วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2556

สายตระกูล แซ่อื้อ จากเมืองแต้จิ๋ว สู่สยามประเทศ 7

คุณยายประไพ เจริญวงษ์ ( กุ่ยเฮียง แซ่อื้อ )




พวกเราเรียกท่านว่าคุณยายเล็ก เพราะท่านเป็นคุณยายน้องนุชสุดท้องของก๋งไซ ชวดจู มีท่านเพียงคนเดียวที่เป็นโสด ซึ่งที่ตำบลบางกรูดนั้นไม่ค่อยมีสาวโสด สาวแก่กันนัก เนื่องจากบรรดาพ่อแม่ที่เห็นว่าบุตรสาวของตนเองมีวี่แววว่าจะต้องขึ้นคานไปอยู่คานทองนิเวศน์ ก็จะรีบจัดการหาคู่ครองให้ถึงขนาดคลุมถุงชนก็มี (ความนัยนี้พลอยโพยมรู้ซึ้งดีเพราะเจอกับตัวเองมาแล้วเมื่ออายุอานามใกล้เลข 30 ปี )
ดังนั้นคุณยายเล็กจึงถูกชาวบ้าน ร้านค้า แถบวัดบางกรูด เรียกท่านว่ายายสาว ท่านเป็นยายสาวตั้งแต่สาวจนอายุ 96 ปี ของคนแถว ๆ วัดบางกรูด
คุณยายเล็กและคุณตาชาญ ถือเป็นบุตรบุญธรรมของก๋งโหงว แซ่อื้อ ชวดอิ่ม อื้อเฮียบหมง และเป็นทายาทตระกูลอื้อคนสุดท้ายที่พำนักที่บ้านอื้อเฮียบหมง เพราะเมื่ออายุเข้าวัยชรา คุณยายเล็กได้รื้อบ้านอื้อเฮียบหมงอายุเกือบสองร้อยกว่าปี ถวายวัดบางกรูด (ยายขา ท่านอายุ 96 ปี เคยบอกว่าบ้านนี้อายุร้อยกว่าปีแล้วตั้งแต่สมัยแม่ละม่อมเป็นเด็กน้อย แม่ละม่อมเองก็อายุ 93 ปี )

ฟังอายุบ้านแล้วน่าตกใจว่าบ้านคงเก่าแก่ทรุดโทรมไม้ไม่เป็นชิ้นดีแล้วกระมัง ซึ่งก็ไม่ถึงขั้นขนาดนั้น บ้านคนโบราณยิ่งเป็นทรงเรือนไทย จะใช้การเข้าสลักแทนการตอกตะปู (การตอกตะปูก็มีบ้าง) ไม้ของบ้านเข้าสลักจึงเสียหายน้อยกว่าไม้ที่ใช้การตอกตะปู ในยามรื้อออกมา นอกจากนี้บรรดาไม้ที่ใช้ประกอบบ้านโบราณล้วนแต่เป็นไม้ดี ๆ เช่น ไม้สัก ไม้ตะเคียน ไม้แดง ฝาบ้านมักเป็นไม้สัก ซึ่งต้องมีการลงน้ำมันยาง หากเป็นไม้พื้น ก็จะทั้งแผ่นใหญ่ แผ่นหนาและมีความยาว โดยเฉพาะบ้านเรือนกลาง ที่กว้างใหญ่ พื้นยกระดับ กระดานพื้นทั้งใหญ่ หนา และยาวกว่าเรือนขวางมาก

ในรุ่นคุณยายเล็กเป็นเจ้าของบ้านก็มีลูกหลานมาพักด้วยหลายคน เช่น คุณน้าอนันท์ คุณน้าเอนก คุณน้าสีนวล คุณน้าสังวร พี่อ๊อด (พานิช พานิชเจริญ) พี่ชวน ( พ.ท.วุฒิ ตรีเจริญ) น้อง นุชนารถ อุดมพงษ์



คุณยายเล็ก คุณยายขากินหมากตั้งแต่สาวจนแก่ คุณยายเล็กช่วยเลี้ยงน้องเล็กสุดลูกชายแม่ละม่อม เวลาป้อนข้าวบางที่ท่านป้อนข้าวในชาม จาน ของท่านเอง กินด้วยกันยายหลาน พวกเรามักล้อเลียนน้องชายคนนี้ว่าโตมากับการกินข้าวแดงคุณยายเล็ก (คือกินข้าวเปื้อนน้ำหมากนั่นเอง)
ท่านมีฝีมือในการผัดหมี่ เวลาผัดคราวหนึ่งต้องผัดกระทะใหญ่ใส่กะละมังใบใหญ่ เพราะต้องเผื่อหลาน ๆ บ้านยายขาด้วย โดยเฉพาะพลอยโพยมพอรู้ว่าคุณยายเล็กจะผัดหมี่ ก็จะวนเวียนไปดูถือกะละมังและช้อนไปคอยรอ

ในสมัยเด็ก เนื่องจากมีเด็กในบ้านมากมาย พวกเราต้องกินข้าวด้วยกะละมังเคลือบและช้อนสังกะสี เป็นสี ๆ (ที่เราเรียกกันว่าช้อนหอย) ส่วนถ้วยชามที่ใช้ประจำวันก็คือชามก๋วยเตี๋ยวสำหรับใส่ข้าวสวยและอื่น ๆ ของผู้ใหญ่ นอกจากชามก๋วยเตี๋ยวก็มีชามตราไก่บ้าง ชามลายดอกก้นลึกไว้ใส่กับข้าว ถ้วยเล็ก ใส่น้ำพริก น้ำปลา ส่วนจานกระเบื้อง ชาม ถ้วยที่สวยงาม และช้อนส้อม ใช้ในการทำบุญเลี้ยงพระ รับแขกคือหลาน ๆ จากกรุงเทพ ฯ ของยายขา ชามแก้วชามเคลือบมีฝาบิดสวย ๆ ใช้ใส่กับข้าวคาวหวานไปทำบุญที่วัดบางกรูด

ส่วนบ้านอื้อเฮียบหมง ถ้วย จาน ชาม ช้อน เป็นกระเบื้องของเก่าลวดลายของคนจีน และมีตะเกียบเยอะมาก เป็นตะเกียบไม้มะเกลือสีดำ เด็ก ๆ เห็นถ้วยจานชามพวกนี้แล้วไม่กล้าหยิบจับเพราะกลัวแตก ขนาดชามก๋วยเตี๋ยวบ้านยายขายังแตกบ่อย ๆ เด็กคนที่ทำชามแตกก็ต้องถูกผู้ใหญ่ดุ



ขอขอบคุณภาพจาก http://www.cokethai.com/forum/viewtopic.php?f=95&t=25128&start=165

ส่วนกะละมังนั้นก็มีหลายขนาดทั้ง ใหญ่กลางเล็ก มีทั้งเคลือบสีขาว เคลือบสีต่าง ๆ สีล้วน ๆ เคลือบสีและมีลายดอก โดยเฉพาะกะละมังขนาดที่ใช้งานแทนชามและถ้วย ก็จะมีลวดลายดอกไม้สวยงามเชิญชวนให้หยิบไปใช้สอย
เราต้องถือกะละมังและช้อนไปตักของที่อยากกินไม่ว่าหมี่ผัด หรืออื่น ๆ รวมทั้งของหวานต่าง ๆ กัน หลายชนิด ที่บ้านคุณยายเล็ก

ต่อมาคุณน้าคุณพี่ที่มาพำนักบ้านอื้อเฮียบหมงแยกย้ายไปเรียนต่อ ไปทำงาน คุณยายเล็กก็เหมือนอยู่บ้านคนเดียว นอกจากเทศกาลเซ่นไหว้ที่ก๋งชาญต้องขึ้นมาและจะอยู่เป็นเพื่อนคุณยายเล็กอีกหลายวัน บางครั้งคุณยายเกลี้ยงก็จะมาอยู่เป็นเพื่อนเป็นระยะ ๆ ในเทศกาลตรุษสารทไทยก็มีคุณยายเกลี้ยงขึ้นมาอยู่เป็นเพื่อนทำขนม รวมทั้งคุณป้าถนอม ตรีเจริญด้วย (ท่านจะแจวเรือมาจากคลองผีขุดมาพร้อมปูแสมเป็นโอ่งเพื่อมากวนกระยาสารททุกปี มาคราวละหลายวันเพราะต้องมาช่วยเตรียมเครื่องกระยาสารท)



การทำขนมต่างๆ ก็จะมีพี่ ๆ น้อง ๆ ผู้ชายของพลอยโพยมไปเป็นกำลังสำคัญเป็นกำลังหลัก คุณยายเล็กมีโม่ โม่แป้งโบราณเนื้อหินดีมากเป็นของมาจากเมืองจีน ต่อด้ามยาวให้ยืนโม่แป้ง ต้องมีคนคอยหยอดข้าวต่างหาก ภาชนะที่ใช้รองแป้งที่โม่แล้วต้องอยู่ระดับต่ำกว่าพื้นที่ตั้งโม่หิน เด็ก ๆ ต้องเวียนกันโม่แป้ง เพราะหากจะทำขนมก็ต้องทำปริมาณมากตามจำนวนเด็ก คุณยายเล็กมีกระต่ายขูดมะพร้าวเป็นตัวกระต่าย มีหัวหางหน้าตา และมีสี่่ขาเลียนแบบขากระต่ายตัวจริง ซึ่งสูญสลายผุพังเพราะการรื้อบ้านถวายวัด
คุณยายเล็กทำขนมไทยพื้นบ้านอร่อยทุกอย่าง แม้แต่ของง่าย ๆ เช่นรังมดแดง ข้าวตู ซึ่งแม้แต่แม่ละม่อมคนเก่งก็ทำได้ไม่อร่อยเท่า ยังมีลอดช่องน้ำกะทิ ขนมเปียกปูน และปรากริมไข่เต่า ที่หลาน ๆ หากินอีกไม่ได้แล้วแม้ทุกวันนี้

คุณยายใช้เวลาในการกวนลอดช่อง ขนมเปียกปูน นานมาก โดยเฉพาะขนมเปียกปูนใช้เวลากวนประมาณว่า 3-4 ชั่วโมง กวนจนคุณยายเล็กกวนเกือบไม่ไหวเพราะความเหนียวหนืด ต้องใช้แรงงานเด็กผู้ชายกวน หากกวนลอดช่องเด็กผู้หญิงก็คอยลุ้นเวลาเทแป้งลงที่กดตัวลอดช่อง แต่คุณยายเล็กมักเป็นคนกดเอง เพราะจะได้ตัวลอดช่องตัวสม่ำเสมอสวยงาม ถ้าให้เด็ก ๆ กด ตัวลอดช่องก็ไม่สม่ำเสมอ ถ้าจะให้คนอื่นกดตัวลอดช่องก็เป็นเด็กคนที่คุณยายเล็กไว้ใจได้ น้ำกะทิของคุณยายเล็ก ไม่ต้องเน้นว่าต้องเป็นน้ำตาลงบ หรือเป็นน้ำตาลมีความพิเศษอะไร ก็เป็นน้ำตาลปี๊บพื้น ๆ ที่ขายในร้าน เถ้าแก่บักแก ป้าโอวเต้า ร้านขายของขำที่วัดบางกรูด แต่น้ำกะทิของคุณยายเล็กก็หอมหวานมัน ยิ่งกินกับลอดช่องตัวเหนียวหนืดแล้ว ลอดช่องชื่อดังยุคปัจจุบันไม่ว่า วัดเจษ ฯ หรือวัดไหน ๆ ก็มิอาจเทียมทาน ก็เพราะจะมีใคร ผู้ใด ใช้เวลากวนแป้งนานแบบคุณยายเล็กได้เล่า เราหลาน ๆ ท้อแล้วท้ออีก เผ้าแต่ถามคุณยายว่า กวนใช้ได้หรือยัง คำตอบคือยัง ยัง และยัง ส่วนเรื่องน้ำกะทิ ส่วนหนึ่งนอกจากน้ำกะทิใหม่สดมันเข้มข้นแล้วน้ำตาลปี๊บในสมัยก่อนที่ทำขายก็ไม่ใช่แบบอย่างที่ทำขายเป็นอุตสาหกรรมเช่นของสมัยนี้ด้วย

หากเป็นปรากริมไข่เต่า เคล็ดลับความอร่อยของตัวแป้งก็คือการนวดแป้ง นวดกันจนสับเปลี่ยนเด็กผู้ชายหลายคนหลายรอบ เมื่อถามว่าใช้ได้หรือยัง คำตอบก็เหมือนการกวน คือ ยัง ยัง และยังใช้ไม่ได้ เมื่อนวดจนอ่อนระอาเมื่อยล้าขนาดหนักของคนนวดแป้ง และเหนียวจนสมใจคุณยายแล้ว คุณยายจะทำเป็นเส้นกลม ๆ ยาว ๆ แล้วเอาขวดแก้วมากลิ้งให้แบน คุณยายปั้นเส้นกลม และกลิ้งขวดแก้วเป็นเส้นแบนได้ขนาดไล่เรี่ยกัน แล้วหั่นแฉลบเป็นตัวปรากริมไข่เต่า เวลาลงต้มในน้ำกะทิ ปรุงรส เค็มหวาน คุณยายจะทำตัวรสเค็มมากกว่ารสหวาน เด็ก ที่ตักใส่กะละมังเคลือบเล็กเอามากินต้องรู้ใจรู้ฝีมือคนทำว่า จะตักปริมาณหวานและเค็มเท่าใด รสชาติปรากริมไข่่เต่าในกะละมังจึงกลมกลมยอดเยี่ยมไร้เทียมทาน



คุณยายเล็กมีสุขภาพแข็งแรงไม่มีโรคประจำตัว ทำขนมให้หลาน ๆ ได้จนอายุ แปดสิบกว่าปี (โดยมีแรงงานเด็ก) ทั้งยังไปช่วยญาติ ๆ ที่ทำงานเช่น งานบุญ งานบวช กวนลอดช่อง ขนมเปียกปูนได้ แม้มีแรงงานช่วย แต่ คุณยายก็ยังลงมือทั้งนวดแป้งและลงมือกวนเองด้วย โดยเฉพาะในช่วงเวลาตรวจสอบว่าการนวดหรือกวนแป้งใช้ได้หรือยังท่านต้องลงมือเอง

นอกจากนี้ท่านยังพายเรือข้ามฝั่งแม่น้ำไปรับส่งหลาน ๆ และสมาชิกในบ้าน พายข้ามฝั่งไปซื้อของที่ตลาดวัดบางกรูด ท่านจะแอบไปช่วยหลานชายคนโปรดทำงานในสวนตามคำสั่งของพ่อมังกร
ในช่วงปิดเทอมหากลูกสาวหรือลูกชายคนใดของพ่อมังกรได้ผลสอบไล่ไม่เป็นที่พอใจ ในทุกเช้าจันทร์ถึงศุกร์ก่อนพ่อมังกรข้ามฝั่งไปทำงาน จะมีแผ่นกระดาษสั่งงานให้เด็ก ๆ ที่มีผลสอบไล่ไม่ถูกใจ เรียงรายเป็น ข้อ ๆ อาทิ เช่น ตักน้ำใส่ตุ่มล้้างเท้าก่อนขึ้นบ้าน 2 ด้านของบ้าน ในห้องส้วม ลากทางมะพร้าว ลากจั่นมะพร้าวมากองรวมกัน ลิดทางมะพร้าว ฟันทางมะพร้าวเป็นท่อนฟืน ทอนฟืนไม้เนื้อแข็ง ๆ เป็นต้น เมื่อกลับจากทำงานพ่อมังกรก็จะไปตรวจงานที่สั่งไว้ว่าเรียบร้อยดีหรือไม่

หากหลานชายคนโปรดที่กินข้าวแดงกับคุณยาย มีงานที่ได้รับมอบหมาย ท่านก็จะเรียกหาหลานชายว่าทำงานเสร็จครบถ้วนหรือไม่ หากทำไม่เสร็จไม่ครบ ก็คุณยายเล็กนั่นแหละลงมือทำงานให้หลานชาย
และหากมีเสียงเรียกจากฝั่งวัดบางกรูดให้พายเรือข้ามไปรับคนร้องเรียก หากเด็ก ๆ เกี่ยงกัน (คือน้องชาย 2 คนของพลอยโพยม) ก็คุณยายเล็กอีกเช่นเคย ที่ต้องแก้โซ่เรือที่สะพานท่าน้ำและเป็นคนพายเรือข้ามฝั่งไปรับคนฝั่งวัดบางกรูด แต่บางครั้งก็เป็นเพราะมีคนส่งเสียงเรียกหลานชายคนโปรดและหลานชายคนนี้ไปมัวเล่นอยู่ที่อื่น ท่านจะเป็นตัวแทนพายเรือไปรับให้ทุกครั้ง (น้องคนนี้บาปกรรมมากที่ทำให้ท่านลำบาก)

คุณยายเล็กภาพซ้ายมือ หลานชายคนโปรดกินข้าวแดงกับคุณยาย ขวามือคือยายขา

คุณยายเล็กท่านมีหน้าที่ที่สำคัญมากสำหรับสายตระกูลแซ่อื้อที่ตำบลบางกรูด คือท่านจะเป็นคุณครูคนแรกในบ้านสำหรับหลานน้า หลานอา หลายยาย หลานย่า ท่านสอนให้หลาน ๆ หัดอ่าน ก.ข. จนถึง ฮ. โดยเขียนตัวอักษร 44 ตัวลงบนแผ่นกระดาษแข็งพับได้ตรงกลาง ตัวอักษรมีขนาดที่เด็ก ๆ อ่านได้สบาย ๆ เขียนด้วยดินสอสีแดงเน้นสีฝนลากตามลายเส้นตัวอักษร หลาย ๆ เที่ยวให้ตัวอักษรดูหนาและเด่น ท่านมีไม้เล็ก ๆ สั้น ๆ คอยชี้ไล่ตัวอักษร ท่านเริ่มสอน ก. และถัดไปอีก 2 -3 ตัว ก่อน สอนซ้ำไปซ้ำมาจนเด็กอ่านตัวอักษรกลุ่มนี้ได้ก็จะพักก่อน บางครั้งก็เลิกสอนสำหรับวันนั้นเลย บางที่ก็สอนต่อถ้านักเรียนหัวไว ความจำดี ตั้งใจเรียน การสอนในวันถัดไปก็ต้องทบทวนของเก่าก่อนขึ้นอักษรตัวใหม่ จนในที่สุดก็อ่านคล่อง ตั้งแต่ ก. จนจบ ฮ. เด็ก ๆ บ้านนี้ไปเข้าโรงเรียนโดยมีทุนเดิมเริ่มต้นอ่าน ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูกได้ทุกคน แต่ท่านจะสอนเฉพาะการอ่านเท่านั้น นับปริมาณหลาน ๆ ที่เรียน ก.ไก่ กับท่าน เกือบยี่สิบคน

การสอนท่านก็จะสอนตัวต่อตัวระหว่างนักเรียนและคุณครู ส่วนใหญ่ท่านจะยกแผ่นกระดาษตัวอักษรมาสอนให้ที่บ้านยายขา
คุณครูคุณยายเล็กไม่เคยตีเด็กนักเรียน แต่ก็มีบ้างที่นักเรียนโยเยดื้อดึง ไม่ตั้งใจเรียน ท่านมีไม้เด็ดสุดยอดวิชาพลังภายในใช้เพียงคำพูดที่เด็กนักเรียนหรือไม่ใช่นักเรียนก็ตามทียอมสยบอย่างราบคาบนั่นคือคำขู่ว่าหากดื้อ ไม่เชื่อฟัง ไม่ตั้งใจเรียน หรือดื้อดึงเรื่องอื่น ๆ เด็กคนนั้นจะถูกทำโทษโดยถูกขังห้องมืด

เรือนกลางหลังใหญ่ของบ้านอื้อเฮียบหมงซึ่งยกระดับจากนอกชาน ขึ้นสู่โถงกว้างของเรือนไม่มีห้องเลย ยกพื้นสูงอีกระดับมีห้องสามห้อง ห้องกลางคือห้องโถงใหญ่ ลึกสุดเป็นโต๊ะบูชาเซ่นไหว้อัฐิบรรพบุรุษ ซึ่งบรรจุอยู่ในโกศ ในโถ ในโหล มากมาย ซึ่งพลอยโพยมไม่เคยกล้าเข้าไปดูใกล้ ๆ รู้แต่ว่ามีอัฐิมากมายบรรจุในสิ่งที่ใส่อยู่และตั้งอยู่ในตู้กระจกอีกที หน้าตู้มีที่วางถ้วยน้ำชา กระถางธูป และอื่น ๆ ได้เล็กน้อย ถัดโต๊ะที่วางตู้กระจกนี้เป็นโต๊ะสำหรับวางเครื่องของเซ่นไหว้ อีก 2 ตัว ด้านขวามือมีตู้กระจกสูงใหญ่มีหลายช่องหลายชั้นเก็บถ้วยโถโอชาม จาน ถ้วย ถาด ช้อนกระเบื้อง ตะเกียบ ขวดแก้วใสใบใหญ่สีเขียวบรรจุน้ำดื่ม ไหมะเฟือง และอื่น ๆ จิปาถะ

ถัดจากตู้กระจกใบนี้แต่ยังเป็นซีกด้านขวามือมีบานประตูเข้าห้องนอนใหญ่ที่คุณน้าสีนวลใช้เป็นห้องนอนต่อจากคุณน้าคนอื่น ๆ ที่เคยมาอยู่ก่อนและย้ายไปแล้ว เป็นห้องที่มีธรณีประตูสูงมากบานประตูก็สูงใหญ่ ภายในห้องนอนนี้มีบันไดสูงชันเกิน 10 ขั้นเล็ก ๆ แคบ ๆ ขึ้นไปเล่าเต้งของบ้านได้ บนเล่าเต้งมีของเก็บอยู่กองไว้เป็นกอง ๆ บางกองมีผ้าคลุมอยู่ พลอยโพยมไม่เคยเปิดดูว่าเป็นอะไรใต้ผ้าคลุม ห้องนี้ไม่ค่อยเห็นมีการเปิดหน้าต่างนัก

แต่ที่สำคัญคือห้องเล็กด้านซ้ายมือเป็นห้องที่ปิดประตูหน้าต่างตลอดเวลา ภายในห้องมีเพียงโต๊ะวางอยู่ 2- 3 ตัว ไม่มีของอื่นอีก บรรยากาศในห้องก็คือความมืด นอกจากจะต้องกลัวกับความมืดแล้ว สิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่าก็คือ อัฐิบรรพบุรุษมากมายอยู่ใกล้กันมาก มากกว่าทางด้านห้องนอนขวามือ มิหนำซ้ำยังจินตนาการได้ว่าบรรดาท่านบรรพบุรุษท่านเข้ามาสังสรรค์สโมสรกันในห้องนี้
มิมีใครหาญกล้ากับห้องนี้แม้แต่น้องชายคนถัดไปจากพลอยโพยมที่ซุกซนอยากรู้อยากเห็นไปทุกเรื่องก็ตามที ดังนั้นไม้เด็ดสุดยอดของคุณยายเล็กว่าจะถูกขังห้องมืด จึงไม่มีใครกล้าดื้อได้เลย
ตอนโตมาก ๆ พลอยโพยมเคยเข้าไปดูห้องมืดนี้เป็นเวลาที่ข้างฝาบ้านเริ่มมีร่องรอยให้แสงสว่างลอดลำแสงเข้ามาได้ ก็ยังน่ากลัวอยู่ดีนั่นเอง
เวลาเจอญาติ ๆ ที่เคยเติบโตมาด้วยกันหากพูดเรื่องห้องมืดห้องนี้ทุกคนจะหัวเราะบอกว่า ก็ห้องมืดห้องนี้แหละที่ทำให้เราอ่านก.ไก่ ถึงฮ.นกฮูกได้กัน



เคยอ่านพบบทความว่าคนจีนที่เข้ามาเมืองไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาส่วนใหญ่เป็นชาวจีนฮกเกี้ยน มีทั้งผู้ที่มีความรู้และเข้ารับราชการมีหน้ามีตาใหญ่โต ปัจจุบันแหล่งใหญ่ที่ชาวจีนฮกเกี้ยนตั้งหลักแหล่งกันมากคือทางภาคใต้ของไทย
แต่หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้เอกราชได้ จึงเริ่มมีขาวจีนแต้จิ๋วอพยพเข้ามาสู่สยาม เพราะพระองค์ทรงมีพระบิดาเป็นขาวแต้จิ๋ว สืบเนื่องมาถึงปลายสมัยรัชกาลที่สอง และในรัชกาลที่สาม ยิ่งมีชาวจีนแต้จิ๋วอพยพเข้ามามากขึ้น ชาวจีนแต้จิ๋วตั้งหลักแหล่งกันมากในกรุงเทพฯ และหัวเมืองภาคตะวันออกที่ติดทะเล เช่นบางปลาสร้อย แปดริ้ว และจันทบุรี เป็นต้น
ชาวจีนแต้จิ๋วก็เป็นผู้ที่สนใจศึกษาหาความรู้แต่มิได้มีจุดประสงค์เพื่อเข้ารับราชการแต่เป็นการศึกษาเพื่อการใช้ชีวิตในวงศ์ตระกูล
ขาวจีนแต้จิ๋วแซ่อื้อที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ตำบลบางกรูดก็เช่นกัน นับจากยายขาลูกสาวคนโตสุดไล่ลงมาจนถึงคุณยายเล็กลูกสาวคนสุดท้ายของ ก๋งไซ ชวดจู ล้วนแต่อ่านหนังสือออก โดยเฉพาะก๋งชาญที่เรียนหนังสือจีนด้วย
คุณยายเล็กนอกจากทำหน้าที่เป็นคุณครูภายในบ้านให้หลาน ๆ แล้ว ท่านยังต้องอ่านหนังสือข่าวสาร หนังสือบทประพันธ์ วรรณคดี ให้ยายขานอนฟังเพราะยายขาท่านสายตาไม่ค่อยดี จนต่อมาหลาน ๆ เติบโตกันแล้ว จึงมีการผลัดเวรให้หลาน ๆ ยายขา เป็นผู้อ่านแทน




คุณยายเล็กยังทำหน้าที่ปั้นวัวปั้นควายให้หลานยายขาเล่น ปั้นด้วยดินเหนียวและสอนเด็ก ๆ ให้ปั้นตาม สานตระกร้อ นก ตั๊กแตนจากใบมะพร้าว คุณยายเล็กไม่ใช่ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกหลานท่านเล่นเพราะไม่นิ่งดูดายกับการเข้ามาอาศัยอยู่ เพราะคุณยายเล็กมีบ้านของตัวเองมิหนำซ้ำใหญ่โตกว่าบ้านยายขาด้วย แต่ท่านทำให้เพราะรักเอ็นดูหลาน ๆ นั่นเอง วัวควายของคุณยายเล็กมีความพิเศษที่บางครั้ง หลาน ๆ ไปเก็บผลมะกล่ำตาหนูมาเล่น คุณยายจะเอามาติดเป็นนัยน์ตาของวัวควายที่ท่านปั้น



เมื่อรื้อบ้านถวายวัดแล้ว (หลังจากที่ยายขาไปพำนักกับนายแพทย์วิจิตรที่นนทบุรี ครอบครัวพลอยโพยมแยกมาอยู่ตำบลแสนภูดาษ และอีกหลายปีที่ยายขาสิ้่นบุญ ) คุณยายเล็กไปพำนักที่บ้านคุณลุงเกษม คุณป้าอุระมิลา สัตยมานะบุตรชายและสะใภ้ของคุณตาฉัตรและคุณยายอุไร ซึ่งแม่ละม่อมจะไปรับคุณยายเล็กมาที่บ้านแสนภูดาษเพลิดเพลินกับเหลน กุ๊บกิ๊บ ก็อกแก็ก ใบเตย และใบไผ่ หลายครั้ง ครั้งละนานเป็นเดือน ๆ จนท่านสิ้นไปด้วยวัย 96 ปี



สายตระกูล แซ่อื้อ จากคิ้วโค่ยโตว่ ภูเขาตงซัว เมืองแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ที่เป็นสายสกุลเจริญวงษ์ในสยามประเทศได้แตกสายสกุลไปสู่สกุลอื่น ๆ อีกดังที่กล่าวมา
บัดนี้อัฐิของเหล่าบรรพบุรุษในบ้านอื้อเฮียบหมงยี่สิบกว่าท่าน ของยายขา ก๋งชาญและของแม่ละม่อมด้วย ได้กลับคืนสู่ลำน้ำบางปะกง บริเวณหน้าบ้านอื้อเฮียบหมงเป็นที่เรียบร้อย อีกทั้งยังมีอัฐิ พี่จุรีย์ สงวนสัตย์ เป็นโหลนรุ่นล่าสุดคอยอยู่ก่อนหน้าแล้ว



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น