วันอาทิตย์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2557
สู่แดนพระพุทธองค์ ๘๙ พระอนุรุทธะเถระ
ขอขอบคุณภาพจาก www.dhammajak.net
พระอนุรุทธเถระ
ทรงได้รับการยกย่องว่าเอตทัคคะในทางผู้มีทิพยจักษุญาณ
พระอนุรุทธะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ ผู้เป็นพระเจ้าอาของพระบรมศาสดา มีพระเชษฐา พระนามว่า เจ้าชายมหานามะ มีพระกนิษฐภคินีพระ นามว่า พระนางโรหิณี รวมเป็น ๓ พระองค์ด้วยกัน
เมื่อพระบรมศาสดาตรัสรู้แล้วเสด็จมาโปรดพระประยูรญาติศากยวงศ์ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ได้มีศากยกุมารผู้มีชื่อเสียงออกบวชติดตามพระบรมศาสดาหลายพระองค์
ครั้นเมื่อพระพุทธองค์ เสด็จจาริกไปสู่มหาชนบท ประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน ของมัลลกษัตริย์
ครั้งนั้น เจ้าชายมหานามะ ผู้เป็นพระเชษฐา ได้ปรึกษากับเจ้าชายอนุรุทธะพระอนุชาว่า
“ในตระกูลของเรานี้ ยังไม่มีผู้ใดออกบวชตามเสด็จพระบรมศาสดาเลย เราสองคนพี่น้องนี้ควรที่คนใดคนหนึ่งน่าจะออกบวช น้องจะบวชเองหรือจะให้พี่บวช ขอให้น้องเป็นผู้เลือกตามความสมัครใจ ถ้าไม่มีใครบวชเลยก็ดูเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง”
เนื่องจากอนุรุทธกุมารนั้น เป็นพระโอรสองค์เล็ก พระบิดาและพระมารดามีความรักทะนุถนอมเป็นอย่างมาก เป็นกษัตริย์สุขุมมาลชาติ มีบุญญาธิการสูง เป็นผู็มีปัญญามาก หมู่พระประยูร ญาติทั้งหลายต่างก็โปรดปรานเอาอกเอาใจตั้งแต่แรกประสูติจนเจริญวัยสู่วัยหนุ่ม มีปราสาท ๓ หลังเป็นที่ประทับใน ๓ ฤดู สมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ศฤงคารและบริวารยศ แม้แต่คำว่า "ไม่มี " ก็ไม่เคยรู้จัก และไม่เคยได้สดับเลย
ขอขอบคุณภาพจากmember.uamulet.com
เมื่อได้ฟังพระเชษฐามหานามะตรัสถึงเรื่องการบรรพชาอย่างนั้น จึงทูลถามว่า
“เสด็จพี่ ที่เรียกว่าบรรพชานั้น คืออะไร”
เจ้าชายมหานามะทรงตอบว่า
“ที่เรียกบรรพชาก็คือการปลงพระเกศาและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสต์ บรรทมเหนือพื้นดินและบิณฑบาตเลี้ยงชีพตามกิจของสมณะ”
เจ้าชายอนุรุทธะทูลว่า
“เสด็จพี่ หม่อมฉันไม่เคยทุกข์ยากลำบากอย่างนั้น ขอให้เสด็จพี่บวชเองเถิด”
เจ้าชายมหานามะจึงตรัสกับพระอนุชาว่า
“อนุรุทธะ ถ้าอย่างนั้น เจ้าก็ต้องศึกษาเรื่องการงาน และการครองเรือนให้เข้าใจเป็น อย่างดี”
เมื่อพระเชษฐามหานามะ บอกให้ศึกษาเรื่องการงานการครองเรือน เจ้าชายอนุรุทธะ จึงทูลถามด้วยความข้องพระทัยว่าา
“การงานที่ว่านั้น คืออะไร "
เจ้าชายมหานามะ ได้สดับคำถามของพระอนุชาดังนั้น จึงได้ยกเอาเรื่องการทำนาขึ้นมาสอน เริ่มด้วยการไถ การหว่าน การดูแลรักษา ตลอดจนการเก็บเกี่ยว การนวด และการนำเข้าเก็บในยุ้งฉาง อย่างนี้แหละ เรียกว่า “การงาน”
.
ขอขอบคุณภาพจากwebboard.sanook.com
เจ้าชายอนุรุทธะยังทรงข้องพระทัยอีกว่า
“เสด็จพี่ การงานนี้จะสิ้นสุดเมื่อไร"
ขอขอบคุณภาพจากwww.idotravellers.com
เจ้าชายมหานามะตรัสตอบว่า
“ไม่มีวันสิ้นสุด เมื่อถึงฤดูกาลก็ต้องทำอย่างนี้ตลอดไป วนเวียนหาที่สุดมิได้"
เจ้าชายอนุรุทธะนั้นจะรู้เรื่องการทำนาได้อย่างไร ในเมื่อครั้งหนึ่งเคยนั่งสนทนากับพระสหายและมีตั้งปัญหาถามกันว่า
ขอขอบคุณภาพจากwww.rd1677.com
“กระยาหารที่เราเสวยกันทุกวันนี้ เกิดที่ไหน ”
“เกิดในฉาง” เจ้าชายกิมพิละตอบ เพราะเคยเห็นคนนำข้าวออกจากฉาง
“เกิดในหม้อ” เจ้าชายภัททิยะตอบ เพราะเคยเห็นคดข้าวออกจากหม้อ
“เกิดในชาม” เจ้าชายอนุรุทธะตอบ เพราะทุกครั้งจะเสวยกระยาหาร ก็จะเห็นข้าวอยู่ใน ชามเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงเข้าใจอย่างนั้น
ขอขอบคุณภาพจาก www.seub.or.th
เมื่อได้ฟังพระเชษฐามหานามะ สอนถึงเรื่องการงาน ดังนี้แล้วจึงเกิดการท้อแท้ขึ้นมาและการงานนั้นก็ไม่มีที่สิ้นสุด
จึงทูลพระเชษฐามหานามะว่า
“ถ้าเช่นนั้นขอให้เสด็จพี่อยู่ครองเรือนเถิดหม่อมฉันจักบวชเอง ถึงแม้การบวชจะลำบากกว่าการเป็นอยู่ในฆราวาสนี้ ก็ยังมีภาระที่น้อยกว่าและมีวันสิ้นสุด”
ตายดีกว่าถ้าไม่ได้บวช
เมื่อตกลงกันเช่นนี้แล้ว เจ้าชายอนุรุทธะจึงเข้าไปเฝ้าพระมารดา กราบทูลให้ทรงทราบเรื่องที่ตกลงกับพระเชษฐามหามานะแล้วกราบทูลขอลาบวชตามเสด็จพระบรมศาสดา
พระมารดาได้ ฟังก็ตกพระทัยตรัสห้ามไว้ถึง ๓ ครั้ง แต่พระโอรสก็ยืนยันจะบวชให้ได้ ถ้าไม่ทรงอนุญาตก็จะขออดอาหารจนตาย และก็เริ่มไม่เสวยอาหารตั้งแต่บัดนั้น
ในที่สุดพระมารดาเห็นว่าการบวชยังมีโอกาสได้เห็นโอรสดีกว่าปล่อยให้ตาย อนึ่ง อนุรุทธะนั้น เมื่อบวชแล้วได้รับความลำบากก็คงอยู่ได้ไม่นานก็จะสึกออกมาเอง
พระมารดาจึงตกลงอนุญาตให้บวช แต่มีข้อแม้ว่า ถ้าพระเจ้าภัททิยะพระสหายออกบวชด้วยจึงจะให้บวช เจ้าชายอนุรุทธะดีพระทัยรีบไปชวนพระเจ้าภัททิยะให้บวชด้วยกันโดยกล่าวว่า
“การบวชของเราเนื่องด้วยท่าน ถ้าท่านบวชเราจึงจะได้บวช” อ้อนวอนอยู่ถึง ๗ วัน พระเจ้าภัททิยะจึงยอมบวชด้วย
ในครั้งนั้น ศากยะราช ๕ พระองค์ คือพระเจ้าภัททิยะ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายภัคคุ และ เจ้าชายกิมพิละ และมีเจ้าชายฝ่ายโกลิยะ ๑ พระองค์ คือ เจ้าชายเทวทัต พร้อมด้วยอำมาตย์ช่างกัลบกอีก ๑ คน ชื่อ อุบาลี รวมเป็น ๗
ศากยะราชและโกลิยะราช รวม ๖ พระองค์จึงเดินทางจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่อนุปิยอัมพวัน เมืองมััลละ
ในระหว่างอุบาลีช่างกัลบกซึ่งในเบื้องต้นเพียงแต่ติดตามไปด้วย ได้ตัดสินใจขอบวชด้วย
เจ้าชายอนุรุทธะ เมื่อทราบความประสงค์ของอุบาลีเช่นนั้น เมื่อได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์แล้วจึงกราบทูลพระบรมศาสดาว่า ว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์เป็นกษัตริย์ มีขัตติยมานะแรงกล้า ขอพระองค์ประทานการบรรพชาแก่อุบาลี ผู้เป็นอำมาตย์รับใช้ปวงข้าพระองค์ก่อนเถิด เพื่อข้าพระองค์ทั้งหลายจะได้แสดงคารวะกราบไหว้ อุบาลี ตามประเพณีนิยมของพระพุทธสาวก จะได้ปลดเปลื้องขัตติยมานะให้หมดสิ้นไปจากสันดาน”
พระพุทธองค์ตรัสอนุโมทนา แล้วประทานการบรรพชาแก่อุบาลีก่อนตามประสงค์ แล้วประทานการบรรพชาแก่กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์
ภายหลัง เมื่อบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในพระพุทธศาสนาแล้ว
พระภัททิยะ ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ พร้อมไตรวิชาภายในพรรษานั้น
พระอนุรุทธะ ได้สำเร็จทิพยจักษุญาณก่อนแล้วภายหลังได้ฟังพระธรรมเทศนา มหาปุริสวิตกสูตร ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
พระอานนท์ ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน
พระภัคคุ เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
พระกิมพิละ เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
พระเทวทัต ได้บรรลุธรรมชั้นฤทธิ์ปุถุชนอันเป็นโลกิยะ
พระอุบาลี ศึกษาพุทธพจน์แล้ว เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ภายในพรรษานั้น
พระอนุรุทธะเมื่ออุปสมบทแล้ว ได้เรียนกรรมฐานจากพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรแล้วเข้าไปสู่ป่าปาจีนวังสมฤคทายวัน ขณะเจริญสมณธรรมอยู่นั้นได้ตรึกถึงมหาปุริสวิตก ๗ ประการ คือ
๑ ธรรมนี้ของผู้มีความปรารถนาน้อย ไม่ใช่ของผู้มีความปรารถนาใหญ่
๒ ธรรมนี้ของผู้สันโดษ ยินดีด้วยของที่มีอยู่ ไม่ใช่ของผู้ไม่สันโดษ
๓ ธรรมนี้ของผู้สงัดแล้ว ไม่ใช่ของผู้ยินดีในหมู่
๔ ธรรมนี้ของผู้ปรารภความเพียร ไม่ใช่ของผู้เกียจคร้าน
๕ ธรรมนี้ของผู้มีสติตั้งมั่น ไม่ใช่ของผู้มีสติหลง
๖ ธรรมนี้ของผู้มีใจตั้งมั่น ไม่ใช่ของผู้มีใจไม่ตั้งมั่น
๗ ธรรมนี้ของผู้มีปัญญา ไม่ใช่ของผู้มีปัญญาทราม
เมื่อพระเถระตรึกอยู่อย่างนี้ พระบรมศาสดาเสด็จไปยังที่อยู่ของพระเถระ ทราบว่าเธอกำลังตรึกอยู่อย่างนั้น ทรงอนุโมทนาว่า ดีล่ะ ดีล่ะ แล้วทรงแนะให้ตรึกในข้อที่ ๘ ว่า
๘ ธรรมนี้ของผู้ยินดีในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า ไม่ใช่ของผู้ยินดีในธรรมที่เนิ่นช้า
ครั้นเมื่อพระพุทธองค์ตรัสสอนพระเถระแล้ว ได้เสด็จกลับสู่ที่ประทับ ส่วนพระอนุรุทธะได้บำเพ็ญสมณธรรมต่อไป ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล ตั้งแต่นั้นมาท่านได้ตรวจดูสัตว์โลกด้วยทิพยจักษุญาณเสมอ ยกเว้นขณะกำลังฉันภัตตาหารเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดา ได้ตรัสยกย่องชมเชยท่านในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ผู้มีทิพยจักษุญาณ
ปฐมเหตุประเพณีการทอดผ้าบังสุกุล-ผ้าป่า
สมัยหนึ่งท่านพระอนุรุทธเถระ จำพรรษาอยู่ที่เวฬุวันเมืองราชคฤห์ จีวรที่ท่านใช้อยู่นั้นเก่ามาก ท่านจึงแสวงหาผ้าบังสุกุล (ผ้าเปื้อนฝุ่น) ตามกองขยะ กองหยากเยื่อเพื่อนำมาทำจีวร
ครั้งนั้น อดีตภรรยาเก่าของท่านชื่อ ชาลินี ซึ่งจุติได้เกิดเป็นเทพธิดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เห็นพระเถระแสวงหาผ้าอยู่เช่นนั้นก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส จึงนำผ้าทิพย์มาจากสวรรค์ลงมายังโลกมนุษย์ และคิดว่า
“ถ้าเราจะนำเข้าไปถวายโดยตรง พระเถระก็คงไม่รับแน่”
จึงหาอุบายซุกผ้าผืนนั้นในกองขยะกองหยากเยื่อ มีชายผ้าโผล่ออกมาเพื่อให้พระเถระได้เห็น ในทางที่พระเถระกำลังเดินมุ่งหน้าไปทางนั้น
พระเถระเห็นชายผ้าผืนนั้นแล้วดึงออกมาพิจารณาเป็นผ้าบังสุกุลและ คิดว่า
“ผ้าผืนนี้เป็นผ้าบังสุกุลที่มีคุณค่ายิ่งนัก” แล้วนำกลับไปสู่อาราม เพื่อจัดการทำจีวร
พระพุทธองค์ช่วยเย็บจีวร
ในการทำจีวรของท่านนั้นเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มาก ทั้งนี้ก็เพราะว่าพระบรมศาสดาทรงพาพระมหาสาวกเป็นจำนวนมากมาร่วมทำจีวร โดยพระองค์เองทรงร้อยเข็ม
พระมหากัสสปะนั่งอยู่ช่วงต้น
พระสารีบุตรนั่งอยู่ตรงกลาง
พระอานนท์นั่งอยู่ช่วงปลายสุด
ทั้ง ๓ ท่านนี้ช่วยกันเย็บจีวร
ส่วนพระภิกษุสงฆ์ที่เหลือก็ช่วยกันกรอด้าย พระมหาโมคคัลลานะ กับนางเทพธิดาชาลินี ช่วยกันไปชักชวนอุบาสกอุบาสิกาในหมู่บ้าน ให้นำภัตตาหารมาถวายพระบรมศาสดาและพระภิกษุสงฆ์ประมาณ ๕๐๐ รูป
การเย็บจีวรของพระอนุรุทธะสำเร็จลงด้วยดีภายในวันเดียวเท่านั้น
อนึ่ง กิริยาที่นางเทพธิดาชาลินี นำผ้าไปวางซุกไว้ในกองขยะกองหยากเยื่อ ในลักษณะทอดผ้าบังสุกุลนั้น พุทธบริษัทได้ถือเป็นแบบอย่างในการทอดผ้าบังสุกุล และทอดผ้าป่าใน ปัจจุบันนี้
พระอนุรุทธเถระ ดำรงชนมายุมาถึงหลังพุทธปรินิพพาน ในวันที่พระบรมศาสดานิพพานนั้น ท่านก็ร่วมอยู่เฝ้าแวดล้อม ณ สาลวโนทยานนั้นด้วย และท่านยังได้ร่วมทำกิจพระศาสนาครั้งสำคัญ ในการทำปฐมสังคายนากัลป์คณะสงฆ์โดยมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน พระอุบาลีเถระวิสัชนาพระวินัย และพระอานนท์เถระวิสัชนาพระสูตรและพระอภิธรรม
ท่านพระอนุรุทธเถระ ดำรงอายุสังขาร โดยสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธ์ เข้าสู่นิพพาน ณ ภายใต้ร่มกอไผ่ ในหมู่บ้านเวฬุวะ แคว้นวัชชี
ส่วนพระอุบาลี
ต่อมาท่านไม่ประมาทตั้งใจบำเพ็ญความเพียร ไม่ช้าไม่นานก็ได้ บรรลุพระอรหัตตผลเป็นอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา และท่านได้ศึกษาทรงจำระเบีนบวินัยปิฎกแม่นยำชำนิชำนาญมาก เป็นผู้สามารถจะทำเรื่องราวอะไรซึ่งเกี่ยวด้วยพระวินัยได้เป็นอย่างดี ในข้อนี้พึงเห็นตัวอย่างที่ท่านได้รับพระพุทธานุญาตให้เป็นผู้วินิจฉันอธิกรณ์ ๓ เรื่อง คือ ภารตัจฉกวัตถุ,อัชชุกวัตถุ, และกุมารกัสสปวัตถุ
ด้วยเหตุนี้ ท่านพระอุบาลีจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ทรงไว้ซึ่งพระวินัย เมื่อพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปะกระทำสังคายนาพระธรรมวินัยสงฆ์ได้เลือกท่านให้เป็นผู้วิสัชนาในส่วนพระวินัยปิฎก เพราะท่านเป็นผู้มีความสามารถในเรื่องนี้ดี
ครั้นท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน
ขอขอบคุณข้อมูลจากhttp://www.84000.org/one/1/11.html
http://www.dhammathai.org/monk/monk41.php
ป้ายกำกับ:
[บทความ]
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น