สืบสาน.....ตำนานแม่อาภรณ์
แม่อาภรณ์ท่านไม่ใช่คุณแม่ของพลอยโพยม แต่เป็นคุณแม่ของกำนันสมภพ วงศ์พยัคฆ์ ครั้งนี้เป็นเรื่องราวของตำนานการทำกระยาสารทของคุณแม่อาภรณ์ วงศ์พยัคฆ์ (น้อยใจบุญ-สายตระกูลเดิม วัฒนสินธุ์) ซึ่งพลอยโพยมเอง เกี่ยวดองเป็นญาติกับ นามสกุลวงศ์พยัคฆ์และ นามสกุลเหล่าสินชัย
ดังที่เคยเกริ่นไว้ว่า แม่น้ำบางปะกง นั้นคือ “สายธารที่โยงใยสายสัมพันธ์ของคนสองฝั่งน้ำให้รวมกันเป็นหนึ่งเดียวกัน” ด้วยเพราะวิถีชีวิตพื้นบ้านของคนสองฝั่งน้ำล้วนผูกพันกับลำน้ำ เรือกสวน ทุ่งนา และพุทธศาสนาจากแหล่งเดียวกัน ทั้งยังก่อเกิดความผูกพันกันทางสายเลือดด้วยความรัก การแต่งงานร่วมครอบครัวกัน ระหว่างผู้คนตลอดสองฝั่งแม่น้ำบางปะกง ซึ่งทำให้ความเป็นเครือญาติของชาวบางกรูดต่างก็สืบสายโยงใยไปทั่วตลอดริมฝั่งแม่น้ำ
หลังจากที่สนทนาถามไถ่เรื่องราวของกระยาสารทอาภรณ์ จากกำนันมด (สมภพ วงศ์พยัคฆ์) มีประโยคที่พลอยโพยมถามว่า กำนันมดมีแรงบันดาลใจอะไรที่ทำ "กระยาสารทอาภรณ์ " ของคุณแม่ อยู่มาจนทุกวันนี้ กำนันมดตอบโดยไม่ได้หยุดคิดเลยสักวินาทีเดียวว่า " เพื่อสืบสานตำนานกระยาสารทของคุณแม่ผมไว้ " เป็นประโยคที่ประทับใจพลอยโพยมมาก ไม่แพ้คำว่า " รักษารากเหง้า เหล่าบรรพชนไว้ " ของ อาจารย์ สุกัลยา นาคะพงศ์ บุตรสาวของกำนันสมชาย นาคะพงศ์
กำนันมดมาจากตระกูลคหบดีที่มีทรัพย์สิน เงินทอง ที่แบ่งปันกันมารุ่นต่อรุ่นมาจนถึงรุ่นกำนันมด ซึ่งถือว่ากำนันมดสืบสายคหบดีที่บางกรูด อีกทั้งยังสืบสาน ตำนานผู้ใหญ่บ้านของคุณพ่อ ประเสริฐ วงศ์พยัคฆ์ และกำนันมดยังดำรงตำแหน่งกำนันของตำบลบางกรูดคนที่ 5 โดยเริ่มนับแต่ พ.ศ. 2447 ถึงปัจจุบัน อีกด้วย ( ก่อนหน้านั้นมีกำนันอีกหลายท่านแต่ไม่มีบันทึกหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร)
กำนันมดมีพี่ ๆ ที่ต่างแยกย้ายกันมีครอบครัวและแยกบ้านเรือนออกไป กำนันมดเป็นบุตรชายคนสุดท้องปกครองบ้านเรือนเดิมอยู่ที่บริเวณกลุ่ม "บ้านหัวแหลม" และมีคุณยาย จิตรเกษม เหล่าสินชัย เป็นน้องสาวคุณยายกำนันมด ซึ่งเป็นต้นตำรับตำนาน กระยาสารทน้ำอ้อย รุ่น "ไหแตก " และ ตำนาน ถั่วลิสงซอยละเอียดถั่วซีกละ 120 ชิ้น เป็นตำนานที่มาเดียวกันกับตำนานของคุณครู วรพรรณี น้อยใจบุญ แห่ง " ริน ขนมหวาน "
การกวนกระยาสารท ที่ "บ้านหัวแหลม " นี้ เหมือนกับ "บ้านหน้าวัดบางกรูด " ของพลอยโพยม คือ เป็นศูนย์กลางกวนกระยาสารทในคราว "สารทกระยาสารท " ของครอบครัวพี่น้อง แต่กระยาสารทของยายขา (คือคุณยายของโพลอยโพยมเอง) เป็นกระยาสารททน้ำตาลปี๊บ คนละสูตรกับกระยาสารทน้ำตาลอ้อยของคุณยายจิตรเกษม เหล่าสินชัย
กำนันมดเล่าว่า
ในรุ่นคุณยาย จะกวนกระยาสารทกันที่บ้านกลาง ( บ้านคุณสมจินต์ วัฒนสินธุ์ บ้านศูนย์กลางของตระกูล) คุณยายจิตรเกษม เป็น key woman ของการกวนกระยาสารท จะมีเรือพ่อค้าล่องเอาน้ำตาลอ้อยชนิดที่เรียกกันว่า น้ำตาลเตาเน่า ลักษณะน้ำตาล เป็นน้ำตาลอ้อยเคี่ยวข้นคล้ายแบะแซ เวลาจะใช้งานใช้มือตักลักษณะวักขึ้นมาอยู่ในอุ้งมือ ซึ่งที่บ้านกลางของสกุลวัฒนสินธุ์ หรือ "บ้านหัวแหลม "ของคนในละแวกบางกรูด ก็จะกวนกระยาสารทในเทศกาลสารทไทยเดือนสิบ
การกวนกระยาสารทนอกจากกวนไว้เพื่อทำบุญสารทเดือนสิบแล้ว ชาวบางกรูดจะกวนไว้เพื่อแจกญาติพี่น้อง เช่น ญาติพี่น้องลูกหลานที่ไปอยู่ถิ่นอื่นเช่น ในกรุงเทพ ฯ หรือสถานที่ต่าง ๆ และที่สำคัญอีกอย่างคือการแบ่งปันกันชิมซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ คือ แจกให้ญาติ ๆ คนรู้จักที่นับถือในตำบลเดียวกัน เราให้ของเราไป เค้าก็ให้ของเค้ามาแลกเปลี่ยนกันชิมรสชาติของแต่ละบ้าน นับเป็นวัฒนธรรมอันดีงามที่สืบสานกันมาซึ่งเพลาบัดนี้ได้เลือนรางจวนเจียนจะลับหายไปแล้ว เพราะคนยุคใหม่ไม่ทำขนมเองต่างซื้อหามาจากร้านค้านั่นเอง
คุณแม่อาภรณ์ รับถ่ายทอดการกวนกระยาสารทมาได้ไม่ตกหล่นจากสูตรดั้งเดิม ญาติพี่น้องรุ่นถัดลงมาได้รับแจกกระยาสารทจากคุณแม่อาภรณ์แล้ว ก็อยากเอาไปแจกพรรคพวกเพื่อนฝูงของตนบ้าง จึงมาขอให้คุณแม่อาภรณ์ กวนกระยาสารทเพื่อขายให้ญาติพี่น้องที่ต้องการปริมาณมาก ๆ คุณแม่เองก็ตามใจบรรดาญาติ ๆ ลงมือกวนกระยาสารทตามรายการสั่งของบรรดาญาติ ๆ ในปี พ.ศ. 2507-2508 โดยมีรายการสั่งเป็นกระทะ กระทะหนึ่งมีปริมาณประมาณน้ำหนัก 4 กิโลกรัม
คุณแม่มีเพื่อนที่มีร้านค้าในตัวเมืองฉะเชิงเทราซึ่งได้รับแจกกระยาสารท และได้ขอให้คุณแม่ทำส่งไปขายที่ร้านของตนคือที่ร้านสมสมัย และร้านธโนดม คุณแม่ก็ตามใจเพื่อนอีกตามเคย
นับได้ว่าคุณแม่กวนกระยาสารทขายอย่างเต็มตัว ในปี พ.ศ. 2510 เป็นกระยาสารทที่มีชื่อตามผู้เป็นเจ้าของ คือกระยาสารทอาภรณ์ เป็นกระยาสารททำขายเจ้าแรกของเมืองฉะเชิงเทรา มาจนปัจจุบันนี้อายุของ "กระยาสารทอาภรณ์ " ที่ได้สัญจรไปทั่วราชอาณาจักรไทย สุดแต่ใจใครจะนำพากระยาสารทอาภรณ์นี้ไปถิ่นฐานบ้านไหนเมืองใด มีอายุเจริญวัย มา 44 ปีแล้ว และเจ้าของกระยาสารทตัวจริงท่านได้ล่วงลับไปนานแล้ว
เมื่อสิ้นบุญคุณแม่อาภรณ์ ก็ไม่มีลูก ๆ คนใดจะสานต่องานกวนกระยาสารทของคุณแม่ เพราะล้วนมีภาระกิจการงานที่ต้องรับผิดชอบ กำนันมดรับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน เป็นทายาทผู้ปกครองบ้านเรือนสืบต่อมาจึงคิดว่า หากไม่มีลูกคนใดสืบสานตำนานกระยาสารทของแม่อาภรณ์ไว้แล้ว ฝีมือกวนกระยาสารทของคุณแม่ก็มีแต่จะล่วงเลยลับหายสูญสลายไปตามกาลเวลา ฉะนั้นก็อย่ากระนั้นเลย กำนันมดจะสืบสานไว้เอง เนื่องจากเห็นการกวนกระยาสารทของคุณแม่มาตลอดเวลา กำนันมดไม่รอช้าเริ่มดำเนินการทันที ผู้คนที่คุณแม่เคยใช้สอยยังอยู่กันโดยส่วนใหญ่ กำนันมดเพียงดูแลสั่งการ และศึกษาเคล็ดลับของคุณแม่ นำมากำกับการ
ที่พลอยโพยมใช้คำว่าศึกษาเคล็ดลับนี้ เพราะได้สัมผัสมากับตนเองฝึกหัดทำขนมที่คุณพ่อของตัวเองเคยทำได้อร่อยมากหลายอย่าง เช่น ขนมตาล ขนมไข่ คุณพ่อจดสูตรและวิธีทำไว้ละเอียดมาก แต่ทำอย่างไร ก็ไม่ได้เหมือนฝีมือคุณพ่อเพราะเรานวดแป้งการทำขนมตาล และตีไข่ในการทำขนมไข่ได้ไม่เหมือนคุณพ่อ
เมื่อสอบถามกำนันมดก็เช่นกัน กำนันมดก็ต้องใช้เวลาตามรอยเท้าคุณแม่ของตนเองพอสมควร เคล็ดลับสำคัญของการกวนกระยาสารทคือ การดูน้ำตาลที่กวน ได้ที่ดี แล้วจึงใส่ส่วนประกอบลงไป น้ำตาลที่ได้ที่กำลังเหมาะนี้ เป็นน้ำตาลที่ในเวลาไม่กี่นาทีข้างหน้าน้ำตาลนี้ก็จะไหม้ การตัดสินใจฉับไวในเวลาไม่กี่นาทีคือเคล็ดลับสำคัญที่สุด
ทุกวันนี้กำนันมดกวนกระยาสารทได้ฝีมือไม่ผิดเพี้ยนของคุณแม่อาภรณ์ แค่เดินผ่านส่วนประกอบที่กำลังคั่วอยู่บนเตา ได้กลิ่นหอมของที่คั่วก็รู้ว่าจวนใช้ได้แล้ว หรือยังต้องคั่วต่ออีก หรือเสียงกะทิและน้ำตาลที่กวนด้วยไม้พายกวนขนม เสียงเดือดในกระทะเสียงกระทบกับไม้พายก็บอกกำนันมดได้ว่า อีกสักประเดี๋ยวน้ำตาลก็ใช้ได้แล้ว เป็นต้น และกำนันมดเป็นผู้กำกับการดูน้ำตาลด้วยตนเอง ทดสอบด้วยตัวเอง ( การดูน้ำตาลต้องมีวิธีทดสอบ แต่ ไม่เล่าเคล็ดลับนี้แล้วกัน เก็บเป็นเคล็ดลับของกำนันมดไว้)
อีกเหตุผลที่กำนันมดสืบสานการกวนกระยาสารทไว้ ก็เพื่อเลี้ยงดูผู้คน ที่คุณแม่คยเรียกหามากวนกระยาสารทให้คงมีรายได้จากการมาช่วยกวนกระยาสารทไว้ด้วย
แต่จะมีกระยาสารทนี้ขาย เพียง 2 เดือนเท่านั้น คือ เดือน 9 และเดือนสิบ นับตามเทศกาลสารทไทย เนื่องจากน้ำตาลอ้อยชนิดที่กระยาสารทอาภรณ์ใช้เป็นส่วนประกอบหนึ่งนั้นหยุดผลิตจากโรงงาน
น้ำตาลอ้อยนี้ ในสมัยก่อน ใช้อ้อยสิงคโปร์ (ซึ่งมีสีผิวเปลือกอ้อยสีเหลือง) ผลิต ต่อมาเกษตรกรไม่นิยมปลูกอ้อยสิงคโปร์ หันมาปลูกอ้อยเปลือกผิวสีแดง และปัจจุบันนิยมปลูกอ้อยสุวรรณเบอร์ 4 ซึ่งมีสีผิวเปลือกสีเหลืองอมเขียว อ้อยที่ส่งมาหีบเป็นน้ำตาลอ้อยนี้ จะเป็นอ้อยเหลือคัดลำอ้อยสวย ๆ ที่มีคนมาซื้อ ไปหีบเป็นน้ำอ้อยสดใส่ขวดขาย ส่วนอ้อยลำคด ๆ ข้อสั้น ๆ จึงจะมีเหลือ มาหีบน้ำตาลอ้อย
เมื่อหมดเดือนสิบโรงงานน้ำตาลอ้อยนี้ก็จะเลิกผลิต น้ำตาลอ้อยนี้ กำนันมดเอง ก็ไม่ได้ซื้อตุนไว้มาก เพราะ น้ำตาลอ้อยนี้ มีอายุ แค่ 20 วัน หลังจากนั้น น้ำตาลก็จะพองตัว และบูดเสียไปในที่สุด ถ้าจะยืดอายุการเก็บน้ำตาลนี้ ต้องสร้างห้องเย็นเก็บโดยเฉพาะ
กำนันมดเล่าว่า การทำน้ำตาลอ้อยนี้ เป็นภูมิปัญญาชาวมอญ และมีพ่อค้าไปรับซื้อมา ล่องเรือนำมาขายที่ตลาดคลองสวน เข้าคลองท่าถั่ว ออกสู่ลำน้ำบางปะกงมาส่งของขายที่ตลาดโรงสีล่างในรุ่น คุณยาย คุณแม่ของกำนันมด
จวบจนมาถึงกาลสิ้นสุดความรุ่งเรืองของตลาดโรงสีล่าง ซึ่งแม้ว่าโรงสีล่างจะเลิกกิจการไปนานก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ยังแนวตลาดโรงสีล่างริมน้ำไว้สืบต่อมาอีกหลายสิบปีและค่อย ๆ เลิกร้างร้านค้ากันไป จนไม่มีเรือนำสินค้าจากกรุงเทพผ่านมาอีกเลย
เนื่องจากคุณพ่อ ผู้ใหญ่ประเสริฐ วงศ์พยัคฆ์ เป็นชาวคลองสวนเดิม จึงไม่ยากที่จะไปตามแกะรอยหาที่มาของน้ำตาลอ้อยนี้
ต่อมาพ่อค้าที่เคยนำน้ำตาลจากเมืองปทุมธานี ล่องเรือมาตามลำคลองผ่านเข้ามาที่คลองสวนก็เลิกขาย หายสาบสูญไปทั้งคนทั้งเรือไม่เหลือลูกหลานมาสืบสานอาชีพล่องเรือนำสินค้ามาขายจากปทุมธานี ผ่านเข้ากรุงเทพมาเมืองฉะเชิงเทราอีกเลย
แต่ก็ไม่เกินความพยายามที่จะตามไปสืบเสาะหาที่เมืองปทุมธานี ใช้การถามไถ่ไล่ความตามหา จนได้พบแหล่งที่ผลิต แต่ด้วยภารกิจที่กำนันมดก็มีงานรัดตัว ทำให้กำนันมด กวนกระยาสารทเพียงแค่ สองเดือนดังที่ได้กล่าวข้างต้น ซึ่งไม่เป็นภาระในการเก็บน้ำตาลอ้อยในห้องเย็น
กำนันมดได้รับมรดกความพิถีพิถันละเอียดลออในการคัดสรรวัตถุดิบมาจากคุณแม่ แม้เมื่อทำเพื่อขาย ก็ยังคงรักษามาตรฐานเหมือนทำกินเอง กำนันมดคงมาตรฐานทุกส่วนประกอบ ไม่ว่าจะเป็น งา กำนันมดซื้องาดำ มาขัดเองให้ขาว ซึ่งพลอยโพยมเห็นยายขาขัดงาแล้วก็ท้อใจที่จะฝึกกวนกระยาสารท ไม่คิดว่ากำนันมดจะซื้องาดำมาขัดเองแม้จะใช้แรงงานของคนอื่น ๆ แต่กำนันมดก็ยังคงวิธีการคนโบราณไว้ เลือกซื้อเม็ดงาดำที่สวย ๆ ใช้ภูมิปัญญาเข้ามาช่วยเพราะทำในปริมาณมาก กำนันมดใช้การตำงาที่แช่น้ำไว้ในครกไม้ใหญ่ที่เรียกว่าครกกระเดื่องที่ใช้ตำข้าว ตำข้าวเม่า นั่นเอง แต่แทนที่จะใช้สากไม้ กำนันมดก็ใช้ สะโพกจากแทน นับเป็นภูมิปัญญา ที่กำนันมดใช้รักษาคุณภาพงา ไม่ซื้องาขัดสำเร็จรูปมาเป็นส่วนประกอบ ข้าวเม่า ข้าวตอก ถั่วลิสง ล้วนคัดสรรค์มาอย่างดี ราคาสูงขึ้นจากธรรมดาก็ไม่ว่ากัน และกำนันมดก็มีคนมีฝีมือคั่วส่วนประกอบเหล่านี้
พลอยโพยมขอแสดงความนับถือกำนันมด ณ ที่นี้
สำหรับถั่วลิสงในส่วนที่ซอยละเอียด กำนันมดก็ให้แรงงานที่มาทำงานด้านอื่นๆ ในระหว่างวัน เอากลับไปซอยที่บ้านตอนกลางคืน จ่ายค่าจ้างเป็นกิโลกรัมเช่นกัน หรือมีคน( ที่รู้จักกันดี) มารับจ้างเอาไปซอยก็ได้
ไม่ต้องกังวลว่า ต้องกินถั่วซอยขี้มือใครต่อใครไม่รู้ สะอาดไหม รับรองคุณภาพผ่านการตรวจของกรมสุขอนามัยได้ทุกแผ่นกระยาสารทเพราะกำนันมดนำมาอบอีกครั้ง ทั้งอบให้สะอาดปลอดภัยในการบริโภคและยังอบควันเทียนให้หอมกรุ่นอีกต่างหาก กินแล้วก็กรุ่นละมุนกลิ่นควันเทียนอบ กินแล้วให้ระลึกถึงแม่อาภรณ์ของกำนันมดว่าช่างมีฝีมือเลิศล้ำจริง ๆ
นอกจากกระยาสารทอาภรณ์แล้ว ยังมีพี่กำนันมดที่เผยแพร่ฝีมือทำห่อหมกปลาช่อน ซึ่งมีจำหน่ายทุกวัน ตามร้านค้าที่รับวางขายในฉะเชิงเทราหลายร้าน ทุกวันยกเว้นวันพระ และเทศกาลกินเจ
ส่วนกระยาสารทอาภรณ์ นี้ ติดต่อซื้อในช่วงเทศกาลกระยาสารท ได้ที่ ร้านคิงส์โตร์ ร้านก๋วยเตี๋ยวถาวร ร้านขนมปี๊ยะตั้งเซ่งจั๊ว แม่บุญมีปากถนนเข้าวัดผาณิตาราม บ้านป้านงค์ ฝอยทองบางปะกง และร้านค้าย่อยต่าง ๆ ที่มารับไปขายอีกหลายร้าน โทรศัพท์สอบถามได้ที่ เบอร์ 038 131814 ติดต่อกำนันมด หนุ่มหล่อใจดี มีคุณธรรม ได้โดยตรง
และกระยาสารทอาภรณ์ กับกระยาสารทริน มีความแตกต่างกันแม้จะมีต้นตอเดียวกัน แต่คนละรสชาติ แล้วแต่ผู้บริโภคว่าชอบแบบไหนตัดสินใจกันเองตามความชอบส่วนบุคคล
เรื่องอ้อยทำน้ำตาลของกำนันมด พลอยโพยมมีอ้อยในดวงใจชื่อว่า อ้อยขาไก่ เป็นอ้อยลำเล็ก ๆ สีเหลือง ขนาดลำประมาณนิ้วหัวแม่โป้ง เปลือกบาง ใช้ฟัน เด็ก ๆ กัดฉีกได้ลำข้ออ้อยก็ไม่แข็ง รสหวานสนิทติดใจ แต่คงจะสูญพันธุ์ไปแล้ว คนที่รู้จักอ้อยขาไก่นี้ก็จะบอกตรงว่า ไม่เห็นมาเป็นสิบปีแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น