กะแช่..เคยแลเห็น
กระบอกไม้ไผ่
กระป๋องอลูมิเนียม
จั่นมะพร้าว
งวงตาล
ดอกจากที่ใช้ทำน้ำกะแช หรือน้ำตาลจากได้
กะแข่..เคยแลเห็น
ลูกจ้างนั้น หมั่นทำ น้ำกะแช่
ไปชะแง้ แม้เห็น เป็นสืบสาน
จั่นมะพร้าว คราวออก นอกจากตาล
สวนหลังบ้าน ผ่านเห็น โดดเด่นไกล
ปีนพะอง อันยาว ไต่สาวยอด
แล้วเล็งลอด เหล่าจั่น มาดมั่นได้
ต้องพอเหมาะ ไม่แก่ แลอ่อนไป
เตรียมท่อนไม้ หมายคลึง ซึ่งพึงตา
นวดจนน่วม อ่วมดี อย่างที่คาด
เอามีดปาด ปลายจั่น เท่านั้นน่า
โน้มเหนี่ยวจั่น อันเลือก ตรึงเชือกนา
ทุกวันมา มุ่งตรวจ สำรวจดู
อย่าลืมเลือน เฉือนซ้ำ จนน้ำไหล
กระบอกไผ่ ผูกไว้ สิ่งใดสู้
เจาะรูใช้ เชือกห้อย ค่อยร้อยรู
สวมจั่นอยู่ หยาดหยด ไหลรดลง
ปรับเปลี่ยนละ กระป๋อง เป็นต้องคล้าย
ปนประปราย หลายที่ พอมีหลง
เช้าและเย็น เน้นว่า ให้มาตรง
ห้ามมึนงง ง่วงเมา เอาแต่นอน
น้ำตาลเมา เขาคือ ชื่อกะแช่
ต้องเมาแอ๋ อ้อแอ้ คนแก่สอน
เปลือกตะเคียน เพียรหา มาหั่นทอน
ใส่ไว้ก่อน ตอนแรก แปลกอุรา
ไม่มีเปลือก เลือกไม้ มิใช่ยาก
ลูกจ้างถาก ฟากเสา ควานเฝ้าหา
กระดานไม้ ไสใช้ สมใจนา
เปลือกดีกว่า กล่าวถึง ซึ่งผลไว
ปลดกระบอก กรอกหน้า ยกมาซด
ลูกจ้างหมด เมื่อยล้า ใบหน้าใส
พากย์ตะลุง ฟุ้งเรื่อง ประเทืองใจ
เดินเอียงไหล่ ไกวหัว ตัวซุนเซ
พวกเราไม่ ใฝ่ทำ น้ำกะแช่
เล่าเพียงแต่ แลรู้ ดูหมิ่นเหม่
พี่ผู้ชาย หลายหน ปนเกเร
แอบหันเห เร่ลอง ลิ้มของดี
หากทำไว้ ไฟต้ม กลัวอมเชื้อ
สีเทาเรื่อ เอื้อเชิญ ชิมเร็วรี่
งวงตาลนั้น จั่นมะพร้าว เอาวิธี
ดอกจากมี เหมือนรส หวานสดครัน
ปาดจั่นรุก ทุกครั้ง ครายังได้
กระบอกใส่ สับเปลี่ยน หมุนเวียนผัน
จนน้ำหยด หมดคุ้ม เปลี่ยนสุ่มอัน
บางบ้านนั่น หันหา ฝ่าขั้นตอน
น้ำตาลปี๊บ เป็นของ ต้องขยัน
ปีนปาดจั่น หมั่นมา น่าเหนื่อยอ่อน
ทุกรุ่งเช้า ช่วงเย็น ใจเต้นรอน
แถมซับซ้อน ก่อนได้ ใช้อดทน
ตอนรองน้ำ ย้ำคำ นำเคล็ดลับ
มะเกลือสับ กลับข้าง ซึ่งต่างผล
ตะเคียนเคี่ยม พะยอม ย่อมแยบยล
ช่างคิดค้น ของดี วิถีไทย
ยางของไม้ ให้ผล จนแตกต่าง
ที่สรรสร้าง สารตน วนสงสัย
คนโบราณ ท่านไหน ได้รู้นัย
คุณและภัย ภูมิรู้ ขาวคู่ดำ
หนังสือบทกวีวันวานของบางกรูด
กะแข่..เคยแลเห็น
คุณสมบัติของยางไม้บางชนิด
น้ำตาลสด (ก่อนนำมาต้มไฟ)
ชาวสวนจะสับไม้ให้เป็นเกล็ดไม้ชิ้นเล็กๆ ใส่ไว้ก้นกระบอกก่อนที่จะนำไปรองน้ำตาลจากต้นมะพร้าว ยางไม้ฝาดของ ไม้พะยอม ไม้ตะเคียนทองและไม้เคี่ยมนี้จะละลายอยู่ในเนื้อน้ำตาลจากต้น มีคุณสมบัติช่วยรัดน้ำตาลจากต้นให้ใส เกิดฟองช้า ซึ่งเท่ากับช่วยให้น้ำตาลนี้ไม่มีรสเปรี้ยวหรือบูดช้าลงและเมื่อนำน้ำตาลไปต้มและเคี่ยวจะช่วยรัดเนื้อน้ำตาลให้ข้นแห้งเร็วขึ้นด้วย
น้ำตาลเมาหรือกะแช่
ได้จากการหมักน้ำตาลสด และชิ้นไม้มะเกลือแห้งย่างไฟ แล้วนำไปหมักในไหเคลือบหรือกระบอกตาล รอจนเกิด ยีสต์ YEAST ซึ่งจะใช้เป็นหัวเชื้อจากนั้น เริ่มหมักใหม่ด้วยน้ำตาลสด แช่ทิ้งไว้นานเพียง 1 วันก็จะได้กะแช่ หรือน้ำตาลเมาที่มีรสชาติคล้ายเบียร์สด ดื่มเพื่อสุขภาพหรือสังสรรค์ ในปริมาณที่พอเหมาะ การทำกะแช่ จำเป็นต้องใช้ไม้จากต้นมะเกลือ
(วีระ ,๒๕๔๗)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น