วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ดอกพิกุล กรุ่นกำจาย

ดอกพิกุล กรุ่นกำจาย







พิกุลหล่น เรี่ยราย ชายกลิ่นหอม (๑)
เย้ายวนย้อม ยอบกาย ชายตาหา (๒)
ขาวเหลืองนวล หวนกำจาย ชายโรยรา (๓)
เด็ดก้านหญ้า มาเสียบสาย ชายมาลัย (๔)

(ชาย ๑ ลมพัดอ่อนๆ)
(ชายตา ๒ ชำเลือง)
(ชาย ๓ เห็นจะ,ค่อนข้าง)
(ชาย ๔ ริมหรือปลาย )
ความหมายของคำว่า "ชาย" ยังมีอีก 1 ชายที่หมายถึงผู้ชาย และในพจนานุกรม มี 4 ชาย ซึ่งใช้เลขกำกับคนละเลขหมายกัน



ดอกพิกุล ออกดอกเดี่ยวอยู่รวมกันเป็นกระจุกที่ปลายกิ่งหรือซอกใบ ดอกมีสีขาว เมื่อบานจะเห็นริมดอก เป็น จัก ๆ
กลิ่นหอมเย็น เมื่อใกล้โรย เป็นสีเหลืองอมน้ำตาล ดอกบานเพียงวันเดียวแล้วร่วง
เมื่อโรยร่วงหล่นพื้นดอกพิกุล ก็ยังหอม
คงเคยได้ยิน เพลงล้านนา ที่มีเนื้อเพลงประโยคหนึ่งว่า
" ดอกพิกุล ก็คือดอกแก้ว" ซึ่งมาจากเนื้อเพลงของท่อนนี้ว่า

ดวงดอกไม้เบ่งบานสลอน
ฝูงภมรแม่เผิ้งสอนไซร้
ดอกพิกุลของพี่ต้นไต้
ลมพัดไม้มาสู่บ้านตู่
รู้แน่ชัดสู่โสตสองหู
ว่าสีชมพูเพื่อนป้ำเค้าเนิ้ง
เค้ามันตาปลายมันเสิ้ง
เค้ามันเนิ้งปลายโค่นตวยแนว
ดอกพิกุลก็คือดอกแก้ว
จะเป็นของเพื่อนไปแล้วเหน่อ
จากซอ เพลงไชยาแว่นแก้ว



จากดอกจำปาลาวของคนล้านฃ้าง คือดอกลั่นทมของคนไทยภาคกลาง คราวนี้ ดอกพิกุลของคนภาคกลาง ก็คือดอกแก้วของชาวล้านนา (สับสนกับตัวเองเล็กน้อย)
อาณาจักร ลานนาไทยหรือล้านนาไทย เป็นคู่กับอาณาจักรลานช้างหรือล้านช้าง ที่เรียกในสมัยโบราณว่ากรุงศรีสัตตนาคนหุต
ลานนาไทย หมายถึงดินแดนภาคเหนือของประเทศไทยทั้งหมด 7 จังหวัด คือจังหวัด เชียงราย ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน
ซอ ไชยาแว่นแก้ว สำหรับคนภาคกลาง ก็คือ เพลงน้อยใจยา นั่นเอง



เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2554 มีบทความของคุณ ร้อยตะวันเรื่อง "น้อยใจยา - แว่นแก้ว"
ที่มาของเพลง "น้อยใจยา" อันเลื่องชื่อของชาวล้านนา เป็นเพลงร้องคู่ชายหญิง ของน้อยใจยา และสาวแว่นแก้ว
(คนเมืองเวลาบวชเป็นเณร เมื่อสึกออกมาจะนำหน้าว่า “น้อย” นำหน้า ส่วนถ้าสึกจากพระ จะเรียกว่า “หนาน”)

ซึ่งเนื้อเพลงข้างต้นนั้น สำเนียงล้านนาเป็นเนื้อร้องท่อนของ น้อยใจยา

ปวง ดอกไม้ เบ่งบานสลอน....
ฝูงภมร ภู่ผึ้งสอดไซร้
ดอกพิกุลของเปิ้นต้นใต้
ลมปัดไม้มาสู่บ้านตู๋
ฮู้แน่ซัดเข้าสอดสองหู
ว่าสีจมปู ถูกป้อมเก๊าเนิ้ง....
เก๊ามันต๋าย ป๋ายมันเซิ่ง
ลำกิ่งเนิ้ง ต๋ายโก่นตวยแนว
ดอกพิกุล ก่คือดอกแก้ว
ไปเป๋นหองเปิ้น แล้ว เหนอ



ต้นพิกุลเป็นต้นไม้อีกชนิดหนึ่งซึ่งคนโบราณไม่นิยมปลูกตามบ้าน ส่วนใหญ่ปลูกตามวัดวาอาราม เมื่อเด็ก ๆ เวลาผ่านต้นพิกุล จะพบดอกพิกุลหล่นเรี่ยรายกระจายบนพื้นดิน กลิ่นหวนอวลใจ ยั่วให้ก้มเก็บ และไม่เก็บมาเป็นดอกเปล่า ๆ จะเก็บมาเป็นพวงมาลัยเล็ก ๆ เหลียวไปเหลียวมา เห็นดอกหญ้าซึ่งมีอยู่แทบทุกแห่งหน ชูก้านช่อไสว ก็เด็ดก้านดอกหญ้า ในบริเวณนั้นเอง มาร้อยดอกพิกุล

พิกุลหล่น เรี่ยราย ชายกลิ่นหอม
เย้ายวนย้อม ยอบกาย ชายตาหา
ขาวเหลืองนวล หวนกำจาย ขายโรยรา
เด็ดก้านหญ้า มาเสียบสาย ชายมาลัย

ก้านเจ้าชู้ อยู่ใกล้ ให้เอื้อมเด็ด
เรียงร้อยเสร็จ สอดหญ้า พาสงสัย
มาลัยแก้ว กับพิกุล กรุ่นหทัย
ซอสมัย เสียงลานนา มารำพัน

มาลัยพวงน้อยนี้ จะเรียกว่ามาลัยดอกแก้ว หรือมาลัยดอกพิกุลดี



ในพระราชพิธีโบราณของไทย ถือว่าดอกพิกุล เป็นมงคลอย่างหนึ่งจึงใช้ทองและเงินจำลองเป็นรูปดอกพิกุล
ซึ่งเคยใช้พระราชทานในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ โดยจะทรงโปรยดอกพิกุลเงิน พิกุลทอง และเงินสลึงให้แก่พราหมณ์ซึ่งเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเฉพาะหน้าพระที่นั่งเป็นประถม
และทรงโปรยดอกพิกุลทอง พิกุลเงินและเงินสลึงอีกครั้งหนึ่งตามทางเสด็จก่อนขึ้นหอพระสุราลัยพิมาน


ยามไร้....เด็ดก้านหญ้าแทนเข็มร้อยมาลัย

ดอกพิกุล
เป็น ดอกไม้ประจำจังหวัด กำแพงเพชร, ยะลา, ลพบุรี
ชื่อสามัญ Bullet Wood, Spanish Cherry
ชื่อวิทยาศาสตร์ Mimusops elengi Linn.
วงศ์ SAPOTACEAE
ชื่ออื่น กุน (ภาคใต้), แก้ว (ภาคเหนือ), ซางดง (ลำปาง), พิกุลป่า (สตูล), พิกุลเขา พิกุลเถื่อน (นครศรีธรรมราช), พิกุล (ทั่วไป)

ลักษณะทั่วไป
พิกุลเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางสูงประมาณ 8–15 เมตร เป็นพุ่มทรงกลมใบออกเรียงสลับกันใบมนรูปไข่ปลายแหลม ลักษณะโคนใบมน สอบขอบใบโค้งเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบเป็นมันสีเขียว ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกดอกเป็นกระจุกตามง่ามใบหรือยอด มีกลีบดอกประมาณ 8 กลีบ เรียงซ้อนกัน กลีบดอกเป็นจักรเล็กน้อย สีขาวนวลมีกลิ่นหอมมาก ผลรูปไข่หรือกลมรีผลแก่มีสีแสด เนื้อในเหลืองรสหวาน ภายในมีเมล็ดเดียว

การขยายพันธุ์ ด้วยการเพาะเมล็ด, ตอนกิ่ง
สภาพที่เหมาะสมปลูกได้ในดินทุกชนิด แสงแดดจัด
ถิ่นกำเนิด มาจาก อินเดีย, พม่า และมาเลเซีย



ผลพิกุลดิบ

ผลพิกุลสุก


ระรวยริน กลิ่นพิกุล ละมุนหวาน
กลีบตระการ หอมซึ้ง คะนึงหวล
หล่นเรี่ยราย พระพายพัด ระบัดนวล
ให้รัญจวน ใจหาย เสียดายครัน

เด็ดก้านหญ้า มาเรียงร้อย ห้อยระย้า
รวบผกา ผูกสาย มาลัยขวัญ
แม้นโรยรา มิเริศร้าง ระรื่นพลัน
กลิ่นเจ้านั้น รัดรึง ตรึงดวงมาน

(ระบัด-อ่อนๆ)

1 ความคิดเห็น:

  1. ดอกไม้ในถาดมีอะไรบ้างครับ ที่เป็นกลีบสีชมพูเข้มดอกตูม และดอกที่มีเกสรมากมาย
    ขอบคุณครับ

    ตอบลบ