว ให้เนื่องเรื่องราว วิธีนับศัพท์สังขยา
@ เด็กเอ๋ยเจ้าจงศึกษา ตำหรับนับรา จงรู้กระทู้ที่นับ
@ ห้าสองหนเป็นสิบสับ สิบสองหนนับ ว่ายี่สิบอย่าสงไสย
@ สิบสามหนเป็นต้นไป ท่านเรียกชื่อไซร้ สามสิบสี่สิบตามกัน
@ สิบสิบหนเป็นร้อยพลัน สิบร้อยเป็นพัน สิบพันเป็นหมื่นหนึ่้งนา
@ สิบหมื่นเป็นแสนหนึ่งหนา สิบแสนท่านว่า เป็นล้านหนึ่งพึงจำไว้
@ สิบล้านนั้นเป็นโกฏิไซร้ ร้อยแสนโกฏิไป เป็นประโกฏิหนึ่งตามมี
@ ร้อยแสนประโกฏินี้ เป็นโกฏิประโกฏิ พึงกำหนดอย่าคลาดคลา
@ ร้อยแสนโกฏิปะโกฏิหนา ท่านเรียกชื่อมา ว่านะหุตหนึ่งไป
@ ร้อยแสนนะหุตนั้นไซร้ ท่านเรียกชื่อไว้ ว่านินนะหุตนา
@ ร้อยแสนนินนะหุตหนา ได้นามตามมา ว่าอะโขภินีหนึ่งมี
@ ร้อยแสนอะโขภินี ได้นามตามมี ว่าพินธุอันหนึ้งนา
@ ร้อยแสนพินธุหนึ่งหนา ท่านเรียกกันมา ว่าอัพพุทพึงจำไว้
@ ร้อยแสนอัพพุทไซร้ ได้นามตามใช้ ว่านิรัพพุทหนึ่งนา
@ ร้อยแสนนิรัพพุทหนา ท่านเรียกชื่อมา ว่าอหะหะตามมี
@ ร้อยแสนอหะหะนี้ มีนามตามที ว่า อพะพะหนึ่งหนา
@ ร้อยแสนอพะพะนั้นหนา ท่านเรียกกันมา ว่าอฎะฎะตามมี
@ ร้อยแสนอฎะฎะนี่้ มีนามตามที่ ว่าโสคันทิกะหนึ่งนา
@ ร้อยแสนโสคันทิกะหนา ท่านเรียกชื่อว่า เป็นกมุทอันหนึ่งไป
@ ร้อยแสนกมุทนั้นไซร้ มีนามตามใช้ ว่าบุณฑริกหนึ่งแน่
@ ร้อยแสนบุณฑริกแท้ ท่านเรียกกันแล ว่าเป็นปทุมหนึ่งไป
@ ร้อยแสนปทุมนั้นไซร้ ท่านตั้งชื่อไว้ ว่ากะถานะอันหนึ่งนา
@ ร้อยแสนกะถานะนั้นหนา ท่านเรียกกันมา ว่ามหากะถานะหนึ่งไป
@ ร้อยแสนมหากะถานะไซร้ เป้นอสงไขย คือเหลือจะนับพรรณา ซะ

@ อนึ่งลำดับที่นับมา ผิดจากเทศนา ฃองพระชืโนวาที
@ ลำดับที่นับนี้ นิรัพพุทมี แล้วอพะพะ อฎะฎะมา
@ อหะหะกมุทา โสคันทิกา แล้วอุบปละบุณฑริกนี้
@ ปทุมะกะถานะตามที่ จงรู้วิธี แล้วสังเกตุกำหนดแล
@ แต่ร้อยถึงโกฏินี้แท้ เอาสิบคูณแน่ เร่งรู้หนาอย่าหลงใหล
@ แต่โกฏิถึงอสงไขย เอาร้อยแสนไซร้่ เร่งคูณเข้าอย่าลืมแล ซะ

@ อนึ่งโสดนับมีสามแท้ นับด้วยวัดแล ด้วยตวงด้วยชั่งเป็นสาม
@ โยชน์หนึ่งสี่ร้อยเส้นตามตาม เส้นหนึ่งโดยความ ยี่สิบวาอย่างสงไสย
@ โยชน์หนึ่งสี่ศอกบอกไว้ ศอกหนึ่งท่านใช้ สองคืบไซร้ตามมีมา
@ คืบหนึ่งสิบสองนิ้วหนา นิ้วหนึ่งท่านว่า สี่กระเบียดจงจำเอา
@ กระเบียดหนึ่งสองเมล็ดเข้า เมล็ดเข้าหนึ่งเล่า แปดตัวเหาจงรู้รา
@ ตัวเหาหนึ่งนั้นท่านว่า แปดไข่เหาหนา ไข่เหาหนึ่งแปดเส้นผม
@ เส้นผมนั้นหนึ่งนิยม แปดธุลีลม ธุลีหนึ่งแปดอณูนา
@ อณูหนึ่งนั้นพึงรู้หนา ท่านใช้กันมา ว่าแปดปรมาณูแล
.........

@ ทิศแปดปันโดยนามกร คือทิศบูรพ์ก่อน เป็นทิศตระวันออกนา
@ แล้วอาคเณย์ทิศา ทักษิณนี้หนา เป็นทิศข้างใต้ตามมี
@ แล้วต่อไปทิศหรดี จึงประจิมนี้ เป็นทิศตระวันตกหนา
@ แล้วจึงทิศพายัพมา ทิศอุดรรา เป็นทิศด้านเหนือจงจำ
@ แล้วจึงทิศอิสาณสำ เหนียกให้แม่นยำ ปันทิศแปดทิศคงตรง ซะ

พลอยโพยมขอสรุป แปดทิศ คือ บูรพา (ตะวันออก) อาคเณย์ (ตะวันออกเฉียงใต้) ทักษิณ (ทิศใต้) หรดี (ตะวันตกเฉียงใต้)ประจิม (ทิศตะวันตก)พายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ) อุดร (ทิศเหนือ) อีสาน(ตะวันออกเฉียงเหนือ)

ตัวสะกด ( สกดเดิม) ต่าง ๆ ในบทความที่เกี่ยวข้องกับท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ที่คงแบบเดิมในสมัยนั้นเพื่อสืบความตามต้นฉบับ เพียงเพื่อทราบ ขอให้ท่านผู้อ่านได้โปรดศึกษาและยึดใช้ตามพจนานุกรมปัจจุบัน

วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

[บทความ] วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ พิศาลการันต์


วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ พิศาลการันต์


พลอยโพยมขออภัยที่เสนอบทความค่อนข้างหนักสำหรับผู้อ่านโดยทั่วไป แต่ด้วยความตั้งมั่นในอันจะประกาศเกียรติคุณ ของท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร ) ปราชญ์ภาษาไทยแผ่นดินสยามสามสมัย แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งท่านเป็นชาวฉะเชิงเทราให้แพร่หลายสืบไป ซึงน่าจะเป็นประโยชน์ในการค้นคว้าของผู้ที่มีความสนใจ แต่ก็ขอเสนอบทความอย่างรวบรัด


วาหนิติ์นิกร บรรยายด้วยบทโคลงของท่านพระยาศรีสุนทร เองได้ดังนี้

พากเพียรเวียนคิดค้น คัดคำ
พวกอักษรสูงนำ แนะไว้
กุมารหมั่นดูสำ เหนียกนึก เทอญพ่อ
รู้รอบชอบจักได้ ทรัพย์ซ้องสรเสิญ

คำณวนควรนับอ้าง อักษร
วาหะนิติ์นิกร ชื่อชี้
ตัวสูงหากสังหร ตัวต่ำ ขึ้นนา
ถ่องกระบวนแบบนี้ นับผู้ชาญเฉลียว

เรื่องนี้นามตั้งว่า วาหะนิติ์
สองอักษรนำสนิท นับอ้าง
ร่วมเสียงสระชิด เชิงชอบ
เชิญเร่งเรียนอย่าร้าง รอบรู้ชูศรี


วิธีอักษรไทย มีอักษรเสียงสูง ๑๑ อักษร ยังหาพอใช้แก่สำเนียงสูงภาษาไทยไม่ ต้องคิดจัดเอาอักษรสูง ๑๑ นั้น นำผสมอักษรต่ำที่ควรจะนำขึ้นอีก อักษรสูงนำอักษรต่ำให้มีสำเนียงสูงขึ้นได้ทั้ง ๑๑ อักษร แต่อักษรสูง ๑๐ ตัว คือ ข ฃ ฉ ฐ ถ ผ ฝ ศ ษ ส นี้ กับ ตัว (ห) แปลกกันอยู่สังเกตดูจึงรู้แยบคาย ตัว (ห) นำนั้นเป็นแต่จูงอักษรต่ำให้มีเสียงสูงขึ้นอย่างเดียว อ่านไม่ต้องออกสำเนียง ตัว (ห) เช่น บุหงา ปะหนัน เป็นต้น อักษรสูง ๑๐ ตัว นำข้างหน้าตัวใดก็ชักเสียงตัวนั้นสูงขึ้น ทั้งต้องอ่านให้ตัวนำนั้นออกเสียงเป็น ประวิสัญชะนี บรรจบเข้ากับตัวอักษรกลืนกันอยู่ด้วย เหมือนคำว่า ขนุน ขนอน ขนม เป็นต้น
แต่ตัว ข ฃ...ศ ษ ส นี้มิใช่นำได้ทั่วไป จำเพาะนำได้แต่ตัวที่ควรนำ คิดตรวจดูเห็นใช้คำนำ ตัว ง น ม ย ร ล ว เท่านี้โดยมากนำได้ทั้งในแม่ กน กง กก กด กบ กม เกย แลผันด้วยไม้ ่ ้ เหมือนตัวอักษรสูงที่นำข้างหน้าได้ทุก ๆแม่ไป
(มีรายละเอียด ตั้งแต่หน้า ๑๐๒- ๑๖๒)

อักษรประโยค
มีโคลงอธิบาย ๒ บท แต่ขอข้ามเลยไป
วิธีประสมอักษรใช้ในคำภาษาไทย แต่เพียงอักษรสูงนำอักษรต่ำ ดังที่แจกใน วาหนิติ์นิกร นั้น ยังหาพอที่จะใช้คำในภาษาไทยไม่ ต้องจัด ตัว ( ร ล ว) ประสมกับอักษรที่ควรประสมกันได้ สองอักษร ร่วมสระกันเป็นคำเดียว ตั้งชื่อว่า อักษรประโยค สำหรับประสมคำใช้ให้เต็มตามสำเนียงไทย ตัว ( ร ล ว) เป็นตัวประโยคสำหรับเอามาควบเข้ากับอักษรที่ควรควบ แล้วแจกเป็น ก กา กน กง กก กด กบ กม เกย แลผันด้วย ่ ้ ๊ ๋ ตามอักษรตัวต้นที่ประสมกันนั้นทุก ๆ แม่ไป
มีหมู่อักษรสูง ๑๑ ยกแต่ (ห) ตัวเดียว นอกนั้นประโยคได้สิ้น
ในหมู่อักษรกลาง ๙ ตัว (ฎ ฏ ต ป อ) ๕ ตัวนี้ประโยคไม่ได้ ( ก จ ต ป) ๔ ตัวนี้ประโยคได้
อักษรต่ำ ๒๔ ตัว ยก ๑๗ ตัว คือ (ต ฆ ง ช ฌ ญ ฑ ฒ ณ ธ น ฟ ภ ม ย ฬ ฮ)นี้ไม่ควรประโยค ยังเหลือ ๗ ตัวคือ (ค ซ ท พ ร ล ว) ยก (ร ล ว)เป็นตัวประโยคเสีย ยังคงได้อักษรต่ำที่ควรประโยค คือ ตัว ( ค ซ ท พ ) ๔ ตัวเท่านี้ ตัว (ซ) นี้ถึงประโยคได้แต่ก็ไม่มีที่ใช้ ควรแจกประโยคอักษรต่ำ ได้แต่ ( ค ท พ) เท่านี้
อักษรสูงควรประโยคได้ ๑๐ ตัวจริง แต่ยกตัวที่ซ้ำกันแลตัวที่ใช้ไม่ได้ คือ (ฃ ฐ ฝ ศ ษ) ๕ ตัวนี้ออกเสีย ก็ยังคงควรแจกประโยค ๕ ตัวคือ ( ข ฉ ถ ผ ส) เท่านี้ ได้แจกประโยคไว้ในวิธิ วาหนิติ์ นั้นแล้ว ในเล่มนี้จะแจกประโยคแต่อักษรกลาง ๔ ตัว กับอักษรต่ำ ๓ ตัว เท่านี้
ตัวอย่าง เช่น
ตัว (ก) กับ ตัว (ร) ประโยคกันแจกดังนี้
กร กรา กริ กรี
ตัว (ก) ควบกับตัว (ร) แม่ ก กา ใช้ได้ ๑๓ คือ
จักรา ตะกร้า จักกรี เอาใบไม้กรุ วิ่งกรู ต้นไทร โกรธา นอนโกร๋ กันเกรา กรากกรำ กระลา กระถี กระลำภร
แจก ใน แม่ กน...จนแม่เกย แล้วก็เป็นการ ประโยค (ก) ควบกับ (ล) ประโยค ควบ อื่น ๆ จบที่ ตัว (พ)ประโยคกับตัว (ว)

แต่นี้จะว่า กับ แก่ แต่ ต่อ สี่คำนี้ต่อไป ผู้เขียนต้องใช้ให้ถูกกับความ ถ้าใช้ที่ ควรจะว่า กับ ว่าเป็น แก่ เคลื่อนคลาศ นักปราชญ์ที่มีใจละเอียด ก็จะรังเกียดติเตียน แลแบบที่ถูกต้องถ่องแท้นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เอกอรรคอุดมบัณฑิตย์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานแบบฉบับไว้เป็นตัวอย่างดังนี้

คำพูดคำเขียนใช้ลงหนังสือ ย่อมแปลก ๆ ต่าง ๆ ตามลักษณะนิยมถ้อยคำนั้น ๆ ให้ท่านผู้จะพูดแลจะใช้หนังสือสังเกตที่ควรไม่ควรจะประจักษ์คือ ที่ควรจะว่า กับ กับ ก็มี ว่าอย่างอื่นผิดไม่ถูก แลที่ควรจะว่า แก่ แก่ ก็มี ว่าต่อก็มี ว่าอย่างอื่นไม่ได้ไม่ถูก แลที่ควรต้องว่า แต่ แต่ ก็มี ว่าอย่างอื่นไม่ชอบไม่ถูก แลที่ควรจะว่าแต่ ว่าใน ใช้ในคำสูงก็มี เป็นหลายจำพวกดังนี้ ในทุกวันนี้ใช้คำผิด ๆ มากนัก เลือนเลอะปะปนกันไป ใช้คำว่า กับ กับ กับ มากนักทั่วไปทุกหนทุกแห่ง ไม่มีผู้สังเกตว่าที่ควร ที่ไม่ควรเลย เพราะฉะนั้นจึงขอตั้งแบบชี้แจงไว้ให้เห็นดังนี้...

.... จบคำกำหนดใช้ กับ แก่ แต่ ต่อ เท่านี้ ซะ
อนึ่งพึงให้กุลบุตรมีความสังเกตถ้อยคำที่ท่านใช้อักษรสูง กับอักษรต่ำรวบเข้าเป้นสำเนียงเดียวกัน แต่อักษรสูงไม่มีอำนาจที่จะจูงนำอักษรกลางให้เป็นเสียงสุงได้ ถึงควบกันเข้าก็คงเป็นสำเนียงอักษรกลางอยู่เดิม ดุจคำเหล่านี้
สกล สนธ์ สเก็ด สกุณ สุกล สกอ..............สอาด สอิดสเอียน ผอบ
คำเช่นนี้มีมากชักมาว่าไว้พอเป็นอย่างเท่านี้ ซะ

มีรายละเอียด อักษรประโยค หน้า ๑๖๓- ๒๑๐

สังโยคพิธาน
มีโคลงอธิบายถึง ๕ บทโคลง
รวบรวมตัวอักษรที่ใช้สกด ในแม่ กน กก กด กบ ซึ่งมาในภาษามคธบ้าง คำบาลีบ้าง มีมาโดยข้อบัญญัติ ในภาษาไทยใช้สืบกันมาแต่โบราณบ้าง เพื่อให้กุลบุตรสังเกต จำเป็นแบบอย่าง ในการจะอ่านจะเขียนให้ถูกถ้วนตามกระบวนอักษร ตามรู้ตามเห็น พอเป็นสำเนาเล่าความ

ตัว ญ ณ น ร ล ฬ เป็นอักษรสกดในแม่กน
ตัว จ ฉ ช ซ ฌ ฏ ฎ..... ศ ษ ส เว้น ณ น รวม ๑๘ อักษรใช้สกดในแม่ กด
ตัว บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ยกเว้น ม รวม ๗ อักษร เป้นตัวสกด แม่กบ
หน้า ๒๑๑-๒๓๘

ไวพจน์พิจารณ์
เป็นลักษณะใช้ถ้อยคำขบวนหนึ่ง ตัวต่างกัน แต่อ่านออกเสียงเหมือนกัน บางทีตัวเดียวกัน แต่ตัวสกดต่างกัน อ่านออกเสียงอย่างเดียวกัน แลต่างแค่สำเนียงสั้นบ้าง ยาวบ้าง กุลบุตรควรสังเกตจำไว้เป็นแผนกหนึ่ง ที่ต่างด้วยตัวสกดนั้น ได้จัดแจกไว้ใน สังโยคพิธานแล้ว แต่ยังแยกย้ายเรี่ยรายกันอยู่ จึงคิดคัดจัดคำ ที่มีสำเนียงเดียวกัน มารวบรวมเข้าไว้เป็นหมวดหมู่เดียวกัน ให้ชื่อว่า ไวพจน์พิจารณ์ ต่อเรื่องเนื่องกับสังโยคพิธาน ควรจำกำหนดไว้โดยแผนกหนึ่งดังนี้
หน้า ๒๔๒-๒๖๒

พิศาลการันต์
มีโคลง ๒ บทอธิบาย
วิธีใช้ถ้อยคำขบวนหนึ่ง มีอักษรเพิ่มไว้ข้างท้ายแต่มิใช่ตัวสกด เติมลงไว้เพื่อจะให้เต็มคำซึ่งมาแต่ภาษามคธ แลเสียงภาษาอื่นบ้าง เสียงไทยอ่านไม่ตลอดไปถึง จึงลงไม้ ์ ไว้เป็นที่สังเกตุว่าไม่อ่าน ควรเรียกชื่อว่า การันต์ ยักย้ายตามตัวที่เติมท้ายคำ คือ (ก)การันต์ (ข) การันต์ (ค) การันต์ ...........
ตัวอย่างเช่น บัลลังก์ เขาวงก์ แตรสังข์ ความทุกข์ พระขรรค์ อุโมงค์...
จบตัวการันต์ที่หน้า ๒๗๑
และยังมีคำบรรยาย คำที่ต้องใช้ ไม้ ๊ ๋ มักใช้ในอักษรกลางโดยมาก ส่วน ็ เพื่อชักให้สำเนียงสั้น
ซึ่งเป็นอักษรไทย ภาษาอื่นบ้าง
หนังสือเล่มนี้จบลงที่หน้า ๒๗๖

วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

[บทความ] "มูลบทบรรพกิจ" หนังสือล้ำค่าแห่งประวัติการศึกษาของประเทศไทย


[บทความ] "มูลบทบรรพกิจ" หนังสือล้ำค่าแห่งประวัติการศึกษาของประเทศไทย


มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ พิศาลการันต์ คือแบบสอนภาษาไทย ทั้งหมดนี้ ว่าด้วยวิธีใช้ตัวอักษรพยัญชนะเสียงสูงต่ำ การผัน การประสมอักษร และตัวสกดการันต์

เฉพาะมูลบทบรรพกิจ สันนิษฐานว่า จะได้เค้ามาจากหนังสือ จินดามณี อันว่าด้วยระเบียบของภาษา ซึ่งพระโหราธิบดีแต่งไว้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่คงจะนำมาดัดแปลงให้เหมาะแก่กาลสมัย และนอกจากนี้ยังได้แทรกเรื่องพระไชยสุริยา ซึ่งสุนทรภู่แต่งไว้ในรัชกาลที่ ๓ เข้าไว้ด้วย ทั้งนี้เข้าใจว่า พระยาศรีสุนทรโวหารคงจะเห็นว่า กาพย์พระไชยสุริยาเป็นบทประพันธ์ที่ไพเราะอ่านเข้าใจง่ายและเป็นคติ จึงนำมาบรรจุไว้ในมูลบทบรรพกิจเป็นตอน ๆ ไป ตั้งแต่ แม่ ก.กา จนจบแม่เกย

หนังสือชุดนี้นับว่ามีบทบาทสำคัญในประวัติการศึกษาของชาติ... ด้วยเป็นแบบฝึกหัดอ่านเบื้องต้น ของกุลบุตร กุลธิดา เวลาก่อนหน้านี้ขึ้นไปจะหาหนังสือเรียนซึ่งทางราชการเรียบเรียงจัดพิมพ์ขึ้นเป็นมาตรฐานหามีไม่ หากใครมีความรู้ตำรับตำราอย่างไรก็สอนกันไป ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูปการศึกษาของชาติ โดยจัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร ( น้อย อาจารยางกูร) ครั้งยังเป็นหลวงสารประเสริฐเรียบเรียงหนังสือชุดนี้ขึ้น เพื่อใช้เป็นแบบเรียน

เมื่อการศีกษาได้วิวัฒนาการไปตามกาลเวลา หนังสือชุดนี้เสื่อมความนิยมไป กระทรวงศึกษาธิการซึ่งมีหน้าที่จัดการศึกษาของชาติในสมัยต่อมา ได้ประกาศใช้แบบฝึกหัดอ่านเบื้องต้น แต่ทุกเล่มแต่งโดยถือหนังสือชุดนี้เป็นรากฐาน มาจนปัจจุบัน และปัจจุบันความสำคัญของหนังสือแบบเรียนชุดนี้ลบเลือนหายไปจากนักเรียนยุคปัจจุบัน มีผู้รูจักหนังสือชุดนี้น้อยมาก

พลอยโพยม ชาวฉะเชิงเทรา จึงขอนำ กิติคุณของพระยาศรีสุนทรโวหาร มาประกาศ ให้ได้ประจักษ์ในความเป็นปราชญ์ภาษาไทย ที่ควรยกย่องในความปราดเปรื่องของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร )

หลวงสารประเสริฐน้อย นามเดิม
คิดจัดจำแนกเดิม ต่อตั้ง
ใดพร่องปราชเชิญเสริม แซมใส่ เทอญต่อ
ต้นแต่นโมทั้ง หมู่ไม้เอกโท

ระบินระบอบนี้ นามสฤษดิ์
มูลบทบรรพกิจ ประกอบถ้อย
สำหรับฝึกสอนศิศย แรกเริ่ม เรียนนา
จงพ่อหนูน้อยน้อย เล่าอ้อ อ่านจำ


ก ข ฃ ค ต ฆ ง

จ ฉ ช ซ ฌ ญ

ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ

ด ต ถ ท ธ น

บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม

ย ร ล ว ศ ษ ส ห ฬ อ ฮ

ตอน ก ๗ ตอน จ ๖ ตอน ฎ ๖ ตอน ด ๖ ตอน บ ๘ ตอน ย ๑๑ รวม เป็น ๔๔ ตัวนี้ เรียกว่าพยัญชนะ รวมเข้ากับสระเรียกว่าอักษร ในอักษร ๔๔ ตัวนี้ แจกออกเป็นอักษรสูง ๑๑ อักษรกลาง ๙ อักษรต่ำ ๒๔ สามหมู่นี้เรียกว่าไตรยางษ์
แจกอักษรสูง อักษรกลาง อักษรต่ำ ว่า คืออักษรใดบ้าง

แล้วก็เรียงลำดับ ไม้เอก ไม้โท ไม้ตรี ไม้จัตวา (กากบาท ตีนกา ) สำหรับผันอักษร ๓ หมู่

ฝนทอง ฟองมัน วิสัญชี ทัณฑฆาต ไม้ไต่คู้ นิคหิต นฤคหิต โคมูตร มุสิกทันต์ ฟันหนู หางกังหัน หันอากาศ ไม้ผัด

สระ ๑๕ ตัว สระ อา คือลากข้าง า สระ อิ คือพิน ิ สระ อี คือพิน ี สระ อี คือพิน ึ สระ อื คือพิน ื สระ อุ คือ ลากตีน อุ ุ สระ อู คือ ลากตีน อู ู สระ เอ คือ ไม้น่าอันหนึ่ง เ สระ แอ คือไม้น่าสองอัน แ สระ ไอ คือไม้มลาย ไ สระใอ คือไม้ม้วน ใ สระ โอ คือไม้โอ โ สระ เอา คือ ไม้น่ากับลากข้าง เ า สระ อำ คือ นฤคหิตจุดบนลากข้าง ำ สระ อะ คือประวิสัญชะนีข้างหลัง ะ



จากนั้นก็เป็นการประสมคำพยัญชนะ กับสระ

คำกลอนสำหรับอ่านเทียบในแม่ ก กา แม่ กง แม่ กก แม่กด แม่ กม แม่ เกย

โดยใช้กาพย์พระไชยสุริยา ผลงานของพระสุนทรโวหาร (สุนทรภู่)แทรกในแต่ละแม่ที่ใช้สกดคำ

กาพย์พระไชยสุริยาเป็นแบบเรียนที่สุนทรภู่แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จุดประสงค์เพื่อถวายพระอักษรแด่พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระอัครชายา คือเจ้าฟ้าชายกลางแล้วเจ้าฟ้าปิ๋ว ในการศึกษากาพย์พระไชยสุริยา ผู้เรียนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับลักษณะการแต่งคำประพันธ์ประเภทกาพย์ ได้แก่ กาพย์ยานี11 กาพย์ฉบัง16 และ กาพย์สุรางคนางค์ 28


ตัวอย่างกาพย์พระไชยสุริยา ที่แก้ไขเป็นปัจจุบัน

แม่ ก กา
กาพย์ยานี๑๑
สาธุสะจะขอไหว้ พระศรีไตรสรณา
พ่อแม่แลครูบา เทวดาในราษี
ข้าเจ้าเอา ก ข เข้ามาต่อ ก กา มี
แก้ไขในเท่านี้ ดีมิดีอย่าตรีชา (ตรีชา แปลว่าตำหนิ)
จะร่ำคำต่อไป พอฬ่อใจกุมารา
ธรณีมีราชา เจ้าภาราสาวะถี
ชื่อพระไชยสุริยา มีสุดามะเหษี
ชื่อว่าสุมาลี อยู่บุรีไม่มีไภย
ข้าเฝ้าเหล่าเสนา มีกิริยาอะฌาสัย
พ่อค้ามาแต่ไกล ได้อาศัยในพารา
ไพร่ฟ้าประชาชี ชาวบุรีก็ปรีดา .......

กาพย์ฉบัง ๑๖
พระไชยสุริยาภูมี พาพระมเหษี
มาที่ในลำสำเภา
ข้าวปลาหาไปไม่เบา นารีที่เยาว์
ก็เอาไปในเภตรา......

ปลากะโห้โลมาราหู เหราปลาทู
มีอยู่ในน้ำคล่ำไป.......
จบแม่ ก กา ฯ

คำกลอนในแม่กน

กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘

ขึ้นใหม่ในกน ก กาว่าปน ระคนกันไป
เอ็นดูภูธร มรนอนในไพร มณฑลต้นไทร แทนไพชยนต์สถาน
ส่วนสุมาลี วันทาสามี เทวีอยู่งาน
เฝ้าอยู่ดูแล เหมือนแต่ก่อนกาล ให้พระภูบาล สำราญวิญญา ........

กาพย์ยานี ๑๑ มักใช้ในการบรรยายหรือเล่าเรื่อง
กาพย์ฉบัง ๑๖ เป็นกาพย์ที่มีลีลาสง่างาม มักใช้ในการบรรยายเหตุการณ์สำคัญหรือบรรยายเหตุการณ์ที่รวบรัดรวดเร็ว
กาพย์สุราคนางค์ ๒๘ เป็นกาพย์มีลีลาอ่อนหวาน เศร้า มักใช้ในการพรรณาอารมณ์ ความรู้สึก


ใช้กาพย์พระไชยสุริยา เป็นตัวอย่าง แม่กก กด กบ กม ไล่จนจบแม่เกย

การใช้ตัว ศอ คอ
กุศล ว่าบุญ ,ดาบศ ว่าฤาษี ,ทศ ว่าสิบ ,ปีศาจ ว่าอสุรกาย

อาศรมศิลปศิวา ศรโศรตเศรษฐี
อากาศพิศม์ศุลี ยศศักดิ์อัศวา

การใช้ ษอ บอ
กษัตริย์ ว่าเป็นใหญ่ในเขตรแดน, ภิกษุ ว่าคนบวช , ภูษา ว่าผ้า, จักษุ ว่าตา ,บุษบา ว่าดอกไม้,บุษยา ว่าขาว

บุษยาแลกฤษณแลกฤษ เขษมกษัตริย์บัตรี
โอภาษจักษุมหิษี รักษโทษภูษา

การใช้ ส ลอ
เกสร ว่าเกสรดอกไม้, ปราสาท ว่าเรือนยอด, สรรเพชญ์ ว่าทั้งปวง ,สารถี ว่านายรถ,สุรางค์ ว่านางเทวดา,สุริยะ ว่าดวงอาทิตย์

การใช้ ส
สรรเพชญ์สัทธรรม์แลสงฆ์ ประเสริฐแก่นสาร
สบสูตรสดับนิแลสังหาร แลแพทยสัตยา
โกสุมเกสรสมบัติ แลสวัสดิโสภา
เสาร์สุริยสวรรค์แลสุรา สุรสิทธิ์สมภาร




การนับศัพท์สังขยา

อันนี้ข้าขอกล่าว ให้เนื่องเรื่องราว วิธีนับศัพท์สังขยา

เด็กเอ๋ยเจ้าจงศึกษา ตำหรับนับรา จงรู้กระทู้ที่นับ

ห้าสองหนเป็นสิบสับ สิบสองหนนับ ว่ายี่สิบอย่าสงไสย

สิบสามหนเป็นต้นไป ท่านเรียกชื่อใช้ สามสิบสี่สิบตามกัน

สิบสิบหนเป็นร้อย สิบร้อยเป็นพัน สิบพันเป็นหมื่นหนึ่งนา สิบหมื่นเป็นแสนหนึ่งหนา

สิิบแสนท่านว่า เป็นล้านหนึ่งพึงจำไว้ สิบล้านนั้นเป็นโกฏไซร้



ร้อยแสนโกฎไป เป็นปฏิโกฎิ์หนึ่งตามมี................


พระยาศรีสุนทร ท่านไล่ ไปจนครบ อสงไขย ซึ่งความอีกยาวมากจึงขอตัดมาเพียงแค่นี้

โยชน์หนึ่งสี่ร้อยเส้นตามตาม เส้นหนึ่งโดยความ ยี่สิบวาอย่าสงสัย
วาหนึ่งสี่ศอกบอกไว้ ศอกหนึ่งท่านใช้ สองคืบไซร้ตามมีมา
คืบหนึ่งสิบสองนิ้วหนา นิ้วหนึ่งท่านว่า สี่กระเบียดจงจำเอา
กระเบียดหนึ่งสองเมล็ดเข้า เมล็ดเข้าหนึ่งเล่า........
ท่านไล่เล็กลงไปเรื่อยๆ จนถึง อณู สุดปลายที่ ปรมาณู

หนึ่งนานับกว้างโดยแท้ ยีสิบวาแล ยาวยี่สิบวาเป็นไร่
ถ้าโดยกว้างห้าวาไป ยาวเส้นหนึ่งไซร้ เป็นงานหนึ่งพึงจำ
สี่งานท่านประสมทำ เป็นไร่หนึ่งกำ หนดไว้ให้ดีดังว่ามา

ไม้หน้ากว้างศอกหนึ่งนา ยาวสิบหกวา เป็นยกหนึ่งพึงจำไว้
นับด้วยวัดอย่างนี้ไซร้ นับด้วยตวงไป จงนับใช้ดังนี้นา
ข้าวเกวียนหนึ่งนั้นท่านว่า ห้าตะล่อมหนา ตะล่อมหนึ่งยี่สิบสัด
สัดหนึ่งยี่สิบทะนานขัด ทะนานหนึ่งสังกัด สองจังออนจงจำไว้
จังออนหนึ่งสีกำมือได้ กำมือหนึ่งไซร้ สี่ใจมือตามมา
ใจมือหนึ่งนั้นท่านว่า ร้อยเมล็ดข้าวหนา นับด้วยตวงเพียงนี้แล

ทองภาราหนึ่งแท้ ยีี่สิบดุนแน่ ดุนหนึ่งยี่สิบชั่งนา
ชั่งหนึ่งยี่สิบตำลึงหนา ตำลึงหนึ่งรา สี่บาทถ้วนจงจำไว้
บาทหนึ่งสี่สลึงไทย สลึงหนึ่งท่านใช้ สองเฟื้อจงจำไว้นา
เฟื้องหนึ่งนั้นสี่ไพหนา ไพหนึ่งท่านว่า สองกล่ำจงกำหนดไว้

คำสอนในมูลบทบรรพกิจ มีไล่ ปีชวดชื่อเป็นหนูนา......ไล่จนถึงปีกุน
ปีหนึ่งมีสิบสองเดือน เริ่มต้นด้วยเดือนห้า ไปจนจบเดือนสี่ ครบสิบสองเดือน

ปีใดอธิกมาส เดือนเข้าอีกไซร้ ปีนั้นสิบสามเดือนนา (มีเดือนแปดสองครั้ง)
อาทิตย์หนึ่งมีเจ็ดวัน... กลางคืนควบกัน ท่านนับเป็นวัน หนึ่งควรจะใส่ใจจำ วันหนึ่งนั้นแปดยามย่ำ กลางวันสี่ยามมี กลางคืนก็นับยามสี่ วันกับราตรี จึงเป็นแปดยามตามใช้ ยามหนึ่งสามนาฬิกา นาฬิกาท่านใช้ กลางวันท่านเรียกโมงนา กลางคืนเรียกทุ่มนา


อนึ่งฤดูมีสามไซร้ คือเหมันต์ไป คิมหันต์วัสสาสะนา ( คือวสันต์ )
เดือนสิบสองแต่แรมมา เดือนสี่เพ็ญหนา สี่เดือนนี้ชื่อเหมันต์
แต่แรมเดือนสี่จนวัน เพ็ญเดือนแปดนั้น สี่เดือนนี้คิมหันต์นา
แรมหนึ่งเดือนแปดมา ถึงเพ็ญวารา กะติกะมาศจงรู้ สี่เดือนถ้วนวัสสานะฤดู แบบโหรเป็นครู ว่าตามศศิโคจร

ทิศแปดปันโดยนามกร คือทิศบูรพ์ก่อน เป็นทิศตะวันออกนา............


ยังมีการสอนไม้มลายเป็น ๒ อย่าง และไม้มลายที่มีตัวย ยอ สกด ด้วยคำนั้นมาแต่ภาษามภธ คำมีแต่ไม้มลาย ล้วนเป็นคำไทย
ตัวอย่างมี ยอ สกด เช่น กัยวิไกย ชลาไลย อายุไขย...
ไม้มลายไม่มีตัวยอ เช่น ท้าวไทแลไพร่พล ทั้งพงไพรแลไร่นา...ทั้งผลไม้แลไมตรี ไฉไลแลไพร่หนี.....

ขอแต่งเติมเสริมไว้ฝึกสอน ต่อมูลบทแบบเจ้าคุณศรีสุนทร พอเด็กอ่อนอ่านเล่าได้เข้าใจ ซึ่งขนบธรรมเนียมทำนองนับ เป็นฉบับแบบสยามตามวิสัย โลกนิยมนมนานบุราณไกล คนใหม่ ใหม่ยังไม่รู้ดูรำคาญ.........
พระยาศรีสุนทร ยังสอนสิบสองราศรีอีกความยาว

ฉันรำพรรณวันเดือนโดยลำดับ
เป็นฉบับระบอบได้สอบสวน
จงหมั่นดูอ่านหมั่นทานทวน
หมั่นใคร่ครวญหมั่นนึกหมั่นตรึกตรา

แต่ย่อย่อพอคิดไม่วิตถาน
ถ้าอยากรู้พิสดารจงศึกษา
ที่ครูเฒ่าเขาดียังมีนา
ให้อุตส่าห์เถิดคงรู้ได้ดูดี

ชื่อว่าเกียจคร้านบ่พานพบ
บ่ประสบความรู้ได้ชูศรี
วิชาทรามทรัพย์ก็สูญไม่พูนมี
มิตรที่ร่วมไมตรีก็หน่ายตน

ไม่มีมิตรชื่อว่าหมดความสุข
ไม่มีสุขชื่อว่าหมดกุศล
บุญไกษยแล้วไฉนจะได้ยล
ศิวโมกข์มรรคผลนิพพานเอย.

จบมูลบทเบื้อง บรรพกิจ
เป็นปฐมควรสถิตย์ ที่ต้น
เป็นแบบสั่งสอนศิษย์ สายสืบไว้นา
ความที่ฦกลับอ้น อัดอั้นออกขยาย...



วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

[บทความ] ศรีสุนทราณุประวัติ (พระยาศรีสุนทรโวหาร น้อย อาจารยางกูร )





ประวัติพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
ศรีสุนทราณุประวัติ เรียบเรียงโดย หลวงมหาสิทธิโวหาร ในการศพพระยาศรีสุนทรโวหาร ฯลฯ ผู้เป็นบิดา


พลอยโพยมขออนุญาตพิมพ์ ย่อความตามต้นฉบับเดิมโดยไม่แก้ไขตัวสะกดการันต์
พระยาศรีสุนทรโวหาร ญาณปรีชามาตย์ บรมนาถนิตยภักดี พิริพาหะ ท จ ,น .,ภ., ม., ร.,ด.,ม., เจ้่ากรมพระอาลักษณ์ แลองคมนตรี ในรัชกาลปัตยุบันนี้ เดิมท่านชื่อน้อย, อุปบัติเกิดที่บ้านในคลองโสธร แขวงเมืองฉเชิงเทรา เมื่อ ณ วัน ๖ เดือน ๘ แรม ๒ ค่ำ ปีมะเมีย จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๘๔ ตรงกับวันที่ ๕ กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๔๑ (พ.ศ. ๒๓๖๕) บิดาท่าชื่อ (ทองดี) มารดาท่านชื่อ (บัว) ท่านเป็นบุตรคนที่ ๖ ของบรรพบุรุศ

เมื่อท่านมีอายุได้ ๖ ปี ๗ ปีนั้น ท่านได้เล่าเรียนหนังสือไทยกับหลวงบันเทาทุกขราษฎร์ (ไทย) กรมการเมืองฉเชิงเทรา ซึ่งเป็นพี่ชายใหญ่ของท่าน แต่เมื่อหลวงบันเทาทุกขราฏร์ยังบวชเปนภิกษุอยู่ที่วัดโสธรนั้น
เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี พี่ชายใหญ่ของท่านจึงได้พากันเข้ามาพักอยู่กับท่านสามเณร (ทัด) ซึ่งเป็นน้าชายของท่านที่ได้เข้ามาบวชอยู่วัดสเกษ นั้น ท่านสามเณรทัดได้ชักนำท่านเล่าเรียนวิชาหนังสือไทยกับท่านกรรมวาจาจัน เรียนหนังสือขอมกับท่านพระครูวิหารกิจานุการ (กรรมวาจาจีน) แล้วได้เรียนสารสงเคราะ ในสำนักนิ์สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) เรียนมงคลทิปนีในสำนักนิ์พระอุปทยาจาริยศุข เรียนมูลกัจจายน ในสำนักนิ์สมเด็จพระพุทธาจาริย (สน) เรียนกังขาวิตะระณี ในสำนักนิ์พระอาจาริย (เกิด วัดแหลม) เรียนมหาวงศ์ในสำนักนิ์พระครูด้วง แลได้เล่าเรียนพระคำภีร์อื่น ๆ ในสำนักนิ์พระครูปาน พระใบฏิกาแก้ว พระอาจาริยคง พระอาจาริยด้วง

ฝ่ายอาจาริยคฤหัสนั้นท่านได้ร่ำเรียน วิภัตติกะถาคัณฐาภรณ์สัตถสาร วะชิระสาร ในสำนักนิ์ท่านอาจาริยแสง เรียนวุตโตไทย ในสำนักนิ์หม่อมเจ้าอ้น บ้านถนนโรงครก เสาะหาอาจาริยศึกษาวิชาหนังสือขอมหนังสือไทย ในสำนักนิ์พระอาจาริยต่าง ๆ ดังนี้มา ตั้งแต่อายุศม์ท่าน ๑๔ ปี แล้วท่านจึงได้เข้าบวชเปนสามเณรอีก ๘ ปี รวมเวลาที่ท่านได้เล่าเรียนอยู่ถึง ๑๑ ปี

ครั้นเมื่อปีขาลจัตวาศก จุลศักราช ๑๒๐๔ อายุศม์ท่านได้ ๒๑ ปี ครบอุปสมบทแล้ว ได้อุปสมบทเปนภิกษุอยู่ในวัดสเกษ ได้ศึกษาปริญัติธรรมเรียนคำภีร์วิสุทธิมัค กับพระวิเชียรปรีชา (กลิ่น) เจ้ากรมราชบัณฑิตย์ ที่พระที่นั่งดุสิทธิมหาปราสาทต่อมาได้ ๓ พรรษา จึงได้เข้าแปลปริญัติธรรมในที่ประชุมพระราชาคณะ ที่วัดราชบูรณ ได้ เปรียญเอก ๕ ประโยค มีนิตยภัตรเดือนละ ๘ บาท


ในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเปนที่ทรงโสมนัศยินดีเปนที่ยิ่งด้วยวัดสเกษขาดเปรียญมาหลายสิบปีแล้ว ท่านมาเป็นเปรียญขึ้นในวัดสเกษ แลมีอาจารยะมารยาตรอันสุภาพเรียบร้อย เปนที่เฉลิมพระราชศรัทธาทรงให้ถาปนาวัดสเกษรื้อกุฏีเก่าอันรุงรังด้วยฝาจากฝาไม้ไผ่นั้นเสีย แล้วก่อสร้างกุฎีตึกใหม่ให้เปนที่เสนาศนอันงดงามและก่อภูเขาทองในปีนั้นด้วย

ท่านได้ถวายพระพรขอโยมผู้ชายของท่านซึ่งยังรับราชการอยู่ที่เมืองฉเชิงเทรา ให้พ้นจากราชการหัวเมืองโดยความกระตัญญูกัตะเวที ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตถวายตามประสงค์ ต่อมาท่านได้มีความอุสาหไปเที่ยวเล่าเรียนปริญัติธรรม ในสำนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงผนวชอยู่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ รับไว้เปนสานุศิศย ฝ่าย อันเตวาสิก แล้วจึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระธรรมการบดี ( ศุก) เมื่อยังบวชเรียน เป็นธุระสั่งสอน.

ท่านยังได้เล่าเรียนในสำนักนิ์พระอาจาริย อื่น ๆ อีก ๓ พรรษา รวมเป็น ๖ พรรษา ได้เข้าแปลพระปริญัติธรรมในที่ประชุมพระราชาคณะ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงผนวชได้ทรงกำกับแปล ร่วมกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโณรส ศรีสุคตขัติยวงษ์ ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคละราม อีกครั้ง ได้ขึ้นอีก ๒ ประโยค รวมเปน ๗ ประโยค ท่านดำรงสมณะเพศอยู่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ๙ พรรษา

พอสิ้นรัชกาล ท่านได้รับราชการในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในสะมะณะศักดิ์ มีอาจาระสุภาพเรียบร้อยถวายพระธรรมเทศนาเปนที่ถูกพระอัทยาไศรยโดยมาก ได้ทรงถาปนาท่านขึ้นเปนพระประสิทธิสุตคุณ ที่ราชาคณะอยู่ในวัดสเกษ พระราชทานตาลิปัตร์แฉกหักทองขวางเป็นเครื่องยศ มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๔ ตำลึง มีถานา ๓ องค์ คือ พระปลัด ๑ สมุหะ ๑ ใบฏีกา ๑ เปนเกียรติยศ

ท่านได้เทศนาวาการมีโวหารอันไพเราะ กิริยาอัชฌาไศรยอันสุภาพเรียบร้อย เป็นที่ปิติยิ่งแก่ผู้สดับตรับฟังรศพระธรรมเทศนา กิติสัปท์กิติคุณของท่าน เฟื่องฟุ้งไปในหมู่เสรฐีคฤหบดี ลูกค้าวานิชที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งหลาย พากันนำบุตรหลานมาฝากให้เปนสานุศิศยเปนอันมาก

ท่านดำรงค์สะมะณะเพศ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒ พรรษา รวมเป็น ๑๑ พรรษา
ท่านได้ถวายพระพรลาสิกขาบท หลายครั้ง ทรงทัดทานห้ามปรามไว้ จนได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ลาสิกขาบทได้

ต่อมาได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ต่อมาได้เปน ขุนประสิทธิอักษรสาตร ผูู้ช่วยกรมอาลักษณ์ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เข้าไปรักษาอุโบสถ เมื่อเวลาทรงศีลที่หอพระสิหิงค์ เปนที่ทรงไว้วางพระราชหฤไทย ได้ตามเสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หว้ากอ รับราชการต่าง ๆ จนสิ้นรัชกาล

ได้เลื่อนเป็นขุนสารประเสริฐปลัดทูลฉลองกรมพระอาลักษณ์ ถือศักดิดา ๑๖๐๐ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับราชการกำกับพนักงานกองตรวจคัดสอบทานหนังสือข้างที่เปนเรื่องต่าง ๆ อยู่ในพระเจ้าวรวงษ์เธอ กรมขุนบดินทรไพศาลโสภณ ที่พระที่นั่งราชฤดี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเงินเดือน ๆ ละ ๑๐ บาท

ต่อมาพระเจ้านครเชียงใหม่ได้นำช้างเผือกผู้ผ่านสำคัญมาถวายในคราวแรก เปนช้างสำคัญที่ ๑ ในแผ่นดินประจุบันนี้ ให้ขนานนามว่า พระเสวตรวรวรรณ แลให้แต่งฉันท์สำหรับพราหมณ์กล่อมเมื่อเวลาสมโภช ท่านได้รีบเร่งแต่งขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายได้ทันพระราชประสงค์โดยสำเร็จบริบูรณ์ เปนความชอบในครั้งนั้น พระราชทานรางวัลเป็นเงินตราชั่ง ๕ ตำลึง แล้วภายหลังมีช้างสำคัญเข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภารอีกหลายช้าง คือพระมหาระพีพรรณคชพงษ์ พระเสวตรสุวภาพรรณ แลช้างเผือกสำคัญอื่น ๆ อีกหลายช้าง ท่านก็ได้รับการฉลองพระเดชพระคุณ ในการขนานนามช้างแลแต่งฉันท์กล่อมช้างเสมอทุกครั้ง แลทุก ๆ ช้างมา




ในปีมะแม ตรีศกจุลศักราช ๑๒๓๓ ท่านได้คิดแบบสอนหนังสือ คือ มูลบทบรรพกิจ เล่ม ๑ วาหะนิติ์นิกร เล่ม ๑ อักษรประโยค เล่ม ๑ สังโยคพิธาน เล่ม ๑ พิศาลการันต์ เล่ม ๑ ขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย ให้เอาต้นแบบหนังสือไทยทั้ง ๕ ลงพิมพ์ที่โรงพิมพ์หลวง สำหรับจะได้จำหน่ายพระราชทานให้แก่ผู้เล่าเรียนต่อไป ความชอบที่เปนผู้คิดต้นแบบเรียนแบบสอนนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนตำแหน่งยศ เป็นหลวงสารประเสริฐ ปลัดทูลฉลองกรมพระอาลักษณ์

ในปีวอก จัตวาศก ๑๒๓๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มาเปนครูสอนหนังสือไทยในกรมทหารมหาดเล็ก คือสอนพวกนายทหารและมหาดเล็กชั้นเล็ก ๆ ซึ่งพระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง) เปนต้นคิดจัดการตั้งโรงเรียนขึ้นในออฟฟิศทหารมหาดเล็ก ในพระบรมมหาราชวังเปนครั้งแรก


เมื่อปีระกาเบญจศก จุลศักราช ๑๒๓๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเปนโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง โปรดเกล้า ฯ ให้ท่าน เป็นอาจาริยใหญ่ สั่งสอนพระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าน้องนางเธอ ที่ยังทรงพระเยาว์ แล หม่อมเจ้า หม่อมราชวงษ์ แลบุตรหลานข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงทั่วไป โดยแบบหนังสือไทย ๕ ฉบับ พระราชทานเงินเดือน ๆ ละ ๖๐ บาท ท่านได้คิดแบบหนังสือ อีกหลายฉบับคือ ไวพจน์พิจารณ์ เล่ม ๑ อนันตะวิภาคย เล่ม ๑ เขมรากษรมาลา เปนแบบหนังสือขอมเล่ม ๑ นิติสารสาธก เล่ม ๑ ปกิระณำพจนาตถ์ เล่ม ๑ แลแบบโคลงฉันท์อีกหลายเรื่อง ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขั้นที่ ๔ ชื่อ ภัทราภรณ์ เปนเกียรติยศ

ครั้นภายหลัง พระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก) เจ้ากรมอาลักษณ์ถึงแก่กรรมลง จึงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ จะทรงตั้งเปนที่พระศรีภูริปรีชาเสนาบดีศรีสารลักษณ์ เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ถือศักดินา ๕๐๐๐ ท่านกราบบังคมทูลขอรับพระราชทานถือศักดินา ๓๐๐๐ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้เปนที่พระศรีสุนทรโวหาร เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ถือศักดินาแค่ ๓๐๐๐ ตามที่กราบบังคมทูลนั้น พระราชทานโต๊ะถมกาถมเปนเครื่องยศแลเบี้ยหวัด ปีละ ๓ ชั่ง


ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ท่านเปน องคมนตรีที่ปฤกษาราชการ และต่อมา ได้รับราชการตำแหน่งเลขานุการในที่ประชุมที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน

ต่อมามีการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ท่านเปนแม่กองตรวจโคลงรามเกียรติ์ที่ข้าราชการ แต่งมาทูลเกล้า ฯ ถวายโดยรอบพระอาราม และท่านก็รับแต่งทูลเกล้า ฯ ถวายในส่วนหลายห้อง

เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าตั้งโรงเรียนขึ้นที่พระราชวังเดิมสวนนันทอุทยานนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ท่านเปนกรรมสัมปาทิกช่วยจัดการโรงเรียน ท่านได้แต่งหนังสือคำกลอน ปกิรณำพจนาตถ์ ทูลเกล้า ฯ ถวายเปนที่ถูกพระราชอัทยาไศรย พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ช้างเผือกขั้นที่ ๓ ชื่อ นภาภรณ์ อีก ๑ ดวง เปนเกียรติในความชอบ




เมื่อการปฎิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สำเร็จบริบูรณ์ เสร็จการสมโภชวัดแล้ว จึงโปรดเกล้า ฯ พระราชทานบำเหน็จรางวัลความชอบต่างๆ แก่พระบรมวงษานุวงษ์ และข้าราชการ ท่านได้เลื่อนตำแหน่งยศขึ้นเปน พระยาศรีสุนทรโวหาร ญาณปรีชามาตย์ บรมนารถนิตยภักดี พิริพาหะ คงถือศักดินา ๓๐๐๐ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานโต๊ะทองกาทองเปนเครื่องยศ รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ ๕ ชั่ง
ท่านได้แต่งแบบเรียนหนังสือไทยเป็นคำโคลง ฉันท์ต่าง ๆ เปนการอธิบายชี้แจงถ้อยคำแลตัวสะกดในแบบไวพจนพิจารณเล่ม ๑ ให้ชื่อว่า ไวพจนประพันธ์ ขึ้นทูลเกล้าถวาย และได้รับพระราชทานเหรียญดุษดีมาลา เขมศิลปวิทยา ว่าเปนผู้มีความรู้พิเศษในหนังสือไทยเปนเกียรติยศ


ต่อมาทรงโปรดเกล้า ฯ ให้เลิกจากการสอนหนังสือไทยที่โรงเรียนหลวง แล้วให้มาเปน อาจาริยถวายพระอักษร สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ แลสมเด็จบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า แลพระเจ้าลูกเธอเปนอันมาก และโปรดเกล้า ฯ ให้เปนกรรมสัมปาทิกสำหรับสอบไล่วิชาหนังสือไทยชั้นสูงในที่ประชุมเสมอทุก ๆ ปี ไป พระราชทานเงินเดือน ๆละ ๑๒๐ บาท

โปรดเกล้าฯ ให้เปนกรรมสัมปาทิก ในหอพระสมุดวิชรญาณ เปนกรรมสัมปาทิกการตีพิมพ์พระไตรปิฏก แลรับราชการจรต่าง ๆ เปนอันมาก

ต่อมาทรงพระราชดำริห์เห็นว่า มีความชอบในราชการและมีอายุศม์สูงแล้ว แลเปนพระอาจาริยในสมเด็จพระบรมโอริสาธิราชสยามมกุฏราชกุมาร แลพระบรมวงษานุวงศ์ และข้าราชการเปนอันมาก สมควรรับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ สำหรับสืบตะกูล ชื่อ ทุติยะจุลจอมเกล้า ฯ แลพานหมาก คนโททอง กระโถนทอง เปนเครื่องยศ ให้สมกับความชอบในราชการ

การกุศลที่ท่านบำเพ็ญเปนถาวรทานคือท่านได้แต่งหนังสือว่าด้วยคะติโลกย์คะติธรรม ชื่อ มหาสุปัสสีชาฎก เรื่อง ๑ ธรรมุเทศเรื่อง ๑ บริจาคทรัพย์สร้างตะพาน แลสร้วมที่วัดชุมพลนิกายาราม ที่เกาะบางปอินแห่ง๑ สร้างถนนแลตะพานตั้ังแต่ประตูพฤฒิบาศ ตลอดไปถึงวัดโสมนัสวิหารแห่ง ๑

ต่อมาท่านป่วยเปนไข้เส้นให้สะบัดร้อนสะบัดหนาว ทรงพระราชทานหมอหลวงมารักษา แลให้หาหมอชเลยศักดิ์มารักษาด้วย แต่อาการของท่านหาคลายไม่ จึงโปรดเกล้าให้พระยาอมรสาสตรประสิทธิศิลปมารักษา มีอาการเหนื่อยหอบเปนกำลัง รับประทานอาหารไม่ใคร่ได้

ในวันที่ ๑๖ เดือนตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔) ท่านได้สั่งให้ข้าพเจ้า นำดอกไม้ธูปเทียนมาทูลเกล้า ฯ ถวายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กราบถวายบังคมลาเวลาบ่าย ๕ โมงเศษก็ถึงแก่ อนิตยกรรม์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปนที่ทรงเมตตาอาไลย ในท่านว่า เปนผู้ทรงคุณวุฒิในวิชาหนังสือไทยหนังสือขอม แลเป็นผู้นิพนธ์คิดพระนามแลชื่อต่างๆ โดยพิศดาร แลรอบรู้วิชาการอื่น ๆ อีกเปนอันมาก แลเปนผู้มีสัตย์ธรรม์ มั่นคงจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท มีความอุสาหตั้งใจทำราชการฉลองพระเดชพระคุณโดยความกระตัญญูกะตะเวทีโดยแท้ มิได้มีความผิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้เปนที่ขุ่นเคืองใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทเลย แลได้รับราชการในตำแหน่งพระอาจาริย แห่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารด้วย จึงทรงโปรดเกล้า ฯ พระราชทานโกฐโถมีเครื่องพร้อมให้เปนเกียรติยศ

อนึ่ง เมื่อเวลาที่ท่านป่วยอยู่นั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงผนวชเปนสามเณรอยู่ ณ วัดบวรนิเวศน์วิหาร ได้มาทรงรับบิณฑบาต ถึงบ้านท่าน ๒ ครั้ง และโปรดเกล้า ฯ รับสั่งว่าจะทรงเปนธุระเปนเจ้าภาพจัดการปลงศพเอง
หลังทรงลาผนวชแล้ว ต่อมาเผอิญเสด็จสวรรคตล่วงลับไปเสีย การศพท่านจึงค้างมาหลายปี

ครั้งนี้มารดาของข้าพเจ้ามีความวิตกเกรงจะค้างเข้าต่อไปอีก จึงนำเงิน ๒๐ ชั่ง ในส่วนจะทำการปลงศพท่านไปถวาย พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธ์ เพื่อจะได้ทรงเปนธุระจัดการปลงศพต่อไป เพราะเหตุว่าเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านได้รับความนับถือจากพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นี้เปนอันมาก เมื่อท่านป่วยหนัก ได้เรียกข้าพเจ้าผู้เปนบุตรใหญ่เข้าไปสั่งว่า ให้มีความเคารพนับถือฝากตัวในพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์์นี้ให้มาก ๆ สั่งให้ข้าพเจ้าร่างหนังสือถวาย มีใจความว่า " ในเวลานี้เกล้า มีอาการป่วยได้รับทุกขเวทนาเปนอันมาก เห็นว่าสังขารจะทนทานไปไม่ตลอดถึงไหน จะต้องถึงความดับแตกเสียเปนแน่แล้ว เกล้า ฯ ขอฝากบุตรภรรยาไว้ในใต้ฝ่าพระบาทด้วย ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ (เซ็น) ศรีสุนทรโวหาร " แล้วจึงให้ข้าพเจ้านำไปทูลเกล้า ฯ ถวาย พอถวายหนังสือนี้ได้วันหนึ่ง รุ่งขึ้นท่านก็ถึง อนิตยกรรม

เพราะฉนั้น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธ์ ได้ทรงออกประกาศให้ตามบันดาสานุศิสยฤาท่านผู้มีความนับถือในท่านทราบทั่วกัน ในหนังสือพิมพ์สยามออบเซอเวอร์ แล้วภายหลังมีผู้ช่วยเปนเงินแลสิ่งของเปนอันมาก และได้ทรงแจ้งต่อเจ้าพนักงานกระทรวงวัง ให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณากำหนดการปลงศพ คือชักศพไปเข้าเมรุในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ เวลาค่ำวันที่ ๑๖ เปนวันทำบุญ วันที่ ๑๗ เปนวันพระราชทานเพลิง วันที่ ๑๘ เก็บอัฐิ เปนเสร็จการใน ๓ วัน

ผลของการที่ท่านทั้งปวง ได้จัดการบำเพ็ญกุศลในการปลงศพพระยาศรีสุนทร (น้อย) ครั้งนี้จงเปนเหตุให้สำเร็จศุภประโยชน์แก่ท่านผู้ไปประโลกยแล้วนั้น ตามควรแก่คติของท่าน อนึ่ง ขอให้กิติคุณของท่านปรากฏสืบไปสิ้นกาลนานเทอญ.

น.ห.หลวงมหาสิทธิโวหาร
ปลัดนั่งศาลกรมพระอาลักษณ์
แลผู้ช่วยราชการในกรมไปรสนีย์เปนผู้แต่ง
หนังสือนี้จัดพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๔๓๘ น.ห.หลวงมหามิทธิโวหาร ได้เขียนคำนำไว้ว่า
ข้าพเจ้าผู้เรียบเรียงเปนผู้เกิดมาทีหลัง ไม่อาจสามารถทราบการก่อนเกิดได้ การเรียบเรียงนี้อาไศรยการที่ หลาย ๆ ท่าน เล่าให้ฟังบ้าง ไต่ถามผู้ใหญ่ที่ควรเชื่อฟังได้บ้าง คือมีสมเด็จพระวันรัตน์วัดสุทัศนเทพวราราม แลท่านปลัดโพซึ่งเปนที่คุ้นเคยของท่าน( พระยาศรีสุนทรโวหาร)มาแต่เดิม
เนื้อความในเรื่องประวัติของท่าน แลถ้อยคำที่ได้นำมาใช้ในหนังสือนี้ แม้จะวิปลาศคลาดเคลื่อนเหลือเกินไปประการใด ข้าพเจ้าขออภัยแลขอให้ท่านผู้ได้ทราบการตลอดโดยละเอียดชัดเจนช่วยดัดแปลงแก้ไขด้วย




หมายเหตุนอกจากหนังสือข้างต้นแล้ว ต่อมาภายหลัง ได้ มีการค้นพบหนังสือ " สยามสาธก วรรณสาทิศ " ซึ่งสำนักราชเลขาธิการได้เขียนคำนำไว้ว่า

หนังสือ "สยามสาธก วรรณสาทิศ" เป็นตำรารวมศัพท์ภาษามคธบรรดาที่ใช้อยู่ในภาษาไทย ทั้งภาษาง่ายและภาษายาก มีบานแพนกบอกว่า พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) แต่งสำหรับทูลเกล้า ฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่มิได้บอกวันเดือนปีที่แต่งไว้ สันนิษฐานว่าแต่งเมื่อปลายอายุขัยของท่านแล้ว


ต้นฉบับหนังสือนี้เป็นสมุดฝรั่งเขียนด้วยตัวหมึก เก็บอยู่ที่สำนักราชเลขาธิการช้านานหลายรัชกาล ไม่มีใครสังเกตเห็นและทราบว่าเป็นผลงานของพระยาศรีสุนทรที่หลงเหลือซ่อนเร้นอยู่อีกชิ้นหนึ่ง เมื่อค้นพบต้นฉบับได้ใน ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เจ้าหน้าที่สำนักราชเลขาธิการจึงนำมาคัดสำเนาขึ้นใหม่ พร้อมทั้งได้แปลงอักษรขอมที่ใช้เขียนคำศัพท์ ออกเป็นอักษรไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าหนังสือ " สยามสาธก วรรณสาทิศ" เป็นหนังสือเก่าที่มีค่าควรแก่การศึกษาและรักษาไว้ให้ถาวรสืบไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พิมพ์ขึ้นพระราชทานในงานเฉลิมพระชนมพรรษา พุทธศักราช ๒๕๑๔ นี้.

พลอยโพยมช่างโชคดี ที่พบหนังสือนี้ในร้านขายหนังสือเก่า งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เมื่อหลายปีมาแล้ว ได้ซื้อเก็บไว้ ซึ่งในเล่มมีทั้งภาพถ่ายขาวดำของพระยาศรีสุนทรโวหาร รูปถ่ายต้นฉบับหนังสือฉบับนี้ มีภาพถ่ายลายมือภาษาไทย เป็นตัวเอนหลังเล่นหางยาวและภาษามคธ ของท่าน

ส่วนคำนำที่ได้แปลงมาแล้ว สรุปความว่า ภาษามคธที่ใช้ในภาษาไทย จัดเป็น ๓ สถานะคือ

๑.เป็นคำใช้มาแต่โบราณนานมาแล้ว ใช้พูดจากันจนสนิทเป็นภาษาของตัว รู้กันทั่วทั้งหญิง ชาย ตลอดจนเด็ก ๆ ก็รู้ได้ ดุจคำว่า บาป บุญ เคราะห์ กรรรม เป็นต้น เรียกว่า มคธแปลง
๒. คำมคธ ที่จำเพาะรู้แต่ท่านผู้มีบรรดาศักดิ์ และผู้ที่ขวนขวายศึกษาในคำสูงคำต่ำ คือราชภาษาราชาศัพท์
๓. คำมคธที่จำเพาะรู้แต่จำพวกจินตกวี ที่รู้คิดชื่อเสียงและกาพย์กลอนพากย์ฉันท์ต่าง ๆ ถึงไม่เรียนพระคัมภีร์ไตรปิฏกแต่ก็มักศึกษาเล่าเรียนศัพท์มคธ ต่าง ๆ ไว้สำหรับใช้ในคำกลอนไม่ให้ขัดขวางนั้น
ตัวอย่างอกาเร ปวตฺตา วาจา

อกฺขร พูดกันว่าเขียนอักษร
อลํกร พูดกันว่าอลงกร
อมจฺจ พูดกันว่าอำมาตย์
อาวุธ พูดกันว่าสาตราอาวุธ
อุตุตร พูดกันว่าทิศอุดร เป็นต้น

และ ขออธิบาย คำว่า พระยาโต๊ะทอง และพระยาพานทอง
พระยาโต๊ะทอง น. ข้าราชการที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยา และได้รับพระราชทานโต๊ะทอง (พานก้นตื้น) เป็นเครื่องยศ , ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้าขั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษมีบรรดาศักดิ์เสมอตำแหน่งที่ได้รับโต๊ะทอง

พระยาพานทอง น. ข้าราชการที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยา และได้รับพระราชทานพานทอง เป็นเครื่่องยศ , ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้าขั้นทุติยะจุลจอมเกล้าขึ้นไป มีบรรดาศักดิ์เสมอตำแหน่งที่ได้รับพานทอง

พานทองคำหมายถึงพานหมากทองคำเป็นเครื่องยศได้รับการเรียกขานว่า พระยาพานทอง มีเกียรติยศสูง แต่ถ้าได้รับแต่โต๊ะทองคำ กาน้ำทองคำ ได้รับการเรียกขานว่า พระยาโต๊ะทอง มีเกียรติยศน้อยกว่า

เช่น พระยาอนิรุทเทวาซึ่งเป็นพระยาที่ได้รับการเรียกขานว่า พระยาโต๊ะทอง
ระบบบรรดาศักดิ์ของไทย รวมทั้งราชทินนาม ได้มีการยกเลิกไปใน พ.ศ. ๒๔๘๕ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล...

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

[บทความ] ตำนานพระพุทธรูปสามพี่น้อง




ตำนานหลวงพ่อวัดบ้านแหลม หลวงพ่อโสธร หลวงพ่อโตวัดบางพลีในพระพุทธโสธร หรือหลวงพ่อโสธร มีประวัติความเป็นมาที่เล่าขานเป็นตำนานเฉกเช่นเดียวกับพระพุทธปฎิมาศักดิ์สิทธิ์อีกหลายองค์ ตำนานได้เก็บรวบรวมเรื่องราวในความทรงจำของผู้คน เหตุการณ์ประวัติศาสตร์จริง ความศักดิ์สิทธิ์ อภินิหารต่างๆ แสดงให้เห็นถึงความศรัทธาที่มีต่อพระพุทธโสธร
ตำนานที่เล่าขานกันสืบมาของหลวงพ่อโสธร มีความว่า ในสมัยล้านช้าง-ล้านนา มีเศรษฐีพี่น้อง สามคน ซึ่งอาศัยอยู่ทางเหนือ มีจิตเลื่อมใสศรัทธาสร้างพระพุทธรูปเพื่อเสริมสร้างบารมีและเพิ่มพูนผลานิสงส์แห่งตน ได้เชิญพราหมณ์มาทำพิธีหล่อพระพุทธรูปปางต่าง ๆตามวันเกิดของแต่ละคน อันมีปางสมาธิ ปางมารวิชัย และปางอุ้มบาตร มีการทำพิธีบวงสรวงชุมนุมเทวดาตามพิธีกรรมทางโหราศาสตร์เพื่อปลุกเสกแล้วอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัด

กาลต่อมาเกิดยุคเข็ญ โดยพม่ายกทัพมาตีไทยหลายครั้งหลายหน จนครั้งสุดท้ายเป็นครั้งที่ เจ็ด ก็ตีเมืองแตก และได้เผาบ้านเผาเมืองตลอดจนวัดวาอารามต่าง ๆ หลวงพ่อหรือพระพุทธรูปทั้งสามองค์ ได้แสดงอภินิหารเคลื่อนย้ายองค์สู่แม่น้ำปิงและล่องมาทางใต้ตลอด เจ็ดวัน จนกระทั่งมาถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แสดงอภินิหารลอยขึ้นให้ชาวบ้านได้พบเห็น ชาวบ้านนับแสน ๆ คนได้ทำการฉุดหลวงพ่อทั้ง สามองค์ถึงสามวันสามคืนก็ฉุดไม่ขึ้น ตำบลตรงบริเวณนั้นจึงได้ชื่อว่า "สามแสน " ต่อมาเพี้ยนเป็น "สามเสน"หลวงพ่อทั้งสามองค์ลอยเข้าสู่คลองพระโขนงลัดเลาะจนถึงแม่น้ำบางปะกง ได้แสดงอภินิหารลอยขึ้นให้ชาวบ้านเห็นอีกครั้ง ชาวบ้าน ประมาณสามพันคน พยายามชักพระขึ้นจากน้ำแต่ไม่สำเร็จ คลองนี้จึงได้ชื่อว่า "คลองชักพระ "


ต่อมาพระพุทธรูปทั้งสามองค์ได้ลอยทวนน้ำขึ้นไปทางหัววัด สถานที่นั้นจึงเรียกว่า "สามพระทวน" ซึ่งต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น "สัมปทวน"

หลวงพ่อทั้งสามองค์ ได้ลอยต่อไปตามลำน้ำบางปะกง เลยผ่านหน้าวัดโสธร (ชื่อปัจจุบัน)ไปจนคุ้งน้ำใต้วัดแล้วแสดงอภิหารให้ชาวบ้านเห็นอีก ชาวบ้านช่วยกันฉุดแต่ไม่สำเร็จ จึงเรียกหมู่บ้านและคลองนั้น ว่า"บางพระ" แล้วก็ลอยทวนน้ำวนอยู่หัวเลี้ยวตรงกองพันทหารช่างที่ 2 สถานที่ที่หลวงพ่อทั้งสามองค์ลอยวนอยู่ จึงเรียกว่า " แหลมหัววน" และคลองได้ชื่อว่า "คลองสองพี่น้อง" มาจนทุกวันนี้






ต่อมาพระพุทธรูปองค์ใหญ่ได้แสดงอภินิหารลอยไปถึงแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ชาวประมงได้อาราธนาท่านขึ้นประดิษฐานไว้ ณ วัดบ้านแหลม มีชื่อเรียกว่า "หลวงพ่อบ้านแหลม" อีกองค์หนึ่งได้แสดงปาฏิหารย์ล่องเข้าไปในคลองบางพลี ชาวบ้านได้อัญเชิญประดิษฐานที่วัดบางพลีใหญ่ใน จังหวัดสมุทรปราการ มีชื่อเรียกว่า "หลวงพ่อโตบางพลี"



ส่วนพระพุธรูปองค์สุดท้าย หรือหลวงพ่อโสธรนั้น ได้แสดงอภินิหารลอยขึ้นที่หน้าวัดหงส์ ชาวบ้านได้พยายามช่วยกันฉุดขึ้นฝั่งหลายครั้งหลายหน ก็ไม่สามารถอัญเชิญหลวงพ่อขึ้นจากน้ำได้ จนกระทั่งมีอาจารย์ที่มีความรู้ทางไสยาศาสตร์ผู้หนึ้งได้ตั้งศาลเพียงตาบวงสรวงเอาสายสิญจน์คล้องพระหัตถ์พระพุทธรูป และเชิญชวนประชาชนชาวไทยชาวจีนพร้อมใจกันจับสายสิญจน์ จึงสามารถอาราธนาขึ้นฝั่งได้ และนำมาประดิษฐานที่วิหารวัดหงส์เป็นผลสำเร็จเมื่อวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 5 สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ในสมัยต้นกรุงธนบุรี ราวปี พ.ศ. 2313

ตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธโสธรเดิมเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิหล่อด้วยสำริด มีพุทธลักษณะงดงาม บ้างก็ว่าเป็นพระพุทธรูปที่แกะสลักด้วยไม้โพธิ์ ขนาดหน้าตักกว้างประมาณ 2 คืบเศษ ตามคำบอกเล่าของคนพื้นเมืองฉะเชิงเทรา ที่มีอายุมาก ๆ ว่า เมื่อกิตติศัพท์ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อแพร่หลายเลื่องลือไปตามถิ่นต่างๆ พระภิกษุสงฆ์ในวัด (ที่เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นวัดโสธรฯ ) ตลอดจนทายกทายิกา ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสหลวงพ่อ พากันปริวิตกว่า ผู้มีกิเลสแรงกล้าอาจลักไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว หรือลักลอบเชิญหลวงพ่อไปเสียที่อื่น จึงพร้อมใจกันสร้างพระพุทธรูปจำลองแบบไม้ธรรมดาขึ้น แล้วนำไปสวมครอบปิดพระพุทธรูปองค์จริงไว้ชั้นหนึ่ง เพื่อเป็นการพรางตา ต่อมามีผู้เห็นว่าพระพุทธรูปจำลองด้วยไม้ที่ทำไว้นั้น ยังไม่เป็นการปลอดภัยเพียงพอจะป้องกันโจรผู้ร้าย จึงทำพระพทธรูปไม้ชนิดเดียวกับครั้งก่อนแต่ขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมสวมครอบทับลงไปอีกชั้นหนึ่ง และท้ายที่สุดจึงได้พอกปูนเสริมให้องค์พระใหญ่ขึ้น หุ้มองค์จริงไว้ภายใน จนพระพุทธโสธรมีขนาดหน้าตักกว้างถึง 3 ศอกเศษ ดังที่เห็นในปัจจุบัน

ตามความเห็นของนักโบราณคดี อันได้แก่ หลวงรณสิทธิชัย อดีตอธิบดีกรมศิลปากร นายมานิต วัลลิโภดม ภัณฑารักษ์เอก กรมศิลปากร และนายมนตรี อมาตยกุล อดีตหัวหน้ากองประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร เห็นต้องตรงกันว่า พระพุทธโสธรมีพุทธลักษณะฝีมือช่างแบบล้่านช้าง ซึ่งเรียกกันสามัญว่า "พระลาว" โดยสังเกตุจากวงพระพักตร์ ชายสังฆาฏิ ทรวดทรง สำหรับพุทธลักษณะที่เห็นในปัจจุบัน สันนิษฐานว่าน่าจะบูรณะขึ้นในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา หรือต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่มีการกวาดต้อนครัวลาวชาวเวียงจันทร์์ เมื่อครั้งกบฏเจ้าอนุวงศ์ลงมายังกรุงเทพ ฯ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งจังหวัดฉะเชิงเทราและบริเวณใกล้เคียงเป็นถิ่นฐานที่ครัวลาวเข้ามาพำนักอาศัยอยู่ และช่างฝีมือชาวลาวนี่เอง อาจเป็นผู้ปั้นปูนพอกเสริมให้องค์หลวงพ่อพุทธโสธรมีพุทธลักษณะดังที่เห็นในปัจจุบัน 

(หมายถึงรูปบนสุด)




ภายหลังในการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่  พระพุทธโสธร ได้มีการปั้นปูนหุ้มองค์ใหม่ ดังที่เห็นอยู่ขณะนี้


พระพุทธโสธร เป็นพระพุทธปฏิมากรปางสมาธิ ปูนปั้น ลงรักปิดทอง พระวรกายแบบเทวรูป พระเกตุมาลาแบบปลี (ทรงกรวย) อันหมายถึงความอยู่เย็นเป็นสุขตามคติชาวจีน ข้อพระกรข้างขวามีกำไลรัดตรึง เป็นเครื่องหมายถึงความอาทรห่วงใยที่หลวงพ่อทรงมีต่อสาธุชนที่เคารพบูชาในองค์ท่าน ทรงจีวรบางแนบพระองค์ มีความกว้างพระเพลา 3 ศอก 5 นิ้ว ( 1 เมตร 65 เซนติเมตร) สูง 1 เมตร 98 เซนติเมตร ประทับอยู่เหนือรัตนบัลลังก์ 4 ชั้น ซึ่งปูลาดด้วยผ้าทิพย์ อันมีความหมายถึงการอยู่สูงสุด เป็นพุทธเหนือพระอริยบุคคลอีก 4 ชั้น คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ปัจจุบันในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปบนแท่นฐานชุกชีทั้งหมด 18 องค์ โดยที่พระพุทธโสธรประดิษฐานอยู่ตรงกลาง

หลวงพ่อพุทธโสธร เปรียบเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทร อันยิ่งใหญ่ที่ปกปักให้สรรพสัตว์ทั้งหลายได้ร่มเย็น กางกั้นสรรพภัยอันตรายและความเดือดร้อนลำเค็ญ ดลให้เกิดความอยู่เย็นเป็นสุข เป็นแพทย์ผู้วิเศษพยาบาลรักษาผู้อาพาทให้หายจากโรคภัยที่เบียดเบียน เป็นสรณะที่พึ่งพิงของพุทธบริษัท เป็นผู้พยากรณ์ทำนายโชคชะตาวาสนา เป็นผู้ดลบันดาลสุขสมหวังให้ทุกผู้ทุกคนที่กราบนมัสการ เป็นสัพพัญญููผู้สำเร็จวิชาการทั้งทางโลกและทางธรรม และเป็นบรมครูของเหล่าเทพยดาและมนุษย์

หมายเหตุ พลอยโยมคิดเองว่า ที่มีคำเล่ามาว่าองค์หลวงพ่อโสํธร แกะสลักด้วยไม้โพธิ์ คงมาจากคำเล่าขานของคนรุ่นเก่าที่ไปกราบไหว้บูชาหลวงพ่อในช่วงที่ทางวัดสร้างองค์จำลองด้วยไม้แล้วนำไปสวมครอบ ก็เป็นได้ และการที่นำข้อความ ตำนานว่าเป็นองค์แกะสลักด้วยไม้ เพื่อให้คำเล่าขานในส่วนนี้ไม่ถูกลบเลือนไปซึ่งบทความนี้ซึ่งพลอยโพยมคัดลอกมาจากหนังสือ โสธรวรารามวรวิหาร นิมิตแห่งบุญ ซึ่งพิมพ์โดย คุณฐิระวัตร กุลละวณิขย์ ขณะดำรงตำแหน่ง อธิบกรมโยธาธิการและผังเมือง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา และ เป็นผู้อำนวยการสำนักงานอำนวยการและบริหารงานก่่อสร้างพระอุโบสถ ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา

และหลายครั้งที่พลอยโพยมสัมผัสถึงเรื่องราวคำเล่าขานที่เล่าขานถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงจากปลายเหตุที่พบเห็นอยู่ แต่ผู้เล่าขานไม่ทราบต้นเหตุของความจริงที่ตนเห็นอยู่มากมายหลายเรื่อง



วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

[บทความ] พระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร : สถาปัตยานุสรณ์แห่งรัชกาลที่ 9 ตอนที่ 2


[บทความ] พระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร : สถาปัตยานุสรณ์แห่งรัชกาลที่ 9 ตอนที่ 2
องค์ประกอบเด่นส่วนหลังคา หลังคามีลักษณะเป็นจั่วเปิด มุงด้วยกระเบื้องเซรามิกสี่ด่อน ตกแต่งด้วยช่อฟ้าปากปลารวยระกาฝักเพกา และหางหงส์แบบไทย ซึ่งทำด้วยเซรามิกเคลือบน้ำทอง ที่ีมีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ด้านข้างมีหลังคาซ้อนกัน 4 ชั้น ด้านยาวหลังคาซ้อนกัน 5 ชั้น หลังคาคลุมมุขโถงอีก 1 ชั้น ส่วนหน้าบัน มีทั้งหมด 8 หน้าบัน 5 แบบ ประดิษฐ์ลวดลายมีความหมายแตกต่างกัน
1.หน้าบันชั้นล่างทิศตะวันออก บริเวณมุขด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธโสธร ประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้วด้านข้างผูกลายประกอบ หมายถึงอุโบสถหลังนี้เป็นที่ประดิษฐานพระสำคัญคู่บ้านคู่เมือง

2.หน้าบันชั้นล่างทิศตะวันตก เป็นรูปตราพระลัญจกรประจำรัชกาลที่ 9 ประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้ว ด้านข้างผูกลายประกอบ หมายถึงพระอุโบสถหลังนี้สร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

3.หน้าบันชั้นบนทิศตะวันออกและตะวันตก เป็นรูปพานประดิษฐานพระไตรปิฎกอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว มีพานพุ่มประกอบอยู่ด้านข้าง ผูกลายประกอบเป็นทรงเรือนแก้วคลุมด้านนอกอีกชั้นหนึ่ง หมายถึงที่แห่งนี้มีวิหารพระไตรปิฎกอันแสดงถึงการบูชาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

4.หน้าบันชั้นล่างทิศเหนือและทิศใต้ เป็นรูปอุณาโลมหรือขนระหว่างคิ้วพระพุทธเจ้า ประดิษฐานอยู่ในเรือนบุษบก ประกอบด้วยเครื่องฉัตรสูงอยู่ 2 ข้าง ด้านข้างผูกลายประกอบ

5.หน้าบันชั้นบนทิศเหนืือและทิศใต้ เป็นรูปพระพุทธรูปประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้วมีทั้งหมด 5 พระองค์ ด้านข้างผูกลายประกอบ หมายถึง การแสดงความรำลึกถึงพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ตามความเชื่อของศาสนาพุทธนิกายหินยาน เชื่อว่ามีพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ในภัทรกัปในโลกนี้ 5 พระองค์ ได้แก่ พระกกุสันธะ พระโกนาคมมะ พระกัสสปะ พระสมณโคดม (สิตธัตถะ) และในอนาคต คือ พระศรีอาริยเมตไตร (พระศรีอาริย์)

องค์ประกอบเด่นส่วนยอด มีลักษณะเป็นมณฑป แบบประยุกต์ใหม่ รูปทรง 8 เหลี่ยม บริเวณสันเหลี่ยมเป็นรวยระกาและหางหงส์แบบนาคสามเศียร แบ่งเป็น 4 ชั้น บนสุดของยอดมณฑป ครอบด้วยฉัตรทองคำ 5 ชั้น ปักเหนือเม็ดน้ำค้าง เป็นสัญลักษณ์แทนพระกลดกั้นกางแสงสูรย์ให้กับสิ่งที่มีบารมีสูงสุด หมายถึง สถานที่แห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทองคำหนักทั้งสิ้น 77 กิโลกรัม




พระอุโบสถ มีประตูทางเข้า 4 ทิศทาง ผนังก่ออิฐ ผิวผนัง เชิงผนัง เชิงเสา และพนักภายในบุด้วยหินอ่อนทั้งหมด ผนังภายในไม่เขียนภาพจิตรกรรม เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่แตกต่างจากอุโบสถทั่วไป พื้นปูด้วยหินแกรนิตประดิษฐ์เป็นลวดลาย เพดานเป็นรูปทรงโดมแบบตะวันตก เหนือฝ้าเพดานพระอุโบสถขึ้นไปเป็นอาคารทรงมณฑป ประดิษฐานพระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้

บริเวณห้องโถงภายใน ประดิษฐานพระพุทธโสธรองค์จริงอยู่เหนือฐานชุกชี โดยมีพระประธานประทับอยู่เบื้องหลัง และพระพุทธรูปปางต่างๆประดิษฐานอยู่รายรอบ รวมพระพุทธรูปทั้งหมด 18 องค์ ฐานชุกชีเป็นรูปรี มีลักษณะเป็นรูปดอกบัวลอยอยู่กลางน้ำ เพื่อให้สอดคล้องกับตำนานของพระพุทธโสธรที่ลอยน้ำมา ภายในฐานชุกชีมีช่องระบายอากาศเพื่อป้องกันความชื้น ออกแบบเป็นรูปฝักบัว




พื้นพระอุโบสถ ปูด้วยหินแกรนิตประดิษฐ์ ลวดลาย บอกเล่าตำนานพระพุทธโสธร ลอยน้ำมาจากทางเหนือก่อนที่ชาวบ้านจะทำพิธีอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดโสธร ( วัดเสาธงทอนในขณะนั้น) และไม่เคยมีการเคลื่อนย้ายอีกเลยนับตั้งแต่นั้น) ศิลปินผู้ออกแบบได้จินตนาการว่ามีปลาขนาดใหญ่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเมืองแปดริ้ว มาให้การต้อนรับว่ายหนุนอยู่ใต้ฐานชุกชี (จำนวน 5 ตัว) และสัตว์ประเภท ต่างๆ เช่น ปลา และสัตว์ในวรรณคดี ว่ายวนเวียนชื่นชมบารมีและสักการะตลอดทาง บางตัวเตรียมดอกบัวอันเป็นเครื่องหมายแห่งการสักการะมาด้วย

ฝ้าเพดาน โดยทั่วไปทาสีขาว ตกแต่งด้วยดาวเพดาน ขอบคิิ้วเป็นลวดลายปูนปั้นปิดทอง ภาพจิตรกรรม ที่ประดับเพดานเหนือองค์พระ มิได้เป็นลวดลายวิจิตรพิสดารในวรรณคดีหรือสะท้อนความเชื่อทางศาสนาอย่างที่เคยเป็นมา แต่เป็นภาพแสดงตำแหน่งดวงดาวในจักรราศรี ตามวันและเวลากำหนด (รูปแบบเดียวกับภาพจิตรกรรมบนเพดานที่ตำหนักดอยตุง) ซึ่งเป็นไปตามพระราชดำริของพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานวินิจฉัยให้กำหนดตำแหน่งดวงดาวตรงกับวันสำคัญที่เกีี่ยวกับองค์พระพุทธโสธร ที่สามารถกำหนดได้ชัดเจนที่สุด คือวันเวลาพระฤกษ์ขณะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธียกฉัตรทองคำเหนือยอดมณฑปหลังคาพระอุโบสถหลังใหม่ เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2539 เวลา 16.09 น.ซึงเป็นมหาฤกษ์มงคลที่โหรหลวงผูกดวงไว้ โดยอาจารย์สาลิน วิรบุตร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา เป็นผู้กำหนดตำแหน่งทางดาราศาสตร์ และถ่ายทอดเป็นงานศิลปะโดย ศ.เกียรติคุณ ประหยัด พงษ์คำ ศิลปินแห่งชาติ เป็นภาพเขียนประดับโมเสกสี มองเห็นได้จากโลกตรงตำแหน่งหน้าองค์พระ





งานก่อสร้างพระอุโบสถในครั้งนี้ เป็นงานสถาปัตยกรรมศิลป์ขนาดใหญ่ที่รังสรรค์ขึ้นอย่างประณีต พิถีพิถันตั้งแต่การออกแบบ เขียนแบบ การเลือกใช้วัสดุ การดำเนินการก่อสร้าง ฯลฯ ทุกขั้นตอนมีรายละเอียดที่ต้องคำนึงถึงและใช้เวลาในการศึกษาวิเคราะห์ กลั่นกรองและดำเนินการยาวนานมาก ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 1,900 ล้านบาท(เมื่อมีข่าวจะสร้างพระอุโบสถครั้งแรก เป็นที่กล่าวว่า ราคาก่อสร้างประมาณ 1 พันล้านบาท และเป็นเงินที่พุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันบริจาคสะสมให้กับหลวงพ่อพุทธโสธร และพลอยโพยมไม่ค้นพบรายละเอียดว่า ราคาก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นเป็นงบประมาณจากแหล่งงาน ใด หากมีก็ขออภัย )

ในวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2539 ชาวแปดริ้วทั้งประชาชนและส่วนภาคต่างๆ ต่างมารวมตัวกันที่วัดโสธรฯ เพื่อคอยรับเสด็จ นอกจากจะเป็นช่วงฤดูฝนแล้วยังเป็นช่วงเวลาบ่ายจัด (ผู้คอยรับเสด็จ ต้องมาเตรียมการรอรับเสด็จก่อนเวลาเสด็จจริง หลายชั่วโมง สำหรับประชาชนทั่วไปที่อยากอยู่ใกล้ในแถวหน้า เพื่อคอยชื่นชมพระบารมี ยิ่งต้องมาจับจองพื้นที่เร็วกว่าผู้อื่นเป็นธรรมดา) พลอยโพยม ก็เป็นผู้หนึ่งที่อยากได้อยู่แถวที่ได้ชื่นชมพระบารมีได้ใกล้ชิดจึงรีบไปยืนเข้าแถวคอย จำได้ว่าอากาศร้อนอบอ้าวมาก แต่ด้วยความจงรักภักดีก็ไม่ย่อท้อถดถอยกำลังใจ วันนั้นไม่มีสายฝนรบกวนให้เคืองระคายใจ พระพิรุณท่านคงตระหนักถึงหน้าที่การปฏิบัติภารกิจว่า วันนี้ ต้องงดภารกิจสำหรับชาวแปดริ้วหนึ่งวัน จนใกล้ถึงเวลาเสด็จแสงแดดที่แผดจ้าร้อนระอุก็คลายลง ศัพท์ชาวบ้านนั้นเรียกกันว่า แดดหุบ นั่นเอง ยิ่งเวลาเสด็จมาถึงก็ไม่เหลือความร้อนระอุอีกเลย อากาศกลับเย็นสบายเป็นที่ปลื้มปิติในพระเดชานุภาพว่านี่เป็นพระบารมีโดยแท้ แต่ที่น่าอัศจรรย์กว่านั้นก็คือ ในขณะประกอบพระราชพิธีได้เกิดปรากฎการณ์ที่ผู้ได้เข้าร่วมในพิธีมิมีวันลืมเลือนเลย คือปรากฏการณ์ พระอาทิตย์ทรงกลด คือ มีวงกลมเป็นสีรุ้งอยู่รายรอบนอกดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่บนฟากฟ้าชัดเจนมาก และแสงจากดวงอาทิตย์ก็มิได้แผดจ้าทำร้ายสายตาหมู่มวลประชาชนที่แหงนเงยขึ้นไปมองด้วยความตะลึง นึกถึงครั้งไร พลอยโพยมก็รู้สึกซาบซ่านปิติโสมนัส ทุกครั้ง จนต้องขอเล่าสู่ท่านผู้อ่าน...