วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2554

[บทความ] มารี กีมาร์ ท้าวทองกีบม้าของไทย

มารี กีมาร์ ท้าวทองกีบม้าของไทย


ฝอยทองจากเฉลาขนมหวาน

Dona Marie Gemard de Pina
Dona ดอญ่า เป็นภาษาเสปน เทียบกับภาษาไทย คือคุณหญิง

Dona Marie Gemard de Pina หรือเรียกสั้น ๆ ว่า มารี กีมาร์ ซึ่งชาวกรุงศรีอยุธยาเรียกว่า ท้าวทองกีบม้า มีบิดาเป็นญี่ปุ่นผสมแขก มารดาเป็นญี่ปุ่นผสมโปรตุเกส ซึ่งล้วนตั้งถิ่นฐานอยู่ในศรีอยุธยา หลังจากที่ซามูไรเดินทางเข้ามาเป็นทหารอาสาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในช่วงที่ โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ของญี่ปุ่นเรืองอำนาจ ได้มีการจับกุม บาทหลวงเผยแพร่ศาสนา ชาวญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาคริสต์ มีการกำจัดและลงโทษขับไล่ออกจากญี่ปุ่น ยายของมารี กีมาร์ก็ถูกขับไล่ ถูกจับใส่กระสอบนำมาลงเรือที่นางาซากิ เนรเทศไปอยู่เวียตนาม ซึ่งมีชาวคริสต์อยู่กันมากจึงได้พบกับตาของ มารี กีมาร์ ซึ่งเป็นเจ้าชายของญี่ปุ่่นซึ่งเข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์เช่นกัน และได้แต่งงานกันเมื่อถึงปลายทาง มีชีวิตยากจนในระยะแรก ต่อมามีฐานะดีขึ้น มีชาวญี่ปุ่นเข้ารีตเดินทางมากรุงศรีอยุธยา ตาและยายของ มารี กีมาร์ ได้เข้ามาอยู่ศรีอยุธยาเพราะเป็นประเทศที่มีชื่อว่าร่ำรวย อุดมสมบูรณ์ และไม่รังเกียจคนต่างศาสนา และใช้ขีวิตอยู่จนสิ้นชีวิต


ขนมจากเฉลาขนมหวาน

มารี กีมาร์ มีรูปโฉมงดงาม เป็นที่ต้องตาต้องใจชายหนุ่มชาวยุโรปในกรุงศรีอยุธยา เป็นคนมีจิตใจงดงามซื่อสัตย์ ใจบุญสุนทาน มีเมตตา ดำเนินชีวิตอยู่ในกรอบของความดีงามมาโดยตลอด เป็นคาธอลิคที่เคร่งครัด เป็นผู้มีความอดทนเป็นเลิศ แม้จะเผชิญทุกข์ยากแสนสาหัสเพียงใด ก็ยืดหยัดสู้ไม่ยอมท้อถอย ความเป็นผู้มีจิตใจสูงส่ง และมีน้ำใจเมตตากรุณาปรานี ทำให้เป็นที่รักของคนทั่วไป ในขณะมีชีวิต มารี กีมาร์ ไม่ได้คิดแค่ความสุขส่วนตน หากแต่ห่วงใยไปถึงผู้อื่นด้วย ย้งรับอุปการะเด็กกำพร้าและลูกทาสที่เป็นลูกครี่งซึ่งมีแม่เป็นชาวพื้นเมือง พ่อเป็นชาวยุโรป ถูกบิดาทอดทิ้งอยู่กับมารดา ซึ่ง มารี กีมาร์ ได้ให้ความอุปการะหลายคน

มารี กีมาร์ ได้แต่งงาน กับคอนแสตนตินฟอลคอน เชื้อสายกรีกที่เข้ามารับราชการในกรุงศรีอยุธยาได้รับการโปรดปรานจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อยู่ที่เมืองลพบุรี
ชีวิตสมรสของ มารี กีมาร์ ไม่ราบรื่นนัก ด้วยคอนแสตนตินฟอลคอน มีนิสัยเจ้าชู้เลี้ยงดูหญิงสาวไว้หลายคนก่อนแต่งงาน แต่ส่งไปอยู่เมืองพิษณุโลก ส่วนลูกนั้น มารี กีมาร์ นำมาเลี้ยงเองเนื่องจากเธอเป็นคนใจบุญสุนทาน และแม้ว่าเมื่อแต่งงานแล้ว ฟอลคอนก็ยังนอกใจอยุ่เสมอ
การเป็นภรรยาขุนนางที่มีตำแหน่งสุง ทำให้ มารี กีมาร์ ต้องต้อนรับแขกที่เดินทางมาเป็นพระราชอาคันตุกะ และแขกในหน้าที่ราชการของสามี ต้องตกแต่งบ้านเรือนให้สมฐานะแบบตะวันตก ทำให้กลายเป็นผู้มีความรู้ในการปรุงอาหาร
หน้าที่การงานของ คอนแสตนตินฟอลคอน หรือออกญาวิชาเยนทร์ เจริญรุ่งเรืองอย่างมาก รวมทั้งทำการค้าควบคู่ไปด้วย และฟอลคอน ก็ให้ความเกรงอกเกรงใจ มารี กีมาร์ เป็นอย่างมาก



ก่อนแต่งงาน ฟอลคอน นับถือศาสนาโปรแตสแต้นท์ และยอมเปลี่ยนศาสนาเป็นคาธอลิค เพื่อหาทางใกล้ชิดราชทูตฝรั่งเศสซึ่งเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ต่อมาฟอลคอน ได้รับตำแหน่งสมุหนายก อัครมหาเสนาบดี แต่ไม่กี่วันต่อมาก็ถูกจับข้อหากบฎพร้อมชาวคริสต์และชาวฝรั่งเศส ถูกเรียกตำแหน่งคืนและริบทรัพย์ (เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสิ้นพระชนม์และสมเด็จพระเพทราชาปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์)
มารี กีมาร์ บุตรชาย 2 คน ญาติ และคนในบ้านถูกจับและถูกโบยให้บอกที่ซ่อนสมบัติและถูกจองจำที่คอกม้า ครอบครัวของฟอลคอน ถูกลดฐานะเป็นทาส ฟอลคอนถูกประหารชีวิต มารี กีมาร์ ถูกนำกลับกรุงศรีอยุธยา และส่งไปเป็นคนรับใช้ในวัง




หลวงสรศักดิ์เกิดความพอใจ มารี กีมาร์ แต่ มารี กีมาร์ ไม่ยินยอม พาบุตรชายลอบหนีจากกรุงศรีอยุธยา ไปที่ป้อมบางกอกที่ตั้งของกองทหารฝรั่งเศสเพื่อขอให้ส่งตัวไปอยู่ฝรั่งเศส แต่หัวหน้ากองทหารฝรั่งเศสเห็นควรส่งตัวคืนมาที่กรุงศรีอยุธยา ซึ่งออกญาโกษาธิบดี (ปาน) ได้รับตัว มารี กีมาร์ กลับด้วยความเมตตา
มารี กีมาร์ ถูกคุมขังอยู่ 2 ปี จึงได้รับการปลดปล่อย และให้ไปพักอาศัยอยู่ในค่ายโปรตุเกส มีหน้าที่ทำอาหารคาวหวานประเภทเครื่องกวนต่าง ๆ ส่งเข้าวังตามกำหนด

มารี กีมาร์ จำต้องประดิษฐ์ คิดค้นตำรับปรุงอาหาร ชนิดใหม่ ๆ ตลอดเวลา

การถูกลดเป็นทาสนั้น มารี กีมาร์ ไม่ได้รับความเดือดร้อนนัก ยังมีเกียรติ และได้รับความยุติธรรมต่าง ๆ ยังได้รับเงินค่าหุ้นของฟอลคอนจากบริษัทฝรังเศส หลังจากที่ มารี กีมาร์ ร้องทุกข์ไปยังพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14

ชีวิตของมารี กีมาร์ กลับฟื้นคืนดีได้อีกครั้งด้วยมีฝีมือในการปรุงอาหารคาวหวาน ได้เข้ารับราชการในพระราชวังตำแหน่งหัวหน้าห้องเครื่องต้น ดูแลเครื่องเงินเครื่องทองของหลวง เป็นหัวหน้าเก็บพระภูษาฉลองพระองค์และเก็บผลไม้ของเสวย มีพนักงานใต้บังคับบัญชา 2 พันคน มารี กีมาร์ ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นที่ชื่นชมยกย่อง
ระหว่างรับราชการประจำห้องเครื่องต้นนี่เอง ที่ มารี กีมาร์ ได้สอนการทำขนมหวาน จำพวก ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ทองพลุ ทองโปร่ง ขนมผิงและอื่น ๆ ให้แก่ผู้ร่วมทำงาน ซึ่ง สาว ๆ เหล่านั้นได้นำมาถ่ายทอดต่อยังครอบครัวของตัวเอง และกระจายไปในหมู่คนไทย มาจนในปัจจุบัน

มารี กีมาร์ ที่คนไทยรู้จักคือ ท้าวทองกีบม้า มีชีวิตอยู 4 แผ่นดิน คือรัชกาลสมเด็จพระนารายณย์มหาราช สมเด็จพระเพทราชา สมเด็จพระเจ้าเสือ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ
โดยใช้ชีวิตที่สงบสุข สบายพอสมควร กลางวันไปทำงานในพระราชวัง เย็นกลับมาบ้านพักในค่ายโปรตุเกส อยูกับหลาน ๆ ไปสวดมนต์ที่โบสถ์ ไปเยี่ยมญาติพี่น้องในเวลาว่าง

แม้ว่า มารี กีมาร์จะเป็นชาวต่างชาติ แต่ก็เกิด เติบโต แต่งงาน และใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยจนสิ้นชีพ มีสิ่งที่ตกทอดมาให้คนไทยรุ่นหลัง คือขนมหวาน ทองหยอด ทองหยิบ ฝอยทอง โดยดัดแปลงตำรับเดิมของโปรตุเกส และเอาวัตถุดิบท้องถิ่นที่มีในสยามเข้ามาผสมผสาน ซึ่งหลักๆได้แก่ มะพร้าว แป้งและน้ำตาล จนทำให้เกิดขนมใหม่ที่มีรสชาติอร่อย เช่น ทองม้วน สังขยา ขนมผิง กะหรี่ปั๊บ และขนมหม้อแกงที่ท้าวทองกีบม้าคิดค้นขึ้นจากไข่ขาว เดิมเรียกว่า ขนมกุมภมาศ หรือขนมหม้อทอง

ที่จังหวัดลพบุรี มีซากบ้านออกญาวิชาเยนทร์ และมารี กีมาร์ ใกล้พระราชวังลพบุรี เป็นที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองของคุณหญิงวิชาเยนทร์ มีบ้านพักรับรองคณะทูตและบาทหลวงฝรั่งเศส ภายในบ้านวิชาเยนทร์
มีซากเตาอบขนาดใหญ่ซี่งมารี กีมาร์ ใช้เป็นที่ปรุงอาหารต้อนรับแขกและเลี้ยงดูบริวาร

สันนิษฐานว่าชื่อตำแหน่ง ทองกีบม้า เพี้ยนมาจากชื่อ ดอญ่ากีมาร์

ข้อมูลจากหนังสือ ท้าวทองกีบม้า ราชินีขนมไทย และบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ของ มานพ ถนอมสรี



คอนสแตนตินฟอลคอน
เกิดที่แคว้นเซฟาโลเนีย (ประเทศกรีซ) โดยมีเชื้อสายของชาวกรีกและเวนิซ ฟอลคอนเข้าทำงานให้กับบริษัทอินเดียตะวันออก ของอังกฤษ
ปี พ.ศ. 2205 ฟอลคอนออกจากบ้าน และเดินเรือสินค้าไปค้าขายยังแดนต่างๆ

พ.ศ. 2218 คอนแสตนตินฟอลคอน เดินทางมายังสยามในฐานะพ่อค้า เนื่องจากฟอลคอนมีความสามารถพิเศษในการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศอย่างง่ายดาย (อนึ่ง นอกจากภาษากรีก ซึ่งเป็นภาษาแม่ และภาษาไทยแล้ว ฟอลคอนมีความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาโปรตุเกส ภาษามลายู) ฟอลคอนจึงเรียนรู้การใช้ภาษาไทยอย่างคล่องแคล่วในเวลาไม่กี่ปีและเข้ารับราชการในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในตำแหน่งล่าม นับเป็นชาวตะวันตกคนแรกที่เข้ามารับราชการในสมัยอยุธยา เป็นตัวกลางการค้าระหว่างอยุธยากับฝรั่งเศส ฟอลคอนได้กลายมาเป็นสมุหเสนาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาในเวลาอันรวดเร็ว
พ.ศ. 2225 ฟอลคอน แต่งงานกับ ดอญ่า มารี กีมาร์ (ท้าวทองกีบม้า)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น