อิน-จัน วันเมื่อวาน
หมู่ไม้ในแม่กน
ฉนวนสนุ่น
ทนดียี่สุ่น ขนุนขนัน
กระวานกานพลู ซ่อนชู้อัญชัน
มณฑามะลิวัลย์ อินจันกรรณิการ์
จาก พรรณพฤกษา ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
หอมระรื่นชื่นชายแต่สายหยุด
สงสารนุชนึกถึงสวนให้หวนโหย
หอมจันอินกลิ่นโศกลมโบกโบย
ทั้งยมโดยดอกดวงเป็นพวงงาม
จาก สิงหไกรภพ บทประพันธ์ของสุนทรภู่
ต้นจัน
ชื่อวิทยาศาสตร์ Diospyros decandra lour.
ชื่อวงศ์ EBENACEAE
ชื่ออื่น จันอิน จันโอ จันขาว จันลูกหอม
ต้นจันอยู่ในวงศ์เดียวกับมะพลับ หรือพลับ เป็นไม้ยืนต้นสูงได้ถึง 20 เมตร ลำต้นเปลือกสีเทาดำ หรือน้ำตาลอมดำ มีทรงพุ่มกลม ดอกแยกเพศ โดย ดอกตัวผู้เป็นช่อกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปคนโทสีขาวนวล ดอกตัวเมียเป็นดอกเดี่ยว ลักษณะคล้ายดอกตัวผู้แต่มีขนาดใหญ่กว่า
ผลสด มีสองรูปร่าง คือทรงกลมแป้นเรียกว่าลูกจัน
กลางผลด้านล่างบุ๋มและทรงกลมเรียกว่าลูกอิน กลางผลด้านล่างยื่นนูน
เมื่อสุกสีเหลืองมีกลิ่นหอมและกลีบเลี้ยงยังคงติดอยู่ ผลใช้กินได้รสหวานอมฝาด
ขยายพันธ์โดยเมล็ด เป็นต้นไม้ใกล้จะสูญพันธุ์ พบในป่าบางแห่งและตามวัดเก่าๆ เนื้อไม้แข็ง จึงมักถูกตัดฟันเพื่อนำมาทำถ่านและฟืน
ตำรายาไทยและยาพื้นบ้านใช้แก่นผสมรวมกับสมุนไพรอื่นต้มน้ำดื่มแก้ไข้
ในสมัยเด็กของพลอยโพยม ไม่ค่อยมีการปลูกต้นจันตามบ้านเรือน มักมีปลูกตามวัด และมีคนไปเก็บผลมาใส่กระจาดขาย ในวัยเด็ก พลอยโพยมก็ไม่ทราบว่า ลูกจันและลูกอิน เป็นผลจากต้นเดียวกัน และ ต้นของลูกจัน ลูกอิน จะเรียกรวมกันว่าต้น จันอิน บางแห่งเรียก อินจัน
ลูกอินจะพบได้น้อยกว่าลูกจันนานครั้งจึงจะมีลูกอินมาขาย ลูกอินจัน หรือจันอินนี้มีกลิ่นหอม ผิวของผลก็เต่งตึงสะอาดสวย เราจะทะนุถนอมเป็นพิเศษ มักใช้ผ้าเข็ดหน้าห่อไว้เพราะเกรงผิวของลูกอินจันจะช้ำไม่สวย เก็บไว้ให้ชื่นชมดอมดมกันได้หลายวัน เมื่อผิวของผลเริ่มเหี่ยว กลิ่นหอมก็จะเปลี่ยนเป็นหอมตึ ๆ และเพราะความหอมหวนและสวยงามของผลลูกจัน จึงไม่เคยได้ลิ้มชิมรสสักที เพราะพอผิวเหี่ยวกลิ่นตึ ๆ ก็ทิ้งไปเสียก่อนแล้วนั่นเอง
ที่วัดเมืองหรือวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ มีต้นจันต้นใหญ่ ร่มครึ้ม เป็นที่เลื่องลือกันว่าผีดุมาก มีข่าวเล่าว่ามีคนเจอผีบ่อย ๆ ร้องเสียงโหยหวน คนเฒ่าคนแก่ก็เล่ากันต่อ ๆ มาว่า วัดเมืองเป็นที่ประหารรนักโทษ
ต่อมาจึงทราบว่า เป็นลานประหารจีนตั้วเหี่ยในสมัยรัชกาลสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีจำนวนคนจีนที่ถูกประหารมากมาย และประหารกันที่ลานของวัดใกล้กับต้นจัน
เมืองฉะเชิงเทรามีพระยาวิเศษฤาชัย เป็นเจ้าเมืองปกครองดูแล ต่อมาได้เกิดปัญหากับชาวจีนที่ตั้งก๊กเรียกตัวเองว่าจีนตั้วเหี่ย (ในรัชกาลสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกว่าพวก อั้งยี่ ) ซึ่งทำการขยายอำนาจอิทธิพลจากเมืองชลบุรีเข้ามายังฉะเชิงเทรา ในเดือน 5 พ.ศ. 2391 จีนตั้วเหี่ย ก็กำเริบขึ้นที่เมืองฉะเชิงเทราทำการเรียกเก็บค่าคุ้มครองหรือภาษีเถื่อนแข่งกับทางการ ภายหลังได้รวมพลคนจีนเข้ายึดเมืองฉะเชิงเทรา ใช้กำแพงเมืองฉะเชิงเทราไว้เป็นที่มั่น และยังได้ประกาศให้เมืองฉะเชิงเทราเป็นอาณาจักรของพวกตนอีกด้วย
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ยกพลจากเมืองสมุทรสาครมาปราบปรามพวกจีนตั้วเหี่ยทั้งทางน้ำและทางบก ฝ่ายจีนตั้วเหี่ยได้เข้ายึดวัดเมืองใช้เป็นฐานที่ตั้งสุมกำลังเพื่อสู้กับทางราชการ และพ่ายแพ้ พวกจีนตั้วเหี่ยถูกฆ่าตายกว่า 3,000 คน ฝ่ายที่เหลือก็ถูกจับ และก็ยังมีบางส่วนที่หนีตายจากฉะเชิงเทราไปอยู่ที่บางปลาสร้อย เมืองชลบุรี จีนตั้วเหี่ยเมืองฉะเชิงเทราจึงสงบ
ทรงมีพระบรมราชโองการ ให้ลงโทษประหารคนจีนที่ถูกจับมาทุกคนรวมถึงผู้ให้ความร่วมมือทั้งหมด และให้ไล่ตามจับกุมจีนตั้วเหี่ย ที่หนีตายจากฉะเชิงเทราไปอยู่ที่บางปลาสร้อยกลับมาประหารชีวิตทั้งหมด
สถานที่ประหารชีวิตพวกจีนตั้วเหี่่ย ก็คือ บริเวณโคนต้นจันใหญ่ของวัดเมือง เล่ากันว่าเหตุการณ์น่าสยดสยองน่าเวทนาน่าสงสารและแม้ว่าเหล่าคนจีนที่ถูกประหารจะส่งเสียงร้องร่ำไห้ขอชีวิตอย่างไร เหล่าเพชฌฆาตก็ยังคงทำหน้าที่ต่อไปโดยจับนักโทษมามัดติดกับหลักประหารและผลัดเปลี่ยนกันลงดาบนักโทษนับร้อย ๆ คน จนเลือดสาดกระจายเนืองนองไปทั่วหลักประหารในวัดเมืองส่งกลิ่นเหม็นคาวคลุ้งน่าสะอิดสะเอียนยิ่งนัก ต่อมาอีก 2 ปี ก็สิ้นรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
การประหารชีวิต "จีนตั้วเหี่ย" ที่วัดเมืองครั้งนั้นเป็นข่าวดังไปทั่วหัวเมืองต่าง ๆ
ศพที่ถูกประหารแต่ละศพเป็น "ผีหัวขาด" และถูกนำไปฝังแบบไร้ญาติ ไม่มีใครกล้ามาขอรับศพไปทำพิธีให้ถูกต้องตามประเพณีเพราะเกรงว่า อาจจะถูกประหารตามไปด้วยข้อหาสมรู้ร่วมคิด ต้องปล่อยให้พ่อ แม่ ลูก พี่น้อง เพื่อน และญาติของตนถูกตัดหัวไปต่อหน้าต่อตา ความตายของผู้ถูกประหารซึ่งจิตสุดท้ายก่อนสิ้นลมเต็มไปด้วยความกลัว มีอารมณ์โกรธแค้น ชิงชัง ยามที่วิญญาณออกจากร่างจิตจึงยึดอารมณ์ดังกล่าวเป็นที่ตั้ง นำพาไปยัง "ทุคติภูมิ" อยู่ในภพภูมิที่ทุกข์ทรมานมีความอาฆาตพยาบาทความแค้นที่ฝังใจก่อนตาย ทำให้วิญญาณไม่สงบสุข หาทางไปเกิดไม่ได้ จึงมีวิญญาณสิงสถิตอยู่ในวัดเมืองมากมาย วัดเมืองจึงขึ้นชื่อว่าเป็นวัดผีดุมานับแต่นั้นมา
หลังจากนั้นวัดเมืองก็ได้กลายเป็นวัดร้าง สภาพวัดชำรุดทรุดโทรมเพราะถูกจีนตั้วเหี่ยเผาทำลาย ทั้งยังถูกลูกหลงจากกระสุนปืนใหญ่ ทำให้สภาพวัดเสื่อมโทรมลงมาก และยังไม่ทันที่ "กรมหลวงรักษ์รณเรศ"จะขอพระราชทานงบประมาณมาบูรณะวัดเมือง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน ในรัชกาลสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอำนาจของกรมหลวงรักษ์รณเรศลดลง จึงไม่ได้ขอพระราชทานเงินหลวงมาทำนุบำรุงวัด ได้แต่บูรณะวัดด้วยกำลังทรัพย์ของท่านเอง และหลังจากนั้นไม่นาน กรมหลวงรักษ์รณเรศก็ต้องพระราชอาญาแผ่นดิน ถูกสั่งประหารด้วยการใช้ท่อนจันทน์ทุบที่พระนาภีจนสิ้นชีพิตักษัย ซึ่งในประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นการประหารชีวิตเชื้อพระวงศ์ครั้งสุดท้ายในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ และตั้งแต่นั้นมาวัดเมืองก็ไม่มีการบูรณะวัดใด ๆ อีกเลยทำให้กลายเป็นวัดร้างที่ทรุดโทรม บรรยากาศน่ากลัวจนไม่มีใครกล้าเดินผ่านในยามค่ำคืนด้วยกิตติศัพท์ "ผีดุ"
จนถึงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2450 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาวัดเมืองเมื่อทอดพระเนตรเห็นสภาพที่เสื่อมโทรมมาก ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อซ่อมแซมวัดจนอยู่ในสภาพดีดังเดิมพร้อมพระราชทานพระปรมาภิไธยย่อ จปร. ประดับไว้ที่หน้าบันพระอุโบสถและพระราชทานนามวัดใหม่เป็น "วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฏ์"
เล่ากันว่าแม้สภาพของวัดเมืองจะถูกปรับปรุงให้สวยงาม มีชีวิตชีวาดังเดิมแล้วก็ตาม แต่เรื่องราวความเฮี้ยนของ "ผีจีนตั้วเหี่ย" ก็ยังคงมีต่อเนื่องตลอดเวลา จนสมาคมจีนในฉะเชิงเทราได้ทำพิธีปลดปล่อยวิญญาณคนที่ถูกประหารที่ทนทุกข์ทรมานให้ไปเกิด โดยจัดพิธีล้างป่าช้าขึ้นที่วัดเมืองถึง 2 ครั้ง ต้องทำพิธีขุดเอาเสาหลักประหารขึ้นมาจากดิน และทำพิธีสะกดวิญญาณพร้อมทั้งต้องปรับพื้นที่บริเวณนั้นให้เสมอกัน เทปูนปิดทับรอยหลักประหารให้หมด
"วัดเมือง" ในปัจจุบันมีการบูรณะวัดขึ้นมาใหม่ โดยกรมศิลปากรได้มาสำรวจและขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของจังหวัดฉะเชิงเทรา ในบริเวณวัดด้านข้างวิหารก็เป็นที่ตั้งศาลเจ้าพ่อไกรสร หรือศาลเจ้าพ่อกรมหลวงรักษ์รณเรศ ซึ่งภายในศาลมีรูปหล่อของท่านในชุดแม่ทัพ ใครผ่านไปผ่านมาที่เคยทราบประวัติของวัดดีก็มักจะมาสักการะ ในฐานะที่ท่านได้สร้างวัดนี้ขึ้น และถือว่าเป็นศาลเจ้าที่ศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งหนึ่งของฉะเชิงเทรา
ปัจจุบัน ต้นอินจันมีขายมากมายในตลาดต้นไม้ทั่วไปราคาไม่แพงขนาดต้นสูง 60-70 ซม .ราคาต้นละ 20 บาท จากร้านค้าที่ขายไม้ป่าที่สวนจตุจักรซึ่งขณะนี้อาจมีการปรับราคาขึ้นแล้ว แต่หากหลงไปซื้อจากร้านขายไม้ดอกหอม ก็จะมีราคาแพงกว่าการซื้อจากร้านขายไม้ป่าอาจถึง 100 ถึง 200 บาท แต่ต้นก็จะโตกว่า
ต้นอินจันเป็นไม้ที่เติบโตช้า รวมทั้งการให้ดอกและผล อายุการปลูกสิบกว่าปีขึ้นไปจึงจะได้ชื่นชมดอกผลกัน ต้นอินจันตามวัดวาอาราม มักเป็นต้นสูงใหญ่ ต้องรอให้ผลสุกร่วงลงพื้นจึงจะเก็บมาชื่นชมได้ เด็ก ๆ แม้จะรู้ที่ที่มีต้นอินจัน แต่ก็ไม่ค่อยมีคนกล้าไปรอเก็บผลอินจันจากโคนต้นตามวัดกันนัก
เมื่อเล่าถึงต้นอินจัน ก็ขอแถมเรื่องราวของแฝดอิน-จันสักเล็กน้อย
อิน-จัน เป็นชื่อของฝาแฝดสยาม ที่มีชื่อเสียงก้องโลก เป็นที่มาของคำว่าแฝดสยาม
อิน-จัน เป็นฝาแฝดที่มีตัวติดกันทางส่วนหน้าอก เนื้อที่เชื่อมระหว่าอกนี้สามารถยืดได้จนทั้งคู่สามารถหันหลังชนกันได้ เกิดในสมัยสมเด็จพระพุทธเลิสหล้านภาลัย ในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนที่จังหวัดสมุทรสงคราม บิดาเป็นชาวจีนอพยพ มารดาเป็นคนไทย อิน-จัน เติบโตมาและใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ
ขนมหวานลูกจัน
เมื่อบิดาเสียชีวิต มารดาก็เลี้ยงดู อิน-จันต่อมา โดย อิน-จันช่วยแม่ จับปลา ขายน้ำมันมะพร้าว ทำไข่เค็มขาย ความทราบถึงพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อิน-จันและมารดา ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ต่อมาทรงมีพระบรมราชานุญาติ ให้ อิน-จันเดินทางไปกับคณะทูตเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศโคชินไชน่า ( เวียดนาม)
เมื่ออิน-จัน อายุ 18 ปี ได้ถูกพาตัวเดินทางไปสหรัฐอเมริกา เพื่อไปแสดงเปิดตัว แฝด อิน-จัน และใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เปลี่ยนชื่อและสัญชาติเป็นอเมริกัน ต่างแต่งงานมีครอบครัว และต่างมีลูกกันหลายคน ทั้งคู่มีนิสัยตรงข้ามกัน จัน อารมณ์ร้อนหุนหัน ชอบดื่มสุราเมามาย อิน ใจเย็น สุขุม ไม่ดื่มสุรา ทั้งคู่เคยทะเลาะวิวาทชกต่อยกัน
จันเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย (เพราะชอบดื่มเหล้า) อีกสองชั่วโมงต่อมา อินก็เสียชีวิตตาม โดยแพทย์ลงความเห็นว่า อินต้องสูญเสียเม็ดเลือดแดงให้แก่จัน ที่เสียชีวิตไปแล้ว ผ่านทางเนื้อที่เชื่อมกันที่อก ทั้งคู่เสียชีวิตเมื่ออายุได้ 63 ปี
พลอยโพยมยังมีบทความ เรื่องกระยาสารทอาภรณ์ ค้าง อีก 1 บทความ นับแต่บทความของคุณท้าวทองกีบม้ามาจนถีงบทความขนมหวานร้านริน ก็มึนกับนำตาลปริมาณมากจนเกิดภาวะน้ำตาลใน MEMORY BOX สูงมาก ต้องขอเข้าโรงพยาบาลไปตรวจเช็คสุขภาพก่อน จึงขอขึ้นบทความ อื่น ๆ คั่น เรื่องราวไว้ก่อน (และมีภาระกิจ ทุกวันถึงวันอาทิตย์นี้ ทำให้ถ่ายภาพกระยาสารทอาภรณ์ ซึ่งทำจากน้ำตาลอ้อยไม่ได้ มีแต่ภาพกระยาสารท น้ำตาลปี๊บ ที่เคยถ่ายเก็บไว้แต่ใช้ประกอบเรื่องไม่ได้ ) บทความจึงจะไม่ต่อเนื่องกัน ทำให้สะดุดอารมณ์ท่านผู้อ่าน
ชอบต้นไม้ไทยโบราณ ที่มีกลิ่นหอมคะ ซื้อต้นอิน-จันทร์ มาปลูก 4 ต้น โตขึ้นมาหน่อยแล้ว ปลูกมา 3 เดือน ซื้อต้นเล็กสูงแ่ค่ 20 cm.
ตอบลบ