วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ปลาตะกรับ

ปลาตะกรับ



ภาพจาก วิกิพีเดีย

ปลาตะกรับ

ชื่อสามัญอังกฤษ มีชื่อเรียกหลายชื่อเช่น: Spotted scat, Green scat,spadefish, spotted spadefish, butterfish, และ spotted butterfish)

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Scatophagus argus

อยู่ในวงศ์ปลาตะกรับ (Scatophagidae)

ปลาตะกรับเป็นปลาน้ำเค็มชนิดหนึ่ง

ลักษณะทั่วไป

มีรูปร่างสั้น แบนข้างและกว้างมาก หัวทู่ ปากเล็ก หางมน เกล็ดเล็ก เป็นแบบสาก สีพื้นลำตัวมีสีแตกต่างกันมากอาจเป็นสีเขียว, สีเทาหรือสีน้ำตาล ครึ่งบนของลำตัวสีเข้มกว่าและมีแถบสีเทาเข้มหรือดำพาดขวางหลายแนวและแตกเป็นจุดที่ด้านล่างหรือเป็นแต้มเป็นจุดทั่วตัวดูล้ายเสือดาว ครีบต่าง ๆ มีสีเหลืองอ่อนอมเทา มีครีบคู่แผ่ออกได้ในลักษณะคล้ายพัด ลูกปลาตะกรับมีสีสันสวยงาม จึงเป็นปลาสำคัญในตลาดปลาสวยงามทั้งในและต่างประเทศ

ปลาตัวผู้จะมีหน้าผากโหนกนูนกว่าตัวเมียแต่ขนาดลำตัวจะเล็กกว่าเล็กน้อย เส้นก้านครีบหลังชิ้นที่ 4 จะยาวที่สุด ขณะที่ตัวเมียเส้นก้านครีบหลังเส้นที่ 3 จะยาวที่สุด บริเวณส่วนหัวของตัวเมียบางตัวจะเป็นสีแดง โดยลักษณะดังกล่าวจะเห็นได้ชัดเจนเมื่อปลามีความยาวมากกว่า 4 นิ้วขึ้นไป ถิ่นอาศัย

มีการกระจายพันธุ์กว้างขวาง บริเวณชายฝั่งในเขตชายฝั่งทะเลเขตอบอุ่น พบตั้งแต่ทวีปแอฟริกา, ทะเลแดง, เอเชียใต้, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ซูลาเวซี, อินโดนีเซีย ตลอดจนถึงโซนโอเชียเนีย

ในประเทศไทยมีพบอยู่ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ปลาตะกรับเป็นปลาทะเลที่สามารถปรับตัวให้อาศัยอยู่ในน้ำกร่อยหรือน้ำจืดสนิทได้ โดยปกติจะอาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเลที่เป็นพื้นโคลนใกล้ปากแม่น้ำหรือป่าชายเลน เป็นสัตว์น้ำที่อพยพไปๆมาๆ ระหว่างแหล่งน้ำจืดกับน้ำทะเล

สำหรับปลาในบางพื้นที่มีความหลากหลายทางสีมาก เช่น ปลาบางกลุ่มจะมีลายพาดสีดำเห็นชัดเจนตั้งแต่ส่วนหัว และลำตัวมีสีแดงเข้มจนเห็นได้ชัด ถูกจัดให้เป็นชนิดย่อยที่มีชื่อเรียกว่า "ตะกรับหน้าแดง" (S. a. var. rubifrons)



ปลาตะกรับหน้าแดง ภาพจาก วิกิพีเดีย

ในปี พ.ศ. 2547 ในเอกสารสัมนาวิชาการประมง ปี พ.ศ. 2547 มีรายงงานว่า ปลาตะกรับในทะเลสาบสงขลาสามารถพบได้ตลอดปี มี 2 ชนิด คือคือปลาตะกรับเขียว ( S.argus ) อีกชนิดคือ ปลาตะกรับหัวแดง ( S. tetracanthus sirimontaporn, 1984) (ทะเลสาบสงขลามีความเค็มของน้ำที่ผันแปรสูง)

หมายเหตุ พลอยโพยมไม่แน่ใจกับข้อมูลของปลาตะกรับหน้าแดงและปลาตะกรับหัวแดง ทั้งชื่อไทยและชื่ออังกฤษหากมีผู้จะใช้ข้อมูลนี้ กรุณาตรวจสอบใหม่)

นิสัย

เป็นปลาที่อาศัยอยู่เป็นกลุ่ม เป็นปลาที่มีนิสัยก้าวร้าวพอสมควร ตกใจง่าย ไม่ชอบแสงจ้าหรือสว่างมาก หากินอยู่ตามใต้ผิวน้ำไปจนถึงพื้นท้องน้ำ

อาหาร

เป็นปลาที่กินทั้งพืชและสัตว์ เช่น ลูกกุ้ง ลูกปลา สัตว์หน้าดิน แพลงก์ตอน และสาหร่ายที่เกาะตามสิ่งต่าง ๆ

ขนาด

ขนาดเมื่อโตเต็มที่ยาวได้ถึง 38 เซนติเมตร

ประโยชน์

นิยมตกเป็นเกมกีฬาและใช้รับประทานเป็นอาหารเป็นที่นิยมอย่างมากโดยเฉพาะในภาคใต้ และเป็นปลาที่มีราคาค่อนข้างแพง นอกจากไทยแล่้วยังเป็นที่นิยมบริโภคของชาว ฟิลิปปินส์ ใต้หวัน อีกด้วย

และยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาตู้สวยงามอีกด้วย โดยในที่เลี้ยง ปลาตะกรับเป็นปลาที่สามารถทำความสะอาดตู้ได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถกินตะไคร่น้ำและสาหร่ายบางชนิดได้

ชื่ออื่น ๆ เรียกว่า "กระทะ" หรือ "แปบลาย" ในภาษาใต้เรียกว่า "ขี้ตัง" และชื่อในแวดวงปลาสวยงามจะเรียกว่า "เสือดาว" ตามลักษณะลวดลายบนลำตัว

วงศ์ปลาตะกรับมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ใน 2 สกุล (วิกิพีเดีย )

ที่พบในไทยคือปลาตะกรับ (Scatophagus argus)

ที่มาของข้อมูล วิกิพีเดีย

และรายงานการสัมนาวิชาการประมงประจำปี 2547



ภาพจากอินเทอร์เนท

ความต้องการและราคาปลาในท้องตลาด

คนไทยนิยมบริโภคปลาชนิดนี้มากบริเวณภาคใต้  โดยเฉพาะปลาตะกรับที่จับได้จากทะเลสาบสงขลา  จะเป็นอาหารเมนูเด็ดตามร้านอาหารและภัตตาคารที่มีชื่อเสียงหลายแห่งในจังหวัดสงขลา  ผู้นิยมบริโภคอาหารทะเลจะรู้จักกันดีว่าหากไปรับประทานอาหารตามร้านต้องไปเนิ่น ๆ เพื่อรีบสั่งแกงส้มปลาตะกรับ หรือปลาขี้ตัง เพราะหากไปช้าจะถูกจองหมด สำหรับชาวประมงแล้ววันไหนจับปลาตะกรับได้มากก็จะสบายใจเพราะสามารถขายได้ราคาดีเพราะตลาดมีความต้องการสูง  ดังนั้นในปี 2550  ราคาปลาตะกรับที่มีไข่ขนาด 5 ตัว/กก. ราคากก.ละ 300-350 บาท ขนาด 10 ตัว/กก. กก.ละ 250-300 บาท 15 ตัว/กก. กก.ละ 150-200 บาท

ขนาดที่นำมาปรุงอาหารมีขนาดเท่าฝ่ามือเท่านั้นจะนำไปปรุงเป็นแกงส้ม  ต้มส้ม โดยทำความสะอาดแล้วหั่นครึ่งตัวใส่ลงในน้ำแกงส้มที่เตรียมไว้ หรือไม่ก็นำมาทอดกรอบทั้งตัวราดด้วยเครื่องผัดต่าง ๆ ตามชอบ

เมื่อมีผู้บริโภคมากจึงมีการจับมาก จนทรัพยากรในธรรมชาติลดลงอย่างต่อเนื่อง ปลาตะกรับจึงนับว่าเป็นปลาที่ใกล้สูญพันธุ์จากทะเลสาบสงขลา จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาวิจัยการเพาะขยายพันธุ์ปลาชนิดนี้เพื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติทดแทนส่วนที่หายไปเพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และในอนาคตหากกรมประมงสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ในเชิงพาณิชย์  การเพาะเลี้ยงปลาตะกรับก็จะเป็นปลาทะเลชนิดใหม่ให้เกษตรกรเลี้ยงเป็นอาชีพ



ภาพจากอินเทอร์เนท

ความสำเร็จเบื้องต้นในการผสมพันธุ์เทียมปลาตะกรับของ สวช. สงขลา

สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง   สำนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง  กรมประมง  ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาตะกรับครั้งแรกเมื่อ วันที่ 7 กันยายน 2550

โดยใช้วิธีการผสมพันธุ์เทียม  พ่อพันธุ์ขนาด 40-50 กรัมและแม่พันธุ์ขนาด 130-200 กรัม คัดเลือกแม่พันธุ์ที่มีขนาดไข่  400-450 ไมครอน  มาฉีดฮอร์โมน suprefact เข้มข้น 15-20 µg/kg  หลังจากฉีดฮอร์โมนตั้งแต่ 32 - 38 ชั่วโมงสามารถรีดไข่ได้ ขึ้นอยู่กับระยะของไข่ของแม่พันธุ์ที่นำมาฉีด  ไข่ที่พร้อมผสมกับน้ำเชื้อมีขนาดตั้งแต่ 600-700 ไมครอน  เมื่อผสมไข่กับน้ำเชื้อการปฏิสนธิจะเกิดขึ้นหลังผสม 30 นาที ซึ่งจะนับเมื่อไข่เริ่มมีการแบ่งเป็น 2 เซลล์  จากนั้นตัวอ่อนจะพัฒนาไปเรื่อยๆเป็นระยะ 128 เซลล์ในเวลา 90  นาที เป็นระยะบลาสตูล่า (blastula) ภายในเวลา 2 ชั่วโมง 30  นาที       ระยะแกสตรูล่า (gastrula) ภายใน  5 ชั่วโมง  ระยะนิวรูล่า (neurula) ภายใน 8 ชั่วโมง และฟักออกเป็นตัวภายในเวลา 16-19 ชั่วโมง  ซึ่งสถาบันฯ ได้ทำการฟักแล้วจำนวน 3 รุ่น ได้ เปอร์เซ็นต์การฟัก 79-88 %  การอนุบาลลูกปลา  3 รุ่น ได้อัตรารอดของลูกปลาแต่ละรุ่นเป็น 7.3-22.7%  

ที่่มาของข้อมูล

http://www.coastalaqua.com/webboard/index.php?topic=681.0

ปลาตะกรับและชาวบางกรูด



เป็นปลาที่จะได้พบเห็นในหน้าน้ำกร่อย บางทีก็ติดเข้ามาในอวนที่รอกุ้งกะปิในแม่น้ำ สำหรับที่บ้านพลอยโพยมมีขอนต้นตาลทอดยาวอยู่ในเลน นอกจากน้องชายจะลงไปงมกุ้งก้ามกรามในช่วงน้ำลงตามซอกของขอนไม้ หรือโพรงที่รอยต่อของขอนหรือปลายสุดของขอน บางทีก็จะได้ปลาตะกรับด้วย แต่เนื่องจากจะได้ปลาตะกรับโดยการล้อมซั้งหรืองมปลายขอน ครั้งละไม่กี่ตัว เอามาประกอบอาหารก็ไม่พอสำหรับคนในบ้าน ปลาตะกรับก็เลยไม่เคยมีเมนูของแม่ละม่อมอีกชนิดหนึ่งเหมือน ปลาหลาย ๆ ชนิดที่ได้กล่าวถึงมาแล้ว (ครอบครัวของพลอยโพยม มีสมาชิกในครอบครัวมากคน)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น