วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ธุดงค์วัตร...ของวัดนาหลวง

ธุดงค์วัตร...ของวัดนาหลวง เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2555 พระจากวัดนาหลวงได้ธุดงค์มาที่ วัดหนองรี อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ในการนี้ หลวงปู่ ได้เดินทางมาที่วัดหนองรี เป็นกำลังใจให้พระธุดงค์ และเป็นการมาโปรดชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา และมาดูความก้าวหน้าในการก่อสร้างของวัดหนองรี ที่กำลังสร้างกุฏิสงฆ์ และสถานที่ที่ปฏิบัติธรรมด้วย ปกติพระภิกษุที่วัดนาหลวงจะออกเดินธุดงค์มาโดยตลอดทุกปี หลังออกพรรษาจนถึงก่อนช่วงเข้าพรรษา โดยเป็นพระภิกษุที่ต้องผ่านการคัดเลือก เพราะการออกธุดงค์ จะใช้เวลายาวนานโดยไปเป็นกลุ่ม


พลอยโพยมทราบข่าวจึงไปกราบนมัสการและฟังธรรม ทั้งที่ไม่เคยไปที่วัดหนองรีมาก่อน ทราบมาว่ามีญาติโยมมารอกันตั้งแต่กลางวัน รถราจอดล้นออกมานอกวัด ทั้งที่หมายกำหนดการหลวงปู่จะมาถึงวัดเวลา ประมาณสี่โมงเย็นถึง หกโมงเย็น พลอยโพยมจึงไปกะเวลาได้ฟังธรรม ปกติหลวงปู่จะแสดงธรรมเวลาประมาณสองทุ่ม พลอยโพยมจึงไปถึงวัดเวลาหนึ่งทุ่ม พอไปถึงก็สับสนกับผู้คนที่มานั่งคอยบนศาลาการเปรียญที่มีสองหลังเชื่อมต่อถึงกัน มีผู้คนเต็มศาลา เต็นท์ข้างล่างมีการ ใช้การถ่ายทอดภาพให้ญาติโยมได้เห็นหลวงปู่ และนั่งฟังธรรมที่เต็นท์ข้างล่างซึ่งเป็นเก้าอี้นั่งสบายกว่าการนั่งพื้นบนศาลา




พลอยโพยม ขึ้นไปบนศาลาการเปรียญหลังหนึ่ง แต่มองไปมองมาบนศาลาก็เดาได้ว่าหลวงปู่คงไม่นั่งแสดงธรรมที่ศาลาหลังนี้จึงลงมาและอ้อมไปขึ้นศาลาอีกหลังหนึ่งซึ่งผู้คนนั่งกันแน่นขนัด พลอยโพยมคิดว่าน้องชายและหลาน ๆ ที่มาถึงก่อนคงอยู่บนศาลาหลังนี้มีพระภิกษุองค์หนึ่งบอกว่า ที่นั่งเต็มแล้วคุณโยม ไปนั่งที่เต็นท์จะดีกว่า แต่พลอยโพยมซึ่งไปกับ ใบไผ่ ลูกชาย ดื้อที่จะขึ้นไป โดยกราบเรียนท่านว่ามีน้องและหลานอยู่ข้างบนแล้วแต่ลูกชาย บอกว่า เขาจะไปหาที่นั่งในเต็นท์ แม่ขึ้นไปคนเดียวแล้วกันเพราะคงไม่มีที่นั่งแล้ว




แต่พอขึ้นไปจริง ๆ ก็ไม่พบน้องชายและหลาน ๆ เก้ ๆ กัง ๆ แล้วก็นั่งแปะลงข้างช่องทางเดินที่เป็นทางเดินของหลวงปู่ และบนอาสนะกำลังมีพระภิกษุองค์อื่นแสดงธรรมอยู่ คนที่นั่งอยู่ก่อนก็ใจดี เขยิบที่ให้พลอยโพยมและบอกว่านั่งตรงนี้ก็ได้แบ่ง ๆ กันไป สักครู่ น้องชายและหลานที่นั่งในเต็นท์เห็นพลอยโพยมขึ้นมาบนศาลาเขาก็ตามหลังขึ้นมา ก็เลยนั่งแปะอยู่ริมช่องทางเดินหลังพลอยโพยม เวลาสองทุ่มหลวงปู่ก็ขึ้นมาแสดงธรรม




พวกเราจะพนมมือไว้จนหลวงปู่นั่งบนอาสนะเรียบร้อย พระภิกษุสงฆ์ นี่นั่งอยู่บนอาสนะ ก้มลงกราบหลวงปู่ พร้อมกัน ด้วย การกราบ 3 จังหวะ พร้อม ๆ กัน คือ อัญชลี วันทา อภิวาท หลังจากนั้นญาติโยม จึงกราบหลวงปู่พร้อม ๆ กัน ด้วย การ อัญชลี วันทา อภิวาท เช่นกัน ระหว่างที่ศีรษะจรดพื้นครั้งที่หนึ่ง เราจะพูดว่า พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งของเรา การกราบครั้งที่สองเราจะพูดว่า พระธรรมเจ้าเป็นที่พึ่งของเรา การกราบครั้งที่สาม เราจะพูดว่า พระสงฆ์เจ้าเป็นที่พึ่งของเรา ก่อนการแสดงธรรมจะมีพระภิกษุกล่าวรายงานหลวงปู่ว่า ในการแสดงธรรมครั้งนี้มีประชาชนมาจาก 27 จังหวัด (ส่วนใหญ่เป็นชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาเป็นกรุงเทพและปริมณฑล และอื่น ๆ รวมทั้งชาวฉะเชิงเทรา รวมผู้เข้าฟังการแสดงธรรมในคืนนี้ หนึ่งพันหกร้อยคนเศษ ( พลอยโพยมก็งงกับตัวเลขนี้ แต่พอตอนเช้ารุ่งขึ้นอีกวันจึงเห็นว่า มีโต๊ะลงทะเบียนสำหรับผู้มาร่วมงานอยู่ที่เต็นท์ข้างล่าง )





หลวงปู่แสดงธรรม ชั่วโมงเศษ เสร็จประมาณ 3 ทุ่ม นิด ๆ แต่ ญาติโยมที่เข้าไปถวายปัจจัย ถวายอัฐบริขาร เข้าแถวต่อกันยาวเหยียดเบียดเสียดกัน ซึงพลอยโพยมต่อแถวไม่ไหว เลยออกจากวัดมาเกือบสี่ทุ่ม เพราะตั้งใจว่า ในเช้าวันที่สอง จะไปกราบหลวงปู่ใหม่ หลังท่านฉันเช้าเสร็จก่้อนออกเดินทางต่อไปที่อื่นนั่นเอง




ในวันที่สอง พลอยโพยมมีญาติจากกรุงเทพ ฯ ตามมากราบสักการะ หลวงปู่ด้วย พลอยโพยมไปถึงวัดหนองรี ประมาณ 7 โมงเช้า สั่ง ทำขนมชั้น แสนอร่อยเจ้าเดิม ไปใส่บาตร โดยนำไปใส่ถาดวางบนโต๊ะที่วัดจัดไว้





เมื่อไปถึงวัดหนองรีพบว่า พระวัดนาหลวงและพระที่วัดหนองรี ออกเดินบิณฑบาต รอบ ๆ วัด ส่วนภายในวัด ก็จัดโต๊ะวางอาหารคาวหวาน ผลไม้ น้ำปานะ เหมือนที่วัดนาหลวง มากมาย รวมกับของที่บิณฑบาตด้วย จนต้องใช้คำว่า ล้นหลาม















ความศรัทธาของผู้คนชาวพุทธ ที่มารร่วม ในการจัดเตรียมของใส่บาตร ในวัดหนองรี





ของใส่บาตรที่ชาวบ้านรอบ ๆ วัด ใส่บาตรพระที่ออกเดินบิณฑบาต




บนศาลาการเปรียญ มีการแสดงธรรม ผู้คนก็นั่งฟังธรรมกัน






พระภิกษุุ บิณฑบาต ในวัด ที่ญาติโยม นำของมาวางจัดสำหรับการใส่บาตร






หลังจากพระภิกษุ รับของใส่บาตร ลงบาตร ครบหมดแล้ว ญาติโยม ก็สามารถรับประทานของที่เหลือ หรือจัดสรร กันนำกลับบ้านได้ ตามใจชอบ ส้วนใหญ่ น่าจะเป็นคนรอบ ๆ วัด ที่นำของกลับบ้าน ส่วนผู้ไปร่วมบุญ คงแค่ รับประทาน พออิ่มกันเท่านั้น





แต่พลอยโพยมเมื่อขึ้นไปบนศาลาการเปรียญ ก็ทราบว่า ไม่มีการจัดอาสนะให้หลวงปู่ ก็นึกว่าท่านคงไม่มาที่ศาลานี้แน่ ๆ พลอยโพยม มีพี่ชายคนโต ซึ่งบวชพระหลังจากจากสิ้นคุณแม่ละม่อม พระพี่ชาย บวชที่วัดผาณิตาราม แต่ออกไปจำพรรษาที่วัด สุขศรีงาม ที่วังน้ำเขียว เป็นวัดป่าสาขาหนึ่งของวัดนาหลวง พระพี่ชายก็ตามมาต้อนรับหลวงปู่ ที่วัดหนองรี นี้ด้วย ไปนมัสการถามพระพี่ชาย พระพี่ชาย บอกว่าท่านจะให้ญาติโยมเข้าสักการะที่หน้ากุฏิที่วัดหนองรี จัดรับรองท่าน พลอยโพยมก็ไม่รอทานอาหารเข้า ไปนั่งดักรอหลวงปู่ที่หน้ากุฎิรับรอง ซึ่งต้องเดินข้ามสะพานแขวนข้ามคลองด้านหลัง




การ เดินข้ามคลองถ้าข้ามพร้อมกันหลาย ๆ คน สะพานก็จะแกว่งไกวเมื่อถ่ายภาพ ภาพก็จะไหวสั่น อย่างนี้




ประมาณ สามโมงเช้า หลังหลวงปู่ฉันข้าวแล้ว ( พระวัดป่า จะฉันมื้อเดียวในวัน ) ท่านก็ออกมาให๋ญาติโยมได้สักการะ มีการแสดงธรรม แต่เน้นไปในในการแสดงธรรม โปรดพระภิกษุ วัดหนองรี เราชาวบ้านอาศัยฟังไปด้วย เพราะเป็นธรรมในเรื่องการปฏิบัติธรรม ชาวบ้านที่ปฏิบัติธรรม สามารถนำมาใช้กับตัวเองได้ หรือผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมก็นำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้




หลังจากนั้นก็เป็น การปฏิสันฐานเรื่องราวของวัดหนองรี จบแล้ว ญาติโยมก็เข้าไปถวายปัจจัย ส้วนผู้ที่อยู๋บนศาลาก็ตามมาสบทบที่ลานหน้ากุฏิ รับรองหลวงปู่ และหลวงปู่ มีกิจที่จังหวัดสระแก้ว ต้องเดินทางต่อ ส่วนคณะพระธุดงค์ ก็ ออกธุดงค์ ไปที่อื่นแต่อยู่ในภาคตะวันออกนี้ ส่วนหมายกำหนดการปีหน้า หลวงปู่จะไปจังหวัดชุมพร และจังหวัดอื่น ๆ ทางภาคใต้




การจะบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ของวัดนาหลวง จะต้องเตรียมตัวเข้านาคก่อนเป็นเวลา 3 เดือน นุ่งขาวห่มขาวในการฝึกปฏิบัติ โดยผ่านการตรวจสุขภาพ 13 ข้อ จากโรงพยาบาล (จังหวัดอุดรธานี) ต้องสอบผ่านการฝึกนี้ก่อนการบวชเป็นพระภิกษุของวัด และจะต้องจำพรรษาที่วัดนาหลวงอย่างน้อย ห้าพรรษา จึงจะสามารถไปจำพรรษาที่วัดอื่นต่อได้ นับเป็นกฎเหล็กของการบวชพระที่วัดนาหลวง ภาพข้างล่างนี้เป็นภาพการเดินบิณฑบาตประจำวันจากกุฎิที่พักมารับอาหารที่โรงทานที่มีการจัดเตรียมอาหารไว้ของวัดนาหลวง




ธุดงค์ ๑๓ หลังออกพรรษาก็ถึงคราที่พระภิกษุสงฆ์จะเที่ยวจาริกในที่ต่าง ๆ เพื่อหาสถานที่อันสัปปายะ เพื่อเจริญสมณธรรม รวมทั้งเผยแผ่ธรรม ซึ่งเรามักจะได้ยินว่าออก “ ธุดงค์ ” และมักจะนิยมเรียกพระสงฆ์ที่จาริกไปเช่นนี้ว่า “ พระธุดงค์ ” คำว่า “ ธุดงค์ ” นั้น พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)ได้ให้ความหมายไว้ในหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์และฉบับประมวลธรรมว่า ธุดงค์ หมายถึง องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส , ชื่อข้อปฏิบัติประเภทวัตร ที่ผู้สมัครใจจะพึงสมาทานประพฤติได้ เป็นอุบายขัดเกลากิเลส ส่งเสริมความมักน้อยสันโดษเป็นต้น มี ๑๓ ข้อคือ

๑. ปังสุกูลิกังคะ องค์แห่งผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรใช้เฉพาะแต่ผ้าบังสุกุล คือไม่รับจีวรจากทายก เที่ยวแสวงหาผ้าบังสุกุลมาเย็บย้อมทำจีวรเอง

๒. เตจีวริกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้ถือไตรจีวรเป็นวัตร คือ ถือผ้าเพียงสามผืนได้แก่ จีวร สบง สังฆาฏิ อย่างละผืนเท่านั้น ไม่ใช้จีวรนอกจากผ้าสามผืนนั้น

๓. ปิณฑปาติกังคะ องค์แห่งผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร คือ ไม่รับนิมนต์ หรือลาภพิเศษอย่างอื่นใด ฉันเฉพาะอาหารที่บิณฑบาตมาได้

๔. สปทานจาริกังคะ องค์แห่งผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับบ้านเป็นวัตร คือ รับตามลำดับบ้านตามแถวเดียวกัน ไม่รับข้ามบ้านข้ามแถว หรือเที่ยวบิณฑบาตไปตามตรอก ตามห้องแถวเรียวลำดับเรื่อยไปเป็นแนวเดียวกัน ไม่ข้ามไปเลือกรับที่โน้นที่นี่ตามใจชอบ

๕. เอกาสนิกังคะ องค์แห่งผู้ถือนั่งฉันที่อาสนะเดียวเป็นวัตร คือ ฉันวันละมื้อเดียว ลุกจากที่แล้วไม่ฉันอีกในวันนั้น

๖. ปัตตปิณฑิกังคะ องค์แห่งผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร คือ ถือการฉันเฉพาะในบาตรไม่ใช้ภาชนะอื่น

๗. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ องค์แห่งผู้ถือห้ามภัตที่เขานำมาถวายภายหลัง คือเมื่อลงมือฉันแล้ว มีผู้นำอาหารมาถวายอีก ก็ไม่รับ

๘. อารัญญิกังคะ องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร คือ ไม่อยู่ในเสนาสนะใกล้บ้านแต่อยู่ ป่าห่างจากบ้านอย่างน้อย ๒๕ เส้น

๙. รุกขมูลิกังคะ องค์แห่งผู้ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร ไม่อยู่ในที่มุงบัง

๑๐.อัพโภกาสิกังคะ องค์แห่งผู้ถืออยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร คือ อยู่เฉพาะกลางแจ้ง ไม่อยู่ในที่มุงบัง หรือแม้แต่โคนไม้ (ห้ามถือในฤดูฝน)

๑๑.โสสานิกังคะ องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร คือ อยู่แรมคืนในป่าช้าเป็นประจำ

๑๒.ยถาสันถติกังคะ องค์แห่งผู้ถือการอยู่ในเสนาสนะตามแต่เขาจัดให้ ไม่เลือกเสนาสนะเอาตามพอใจตัวเอง

๑๓.เนสัชชิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้ถือการนั่งเป็นวัตร คือถือนั่ง ยืน เดิน เท่านั้นไม่นอน

ธุดงค์ไม่ใช่บทบัญญัติทางวินัย ขึ้นกับความสมัครใจ มีหลักทั่วไปในการถือว่า ถ้าถือแล้วช่วยให้กรรมฐานเจริญ หรือช่วยให้กุศลธรรมเจริญ อกุศลธรรมเสื่อม ควรถือถ้าถือแล้วช่วยให้กรรมฐานเสื่อม หรือทำให้กุศลธรรมเสื่อม อกุศลธรรมเจริญ ไม่ควรถือส่วนผุ้ที่ถือหรือไม่ถือ ก็ไม่ทำให้กรรมฐานเจริญ หรือเสื่อม เช่น เป็นพระอรหันต์แล้วอย่างพระมหากัสสปะ เป็นต้น หรือคนอื่น ๆ ก็ตาม ควรถือได้ ฝ่ายแรกควรถือในเมื่อคิดจะอนุเคราะห์ชุมชนในภายหลัง ฝ่ายหลังเพื่อเป็นวาสนาต่อไป

อนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงตั้งพระมหากัสสปเถระ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านสมาทานธุดงค์

ที่มาของข้อมูล http://www.kanlayanatam.com/sara/sara71.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น