วันอังคารที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2557

สู่แดนพระพุทธองค์ ๑๐๔ พระนางพิมพายโสธรา นางแก้วคู่บารมี ๑




ขอขอบคุณภาพวาดอาจารย์พันธุ์ศักดิ์ จักกะพาก จากwww.qsbg.org


การเกิดร่วมชาติเพื่อสร้างบารมี ๑๐ ประการ ของพระนางพิมพากับพระโพธิสัตว์ คือ
(๑) ทานบารมี
(๒) ศีลบารมี
(๓) เนกขัมมบารมี
(๔) ปัญญาบารมี
(๕) วิริยบารมี
(๖) ขันติบารมี
(๗) สัจจบารมี
(๘) อธิฐานบารมี
(๙) เมตตาบารมี
(๑๐) อุเบกขาบารมี




เนื่องจากพระโพธิสัตว์ ผู้บำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ ประการนี้จนบริบูรณ์เต็มเปี่ยมแล้วจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศาสดาเอกในโลก ซึ้งต้องใช้เวลานานแสนนานนับอสงไขย และต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏนี้ยาวนาน จะต้องมีบุคคลผู้มีส่วนร่วมคอยช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง สำหรับพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารมีแล้วมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมนี้

ผู้มีส่วนสนับสนุนช่วยเหลือในการบำเพ็ญบารมีที่สำคัญ คือ พระนางพิมพา พระนางได้ตั้งความปรารถนาขอร่วมสร้างบารมีตั้งแต่พบพระพุทธเจ้าทีปังกร เมื่อครั้งพระโพธิสัตว์ทรงเกิดเป็นสุเมธดาบส

พระนางพิมพา ได้ทรงพบพระโพธิสัตว์ ในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกรในครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เกิดเป็นสุเมธดาบส ส่วนพระนางพิมพาเกิดเป็นนางสุมิตตา ทั้งสองได้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าทีปังกรพร้อมกัน นางทราบว่า สุเมธดาบสปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตเกิดความเลื่อมใส จึงมอบดอกบัวให้พระโพธิสัตว์เพื่อบูชาพระพุทธเจ้าด้วยกัน โดยนางอธิฐานขอเกิดร่วมสร้างบารมีคอยรับใช้สุเมธดาบส จนกว่าจะสิ้นภพสิ้นชาติ



ขอขอบคุณภาพจากlifestyle.hunsa.com

ย้อนหลังไปในอดีตกาลล่วงมาได้ ๔ อสงไขยกับเศษแสนมหากัป
ครั้งนั้น พระนางพิมพาเกิดมาเป็นนางสุมิตตาพราหมณี อาศัยอยู่ในอมรวดีนครอันรุ่งเรือง
ในครั้งนั้น เป็นพุทธกาลของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระทีปังกร อันเป็นพระพุทธเจ้าลำดับที่ ๔ ในมหากัปนั้น และเป็นพระพุทธเจ้าลำดับที่ ๔ ใน ๒๘ พระองค์เมื่อนับถึงองค์ปัจจุบัน

เมื่อพระทีปังกรตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ทรงเผยแผ่พุทธศาสนาอยู่ที่รัมมกนคร

ครั้งหนึ่ง ชาวนครอมรวดีได้อัญเชิญเสด็จพระทีปังกรพร้อมพระสาวกขีณาสพ ๔ แสนรูปให้มารับมหาทานในนคร ในวันที่พระทีปังกรพุทธเจ้าจะเสด็จพุทธดำเนินมานั้น มหาชนผู้มีศรัทธาจำนวนมากก็พากันมารอรับเสด็จ ได้ช่วยกันถากถางทางและปรับพื้นที่ขรุขระมีน้ำขังให้ราบเรียบ เพื่อให้พระทีปังกรเสด็จดำเนินได้โดยสะดวก

นางสุมิตตาพราหมณีผู้มีศรัทธา ก็ได้มารอรับเสด็จพระทีปังกรร่วมกับมหาชน ในมือนางถือดอกบัวมา ๘ กำ เตรียมมาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

ขณะนั้นเอง นางสุมิตตาพราหมณีก็ได้เห็นดาบสผู้ทรงอภิญญารูปหนึ่ง คือ สุเมธดาบส เหาะมาในนภากาศ สุเมธดาบสมองลงมาเห็นมหาชนมาชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก จึงได้ลงมาสอบถาม เมื่อรู้ว่าพระทีปังกรพุทธเจ้ากำลังจะเสด็จดำเนินมาก็มีศรัทธา ขอร่วมในการปรับถนนด้วย ชาวเมืองเห็นว่าท่านสุเมธดาบสเป็นผู้มีฤทธิ์ จึงได้แบ่งงานบริเวณที่เป็นหลุมเป็นแอ่ง และมีน้ำท่วมขังมาก ให้ท่านดาบส สุเมธดาบสมีปิติยินดีเป็นอันมากที่จะได้เฝ้าพระพุทธองค์ จึงดำริว่าหากตนใช้ฤทธิ์ปรับถนน แม้งานจะสำเร็จรวดเร็ว แต่ก็ไม่ชื่นใจ ไม่สมกับศรัทธาที่ตนมี จึงได้อดทนขนดินทรายมาถมหลุมบ่อด้วยแรงกายเช่นสามัญชนทั่วไป





ขอขอบคุณภาพจากwww.palapanyo.com

สุเมธดาบสทอดตัวลงนอนปิดทับแอ่งน้ำนั้น ตั้งใจถวายชีวิตให้พระทีปังกร
การกระทำของสุเมธดาบสนี้ สร้างความศรัทธาและความชื่นชมแก่นางสุมิตตาพราหมณีที่เฝ้ามองอยู่ยิ่งนัก
เมื่อสุเมธดาบสยังปรับพื้นที่ไม่เสร็จดี พระทีปังกรพุทธเจ้า พร้อมพระสาวก ๔ แสนรูปก็เสด็จดำเนินมา สุเมธดาบสเห็นไม่ทันการณ์ เพราะยังมีบ่อที่น้ำท่วมขังอยู่ช่วงตัวหนึ่ง จึงตัดสินใจทอดตัวลงนอนปิดทับแอ่งน้ำนั้น ตั้งใจถวายชีวิตให้พระทีปังกรและพระสาวกเดินไปบนแผ่นหลังของตน

พระทีปังกรพุทธเจ้า เสด็จมายืนอยู่ที่เบื้องศีรษะของสุเมธดาบส ทรงตรวจสอบดูด้วยพระสัพพัญญุตาญาน ก็รู้ว่าสุเมธดาบสผู้นี้เป็นหน่อเนื้อพระโพธิสัตว์ผู้มีบารมีเต็ม เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ เป็นผู้สร้างสมพุทธการกธรรมมาแล้วถึง ๑๖ อสงไขย สมควรแก่การได้รับลัทธยาเทศได้แล้ว พระองค์จึงได้ทรงประกาศพุทธพยากรณ์ว่า

"ท่านทั้งหลายจงดูดาบสผู้มีตบะอัน รุ่งเรืองนี้ ดาบสผู้นี้กระทำความปรารถนายิ่งใหญ่เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า ความปรารถนาของเขาจักสำเร็จในที่สุดแห่งสี่อสงไขยกับเศษแสนกัปนับแต่นี้ เขาจักได้เป็นพระพุทธเจ้านามว่าโคตม ในอัตภาพนั้นของเขา จักมีนครนามว่า กบิลพัสดุ์ เป็นที่อยู่อาศัย พระมารดาทรงพระนามว่ามายา พระบิดาทรงพระนามว่าสุทโธทนะ พระอุปติสสะเป็นอัครสาวก พระโกลิตะเป็นอัครสาวกที่สอง พระอานนท์เป็นพุทธอุปฐาก พระเขมาเถรีเป็นอัครสาวิกา พระอุบลวรรณาเถรีเป็นอัครสาวิกาที่สอง เขามีญาณแก่กล้าแล้วออกมหาภิเนษกรมณ์ ตั้งความเพียรอย่างใหญ่ รับข้าวปายาสที่โคนต้นไทร เสวยที่ฝั่งเเม่น้ำเนรัญชรา ขึ้นสู่โพธิมณฑล และจักตรัสรู้ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์"



ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.dhammatalks.net/Articles/Life_of_the_Buddha_in_Pictures.htm


ชาวเมืองและเทพเทวดาทั้งหลายในที่นั้น เมื่อได้ฟังพุทธพยากรณ์แล้ว ต่างก็กล่าวสาธุการ สนั่นดังไปทั่วทั้งไตรภูมิ
ขณะนั้นเอง นางสุมิตตา ผู้เห็นเหตุการณ์มาตั้งแต่ต้น ก็เกิดปิติศรัทธาไปกับสุเมธดาบส นางจึงได้แบ่งดอกบัว ๕ กำ ให้สุเมธดาบสใช้บูชาพระพุทธเจ้า ส่วนดอกบัวอีก ๓ กำ นางนำไปถวายพระพุทธเจ้าแทบพระบาทของพุทธองค์ แล้วกล่าววาจาว่า
"ข้าพระบาทได้แลเห็นท่านดาบสเหาะลงมา จากนภากาศ ช่วยขนดินทรายมาปรับผิวทาง ข้าพระบาทมีความศรัทธาในท่านดาบส เมื่อเห็นท่านดาบสทอดกายเป็นสะพาน ข้าพระบาทยิ่งมีปีติและศรัทธา บัดนี้ พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ท่านดาบสว่า จักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ข้าพระบาทนี้ยิ่งมีปิติและศรัทธาไปกับท่านดาบสยิ่งนัก ข้าพระบาทขอตั้งความปรารถนา จะเป็นคู่สุข คู่ทุกข์ คู่ยาก ช่วยท่านดาบสสร้างสมบารมีให้สมบูรณ์"

พระทีปังกรพุทธเจ้าจึงทรงตรวจสอบ นางสุมิตตาพราหมณี ด้วยพระสัพพัญญุตาญาณ แล้วจึงตรัสวาจาพยากรณ์ว่า
"ดูกรฤาษีผู้ใหญ่ อุบาสิกาผู้นี้ จักเป็นผู้มีจิตเสมอกัน มีกุศลกรรมเสมอกัน ทำกุศลร่วมกัน เป็นที่รักของบุญกรรม เพื่อประโยชน์แก่ท่าน น่าดู น่าชม น่ารัก น่าชอบใจยิ่ง มีวาจาอ่อนหวาน จักเป็นธรรมทายาทผู้มีฤทธิ์ของท่าน ความปรารถนาของอุบาสิกานี้จะสำเร็จตามปรารถนา"


เหล่ามนุษย์และเทพยดาต่างสาธุการดังก้องขึ้นอีกครั้ง แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงนำดอกไม้ ๘ กำโปรยบูชาสุเมธดาบส ทรงกระทำประทักษินแล้วดำเนินหลีกไป เหล่าพระขีณาสพทั้งสี่แสนก็บูชาพระดาบสด้วยของหอมและพวงดอกไม้ แล้วดำเนินหลีกไป

เมื่อพระภิกษุสงฆ์เดินไปหมดแล้ว สุเมธดาบสซึ่งบัดนี้ได้เป็นพระนิยตโพธิสัตว์ผู้เที่ยงแท้ที่จะได้ตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอนตามลัทยาเทศนั้นแล้ว ก็ลุกขึ้นนั่งบนกองดอกไม้ พิจารณาตนเองด้วยอภิญญาญาณ ทบทวนพุทธการกธรรมคือบารมีทั้ง ๓๐ ทัศ ที่ได้บำเพ็ญเพียรมา เมื่อพิจารณาครบถ้วนสมบูรณ์แล้วก็บังเกิดแผ่นดินสั่นหวั่นไหว แล้วเหล่าเทพเทวดาทั่วหมื่นโลกธาตุก็ประชุมกัน สักการะด้วยสุคนธมาลัยทิพย์ แล้วกล่าวอำนวยพร

แล้วสุเมธดาบสก็เหาะกลับไปป่าหิมพานต์ เจริญอภิญญาสมาบัติมิให้เสื่อม เมื่อสิ้นอายุขัยก็ไปอุบัติในพรหมโลก
ในชาตินี้จึงเป็นชาติสำคัญของพระโพธิสัตว์ และพระนางพิมพาผู้ซึ่งเป็นคู่บารมี เนื่องจากเป็นชาติที่พระโพธิสัตว์ได้รับลัทยาเทศจากพระพุทธเจ้า และพระนางพิมพาก็ได้รับพุทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าด้วยเช่นกัน นับจากชาตินี้เป็นต้นไป ทั้งสองจึงได้เกิดมาสร้างสมบุญบารมีต่างๆ ร่วมกันตามที่ได้ตั้งความปรารถนาไว้ นับเป็นบุญบารมีอันยิ่งใหญ่ที่บุคคลทั่วไปทำได้อย่างยากยิ่งนัก



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://angkarn.siamtapco.com/book/book02-02.htm
http://www.mcu.ac.th/En/thesiscontent_desc.php?ct=1&t_id=108

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น