วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2554

[บทความ] เรียงร้อย สร้อยความ...นามว่าอ้อย ตอนที่ 1.

เรียงร้อย สร้อยความ...นามว่าอ้อย ตอนที่ 1.



สร้อย ในความหมายที่สามของพจนานุกรม คือคำต่อท้ายฃื่อตั้ง โคลง ร่าย หรือบทเพลงเป็นต้น,คำที่เติมหรือประกอบคำอื่นเพื่อให้ไพเราะหรือเต็มความ



อ้อย ชื่ออังกฤษ Sugar-cane
ชื่อวิทยาศาสตร์ Saccharum Offlcinarum Linn
วงศ์ GRAMINEA

อ้อย เป็นไม้ล้มลุก สูง 2-5 เมตร ขึ้นเป็นกอ ลำต้นเป็นปล้อง ข้างในตัน ลำต้นมีหลายสี มีไขสีขาวปกคลุม ไม่แตกกิ่งก้าน ใบเดี่ยว เรียงสลับ กว้าง 2.5-5 ซม. ยาว 0.5-1 เมตร ดอกช่อ ออกที่ปลายยอด สีขาว ผลเป็นผลแห้ง ขนาดเล็ก
มีหลายพันธ์ เช่นอ้อยขาไก่ อ้อยตะเภา อ้อยน้ำผึ้ง หีบเอาน้ำหวานทำน้ำตาลทรายหรือใช้ดื่ม หรือเคี้ยวกินแต่น้ำหวาน

อ้อยแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ อ้อยเคี้ยว (chewing cane)
และอ้อยสำหรับทำน้ำตาล (industrial cane)



1.อ้อยเคี้ยว

ได้แก่อ้อยที่มีเปลือกนิ่ม ชานนิ่ม มีความหวานปานกลางถึงค่อนข้างสูง ปลูกเพื่อหีบเอาน้ำอ้อยสำหรับบริโภคโดยตรง หรือใช้สำหรับรับประทานสด อ้อยเคี้ยวที่นิยมปลูกกันมีหลายพันธุ์ คือ
อ้อยสิงคโปร์ หรืออ้อยสำลีมีชานนิ่มมาก ลำต้นสีเหลืองอมเขียว เมื่อหีบแล้วได้น้ำอ้อยสีสวยน่ารับประทาน
อ้อยพันธุ์มอริเชียสลำต้นสีม่วงแดง ไม่เหมาะสำหรับทำน้ำอ้อย จึงใช้สำหรับบริโภคโดยตรง อ้อย พันธุ์นี้เป็นที่นิยมมาก ส่วนใหญ่ปลูกในจังหวัดราชบุรี และนครปฐม
อ้อยพันธุ์บาดิลาสีม่วงดำ แม้ว่าจะเป็นอ้อยเคี้ยว แต่ไม่ค่อยนิยมปลูกกัน เพราะโตช้า และปล้องสั้นมาก อ้อยทั้ง 3 พันธุ์นี้จัดเป็นพวกอ้อยดั้งเดิม ซึ่งมีถิ่นกำเนิดแถบเกาะนิวกินี

นอกจากนี้ก็มีอ้อยน้ำผึ้ง อ้อยขาไก่ อ้อยตะเภา ซึ่งยังคงมีปลูกในที่บางแห่ง อย่างไรก็ดีอ้อยชนิดอื่นๆ นอกจากที่กล่าวนี้ก็สามารถใช้เป็นอ้อยเคี้ยวได้ หากมีความหวานพอ และไม่แข็งจนเกินไป

ในราวปี พ.ศ. 2480 โรงงานน้ำตาลไทยลำปางเคยใช้อ้อยขาไก่ไปหีบ ทำน้ำตาลทราย แต่ความหวานของอ้อยขาไก่มีน้ำตาลน้อยไม่คุ้มกับการลงทุน จึงมีการนำอ้อยพันธุ์ดีจากต่างประเทศมาปลูกมากมายหลายพันธุ์ เช่นอ้อยพินดาร์, อ้อยคิว ๘๓ อ้อยเอนซีโอ.376 อ้อยเอฟ.147



กระบวนการผลิตน้ำตาลทราย
1.อ้อยทำน้ำตาลเมื่อส่งมาที่โรงงานจะลำเลียงเข้าเครื่องสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วส่งไปเข้าเครื่องทุบให้ละเอียดยิ่งขึ้น แล้วส่งเข้าไปหีบเอาน้ำอ้อยออก จะเหลือเป็นชานหรือกาก
ชานอ้อยนี้นอกจากใช้ทำเป็นเชื้อเพลิงในโรงงาน ที่เหลือจะส่งขายให้โรงงานทำกระดาษ อัดเป็นแผ่นแข็งได้คล้าย ๆ ไม้อัด นิยมเอาไปทำตู้ลำโพงเครื่องขยายเสียง ทำฝากั้นห้อง ทำเพดานห้อง เรียกกระดาษอัด และยังนำไปทำกระดาษชานอ้อยซึ่งจะมีลวดลายสวยงามและนุ่มกว่ากระดาษที่อัดเป็นแผ่นแข็ง
นอกจากทำเยื่อกระดาษแล้ว ยังนำไปผสมกากน้ำตาลและข้าวโพดหรือเมล็ดพืชอื่น ๆ ทำเป็นอาหารเลี้ยง วัว ควาย ได้อีก

2. นำน้ำอ้อยต้มในความร้อน 60 องศาเซลเชียส ซึ่งจะมี ผงกากอ้อย ดิน โคลน ปนอยู่น้ำอ้อยที่ได้จะขุ่นสีคล้ำ และมีฟองลอยอยู่ แยกสิ่งเจือปนนี้ออกโดยผสมน้ำปูนขาว แล้วนำไปผ่านก๊าซกำมะถัน เพื่อฟอกสีน้ำอ้อยให้จางลง

3.ส่งเข้าหม้อต้มร้อน 105 องศาเซลเชียส ส่งไหลไปยังถังพักเพื่อแยกตะกอนออก ตะกอนที่แยกออกยังข้นอยู่และมีความหวานปน

4.นำไปเข้าเครื่องกรองแยกน้ำอ้อยออกมาอีกที่เหลือเป็นกากตะกอนเรียกว่าขี้หม้อกรอง ยังมีความหวานติดอยู่ นำไปทำปุ๋ยหมัก หรือนำไปสกัดเอาไขออกมาทำขี้ผึ้งถูพื้นให้เป็นมัน ทำยาขัดรองเท้า
น้ำอ้อยที่แยกตะกอนออกแล้วจะใสและบริสุทธิ์ขึ้น



5. ส่งเข้าหม้อต้มอีก 5 ลูก
5.1 ต้มให้น้ำระเหยออกไป น้ำอ้อยกลายเป็นน้ำเชื่อม
5.2 ส่งเข้าหม้อฟอก ฟอกสีของน้ำเชื่อมให้จางลงและใสขึ้นอีกโดยใช้ก๊าซกำมะถัน
5.3 ส่งไปยังหม้อเคี่ยว น้ำเชื่อมจะถูกเคี่ยวด้วยความร้อนต่ำในหม้อเคี่ยวสุญญากาศ จนมีความเข้มข้นมาก น้ำเชื่อมจะตกผลึกน้ำตาล แต่ยังไม่เป็นผลึกน้ำตาลทั้งหมด ยังมีน้ำเชื่อมปนอยู่ด้วย
5.4 ส่งเข้าหม้อปั่นเพื่อสกัดเอาน้ำเชื่อมที่ปนอยู่ออกมา ส่วนที่เป็นผลึกน้ำตาลจะเป็นเกล็ดเล็กๆสีขาวใสที่เรียกว่า น้ำตาลทราย ซึ่งยังร้อนและชื้นอยู่
5.5 ต้องส่งเข้าหม้ออบทำให้เย็นลง แล้วส่งไปร่อนในตะแกรงตาถี่เพื่อคัดแยกสิ่งสกปรกออก และแยกน้ำตาลที่จับเป็นก้อนโต ๆ ออก จากนั้นจึงส่งน้ำตาลทรายขาว บรรจุในกระสอบ หรือ ถุงแพคละ 1 กิโลกรัม ที่พวกเราซื้อกินกันอยู่ในปัจจุบันนี้



น้ำเชื่อมที่แยกออกจากผลึกน้ำตาล เรียกว่ากากน้ำตาล นำไปเคี่ยวให้ตกผลึกอีกสองครั้ง หลังจากนั้นกากน้ำตาลจะไม่ตกผลึกอีก กากน้ำตาลครั้งสุดท้ายที่ไม่สามารถเคี่ยวให้ตกผลึกได้อีกนี้ยังมีความหวานอยู่ นำไปผลิตผงชูรส ผลิตแอลกอฮอร์ ผลิตซีอิ๊วและซ้อสปรุงรส ผลิตน้ำส้มสายชู ผลิตซอร์บิตอลซึ่งเป็นส่วนผสมในการทำยาสีฟันและเครื่องสำอาง
นอกจากนี้นำกากน้ำตาลนี้ไปผสมใบอ้อยที่หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆผ่านเข้าเครื่องอัดออกมาเป็นแท่งสี่เหลี่ยม เรียกกันว่าใบอ้อยอัด ใช้เลี้ยงวัวเนื้อ เพื่อให้วัวเนื้อนุ่มไม่เหนียว หรือนำกากน้ำตาลไปผสมกับชานอ้อยผสมเมล็ดข้าวโพดหรือเมล็ดอื่น ๆ ทำเป็นอาหารเลี้ยง วัว ควาย

น้ำตาลดิบ
น้ำตาลทรายดิบจะเป็นเกล็ดใสสีน้ำตาลอ่อน หรือน้ำตาลเข้ม เกล็ดน้ำตาลจะจับเกาะติดกันไม่ร่วนเหมือนน้ำตาลทรายขาว น้ำตาลดิบยังมีความชื้นอยู่สูงมาก เนื่องจากไม่ได้ผ่านหม้ออบ มีกลิ่นหอมกว่าน้ำตาลทรายขาว เมื่อผ่านขั้นตอนทำน้ำตาลทรายมาทุกขั้นตอนยกเว้นขั้นตอน ที่ทำน้ำอ้อยให้มีสีจางลง และขั้นตอนที่ทำน้ำเชื่อมซึ่งยังมีสีคล้ำให้จางลงจนมองดูใสขึ้นเท่านั้น ยังไม่ผ่านขั้นตอนผ่านก๊าซกำมะถันเสียครั้งหนึ่งก่อน และตอนต้มเคี่ยวน้ำอ้อยเป็นน้ำเชื่อมแล้วก็นำไปผ่านก๊าซกำมะถันอีกครั้งหนึ่ง รวมเป็นสองครั้ง
การทำน้ำตาลดิบก็คือ ทั้งน้ำอ้อยและน้ำเชื่อมไม่ต้องนำไปผ่านก๊าซกำมะถันนั่นเอง เกล็ดของน้ำตาลทราบดิบจึงมีสีน้ำตาลไม่ขาวเหมือนเกล็ดน้ำตาลทรายขาว
น้ำตาลทรายดิบนี้ เพื่อส่งขายต่างประเทศ



อ้อยหนัก 1 ตันจะทำน้ำตาลทรายได้ประมาณ 100-114 กิโลกรัม โดยเฉลี่ย สำหรับอ้อยคุณภาพดีถ้าอ้อยคุณภาพไม่ดี มีหวานมากบ้างหวานน้อยบ้างปะปนกัน แก่บ้างไม่แก่บ้าง จะผลิตน้ำตาลทรายได้เพียง 70-80 กิโลกรัม เท่านั้น
อ้อยของเกษตรกรบางราย ตัดค้างไว้ หลาย ๆวัน เมื่อมาถึงโรงงานก็ต้องรอค้างในโรงงานอีก บางราย ค้างถึง 5-7 วัน (นับจากวันตัดอ้อย) อ้อยที่ถูกแดดเผาทำให้คุณภาพอ้อยเปลี่ยนไป น้ำหนักลดลง ความหวานลดลง เมื่อทำน้ำตาลทราย ก็ได้ปริมาณลดลงไปด้วย

อ้อยคุณภาพดีมีความหวานสูง ตัดจากไร่แล้วควรรีบส่งเข้าโรงงานเพื่อหีบเอาน้ำอ้อยออกให้เร็วที่สุด ก็จะได้น้ำตาลทรายปริมาณที่มากขึ้น

ที่มาของข้อมูล หนังสืออ้อยและน้ำตาล ของกรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2527
กรรมวิธี และชื่อของพันธุ์อ้อยอาจเปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการต่าง ๆ บทความนี้เป็นข้อมูลเมื่อ 27 ปีที่แล้ว ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะยังไม่เกิดด้วยซ้ำไป ถ้ามีวิวัฒนการใหม่ก็ขอให้ถือเสียว่า เป็นการเล่าความว่าสมัยก่อนเขาใช้วิธีการเช่นนี้

พลอยโพยมพยายามตามหาขั้นตอนที่ได้น้ำตาลอ้อยที่กระยาสารทอาภรณ์นำมาใช้กวนกระยาสารท คิดว่า โรงงานที่ผลิตน้ำตาลอ้อย (ที่ยังไม่ถึงขั้นเป็นน้ำตาลทราย) ก็น่าจะมีวิธีการเบื้องต้นที่คล้ายกันกับการผลิตน้ำตาลทราย ในขั้นตอนที่ 1 ถึงขั้นตอนที่ 5.3 ดูจะใกล้เคียงว่าน่าจะได้น้ำตาลอ้อยออกมาในช่วงนี้

แต่ก็ไม่แน่ใจกับภูมิปัญญาชาวมอญเมืองปทุมธานี ว่ามีกระบวนการอย่างไรที่ผลิตน้ำตาลอ้อยสำหรับนำมากวนกระยาสารท และคงนำไปเป็นส่วนประกอบขนมหรืออาหารอื่น ๆ ของชาวมอญในเมืองไทยได้คงจะอีกหลายอย่าง

ส่วนกระบวนการฟอกสีน้ำตาลให้ขาว ก็ไม่ทราบว่ามีวิวัฒนาการใหม่แล้วหรือยัง แต่อย่างไรก็ดีก็ต้องพึ่งสารเคมีในการฟอกสีแน่นอน
และน่าแปลกใจที่น้ำตาลสีแดงไม่ฟอกสี มีราคาจำหน่ายแพงกว่าน้ำตาลทรายขาว เพราะผลิตน้อยหรือเปล่า ท่านที่มีข้อมูลกรุณาแบ่งปันให้เป็นวิทยาทานกับพลอยโพยมด้วยขอขอบคุณ

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น