วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2557
สู่แดนพระพุทธงค์ ๘๕ พระนางยโสธรา (พิมพา )
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.palapanyo.com/pimpa/สมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณี
พระนางยโสธรา (พระนางพิมพา หรือ พระนางยโสธราพิมพา) ประสูติวันเดียวกันกับเจ้าชายสิทธัตถะ (พระโคตมพุทธเจ้า) ซึ่งนับพระนางเป็น ๑ ในสหชาติทั้ง ๗ ของพระพุทธองค์
พระนางยโสธราทรงเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะ พระมารดามีพระนามว่าพระนางอมิตาเทวี ประสูติในตระกูลศากยะแห่งโกลิยวงศ์ กรุงเทวทหะ แคว้นโกลิยะ
เมื่อแรกประสูติพระญาติทั้งหลายได้ทรงถวายพระนามว่า "ภัททากัจจานา" เพราะพระสรีระของพระองค์ มีพระฉวีวรรณสีเหมือนทองคำอันบริสุทธิ์
พอมีพระชนม์ ๑๖ พรรษา ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อมีพระชนม์ ๒๙ พรรษาได้ ประสูติพระราชโอรส โดยพระเจ้าสุทโธทนะให้พระนามว่าพระราหุล
ครั้นเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช พระนางยโสธราทรงเกิดความเศร้าโศกพระทัยยิ่งนัก ได้ทรงละเว้นการตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับนานาประการ ทรงมีจิตผูกพัน และมีความรักอันลึกซึ้งต่อพระองค์ แม้วัฒนธรรมอินเดียในยุคนั้นจะถือว่าหญิงไม่มีสามีจะถือว่าไม่มีเกียรติ และหญิงนั้นสามารถมีสามีใหม่ได้ แต่พระนางก็ไม่สนพระทัยในชายอื่น พระนางยังคงทรงเฝ้ารอพระสวามีของพระนางเพียงพระองค์เดียว
จนกล่าวได้ว่าไม่ว่าจะได้ข่าวว่าพระสวามีทรงปฏิบัติตนอย่างไร พระนางพิมพาก็ทรงปฏิบัติตนเยี่ยงนั้น
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.dhammatalks.net/Articles/Life_of_the_Buddha_in_Pictures.htm
และเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมากรุงกบิลพัสดุ์เพื่อโปรดพระพุทธบิดาและพระประยูรญาติ ในวันแรกพระนางมิได้ทรงออกไปถวายการต้อนรับ
แต่ในวันที่สองขณะที่พระพุทธองค์เสด็จออกทรงรับบาตร พระนางยโสธราทรงชี้ให้พระราหุลได้ทอดพระเนตรพระบิดาของพระองค์แต่มิได้ออกไปทรงบาตร ทรงเก็บตัวอยู่ในพระตำหนัก
เมื่อพระพุทธบิดาดำรงอยู่ในสกทาคามิผล พระนางปชาบดีโคตมีได้บรรลุโสดาปัตติผล เหล่านางสนมกำนัลกำลังพากันไปเฝ้าพระบรมศาสดา มีพระนางยโสธราผู้เดีียว กล่าวว่า
หากพระองค์เห็นคุณงามความดีของเราก็จะเสด็จมาเอง เมื่อนั้นเราจึงจะถวายบังคม
พระพุทธองค์เสด็จไปยังปราสาทของพระนางยฌสธรา พร้อมกับพระอัครสาวกทั้งสอง
ทรงให้พระพุทธบิดารับบาตรแล้วตรัสกับพระอัครสาวกทั้งสองว่า
มารดาของราหุลมีคุณแก่เรามาก ขณะที่พระนางถวายบังคม ไม่พึงกล่าวความใด
เมื่อเสด็จถึง พระนางยโสธราถวายบังคมแล้ว เกลือกพระเศียรลงบนหลังพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ขอขอบคูณภาพจาก http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=39613&start=30
พระเจ้าสุทโธทนะตรัสถึงความรักเคารพที่พระนางมีต่อพระพุทธองค์ว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระสุณิสาของหม่อมฉันได้ฟังข่าวว่า
ทรงนุ่งห่มผ้ากาสาวะ (ฟ้าย้อมน้ำฝาด) พระนางก็เปลี่ยนชุดทรงมานุ่งห่มผ้ากาสาวะด้วย
ได้สดับว่าพระองค์มีภัตหนเดียว ก็มีภัตหนเดียวด้วย
ทรงสดับว่าพระองค์ทรงสละที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ ก็ทรงบรรทมเฉพาะบนเตียงน้อยอันขึงด้วยแผ่นผ้า
ทรงทราบว่าพระองค์ทรงละเว้นจากของหอม มีดอกไม้เป็นต้น ก็ทรงเว้นดอกไม้ของหอมบ้าง
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระสุณิสาของหม่อมฉัน เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติอย่างนี้ "
พระบรมศาสดาทรงตรัสว่า
มหาบพิตร ข้อที่พระสุณิสาอันพระองค์รักษาคุ้งครองอยู่ในบัดนี้ รักษาตนเองได้ในเมื่อญาณแก่กล้าแล้วนั้น ไม่น่าอัศจรรย์ ในอดีตราชธิดานี้ไม่มีการอารักขา ท่องเที่ยวอยู่ที่เชิงเขา ก็รักษาตนอยู่ได้ แม้ญาณยังไม่แก่กล้า"
เพื่อทรงบรรเทาความเศร้าโศกของพระนาง พระพุทธองค์ตรัส "จันทกินนรชาดก " ว่าด้วยเรื่องความจงรักภักดีของพระนางที่มีต่อสามีในอดีต ครั้งเสวยพระขาติเป็นกินนรอยู่ในป่าหืมพานต์ โปรดพระนางยโสธราให้บรรลุโสดาปัตติผล
(เรื่องจันทกินนรชาดก นี้ผู้สนใจเปิดหาอ่านได้ตามเว็ปไซต์ และ Blog ต่าง ๆ มากมาย)
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในครั้งก่อนนางก็ไม่ได้เอาใจออกห่างเรา มิใช่หญิงที่ผู้อื่นจะนำไปได้เหมือนกัน
ทรงประชุมชาดกว่า
พระราชาในครั้งนั้นได้มาเป็นเทวทัต
ท้าวสักกะได้มาเป็นอนุรุทธะ
จันทากินรี ได้มาเป็นมารดาเจ้าราหุล(ยโสธรา)
ส่วนจันทกินนรได้มาเป็นเราตถาคตแล.
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)
http://www.vichadham.com/buddha/yasotara.html
พลอยโพยมขอคัดลอกงานวิจัยการศึกษาวิเคราะห์การสร้างบารมีของพระนางพิมพาที่ปรากฏในชาดก (๒๕๔๖)
Researcher : นางไพลิน องค์สุพรรณ
Degree : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
Committee : พระมหาไพเราะ ฐิตสีโล
นายสนิท ศรีสำแดง
นาย รังษี สุทนต์
Graduate : ๓ เมษายน ๒๕๔๖
มีดังนี้
งานวิจัยนี้ มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์การเกิดร่วมชาติเพื่อสร้างบารมี ๑๐ ประการ ของพระนางพิมพากับพระโพธิสัตว์ คือ (๑) ทานบารมี (๒) ศีลบารมี (๓) เนกขัมมบารมี (๔) ปัญญาบารมี (๕) วิริยบารมี (๖) ขันติบารมี (๗) สัจจบารมี (๘) อธิฐานบารมี (๙) เมตตาบารมี (๑๐) อุเบกขาบารมี
เนื่องจากพระโพธิสัตว์ ผู้บำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ ประการนี้จนบริบูรณ์เต็มเปี่ยมแล้วจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศาสดาเอกในโลก ซึ้งต้องใช้เวลานานแสนนานนับอสงไขย และต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏนี้ยาวนาน จะต้องมีบุคคลผู้มีส่วนร่วมคอยช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง สำหรับพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารมีแล้วมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมนี้
ผู้มีส่วนสนับสนุนช่วยเหลือในการบำเพ็ญบารมีที่สำคัญ คือ พระนางพิมพา พระนางได้ตั้งความปรารถนาขอร่วมสร้างบารมีตั้งแต่พบพระพุทธเจ้าทีปังกร เมื่อครั้งพระโพธิสัตว์ทรงเกิดเป็นสุเมธดาบส
จากการศึกษา ผู้วิจัยได้ค้นพบประเด็นสำคัญและน่าสนใจ พอสรุปได้ ดังนี้
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.dhammatalks.net/Articles/Life_of_the_Buddha_in_Pictures.htm
พระนางพิมพา ได้ทรงพบพระโพธิสัตว์ ในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกรในครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เกิดเป็นสุเมธดาบส ส่วนพระนางพิมพาเกิดเป็นนางสุมิตตา ทั้งสองได้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าทีปังกรพร้อมกัน นางทราบว่า สุเมธดาบสปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตเกิดความเลื่อมใส จึงมอบดอกบัวให้พระโพธิสัตว์เพื่อบูชาพระพุทธเจ้าด้วยกัน โดยนางอธิฐานขอเกิดร่วมสร้างบารมีคอยรับใช้สุเมธดาบส จนกว่าจะสิ้นภพสิ้นชาติ
ต่อจากนั้น พระนางพิมพาได้ทรงเกิดร่วมชาติกับพระโพธิสัตว์หลายภพชาตินับไม่ถ้วน แต่ที่ปรากฏในชาดกมี ๓๒ ชาติ รวมชาติสุดท้ายที่เกิดเป็นพระนางพิมพาเป็น ๓๓ ชาติ
พระนางพิมพา ได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือในการสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์ เป็นเหตุให้พระโพธิสัตว์สร้างบารมีได้ครบถ้วนบริบูรณ์ ถ้าขาดพระนางแล้วการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์คงจะไม่ถึงที่สุด โดยเฉพาะในข้อที่พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ ต้องบำเพ็ญปัญจมหาบริจาคให้ครบถ้วน บารมีที่เด่นชัดของพระนางพิมพา ได้แก่ ความเสียสละและความอดทน
ซึ่งเป็นปัจจัยโดยอ้อมต่อการบรรลุธรรมของพระโพธิสัตว์
ในชาติสุดท้าย พระนางพิมพา แม้จะทรงลืมความตั้งใจในอดีตชาติโดยรู้สึกเสียพระทัยที่พระโพธิสัตว์เสด็จหนีออกผนวช แต่ภายหลังพระนางก็ทรงเข้าพระทัยแล้วได้ออกบวชบำเพ็ญบารมีจนบรรลุอรหัตตผลสิ้นภพสิ้นชาติ ถือว่าแรงอธิษฐานของพระนางที่ได้ตั้งไว้ในอดีตชาติสมประสงค์
การตั้งความปรารถนาร่วมกันของพระโพธิสัตว์กับของพระนางพิมพาแล้วอุทิศทั้งกายและจิตใจบำเพ็ญคุณความดีอย่างไม่ย่อท้อ ถือเป็นแบบอย่างที่อนุชนทั้งหลายพึงศึกษาแล้วน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติตามเหมาะสมแก่เพศ ภาวะ ของแต่ละคน ได้เป็นอย่างดี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.mcu.ac.th/En/thesiscontent_desc.php?ct=1&t_id=108
ป้ายกำกับ:
[บทความ]
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น