วันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2557
สู่แดนพระพุทธองค์ ๗๙ นครแห่งโกลิยะวงศ์
ขอขอบคุณภาพจากwww.oknation.net
ในอาณาจักรของโกลิยะ มีนครขนาดเล็กใกล้เชิงเขาหิมาลัย บริเวณนี้เป็นถิ่นที่สมบูรณ์ด้วยธัญพืช มีสายน้ำโรหิณีเป็นเสมือนธารน้ำนม ที่หล่อเลี้ยงชาวเทวทหะให้เจริญ และแม่น้ำโรหืณีนี่เองคั่นระหว่างกรุงกบิลพ็สดุ์และกรุงเทวทหะ อันเป็นแดนกำเนิดของพระนางสิริมหามายาพระพุทธมารดา พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระนางยโสธรา มารดาพระราหุล และเป็นหนึ่งใน ๘ พระนคร ที่ได้รับมอบพระบรมสารีริกธาตุจากนครกุสินาราแดนปรินิพพาน มาประดิษฐานที่รามคามสถูปในเขตนครเทวทหะนั่นเอง
กล่าวถึงราชสกุลโกลิยวงศ์ แห่งนครเทวทหะ ศากยวงศ์แห่งนครกบิลพ้สดุ์ว่า มีการสืบค้นจากพระเจ้าโอกกากราช เป็นปฐมกษัตริย์ มีโอรส ธิดา ๙ พระองค์ เมื่อได้โอรสจากมเหสีใหม่ ๑ องค์ เป็นเหตุให้ โอรส ธิดา จากอัครมเหสี ทั้ง ๙ ต้องไปสร้างเมืองใหม่
เมื่อพระกุมารเจริญวัย อำมาตย์ทั้ง ๘ ได้จัดอาวาหมงคลให้ ด้วยการปะปนกับคนต่างวรรณะจะทำให้ชาติตระกูลไม่บริสุทธิ์ จึงจัดอภิเษกสมรสกันเองในระหว่างพี่น้อง โดยการยกพระเชษฐภคนี (พี่สาวคนโต) ไว้ในฐานะมารดา ซึ่งต่อมาได้อภิเษกกับพระเจ้ากรุงพาราณสีนามว่า รามะ ที่ทรงเป็นโรคเรื้อน สละราชสมบัติเข้าป่าเสวยรากไม้โกละในป่าใหญ่จนหายโรค วันหนึ่งเสด็จเที่ยวไปจนพบพระเชษฐภคนีที่ส่งเสียงดังเพราะเห็นเสือโคร่งกำลังคุ้ยดินและจะเข้ามากัดกิน ทรงเข้าช่วยเหลือ กาลต่อมาทรงอยู่ร่วมกันและให้การประสูติพระโอรส ๓๒ พระองค์
พระมารดาของเหล่ากุมาร ๓๒ พระองค์ แนะนำกุมารทั้งหลายให้ทราบว่า มีพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพ้สดุ์ จากนั้นศากยวงศ์ กับโกลิยวงศ์ได้ทำการอาวาหมงคล และวิวาหมงคลซึ่งกันและกันไม่ขาดสาย กระทั่งสืบทอดมาถึงพระนางสิริมหามายา ธิดาในพระเจ้ามหานามะ ทรงอภิเษกสมรสกับพระเจ้าสุทโธทนะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ สองพระองค์ทรงเป็นต้นกำเนิดแห่งสิทธัตถราชกุมาร เอกมหาบุรุษแห่งโลก
เทวทหะในปัจจุบัน
เทวทหะ ในปัจจุบันเรียกว่า Davedaha ขึ้นต่ออำเภอรูปันเวหิ กับ Nawalparais district ตามเส้นทาง มเหนทรา ไฮเวย์ จากลุมพินี ผ่านเมือง Butwal ไปกาฐมัณฑุ เมื่อผ่านแม่น้ำโรหิณี จะมีป่าสาละต้นใหญ่ ๆ จำนวนมาก มีป้ายข้างทาง บอกว่า Devadaha Capital of Ancient Koliya Kingdom Birth Place of Mayadevi the Mother of Lord Buddha
(เทวทหะ เมืองหลวงสมัยโบราณของอาณาจักรโกลิยะ เป็นมาตุภูมิเดิมของพระนางมหามายา พุทธมารดา) แสดงว่า เข้าเขตเมืองเทวทหะอาณาจักรแห่งโกลิยะวงศ์ในสมัยโบราณแล้ว
ก่อนถึงหมู่บ้านเทวทหะ ระหว่างทางจะเห็นป่าสาละขึ้นอยู่ มีเนินดิน บ่อน้ำ กองหิน มองเห็นได้จากถนนหลวง ก่อนถึงประตูเข้านครเทวทหะ เป็นคูเมืองยาวประมาณ ๓ ก.ม. มีต้นไม้คลุมสีเขียวโดยทั่ว
เทวทหนครเมืองของพระพุทธมารดาหลังจากพุทธกาลแล้ว ชื่อเมืองและบทบาทของพวกเทวทหะก็จางหายไปจากประวัติศาสตร์ ได้ปรากฎหลักฐานทางโบราณคดีจากซากเมืองโบราณที่พังทะลายจมอยู่ใต้ดิน ต้นไม้ขึ้นจนเป็นป่า หมู่บ้านบางแห่งก็ใช้ทำสวน ทำนา กับซากปรักหักพังของกำแพงเมืองประตู ปราสาท ราชฐาน และอาราม มีเทวรูปเก่า ๆ มองจากร่องน้ำตัดเนินดินลงไป จะพบก้อนหินใหญ่ ๆ หินสลักโบราณ ซึ่งอยู่ฝังจมดินนับเป็นทศวรรษแล้ว
บริเวณเนินดิน มีบ้านเรือนอยู่เป็นหลัง ๆ ระยะห่างกัน ในที่โล่งแจ้งมีเทวาลัยอยู่ ๒ แห่ง ชาวบ้านเรียกกันว่า ไบริไม ( Bairi Mai ) เป็นวิหารที่อยู่ของสิริมหามายาเทวี กับวิหารที่อยู่ไม่ไกลกันนัก เรียกว่า กันยาไม (Kanya Mai ) เป็นที่บูชาพระแม่ปชาบดี ทั้งสองแห่งนี้ในวันนักขัตตฤกษ์จะมีการจัดงานประเพณีเพื่อน้อมรำลึกถึงมหาเทวีทั้งสอง ผู้นำเกียรติคุณมาสู่เทวทหนคร
ในวิหารทั้งสองแห่งมีลักษณะคล้าย ๆ กันคือ ข้างในมีก้อนหิน ตั้งอยู่บ้าง นอนอยู่บ้าง บางชิ้นเป็นเทวรูปสีดำ มีฝุ่นแดงทาทับและอาบด้วยน้ำมันติดอยู่ตามองค์ มีดอกไม้ ข้าวตอกสีขาว ที่ชาวบ้านพากันมากราบไหว้ เทวาลัยหรือวิหารต้องเดินเข้าไปอีกจนถึงริมทางน้ำ ที่แห่งนี้เองที่ชาวบ้านบอกว่าเป็นเทวาลัยของพระแม่เจ้ามายาเทวี ด้านหลังมีต้นโกละ ( Kola) ขนาดสูงใหญ่ ชาวพื้นเมืองบอกว่าเป็นยาโบราณที่รักษาโรคเรื้อนได้
ขอขอบคุณภาพจากwww.bodhigaya980.org
ริมทางน้ำมองเห็นอิฐก้อนใหญ่ มีขนาดโตกว่าที่ลุมพินีเสียอีก พร้อมด้วยหินภูเขาเรียงกันเป็นชั้น ๆ ในบริเวณส่วนบนมีอิฐที่แตกหักโรยอยู่ทั่วไป ซึ่งตามหลักฐานกล่าวว่าเป็นกำแพงวังมาแต่เดิม
สถานที่ในเอกสารของ อสท.กับกองโบราณสถานของเนปาลแนะนำไว้ สองแห่ง คือบริเวณวังโบราณ ปัจจุบันเป็นหมู่บ้าน ดาวานิ (Kawani) มีต้นสาละอายุเกินกว่าพันปี มีท่อนหินปักอยู่ทางมัณติร ท่อนหินนี้ว่ากันว่าเป็นเสาหินที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างขึ้นโผล่ขึ้นมาเหนือดินประมาณฟุตครึ่ง ส่วนที่เป็นต้นเสายังอยู่ในดิน สามีจินักบวชเนปาลที่เฝ้าอาศรมบอกด้วยความมั่นใจว่า พระเจ้าอโศกมหาราชทรงนำมาปักไว้คราวเมื่อเสด็จมาลุมพินีและกรุงกบิลพัสดุ์ ด้านหลังของเทวาลัยมีกองอิฐก้อนใหญ่ ๆ ขนาดเดียวกับที่พบในลุมพินัี มีบ่อน้ำโบราณ
พระสถูปเจดีย์แห่งรามคาม
ขอขอบคุณภาพจากwww.oknation.net
สถูปโบราณรามคาม (Ramagrama) อาณาจักรโกลิยะแห่งสักกชนบท เป็นมาตุภูมิของพระนางเจ้าสิริมหามายา พระน้านางปชาบดีโคตมี และพระนางยโสธรา(พิมพา) พระมารดาพระราหุล ตั้งอยู่ใกล้หมู่บ้านอุชเชนี ในอำเภอ Nawaiparasi ในเขตอนุรักษ์ทางโบราณคดี มีน้ำล้อมรอบเหมือนว่าอยู่กลางทุ่งนาและมีบ่อสี่เหลี่ยม ซึ่งเป็นร่องรอยจากการขุดค้นเพื่อหาหลักฐาน
ในการเดินทางสู่รามคามต้องตัดจาก Mahendra Highway แยกเข้าชุมชน Parasi สามารถไปได้จนถึงรามคาม รถวิ่งตามถนนขนาดเล็กลาดยาง มีต้นไม้สองข้างทางร่มรื่นสะดวกกว่าทางเข้าเทวทหะ
ตามพุทธประว้ติกล่าวว่า เมื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ณ กรุงกุสินารา แคว้นมัลละแล้ว กษัตริย์ ๘ พระนครทั่วชมพูทวีป นำมวลชนเข้าขอมีส่วนร่วมในพระบรมสารีริกธาตุ โทณพราหมณ์ นักการทูตชั้นยอดของกรุงกุสินารา ทำหน้าที่แบ่งออกเป็น ๘ ส่วน ตามพระบัญชาของมัลลกษัตริย์ คือ เมืองราชคฤห์ เมืองเวสาลี เมืองกบิลพัสดุ์ เมืองอััลลกัปปะ เมืองรามคาม เมืองวฏฐทีปะ เมืองปาวา เมืองกุสินารา ดังนั้นกรุงเทวทหะแห่งอาณาจักรโกลิยะ จึงได้พระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานที่รามคาม
ขอขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย
สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พ.ศ. ๒๖๙ - ๓๑๒ ( ก่อน ค.ศ. ๒๗๓ ปี) เมื่อเสร็จจากการทำสังคายนา โปรดให้เที่ยวค้นหาพระบรมสารีริกธาตุตามเมืองต่าง ๆ
หลวงจีนเล่าว่า พระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จมาถึงรามคามด้วยพระองค์เอง และเตรียมการขุดสถูป นาคซึ่งเฝ้าสถูปอยู่ได้แปลงร่างเป็นพราหมณ์ขอร้องพระองค์อย่าขุดทำลายสถูปนี้เลย เพราะเป็นของสำคัญในชีวิตของนาค พระสถูปทั้ง ๗ แห่งจึงถูกขุดบูรณะเสียใหม่ และสร้างเพิ่มอีก ๘๔,๐๐๐ องค์ นำพระบรมสารีริกธาตุแจกจ่ายไปบรรจุโดยทั่ว และนำไปบรรจุไว้ที่สถูปของพระองค์ในเมืองเวสาลีด้วย
ในบรรดาเจดีย์ที่ขุดค้นพบพระบรมสารีริกธาตุนั้น ( พ.ศ. ๒๙๕ ) จึงยกเว้นสถูปที่รามคามแห่งนี้เท่านั้น เพราะเหตุว่าพระเจ้าอโศกมหาราชได้รับการแสดงความเป็นเจ้าของผู้ดูแลจากนาคราชาพร้อมด้วยบริวารถวายการอารักขาพระบรมสารีริกธาตุอย่างมั่นคงอยู่แล้วนั่นเอง
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺฺโธ)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น