วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

หวลคนึง......ถึงดััดดรุณี




ภาพนี้มีนางแบบรุ่นพี่ รุ่นที่เท่าไรไม่ทราบได้ ส่วนตัวป้ายโรงเรียนนี้นับตามอายุเป็นรุ่นคุณป้าถึงจะถูกต้อง เพราะคุณแม่ของพลอยโพยมเองเกิดปี พ.ศ. ๒๔๖๕



อาคารหลังนี้รุ่นของพวกเรา ( เข้าเรียน พ.ศ. ๒๕๑๐ ) ไม่เคยเห็นมาก่อน เรือนปั้นหยาหลังใหญ่คงเป็นอาคารเรียนแรกหรือเปล่าหนอ


ป้ายชื่อโรงเรียนเป็นโรงเรียนดัดดรุณี และเป็นรุ่นที่มีรุ่นพี่ผู้ชายเรียนแผนก ศิลป ชั้น ม.ศ.๔ และ ม.ศ.๕ รวมกันไม่เกิน ๑๐ คน ในจำนวนรุ่นพี่ผู้ชายนี้ มี พี่ชายของพลอยโพยมคนโต คือพี่อโณทัย สงวนสัตย์ อยู่ด้วย ๑ คน ( ตอนนี้ท่านบวชเป็นพระปฏิบัติอย่างเดียว ๔ พรรษาแล้ว )



ห้องริมสุดข้างในชั้นล่างเป็นห้องประจำชั้น ม.ศ. ๑ ก. คุณครูระเบียบ พ่วงมาลี เป็นคุณครูประจำชั้น และเป็นห้องปฎิบัติการวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้น ม.ศ.ต้น ( ๑-๓ ) ด้วย ดังนั้นโต๊ะเรียนห้องนี้จึงเป็นโต็ะสี่เหลี่ยม ( หรือกลมก็ไม่แน่ใจ) ตัวใหญ่ และมีเก้าอี้นั่งล้อมรอบโต๊ะ เป็นห้อง Home Room ของ ม.ศ. ๑ ก. พวกเราจึงนั่งเป็นกลุ่ม ๆ กลุ่มละหลายคน ริมห้องเป็นโต๊ะยาววางอุปกรณ์วิทยาศาตร์ พวกหลอดแก้วโถแก้วต่าง ๆ

ส่วนห้องถัดมา เป็นห้อง ม.ศ.๑ ข. คุณครูสอิ้ง กานยะคามิน เป็นคุณครูประจำชั้น และเป็นห้องเรียนภาษาไทยสำหรับวิขาที่ต้องมาเรียนกับคุณครูสอิ้งด้วย รวมทั้งเป็นห้องจัดกิจกรรมกลุ่มด้านภาษาไทยด้วย มีบอร์ดจัดกิจกรรมรอบห้อง คุณครูให้มีการตั้งชื่อกลุ่มเวลาทำกิจกรรม พลอยโพยมอยู่กล่ม "กุหลาบ"

และห้องนี้เองเป็นที่มาของบทกลอนแสนไพเราะมีความหมายลึกซึ้งของท่านบรมครูวรรณคดี อาจารย์ฐะปะนีย์ นาครทรรพ    ที่ท่านเคยมาเป็นคุณครูใหญ่  ที่ดัดดรุณีแห่งนี้ แต่รุ่นพลอยโพยมไม่ทันได้เป็นลูกสาวท่าน กลอนนี้คุณครูสอิิ้ง เขียนบนกีะดารกำหน้าห้องเรียนไว้

บทกลอนมีความขึ้นต้นว่า

แม้มิเป็นดังเช่นกุหลาบหอม
ก็จงยอมเป็นเพียงลดาขาว
แม้มิได้เป็นจันทร์อันสกาว
จงเป็นดาวดวงแจ่มแอร่มตา.......





การ์ดใบนี้มอบให้ปุ๋ยเมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๕๗ นี้เอง
ประพันธ์โดย สิรี กิจวิวัฒนกุล
จัดทำโดย ราตรี วัฒนอาภรณ์ชัย


จึงไม่แปลกที่ ณ วันนี้ ด.ญ.ปุ่ย สร้อยทิพย์ เกษตรภิบาล ในเวลานั้น กำลังเป็น

ดวงจันทร์วันเพฺ็ญ ลอยเด่นอยู่ในนภา
ทรงกลดสดสี รัศมีทอแสงงามตา
แสงจันทร์อร่าม สวยงามส่องฟ้า



แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีดวงดารา ส่องประกายระยิบระยับจับพื้นอัมพร อีกมากมายนับไม่ถ้วนด้วยเช่นกัน

ส่วนห้องแรกด้านล่างพอเดินเลี้ยวเข้าไปก็จะเป็นห้องขายของของโรงเรียน สมุด ดินสอ ปากกา ของใข้อื่น ๆ รวมทั้งมีตู้เย็นใบใหญ่ใส่เครื่องดื่มขาย

ที่จำได้ไม่ลืม คือหวานเย็นเป็นก้อนสี่เหลี่ยมขนาดกำลังพอดี  ที่คุุณครูทองใบ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ทำจากบ้าน ใส่กระติกเอามาขายที่โรงเรียน รวมทั้งขนมกระจุกกระจิกฝีมือคุณครูด้วยอร่อยมาก
ของที่ขายในห้องนี้ ขายโดยนักเรียนที่มีเวรมาขาย เงินเป็นของโรงเรียน

ลักษณะวิธีการขายของแบบนี้ ปัจจุบันโรงเรียนจัดขายในรูปแบบสหกรณ์

ส่วนชั้นบนในสุด เป็นห้องภูมิศาตร์ ของคุณครูสมศักด์ ในห้องมีลูกโลกลูกใหญ่ แผนที่โลกแผ่น ใหญ่ ๆ

และความทรงจำที่มีกับห้องนี้คือ
อ่าวคืออะไร
เราก็ตอบกันว่า อ่าวคือแผ่นน้ำที่ยื่นเข้ามาในพื้นดิน

ส่วนแหลมคืออะไร
แหลมคือพื้นดินที่ยื่นลงไปในน้ำ

เฺฮ...จำได้ไม่ลืม.... ๔๕ ปีแล้วนะนี่

ถัดจากห้องนี้มา มีห้องที่คุณครูสอิ้งเคยใช้สอนพวกเราตัดเย็บเสื้อผ้า
มีห้องเรีัยนพิมพ์ดีดของคุณครูบุญนะ
พลอยโพยมจำได้แค่นี้สำหรับอาคารเรียนนี้
ระเบียงชั้นล่างเป็นที่เรียนสีซอตอนเย็น ๆ ของนักเรียนที่สนใจเรียน



ห้องมุขที่ยื่นมา เป็นพักครู มุขชั้นบนเป็นห้องคุณครูใหญ่ กัณณิการ์ พิชิตตานนท์

ชั้นล่าง เป็นห้องเรียน ภาษาอังกฤษแบบฟังเสียง ชั้นบนเป็นห้องสมุดมีคุณครูประยงค์ นัยนานนท์ดูแล มีชุมนุมห้องสมุด ที่สมาชิกในชุมนุมต้องช่วยดูแลหนังสือในห้องสมุด จัดเวรมาเป็นผู้ให้บริการยืมหนังสือในสมุด จัดหนังสือเข้าที่เข้าเข้าทางเดิม



โรงอาหาร หอประชุม และเป็นสถานที่ใช้เป็นเวทีจัดกิจกรรมตอนเย็น ๆ เป็นเวทีละครตอนงานแสดงละครประจำปี




อาคารเรียนยาว เป็นห้อง ม.ศ. ๒ ก. ที่คุณครูหยด เจริญกูล ประจำชั้น และเป็นห้องเรียนคณิตศาสตร์ด้วย เพราะคุณครูหยดสอนคณิตศาสตร์  และเมื่อขึ้น ม.ศ.๓ ก็เป็นห้อง ม.ศ. ๓ ก. โดยคุณครูหยด ท่านตามประจำชั้นด้วย ถ้ดไปเป็นห้อง ม.ศ. ๓ ข. และ ม.ศ. ๓ ค.


ชั้นล่างห้องแรก เป็นห้องพักครู คุณครูอังกาบ ตันสุวรรณรัตน์ ห้องคุณครูศรีสันห์ (สอนวิชาศีลธรรม)
ส่วนห้อง ง. และห้องจ. อยู่อาคารเรียนขวางด้านขวากับอาคารหลังนี้ ซึ่งไม่มีภาพ (ชั้นบน)
ส่วนด้านซ้ายมือ (ชั้นล่าง)จะเป็นบ้านพักคุณครูใหญ่ บ้านพักคุณครูประจบ (สอนภาษาฝรั่งเศส ให้รุ่นพี่ ม.ศ. ๔-๕)

อาคารยาวนี้ในภาพเป็นด้านหลัง ส่วนด้านหน้า เป็นสนามหญ้า มีก๊อกดื่มน้ำตั้งไว้หลายก๊อก ที่ก้มหน้าลงไปดื่มจากการเปิดน้ำแล้วน้ำพุ่งขึ้นมา อยู่ใกล้กับอาคารขวางกับอาคารยาวในภาพ ชั้นล่างของอาคารขวางเป็นห้องของคุณครูไพบูลย์ผล มะกะรธัช (และเป็นห้องวิทยาศาสตร์อีกห้อง)

ชั้นล่างของอาคารยาวในภาพเป็นห้องเรียนรุ่นพี่ ม.ศ. ๔ และม.ศ. ๕ แผนกศิลป

ส่วนในภาพที่มีอาคารชั้นเดียวด้านซ้ายมือ เป็นห้องเรียนวาดเขียน ของคุณครูสมบัติ พรหมสุวรรณ ห้องเรียนศิลปงานกระดาษ งานปั้น ต่าง ๆ ของคุณครูเฉลิม ห้องเก็บอุปกรณ์กีฬาของคุณครูเชาวนีย์
นอกจากคุณครูเชานีย์จะสอนการกีฬาแล้ว ท่านยังสอนงานเย็บปักถักร้อยด้วย



นี่คือด้านหน้าของอาคารยาวภาพบน จะเห็นอาคารขวางดังกล่าวในภาพ ก๊อกดื่มน้ำหลายก๊อกอยู่บริเวณมุขที่ยื่นออกมา พวกเราต้องยืนดื่มน้ำ เพราะก๊อกน้ำตั้งสูงขนาดตัวคนยืน

ด้านหน้าของอาคารยาวภาพบน จะเป็นแนวที่ปลูกต้น ชบา ชบาร่ม พู่ระหง มีสีขาว สีชมพู สีแดง เป็นแถวยาวขนานกับระเบียงยาว


บทกลอนเต็มบทของอาจารย์ฐะปะนีย์ นาครทรรพ
ท่านเป็นคุณครูใหญ่คนที่ ๘ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๖- ๒๔๙๘ อันเป็นช่วงเวลาที่ชาวดัดดรุณีรุ่น พ.ศ. ๒๕๑๒ เกิดในเวลานี้พอดีเป็นส่วนใหญ่ ( ปีเกิดของดัดดรุณี รุ่นนี้ คือ พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๔๙๘)


แม้มิได้ เป็นดอก กุหลาบหอม
ก็จงยอม เป็นเพียง ลดาขาว
แม้มิได้ เป็นจันทร์ อันสกาว
จงเป็นดาว ดวงแจ่ม แอร่มตา....


๏ แม้มิได้ เป็นหงส์ ทะนงศักดิ์
ก็จงรัก เป็นโนรี ที่หรรษา
แม้มิได้ เป็นน้ำ แม่คงคา
จงเป็นธาราใส..ที่ไหลเย็น...

๏ แม้มิได้ เป็นมหา หิมาลัย
จงพอใจ จอมปลวก ที่แลเห็น
แม้มิได้ เป็นวัน พระจันทร์เพ็ญ
ก็จงเป็น วันแรม ที่แจ่มจาง

๏ แม้มิได้ เป็นต้น สนระหง
จงเป็นพง อ้อสะบัด ไม่ขัดขวาง
แม้มิได้ เป็นนุช สุดสะอาง
จงเป็นนางที่มิใช่ ไร้ความดี


๏ อันจะเป็นสิ่งใด ไม่ประหลาด
กำเนิดชาติดีทราม ตามวิถี
ถือสันโดษบำเพ็ญให้เด่นดี
ในสิ่งที่เราเป็นเช่นนั้นเทอญฯ
             ฐะปะนีย์ นาครทรรพ

ในภาพทั้งหมดนี้ยังขาดอาคารเรียนคหกรรมของคุณครูสุดจิตต์

ในสมัยนั้น
ทุกวันเรียน จะต้องมีนักเรียนห้องเรียนละ ๑ คน มาช่วยทำอาหารที่เรียนคหกรรมนี้ครึ่งวันเช้า เพื่อเป็นอาหารกลาววันสำหรับครู นักเรียน ที่จ่ายค่่าอาหารเป็นรายเดือน ห้องครัวนี้กว้างขวางอยู่ติดกับห้องเรียนคหกรรม

อาหารที่ทำเสร็จเรียบร้อยจะยกไปตั้งที่เรือนโรงอาหาร นักเรียนที่กินข้าวของโรงเรียนต้องเข้าแถว ถือถาดหลุม และจะมีคนตักอาหารใส่ถาดหลุมให้ ส่วนนักเรียนที่เอาข้าวกลางวันมาจากบ้าน ก็นั่งกินข้าวในโรงอาหารเดียวกันนี้ และไม่มีสิทธิ์ซื้ออาหารของโรงเรียน เพราะโรงเรียนทำเฉพาะคนที่แจ้งความประสงค์และจ่ายค่าอาหารไว้

ส่วนชั่วโมงเรียนคหกรรมมักเป็นชั่วโมงบ่าย เพราะช่วงเข้าคุณครูสุดจิตต์ ต้องดูแลการทำอาหารในครัว รวมทั้งหากมีภาคปฏิบัติทำขนมหรือกับข้าว ก็ต้องทำตอนบ่ายเพราะใช้ครัวและอุปกรณ์ของห้องครัวนั่นเอง
ในครัวจะมีน้ารื่นและภรรยาช่วยทำครัว เก็บล้างถาดหลุมจานชาม อุปกรณ์ต่าง ๆ น้ารื่นเป็นทั้งภารโรง คนสวนของโรงเรียน




ภาพแรกเปืดประตูเข้าโรงเรียน แล้วเดินมาอีกประตูเดินออกจากโรงเรียน เอ้าเดินออกมาเลยพวกเราแล้วก็ร้องเพลงลาวิมานพร้อมกันด้วย




เพลงลาวิมาน
คำร้อง - ทำนอง
อาจารย์ประยุทธ เรืองสวัสดิ์


เพื่อนเราเอ๋ยเคยมีสุข สนุกกันอยู่ น้ำเงินชมพูซึ้งใจ
สวยงามหมู่มวลดอกไม้ จะแลทางไหน ช่างสดใสชื่นตา 


สวยอาคารตระหง่านเทียบ วิมานไพจิตร เคยได้ประสิทธิ์วิทยา
เสริมสร้างอบรมจรรยา ด้วยกรุณา จากคุณครูบาอาจารย์ 


โหยหวนหวนครวญเศร้า เมื่อเราจำคลาด เหมือนชีวีขาดดวงมาน
โอ้ ดัดดรุณีที่เคยสราญ เพื่อนเคยสุขศานต์ คงลับชั่วกาลปีเดือน 


โอ้สถานและเพื่อนแก้ว ลาแล้วเพียงกาย แต่หัวใจไม่ลาเลือน
แม้กุศลมีจะไม่แชเชือน ด้วยจิตตรึงเตือน จะย้อนมาเยือนให้อิ่มเอย




ลาแล้วดััดดรุณี 

พอมาถึงวันนี้วิมานแมนแดนสวรรค์ของพวกเราเปลี่ยนโฉมหน้าหมดไม่เหลือภาพข้างบนเลยสักอาคารเดียว


เพิ่มเติม


ภาพหลังสุดของอาคารเรียนหลังยาวคือเรือนคหกรรม เป็นเรือนยาวชั้นเดียว



ทางเดินเชื่อมระหว่างอาคารที่ ๑  กับเรือนคหกรรม


ระเบียงยาวของด้านหน้าอาคารหลังยาว ที่ด้านล่างเป็นแนวต้นชบาและพู่ระหง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น