วันศุกร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

สู่แดนพระพุทธองค์ ๘๒ กาฬุทายีอำมาตย์




ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.dhammatalks.net/Articles/Life_of_the_Buddha_in_Pictures.htm


พระเจ้าสุทโธทนะทรงสดับว่า พระโอรสของพระองค์ประพฤติทุกรกิริยา ๖ ปี ได้บรรลุพระสัมมามัมโพธิญาณ แล้วประกาศพระธรรมจักรอันบวร ประทับอยู่เวฬุวันในกรุงราชคฤห์ จึงรับสั่งให้อำมาตย์ผู้หนึ่ง พร้อมบริวาร ๑, ๐๐๐ ไปยังกรุงราชคฤห์ เพื่อกราบทูลนิมนต์ให้พระพุทธองค์เสด็จมายังกรุงกบิลพัสดุ๋ ด้วยพระราชบิดาประสงค์จะพบ

อำมาตย์รับพระดำรัสของพระเจ้าสุทโธทนะแล้วก็เดินทางไปยังกรุงราชคฤห์ เข้าไปยังเวฬุวันวิหารในเวลาที่พระพุทธองค์แสดงธรรม อำมาตย์ฟังพระธรรมเทศนาของพระบรมศาสดาแล้วได้บรรลุอรหัตผล พร้อมบุรุษบริวาร ๑,๐๐๐ ทั้งที่ยืนอยู่นั่นเอง จึงกราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธองค์ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่ชนทั้งหมด

จำเดิมแต่บรรลุพระอรหัต ชนเหล่านั้นมิได้ส่งข่าวให้พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบ พระเจ้าสุทโธทนะ ทรงส่งอำมาตย์พร้อมบริวาร ๑,๐๐๐ โดยทำนองเดียวกัน ตามมา ถึง ๙ ครั้ง ก็มิมีผู้ใดนำข่าวกลับมาแจ้ง เมื่อทุกคนยังกิจของตนให้สำเร็จ คือได้บรรลุพระอรหัตแล้ว ก็พำนักอยู่ที่กรุงราชคฤห์นั่เอง


ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.dhammatalks.net/Articles/Life_of_the_Buddha_in_Pictures.htm

อำมาตย์ที่พระเจ้าสุทโธทนะส้่งไปกรุงราชคฤห์ในครั้งสุดท้ายนั้น ก็คือ กาฬุทายีอำมาตย์
ผู้ที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงเห็นว่ากาฬุทายีเป็นผู้มีความจงรักภักดีมั่นคงนักทั้งยังรักใคร่สนิทสนมกับพระบรมศาสดา คงจะอาราธนาพระพุทธองค์กลับมาที่กบิลพัสดุ์ได้ ซึ่ง กาฬุมายีนั้นเป็นหนึ่งในสหชาติของพระพุทธองค์นั่นเอง กาฬุทายีรับพระดำรัสแล้ว กราบทูลว่า ขอให้ข้าพระพุทธเจ้าได้บวชด้วย พระเจ้าสุทโธทนะก็รับสั่งกำชับว่า เธอจะบวชหรือไม่ก็ตามที จักต้องนำลูกเรากลับมาให้ได้

กาฬุทายี ชื่อเดิม อุทายี เป็นชื่อที่บิดาและมารดาตั้งให้ เพราะเกิดในวันที่ชาวพระนครทั้งสิ้นมีจิตเบิกบาน เกิดวันเดียวกันกับเจ้าชายสิทธัตถะ แต่เพราะมีผิวพรรณค่อนข้างดำ คนทั้งหลายจึงเรียกว่า กาฬุทายี
บิดาและมารดาไม่ปรากฎนามในตำนาน แต่บอกว่า บิดาเป็นอำมาตย์รับราชการในกรุงกบิลพัสดุ์
พระกาฬุทายีนั้น เติบโตมาพร้อมกันกับพระสิทธัตถราชกุมาร เป็นสหายรักใคร่ ชอบใจ คุ้นเคยกัน ฉลาดในทางนิติบัญญัติ ต่อมาได้เป็นอำมาตย์ในราชสำนักของกรุงกบิลพัสดุ์

เมื่อไปถึงกรุงราชคฤห์แคว้นมคธ กาฬุทายีอำมาตย์พร้อมบริวารด้วยเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ ๑,๐๐๐ คน ได้ฟังพระธรรมเทศนา แล้วได้บรรลุอรหัตผล ดำรงอยู่ในความเป็นเอหิภิกขุเช่นเดียวกัน ้


ขอขอบคุณภภาพจากhttp://www.dhammajak.net

ครั้นในวันเพ็ญเดือน ๔ พระกาฬุทายีเถระคิดว่า บัดนี้ย่่างเข้าสู่วสันตฤดู (ฤดูใบไม้ผลิ) พืชผลต่าง ๆ เก็บเกี่ยวเรียบร้อยแล้ว สะดวกแก่การเดินทาง เห็นว่าเป็นกาลสมควรที่พระทศพลจะทรงกระทำการสงเคราะห์พระญาติแล้ว พระกาฬุทายีเถระ จึงเข้าไปกราบทูลให้เสด็จไปนครกบิลพัสดุ์ พรรณนาถึงหนทางเสด็จ เพื่อต้องการให้พระบรมศาสดาเสด็จไปยังพระนครของราชสกุล




กาฬุทายีอำมาตย์ ได้ทูลพรรณนาหนทางที่จะเสด็จดำเนินให้เพลิดเพลินด้วยคาถา ๖๐ คาถา เป็นต้นว่า





ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ หมู่ไม้กำลังผลัดใบ ใบเก่าล่องไป ใบใหม่เกิดแทน ดูแล้วแสนเจริญตา สีแดงเจิดจ้าอุปมาดังถ่านเพลิง น่ารื่นเริงทั่วพนาวัน

ไม้ดอกก็ออกดอกทั่วกัน บ้างก็บาน บ้างยังตูม เป็นที่ลุ่มหลงแห่งภมร กลิ่นเกสรหอมกระจายไปทั่วทิศ ชวนรื่นรมย์ดวงจิตทั้งมนุษย์และเทวดาที่ได้มาพบเห็น

ไม้ผลก็ออกผล ให้ทั้งคนและสัตว์ป่า พอสืบชีวาอยู่ได้ตามวิสัยของผู้มีเมตตา ไม่เบียดเบียนเข่นฆ่า ชีวิตใคร

อากาศก็สบายไม่หนาวนักไม่ร้อนนัก จะหยุดพักหรือเดินทางก็ไม่สร้างปัญหา โรคาไม่เบียดเบียน

ขอเชิญพระพิชิตมารคมนาการสู่กบิลพัสดุ์ เพื่อตรัสเทศนาโปรดพระบิดาและประยูรญาติ ประกาศ ญาตัตถจริยา ตามธรรมดาของสัมมาสัมพุทธะ พระพุทธเจ้าข้า





พระพุทธองค์เสด็จพร้อมด้วยพระขีณาสพสองหมื่นองค์ (พระขีณาสพหมายถึง พระผู้สิ้นอาสวะ, พระอรหันต์, เขียนเป็น กษีณาศรพ กษิณาศรพย และ กษิณาสยพ ก็มี )




ระหว่างการเดินทางพระกาฬุทายีเถระได้นำข่าวการเสด็จพระพุทธดำเนินมาให้พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบด้วยฤทธิ์ พระเจ้าสุทโธทนะทอดพระเนตรเห็นพระเถระมาทรงพอพระทัย ถวายอาหารบิณฑบาตที่ได้จัดเตรียมไว้แก่พระเถระ แล้วตรัสว่า


"นิมนต์ท่านฉันภัตตาหารนี้ก่อน แล้วจึงค่อยนำบิณฑบาตจากที่นี้ไปถวายแก่บุตรของเรา จนกว่าบุตรของเราจะเดินทางมาถึงพระนคร"



พระกาฬุทายีถวายบาตรแด่พระพุทธองค์

ขอขอบคุณภาพจาก http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=45513&start=30

พระเถระได้นำบิณบาตไปทุกวันโดยอุบายนี้ เมื่อชนชาววังกำลังเฝ้าดูอยู่ในที่นั้นแหละ พระเถระโยนบาตรที่เต็มไปด้วยภัต อันจะนำไปถวายพระบรมศาสดาในท่ามกลางอากาศ แม้ตนเองก็เหาะขึ้นสู่เวหาสแล้วน้อมเอาบิณฑบาตเข้าไปถวายพระพุทธองค์ทุกวันเช่นนี้ พระบรมศาสดาเสวยบิณฑบาตของพระเจ้าสุทโธทนะเท่านั้นในระหว่างการเดินทาง

ทุกวันหลังกระทำภัตกิจเสร็จแล้ว ท่านกาฬุทายีเถระได้แสดงธรรมีกถา ที่ประกอบด้วยพุทธคุณ แก่พระเจ้าสุทโธทนะและบริษัท




ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.dhammatalks.net/Articles/Life_of_the_Buddha_in_Pictures.htm

พระกาฬุทายีเถระกราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะให้ทรงทราบว่า วันนี้พระพุทธองค์เสด็จมาสิ้นระยะทางเท่านี้ เท่านี้แล้ว พระเถระได้ทำราชสกุลทั้งสิ้นให้มีความเลื่อมใสเกิดขึ้นในพระบรมศาสดาโดยที่ยังไม่เห็นพระองค์
สิ้นเวลา ๖๐ วัน พระบรมศาสดาจึงเสด็จถึงกบิลพัสดุ์

โปรดพระเจ้าสุทโธทนะและพระประยูรญาติ ประกาศพระพุทธศาสนาในสักกประเทศ แล้วได้เสด็จไปประทับอยู่ที่นิโครธาราม

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงยกย่องท่านพระกาฬุทายีเถระว่า เป็นผู้เลิศกว่าพระสาวกทั้งหลายผู้ยังราชสกุลให้เลื่อมใส



ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.dhammatalks.net/Articles/Life_of_the_Buddha_in_Pictures.htm


พระกาฬุทายีเถระนี้ ได้สั่งสมบุญกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในพุทธกาลเป็นอันมาก
ในกาล แห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ได้เห็นภิกษุรูปหนึ่งที่พระศาสดาทรงสถาปนาเธอไว้ในตำแหน่ง ที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ทำสกุลให้เลื่อมใส จึงเร่งกระทำบุญกรรมสะสมไว้เพื่อได้ตำแหน่งนั้นแล้ว ได้ตั้งความปรารถนา พระศาสดาทรงพยากรณ์แล้ว เวลาผ่านไปหนึ่งแสนกัปป์ ความปรารถนาของเขาได้สำเร็จในสมัยแห่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย ดังได้กล่าวมาแล้ว


พระกาฬุทายีเถระ ได้บรรลุพระอรหัตผลอันเป็นประโยชน์สูงสุดของตนแล้ว ได้ช่วยพระศาสดา ประกาศพระศาสนาตามความสามารถ




ธรรมวาทะ ของพระกาฬุทายีเถระ

ชาวนาหว่านพืชบ่อย ๆ ฝนตกลงมาบ่อย ๆ
ชาวนาไถนาบ่อย ๆ แว่นแคว้นสมบูรณ์ด้วยธัญญาหารบ่อย ๆ
พวกยาจกเที่ยวขอทานบ่อย ๆ ผู้เป็นทานาธิบดีให้ทานบ่อย ๆ
ครั้นให้ทานบ่อย ๆ ย่อมเข้าถึงสวรรค์บ่อย ๆ
บุรุษผู้มีความเพียร มีปัญญากว้างขวาง
เกิดในสกุลใด ย่อมทำสกุลนั้นให้บริสุทธิ์สะอาด
ข้าพระองค์เข้าใจว่า พระองค์เป็นเทพเจ้าผู้ประเสริฐกว่าเทพเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงสามารถทำสกุลให้บริสุทธิ์ เพราะพระองค์เกิดแล้วโดยอริยชาติ ได้สัจนามว่า นักปราชญ์






เอหิภิกขุอุปสัมปทา

เป็นชื่อเรียกวิธีบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในสมัยพุทธกาลยุคต้นๆ โดยพระพุทธเจ้าทรงประทานให้ด้วยพระองค์เอง โดยการตรัสว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด ตรัสเพียงเท่านี้ ก็เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว เพราะคำตรัสขึ้นต้นว่า เอหิ ภิกขุ... จึงเรียกการอุปสมบทแบบนี้ว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา เรียกผู้ได้รับการอุปสมบทว่า เอหิภิกขุ การอุปสมบทแบบนี้ทรงประทานแก่พระอัญญาโกณฑัญญมหาเถระเป็นท่านแรก จึงถือว่าท่านเป็นปฐมสาวกหรือเป็นปฐมเถระในพระพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อมีผู้มาขอบวชมากขึ้นพระพุทธองค์จึงได้ทรงเลิกวิธีอุปสมบทแบบนี้ และทรงเปลี่ยนวิธีใหม่เป็น ติสรณคมนูปสัมปทา และเป็นวิธีญัตติจตุตถกรรมวาจาซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน


 ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)
http://www.gongtham.net/my_data/luksut/anududdha/5bud_10.html
วิกิพีเดีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น