โรงเรียนดััดดรุณี ฉะเชิงเทรา
โรงเรียนดัดดรุณี ได้รับพระราชทานนามโรงเรียน “ดัดดรุณี” จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘
ด้วยเงินงบประมาณแผ่นดิน ทำพิธีเปิดโรงเรียนเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๘
ในครั้งประเทศไทยแบ่งการปกครองส่วนภูมิภาคออกเป็นมณฑล เรียกว่า โรงเรียนสตรีประจำมณฑลปาจิณ “ดัดดรุณี” จัดเป็นโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลปราจีนบุรีด้วยประสงค์จะจัดการศึกษา การอบรมสั่งสอนให้เป็นตัวอย่างแก่จังหวัดใกล้เคียงที่อยู่ในเขตมณฑลเดียวกัน ครั้งแรกเปิดรับนักเรียนทั้งหญิง ชาย ตั้งแต่ชั้นมูลจนถึงชั้นมัธยมศึกษา ในส่วนของนักเรียนชายเมื่อเรียนจบชั้นประโยคประถมศึกษาแล้ว ถ้าประสงค์จะเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาก็ส่งต่อให้ไปเรียนในโรงเรียนชาย คือ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ (ปัจจุบัน คือ โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์)
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ กระทรวงศึกษาธิการ เห็นว่าโรงเรียนประชาบาลที่จัดตั้งตามชนบทต่าง ๆ ขาดครูที่จะออกไปทำการอบรมสั่งสอนนักเรียน และโรงเรียนบางแห่งก็เป็นที่กันดาร เพื่อให้ได้ครูออกไปทำการสอนตามโรงเรียนประชาบาลต่าง ๆ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูขึ้นอีกแผนกหนึ่งในโรงเรียนสตรีประจำมณฑลปาจิณ “ดัดดรุณี” รับนักเรียนที่สำเร็จชั้นประถม ๓ และประถม ๔ เข้าเป็นนักเรียนฝึกหัดครูหลักสูตร ๓ ปี เมื่อเรียนจบหลักสูตรจะส่งออกไปเป็นครูตามภูมิลำเนาเดิม เรียกว่าครูประกาศนียบัตรจังหวัด หรือเรียกว่า ครูว. จัดการศึกษาจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๕ โรงเรียนฝึกหัดครูจึงแยกออกไปเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูฉะเชิงเทรา (ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์)
พ.ศ. ๒๔๘๓ รัฐบาลเปิดโรงเรียนประชาบาลแพร่หลายออกไปในชนบท และเอกชนตั้งโรงเรียนราษฎร์ขึ้น โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา “ดัดดรุณี” มีจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น สถานที่ คับแคบจึงยุบชั้นประถมศึกษา เริ่มรับเฉพาะนักเรียนหญิงเข้าเรียนชั้นมัธย ๑ เป็นต้นไปจนถึงชั้นมัธยม ๖
พ.ศ. ๒๔๘๗ * ๒๔๙๕ จัดตั้งโรงเรียนอนุบาลขึ้นอีกแผนกหนึ่ง ซึ่งภายหลังแยกไปเป็นโรงเรียนอนุบาลวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ ในปัจจุบันนี้
พ.ศ. ๒๔๙๖ เข้าร่วมกับองค์การปรับปรุงส่งเสริมการศึกษาจังหวัดฉะเชิงเทรา
โดยในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ องค์การสหประชาชาติร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ประสงค์จะปรับปรุงส่งเสริมการศึกษาของประชาชนให้มีมาตรฐานสูงขึ้น จึงเลือกให้จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นศูนย์กลางการปรับปรุงการศึกษาเพื่อเป็นตัวอย่างแก่จังหวัดอื่น ๆ เรียกว่า องค์การปรับปรุงส่งเสริมการศึกษาจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับการช่วยเหลือในด้านการเงิน การแนะแนว การปรับปรุงวิธีการสอนในวิชาการต่าง ๆ อุปกรณ์การสอน และการอนามัยจากองค์การนี้เป็นอันมากทำให้การจัดการศึกษาเจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว
พ.ศ. ๒๕๐๒ องค์การปรับปรุงส่งเสริมการศึกษาได้สิ้นสุดลง เริ่มมีโครงการพัฒนาการศึกษา (ค.พ.ศ.) เข้ามาแทนที่โดยมีวัตถุประสงค์เดียวกับโครงการปรับปรุงส่งเสริมการศึกษา ดำเนินการจัด การศึกษาชั้นมัธยม ๑ ถึงมัธยม ๖ และสิ้นสุดโครงการพัฒนาการศึกษาในปี พ.ศ. ๒๕๐๕
พ.ศ. ๒๕๐๓ กระทรวงศึกษาธิการได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาจากแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๔๙๔ ปฏิรูประบบโรงเรียนขยายการศึกษาออกไปในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๗ โรงเรียนสตรีฉะเชิงเทรา “ดัดดรุณี” จึงยุบชั้นมัธยม ๑ ถึงมัธยม ๓ (ม.๑ – ม.๓ ) เปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๕ ( ม.ศ. ๑ – ม.ศ. ๕ )
พ.ศ. ๒๕๐๖ กระทรวงศึกษาธิการได้อนุญาตให้เปิดสอน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ (ม.ศ. ๔) แผนกศิลปะ รับนักเรียนทั้งนักเรียนหญิงและนักเรียนชายเข้าเรียน โรงเรียนสตรีฉะเชิงเทรา “ดัดดรุณี” จึงมีสภาพเป็นโรงเรียนสหศึกษา โดยให้ชื่อว่า “โรงเรียนดัดดรุณี” จนถึงปัจจุบัน
พ.ศ. ๒๕๑๓ เปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ แผนกวิทยาศาสตร์ จำนวน ๑ ห้อง รับนักเรียนทั้งนักเรียนหญิงและนักเรียนชาย เช่นเดียวกับแผนกศิลปะ และโรงเรียนดัดดรุณีได้เข้าร่วมอยู่ในโครงการปรับปรุงโรงเรียนมัธยมในชนบท (ค.ม.ช.) รุ่นที่ ๗ ได้รับความช่วยเหลือในด้านอุปกรณ์การสอนวิทยาศาสตร์ คหกรรม ศิลปศึกษา ฯลฯ
พ.ศ. ๒๕๒๐ – ๒๕๓๒ จัดการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๐ เปลี่ยนระบบการศึกษาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ๓ ปี มัธยมศึกษาตอนปลาย ๓ ปี ใช้หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พ.ศ. ๒๕๖๒๑ หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พ.ศ. ๒๕๒๔ รับนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ (ม.ศ. ๓ และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ( ม.๓) เข้าเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ พร้อมกันใน พ.ศ. ๒๕๒๔
พ.ศ. ๒๕๓๓ ใช้หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พ.ศ. ๒๕๒๑ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๓๓ ) และหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พ.ศ. ๒๕๒๔ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๓๓ ) กระทรวงศึกษาธิการ
พ.ศ. ๒๕๔๓ เข้าร่วมโครงการพัฒนาคุณภาพการมัธยมศึกษา สังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ รุ่นที่ ๑ โดยใช้เงินงบประมาณและเงินกู้ธนาคารโลก (โครงการพัฒนาคุณภาพการมัธยมศึกษา ระยะที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๔๕ - ๒๕๔๘ หรือ โครงการเงินกู้ธนาคารโลก) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนา การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายให้มีคุณภาพสูงขึ้น
พ.ศ. ๒๕๔๔ กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔ โรงเรียนดัดดรุณี เข้าร่วมโครงการปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จัดการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ดำเนินการร่างหลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนดัดดรุณี
พ.ศ. ๒๕๔๕ โรงเรียนดัดดรุณี ประกาศใช้หลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนดัดดรุณี ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔ จัดการเรียนรู้ในช่วงชั้นที่ ๓ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ช่วงชั้นที่ ๔ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔
พ.ศ. ๒๕๔๗ ใช้หลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนดัดดรุณี ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๔๗ ) จัดการเรียนรู้ในช่วงชั้นที่ ๓ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๓ ช่วงชั้นที่ ๔ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ - ๖
พ.ศ. ๒๕๕๐โรงเรียนได้จัดห้องเรียนพิเศษ IEP (Intensive English Program) สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ในกลุ่มการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ระดับชั้นละ ๑ ห้องเรียน
สีประจำโรงเรียน
น้ำเงิน-ชมพู
น้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์ (รัชกาลที่ ๖ )
สีชมพู หมายถึง ความสวยงาม น่ารัก
คำขวัญประจำโรงเรียน
ลูกดัดฯ เรียนดี กีฬาเด่น เป็นกุลสตรี มีคุณธรรม
คติพจน์
กลยาณการี กลยาณ (ทำดี ได้ดี)
ขอขอบคุณข้อมูลจากhttp://www.ddn.ac.th
ดัดดรุณีรุ่น ม.ศ. ๓ พ.ศ.๒๕๑๒ มีดาราพร่างพรายกระจายทั่วท้องนภา
สร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ (เกษตรภิบาล ) รำไก่แก้ว ตอนพระลอตามไก่
วิภาศิริ มกรสาร (ปะรักมะสิทธิ์ ) อดีตขวัญใจน้ำเงินชมพู ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เมื่อเข้ามาเป็นน้องใหม่
เพลง ขวัญใจน้ำเงิน -ชมพู
คำร้อง - ทำนอง
อาจารย์สอิ้ง กานยะคามิน
เรียนก็เด่น เล่นก็ดี เป็นศรีเรือน แย้มเยื้อน น่ารัก เป็นหนักหนา
โอบอ้อม อารี มีอัชฌา เสียสละ กรุณา อยู่เนืองนิจ
ขอสวมแหวนแทนใจ ไว้ให้พี่ เป็นสักขีของเรา เฝ้าเตือนจิต
แหวนรวมรัก รวมแรง แห่งมวลมิตร จงแนบชิด ก้อยไป ขวัญใจเอย
โอบอ้อม อารี มีอัชฌา เสียสละ กรุณา อยู่เนืองนิจ
ขอสวมแหวนแทนใจ ไว้ให้พี่ เป็นสักขีของเรา เฝ้าเตือนจิต
แหวนรวมรัก รวมแรง แห่งมวลมิตร จงแนบชิด ก้อยไป ขวัญใจเอย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น