วันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2557

สู่แดนพระพุทธองค์ ๑๐๘ พระอานนท์ ๓





พระอานนท์ได้เป็นพุทธอุปัฏฐากพระพุทธองค์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงวันเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค เป็นเวลา ๒๕ พรรษา

พระอานนท์ได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยดี กิจที่พระอานนท์ทำเป็นประจำแก่พระพุทธองค์คือ

๑. ถวายน้ำ 2 อย่าง คือน้ำเย็นและน้ำร้อน
๒. ถวายไม้สีฟัน 3 ขนาด
๓. นวดพระหัตถ์และพระบาท
๔. นวดพระปฤษฏางค์
๕. ปัดกวาดพระคันธกุฏี และบริเวณพระคันธกุฏี

ในตอนกลางคืนพนระอานนท์กำหนดเวลาได้ว่า เวลานี้พระพุทธองค์ทรงต้องการอย่างนั้นอย่างนี้แล้วเข้าเฝ้า เมื่อเฝ้าเสร็จก็ออกมาอยู่ยาม ณ ภายนอกพระคันธกุฏี

ในคืนหนึ่ง ๆ พระอานนท์ถือประทีปด้ามใหญ่เวียนรอบบริเวณพระคันธกุฏีถึง ๘ ครั้ง พระอานนท์คิดว่าหากง่วงนอน เมื่อพระพุทธองค์ตรัสเรียกจะไม่สามารถขานรับได้ ฉะนั้นจึงไม่ยอมวางประทีปตลอดทั้งคืน




ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ได้กล่าวยกย่องท่านพระอานนท์ไว้ว่าท่านขยันในการอุปัฏฐากมาก
ในบรรดาพระภิกษุผู้เคยอุปัฏฐากพระพุทธเจ้ามาแล้ว ไม่มีใครทำได้เหมือนพระอานนท์ เพราะพระภิกษุเหล่านั้นไม่รู้พระทัยของพระพุทธองค์ดี แต่พระอานนท์ท่านรู้พระทัยชองพระบรมศาสดาดี จึงอุปัฏฐากได้นาน

ด้วยเหตุนี้ในคราวที่พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานพระองค์ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า

"อานนท์ เธอได้อุปัฏฐากตถาคตด้วยกายธรรม วจีกรรมมโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตา ซึ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูล เป็นความสุข ไม่มีสอง หากประมาณมิได้มาช้านานแล้ว เธอได้ทำบุญไว้มากแล้วอานนท์ เธอจงประกอบความเพียรเถิด จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะโดยฉับพลัน"

แล้วตรัสประกาศเกียรติคุณของพระอานนท์ให้ปรากฏแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใด ที่มีมาแล้วในอดีตกาลภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นอย่างยิ่งก็เหมือนกับอานนท์ของเราเท่านั้น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใดที่จักมีอนาคตกาล ภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นอย่างยิ่งก็เพียงอานนท์ของเราเท่านั้น อานนท์เป็นบัณฑิตย่อมรู้ว่า นี่เป็นกาลเพื่อจะเข้าเฝ้าพระตถาคตนี่เป็นกาลของพวกภิกษุ นี่เป็นกาลของพวกภิกษุณี นี่เป็นกาลของพวกอุบาสก นี่เป็นกาลของพวกอุบาสิกา นี่เป็นกาลของพระราชา นี่เป็นกาลของพวกอำมาตย์ราชเสวก นี่เป็นกาลของพวกเดียรถีย์ นี่เป็นกาลของพวกสาวกของพวกเดียรถีย์”

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สารานุกรมวิกิพีเดีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น