วันเสาร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2557
สู่แดนพระพุทธองค์ ๙๕ พระนันทาเถรี
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.dhammatalks.net/Articles/Life_of_the_Buddha_in_Pictures.htm
พระนันทาเถรี
เอตทัคคะในฝ่ายผู้แพ่งด้วยฌาน
พระนันทาเถรี เป็นราชธิดาของพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางมหาปชาบดีโคตมี เป็นกนิษฐภคินีของเจ้าชายนันทะ พระนามเดิมว่า “นันทา” แต่เพราะนางมีพระสิริโฉมงดงามยิ่งนัก น่าทัศนา น่ารัก น่าเลื่อมใส พระประยูรญาติจึงพากันเรียกว่า “รูปนันทา” บ้าง “ชนปทกัลยาณี” บ้าง
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้นับเนื่องเป็นพระเชษฐาของพระนางเสด็จออกบรรพชา ได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าแล้ว เสด็จมาโปรดพระประยูรญาติ ณ พระนครกบิลพัสดุ์ แสดงธรรมเทศนาสั่งสอนให้ได้บรรลุมรรคผลตามวาสนาบารมี ทรงนำพาศากยกุมาร มีพระนันทะ พระราหุล เป็นต้นออกบรรพชา อีกทั้งยังมีศากยะราช ๕ พระองค์ คือพระเจ้าภัททิยะ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายภัคคุ และ เจ้าชายกิมพิละ ตามเสด็จออกบรรพชาในภายหลัง
ครั้นกาลต่อมา พระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดาเสด็จเข้าสู่พระนิพพานแล้ว พระนางมหาปชาบดีโคตมีพระมารดา และพระนางยโสธราพิมพาพระมารดาของพระราหุล ต่างก็พาสากิยกุมารีออกบวชในพระพุทธศาสนาด้วยกันทั้งสิ้น
พระนางจึงมีพระดำริว่า “เหลือแต่เราเพียงผู้เดียว ประหนึ่งไร้ญาติขาดมิตร จะมีประโยชน์อะไรกับการดำรงชีวิตในฆราวาสวิสัย สมควรที่เราจะไปบวชตามพระประยูรญาติผู้ใหญ่ของเราจะประเสริฐกว่า”
เมื่อพระนางมีพระดำริดังนี้แล้ว จึงจัดเตรียมผ้ากาสาวพัสตร์ เสด็จไปสู่สำนักพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี กราบแทบเท้ากล่าวขอบรรพชาอุปสมบท
พระเถรี ก็โปรดให้บรรพชาตามปรารถนา แต่การบวชของพระนางนันทานั้นมิใช่บวชด้วยความศรัทธา แต่อาศัยความรักในหมู่ญาติจึงออกบวช
ครั้นบวชแล้ว พระรูปนันทาเถรีได้ทราบว่า พระพุทธองค์ทรงตำหนิติเตียนเรื่องรูปกาย จึงไม่กล้าไปเฝ้าพระศาสดาเพื่อรับพระโอวาท เมื่อถึงวาระที่ตนจะต้องไปรับโอวาทก็สั่งให้ ภิกษุณีรูปอื่นไปรับแทน
พระบรมศาสดาทรงทราบว่าพระนางหลงมัวเมาในพระสิริโฉมของตนเองจึงรับสั่งว่า
“ต่อแต่นี้ ภิกษุณีทั้งหลายต้องมารับโอวาทด้วยตนเอง จะส่งภิกษุณีรูปอื่นมารับแทนไม่ได้”
ตั้งแต่นั้น พระรูปนันทาเถรีไม่มีทางอื่นที่จะหลีกเลี่ยงได้ จึงจำเป็นและจำใจไปรับพระโอวาท ทั้ง ๆ ที่ไม่ปรารถนา
เมื่อไปเฝ้าพระบรมศาสดาพร้อมกับภิกษุณีทั้งหลายก็มิกล้าแม้กระทั่งจะนั่งอยู่แถวหน้า จึงนั่งหลบอยู่ด้านหลัง
พระพุทธองค์ ทรงเนรมิตรูปหญิงสาววัยรุ่นคนหนึ่งให้มีรูปสิริโฉมสวยงามสุดที่จะหาหญิงใดในปฐพีมาเปรียบได้ ให้หญิงนั้นดูประหนึ่งว่าถือพัดวิชนีถวายงานพัดอยู่เบื้องหลังของพระพุทธองค์ และให้สามารถมองเห็นเฉพาะพระพุทธองค์กับพระรูปนันทาเถรีเท่านั้น
พระรูปนันทาเถรี ได้เห็นหญิงรูปเนรมิตนั้นแล้วก็คิดว่า
"เราหลงผิดคิดมัวเมาอยู่ในรูปโฉมของตนเองโดยใช่เหตุ จึงมิกล้ามาเฝ้าพระพุทธองค์ หญิงคนนี้มีความสนิมสนมอยู่ในสำนักพระบรมศาสดา รูปโฉมของเรานั้นเทียบไม่ได้ส่วนเสี้ยวที่ ๑๖ ของหญิงนี้เลย ดูนางช่างงามยิ่งนัก ผมก็สวย หน้าผากก็สวย หน้าตาก็สวย ทุกสิ่งทุกอย่างช่างสวยงามพร้อมทั้งหมด"
เมื่อพระรูปนันทาเถรี กำลังเพลิดเพลินชื่นชมโฉมของรูปหญิงเนรมิตอยู่นั้น พระพุทธองค์ทรงอธิษฐานให้รูปหญิงนั้นปรากฏอยู่ในวัยต่าง ๆ ตั้งแต่เป็นหญิงวัยรุ่น เป็นหญิงสาววัยมีลูกหนึ่งคน มีลูก ๒ คน จนถึงวัยกลางคน วัยชราและวัยแก่หง่อม ผมหงอก ฟันหัก หลังค่อม และล้มตายลงในขณะนั้น ร่างกายมีหมู่หนอนมาชอนไชเจาะกินเหลือแต่โครงกระดูก
พระพุทธองค์ทรงทราบว่าพระรูปนันทาเถรี เกิดความสังเวชสลดจิตเบื่อหน่ายในรูปกายที่ตนยึดถือแล้วจึงตรัส ว่า
“ดูก่อนนันทา เธอจงดูอัตภาพร่างกายอันเป็นเมืองแห่งกระดูกนี้ (อฏฺฐีนํนครํ) อันกระสับกระส่าย ไม่สะอาด อันบูดเน่านี้เถิด เธอจงอบรมจิตให้แน่วแน่มั่นคง มีอารมณ์เดียวในอสุภกรรมฐาน จงถอนมานะละทิฏฐิให้ได้ แล้วจิตใจของเธอก็จะสงบ จงดูว่ารูปนี้เป็นฉันใด รูปของเธอก็เป็นฉันนั้น รูปของเธอเป็นฉันใดรูปนี้ก็เป็นฉันนั้น รูปอันมีกลิ่นเหม็นบูดเน่านี้ ย่อมเป็นที่เพลิดเพลินอย่างยิ่งของผู้โง่เขลาทั้งหลาย”
พระรูปนันทาเถรี ส่งกระแสจิตไปตามพระพุทธดำรัส เมื่อจบลงก็สิ้นอาสวกิเลศ บรรลุพระอรหัตผลเป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา
ปรากฏว่าเมื่อพระนางสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วเป็นผู้มีความชำนาญพิเศษในการเพ่งด้วยฌาน ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องพระเถรีไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายในฝ่าย ผู้แพ่งด้วยฌาน หรือ ผู้ทรงฌาน
ฌาน การเพ่งอารมณ์จนใจแน่วแน่เป็นอัปปนาสมาธิ มี ๔ คือ
๑. ปฐมฌาน ฌานที่ ๑ มีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
๒. ทุติยฌาน ฌานที่ ๒ มีองค์ ๓ ปีติ สุข เอกัคคตา
๓. ตติยฌาน ฌานที่ ๓ มีองค์ ๒ คือ สุข เอกัคคตา
๔. จตุถฌาน ฌานที่ ๔ มีองค์ ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.84000.org/one/2/05.html
ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้าที่ ๔๘๑
อรรถกถาวิชยสูตร
วิชยสูตร (นันทสูตร)
เจ้าหญิงในศากยวงศ์ ในขณะนั้นที่มีพระนามว่า นันทา มี ๓ พระนาง คือ
เจ้าหญิงนันทา ผู้เป็นพระขนิษฐาของพระอานนทเถระ
เจ้าหญิงอภิรูปนันทา พระธิดาของพระเจ้าเขมกศากยะ มีคู่หมั้นชื่อ เจ้าชายสัจจกุมาร แต่พระคู่หมั้นก็ได้สิ้นพระชนม์ลงในวันหมั้นนั่นเอง
เจ้าหญิงรูปนันทาผู้ชนบทกัลยาณี เป็นพระธิดาของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ และพระนางมหาปชาบดีโคตมี เป็นพระขนิษฐภคินีของเจ้าชายนันทะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.dhammahome.com/webboard/printing/22945
มีความโดยละเอียดของรูปนันทาเถรี ดังนี้
เรื่องราวของ เจ้าหญิงรูปนันทา และ เจ้าหญิงอภิรูปนันทานี้ ตามอรรถกถาได้กล่าวไว้คล้ายคลึงกันมาก ตั้งแต่ เป็นเจ้าหญิงในศากยวงศ์เหมือนกัน ชื่อคล้ายกัน เป็นผู้มีความงามอย่างยิ่งเหมือนกัน เป็นผู้หลงในความงามของตนเองเหมือนกัน ออกบวชเป็นภิกษุณีโดยไม่ศรัทธาเหมือนกัน และพระบรมศาสดาได้ทรงใช้อุบายในการแสดงธรรมในลักษณะอย่างเดียวกัน จนกระทั่งพระนางทั้งสองบรรลุพระอรหันต์
ประวัติที่จะกล่าวต่อไปนี้ จะเป็นประวัติของ เจ้าหญิงรูปนันทา ซึ่งต่อมาได้ออกบวชเป็นพระภิกษุณี และได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดาให้เป็นยอดของภิกษุณีทั้งหลายผู้ยินดีในฌาน ทั้งนี้ก็โดยเหตุที่ท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปดังนี้
ตั้งความปรารถนาไว้ในอดีต
ดังได้สดับมา พระนันทาเถรี นั้น (เจ้าหญิงรูปนันทา) ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ได้ถือปฏิสนธิในสกุลเศรษฐี กรุงหังสวดี ต่อมา ขณะเมื่อกำลังฟังธรรมกถาอยู่ เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกา ผู้ยินดียิ่งในฌาน จึงได้นิมนต์พระพุทธเจ้าผู้เป็นนายกของโลกพร้อมด้วยพระสงฆ์ ได้ถวายมหาทานแด่พระองค์ด้วยมือของตน แล้วตั้งความปรารถนาในตำแหน่งนั้นบ้างในสมัยแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์อื่นในอนาคต
ครั้งนั้นพระสุคตเจ้าทรงพยากรณ์ว่า นางจักได้ตำแหน่งที่ปรารถนาดีแล้วนั้น ในกัปที่หนึ่งแสนแต่กัปนี้พระศาสดาพระนามว่าโคดม มีสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก นางจักได้เป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น เป็นโอรสอันธรรมนิรมิต จักเป็นสาวิกาของพระองค์ มีนามชื่อว่านันทา
เมื่อได้ฟังพระพุทธพจน์นั้นแล้วนางก็มีใจยินดีมีจิตประกอบด้วยเมตตา บำรุงพระพิชิตมาร ด้วยปัจจัยทั้งหลายตลอดชีวิต ด้วยกุศลกรรมที่ได้ทำไว้ดีนั้นและด้วยการตั้งเจตน์จำนงไว้ เมื่อละร่างกายมนุษย์แล้ว ก็ได้เวียนว่ายอยู่ในภพภูมิเทวดาและมนุษย์ ตลอดแสนกัป
ในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระมหาปชาบดีโคตมี พระมเหสีในพระเจ้าสุทโธทนะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ มีพระเชษฐาชื่อเจ้าชายนันทะ ทั้งสองพระองค์มีฐานะเป็นพระอนุชาและพระขนิษฐาต่างพระมารดากับเจ้าชายสิทธัตถะ พระประยูรญาติได้เฉลิมพระนามพระนางว่า รูปนันทา ต่อมาเมื่อทรงเติบใหญ่ขึ้น ก็ทรงพระสิริโฉมเป็นอย่างยิ่ง จนได้ชื่อว่าชนบทกัลยาณี
ศากยวงศ์นั้นได้ชื่อว่าเป็นวงศ์ที่มีความบริสุทธิ์แห่งชาติเป็นอย่างยิ่ง จะไม่ยอมอภิเษกกับราชวงศ์อื่นที่ต่ำกว่าเป็นอันขาด และเมื่อเจ้าชายนันทะโตพอที่จะอภิเษกได้แล้ว เมื่อในขณะนั้นไม่มีราชธิดาของราชวงศ์ที่เสมอกันแล้วจึงให้ทรงอภิเษกกับเจ้าหญิงรูปนันทา ผู้เป็นพระกนิษฐภคินีเพื่อรักษาพระวงศ์ให้บริสุทธิ์
วันที่กำหนดให้เป็นวันวิวาหมงคลของเจ้าชายนันทะ และเจ้าหญิงรูปนันทา นั้น เป็นเวลาที่ผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมายังกรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อโปรดพระพุทธบิดาและหมู่พระญาติ
ในวันวิวาหมงคลนั้น พระผู้มีพระภาคได้เสด็จไปในงาน เมื่อไปถึงจึงเสด็จเข้าไปบิณฑบาต จากนั้นเมื่อจะเสด็จกลับ ได้ทรงประทานบาตรในหัตถ์ของนันทกุมาร ตรัสอวยพรแล้วเสด็จลุกจากอาสนะ โดยหาได้ทรงรับบาตรจากหัตถ์ของนันทกุมารคืนมาไม่
ในที่สุดนันทะพุทธอนุชาออกบวช ต่อมาพระนันทเถระก็ได้บำเพ็ญเพียรจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ ภายหลังพระผู้มีพระภาคได้ทรงแต่งตั้งให้ท่านได้เป็น เอตทัคคะผู้สำรวมอินทรีย์
ต่อมา เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดาเสด็จนิพพานแล้ว และเมื่อพระมหาปชาบดีโคตมี พระนางพิมพาบวชแล้ว พระนางก็คิดว่า
พระเชษฐภาดาของเราทรงละความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิออกบวชเป็นพระพุทธเจ้าผู้อัครบุคคลในโลก แม้ราหุลกุมารผู้เป็นพระโอรสของพระองค์ก็บวช
เจ้าชายนันทราชภัสดาของเราก็ดี
พระมหาปชาบดีโคตมีพระมารดาก็ดี
พระนางพิมพาพระภคินีก็ดี ก็บวชกันหมดแล้ว
บัดนี้ตัวเราจักทำอะไรอยู่ในวังเล่า เราก็ควรจักบวชด้วยเหมือนกัน
พระนางจึงไปยังสำนักพระมหาปชาบดีโคตมี และทรงผนวช
พระนางไม่เข้าเฝ้าพระศาสดาเพราะเกรงถูกตำหนิ
แต่การบวชของพระนางเป็นบวชด้วยความรักพวกพระญาติ ไม่ได้บวชด้วยศรัทธาฉะนั้น ถึงบวชแล้วก็ยังหลงใหลด้วยความเจริญแห่งรูป จึงไม่ไปเฝ้าพระศาสดา ด้วยคิดว่าพระศาสดาทรงตำหนิติเตียนรูป ทรงแสดงโทษในรูปโดยอเนกปริยาย เมื่อพระศาสดาเห็นรูปของเราซึ่งน่าดู น่าเลื่อมใสอย่างนี้แล้ว จะพึงตรัสโทษในรูป
เมื่อถึงวาระที่จะต้องไปรับพระโอวาท ก็สั่งภิกษุณีรูปอื่นไปแล้วให้นำพระโอวาทมาแสดงแก่พระนาง
พระนางรูปนันทาเถรีเข้าเฝ้าทรงสดับธรรม
ในสมัยนั้น พวกชาวพระนครสาวัตถี ถวายทานแต่เช้าตรู่ สมาทานอุโบสถแล้วห่มผ้าสะอาด มีมือถือของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้น พอตกเวลาเย็น ก็ประชุมกันฟังธรรมในพระเชตวัน แม้ภิกษุณีสงฆ์ผู้เกิดฉันทะในพระธรรมเทศนาของพระศาสดา ก็ย่อมไปวิหารฟังธรรม ชาวพระนครสาวัตถีเหล่านั้นครั้นฟังธรรมแล้ว เมื่อกลับเข้าไปสู่พระนคร ก็กล่าวแต่คุณกถาของพระศาสดาเท่านั้นกันอยู่ทั่วไป
พระนางรูปนันทา ได้สดับคำพรรณนาคุณของพระตถาคตเหล่านั้นจากพวกภิกษุณีและพวกอุบาสิกา จึงทรงดำริว่า
"ชนทั้งหลาย ย่อมกล่าวชมเจ้าพี่ของเรานักหนาทีเดียว แม้ในวันหนึ่งพระองค์เมื่อจะตรัสโทษในรูปของเรา จะตรัสได้สักเท่าไร ? ถ้ากระไร เราพึงไปกับพวกภิกษุณี แต่จะไม่แสดงตนเลย เฝ้าพระตถาคตฟังธรรมแล้วค่อยกลับมา."
พระนางจึงตรัสบอกแก่พวกภิกษุณีว่า "วันนี้ ฉันจักไปสู่ที่ฟังธรรม."
พวกภิกษุณีมีใจยินดีว่า "นานนักหนา การที่พระนางรูปนันทาทรงมีพระประสงค์จะเสด็จไปเฝ้าพระศาสดาแล้ว วันนี้พระศาสดา ทรงอาศัยพระนางรูปนันทานี้แล้ว จักทรงแสดงพระธรรมเทศนาอันวิจิตร" ดังนี้แล้วก็พาพระนางออกไป ตั้งแต่เวลาที่ออกไป พระนางก็ทรงดำริว่าจะไม่แสดงพระองค์เลย
พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่พระนาง
พระศาสดาทรงดำริว่า
"วันนี้ รูปนันทาจักมาที่บำรุงของเรา ธรรมเทศนาเช่นไรหนอแล ? จักเป็นที่สบายของเธอ"
ทรงทำความตกลงพระหฤทัยว่า
"รูปนันทานั่น หนักในรูป มีความเยื่อใยในอัตภาพอย่างรุนแรง การบรรเทาความเมาในรูปด้วยรูปนั่นแล เป็นที่สบายของเธอ ดุจการบ่งหนามด้วยหนามฉะนั้น"
ในเวลาที่พระนางเข้าไปสู่วิหารจึงทรงนิรมิตหญิงมีรูปสวยพริ้งผู้หนึ่ง อายุราว ๑๖ ปี นุ่งผ้าแดง ประดับแล้วด้วยอาภรณ์ทุกอย่าง ถือพัด ยืนถวายงานพัดอยู่ในที่ใกล้พระองค์ด้วยกำลังพระฤทธิ์
ก็แล พระศาสดาและพระนางรูปนันทาเท่านั้น ทรงเห็นรูปหญิงนั้น
พระนางเสด็จเข้าไปวิหารพร้อมกับภิกษุณีทั้งหลาย ทรงยืนข้างหลังพวกภิกษุณี ถวายบังคมพระศาสดาด้วยเบญจางคประดิษฐ์ นั่งในระหว่างพวกภิกษุณี ทรงแลดูพระศาสดาตั้งแต่พระบาท ทรงเห็นพระสรีระของพระศาสดาวิจิตรแล้วด้วยพระลักษณะ รุ่งเรืองด้วยอนุพยัญชนะ อันพระรัศมีวาหนึ่งแวดล้อมแล้ว ทรงแลดูพระพักตร์อันมีสิริดุจพระจันทร์เพ็ญ ได้ทรงเห็นรูปหญิงยืนอยู่ในที่ใกล้แล้ว
พระนางทรงแลดูหญิงนั้นแล้ว ทรงแลดูอัตภาพของตน รู้สึกว่าตนเหมือนนางกา ซึ่งอยู่ข้างหน้านางพระยาหงส์ทอง ก็นับแต่เวลาที่พระนางทรงเห็นรูปอันสำเร็จแล้วด้วยฤทธิ์นั้น พระเนตรทั้งสองของพระนางก็วิงเวียน พระนางมีจิตอันสิริโฉมแห่งสรีรประเทศทั้งหมดดึงดูดไปแล้วว่า
"โอ ผมของหญิงนี้ก็งาม โอ หน้าผากก็งาม" ดังนี้ ได้มีสิเนหาในรูปนั้นอย่างรุนแรง
พระศาสดาทรงทราบความยินดีอย่างสุดซึ้งในรูปนั้นของพระนาง พอเมื่อจะทรงแสดงธรรม จึงทรงแสดงรูปนั้นให้ล่วงภาวะของผู้มีอายุ ๑๖ ปี มีอายุราว ๒๐ ปี พระนางรูปนันทาได้ทอดพระเนตรมีจิตเบื่อหน่ายหน่อยหนึ่งว่า
"รูปนี้ไม่เหมือนรูปก่อนหนอ."
พระศาสดาทรงแสดงความแปรเปลี่ยนของหญิงนั้นโดยลำดับเทียว คือ เพศหญิงคลอดบุตรครั้งเดียว เพศหญิงกลางคน เพศหญิงแก่ เพศหญิงแก่คร่ำคร่าแล้วเพราะชรา แม้พระนางก็ทรงเบื่อหน่ายรูปนั้น ในเวลาที่ทรุดโทรมเพราะชราโดยลำดับเหมือนกัน
ว่า "โอ รูปนี้ หายไปแล้วๆ" ครั้นทรงเห็นรูปนั้นมีฟันหัก ผมหงอก หลังโกง มีซี่โครงขึ้นดุจกลอน มีไม้เท้ายันข้างหน้า งกงันอยู่ ก็ทรงเบื่อหน่ายเหลือเกิน
ลำดับนั้น พระศาสดาทรงแสดงรูปหญิงนั้นให้เป็นรูปอันพยาธิครอบงำ ในขณะนั้นเอง หญิงนั้นทิ้งไม้เท้าและพัดใบตาล ร้องเสียงขรม ล้มลงที่ภาคพื้น จมลงในอุจจาระและปัสสาวะของตน กลิ้งเกลือกไปมา
พระนางรูปนันทาทรงเห็นหญิงนั้นแล้วทรงเบื่อหน่ายเต็มที
พระศาสดา ทรงแสดงมรณะของหญิงนั้นแล้ว
หญิงนั้นกลายเป็นศพพองขึ้นในขณะนั้นเอง สายแห่งหนองและหมู่หนอนไหลออกจากทวารทั้ง ๙ ฝูงสัตว์มีกาเป็นต้นรุมแย่งกันกินแล้ว
พระนางรูปนันทา ทรงพิจารณาซากศพนั้นแล้ว ทรงเห็นอัตภาพโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยงว่า
"หญิงนี้ถึงความแก่ ถึงความเจ็บ ถึงความตาย ในที่นี้เอง ความแก่ ความเจ็บและความตาย จักมาถึงแก่อัตภาพแม้นี้อย่างนั้นเหมือนกัน."
และเพราะความที่อัตภาพเป็นสภาพอันพระนางทรงเห็นแล้ว โดยความเป็นสภาพไม่เที่ยงนั่นเอง อัตภาพนั้น จึงเป็นอันทรงเห็นแล้วโดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตาทีเดียว
ลำดับนั้น ภพทั้งสามปรากฏแก่พระนางดุจถูกไฟเผาลนแล้ว และดุจซากศพอันเขาผูกไว้ที่พระศอ จิตมุ่งตรงต่อกรรมฐานแล้ว
พระศาสดาทรงทราบว่า พระนางทรงคิดเห็นอัตภาพโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยงแล้ว จึงทรงพิจารณาดูว่า "พระนางจักสามารถทำที่พึ่งแก่ตนได้เองทีเดียวหรือไม่หนอแล ?"
ทรงเห็นว่า "จักไม่อาจ การที่พระนางได้ปัจจัยภายนอกเสียก่อน จึงจะเหมาะ" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงธรรม ด้วยอำนาจธรรมเป็นที่สบายแห่งพระนาง ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
"นันทา เธอจงดูกายอันกรรมยกขึ้น อันอาดูร
ไม่สะอาด เปื่อยเน่า ไหลออกอยู่ข้างบน ไหลออกอยู่ข้างล่าง
ที่พาลชนทั้งหลายปรารถนากันนัก;
สรีระของเธอนี้ ฉันใด สรีระของหญิงนั่น ก็ฉันนั้น,
สรีระของหญิงนั่น ฉันใด สรีระของเธอนี้ ก็ฉันนั้น:
เธอจงเห็นธาตุทั้งหลายโดยความเป็นของสูญ
อย่ากลับมาสู่โลกนี้อีก เธอคลี่คลายความพอใจในภพเสียแล้ว
จักเป็นบุคคลผู้สงบเที่ยวไป."
พระนางนันทาสำเร็จโสดาปัตติผล
ได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงปรารภพระนางนันทาภิกษุณี ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล พระนางนันทา ทรงส่งญาณไปตามกระแสเทศนาบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว
พระศาสดาทรงแสดงวิปัสสนา
ลำดับนั้น พระศาสดาเพื่อจะตรัสสุญญตกรรมฐาน เพื่อต้องการอบรมวิปัสสนาเพื่อมรรคผลทั้งสามยิ่งขึ้นไปแก่พระนาง จึงตรัสว่า
"แน่ะนันทา ในสรีระนี้ไม่มีสาระแม้มีประมาณน้อยเลย กายนี้มีเนื้อและเลือดฉาบทาไว้ เป็นที่อยู่ของชราเป็นต้น เป็นเพียงกองกระดูกเท่านั้น ดังนี้" แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า
"สรีระอันกรรมทำให้เป็นนครแห่งกระดูกทั้งหลาย
ฉาบด้วยเนื้อและโลหิต เป็นที่ตั้งลงแห่งชรา มรณะ
มานะ และมักขะ."
ในกาลจบเทศนา พระนางรูปนันทาเถรีได้บรรลุพระอรหัตผล.พระธรรมเทศนาได้เป็นกถามีประโยชน์แก่มหาชนแล้ว ดังนี้แล
ทรงแต่งตั้งเป็นเอตทัคคะผู้ยินดีในฌาน
ภายหลัง พระศาสดาประทับนั่ง ณ พระเชตวันวิหาร เมื่อทรงสถาปนาพวกภิกษุณีไว้ในตำแหน่งต่าง ๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาพระนันทเถรีไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายผู้ยินดีในฌาน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.dharma-gateway.com/bhikunee/pra-nanta.htm
ป้ายกำกับ:
[บทความ]
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น