วันพุธที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

สู่แดนพระพุทธองค์ ๗๑ เรื่องราวคราวครั้งพุทธกาล ๒ พระกุมารกัสสปะ



พระกุมารกัสสปะ

มารดาของพระกุมารกัสสปะเป็นธิดาของเศรษฐี มีความปรารถนาจะบวชตั้งแต่ยังเป็นสาว แต่ไม่ได้รับอนุญาคจากบิดามารดา จนกระทั่งแต่งงานไปอยู่กับสามีและอยู่ครองเรือนได้ระยะหนึ่ง นางได้ปฏิบัติต่อสามีเป็นอย่างดีได้อ้อนวอนขออนุญาตบวช สามีก็ไม่ขัดใจยินดีและอนุญาตให้นางบวชตามความปรารถนา นางจึงไปขอบวชในสำนักของนางภิกษุณี ผู้เป็นศิษย์ของพระเทวทัต
ในขณะนั้นนางได้เริ่มตั้งครรภ์แล้ว โดยที่นางเองไม่ทราบ แม้สามีของนางก็ไม่ทราบ เช่นกัน

ต่อมาครรภ์ของนางโตขึ้น เป็นที่รังเกียจสงสัยของเพื่อนภิกษุณีด้วยกันและนำความไปบอกกับพระเทวทัต พระเทวทัตสั่งให้ขับนางออกจากสำนักและให่สึกทันที แม้นางจะอ้อนวอนและบอกว่าตนเองไม่ทราบการตั้งครรภ์ ตนเองบริสุทธิ์ พระเทวทัตก็ไม่ยอมเชื่อ
เมื่อคำอ้อนวอนของนางไม่เป็นผล นางจึงกล่าวว่า

" ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ดิฉันมิได้บวชอุทิศตนต่อพระเทวทัต แต่บวชอุทิศตนต่อพระบรมศาสดา ดังนั้นขอท่านทั้งหลายจงพาดิฉันไปสู่สำนักพระบรมศาสดาด้วยเถิด "


ขอขอบคุณภาพจากwww.dhammajak.net

นางจึงได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์
พระบรมศาสดาทรงทราบดีว่า นางมีครรภ์ตั้งแต่ยังเป็นคฤหัสถ์ แต่เพื่อให้นางบริสุทธิ์สะอาดจริง ๆ จึงรับสั่งให้พระอุบาลีเถระดำเนินการชำระอธิกรณ์เรื่องนี้ให้ชัดเจน

พระอุบาลีเถระได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มาร่วมกันพิสูจน์ โดยมีพระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นประธาน มีนางวิสาขามหาอุบาสิกา อนาถปิณฑิกะเศรษฐี และตระกูลอื่นเป็นต้น นางวิสาขาให้ขึงผ้าม่านโดยรอบแล้ว เรียกนางภิกษุณีเข้าไป แล้วตรวจดูมือ เท้า สะดือ และลักษณะของครรภ์แล้วนับวันนับเดือนสอบประวัติย้อนหลังโดยละเอียดแล้วก็ทราบชัดเจนว่า “นางตั้งครรภ์มาตั้งแต่ก่อนบวช” พระอุบาลีเถระ จึงได้ประกาศตัดสินอธิกรณ์ในท่ามกลางพุทธบริษัททั้ง ๔ ว่า นางภิกษุณีรูปนี้ยังมีศีลบริสุทธิ์อยู่ แล้วกราบทูลเนื้อความให้พระบรมศาสดาทรงทราบ
พระพุทธองค์ได้ตรัสอนุโมทนาสาธุการแก่พระเถระว่า ชำระความได้ถูกต้องยุติธรรม

จึงให้กลับไปอยู่ ณ ที่เดิม ต่อมานางคลอดบุตรมีอานุภาพมาก ซึ่งเป็นเพราะคยตั้งความปรารถนาไว้ ณ บาทมูลของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตระ

พระกุมารกัสสปเถระนี้ ก็ได้สร้างสมบุญญาธิการอันเป็นอุปนิสัยแห่งมรรคผลนิพพานมานาน ในพุทธกาลแห่งพระปทุมุตตระ ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้กล่าวถ้อยคำอันวิจิตร จึงได้ปรารถนาตำแหน่งนั้น ได้สร้างสมความดีที่สนับสนุนเกื้อกูลแก่ความปรารถนามาตลอดเวลา แล้วได้มาสมความปรารถนาในสมัยพระศาสดาของเราทั้งหลายดังกล่าวแล้ว

ภายหลังวันหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปใกล้ ๆ สำนักภิกษุณี ได้ยินเสียงเด็กร้องในห้องภิกษุณี จึงตรัสถามเรื่องราวเมื่อทรงทราบเรื่องก็ทรงพระเมตตารับเอาเด็กนั้นไปเลี้ยงในพระราชวัง เป็นพระราชบุตรบุญธรรม ประทานนามว่า “กัสสปะ” แต่เพราะพระองค์ทรงชุบเลี้ยงประดูจราชกุมาร จึงเรียกกันว่า “กุมารกัสสปะ”

เมื่อกุมารกัสสปะ เจริญเติบโตขึ้น และได้ทราบเรื่องราวมารดาและตนเองก็รู้สึกสลดใจในชะตาชีวิตจึงกราบทูลขออนุญาตบวชในพระพุทธศาสนา เมื่อได้รับอนุญาตแล้วได้ไปบวชเป็นสามเณรในสำนักพระบรมศาสดา ศึกษาพระกรรมฐานและพระธรรมวินัยจากพระบรมศาสดาและอาจารย์ทั้งหลาย จวบจนอายุครบ ๒๐ ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว กราบทูลลาพระผู้มีพระภาค เพื่อไปทำความเพียร บำเพ็ญสมณธรรมในป่า ได้บรรลุคุณพิเศษเบื้องต้นแล้ว จึงกลับมาศึกษาพระกรรมฐานในระดับสูงยิ่ง ๆ ขึ้นแล้วเข้าไปสู่ป่าอันธวัน บำเพ็ญเพียรอย่างอุกฤษฎ์ต่อไป
ไม่นานพระกุมารกัสสปะก็บรรลุอรหัตตผลหร้อมด้วยปฏิสัมภิทา

วันหนึ่งขณะออกบิณฑบาต ได้พบพระเถรีผู้เป็นมารดาของตน พระเถรีนั้นแม้ต่อมาจะทราบว่าบุตรชายของนางมาบวชแล้วก็ตาม แต่นางก็ยังมิได้เห็นหน้าพระลูกชายเลย เมื่อเห็นพระเถระผู้เป็นบุตรชายที่ตน เฝ้าแต่ร่ำไห้อยากพบมาเป็นเวลา ๑๒ ปี พระเถรีก็บังเกิดความดีใจสุดจะยับยั้ง นางก็รีบวิ่งไปหา และร้องเรียกขึ้นว่า ลูกของแม่ ลูกของแม่

พระกุมารกัสสปะคิดว่า
“ถ้าหากว่าเราพูดกับมารดาด้วยถ้อยคำอันไพเราะแล้ว นางก็ยิ่งเกิดความสิเนหารักใคร่ในตัวเรามากยิ่งขึ้น และจะเป็นเหตุทำให้นางเสื่อมเสียโอกาสบรรลุอมตธรรมได้ ควรที่เราจะกล่าวคำพูดที่ทำให้นางหมดอาลัยในตัวเราแล้ว นางก็จะได้บรรลุอมตธรรม”

ดังนี้แล้ว จึงกล่าวแก่นางว่า
“ท่านมัวทำอะไรอยู่ จึงตัดไม่ได้แม้กระทั่งความรัก”

ถ้อยคำของพระกุมารกัสสปะทำให้นางรู้สึกน้อยใจและเสียใจเป็นอย่างยิ่ง นางคิดว่า
“เราร้องไห้เพราะคิดถึงลูกชายนานถึง ๑๒ ปี เมื่อพบลูกชายแล้วกลับถูกลูกชายพูดจาตัดเยื่อใยให้ต้องช้ำใจอีก"
ด้วยความน้อยใจเช่นนี้ นางจึงตัดรักตัดอาลัย หมดความสิเนหาในตัวลูกชายอย่างสิ้นเชิง แล้วนางก็ได้ตั้งใจปฏิบัติวปัสสนากรรมฐาน จนได้บรรลุพระอรหัตผลในวันนั้นนั่นเอง

ต่อมาอีกไม่กี่วัน พวกภิกษุพากันสนทนาในโรงธรรมว่า พระบรมศาสดามีอุปการะแก่พระเถระและพระเถรี แม่ลูก คู่นี้มากเหลือเกิน เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมา ตรัสถามเรื่องที่สนทนากัน เมื่อทรงทราบแล้วจึงตรัสว่า
พระองค์มิใช่จะเคยช่วยในครั้งนี้เท่านั้น แม้ครั้งก่อนพระองค์ก็เคยช่วยเหมือนกัน แล้วตรัส นิโครธชาดก ทรงเล่าถึงเนื้อนิโครธเข้าไปช่วยชีวิตเนื้อแม่ลูกอ่อน ซึ่งจะถึงความตายในครั้งนั้น แล้วตรัสว่า

"ภิกษุทั้งหลาย เพราะคนอาศัยคนอื่นไม่สามารถจะมีสวรรค์หรือมรรคเป็นที่ไปในเบื้องหน้าได้ ฉะนั้น ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งของตน คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ เพราะบุคคลมีตนที่ฝึกฝนดีแล้วย่อมได้ที่พึ่งที่บุคคลหาได้โดยยาก"

พระกุมารกัสสปะนั้นท่านได้เป็นกำลังช่วยเหลือกิจการพระศาสนาเต็มกำลังความสามารถ ท่านมีความสามารถพิเศษในการแสดงธรรมได้อย่างวิจิตรพิสดาร ทั้งข้ออุปมาอุปไมยเปรียบเทียบให้ผู้ฟังรู้แจ้งเห็นจริง เข้าใจอย่างง่ายดาย
ครั้งหนึ่ง ท่านได้แสดงธรรมโปรดพระเจ้าปายาสิ ผู้ครองนครเสตัพยะ ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิดว่าโลกหน้าไม่มี กรรมดีกรรมชั่วไม่มีผล นรกสวรรค์ก็ไม่มี เมื่อได้ฟังธรรมจากพระเถระแล้วกลับเป็นสัมมทิฏฐิ ประกาศตนเป็นอุบาสก นับถือพระรัตนตรัยตลอดพระชนม์ชีพ

พระกุมารกัสสปเถระ กล่าวธรรมกถาได้อย่างวิจิตร สมบูรณ์ด้วยอุปมาและเหตุผล เช่น การโต้ตอบกับพระเจ้าปายาสิผู้ไม่เชื่อว่าโลกอื่นมีจริง เป็นต้น

พระเจ้าปายาสิเห็นว่านรกไม่มี เพราะไม่เคยเห็นญาติคนไหนตกนรกแล้วมาบอก พระเถระอุปมาว่า เหมือนคนทำความผิดร้ายแรง ถูกตัดสินจำคุกจะออกมานอกคุกได้อย่างไร

พระเจ้าปายาสิเห็นว่าสวรรค์ไม่มี เพราะไม่มีญาติที่ขึ้นสวรรค์กลับมาบอก พระเถระอุปมาว่า เหมือนคนพลัดตกลงไปในหลุมคูถ ครั้นขึ้นมาได้ ชำระร่างกายสะอาดแล้ว คงไม่มีใครอยากลงไปนอนในหลุมคูถอีก

พระเจ้าปายาสิตรัสว่า เคยฆ่าคนโดยเอาใส่ในหม้อ แล้วปิดฝาจนสนิทถมทั้งเป็นให้คนช่วยดูรอบ ๆ หม้อ ก็ไม่เห็นชีวะของผู้นั้นออกมา พระเถระอุปมาว่า เหมือนพระองค์เคยบรรทมหลับท่ามกลางผู้อารักขาและนางสนม แล้วทรงสุบินว่าเสด็จประพาสสถานที่ต่าง ๆ แต่ก็ไม่เคยมีใครเห็นชีวะของพระองค์ที่ออกไป

พระเจ้าปายาสิตรัสว่า เคยฆ่าคนโดยไม่ทำลายอินทรีย์ทั้ง ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ครั้นเขาตายแล้ว ทรงตรวจดู ไม่พบว่าทั้ง ๖ นั้นรู้สึกอะไรเลย พระเถระอุปมาว่า เหมือนคนเป่าสังข์ คนโง่ได้ยินเสียงสังข์ จึงมาขอดูเสียงของสังข์ ค้นหาอย่างไรก็ไม่พบเสียงในตัวสังข์ จึงบอกว่าสังข์ไม่มีเสียง

ยังมีเรื่องอีกมากมายที่แสดงถึงความฉลาดสามารถของพระกุมารกัสสปเถระ ในการอธิบายหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา ท่านสามารถโต้ตอบกับผู้ที่มาโต้แย้งคัดค้านคำสอนได้อย่างดี จึงนับว่าเป็นกำลังที่สำคัญรูปหนึ่งในการประกาศพระพุทธศาสนา

ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดา จึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางผู้แสดงธรรมอันวิจิตร

ท่านดำรงอายุสังขาร สมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.84000.org/one/1/38.html
http://www.watthasai.org/big_39_kumarakassapa.html
สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺฺโธ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น