วันอังคารที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

อธิการและบุพกรรมพระพุทธองค์



อธิการและบุพกรรมพระพุทธองค์
คุณความดี และกรรมเก่าของพระพุทธองค์



เล่มที่ ๓๒ ชื่อขุททกนิกาย อุปทาน ภาคที่ ๑
( เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๒๔)

พระไตรปิฎกเล่มนี้แสดงถึงประวัติการบำเพ็ญคุณงามความดีของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวกต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น ๔๑๒ เรื่อง เป็นประวัติการทำความดีของพระพุทธเจ้า ๑ เรื่อง ประวัติการทำชั่วที่เคยมีในอดีตก่อนตรัสรู้ ๑ เรื่อง อันแสดงว่าเป็นเหตุให้ได้รับผลร้ายอย่างไร เป็นประวัติพระปัจเจกพุทธเจ้า ๑ เรื่อง ประวัติพระสาวกต่าง ๆ ๔๐๙ เรื่อง. ทุกเรื่องเรียบเรียงเป็นคำฉันท์และบอกไว้ด้วยว่า เรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ตรัสแสดงไว้แก่พระอานนท์ผู้เป็นเวเทหมุนี (มุนีผู้ฉลาด ) ลักษณะคำฉันท์ที่แต่งไว้ มิใช่มุ่งเพียงแสดงประวัติ แต่มุ่งให้มีความไพเราะทางวรรณคดีปนอยู่ด้วยเป็นอย่างมาก.

ในที่นี้จะย่อความเป็นตัวอย่างเพียงบางเรื่อง คือ :-



๑. พุทธาปทาน
(ข้ออ้างหรือประวัติของพระพุทธเจ้า )

ใจความว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม พระอานนทเถระได้กราบทูลถาม ถึงเหตุให้บุคคลทั้งหลายได้เป็น พระพุทธเจ้าผู้รู้สิ่งทั้งปวง ตรัสตอบว่า ต้องเป็นผู้ได้ทำอธิการ ( คุณความดี ) ไว้ในพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ แต่ยังมิได้บรรลุความหลุดพ้นในศาสนาของพระพุทธเจ้า ( นั้น ๆ ). ด้วยปัญญาที่ได้ตรัสรู้ออกหน้า ผู้มีปัญญาย่อมบรรลุความเป็นสัพพัญญูได้โดยลำดับ ด้วยอัธยศัย ด้วยธรรมะเป็นกำลังอันใหญ่ ด้วยปัญญาด้วยเดช. ครั้นแล้วตรัสเล่าว่า พระองค์เองได้ทรงปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้าในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ๆ ผู้เป็นธรรมราชา ผู้สมบูรณ์ด้วยบารมี ๓๐ นับจำนวนไม่ได้, ได้ปรารถนาการตรัสรู้ต่อพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐทั้งหลาย ได้นมัสการ ๑๐ นิ้ว ซึ่งพระผู้เป็นนายกของโลกทั้งหลายพร้อม ด้วยภิกษุสงฆ์ได้อภิวาทด้วยเศียรเกล้า. นอกจากนั้นยังแสดงถึงการที่มีพระหฤทัยนึกน้อมถวายทาน มีความเลื่อมใสบูชาพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วแสดงการบำเพ็ญบารมีต่าง ๆ มีศีล เป็นต้น แล้วลงสุดท้ายเป็นคำสอนว่า

" ท่านทั้งหลายเห็นความเกียจคร้านเป็นภัย เห็นความเพียรเป็นความเกษม ( ปลอดโปร่งจากภัย ) แล้ว ก็จงปรารภความเพียรเถิด". นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
เห็นการวิวาทกันเป็นภัย เห็นความไม่วิวาทกันเป็นความปลอดโปร่งจากภัยแล้ว ก็จงสมัครสมานเป็นมิตรกันเถิด. นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
เห็นความประมาทเป็นภัย เห็นความไม่ประมาทเป็นความปลอดโปร่งจากภัยแล้ว ก็จงเจริญมรรคาอันมีองค์ ๘ เถิด. นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย " ดังนี้เป็นต้น.

( หมายเหตุ :
ข้อความที่พรรณนาในพุทธาปทานนี้ หนักไปในทางแสดงการบำเพ็ญบารมีทางใจมากกว่าอย่างอื่น และมีหลักสำคัญที่แสดงว่า ได้แสดงความปรารถนาที่จะเป็นพระพุทธเจ้ามาแล้วในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ๆ ส่วนรายการบำเพ็ญบารมีอื่นอีก จะมีแจ้งข้างหน้าในการย่อเล่มที่ ๓๓ อันว่าด้วยจริยาปิฎก ).




๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
(ข้ออ้างของพระปัจเจกพุทธเจ้า )

ใจความในคำฉันท์แสดงว่า พระอานนท์ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาค ถึงเหตุที่บุคคลจะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า, ตรัสตอบว่า ต้องเป็นผู้ได้ทำอธิการ ( คุณความดี ) ไว้ในพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ แต่ยังมิได้บรรลุความหลุดพ้นในศาสนาของพระพุทธเจ้า ( นั้น ๆ ). ด้วยความสังเวชออกหน้า ผู้มีปัญญากล้าแม้เว้นจากพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ได้บรรลุปัจเจกโพธิ ( การตรัสรู้เฉพาะตน ) ด้วยอารมณ์อันเล็กน้อย ( กว่าของพระพุทธเจ้า ). บุคคลที่จะเสมอพระปัจเจกพุทธเจ้า เว้นพระพุทธเจ้าเสียแล้ว ก็ไม่มีในโลกทั้งปวง. ครั้นแล้วตรัสแสดงคุณงามความดีต่าง ๆ ตามทำนองแห่งขัคควิสาณสูตร ( ที่กล่าวมาแล้วในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ ) ในอุรควรรคที่ ๑ มี ๑๒ สูตร ที่หมายเลข ๓.

๓. สาริปุตตเถราปทาน
( ข้ออ้างของพระสาริบุตร )

ข้าพเจ้า ( พระสาริบุตร ) ได้สร้างอาศรม สร้างบรรณศาลา ณ เวลัมพบรรพต ไม่ไกลหิมวันตประเทศ มีแม่น้ำฝั่งตื้น มีท่าอันดี น่ารื่นรมย์ มีเนินทรายอันบริสุทธิ์ดี ไม่ไกลอาศรม. ข้าพเจ้า ( พระสาริบุตร ) เป็นดาบสนามว่า สุรุจิ มีศีล สมบูรณ์ด้วยวัตร มักเข้าฌาน ยินดีในฌานเสมอ ถึงพร้อมด้วยกำลังคืออภิญญา ๕ ( แสดงฤทธิ์ได้,หูทิพย์, กำหนดรู้ใจผู้อื่น, ระลึกชาติได้, ตาทิพย์ ) มีศิษย์เป็นพราหมณ์ ผู้มีชาติ มียศ เป็นจำนวนมาก เป็นผู้รู้คัมภีร์พราหมณ์อุปฐากบำรุงข้าพเจ้า วันหนึ่งได้เห็นพระผู้มีพระภาคพระนามว่า อโนมทัสสี เมื่อได้สังเกตุดูพระพุทธลักษณะแล้ว ก็แน่ใจว่าเป็นพระพุทธเจ้า จึงปัดกวาดนำดอกไม้ ๘ กำมาบูชา แล้วกล่าวสรรเสริญพระญาณของพระอโนมทัสสีพุทธเจ้า และได้รับพยากรณ์ ว่า จะเป็นผู้ชื่อว่าสาริบุตร มีปัญญากล้าได้เป็นอัครสาวกของพระโคดมพุทธเจ้า. ครั้นแล้วได้กล่าวถึงชาติปัจจุบันเล่าประวัติที่ได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิและได้บวชร่วมกับสหายชื่อโกลิตะ ( พระมหาโมคคัลลานะ ) จนกระทั่งสิ้นอาสวะ ( กิเลสที่ดองสันดาน ).



๔. มหาโมคคัลลานเถราปทาน
( ข้ออ้างหรือประวัติของพระมหาโมคคัลลาเถระ )

ข้าพเจ้า ( พระมหาโมคคัลลานะ ) เป็นราชาแห่งนาค ชื่อว่าวรุณะ ได้เคยถวายอาหารแด่พระอโนมทัสสีพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระขีณาสวสาวก และได้รับพยากรณ์ว่าจะได้เป็นอัครสาวกนามว่า โกลิตะของพระโคดมพุทธเจ้า.

๕. มหากัสสปเถราปทาน
( ข้ออ้างหรือประวัติของพระมหากัสสปเถระ )

ข้าพเจ้า ( พระมหากัสสป ) ได้ชักชวนญาติมิตรให้ทำการบูชาพระปทุมุตตรพุทธเจ้า ผู้เสด็จดับขันธนิพพานแล้ว ได้ทำกุศลเป็นอันมาก ผลดีได้ส่งให้ได้ไปเกิดในสุคติ และในชาติสุดท้ายได้เกิดในสกุลพราหมณ์ ละสมบัติออกบวช ได้บรรลุปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖.

( หมายเหตุ :
ในคำฉันท์จริง ๆ พิสดารกว่านี้มาก ได้ย่อใจความที่สำคัญมาให้เห็นว่าแต่ละท่านได้บำเพ็ญความดี ในชั้นแรกก็ไม่มากอะไร แต่ได้บำเพ็ญความดีต่อ ๆกันมา จึงได้รับผลดีคือหมดกิเลส เวลาแสดงประวัติ ท่านก็ไม่ลืม ถือว่าความดีเล็ก ๆน้อย ๆ ที่ทำไว้เป็นครั้งแรกนั้น เป็นการเริ่มต้นที่สำคัญยิ่งในประวัติของท่าน ).



๖. พุทธาปทาน
( ข้ออ้างหรือประวัติของพระพุทธเจ้า )

( ในที่นี้จะนำพุทธาปทานอีกบทหนึ่ง ซึ่งอยู่ในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ หน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ อันมีชื่อว่าปุพพกัมมปิโลติกะ( ท่อนผ้าเก่าแห่งบุพพกรรม ) ส่วนใหญ่แสดงถึงกรรมชั่วที่พระผู้มีพระภาคเคยทรงทำไว้อันส่งผลร้ายแก่พระองค์ แม้ในพระชาติสุดท้าย ซึ่งเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ ในการเปิดเผยพระประวัติทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่วอย่างตรงไปตรงมา ว่าเคยทรงทำไว้ทั้งกรรมดีกรรมชั่ว เฉพาะเรื่องนี้ จะพยายามถอดความให้ละเอียดเพื่อเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้สนใจทั่วไป).

เรื่องเล่าว่า พระผู้มีพระภาคอันพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่แวดล้อม ประทับเหนือพื้นศิลาอันน่ารื่นรมย์ใกล้สระอโนดาต ตรัสเล่าบุพกรรม ( กรรมในกาลก่อน ) ของพระองค์ ดังนี้.

 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ท่านทั้งหลายจงฟังถึงกรรมที่เราได้ทำไว้แล้ว

"เราเห็นภิกษุผู้อยู่ป่ารูปหนึ่ง จึงได้ถวายผ้าท่อนเก่า ในกาลนั้นเราได้ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก ผลแห่งกรรมอันเนื่องด้วยผ้าท่อนเก่านั้นได้สำเร็จแม้ในความเป็นพระพุทธเจ้า. "

" เราเคยเป็นนายโคบาลในชาติก่อน ๆ ต้อนแม่โคไปสู่ที่หากิน เห็นแม่โคดื่มน้ำขุ่นจึงห้ามไว้ด้วยผลแห่งกรรมนั้น ในภพสุดท้ายนี้ เรากระหายน้ำ จึงไม่ได้ดื่มตามต้องการ ( ใช้พระอานนท์ไปตักน้ำ พระอานนท์ไม่ตักกลับมากราบทูลว่า น้ำขุ่น ต้องตรัสย้ำให้ไปใหม่ พอพระอานนท์ไปตักครั้งที่ ๒ น้ำกลับใส-มหาปรินิพพาน-สูตร ).



" เราเคยเป็นนักเลงชื่อปุนาลิ ในชาติก่อน ๆ ได้กล่าวใส่ความพระปัจเจกพุทธเจ้าพระนามว่า สุรภิ ผู้มิได้ประทุษร้าย ด้วยผลแห่งกรรมนั้น เราจึงท่องเที่ยวไปในนรกสิ้นกาลนาน เสวยทุกขเวทนาสิ้นพันปีเป็นอันมากด้วยกรรมที่เหลือนั้น ในภพสุดท้ายนี้ ก็ถูกใส่ความ เพราะเหตุแห่งนางสุนทริกา
 ( คือนางสุนทริกาเป็นนักบวชหญิงถูกพวกเดียรถีย์ใช้ให้ทำเป็นบอกใครต่อใครว่าจะไปค้างคืนกับพระสมณโคดม แล้วไปค้างเสียที่อื่น รุ่งเช้าก็ทำเป็นเดินทางมาจากเชตวนารามที่ประทับ ทำท่าโผเผ พออีก ๒-๓ วัน ที่มีการโจษจันกันเรื่องนางสุนทริดา พวกเดียรถีย์ก็จ้างนักเลงไปฆ่านางสุนทริกาเป็นเชิงให้เห็นว่านางถูกฆ่า เพื่อจะปิดปาก คนก็สงสัยว่าอาจจะจริง แต่พระราชาส่งราชบุรุษสืบดูตามร้านสุรา ก็จับพวกนักเลงได้ และลงโทษผู้จ้าง คือพวกเดียรถย์ ด้วยในที่สุด ).

" อีกชาติหนึ่งเราได้เคยเป็นพราหมณ์ผู้มีความรู้ ( ผู้ได้สดับ ) มีผู้เคารพสักการะ สอนมนต์แก่มาณพ ๕๐๐ ได้ใส่ความภิมฤษีผู้มีอภิญญา ๕ มีฤทธิ์มาก ผู้มาในที่นั้น โดยกล่าวกะศิษย์ทั้งหลายว่า ฤษีนี้เป็นผู้บริโภคกาม มาณพทั้งหลายก็พลอยชื่นชมไปกับเรา เมื่อไปภิกขาจารในสกุลก็เที่ยวกล่าวแก่มหาชนว่า ฤษีนี้เป็นผู้บริโภคกาม. ด้วยผลของกรรมนั้น ภิกษุ ๕๐๐ เหล่านี้ ทั้งหมด ที่อยู่ในเชตวนาราม ก็พลอยถูกใส่ความไปด้วยเพราะเหตุแห่งนางสุนทริกา "
( เมื่อมีข่าวว่านางสุนทริกาถูกฆ่าตาย ชาวเมืองก็เข้าใจว่าพระภิกษุทั้งหลายมีส่วนในการฆ่าปิดปาก จึงพากันด่าว่าเมื่อแลเห็นภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระราชาทรงสืบทราบและให้ลงโทษผู้ฆ่าแล้วเรื่องจึงได้สงบ )

" อักชาติหนึ่งเพราะกล่าวใส่ความพระสาวกของพระสัพพาภิภูพุทธเจ้า มีนามว่านันทะ เราจึงท่องเที่ยวไปในนรก ตลอดกาลนานหลายหมื่นปี เมื่อได้เกิดเป็นมนุษย์ถูกใส่ความมาก. ด้วยกรรมที่เหลือนั้น นางจิญจมาณวิกา จึงได้ใส่ความเราด้วยคำไม่จริงต่อหน้าหมู่ชน"
 ( นางจิญจมาณวิกาซึ่งเป็นนักบวชสตรี ถูกพวกเดียรถีย์ใช้ให้ทำอุบายเป็นว่ามีครรภ์กับพระพุทธเจ้า โดยเอาไม้ผูกไว้ที่ท้อง แกล้งด่าประจานพระผู้มีพระภาคในที่ประชุมชน แต่เผอิญไม้ที่ผูกไว้หลุดตกลงมา จึงถูกประชาทัณฑ์ และถึงแก่ความตายในที่สุด ซึค่งอรรถกถาธรรมบทใช้คำว่า ถูกธรณีสูบตาย ภายหลังที่ถูกประชาชนลงโทษแล้ว ).



" ในกาลก่อน เราได้เคยฆ่าน้องชายต่างมารดาเพราะเหตุแห่งทรัพย์ ผลักลงไปในซอกเขา เอาหินทุ่ม ด้วยผลแห่งกรรมนั้น เทวทัตจึงเอาหินทุ่มเรา สะเก็ดหินมาถูกหัวแม่เท้าเรา".

" ในกาลก่อน เราเป็นเด็กเล่นอยฅู่ในทางใหญ่ เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า จึงเผาสิ่งต่าง ๆ ขวางทางไว้ ด้วยผลแห่งกรรมนั้น ในภพสุดท้ายนี้ เทวทัตจึงส่งคนเพื่อให้ฆ่าเรา".

"ในกาลก่อนเราได้เป็นนายควาญช้าง ไสช้างให้ไล่กวดพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้เที่ยวไปเพื่อบิณฑบาต ด้วยผลแห่งกรรมนั้น ช้างนาฬาคิริ ดุร้าย เมามัน จึงวิ่งเข้ามาหาเรา ( เพื่อทำร้าย ) ในนครอันประเสริฐ ซึ่งมีภูเขาเป็นคอก "
( คือในกรุงราชคฤห์ ซึ่งมีภูเขา ๕ ลูกแวดล้อม จึงมีนามว่านครที่มีภูเขาล้อมเป็นคอก ),

"เราได้เคยเป็นพระราชา เป็นหัวหน้าทหารเดินเท้า ได้ฆ่าบุรุษหลายคนด้วยหอก ด้วยผลแห่งกรรมนั้น เราได้หมกไหม้อย่างหนักในนรก ด้วยผลที่เหลือแห่งกรรมนั้น สะเก็ดแผลที่เท้าของเราก็กลับกำเริบ เพราะกรรมยังไม่หมด."

"เราเคยเป็นเด็กชาวประมง ในหมู่บ้านชาวประมง เห็นชาวประมงฆ่าปลาก็มีความชื่นชม ด้วยผลแห่งกรรมนั้น เราจึงเกิดเจ็บที่ศีรษะ"

 ในขณะที่วิฏฏภะ ( วิฑูฑภะ ) ฆ่าพวกศากยะ ( วิฑูฑภะฆ่าพวกศากยะ เพราะโกรธว่าดูหมิ่นเอาน้ำนมสดล้างที่นั่ง เมื่อคราวที่ตนไปเยี่ยมญาติ ณ กรุงกบิลพัสดุ์. วิฑูฑภะเป็นโอรสพระเจ้าปเสนทิโกศล และนางวาสภขัตติยาผู้เป็นบุตรี เกิดจากนางทาสีของมหานามศากยะ. คณะกษัตริย์ศากยะเลือกส่งมาถวายพระเจ้าปเสนทิเมื่อคราวทรงขออภิเสกกับนางกษัตริย์ศากยะ ).



"เราได้เคยบริภาษ ( ด่าโดยอ้อม ) พระสาวกในพระธรรมวินัยของพระผุสสพุทธเจ้าว่า ท่านจงเคี้ยวจงกินข้าวเหนียวเถิด อย่ากินข้าวสาลีเลย. ด้วยผลแห่งกรรมนั้น เราเลยต้องบริโภคข้าวเหนียวอยู่ ๓ เดือน ในเมื่อพราหมณ์นิมนต์ไปอยู่ในเมืองเวรัญชรา"
 ( พราหมณ์นิมนต์ไปจำพรรษาแล้วลืมถวายอาหาร ได้อาศัยพวกพ่อค้าม้าถวายข้าวแดง อาจเป็นข้าวเหนียวแดงที่สำหรับให้ม้ากิน ).

"ในสมัยที่ไม่มีพระพุทธเจ้า เราได้เคยทำร้ายบุตรแห่งนักมวยปล้ำ ด้วยผลแห่งกรรมนั้น เราจึงเกิดเจ็บที่หลัง".

"เราได้เคยเป็นหมอ ( แกล้ง ) ถ่ายยาบุตรแห่งเศรษฐี ( คงเป็นการถ่ายอย่างแรงถึงแก่ชีวิต ).ด้วยผลแห่งกรรมนั้น เราจึงลงโลหิต ( โรคปักขันทิกะ )."

"เราเป็นผู้ชื่อว่าโชติปาละ ได้เคยกล่าวกะพระสุตตพระนามว่ากัสสปะ การตรัสรู้เป็นของได้โดยยาก ท่านจะได้จากควงไม้โพธิที่ไหนกัน. ด้วยผลแห่งกรรมนั้น เราได้บำเพ็ญทุกกรกิริยาเป็นอันมากสิ้นเวลา ๖ ปี ต่อจากนั้นจึงได้บรรลุการตรัสรู้ เรามิได้บรรลุการตรัสรู้โดยทางนั้น ได้แสวงหาโดยทางที่ผิด เพราะถูกกรรมเก่าทวงเอา."

"เราสิ้นบุญและบาปแล้ว เว้นแล้วจากความเดือดร้อนทั้งปวง ไม่มีความโศก ไม่มีความคับแค้น ปราศจากอาสวะ จักปรินิพพาน. "

( เป็นอันว่าได้แสดงตัวอย่างในอปทาน พอให้ท่านผู้อ่านได้เห็นว่า มีรายละเอียดอย่างไร ).

จบพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๒ ชื่อขุททกนิกาย
อปทาน ภาคที่ ๑

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=824450
http://www.larnbuddhism.com/tripitaka/prasuttanta/k24.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น