วันจันทร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2557
สู่แดนพระพุทธองค์ ๙๗ พระนางปชาบดีโคตมี ปฐมภิกษุณี
ขอขอบคุณภาพจากwww.kunkroo.com/catalog.php?idp=98
ครั้นกาลต่อมา พระเจ้าสุทโธทนะได้บรรลุพระอรหัตผลแล้วเข้าสู่นิพพาน เมื่อการถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จสิ้นลงแล้ว พระนางมหาปชาบดีโคตรมีรู้สึกว้าเหว่พระทัย มีพระประสงค์จะทรงผนวชในพระพุทธศาสนาจึงเสด็จไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่นิโครธาราม กราบทูลขออุปสมบท แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาตให้สตรีบวชในพระพุทธศาสนา พระนางกราบทูลอ้อนวอนถึง ๓ ครั้ง ก็ไม่เป็นผล รู้สึกผิดหวังเศร้าโศกโทมนัสเป็นอย่างยิ่ง จึงกราบทูลลาเสด็จกลับพระราชนิเวศน์
พระบรมศาสดาประทับ ณ นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ โดยสมควรแก่พระอัธยาศัยแล้ว พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์บริวาร เสด็จไปยังพระนครเวสาลีประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน
พระนางมหาปชาบดีโคตมี ผู้มีพระทัยเปี่ยมด้วยศรัทธา รับสั่งให้ช่างกัลบกมา ปลงกระเกศา แล้วครองผ้ากาสาวพัสตร์ นำพาศากิยนารีเป็นบริวารประมาณ ๕๐๐ พระองค์ (นางกษัตริย์เหล่านี้สวามีออกบวชไปก่อนแล้ว) เสด็จมุ่งตรงไปยังเมืองเวสาลี
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.kunkroo.com/catalog.php?idp=98
พระนางปชาบดีโคตมีตามเสด็จพระพุทธองค์จนถึงเมืองเวสาลี กูฏาคารสาลาป่ามหาวัน โดยลำดับ
เวลานั้นพระนางมีพระบาททั้งสองพอง มีพระวรกายเกลือกกลั้วด้วยธุลี มีทุกข์ เสียพระทัย มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตร ได้ประทับยืนกันแสงอยู่ที่ซุ้มพระทวารภายนอก
ได้ยินว่าพระนางมหาปชาบดีได้มีความคิดอย่างนี้ว่า
เรานี้ ทั้ง ๆ ที่พระตถาคตไม่ทรงอนุญาตแล้ว ก็ถือเพศบรรพชาด้วยตนเองทีเดียว แล้วก็ความที่เราถือเพศบรรพชาอย่างนี้ เกิดปรากฏเป็นที่ทราบไปทั่วชมพูทวีปแล้ว ถ้าพระศาสดาทรงอนุญาตบรรพชาไซร้ ข้อนั้นเป็นการดี แต่ถ้าพระองค์จักไม่ทรงอนุญาตไซร้ จักมีความครหาอย่างใหญ่หลวง พระนางทรงปริวิตกอย่างนี้จึงไม่อาจจะเข้าไปยังวิหาร ได้ยืนทรงกรรแสงอยู่
ท่านพระอานนท์ได้เห็นพระนางปชาบดีโคตมี มีพระบาททั้งสองพอง มีพระวรกายเกลือกกลั้วด้วยธุลี มีทุกข์ เสียพระทัย มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตร ประทับยืนกันแสงอยู่ที่ซุ้มพระทวารภายนอก จึงได้ถามถึงสาเหตุกับพระนาง
พระนางตอบว่า
"พระอานนท์เจ้าข้า เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาต ให้สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต"
พระอานนท์กล่าวว่า
"ดูกรโคตมี ถ้าเช่นนั้น พระนางจงรออยู่ที่นี่แหละ สักครู่หนึ่ง จนกว่าอาตมาจะทูลขอพระผู้มีพระภาคให้ทรงอนุญาตให้สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้"
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.kunkroo.com/catalog.php?idp=98
พระอานนท์ จึงเข้าเฝ้ากราบทูลพระพุทธองค์ขอให้พระนางปชาบดีโคตมีได้อุปสมบท
ในครั้งแรก พระบรมศาสดาไม่ทรงอนุญาต ตรัสว่า สตรีไม่ควรอุปสมบท
พระอานนท์ทูลถามว่า
"หากสตรีบวชแล้ว จะสามารถปฏิบัติธรรมได้บรรลุอริยมรรค อริผล โดยควรแก่อุปนิสสัยหรือไม่?
เมื่อพระศาสดาตรัสว่า
“สามารถ”
พระอานนท์ก็กราบทูลว่า
“ถ้าเช่นนั้น ขอได้ทรงพระกรุณาประทานโอกาสให้พระเจ้าน้า ได้ทรงอุปสมบทเถิด”
ทรงรับสั่งว่า
“อานนท์ ผิวะพระนางมหาปชาบดีโคตมี จะทรงรับปฏิบัติครุธรรม ๘ ได้บริบูรณ์ ตถาคตก็อนุญาตให้ได้”
“อานนท์ ครุธรรม ๘ ประการนั้น ดังนี้
๑. ภิกษุณีแม้จะบวชได้ ๑๐๐ พรรษา ก็พึงให้ทำอัญชลี เคารพนบนอบภิกษุ แม้บวชในวันเดียวนั้น
๒. ภิกษุณีอย่าอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ
๓. ภิกษุณี จะต้องทำอุโบสถกรรม และรับโอวาท แต่สำนักสงฆ์ทุกกึ่งเดือน
๔. ภิกษุณีจำพรรษาแล้ว ให้พึงปวารณาในสำนักอุภโตสงฆ์ (สงฆ์ ๒ ฝ่าย คือภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์)
๕. ภิกษุณี หากต้องอยู่ปริวาสกรรม พึงประพฤติปักขมานัต (คืออยู่มานัตถึงกึ่งเดือน) ในสำนักอุภโตสงฆ์
๖. ภิกษุณี อุปสมบทในสำนักอุภโตสงฆ์ พึงสมาทานซึ่งวัตรปฏิบัติในธรรม ๖ ประการ คือ เว้นจากปาณาติบาต... ถึงวิกาลโภชนะ เป็นต้น มิให้ล่วง และศึกษาให้รู้วัตรปฏิบัติต่าง ๆ มิให้ขาดตกบกพร่องเป็นเวลา ๒ ปี ถ้าบกพร่องในระหว่าง ๒ ปี ต้องเริ่มปฏิบัติใหม่
๗. ภิกษุณี อย่าพึงด่าบริภาษภิกษุสงฆ์ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง
๘. ภิกษุณี นับแต่วันบรรพชาเป็นต้นไป พึงสดับรับโอวาทของภิกษุกล่าวสั่งสอนฝ่ายเดียว ห้ามโอวาทสั่งสอนภิกษุ ฯ”
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.kunkroo.com/catalog.php?idp=98
พระอานนท์เถระ เรียนจำครุธรรม ๘ ประการนั้น จากพระบรมศาสดาแล้ว ก็ออกมาแจ้งพระพุทธบัญชานั้นแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี
พระนางเจ้าทรงน้อมรับที่จะปฏิบัติด้วยความยินดีทุกประการ
พระอานนท์ก็เข้ามากราบทูลพระบรมศาสดาให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงโปรดประทานบรรพชาอุปสมบทแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี กับศากยะขัตติยนารีด้วยกันทั้งสิ้น
เมื่อพระบรมศาสดากับทั้งพระสงฆ์สาวกทั้งหลายก็เสด็จจากเมืองไพศาลี ไปพระนครสาวัตถี ประทับอยู่ที่พระเชตวันวิหาร
( หมายเหตุเมืองเวสาลี (ไวสาลี ไพสาลี) เคยเป็นเมืองหลวงของแคว้นวัชชีในสมัยพุทธกาล )
ส่วนที่พระนครกบิลพัสดุ์
เมื่อพระนางเจ้ามหาปชาบดีโคตมี ทรงผนวชแล้ว บรรดามหาอำมาตย์และราชปุโรหิตทั้งหลาย ได้ประชุมพร้อมกันยก “เจ้าศากยะมหานาม” โอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าอมิโตทนะ พระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ เสวยราชสมบัติสืบราชสันติวงศ์
ต่อมา พระนางพิมพาเทวี มารดาราหุลกุมาร ก็เข้าเฝ้าพระเจ้ามหานามะทูลลาออกบรรพชา
แล้วทรงพาบรรดาขัตติยนารีทั้งหลาย เดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าที่พระเชตวันวิหาร ทูลขอประทานบรรพชาอุปสมบท สมเด็จพระบรมสุคตก็ทรงประทานบรรพชาอุปสมบทแก่พระนางเจ้า และบรรดาขัตติยนารีทั้งสิ้น ด้วยครุธรรม ๘ ประการนั้น
ชอขอบคุณภาพจากwww.mahachula.com
เมื่อพระนางมหาปชาบดีโคตมี ได้อุปสมบทสำเร็จเป็นนางภิกษุณีแล้วเรียนพระกรรมฐานในสำนักพระบรมศาสดา อุตสาห์บำเพ็ญเพียรด้วยความไม่ประมาทไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยภิกษุณีบริวารทั้ง ๕๐๐ รูป และได้บำเพ็ญกิจพระศาสนาเต็มกำลังความสามารถ
ลำดับต่อมา เมื่อพระศาสดาประทับ ณ พระเชตะวันมหาวิหาร ทรงสถาปนาภิกษุณีในตำแหน่งเอตทัคคะ หลายตำแหน่ง พระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า พระนางมหาปชาบดีโคตมี เป็นผู้มีวัยวุฒิสูง คือรู้กาลนาน มีประสบการณ์มาก รู้เหตุการณ์ต่าง ๆ มาตั้งแต่ต้น จึงทรงสถาปนาพระนางนำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลาย ในฝ่าย ผู้รัตตัญญู คือ ผู้รู้ราตรีนาน
ครั้งนั้น พระมหาปชาบดีโคตมีเข้าไปหาท่านพระอานนท์ อภิวาท ได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกล่าวว่า
" ท่านพระอานนท์ ดิฉันจะทูลขอ พรอย่างหนึ่งกับพระผู้มีพระภาคว่า ขอประทานพระวโรกาส พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ การทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่ภิกษุและภิกษุณี ตามลำดับผู้แก่ "
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ......
ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทำการกราบไหว้ การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่มาตุคาม รูปใดทำ ต้องอาบัติทุกกฎ ฯ"
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://84000.org/one/2/01.html
http://dharma-gateway.com/buddha/buddha-main-page.htm
http://trang82.wordpress.com
ป้ายกำกับ:
[บทความ]
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น