น้ำค้างกลางหาว คราวคืนเพ็ญ
ภาพจากเรือนลำพูรีสอร์ท
ภาพจากเรือนลำพูรีสอร์ท
จันทร์ค้างฟ้า
การกินน้ำค้างกลางหาว
พลับจีนแห้ง หั่นบาง วางชามใหญ่
น้ำเดือดใส่ ให้พอ หน่อลูกหลาน
น้ำตาลกรวด กวนหมาย ละลายนาน
เจือรสหวาน การนี้ ราตรีมา
นภาลัย ไร้ฝน จนคืนค่ำ
รอสิ่งล้ำ น้ำค้าง กลางเวหา
แสงเงินยวง ดวงเพ็ญ เย็นยวนตา
อย่าชักช้า ชามตั้ง ยังนอกชาน
จากดึกดื่น คืนพ้น จนใกล้สาง
หยดน้ำค้าง พร่างพรม ผสมสาน
ยายขาปลุก ลุกตื่น ต่างชื่นบาน
กินตำนาน น้ำค้าง กลางหาวกัน
เจ็บคออยู่ รู้เบา บรรเทาบ้าง
น้ำเสียงสร้าง เซาะใส กระไรนั่น
มิค่อยบ่อย น้อยพลับ เลือนลับพลัน
ขอกล่าวขวัญ วันก่อน นึกย้อนดู
คุณยายชื่อ สมใจ ใช่ยายขา
ท่านสอนว่า ถ้าคำ เรียกนำหรู
คุณยายไซร้ ไม่เหมาะ แม่โฉมตรู
คะขาอยู่ รู้ที่ อย่ารีรอ
เราชาวบ้าน บางกรูด พูดไพเราะ
เพียงเสนาะ เพราะเสียง สำเนียงส่อ
หลานหญิงเขา ขานหา ยายขาพอ
หลานชายต่อ ตามอย่าง สร้างตำนาน
เหล่าหลานยาย หลานย่า ยายขาหมด
แล้วเลี้ยวลด จดเหลน เป็นคำขาน
ชวดขาครับ นับเนื่อง เรื่องวันวาน
ทุกคนพาน พ้องตาม เป็นความจริง
จากหนังสือบทกวี วันวานของบางกรูด
สืบเนื่องเรื่องน้ำตาล สำหรับน้ำตาลกรวด สมัยเราจะไม่ค่อยพบเห็นและได้กินกันเท่าไรนัก แต่สมัยที่คุณตาของพลอยโพยมยังมีชีวิตอยู่ พวกน้า ๆ และพี่ ๆ รุ่นโต จะได้กินน้ำตาลกรวดผสมน้ำค้างกลางหาวกันบ่อย ๆ เนื่องจากระยะนั้นยังมีเรือสินค้านำลูกพลับสดและลูกพลับแห้งมาขายที่ตลาดโรงสีล่าง พอถึงรุ่นพลอยโพยมโตขึ้นมาจะได้กินลูกพลับส่วนใหญ่เป็นลูกพลับแห้งเพราะมีคนซื้อมาจากกรุงเทพฯ จึงได้กินน้ำค้างกลางหาวน้อยมาก แต่ถ้าเป็นเต้าทึงก็จะได้กินบ่อย เต้าทึงนี้พลอยโพยมรู้สึกว่าถ้าไม่ใส่พลับแห้งรสชาติรู้สึกว่าแปร่ง ๆ ปร่า ๆ
การจะกินน้ำค้างกลางหาวได้ต้องใช้ภูมิปัญญาเพราะถ้าเอาขันหรือเอาชามไปรองน้ำค้างทั้งคืนก็ได้นิดเดียว คุณยายมีหลานหลายคนจะกินได้ทั่วถึงต้องตั้งชามวางกลางนอกชานกันหลายชาม และให้กินน้ำค้างเพียว ๆ คงได้แค่จิบ ๆ ติดลิ้น แต่ถ้าใช้วิธีที่คุณยายทำ โดยผ่าครึ่งพลับจีนแห้งแล้วซอยเป็นชิ้นบางยาวตามลักษณะของลูกพลับ พอหัวค่ำก็เอาน้้ำร้อนเดือดชงราดลูกพลับแห้งหั่นซอยในชาม แล้วใส่น้ำตาลกรวดและคนให้น้ำตาลกรวดละลายหมด ดังนั้นน้ำตาลกรวดคงต้องทำให้ เม็ดน้ำตาลเล็กที่สุด จะได้ไม่ต้องคนกันนาน น้ำตาลกรวดละลายดีแล้ว รอว่าน้ำค้างตกแล้วก็ยกชามนี้ออกไปตั้งรองน้ำค้าง พวกเด็ก ๆ ก็เข้านอนตามปกติ จวนฟ้าสางคุณยายก็จะปลุกเด็กตื่นมากินน้ำพลับแห้งชงผสมน้ำตาลกรวดเมื่อตอนหัวค่ำซึ่งมีน้ำค้างที่หยาดหยดลงมาทั้งคืน หรือค่อนคืน ลูกพลับแห้งเองก็มีรสหวานและกลิ่นหอมในตัวเอง
เป็นความเชื่อของคุณยายว่ากินน้ำค้างแล้ว อาการไอ ระคายคอ เจ็บคอ จะทุเลาเบาคลาย และการกินน้ำค้างจะทำให้หลาน ๆ เสียงเพราะเสนาะใส (ถือว่าเป็นความเชื่อส่วนบุคคล)
จะกินน้ำค้างได้ก็ต้องรอช่วงต้นฤดูหนาว นอกจากไม่มีฝนแล้วน้ำค้างก็จะมีมาก
แมลงทับ
ภาพจากhttp://www.baanmaha.com/community/thread33393.html
ยังมีสัตว์ที่กินน้ำค้างเป็นอาหารนั่นคือหิ่งห้อยแมลงมห้ศจรรย์
นอกจากนี้ยังมีแมลงทับอีกชนิดที่มีวงจรชีวิตที่แปลกประหลาดกล่าวคือ
แมลงทับจับคู่ผสมพันธุ์ในเวลากลางวันใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการยอมรับของเพศเมีย เมื่อผสมพันธุ์เสร็จตัวเมียวางไข่ที่บริเวณโคนต้นพืชอาหาร ลึกลงในดินประมาณ 1-2 เซนติเมตร กว่าจะเป็นแมลงทับแต่ละตัวได้ แมลงทับต้องใช้เวลาอาศัยอยู่ในดินนานถึง 2 ปี เมื่อเป็นตัวเต็มวัยก็มีชีวิตนานแค่ 1-3 สัปดาห์เท่านั้น
ซึ่งแมลงทับต้องคอยจนกว่าฝนจะตกหนัก และน้ำฝนไหลลงไปจนถึงปลอกดินแมลงทับจึงดันปลอกดินให้เปิดออก เดินขึ้นมาจากใต้ดินและเจาะผิวดินเป็นรูปกลมดันตัวเองขึ้นจากพื้นดิน เมื่อมีแสงแดดจึงบินไปกินอาหาร ผสมพันธุ์ และวางไข่ จำนวนแมลงทับในแต่ละปีมักจะมีความสัมพันธ์กับปริมาณน้ำฝนที่ตกในช่วงเข้าพรรษา ถ้ามีอากาศแห้งแล้งและปริมาณน้ำฝนน้อย จำนวนแมลงทับก็จะลดน้อยลงไปด้วย
ปกติพบแมลงทับเพียงปีละครั้งในช่วงฤดูเข้าพรรษา ระหว่างเดือน กรกฎาคม ถึง ตุลาคม
ที่บางกรูด แมลงทับจะอยู่คู่กับต้นมะขามเทศ และกินใบอ่อนของมะขามเทศ เหมือนหิ่งห้อยที่คู่กับต้นลำพู มะขามเทศและลำพูมีความคล้ายคลึงกันคือเป็นต้นไม้ที่ใบมากและใบเล็ก แต่ในท้องถิ่นอื่น ๆ ทั้งหิ่งห้อยและลำพู อาจจะมีคู่เป็นต้นไม้อื่น ๆ ตามถิ่นนั้น ๆ
คำเรียกขานของคนบางกรูดก็มีการเรียกขานที่แปลก ๆ เป็นต้นว่าคุณยายของพลอยโพยมนั้น เราไม่ได้เรียกคุณยายกันแต่เรียกว่ายายขา เนื่องจากพี่รุ่นโต ๆ เป็นหลานยายและเป็นผู้หญิงติดเรียงกันมาสี่คน พี่ ๆ เรียกท่านว่ายายขา หลานชายก็เรียกตามพี่ผู้หญิงว่ายายขาไปด้วย ไป ๆ มา ๆ หลายย่าก็เรียกยายขาตามจนชั้นเหลนหญิงเหลนชายก็เรียกท่านเป็นชวดขา
มีน้าสีนวลลูกน้องชายยายขาจะต้องเรียกน้องสาวคนเล็กของยายขาว่า อา แต่น้าสีนวลก็เรียกท่านว่า ขา ( ขา เฉย ๆ เลย) และเรียกยายขา ว่าป้าขา
บ้านญาติคือพี่อุทัยวรรณเจ้าของขนมต้องใจเรียกคุณแม่ตัวเองว่า แม่จ๋า แม่ของพลอยโพยมก็เรียกท่านว่า เจ้จ๋า เด็ก ๆ บ้านพลอยโพยมก็เรียกคุณแม่พี่อุทัยวรรณ ว่า ป้าจ๋า
ทางฝ่ายน้องชายพ่อของพลอยโพยม ลูก ๆ ของอาท่านนี้เรียกพ่อตัวเองว่า จ๋า ( จ๋า เฉย ๆ ไม่ได้เรียกพ่อจ๋า ) แล้วหลานปู่หลานตาก็เรียกอาท่านนี้ว่า จ๋า ( จ๋า เฉย ๆ อีกเหมือนกัน )
มีคุณยายสะใภ้อีกท่านเรียกแม่ของพลอยโพยมว่า หนูม่อม แม่ละม่อมก็เป็นหนูม่อมมาจนอายุ 80 กว่าปี ก็ยังถูกเรียกว่าหนูม่อม จนคุณยายสะใภ้คนเรียกท่านสิ้นไป
แม่ละม่อมของพลอยโพยมเรียกเพื่อนสมัยเรียนหนังสือว่า หนูสึ่ง ลูก ๆ แม่ละม่อม เรียกเพื่อนผู้หญิงคนนั้นของแม่ละม่อมว่า หนูสึ่งไปด้วย
ที่โพงพางของคนจีนชื่อนายอื้งเรียกลูกสาวคนสุดท้องว่าหนูอี่ หนูอี่คนนี้ popula มาก เพราะคนทั้งตลาดและตามบ้านเรือนคนอื่น ๆ เรียกหนูอี่กันทั้งนั้่้นรวมทั้งพลอยโพยมก็เรียกหนูอี่ที่เป็นรุ่นพี่หลายปีว่าหนูอี่ด้วย
สำหรับครอบครัวย่อยของพลอยโพยมเอง พลอยโพยมมีน้องชาย ลูกของน้องชายต้องเรียกพลอยโพยมว่า ป้า แต่กลายเป็นว่าต้วน้องชายเองกลับเรียกพี่สาวตัวเองว่า ป้า ตามลูก ๆ รวมทั้งพี่ชายที่เป็นโสดของพลอยโพยมก็พลอยเรียกพลอยโพยม ว่า ป้า ไปด้วย ส่วนพลอยโพยมก็เรียกน้องชายว่า น้า เหมือนที่ลูก ๆ ของพลอยโพยมเรียกน้าชาย พลอยโพยมเรียกสามีตัวเองว่า ลุง ตามหลาน ๆ เรียกหา คนอื่น ๆ ได้ยินคนบ้านนี้เรียกสรรพนามกันแล้วงงไปหมดว่านี่เขาเรียกอะไรกัน ลำดับญาติกันแบบไหนก็อธิบายไม่ถูกเหมือนกันเพราะมันเกิดเองโดยอัตโนมัติ มิหนำซ้ำที่บ้านสามีของพลอยโพยมซึ่งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำบางปะกงก็เรียกขานกันคล้าย ๆ แบบนี้
จะว่าคนบางกรูดสับสนลำดับญาติไม่ถูกก็ไม่ใช่แน่ ถือว่าเป็นความนิยมของกลุ่มคนบางกลุ่มในชุมชนบางกรูดแล้วกัน
ไหน ๆ ก็ไหนแล้ว พลอยโพยมขออนุญาต แนะนำตัวและครอบครัวคุณตาบุญ คุณยายสมใจ พัวพันธุ์ บ้านหน้าวัดบางกรูด เสียเลย
ยายขาเป็น ประธาน ที่บ้านใหญ่
คุณตาไป ไกลลับ ท่านดับสูญ
มีลูกหลาน สานสืบ สายตระกูล
เราพร้อมมูล พูนสุข ทุกคืนวัน
กาญจนา นั้นหนึ่ง ซึ่งหลานรัก
แจ้งประจักษ์ จงกล คนขยัน
สุมาลี ที่เฟื่อง เรื่องจำนรรจ์
ร้องรำนั้น เสาวณีย์ ดีกว่าใคร
เบญจลักษณ์ จักรพล นุชนารถ
สืบทายาท ป้าละออ ก็ป้าใหญ่
น้องป้าออ อ๋อแม่ ละม่อมไง
มีหลานให้ ห้อมล้อม พร้อมห้าคน
อรรถโกวิท คนรอง น้องพี่ตี๋
คนโตนี้ อโณทัย ใฝ่กุศล
ตกแม่น้ำ นานหาย แทบวายชนม์
ได้ชื่อตน อมร พรสมญา
นพฤทธิ์ ฤทธิ์เด่น เห็นจะดื้อ
น้องเล็กหรือ ฉัตรชัย มิใคร่ซ่า
มีพี่น้อง สองขวัญ กัลยา
เป็นหลานย่า ทรงลักษณ์นี้ พี่ทรงพร
น้าสะใภ้ ทองใบ ได้ร่วมบ้าน
คนช่วยงาน เงาชัด รัตน์ สมร
เขยเข้าชาน ขานอยู่ ครูมังกร
ต่างหมุนจร แจ้งบุญ ของคุณยาย
บ้านโบราณ นานหลาย คุณยายเล็ก ( ประไพ เจริญวงษ์ )
น้าอเนก เนารวม ร่วมเชื้อสาย
อายุสั้น น้านันท์ นั้นวางวาย
อีกน้าชาย ชื่อแอ๋ว แล้วพี่ชวน
รวมสองบ้าน ชานรั้ว ครอบครัวหนึ่ง
คลุกคลีซึ่ง สุขนี้ ที่บ้านสวน
มาเรียนครู อยู่นี่ น้าสีนวล
พี่อ๊อดด่วน ดับไป ใจสะเทือน
ลุงโตผู้ รู้ใจ ได้ใช้สอย (ลูกจ้างของยายขา)
ป้าเชื่อมค่อย พลอยมา ครางานเกลื่อน ( แม่ลุงช้อย)
เก็บงานสวน ส่วนใหญ่ กว่าในเรือน
ไม่แชเชือน ช่วยกัน วันที่มา
ยังลุงช้อย ลูกนา กับน้านุ้ย
ออกไปลุย ลมแดด ที่แผดกล้า
ลุงช้อยไกล สุดกู่ อยู่ปลายนา
น้านุ้ยหนา แนวชิด ติดสวนเอย
น้ามิ่งขวัญ ผันย้าย เหย้าเรือนใหม่
บ้านท่าไข่ ให้หลาน ขานเฉลย
พี่เผดิม อภินันทน์ อันคุ้นเคย
ยังทรามเชย ชิดเรียง เคียงกันมา
หนึ่งสุดา พยาบาล งานสร้างสรรค์
เป็นหมอฟัน มาลี มีเงินหนา
แล้วกุนตี ศรีวรรณ สี่ขวัญตา
มาเยี่ยมย่า ยามเยาว์ เยือนแย้มยล
น้าเล็กสุด รุดหน้า ฝ่าความฝัน
วิจิตรนั้น อันคุณหมอ หนึ่งหน่อผล
เป็นน้องนุช สุดสาย ศศิวิมล
ขอเอ่ยวน เวียนหา ลูกป้าออ
กิตติพงษ์ พ้นผ่าน กาลจากก่อน
ทศพร สุนันทา ครานั้นหนอ
ไม่ร่วมบ้าน ชานเรือน ร่วมเคียงคลอ
แต่เกิดก่อ ผูกพัน กันเรื่อยมา
ยี่สิบสี่ สืบสาน หลานยายขา
สี่ลูกยา คุณตาบุญ อบอุ่นหนา
ยี่สิบห้า เหลนขวัญ ขอพรรณนา
อักษรา เรียงราย สาย “ พัวพันธุ์ ”
โดย พลอยโพยม หลานคนที่ ๑๗